ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ภญ.ภาวิณี ปิยะจตุรวัฒน์

การศึกษา

  • พ.ศ. 2515 : ปริญญาตรี สาขาวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • พ.ศ. 2517 : ปริญญาโท สาขาวิชาสรีรวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล
  • พ.ศ. 2521 : ปริญญาเอก สาขาวิชาสรีรวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล
  • Post-Doctoral Training กับ Prof. A.V. Schally (Nobel Laureate 1978),
  • Department of Medicine, School of Medicine, Tulane University, U.S.A.

ผลงานที่สำคัญ

• ผลงานวิจัยเผยแพร่ในวารสารวิชาการ 143 เรื่อง (ข้อมูลจากฐานข้อมูล Scopus ปี 2024) ผลงานที่ได้รับการจดสิทธิบัตร 1 เรื่อง

• เป็นผู้บุกเบิกการศึกษาวิจัยสมุนไพรไทย ว่านชักมดลูก อย่างมีระบบ จากสมุนไพรที่ไม่มีข้อมูลสนับสนุนทางด้านวิทยาศาสตร์ กลายเป็นสมุนไพรที่มีความสำคัญและน่าสนใจอย่างยิ่งในปัจจุบัน โดยค้นพบฤทธิ์ที่สำคัญที่บ่งชี้ถึงศักยภาพในการนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับสตรีวัยหมดประจำเดือน

รางวัลเชิดชูเกียรติ

  • พ.ศ. 2546 : รางวัลผลงานวิจัยสาขาวิทยาศาสตร์ เคมีเภสัช (รางวัลชมเชย) เรื่อง “ว่านชักมดลูกกับแนวทางการพัฒนายาใหม่เพื่อลดไขมันในเลือดและลดการคั่งของน้ำดีในตับ” จาก สภาวิจัยแห่งชาติ พ.ศ. 2546
  • พ.ศ. 2553 : รางวัลศิษย์เก่าดีเด่น บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล สาขาวิจัยและวิชาการ จาก สมาคมศิษย์เก่าบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล
  • พ.ศ. 2554 : รางวัลอาจารย์ตัวอย่าง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จาก สภาอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์
  • พ.ศ. 2557 : รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์ เคมีและเภสัช จาก สภาวิจัยแห่งชาติ

แนวคิดในการทำงาน

1. การเป็นครู: เป็นครูที่สอนด้วยเนื้อหาที่ถูกต้อง ทันสมัย ก้าวทันวิชาการและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ตลอดจนต้องอบรมสั่งสอนศิษย์อย่างใกล้ชิด เน้นความมีระเบียบวินัย คูรธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณของวิชาชีพ

2. การเป็นนักวิจัย: เน้นการผลิตผลงานวิจัยที่เกิดประโยชน์ต่อสังคมไทยและมนุษยชาติ ผลงานมีคุณภาพสูง เน้นการวิจัยเป็นกลุ่ม มีเครือข่าย มีการบูรณาการงานวิจัยในหลากหลายสาขา เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

3. การเป็นผู้บริหาร: บริหารงานอย่างโปร่งใส เป็นระบบ มีธรรมาภิบาล เปิดโอกาสให้สมาชิกในหน่วยงานมีส่วนร่วมตลอดจนต้องเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา

4. การครองตน: มีคุณธรรม จริยธรรม มีเมตตา มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีชีวิตครอบครัวที่ดีงาม มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง มุ่งทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม สังคม เป็นพลเมืองที่ดีของชาติ


ที่มา : นิทรรศการ อาจารย์ตัวอย่าง ของสภาคณาจารย์ ประจำปี 2554 จัดแสดงใน งาน 43 ปี วันพระราชทานนาม มหาวิทยาลัยมหิดล ณ อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2555.
ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ประกาศเกียรติคุณ ศาสตราจารย์ ดร. ภญ.ภาวิณี ปิยะจตุรวัฒน์ (ภาควิชาสรีรวิทยา)
รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์ เคมีและเภสัช ประจำปี 2557

ชูงานวิจัยบูรณาการ “ว่านชักมดลูก” สมุนไพรไทยเสริมสุขภาพสตรี เตรียมรับสังคมผู้สูงวัย

ความชราและการเสื่อมถอยของอวัยวะในร่างกายเป็นเรื่องของธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ส่งผลให้ประชาชนมีอายุขัยเพิ่มขึ้น ปัจจุบันสัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง นับเป็นความกังวลของประเทศ ด้วยผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีปัญหาการเจ็บป่วยที่เรื้อรัง ในประเทศไทยเองนั้นมีสัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือ Aging Society อย่างเต็มตัว ในประชากรผู้สูงอายุเพศหญิงจะประสบปัญหามากกว่าเพศชาย มีความสุ่มเสี่ยงในการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพในสังคมสูงวัยมากกว่า ประเด็นที่เป็นปัญหาหลักในผู้หญิง คือผู้หญิงอยู่ในภาวะของวัยหมดประจำเดือนที่รังไข่หยุดทำงานและหยุดการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่อายุประมาณ 50 ปี นั่นหมายถึงหลังจากนั้น ผู้หญิงจะต้องใช้ชีวิตอยู่ในขณะที่มีภาวะขาดฮอร์โมนจากรังไข่ไปอีกกว่า 30 - 40 ปี ตามอายุขัย

ศาสตราจารย์ ดร. ภญ.ภาวิณี ปิยะจตุรวัฒน์ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์เคมีเภสัช ประจำปี 2557 กล่าวว่า “เพศหญิงมีรังไข่เป็นแหล่งผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มีหน้าที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของอวัยวะในระบบสืบพันธุ์ และพัฒนาการของลักษณะทางเพศเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นแต่ด้วยจำนวนเซลล์ไข่ในรังไข่มีจำนวนจำกัดซึ่งถูกกำหนดมาแล้วตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของมารดา เซลล์ดังกล่าวจะลดจำนวนลงไปเรือย ๆ จากการถูกใช้และฝ่อตายไป จำนวนเซลล์ไข่ในรังไข่ที่ลดลงไปพร้อมกับระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลง จนท้ายสุดสตรีเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญว่าฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายอยู่ในระดับต่ำ ฮอร์โมนเอสโตรเจนนี้มิได้มีบทบาทต่ออวัยวะในระบบสืบพันธุ์เท่านั้น แต่ยังมีผลต่อการทำงานของอวัยวะอื่น ๆ อาทิ ระบบการเผาผลาญอาหารและมวลกระดูก เป็นต้น ดังนั้น ในกลุ่มสตรีสูงวัยจึงมีปัญหาทางด้านสุขภาพอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับเพศชาย

ในระยะแรกของการทำงานที่คณะวิทยาศาสตร์ อาจารย์ภาวิณี ได้มุ่งศึกษาวิจัยถึงฤทธิ์ต่าง ๆ ทางเภสัชวิทยาและพิษวิทยาของพืชสมุนไพรไทยที่นำมาใช้เป็นยา หรือองค์ประกอบในตำรับยาแผนโบราณของไทยที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์และการแท้ง อาทิ พริกไทย มะกรูด ฟ้าทะลายโจร และว่านชักมดลูก เป็นต้น โดยเฉพาะการวิจัยสมุนไพรว่านชักมดลูก ได้เป็นผู้ริเริ่ม บุกเบิก และนำว่านชักมดลูกมาศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบ โดยตั้งกลุ่มวิจัย ระดมผู้ชำนาญในสาขาต่าง ๆ มาร่วมมือศึกษาวิจัย ผลการวิจัยทำให้ได้ข้อมูลในมิติต่าง ๆ ทั้งแนวกว้าง และแนวลึก ค้นพบสารสำคัญจากว่านชักมดลูกที่ออกฤทธิ์ได้แบบฮอร์โมนเอสโตรเจน เป็นสาร phytoestrogen ตัวใหม่ (novel phytoestrogen) พร้อมกับพบฤทธิ์อื่น ๆ ทางเภสัชวิทยาของว่านอีกหลายอย่าง เช่น ฤทธิ์ช่วยกระตุ้นการหลั่นน้ำดี ฤทธิ์ลดระดับไขมันในเลือด ลดภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินสุลิน ต้านการอักเสบ ลดการตายของเซลล์ประสาทจากการทำลายด้วยสารพิษ และฤทธิ์ต่อเซลล์กระดูก บรรเทาภาวะกระดูกโปร่งบางจากการขาดฮอร์โมนเพศหญิงในสัตว์ทดลอง เป็นต้น ในการวิจัยนอกจากได้ศึกษาถึงฤทธิ์แล้ว ยังได้ศึกษาถึงกลไกการทำงานของสารในเชิงลึก ในระดับโมเลกุล ปฏิสัมพันธ์ของสาร novel phytoestrogen ต่อตำแหน่งบนตัวรับของฮอร์โมนในเซลล์ที่ส่งผลกระตุ้นที่ระดับยีน และก่อให้เกิดกระบวนการการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ตามมา ว่านชักมดลูกยังมีฤทธิ์ดีเด่นในเนื้อเยื่อต่าง ๆ นอกระบบสืบพันธุ์ข้อมูลที่ได้รับถือเป็นองค์ความรู้ใหม่ และนับเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญยิ่ง ที่บ่งชี้ถึงศักยภาพในการนำสมุนไพรมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ในการบรรเทาอาการต่าง ๆ ในสตรีที่การงานของรังไข่บกพร่องต่อไป ในการวิจัยนี้ยังได้กระตุ้นให้ผู้บริโภคและภาคการผลิตเห็นความสำคัญของผลงานวิชาการที่ได้จากงานวิจัยพืชสมุนไพรไทย เพื่อทำให้ภูมิปัญญาไทยมีความยั่งยืน

นอกจากนี้ กระบวนการวิจัยว่านชักมดลูกเชิงบูรณาการ ที่ได้ระดมนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญจากสาขาต่าง ๆ มาร่วมกันทำงานผลิตผลงานที่ครอบคลุมออกมาเป็นแนวทางการวิจัยที่มีความสำคัญ สามารถใช้เป็นแบบอย่างของการวิจัยพืชสมุนไพรไทย ในการสร้างองค์ความรู้และสร้างความเชื่อมั่นจากภูมิปัญญาไทยที่มีคุณค่าในการใช้สมุนไพรไทยอย่างยั่งยืนต่อไป ในการวิจัยยังได้เน้นให้เห็นความสำคัญของมาตรฐานวัตถุดิบ สายพันธุ์พืชสมุนไพร และสาระสำคัญที่มีในพืช และถ่ายทอดข้อมูล โดยจัดให้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการบ่งชี้คุณภาพวัตถุดิบจากลักษณะสัณฐานวิทยา และคุณสมบัติทางเคมีของว่านชักมดลูกสายพันธุ์ต่าง ๆ ให้เกษตรกรผู้ปลูก นักวิจัย ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอุตสาหกรรมและอาหารเสริมที่ใช้ว่านชักมดลูกเป็นวัตถุดิบได้รับทราบ เพื่อให้ผู้ปลูกและผู้ผลิตสามารถแยกแยะและคัดเลือกว่านชักมดลูกสายพันธุ์/สัณฐานที่ถูกต้องไปใช้ประโยชน์ได้ตามวัตถุประสงค์ต่อไป

ปัจจุบัน งานวิจัยมุ่งเน้นที่จะนำผลงานวิจัยไปใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ว่านชักมดลูกให้มีประสิทธิภาพ มีมาตรฐาน และความปลอดภัยเพื่อใช้ในคนต่อไป ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้เกิดความยั่งยืนของการใช้สมุนไพรให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพของคนไทย และเกิดศักยภาพในเชิงพาณิชย์ โดยให้ความสำคัญกับมาตรฐานของวัตถุดิบ สายพันธุ์พืชเพื่อนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและยา ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้ เพิ่มมูลค่าของทรัพยากร และลดการนำเข้าเวชภัณฑ์จากต่างประเทศ และสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศในการส่งออกต่อไป


ที่มา : กณิศอันน์ มโนพิโมกข์. (31 กรกฎาคม 2558). รางวัลนักวิจัยดีเด่น ชูงานวิจัยบูรณาการ “ว่านชักมดลูก” สมุนไพรไทยเสริมสุขภาพสตรี เตรียมรับสังคมผู้สูงวัย. มหิดลสาร, 40(7), หน้า 20-21.
ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล