ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ

ประวัติ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2494 ที่กรุงเทพมหานคร ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย ตั้งแต่อนุบาลจนจบระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในปี พ.ศ. 2511 หลังจากนั้นได้ไปเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียน Ashford School, Kent ประเทศอังกฤษจนจบมัธยมศึกษาตอนปลาย และเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยในสาขาวิชา Biological Science ที่ Westfield-Queen Mary College, University of London จนจบปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับ 1 ในปี พ.ศ. 2517 หลังจากเรียนจบได้สมรสกับศาสตราจารย์สมฤกษ์ กฤษณามระ ซึ่งศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษเช่นกัน หลังจากสมรสได้เดินทางกลับประเทศไทยและสมัครเข้าเป็นอาจารย์ตรีที่ภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และลาศึกษาต่อที่ภาควิชาฯ โดยมีศาสตราจารย์ ดร.เลียงชัย ลิ้มล้อมวงศ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกในสาขาวิชาสรีรวิทยาเมื่อปี พ.ศ. 2523 มีบุตร 1 คน ได้แก่ นายศมกฤต กฤษณามระ สมรสกับนางวิลาสินี มีหลานชาย 2 คน ได้แก่ ดช.กฤษ และ ดช.ธฤษณัช กฤษณามระ

ประวัติการทำงาน

หลังจากจบปริญญาเอก ได้กลับเข้าทำงานต่อที่ภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จนเกษียณอายุทำงาน เมื่อปี พ.ศ. 2555 และได้รับการต่อสัญญาการทำงานจนถึงอายุ 65 ปี

ตำแหน่งทางวิชาการ
พ.ศ. 2517 : อาจารย์ประจำภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2524 : ผู้ช่วยศาสตราจารย์
พ.ศ. 2530 : รองศาสตราจารย์
พ.ศ. 2539 : ศาสตราจารย์
พ.ศ. 2549 : ศาสตราจารย์ระดับ 11
ตำแหน่งทางด้านบริหาร
พ.ศ. 2542-2545 : รองคณบดีฝ่ายนโยบายและแผน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2545-2550 : คณะกรรมการที่ปรึกษาคณบดี คณะวิทยาศาสตร์
พ.ศ. 2546-2550 : ประธานหลักสูตรบัณฑิตศึกษาภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์
ด้านบริการวิชาการ
- Editorial Board ของวารสาร Physiological Reports, Wiley&Son
- ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาผลงานทางวิชาการของวารสารต่างๆ ในระดับชาติและนานาชาติ
- ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินโครงการวิจัยที่เสนอขอทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC)

เกียรติคุณและรางวัลที่ได้รับ

  • พ.ศ. 2520 : รางวัลการศึกษาระดับปริญญาเอก มูลนิธิศาสตราจารย์ ดร. แถบ นิลนิธิ
  • พ.ศ. 2545 : รางวัลอาจารย์ดีเด่นประจำปี พ.ศ. 2545 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • พ.ศ. 2547 และ 2550 : ทุนเมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
  • พ.ศ. 2552 : รางวัลนักวิทยาศาสตร์สตรีดีเด่นเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนบริษัท ลอรีอัล ไทยแลนด์ ร่วมกับยูเนสโกประเทศไทย
  • พ.ศ. 2552 : รางวัลศิษย์เก่าดีเด่นสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย
  • พ.ศ. 2556 : รางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มูลนิธิโทเร ประเทศไทย
  • พ.ศ. 2542- : อนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองการขอตำแหน่งทางวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • พ.ศ. 2542- : ประธานคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการขอตำแหน่งทางวิชาการคณะวิทยาศาสตร์
  • พ.ศ. 2546- : หัวหน้าหน่วยวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูก คณะวิทยาศาสตร์

ประกาศเกียรติคุณ

ที่มา : มูลนิธิโทเร เพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย. (2557). รางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2013. กรุงเทพ : สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน).

ด้านการวิจัย

ศ.เกียรติคุณ ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ เป็นนักวิจัยทางวิทยาศาสตร์ชีวภาพพื้นฐาน (Fundamental Life Science Researcher) ที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาสรีรวิทยา (Physiology) ซึ่งเป็นวิชาว่าด้วยกระบวนการทำงานของมนุษย์และสัตว์ ตั้งแต่ระดับเซลล์ เนื้อเยื่อ อวัยวะ จนถึงสิ่งที่มีชีวิตทั้งตัว เป็นศาสตร์ทีมีความสำคัญยิ่งต่อวิทยาศาสตร์ประยุกต์ อาทิ แพทยศาสตร์ สัตว์แพทย์ศาสตร์ และวิทยาศาสตร์สุขภาพสาชาต่าง ๆ ผลงานวิจัยกว่า 3 ทศวรรษ เน้นการสร้างองศ์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านแคลเซียมและกระดูก ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยยังมีงานวิจัยในสาขานี้อยู่น้อยมาก สาเหตุส่วนหนึ่งก็คือโรคเกี่ยวกับกระดูกมักมีการดำเนินของโรคช้า เป็นอาการเรื้อรังที่ในขั้นต้นจะวินิจฉัยได้ค่อนข้างยากเป็นโรคของผู้สูงอายุ และไม่ใช่โรครุนแรงที่ทำให้เสียชีวิตเฉียบพลัน แต่ทว่าอุบัติการณ์ของโรคกระดูกในคนไทยได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากประเทศไทยมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น มีความเจริญทางการแพทย์และสาธารณสุข คนไทยจึงมีอายุยืนมากขึ้น ทำให้อุบัติการณ์ของโรคเกี่ยวกับกระดูกเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในอนาคตอันใกล้ ดังนั้น ศ.เกียรติคุณ ดร.นทีทิพย์ จึงให้ความสำคัญและส่งเสริมการศึกษาวิจัยในเรื่องดังกล่าวอย่างครบวงจร ตั้งแต่กลไกการควบคุมแคลเซียนและกระดูกในภาวะปกติไปจนถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในขณะเกิดพยาธิสภาพ ทั้งนี้ เพื่อนำไปสู่การป้องกันการเกิดโรค และการวินิจฉัยที่สามารถพบความผิดปกติตั้งแต่แรก ไปจนถึงวิธีรักษา และค้นคว้าหาสูตรและวิธีใช้แคลเซียนเสริมที่มีประสิทธิภาพมากกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบันโรคกระดูกอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิ จากความผิดปกติของเซลล์กระดูกเอง จากความผิดปกติของกการดูดซึมแคลเซียมที่ลำไส้ หรือจากการที่ร่างกายได้รับแคลเซียนไม่เพียงพอด้วยสาเหตุต่าง ๆ ไปจนถึงความผิดปกติของฮอร์โมนที่ควบคุมแคลเซียมและกระดูก การศึกษาวิจัยเพื่อตอบโจทย์ในเรื่องดังกล่าวต้องเป็นไปในลักษณะสหสาขา (Multidisciplinary Research Approach ) และใช้เทคนิคหลากหลาย เช่น Electrophysiology, Bone histomorphometry เทคนิคทางชีวเคมีและชีววิทยาโมเลกุล เทคนิค Immunohistochemistry ตลอดจน Bioinformatics เพื่อตอบโจทย์วิจัยได้ในทุกระดับการควบคุมแคลเซียม ตั้งแต่ระดับร่างกาย อวัยวะ เนื้อเยื่อ เซลล์ จนถึงระดับสารพันธุกรรม และโมเลกุล

นอกจากนี้ ศ.เกียรติคุณ ดร.นทีทิพย์ ยังศึกษาพยาธิสรีรวิทยาและสร้างองค์ความรู้ในการวางแผนการรักษาโรคกระดูกพรุนจากภาวะต่าง ๆ เช่น กระดูกพรุนหลังหมดประจำเดือนหรือขาดฮอร์โมนเพศหญิง และกระดูกพรุนจากโรคเบาหวาน เป็นตัน ภาวะเหล่านี้ (โดยเฉพาะโรคเบาหวาน) มีความซับซ้อนมาก ซึ่งต้องอาศัยเทคนิควิจัยและเทคโนโลยีระดับสูงตลอดจนสัตว์ทดลองสายพันธุ์พิเศษมาช่วยตอบโจทย์วิวัย เพื่อให้สามารถบูรณาการงานวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพครบวงจร ศ. ดร. นทีทิพย์ จึงได้ผลักดันให้เกิดหน่วยวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูก (Center of Calcium and Bone Research หรือ COCAB) ขึ้นในรูปของหน่วยวิจัยเพื่อความเป็นเลิศของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีสมาชิกเครือข่ายจากหลายมหาวิทยาลัยมาร่วมกันทำการศึกวิจัยเกี่ยวกับกลไกการดูดซึมแคลเซียนในระดับเซลล์ การถ่ายเทแลกเปลี่ยนแคลเซียมระหว่างลำไส้ไตและกระดูก และกลไกการควบคุมวัฏจักรการสลาย - สร้างกระดูก (Bone Turnover/bone ) ในภาวะปกติและพยาธิสภาพต่าง ๆ

ศ.เกียรติคุณ ดร. นทีทิพย์ และคณะเป็นนักวิจัยกลุ่มแรกที่ค้นพบว่า ฮอร์โมนแลคติน (Prolactin) ซึ่งหลั่งจากต่อมใต้สมองและเป็นที่รู้จักในฐานะฮอร์โมนที่กระตุ้นการผลิตน้ำนมในแม่หลังคลอดนั้น มีผลควบคุมสมดุลแคลเซียมและเมตาบอลิซึมของกระดูกด้วย กล่าวคือโพรแลคตินจับกับตัวรับ (Receptor) ที่เซลล์ผนังสำไส้และกระตุ้นการดูดซึมแคลเซียม มีผลให้ร่างกายเก็บสะสมแคลเซียมที่เพิ่มนี้ไว้ในกระดูก เพื่อนำมาใช้ผลิตน้ำนมภายหลัง ผลของโพรแลคตินในฐานะฮอร์โมนควบคุมแคลเซียมและกระดูก มีความสลับซับซ้อนมาก เช่น ผลต่อกระดูกมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับอายุกล่าวคือ โพรแลคตินมีผลเร่งวัฏจักรการสลาย-สร้างกระดูก ซึ่งทำให้กระดูกของลูกหนูมีมวลสูงขึ้นแต่ผลของการเร่งอัตราการสลาย-สร้างกระดูกในแม่หนูหรือหนูแก่กลับมีผลให้กระดูกสูญเสียแคลเซียม ผลต่อกระดูกนี้พบว่า เป็นผลโดยตรงของวโพรแลคตินที่ออกฤทธิ์โดยจับกับตัวรับบนเซลล์กระดูก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคกระดูกพรุนในผู้ป่วยที่มีเนื้องอกของต่อมใต้สมองที่หลั่งโพรแลคตินมากเกินไป (Prolactinomas) การวิจัยเกี่ยวกับโพรแลคตินนี้เป็นตัวอย่างของงานวิจัยบูรณาการอย่างแท้จริง โดยใช้เทคนิคต่าง ๆ ที่เหมาะสม เช่น การใช้เทคนิคทาง Electrophysiology ศึกษาคุณสมบัติของเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้และการยอมให้แคลเซียมแพร่ผ่านเซลล์และผ่านช่องระหว่างเซลล์ การใช้เทคนิคทางเทคนิคทางชีวเคมีและชีววิทยา โมเลกุลในการศึกษาโปรตีนขนส่งต่างๆ ผนังเซลล์ การแสดงออกของโปรตีนหล่านั้น และกลไกการส่งสัญญาณ (Signal Transduction ) ภายในเซลล์ และการใช้เทคนิค Immunocytochemistry และ Immunohistochemistry ในการศึกษาการกระจายตัวของตัวรับโพรแลคตินหรือโปรตีน ขนส่งในเซลล์หรือเนี้อเยื่อ ตลอดจนเทคนิคทาง Bioinformatics ซึ่งใช้ผลการวิเคราะห์ Microarray บ่งชี้ยีนหรือโปรตีนที่น่าจะเป็นตัวกลไกหลักที่ทำให้เกิดการตอบสนองของเซลล์ ซึ่งสอดคล้องและนำมาอธิบายผลที่พบในร่างกายได้เป็นต้น

ศ.เกียรติคุณ ดร.นทีทิพย์ มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติที่มี Impact Factor กว่า 100 เรื่อง เกือบทั้งหมดเป็นงานที่ทำที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อย่างไรก็ตามยังได้มีความร่วมมือด้านงานวิจัยกับนักวิจัยในมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยงานวิจัยสามารถแบ่งออกเป็นงานวิจัยหลัก 3 เรื่อง ได้แก่

1. ผลและกลไกการออกฤทธิ์ชองฮอร์โมนโพรแลคตินในฐานะฮอร์โมนควบคุมแคลเซียมและกระดูก โดยเฉพาะในแม่ระหว่างตั้งครรภ์และระยะให้นม และการให้แคลเซียมเสริมเพื่อป้องกันการสูญเสียกระดูกหลังคลอด

จากการศึกษาทั้งในหนูทดลอง ในเนี้อที่เยื่อซึ่งนำมาเลี้ยงนอกร่างกายและในเซลล์เพาะเลี้ยง ศ.เกียรติคุณ ดร.นทีทิพย์ ได้พบองค์ความรู้ใหม่ที่สำคัญคือ การดูดซึมแคลเซียมที่ลำไส้ส่วนต้นแบบแอดทีฟ (ใช้พลังงาน ATP โดยตรง) ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ การดูดซึมผ่านเซลล์ (Transcellular) แบบอาศัยความต่างศักย์ไฟฟ้า (Voltage-induced) และแบบไปตามของเหลวที่แพร่ผ่านช่องระหว่างเซลล์ (Solvent drag-induced paracellular transport)

อนึ่ง โพรแลคตินมีผลต่อการดูดซึมแคลเซียมทั้งแบบ Transcellular และ Solvent drag-induced โดยออกฤทธิ์ ผ่านกลำกลไกการส่งสัญญาณภายในเซลล์ประเภท Phosphoinositide 3 kinaes, Protein kinase C และ Rho A-associated coiled - coil forming kinase นอกจากนี้โพรแลคตินมีผลกระตุ้นกระบวนการสลาย-สร้างกระดูก (Bone remodeling) ต่อมาได้ข้อมูลใหม่เพิ่มเติมว่า ระดับของโพรแลคตินในเลือดของแม่ที่พุ่งสูงขึ้นขณะลูกกำลังดูดนม มีผลกระตุ้นการดูดซึมแคลเซียมที่ลำไส้ของแม่ที่มีอัตราดูดซึมสูงอยู่แล้วเพิ่มสูงขึ้นอีก ซึ่งแสดงว่าโพรแลคตินเป็นฮอร์โมนที่ช่วยประสานให้อวัยวะเป้าหมายต่าง ๆ ทำงานสัมพันธ์กัน ทั้งนี้ เพื่อให้แม่มีแคลเซียมเพียงพอในกระแสเลือดสำหรับการผลิตน้ำนมเลี้ยงลูก โดยแคลเซียมที่สูญเสียไปจากกระดูกของแม่ภายใต้อิทธิพลของโพรแกลคติน จะได้ทดแทนกลับคืนมาจากแคลเซียมที่ดูดซึมเพิ่มขึ้น ดังนั้นโพรแลคตินจึงมีบทบาทสำคัญในการควบคุมสมดุลแคลเซียมในร่างกาย การศึกษาผลของโพรแลคตินอย่างละเอียดนี้ทำให้ได้ภาพรวมของบทบาทใหม่ของโพรแลคติน ซึ่งเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่ยังไม่มีศึกษามาก่อน ในปี พ.ศ. 2553 จึงได้เขียนบทความปริทัศน์ ซึ่งได้รับการตีพิมพ์เรื่อง “Is prolactin the cardinal calciotropic hormone in mother?” ในวารสารวิชาการนานาชาติ Trends in Endocrinology and Metabolism (2010) ซึ่งมี Impact Factor สูงถึง 7.119 และมีผลงานวิจัยแบบบูรณาการตีพิมพ์หลายเรื่องในวารสารวิชาการที่ถือว่ามีมาตรฐานสูงในสาขาสรีรวิทยา ได้แก่ American Journal of Physiology และ Pfluger Archive-European Journal of Physiology

2. ผลและกลไกการออกฤทธิ์ ของฮอร์โมนไฟโบรบลาส โกรทแฟคเตอร์-23 (Fibroblast Growth Factor-23 หรือ FGF-23) ที่หลั่งจากเซลล์กระดูก ซึ่งคาดว่าเป็นฮอร์โมนสำคัญใน Negative feedback loop ที่ควบคุมแคลเซียมและฟอสเฟทในร่างกาย

ระดับของฟอสเฟทในเลือดเมื่อร่างกายมีฟอสเฟทมากเกินไปโดยสดการดูดซึมฟอสเฟทที่ลำไส้ และลดการสังเคราะห์ฮอร์โมน 1,25(OH2)D3 จากวิตามินดี ทำให้ร่างกายเก็บสะสมแคลเซียมและฟอสเฟท เนื่องจากมีรายงานว่าพบตัวรับ FGF-23 และ FGF-23 เองในเซลล์บุผนังลำไส้ และกลุ่มวิจัยของ ศ.เกียรติคุณ ดร.นทีทิพย์ ได้รายงานใน พ.ศ. 2555 ว่า FGF-23 สามารถยับยั้งการดูดซึมแคลเซียมที่กระตุ้นโดย 1,25(OH2)D3 ได้ จึงตั้งสมมติฐานว่า FGF-23 น่าจะทำหน้าที่เป็น negative feedback ควบคุมกากรดูดซึมแคลเซียม โดยเฉพราะที่ถูกกระตุ้นโดย 1,25(OH2)D3

อนึ่ง ในระยะที่แม่ให้นม ศ.เกียรติคุณ ดร.นทีทิพย์ และคณะได้พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนควบคุมสมดุลแคลเซียม โดยที่โพรแลคตินเป็นฮอร์โมนหลักแทน 1,25(OH2)D3 จึงตั้งสมมติฐานว่า FGF-23 น่าจะเป็นตัว Negative Feedback ที่ต้านผลของโพรแลคตินในการกระตุ้นการดูดซึมแคลเซียม และในภาพรวม FGF-23 ช่วยทำให้ระดับแคลเซียมและฟอสเฟทไม่แก่วงจากต่ำไปสู่ระดับที่สูงเกินไป ซึ่งจะนำไปสู่พยาธิสภาพต่าง ๆ ดังนั้นงานวิจัยส่วนหนึ่งก็เพื่อศึกษาผลและกลไก การออกฤทธิ์ของ FGF-23 ในการยับยั้งการดูดซึมแคลเซียม และเพื่อพิสูจน์ว่า FGF-23 เป็น Negative Feedback ที่สำคัญของระบบการควบคุมสมดุลแคลเซียมและฟอสเฟทในร่างกาย

3. สาเหตุของความผิดปกติของกระดูกในพยาธิสภาพต่าง ๆ เช่น ในโรคเบาหวาน และโรคเลือดจางธาลัสซีเมีย โดยใช้โมเดลสัตว์ทดลองที่ตัดต่อยีน (Transgenic Animals)

ภาวะชรา การขาดฮอร์โมนเพศและโรคเบาหวาน เป็นสาเหตุของโรคกระดูกพรุนทั้งในมนุษย์และสัตว์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีทั้ง 3 ภาวะ เช่น สตรีสูงอายุที่เป็นโรคเบาหวาน ซึ่งจะทำให้โรคกระดูกพรุนรุนแรงมากขึ้น การป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุนที่เกิดจากปัญหาระดับเซลล์และโมเลกุลที่ซับซ้อนเช่นนี้ ต้องอาศัยการศึกษาในโมเดลสัตว์ทดลอง เช่น หนูทดลองที่ถูกตัดต่อยีนเพื่อเลียนแบบโรคเบาหวาน หรือโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย เพื่อศึกษาผลของการให้วิตามินดีเสริม แคลเซียมเสริมและการออกกำลังกาย ซึ่งทั้งหมดเป็นวิธีการที่มีค่าใช้จ่ายไม่สูง และปฏิบัติต่อเนื่องได้ ดังนั้นเมือได้ข้อมูลจากการศึกษาในสัตว์ทดลองก็จะสามารถนำความรู้นั้นมาประยุกต์ใช้ในผู้ป่วยต่อไป

ส่วนการศึกษาในหนูทดลองที่มีการตัดต่อยีนเพื่อเลียนแบบโรคโลหิตจางธาลัสซีเมี่ยก็เช่นกัน สามารถทำการศึกษาลงลึกในรายละเอียดระดับเซลล์ และโปรตีนขนส่งแคลเซียมต่าง ๆ ได้ และศึกษาการเปลี่ยนแปลงของกระดูกทั้ง 2 มิติ และ 3 มิติ ตลอดจนทดสอบวิธีป้องกันเช่นที่ใช้ศึกษาในโรคเบาหวาน องค์ความรู้ที่ได้จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในผู้ป่วย เนื่องจากประชากรไทยที่เป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียมีสูงถึงร้อยละ 1 ของประชากรทั้งหมด

การวิจัยเกี่ยวกับพยาธิสภาพของกระดูกนี้ได้ขยายต่อไปยังการวิจัยประยุกต์ ร่วมกับนักวิจัยฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์เพื่อสังเคราะห์กระดูกเทียม และในเบื้องต้นจะทดสอบการใช้งานในสัตว์ทดลองก่อน แล้วจึงขยายผลไปสู่การใช้ประโยชน์ในผู้ป่วยต่อไป


ด้านการพัฒนาบุคลากร

ศ.เกียรติคุณ ดร.นทีทิพย์ ทำหน้าที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ให้กับนักศึกษาบัณฑิตจนจบปริญญาเอก ไปแล้วจำนวน 12 คน ปริญญาโท 19 คน และยังมีนักศึกษาปริญญาเอกที่กำลังศึกษาอยู่ 3 คน ปริญญาโท 2 คน และเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมให้นักศึกษามากกว่า 20 คน ลูกศิษย์ที่จบไปหลายคนเป็นนักวิจัย และอาจารย์ทีมีความก้าวหน้าทางวิชาการจนได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ (ศ. ดร.จงกลณี วัฒนาเพิ่มพูล ปัจจุบันเป็นหัวหน้าภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศ. ดร.นรัตถพล เจริญพันธุ์ ผู้ที่ได้รับรางวัลระดับชาติหลายรางวัล เช่น รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ 2551 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ รางวัลนักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่น สกว-สกอ. 2551 และรางวัลมหาวิทยาลัยมหิด สาขาการวิจัย 2553) บางคนก็เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เช่น คุณสุนทรี จรรโลงบุตร เจ้าของบริษัท Techno Medical Co. Ltd ศ.เกียรติคุณ ดร.นทีทิพย์ เป็นครูที่มีความรักและเมตตาให้แก่ลูกศิษย์ การจัดงานพบปะสังสรรค์ระหว่างลูกศิษย์เก่าและปัจจุบันพร้อมครอบครัวรวมกว่า 40 คน ที่จัดทุกปีมากกว่า 25 ปี ทำให้เกิดเครือข่ายพี่น้องนักสรีรวิทยาที่อบอุ่น เป็นมิตรและเป็นแหล่งหางานของนักศึกษาจบใหม่ไปในตัว นอกจากนั้น ศ.เกียรติคุณ ดร.นทีทิพย์ ยังทำหน้าที่เป็นนักวิจัยพี่เลี้ยงให้กับนักวิจัยรุ่นใหม่ และให้คำปรึกษาเรื่องงานวิจัยการเรียนการสอน การขอตำแหน่งวิชาการ และได้พยายามเป็นตัวอย่างที่ดีในการเป็นอาจารย์นักวิจัยที่ยังคงมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้ และถ่ายทอดทั้งความรู้และประสบการณ์ให้แก่คนรุ่นหลังต่อไป

ศ. ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ จับชีพจรนักวิจัย

ที่มา : ศ. ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ จับชีพจรนักวิจัย. (2559). ใน อภิศักดิ์ ธีระวิสิษฐ์. (บรรณาธิการ). ปลุก พลัง คนวิจัย. (หน้า 77-81). กรุงเทพ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
จากเทศ (นักศึกษาต่างประเทศ) สู่ไทย (นักวิจัยไทย)

ศ. ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ ไปเป็นนักเรียนนอกตั้งแต่อายุ 15 ปี ตามอย่างสมาชิกในครอบครัวตั้งแต่รุ่นคุณตาคือ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ซึ่งเรียนที่ประเทศอังกฤษกันทั้งสิ้น

ศ. ดร.นทีทิพย์เรียนปริญญาตรีในด้าน Biological Science ที่ลอนดอนในขณะเรียนปีสุดท้ายสนใจศึกษาเรื่อง Human Physiology ด้วยเหตุผลว่าร่างกายมนุษย์เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เรียนสนุก และยังมีสิ่งให้เรียนรู้ได้อีกมาก

ประสบการณ์อีกอย่างที่ได้จากการเรียนที่อังกฤษ คือวิธีการเรียนที่เน้นให้อ่านหนังสือ ทำให้รักการอ่าน เคยชินกับการอ่าน Text Book

“การสอบก็จะเป็นการเขียนบรรยาย ไม่มี Multiple Choice จึงเป็นการฝึกให้มีการวางแผนว่าจะเขียนอย่างไร ซึ่งเป็นประโยชน์ในการเขียนบทความเพื่อตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ”

หลังจบปริญญาตรี อาจารย์เข้าทำงานที่ภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และต่อมาลาเรียนปริญญาโท –เอก ด้านสรีรวิทยาที่ภาควิชาฯ ทำวิจัยเรื่องการดูดซึมแคลเซียมและต่อเนื่องไปถึงเรื่องกระดูกซึ่งถือว่าเป็นความเชี่ยวชาญโดยตรงของ ศ. ดร.นทีทิพย์


จับชีพจรนักวิจัย

“การทำงานวิจัย การเลือกโจทย์เป็นสิ่งสำคัญเพราะโจทย์จะเป็นตัวนำไปสู่คำถามวิจัยต่อเนื่อง การตั้งโจทย์วิจัยดีๆ เกิดได้จากการอ่านและคิดเมื่อได้อ่านมากๆ จะเกิดข้อสงสัย เกิดคำถาม และเกิดเป็นโจทย์วิจัย”

สิ่งที่ท้าทายในการทำวิจัยสำหรับ ศ. ดร.นทีทิพย์ คือ ประโยชน์จากงานวิจัย ซึ่งผลงานวิจัยของอาจารย์ก็จะทำให้เกิดผลิตภัณฑ์แคลเซียมเสริมที่คนไทยสามารถเข้าถึงได้เนื่องจากราคาถูกลง

ในแง่ประโยชน์สาธารณะ ก็อย่างเช่นการเผยแพร่ข้อมูลความรู้ให้ประชาชนทราบว่าปริมาณการรับประทานแคลเซียมให้ได้ประโยชน์สูงสุดอยู่ที่เท่าใด

โดยในการวิจัยมี ศ. ดร.เลียงชัย ลิ้มล้อมวงศ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งท่านได้สอนวิธีคิด การทำวิจัย การโต้แย้ง สอนการเขียนบทความ และการมอง Career Path ในอนาคต จึงทำให้เห็นว่าระบบการมีนักวิจัยพี่เลี้ยง (Mentor) เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

“...ในยุคที่วงการวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและเต็มไปด้วยหลุมพราง นักวิจัยรุ่นใหม่ควรมี mentor เพื่อคอยชี้แนะเพื่อให้ยืนได้ด้วยตนเองอย่างมั่นคงโดยเร็ว...”

และเมื่อเป็นหัวหน้าเครือข่ายวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูก ศ. ดร.นทีทิพย์ก็ทำหน้าที่ Mentor อย่างเต็มกำลัง

“...ระบบการเรียนรู้ขึ้นอยู่กับฉันทะของทั้งสองฝ่าย ซึ่งคุณสมบัติเฉพาะตัวของลูกศิษย์นั้นมีส่วนอย่างมาก เราต้องสอนให้เขานำสิ่งดีในตัวออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ในขณะเดียวกันช่วยแก้ไขในจุดบกพร่องของเขา ถ้าสามารถทำให้ลูกศิษย์ดีขึ้น เก่งขึ้นได้เต็มศักยภาพของเขา ก็ถือว่าเราประสบความสำเร็จเช่นกัน...”

จากเดิมที่อาจารย์เคยทำวิจัยด้วยตนเองตลอด เมื่อรับนักศึกษาโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก อาจารย์จะเลือกนักศึกษาโดยดูจากผลการเรียนภาษาอังกฤษต้องดีเพราะเรียนเป็นภาษาอังกฤษ และดูอุปนิสัยว่าควรทำงานแบบใด แล้วเลือกงานที่เหมาะสมให้ทำ

“…ปฏิบัติกับลูกศิษย์ทุกคนเหมือนกัน โดยให้ความรัก ความเมตตา และความเป็นกันเองกับลูกศิษย์ทุกคน สิ่งที่สำคัญคือต้องรู้จักธรรมชาติของแต่ละคน เพื่อหาวิธีเข้าถึงเขาเพื่อเสริมจุดเด่นและแก้ไขจุดบกพร่องของเขา ดิฉันชอบใช้วิธีชมและให้กำลังใจเป็นหลัก ถ้าเขาทำงานผิดพลาดดิฉันจะไม่ค่อยดุด่า เพราะรู้ว่าเขาเสียใจอยู่แล้ว จะสอนว่าวิธีที่ถูกควรเป็นอย่างไร จะได้ไม่ทำผิดซ้ำ...”

กับอีกเทคนิควิธีการหนึ่งที่อาจารย์ให้ความสำคัญคือการคอยจับชีพจรลูกศิษย์อย่างใกล้ชิด

“…ดูว่ามีปัญหาอะไรไหม หาโอกาสคุยกับเขาบ่อย ๆ เพื่อสร้างความไว้ใจและสอนไปในตัว เพราะหากผู้วิจัยจิตใจไม่สบาย งานวิจัยก็ไม่สามารถดำเนินไปได้ เราต้องดูว่าช่วงไหนที่ปล่อยให้คิดเองทำเอง หากไม่ได้ผลต้องคอยสอบถามและให้คำแนะนำ จะไม่ปล่อยให้ลูกศิษย์รู้สึกยอมแพ้ หมดกำลังใจ...”


ความพยายามและความสำเร็จ

ตลอด 30 ปีที่นั่งทำงานในห้องแล็บ ศ. ดร.นทีทิพย์ให้ความใกล้ชิดเป็นกันเองกับศิษย์ สามารถเข้าพบได้ตลอดเวลา รวมทั้งอนุญาตให้ดูปฎิทินส่วนตัวบนโต๊ะทำงานหากต้องการนัดเวลา

“…ด้วยวิธีการนี้เราสามารถพัฒนาเทคนิคต่างๆ ขึ้นในแล็บ เมื่อทำแล็บได้ผลดี ทั้งกลุ่มก็จะตื่นเต้นดีใจไปด้วยกันหมด แต่ละกลุ่มย่อยจะรับรู้งานของอีกกลุ่มด้วย...”

ในห้องทดลองของเครือข่ายวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูกมีงานเลี้ยงกันบ่อยครั้ง ถือว่าเป็นวัฒนธรรมของกลุ่ม ซึ่ง ศ. ดร.นทีทิพย์กล่าวว่า

“…แล็บของเราเลี้ยงฉลองกันบ่อย ๆ ดิฉันถือเป็นเรื่องสำคัญ เป็นการสร้างความสามัคคีและความผูกพันในกลุ่ม ธรรมเนียมที่ปฏิบัติเป็นประจำก็คืองานเลี้ยงรับสมาชิกใหม่เข้าแล็บทุกปี ลูกศิษย์ในแล็บตั้งแต่รุ่นแรกจนปัจจุบันจะมีชื่อรุ่นตามสถานที่ที่ไปเลี้ยงรับ มีอยู่รุ่นหนึ่งเป็นที่อิจฉากันมากเพราะชื่อรุ่น “เรือนหอ” และบังเอิญรุ่นนั้นเมื่อจบแล้วแต่งงานไปเกือบหมด นอกจากนั้นทุกครั้งที่ paper ของเราได้รับการตอบรับการตีพิมพ์ ดิฉันก็พาทั้งแล็บไปเลี้ยงหรือไม่ก็สั่งอาหารมาเลี้ยงฉลองในแล็บ เจ้าของงานชิ้นนั้นก็จะได้รับการชื่นชมเป็นพิเศษในวันนั้น...”

ส่วนหากพลาดหวังจากการตีพิมพ์ โดน reject อาจารย์จะมีวิธีการสร้างกำลังใจโดยกล่าวว่า

“…ไม่ต้องตื่นเต้นตกใจ เพราะทุกคนเคยประสบเหตุการณ์นี้ ควรกลับมาดู comment ที่ได้รับก่อน เพราะ comment ดี ๆ จะสามารถนำมาปรับเพื่อไปส่งตีพิมพ์ที่อื่นได้ ซึ่งอาจจะเป็นวารสารที่ดีกว่าก็ได้ ควรปรับแล้วส่งใหม่ส่วนตัวอาจารย์เองเคยแก้กลับไปมาถึงหกครั้งก็ยังไม่ท้อ...”

เรื่องการตีพิมพ์ผลงานนั้น ศ. ดร.นทีทิพย์บอกว่า ในช่วงต้นได้รับคำแนะนำจาก ศ. ดร.เลียงชัย ลิ้มล้อมวงศ์ นักวิจัยพี่เลี้ยงของท่าน ช่วยแนะนำวารสารที่จะส่งตีพิมพ์ ช่วงแรกไม่กล้าส่งตีพิมพ์ในวารสารที่มี Impact Factor สูง เช่น American Journal of Physiology เพราะกลัวผิดหวัง แต่ต่อมามีโอกาสได้ลองส่งตีพิมพ์หลังจากมีผลงานวิจัยดี ๆ ที่จะนำไปเขียนบทความที่มีคุณภาพมากขึ้น พอได้รับการตีพิมพ์สักครั้งก็มีความกล้าที่จะส่งตีพิมพ์ในครั้งต่อ ๆ ไป

สำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ ศ. ดร.นทีทิพย์ มีคำแนะนำว่าให้เริ่มทำสิ่งที่ทำได้ก่อน เพื่อสร้างความเชี่ยวชาญให้ตนเอง ให้เป็นผู้รู้จริงในด้านนั้น ๆ เริ่มทำงานวิจัยก่อนอย่าเพิ่งไปทำงานบริหาร เพราะหากไม่เริ่มทำงานวิจัยตั้งแต่ต้น ก็จะไม่สามารถเริ่มต้นได้

ทั้งนี้อาจารย์เน้นว่า การบริหารเวลาเป็นสิ่งสำคัญ ถึงแม้จะเป็นคนเก่งแต่หากบริหารเวลาไม่เป็นก็จะไม่อาจประสบความสำเร็จได้ และอยากให้นักวิจัยรุ่นใหม่เริ่มขอทุนของมหาวิทยาลัยก่อน พอเริ่มมีผลงานวิจัยแล้วจึงไปขอทุนของ สกว. หรือองค์กรภายนอก

หากมีทุนเป็นตัวกำหนดก็จะช่วยกระตุ้นความขยัน เพราะต้องส่งผลงานวิจัยตามกำหนด

ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล