รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริลตา ยศแผ่น

นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ สาขาเคมี ประจำปี 2559

                รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริลตา ยศแผ่น (ตำแหน่งทางวิชาการขณะได้รับรางวัล คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.) เกิดเมื่อ พ.ศ. 2525 ที่จังหวัดลำปาง เป็นบุตรของนายบุญศรี และนางวิจิตรา ยศแผ่น สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนอนุบาลลำปาง (เขลางค์รัตน์ อนุสรณ์) สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย จังหวัดลำปาง และได้รับทุนรัฐบาล (The Royal Thai Government Scholarship) ประจำปี พ.ศ. 2544 ไปศึกษาในระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก ณ ประเทศแคนาดา และ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยได้เลือกศึกษาต่อระดับปริญญาตรีในสาขาเคมีที่มหาวิทยาลัย McGill ประเทศแคนาดา และสำเร็จการศึกษาพร้อมเกียรตินิยมอันดับหนึ่งในปี พ.ศ. 2549 ในระหว่างที่ศึกษานั้นได้รับรางวัลทางด้านการศึกษาและการวิจัยจากทางมหาวิทยาลัยและหน่วยงานอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น รางวัล Hypercube Scholar รางวัล Outstanding Undergraduate Research Presentation ทุน Herbert J. Brennen Scholarship รางวัล James McGill Awards และ รางวัล Brian C. Smith Prize อีกทั้งยังได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมในโครงการ Pf izer Summer Undergraduate Research Fellowship in Synthetic Organic Chemistry ในปี 2548 จัดโดย Pf izer Global Research & Development (PGRD) โดยโครงการนี้ได้ให้การสนับสนุนการศึกษาวิจัยทางด้านเคมีอินทรีย์สังเคราะห์และการประยุกต์ใช้

                ดร.ศิริลตา มีความสนใจเกี่ยวกับเคมีอินทรีย์สังเคราะห์ที่เกี่ยวข้องกับการเร่งปฏิบัติเป็นพิเศษ จึงได้เลือกศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก (พ.ศ. 2549-2553) สาขาเคมี (อินทรีย์) ที่มหาวิทยาลัย California, Berkeley ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมี Professor Dr.Robert G. Bergman และ Professor Dr.Jonathan A. Ellman เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ในหัวข้อเรื่อง "sp2-Carbon-Hydrogen (C-H) Bond Functionalization" งานวิจัยในระดับปริญญาเอกเป็นงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการนำโลหะ แทรนสิชัน เช่น Rh, Cu และ Pd มาเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาเพื่อกระตุ้นและเปลี่ยนแปลงพันธะคาร์บอน-ไฮโดรเจนของสารอินทรีย์ให้เป็นพันธะ อื่น ๆ เช่น พันธะคาร์บอน-คาร์บอน และพันธะคาร์บอน-ไนโตรเจน และในระหว่างที่ศึกษาในระดับปริญญาเอก มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการนานาชาติ จำนวน 4 เรื่อง หลังจากสำเร็จการศึกษา ดร.ศิริลตา เข้ารับการบรรจุเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี พ.ศ. 2554 และในปี พ.ศ. 2557 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาขาเคมีอินทรีย์

                นอกเหนือจากบทบาทหน้าที่การสอนในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัย ดร.ศิริลตา ยังทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับการผลักดันจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมทางเคมี (Center of Excellence for Innovation in Chemistry, PERCH-CIC) ด้วยทุนสนับสนุนการทำวิจัยอาจารย์รุ่นใหม่ทั้งทางด้านวัสดุและครุภัณฑ์ นอกเหนือจากนี้ ดร.ศิริลดา ยังได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยจากโครงการทุนพัฒนาศักยภาพในการทำงานวิจัยของอาจารย์รุ่นใหม่ ประจำ ปี พ.ศ. 2555 และ 2557 จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.วิชัย ริ้วตระกูล เป็นนักวิจัยพี่เลี้ยงและในปี พศ. 2559 ดร.ศิริลตา ได้รับทุนัฒนานักวิจัยจาก สกว. ในการสนับสนุนการทำวิจัยอีกด้วย

                งานวิจัยที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันของ ดร.ศิริลตา เกี่ยวข้องกับการพัฒนาวิธีการสังเคราะห์ สารอินทรีย์วิธีใหม่ โดยเฉพาะสารอินทรีย์ ที่มีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบในกลุ่ม N-heterocycle และ ซัลโฟนาไมด์ (sulfonamide) โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนากระบวนการสังเคราะห์สารอินทรีย์ที่ใช้กระบวนการเร่งปฏิกิริยา โดยวิธีการที่สามารถทำได้สะดวกและมีประสิทธิภาพเพื่อเปลี่ยนแปลงสารตั้งต้นโมเลกุลเล็ก ๆ ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์และมีโครงสร้างที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น รวมถึงการใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาชนิดที่เป็นโลหะแทรนสิชันและการเร่งปฏิกิริยาแบบที่ไม่ใช้โลหะ นอกเหนือจากนั้น ดร.ศิริลตา ยังคงทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงพันธะคาร์บอน-ไฮโดรเจนของสารอินทรีย์ซี่งเป็นงานวิจัยด้านที่ท้าทายทางเคมีอินทรีย์สังเคราะห์ การกระตุ้นพันธะคาร์บอน-ไฮโดรเจนและเพิ่มหมูฟังก์ชันอื่น ๆ ลงไป เป็นกระบวนการที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาการสังเคราะห์สารแนวทางใหม่ ๆ อีกทั้งยังเป็นวิธีที่มี atom-economy ที่ดี สามารถช่วยลดปริมาณสารฮาโลเจนที่เป็นพิษที่อาจเกิดขึ้นในปฏิกิริยา

                งานวิจัยอีกด้านที่ ดร.ศิริลตา ให้ความสนใจคือ งานวิจัยทาง Green Chemistry โดยได้ริเริมนำหลักการทรง Green Chemistry มาใช้คิดค้นและพัฒนาเป็นกระบวนการสังเคราะห์ที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ได้สารผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ในปริมาณมากและหลีกเลี่ยงการใข้สารเคมีที่เป็นพิษ รวมถึงลดปริมาณการใช้สารเคมีในปริมาณมากเกินไป เพื่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุดจากกระบวนการสังเคราะห์ ขณะนี้ ดร.ศิริลตา และนักศึกษาในกลุ่มวิจัยได้ศึกษาการเพิ่มประสืทธิภาพของกฏิกิริยา ศึกษาขอบเขตและข้อจำกัด รวมถึงตรวจสอบความเป็นไปได้ของกลไกการเกิดปฏิกิริยา โดยอาศัยความรู้ประสบการณ์และความเพียรพยายามของทุกครในกลุ่มวิจัย เพื่อพัฒนาเป้นกระบวนการสังเคราะห์วิธีใหม่ที่สามารถประยุกต์ใช้ได้จริงและก่อให้เกิดประโยชน์ที่คุ้มค่าทั้งทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมแทนที่วิธีเดิมที่มีอยู่ปัจจุบัน ดร.ศิริลตา มีผลงานตีพิมพ์โดยเป็นผู้วิจัยหลัก (corresponding author ) ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติที่มีชื่อเสียงในสาขาเคมีอินทรีย์ เช่น The Journal of Organic Chemistry, Organic and Bimolecular Chemistry และ European journal of Organic Chemistry และได้รับรางวัลการนำเสนอผลงานวิจัยดีเยี่ยมแบบโปสเตอร์ในการประชุม " นักวิจัยรุ่นใหม่... พบ.. เมธีวิจัยอาวุโส สกว." ครั้งที่ 15 ประจำปี พ.ศ. 2559 จาก สกว. และ ดร.ศิริลตา ยังได้รับเชิญเป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาผลงานวิจัยได้แก่ วารสารต่าง ๆ หลายฉบับ เช่น The Journal of Organic Chemistry, ChemCatChem, ChemSusChem, Synlett รวมถึงทำหน้าที่เป็นผู้ประเมินบทความวิชาการ ในการประชุมวิชาการทางเคมีที่จัดขึ้นในประเทศไทย เช่น The Asian Chemical Congress (ACC) Pure and Applied Chemistry International Conference (PACCON) และการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วทท.) อีกด้วย

                ตลอดระยะเวลาการทำงานที่ผ่านมา ผลงานวิจัยและการค้นพบต่าง ๆ ของ ดร.ศิริลตา จะเกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจากความสร้างสรรค์ ความพยายาม และความทุ่มเทในการทำงานของนักศึกษาทุกคนในกลุ่มวิจัย รวมถึงคำแนะนำที่ดีจากศาสตราจารย์ ดร.วิชัย ริ้วตระกูล และศาสตราจารย์ ดร.มนัส พรหมโคตร และการสนับสนุนจากคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ในภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ ตลอดจนผู้บริหารที่เล็งเห็นความสำคัญของการทำวิจัยเสมอมาและที่ขาดไม่ได้คือ ความรักและกำลังใจที่สำคัญจากครอบครัวที่หล่อหลอมและผลักดันให้ ดร.ศิริลตา เพียรพยายามอย่างเต็มที่ในทุก ๆ ก้าวเดิน

ที่มาข้อมูล : รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี 2559. [กรุงเทพฯ] : มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์, 2559. ISBN 978-616-91314-7-2

ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล