ศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น
ประวัติ l ผลงานด้านการวิจัย l คำประกาศเกียรติคุณ l วาทะนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น l ห้องแสดงภาพ
Prof. Dr.Pimchai Chaiyen
B.Sc. (Hons., Prince of Songkla University), Ph.D. (Michigan)
2015 Outstanding Scientist Award (Biochemistry)
ประวัติและการศึกษา
ศ. ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น เป็นคนจังหวัดภูเก็ต สำเร็จการศึกษาระดับประถมที่โรงเรียนภูเก็ตไทยหัวและมัธยมต้นจากโรงเรียนสตรีภูเก็ต หลังจากนั้นได้เริ่มรับทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) เข้าเรียนมัธยมปลายที่โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย และเข้ารับการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาเคมี จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และสำเร็จการศึกษา (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) เมื่อปี พ.ศ. 2535 และปริญญาเอก สาขา Biological Chemistry จาก University of Michigan, Ann Arbor เมื่อปี พ.ศ. 2540 ตลอดเวลาที่เรียน ได้รับรางวัลผลการเรียนดีเด่นต่าง ๆ อยู่เสมอ อาทิ รางวัลพระราชทานนักเรียนเรียนดีในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น รางวัลจากมูลนิธิ ดร.แถบ นีละนิธิ ในระดับปริญญาตรี รางวัล Chrisman Award สำหรับนักศึกษาปริญญาเอกที่มีผลการเรียน และผลงานวิจัยดี และรางวัล Murphy Award สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาที่มีผลงานตีพิมพ์ดีเยี่ยม จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ด้านครอบครัว สมรสกับ คุณอาร์วิน นานเกีย
ประวัติการทำงาน
ศ. ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น ได้เริ่มรับราชการเป็นอาจารย์ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2540 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์และรองศาสตราจารย์ เมื่อปี พ.ศ. 2544 และ 2548 ตามลำดับ ต่อมาในปี พ.ศ. 2552 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์สาขาชีวเคมีนอกจากนี้ได้ทำงานบริหารในตำแหน่งรองหัวหน้าภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2551-2552 หัวหน้าภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2552-2554 ในปี พ.ศ. 2554 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยตั้งแต่ทุนวิจัยหลังปริญญาเอกเมื่อปี พ.ศ. 2541 จนถึงระดับทุนเมธีวิจัยอาวุโส สกว.ในระยะปัจจุบัน และได้รับทุนสนับสนุนการทำวิจัยจากงบประมาณแผ่นดิน ผ่านทางมหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังได้รับทุนพัฒนาศักยภาพผู้นำวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์เมื่อปี พ.ศ. 2550-2552 และมีเครือข่ายวิจัยทั้งระดับในและต่างประเทศมากมาย
ศ. ดร.พิมพ์ใจ ได้ก่อตั้งกลุ่มวิจัยเพื่อศึกษากลไกการทำงานของ เอนไซม์กลุ่มออกซิโดรีดักเทสและอัลโดเลสที่ใช้ วิตามินบี 2 และวิตามินบี 6 ร่วมในการเร่งปฏิกิริยามีผลงานวิจัยเป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับนานาชาติอย่างกว้างขวาง ได้รับเกียรติให้เป็นสมาชิกของกองบรรณาธิการ (editorial board member) ของวารสาร Journal of Biological Chemistry ของสมาคมชีวเคมีประเทศสหรัฐอเมริก และ Archives of Biochemistry and Biophysics ของสำนักพิมพ์ Elsevier นอกจากนี้ยังเป็นผู้ประเมินบทความวิจัยให้แก่วารสารระดับนานาชาติชั้นนำมากมาย อาทิ Biochemistry, Journal of the American Chemical Society, Chemistry & Biology, Advanced Synthesis & Catalysis, Bioresource Technology, Applied Microbiology and Biotechnology, Acta Crystallographica Section F, Journal of Agricultural and Food Chemistry, Journal of Chemical Education, etc. เป็นผู้ประเมินทุนวิจัยขององค์กรต่างประเทศ เช่น National Science Foundation (USA) และเป็นวิทยากรรับเชิญบรรยายในงานประชุมวิชาการชั้นนำระดับโลกของวงการวิทยาศาสตร์ อาทิ Gordon Research Conferences, Enzyme Engineering Conference, European Symposium of The Protein Society, International Symposium on Flavins and Flavoproteins และในปี ค.ศ. 2014 ได้รับเกียรติคัดเลือกให้เป็นประธานจัดงาน IUBMB 18th International Symposium on Flavins and Flavoproteins
ตำแหน่งบริหาร
พ.ศ. 2551-2552 : รองหัวหน้าภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2552-2554 : หัวหน้าภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2554-2558 : รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2561-2566 : Dean of School, School of Biomolecular Science & Engineering (BSE), Vidyasirimedhi Institute of Science and Technology (VISTEC)
พ.ศ. 2566 : President, Vidyasirimedhi Institute of Science and Technology (VISTEC)
หน้าที่และกิจกรรมในองค์กรระดับประเทศ
1. เป็นผู้ประเมินโครงการของแหล่งเงินทุนวิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และ มหาวิทยาลัยมหิดล
2. อนุกรรมการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับอุดมศึกษาต่างประเทศ โครงการ พสวท.
3. อนุกรรมการเทคนิคด้านทรัพยากรชีวภาพ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
4. ที่ปรึกษาโปรแกรมเทคโนโลยีฐาน ศูนย์พันธุวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
หน้าที่และกิจกรรมในองค์กรระดับนานาชาติ
1. ผู้ประเมินโครงการของแหล่งเงินทุนวิจัย National Science Foundation (NSF) Chemistry of Life Processes ประเทศสหรัฐอเมริกา และ Austrian Science Foundation ประเทศออสเตรีย
2. กองบรรณาธิการวารสาร
- The Journal of Biological Chemistry (JBC) (2012-ปัจจุบัน)
- Archives of Biochemistry and Biophysics (2012-ปัจจุบัน)
3. ผู้ประเมินบทความของวารสารวิชาการระดับนานาชาติ
- ACS Catalysis / Acta Crystallographica Section F / Applied Microbiology and Synthesis & Catalysis / Archives of Biochemistry and Biophysics / Biochemistry Biotechnology Acta / Advanced Bioresource Technology / Chemistry & Biology / FEBS journal / FEMS Microbiology Letter / Journal of Agricultural and Food Chemistry / The Journal of Biological Chemistry (JBC) / Journal of Chemical Education / Journal of the American Society (JACS)
4. ประธานกรรมการจัดการประชุมระดับนานาชาติ IUBMB 18th International Symposium on Flavins and Flavoproteins
5. วิทยากรบรรยายในการประชุมระดับนานาชาติ 11 ครั้ง ใน 9 ประเทศ (เป็นการบรรยายที่ Gordon Research Conference 3 ครั้ง) (ข้อมูลถึงปี 2558)
6. วิทยากรบรรยายในสถาบันการศึกษาและบริษัทต่างประเทศ 6 ครั้ง (ข้อมูลถึงปี 2558)
เกียรติคุณและรางวัล
พ.ศ. 2538 : ได้รับพระราชทานรางวัลนักเรียนเรียนดีจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ตัวแทนเขตจังหวัดภาคใต้ตอนบน) กระทรงศึกษาธิการ
พ.ศ. 2528-2540 : ทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจนถึงปริญญาเอก
พ.ศ. 2532 : รางวัลผลการศึกษายอดเยี่ยมทางวิทยาศาสตร์ ระดับมหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 1 ของมูลนิธิศาสตราจารย์ ดร.แถบ นีละนิธิ
พ.ศ. 2536 : รางวัลผลการศึกษายอดเยี่ยมทางวิทยาศาสตร์ ระดับมหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 4 ของมูลนิธิศาสตราจารย์ ดร.แถบ นีละนิธิ
พ.ศ. 2538 : รางวัล Chrisman Award สำหรับนักศึกษาปริญญาเอกที่มีผลการเรียน ผลงานวิจัยดีจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน
พ.ศ. 2541 : รางวัล Murphy Award สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาที่มีผลงานตีพิมพ์ดีเยี่ยม จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน
พ.ศ. 2546 : รับพระราชทานทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ (L'OREAL-UNESCO Fellowship for Woman in Science) ประจำปี 2546
พ.ศ. 2548 : รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2548 (สาขาชีวเคมี) ของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในพระบรมราชูปถัมภ์
พ.ศ. 2551 : Affiliate Fellow of TWAS (The Academy of Science for the Developing World)
พ.ศ. 2552 : รางวัลนักชีวเคมีและชีววิทยาโมเลกุลรุ่นใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2552 จากสาขาชีวเคมี และชีววิทยาโมเลกุล สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์
พ.ศ. 2552 : รางวัลอาจารย์ตัวอย่าง (ระดับรองศาสตราจารย์) จากสภาอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ ประจำปี พ.ศ. 2552
พ.ศ. 2553 : รางวัลนักวิจัยดีเด่น สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ กองทุนทะกูชิ ประจำปี 2553
พ.ศ. 2554 : รางวัลศิษย์เก่าดีเด่นของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และรางวัลศิษย์เก่าดีเด่น (ด้านผลงานดีเด่น) ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประจำปี 2554
พ.ศ. 2555 : รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2555 สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
พ.ศ. 2556 : ได้รับทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย "เมธีวิจัยอาวุโส สกว." จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
พ.ศ. 2558 : ได้รับเชิญเป็นผู้พูดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในงาน TEDxBangkok
พ.ศ. 2558 : ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาชีวเคมี จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์
ผลงานด้านการวิจัย
กลุ่มวิจัยของ ศ. ดร.พิมพ์ใจ เป็นกลุ่มวิจัยกลุ่มแรกของประเทศไทยที่ใช้เทคนิค pre-steady state kinetics ในการศึกษากลไกการทำงานของเอนไซม์ โดยใช้ประกอบกับเทคนิคอื่น ๆ เช่น kinetic isotope effects, steady state kinetics, thermodynamics,spectroscopic techniques, site-directed mutagenesis, molecular dynamics simulations, quantum mechanics และ X-rays crystallography ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจในเชิงลึกเกี่ยวกับกลไกการทำงานและปัจจัยที่มีผลต่อการทำงานของเอนไซม์กลุ่มออกซิโดรีดักเทสและอัลโดเลส อย่างลึกซึ้ง จำนวนกว่า 10 ชนิด โดยสามารถแบ่งกลุ่มของเอนไซม์ที่กำลังศึกษาออกเป็น 4 กลุ่ม ตามความสามารถในการประยุกต์ใช้ ดังนี้
1. เอนไซม์ที่มีประโยชน์ในการเร่งปฏิกิริยาการสังเคราะห์ผลิตภัณฑ์ทางยาหรือสารเคมีที่มีมูลค่าสูง (Enzymes for biocatalysis applications) เอนไซม์ที่เราศึกษานี้มีประโยชน์ในการประยุกต์ใช้สังเคราะห์สารที่เป็นอนุพันธ์ทางด้านยาหรือ สังเคราะห์น้ำตาลที่มีมูลค่า อาจกล่าวได้ว่าเอนไซม์เหล่านี้ช่วยทำให้กระบวนการผลิตเป็นกระบวนการที่สะอาดมากขึ้น ลดปริมาณการใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย
2. เอนไซม์กลุ่มที่สามารถเร่งปฏิกิริยาการเรืองแสงและมีประโยชน์ในการประยุกต์ใช้เป็นตัวตรวจวัดชีวภาพ (Enzymes for bioreporter applications) เป็นการเร่งปฏิกิริยาการเปลี่ยนพลังงานเคมีให้เป็นแสง ซึ่งอยู่ในระหว่างการสร้าง reporter gene เพื่อใช้สำหรับตรวจวัดการแสดงออกของยีนสำหรับเซลล์สัตว์ชั้นสูงและเซลล์แบคทีเรีย และเอนไซม์ออกซิโดรีดักเทส เช่น pyranose 2-oxidase หรือ flavin reductase ที่สามารถเร่งปฏิกิริยาการรับส่งอิเลคตรอน ทำให้สามารถตรวจจับสารเคมีโดยการวัดสัญญานไฟฟ้า
3. เอนไซม์ที่มีประโยชน์ในกระบวนการเปลี่ยนผลผลิตเหลือใช้จากการเกษตรให้เป็นสารเคมีหรือพลังงานที่มีประโยชน์ (Enzymes for biorefinery process) การพัฒนากระบวนการผลิตสารเคมี จากผลิตภัณฑ์เหลือใช้จากภาคอุตสาหกรรมการเกษตร เป็นการลดการพึ่งพาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและพัฒนาแหล่งพลังงานทางเลือก ทำให้เกิดกระบวนการเปลี่ยนสารตั้งต้นมูลค่าต่ำให้เป็นสารที่ใช้ประโยชน์ได้ เช่น อนุพันธ์ในการสังเคราะห์ไบโอพลาสติก หรือก๊าซชีวภาพ
4. ศึกษาเอนไซม์กลุ่มที่เป็นเป้าหมายในการผลิตยารักษาโรคใหม่ ๆ เช่น ยาต้านเชื้อมาลาเรีย (Enzymes for drug target) ถ้าเราทำการศึกษาจนเข้าใจถึงกลไกการเกิดปฏิกิริยาของเอนไซม์ที่มีความสำคัญในการดำรงชีวิตของเชื้อมาลาเรีย ก็จะสามารถหาตัวยับยั้งที่มีความจำเพาะ ซึ่งจะนำไปสู่การค้นพบยารักษาโรคมาลาเรียตัวใหม่ได้ในที่สุด
งานวิจัยในอนาคต
กลุ่มวิจัยของ ศ. ดร.พิมพ์ใจ จะยังคงศึกษากลไกการทำงานและความสามารถในการประยุกต์ใช้งานเอนไซม์ออกซิโดรีดักเทสและอัลโดเลสต่อไป โดยจะเน้นโจทย์วิจัยไปทั้งสองด้านคือ ด้านงานวิจัยพื้นฐานและงานวิจัยที่สามารถนำไปสู่การประยุกต์ใช้หรือนวัตกรรมใหม่
ในส่วนงานวิจัยพื้นฐาน จะศึกษาปฏิกิริยาของเอนไซม์ตัวใหม่ ๆ ที่ยังไม่เป็นที่เข้าใจกลไกการทำงาน และศึกษาความรู้พื้นฐานทางด้าน enzyme catalysis ที่ไม่เป็นที่เข้าใจ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์เป็นความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับธรรมชาติและปัจจัยเชิงกายภาพบริเวณ active site ที่มีผลต่อการควบคุม reactivity ของปฏิกิริยาต่าง ๆ คาดว่าผลที่ได้จากการวิจัยจะเป็นงานที่มีประโยชน์ต่อองค์ความรู้ใหม่ในระดับสากล มีผลกระทบสูงและต่อเนื่อง
ในส่วนงานวิจัยที่สามารถนำไปสู่การประยุกต์ใช้ จะทำการศึกษาความสามารถของเอนไซม์ต่าง ๆ ในด้านการสังเคราะห์สารเคมีที่มีมูลค่าสูง การเปลี่ยนสารเหลือทิ้งจากการเกษตร เป็นสารเคมีที่มีมูลค่าหรือก๊าซชีวภาพ และนำปฏิกิริยาต่าง ๆ เหล่านี้มาประกอบกันแบบชีววิทยาสังเคราะห์ (synthetic biology) เพื่อให้ได้กระบวนการ biorefinery ที่มีประสิทธิภาพสูง การประยุกต์ใช้เอนไซม์เป็นตัวตรวจวัดชีวภาพ และการหาตัวยับยั้งปฏิกิริยาเอนไซม์ เพื่อเป็นยารักษาโรคตัวใหม่
คาดการนำผลงานไปใช้ประโยชน์
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เอนไซม์ที่ศึกษามีศักยภาพและประโยชน์ต่อการประยุกต์ใช้งานในอุตสาหกรรมหลายประเภท เนื่องจากปฏิกิริยาที่ใช้เอนไซม์เป็นตัวเร่งสามารถเกิดได้โดยใช้พลังงานกระตุ้นที่น้อยกว่าปฏิกิริยาที่เกิดโดยไม่ได้ใช้เอนไซม์ ทำให้ปฏิกิริยาสามารถเกิดขึ้นได้เร็วกว่ามาก นอกจากนั้นปฏิกิริยาสามารถเกิดได้อย่างจำเพาะ ได้ผลผลิตอย่างถูกต้องตามที่ต้องการ
ความรู้ที่ได้จากการศึกษาเอนไซม์ในหัวข้อ เอนไซม์ที่มีประโยชน์ในการเร่งปฏิกิริยาการสังเคราะห์ผลิตภัณฑ์ทางยาหรือสารเคมีที่มีมูลค่าสูง จะสามารถนำไปสู่การสังเคราะห์ผลิตภัณฑ์ทางยา หรือสารเคมีที่มีมูลค่าสูง โดยเป็นเทคโนโลยีที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะสามารถลดต้นทุนจากการใช้พลังงานในกระบวนการผลิตลดปริมาณการใช้สารเคมีอันตราย และลดการปล่อยขยะเคมีในสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมสมัยใหม่หลายประเภทในประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้ประยุกต์ใช้เอนไซม์เหล่านี้ในขั้นตอนผลิตสารเคมีที่มีมูลค่าสูง
ความรู้ที่ได้จากการศึกษาเอนไซม์ในหัวข้อ เอนไซม์ที่มีประโยชน์ในกระบวนการเปลี่ยนผลผลิตเหลือใช้จากการเกษตรให้เป็นสารเคมี หรือพลังงานที่มีประโยชน์จะมีประโยชน์สำหรับกระบวนการเปลี่ยนขยะจากภาคการเกษตร เป็นสารเคมีที่มีประโยชน์หรือการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตก๊าซชีวภาพ ความรู้ดังกล่าวจะทำให้การพัฒนากระบวนการผลิตสารเคมีที่มีสารตั้งต้นจากภาคอุตสาหกรรมการเกษตร โดยเฉพาะจากผลผลิตเหลือใช้ จะช่วยลดการพึ่งพาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมเพิ่มความยั่งยืนของภาคการผลิตในประเทศไทย และเป็นแหล่งพลังงานทางเลือก
ความรู้ที่ได้จากการศึกษาเอนไซม์ในหัวข้อ เอนไซม์ที่มีประโยชน์ในการประยุกต์ใช้เป็นตัวตรวจวัดชีวภาพ จะทำให้เกิดนวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ มีประโยชน์ในการสร้างตัวตรวจวัดหรืออุปกรณ์ที่ช่วยวินิจฉัยทางด้านการวิเคราะห์ที่ดีขึ้น เนื่องจากเอนไซม์ในกลุ่มนี้ทำให้สามารถตรวจจับสารเคมี โดยการวัดสัญญานไฟฟ้า การเปล่งหรือดูดกลืนแสง เป็นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและลดการนำเข้า การพึ่งพาชุดอุปกรณ์ตรวจวัดจากต่างประเทศ ความรู้ที่ได้จากการศึกษาเอนไซม์ในหัวข้อเอนไซม์ที่เป็นเป้าหมายใหม่สำหรับยาต้านเชื้อมาลาเรียอาจนำไปสู่การพัฒนายาต้านมาลาเรียตัวใหม่
คำประกาศเกียรติคุณ
รางวัล "นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น" มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์
ศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น
(Prof. Dr.Pimchai Chaiyen)
นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาชีวเคมี ประจำปี พ.ศ. 2558
ด้วยคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ได้พิจารณาเห็นว่า ศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น เป็นผู้มีผลงานวิจัยดีเด่นด้านชีวเคมี โดยได้ทำงานวิจัยพื้นฐานศึกษากลไกการเร่งปฏิกิริยาของเอนไซม์ เพื่อให้เกิดความเข้าใจเชิงลึก ซึ่งจะนำไปสู่การประยุกต์ใช้งานเอนไซม์ชนิดต่าง ๆ ได้ดีขึ้น โดยได้ค้นพบองค์ความรู้ใหม่มากมายโดยเฉพาะในกลุ่มเอนไซม์ที่เร่งปฏิกิริยาการส่งผ่านอิเล็กตรอนและกลุ่มเอนไซม์ที่เร่งปฏิกิริยาการตัดหรือเชื่อมต่อพันธะระหว่างคาร์บอน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเอนไซม์ที่มีวิตามินบี 2 และวิตามินบี6 เป็นตัวช่วยในการทำปฏิกิริยา เอนไซม์เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาทางเคมีที่สำคัญสำหรับสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ทำให้ปฏิกิริยาสิ่งมีชีวิตเกิดได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้องและง่ายดาย เอนไซม์มีประโยชน์อย่างมากต่ออุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ ทำให้เกิดกระบวนการผลิตที่ใช้พลังงานต่ำ ลดการใช้สารเคมีอันตราย เป็นกระบวนการที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ความรู้เรื่องเอนไซม์ยังมีประโยชน์ในด้านการตรวจวัดทางการแพทย์และต่อการค้นพบยารักษาโรค
กลุ่มวิจัยของ ศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น ศึกษากลไกการทำงานของเอนไซม์แบบเชิงลึก โดยใช้เทคนิคการศึกษาแบบสหสาขา บูรณาการศาสตร์การวิจัยทั้งทางด้านชีวภาพและกายภาพเข้าด้วยกัน เป็นกลุ่มวิจัยแรกของประเทศไทยที่ศึกษาจลนพลศาสตร์ของปฏิกิริยาเอนไซม์ก่อนที่จะเข้าสู่สภาวะคงตัว ทำให้ได้ข้อมูลเพื่อมห้เกิดคามเข้าใจในกลไกปฏิกิริยาของเอนไซม์ชนิดต่าง ๆ อย่างแท้จริง ผลการศึกษาทำให้ได้คันพบองค์ความรู้ใหม่หลายอย่างที่เปลี่ยนแนวคิดและความเข้าใจเดิมเกี่ยวกับกลไกปฏิกิริยาของเอนไซม์ที่มีวิตามินบี 2 เป็นองค์ประกอบ ได้ค้นพบสารตัวกลางชนิดใหม่ของเอนไซม์ที่เร่งปฏิกิริยาออกซิเดชัน ได้ความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับทฤษฎีการเกิดปฏิกิริยาของฟลาวินกับออกซิเจน ได้คันพบว่าโปรตีนแต่ละส่วนมีวคามเกี่ยวข้องอย่างไรไนการทำงานร่วมกันเพื่อเร่งปฏิกิริยาไฮดรอกซีเลชันของสารประกอบฟีนอล เข้าใจขั้นตอนจำกัดของปฏิกิริยาเอนไซม์แต่ละชนิดที่ศึกษา และเข้าใจบทบาทหน้าที่ของกรดอะมิโนแต่ละชนิดในบริเวณเร่งของเอนไซม์ ความรู้ดังกล่าวที่ได้มีประโยชน์ในการประยุกต์ใช้ เพราะทำให้สามารถสร้างและปรับสภาวะของปฏิกิริยาเพื่อให้ได้สารผลิตภัณฑ์สูงสุด โดยช่วยให้การทำวิศวกรรมเอนไซม์เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติของเอนไซม์เป็นไปอย่างตรงเป้าและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ปัจจุบันทางกลุ่มวิจัยของ ศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น ได้ใช้องค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาก่อนหน้า พัฒนาปฏิกิริยาต้นแบบที่สามารถเปลี่ยนกรดฟีนอลลิคที่ได้จากการย่อยชีวมวลมูลค่าต่ำ ให้เป็นสารออกฤทธิ์ทางีชวภาพที่มีมูลค่าเพิ่ม นอกจากนี้ กลุ่มวิจัยของ ศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น ได้ค้นพบเอนไซม์ที่เร่งปฏิกิริยาการเปล่งแสงชนิดใหม่ที่สามารถทนความร้อนได้ดี และมีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับประยุกต์ใช้งานเป็นตัวตรวจวัดทางชีวภาพ และได้พัฒนาวิธีวัดการทำงานของเอนไซม์ที่เป็นเป้าหมายของยาต้านมาลาเรียชนิดใหม่ให้สะดวกยิ่งขึ้น และศึกษาได้ข้อมูลความแตกต่างของปฏิกิริยาเอนไซม์ในเชื้อมาลาเรียและในคน ซึ่งความรู้ที่ได้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนายาต้านมาลาเรียชนิดใหม่
ศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและในระดบันานาชาติ ว่าเป็นนักชีวเคมีที่ประสบความสำเร็จในการวิจัยเป็นอย่างสูง ในระดับประเทศ ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติมากมาย อาทิ รางวัลทุนวิจัยลอรีอัล รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ รางวัลนักชีวเคมีและชีววิทยาโมเลกุลรุ่นใหม่ รางวัล TRF-CHE-Scopus Researcher Award รางวัลทะกูชิสำหรับนักวิจัยดีเด่นสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติจากสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และเมธีวิจัยอาวุโส สกว. จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในระดับนานาชาติ ศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น เป็นที่ยอมรับว่ามีผลงานการศึกษากลไกปฏิกิริยาของเอนไซม์ โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้วิตามินบี2 เป็นตัวช่วยในการทำปฏิกิริยา อยู่ในระดับแนวหน้าของโลก เป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับเกียรติให้เป็นสมาชิกของกองบรรณาธิการวารสารสมาคมชีวเคมีแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นวิทยากรรับเชิญบรรยายในการประชุมวิชาการชั้นนำของวงการวิทยาศาสตร์ในระดับนานาชาติหลายครั้ง เป็นผู้ประเมินบทความให้แก่วารสารชั้นนำระดับนานาชาติมากกว่า 200 บทความ และเป็นผู้ประเมินทุนวิจัยให้หน่วยงานให้ทุนในประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรป เมื่อปี ค.ศ. 2014 ได้รับเลือกจากกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกที่ศึกษาปฏิกิริยาของวิตามินบี 2ให้เป็นประธานกรรมการจัดการประชุมหลักของวงการที่จัดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องนานกว่า 50 ปี
ศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น เป็นนักวิจัยที่มีจริยธรรมในการทำงานและปฏิบัติตนที่น่าเป็นแบบอย่างแก่นักวิจัยอื่น เป็นนักวิจัยที่มีความวิริยะ อุตสาหะ มีความขยันขันแข็ง มุ่งมั่น และตั้งใจในการทำวัจิยอย่างจริงจัง สม่ำเสมอ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือผู้อื่นเมื่อมีโอกาสที่จะทำได้ ศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น ยังเป็นครูที่ดี ได้ให้คำปรึกษา อบรมสั่งสอนความรู้ทางวิชาการและจริยธรรม ให้แก่นักศึกษาบัณฑิตในความดูแลเป็นอย่างดี จนได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติในด้านความเป็นครู จากคณะวิทยาศาสตร์และมหาวิทยาลัยมหิดล ในด้านการทำงานที่จะเกิดประโยชน์ต่อองค์กรและสังคมส่วนรวม นอกเหนือจากงานด้านการเรียนการสอนและการวิจัยแล้ว ศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาชีวเคมี และปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากนี้ ยังได้อุทิศตนช่วยเหลืองานวิชาการของหน่วยงานต่าง ๆ อยู่เสมอ อาทิ การรับเป็นวิทยากรบรรยายให้แก่เยาวชนที่มีความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์ เป็นวิทยากรบรรยายในงาน TEDxBangkok 2015 เพื่อจุดประกายความคิดและส่งต่อแรงบันดาลใจให้บุคคลทั่วไปในสังคมไทย
ด้วยเหตุที่ ศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น เป็นผู้ที่เพียบพร้อมด้วยคุณวุฒิและคุณธรรม คณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น จึงมีมติเอกฉันท์ ยกย่อง ศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น เป็นนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาชีวเคมี ประจำปีพุทธศักราช 2558
คัดจากหนังสือ : มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์. (2558).
รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2558 : ศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น.
กรุงเทพ : มูลนิธิ.
วาทะ “นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น”
“...วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุก เป็นเรื่องมีประโยชน์ การศึกษาวิทยาศาสตร์พื้นฐานจะได้ผลลัพธ์ เป็นความรู้ความเข้าใจในปรากฏการณ์ที่มีอยู่ในธรรมชาติ เยาวชนที่สนใจจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ในอนาคต ควรจะต้องเริ่มต้นด้วยการค้นหาตัวเองให้เจอ ว่าเราชอบและถนัดที่จะเรียนสาขาอะไร เมื่อมีโอกาสได้ทำโครงการวิจัย ควรจะต้องสังเกตว่างานวิจัยเรื่องอะไรที่ทำให้เรารู้สึกสนุกและตื่นเต้น (Finding Passion) เมื่อเริ่มทำงานเป็นนักวิจัย ก็ต้องพยายามที่จะทำวิจัยในเรื่องที่ท้าทาย ให้เราสามารถค้นพบอะไรใหม่ ๆ ที่ยังไม่มีใครเคยรู้มาก่อน (Making Discovery) ในระยะต่อมาควรต้องพยายามนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาให้เกิดประโยชน์ (Contributing to the Society)
นักวิทยาศาสตร์จะต้องเป็นคนรู้รอบ รู้ลึกและรู้กว้าง เป็นอาชีพที่ต้องพยายามพัฒนาปรับปรุงงานที่ทำอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากศาสตร์ต่าง ๆ มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ถ้าเราหยุดนิ่งคือการที่เราถอยหลัง นักวิทยาศาสตร์จะต้องมีศาสตร์และศิลป์สำหรับการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี เพราะงานวิทยาศาสตร์ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องทำกันเป็นทีม...”
ห้องแสดงภาพ "ศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น"
ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล