ศาสตราจารย์ ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์

รางวัลนักวิทยาสตร์รุ่นใหม่ สาขาจุลชีววิทยา ปี 2538

                ศาสตราจารย์ ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ (ตำแหน่งทางวิชาการขณะรับรางวัลคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.) เกิดเมื่อ พ.ศ. 2505 เป็นบุตรของ นายศิววงศ์ และ นางสมวงศ์ จังคศิริ สมรสกับ นต. นพ.สุชาต ไชยโรจน์ มีบุตรชาย 1 คน ได้รับการศึกษาชั้นประถมและมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย และชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะเทคนิคแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับปริญญาวิทยาศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง และรางวัลเหรียญทอง ในปี พ.ศ. 2527

                ในปี พ.ศ. 2528 ได้รับทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ เมืองวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทและเอก ในสาขา Immunobiology ได้รับปริญญาโทในปี พ.ศ. 2530 และ ปริญญาเอกในปี พ.ศ. 2532 ในขณะที่เรียนปริญญาเอกได้มีโอกาสทำงานพิเศษในฐานะ Visiting Scientist ใน Malaria Section, The National Institute of Allergy and Infectious Diseases, National Institute of Health, Bathesda และ Biomedical Research Institute, Rockville มลรัฐแมรี่แลนด์


                เมื่อจบการศึกษา ได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา ในปี พ.ศ. 2533 ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการศึกษา variation ของ circumsporozoite gene ใน oocyst ของยุงที่เป็นพาหะนำเชื้อ Plasmodium vivax ในประเทศไทยและการผลิตโมโนโคลนัล แอนติบอดี ต่อเชื้อ Campylobacter เพื่อใช้ในการวินิจฉัยโรค Campylobacter enteritis จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2535 ได้รับทุนจากองค์การอนามัยโลก ให้ไปทำงานวิจัยหลังปริญญาเอกที่ Immuno-parasitology Unit, The Walter and Eliza Hall Institute รัฐวิคตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย เป็นเวลา 2 ปี และกลับมารับราชการ ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2537 ปัจจุบันได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากองค์การอนามัยโลก ทำงานวิจัยเกี่ยวกับบทบาทของยีน pfmdr1 กับการดื้อยาในเชื้อมาลาเรีย และทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้ทำงานวิจัยเรื่อง การศึกษากลไกการเกาะติดของเม็ดเลือดแดงที่ติดเชื้อมาลาเรียชนิดฟัลซิพารัมต่อ adhesion molecule ชนิดต่าง ๆ

                ผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลเรื่อง

                การค้นพบ trypsin-insensitive Ligand บนผิวเม็ดเลือดแดงที่ติดเชื้อมาลาเรียชนิดฟัลซิมารัม และ adhesion molecule ชนิดใหม่บนเซลล์บุผนังหลอดเลือด

                การติดเชื้อมาราเรียชนิดฟัลซิพารัม ทำให้แอนติเจนใหม่หลายชนิดเกิดขึ้นบนผิวเม็ดเลือดแดง การเปลี่ยนแปลงของผิวเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ติดเชื้อ เกี่ยวข้องกับการเกาะติดของเม็ดเลือดแดงกับเซลล์บุผนังหลอดเลือด ซึ่งในปัจจุบันคาดว่าเป็นกลไกหนึ่งของพยาธิสภาพในการเกิดมาลาเรียขึ้นสมอง คณะผู้วิจัยได้ศึกษากลไกดังกล่าว โดยคัดเลือกปรสิตซึ่งแสดงลักษณะของ Ligand ที่มีความแตกต่างกันอย่างน้อย 2 ชนิดบนผิวเม็ดเลือดแดง ปรสิตที่ถูกคัดเลือกมีคุณสมบัติแตกต่างไปจากปรสิตสายพันธุ์แรก กล่าวคือ การเกาะติดของเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ติดเชื้อปรสิตที่ถูกคัดเลือกกับเซลล์บุผนังหลอดเลือดอาศัย Ligand อย่างน้อย 2 ชนิดเกาะกับ adhesion molecule บนผิวเซลล์บุผนังหลอดเลือดถึง 3 ชนิด พบว่า Ligand ที่มีลักษณะเป็น trypsin–sensitive เกี่ยวข้องกับการเกาะติดของเซลล์เม็ดเลือดแดง ที่ติดเชื้อกับ CD36 และ intracellular adhesion molecute-1 ส่วน Iigand ที่มีลักษณะเป็น Trypsin-insensitive เกี่ยวข้องในการเกาะติดกับ adhesion molecule ชนิดใหม่ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตบนผิวเซลล์ melanoma Adhesion molecule ชนิดใหม่ดังกล่าวนี้คือ chondroitin sulfate A เมื่อย่อย adhesion molecule ชนิดใหม่บนผิวเซลล์ melanoma ด้วย chondroitinase พบว่าการเกาะติดระหว่างเซลล์ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ และการเกาะติดของเม็ดเลือดแดงที่ติดเชื้อกับเซลล์ melanoma ถูกยับยั้งได้ด้วยสารละลาย chondroitin sulfate A ทั้งนี้ ระดับการยับยั้งขึ้นอยู่กับปริมาณสารที่ใช้ การค้นพบใหม่ที่ว่ามี Ligand มากกว่าหนึ่งชนิดบนผิวเม็ดเลือดแดงที่ติดเชื้อมาลาเรียชนิดฟัลซิมารัม และการคันพบ adhesion molecule ชนิดใหม่ อันได้แก่ chondroitin sulfate A แสดงให้เห็นถึงการปรับตัวของเชื้อมาลาเรียชนิดฟัลซิพารัมและความซับซ้อนของปรากฏการณ์การเกาะติดระหว่างเซลล์ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของพยาธิสภาพในการเกิดมาลาเรียขึ้นสมอง

ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล