ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อำนวย ถิฐาพันธ์

ประวัติ

เริ่มเข้าศึกษาในระดับเตรียมแพทยศาสตร์ รุ่นที่ 4 ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และได้รับทุน Colombo Plan ให้ไปศึกษาต่อยังประเทศออสเตรเลีย และได้รับปริญญา B.Sc. (Chemistry) University of Adelaide, South Australia, Australia. ระดับ M.S. (Pharmacology) George Washington University จากประเทศสหรัฐอเมริกา. ระดับ M.A. (Linguistics) Georgetown University, Washington, D.C. จากประเทศสหรัฐอเมริกา และระดับ Ph.D. (Pharmacology) George Washington University จากประเทศสหรัฐอเมริกา

เข้ารับราชการที่ ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีผลงานทางวิชาการในสาขาเภสัชวิทยาเป็นที่ประจักษ์ เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งภายในและต่างประเทศ เป็นผู้มีบทบาทในการบุกเบิกและพัฒนาหลักสูตรสาขาเภสัชวิทยาให้ก้าวหน้าและทันสมัยอยู่เสมอ ตลอดระยะเวลาที่รับราชการ ท่านได้ช่วยสร้างนักเภสัชวิทยาไทยและต่างชาติในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้มีความรู้ความสามารถและเชี่ยวชาญด้านการวิจัย ปัจจุบันลูกศิษย์ของท่านได้เป็นกำลังสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ให้แก่สถาบันต่าง ๆ และหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ยังมีบทบาทในการฝึกอบรมด้านต่าง ๆ ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ อาทิ Southeast Asian Drug Metabolism Workshop, การอบรมเรื่องเภสัช-จลนศาสตร์และการใช้ยาระงับปวด เป็นต้น

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อำนวย ถิฐาพันธ์ มีผลงานและความสำเร็จในการเป็นแบบอย่างแก่นักเภสัชวิทยารุ่นหลัง ท่านได้รับเชิญเป็นกรรมการของสมาคมวิชาการระดับนานาชาติ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิของหลายสถาบัน เป็นที่ปรึกษาของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติมากมาย อาทิ รางวัลอาจารย์ตัวอย่างจากสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล และ รางวัล 1998 Wellcome Trust Award for a Study of Rare Disease ซึ่งท่านได้นำเสนอในการประชุมระดับนานาชาติเกี่ยวกับเรื่อง การมีกลิ่นตัวเหม็นของร่างกาย (Fish-Odor Syndrome) เมื่อวันที่ 2-30 มีนาคม พ.ศ. 2542 จัดโดย National Institute of Health ณ เมือง Bethesda, Maryland ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุน Wellcome Trust ประเทศอังกฤษ โดยท่านอธิบายว่าความผิดปกติของกลิ่นกายนี้เกิดจากสาร Trimethylamine เป็นผลทำให้เกิดโรค Trimethylaminuria อันเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรม มีวิธีการถ่ายทอดแบบ Mendellan Autosomal Recessive Transmission ซึ่งท่านเป็นนักวิจัยคนแรกที่ทำการวิจัยยืนยันทฤษฎีนี้


รับรางวัลมหิดลทยากร ประจำปี พ.ศ. 2554

ประวัติการทำงาน

ตำแหน่งการบริหาร
- หัวหน้าภาควิชาเภสัชวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- รองคณบดี ฝ่ายวิชาการ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล
- คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีปทุม
- รองนายกและกรรมการบริหารสมาคมเภสัชวิทยาแห่งประเทศไทย
- อนุกรรมการเกี่ยวกับตำแหน่งทางวิชาการของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)
- ที่ปรึกษาคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- อนุกรรมการเกี่ยวกับตำแหน่งทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาวิชาการมหาวิทยาลัยนเรศวร
- รองประธานคณะกรรมการสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

งานบริการสังคม
- เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง สมาคมเภสัชวิทยาแห่งประเทศไทย
- เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง สมาคมศึกษาความปวดแห่งประเทศไทย (IASP Chapter) และเป็นผู้ผลักดันให้มีการใช้มอร์ฟีนเพื่อระงับความปวดอย่างถูกหลักวิชาการจนเป็นที่แพร่หลาย

ที่มาข้อมูล : นิทรรศการผู้ได้รับรางวัลมหิดลทยากร ประจำปี 2554.
ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล