ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นาวาตรี กำจร มนุญปิจุ ร.น.ราชบัณฑิต

คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2514-2518

ประวัติ

               ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นาวาตรี กำจร มนุญปิจุ ร.น.ราชบัณฑิต เกิดเมื่อ พ.ศ. 2469 ที่จังหวัดปทุมธานี เป็นบุตรของขุนกัลยาณวิทย์ (เกิด มนุญปิจุ) อดีตศึกษาธิการจังหวัดปทุมธานี และนางกิม มนุญปิจุ สมรสกับนางวิภาวรรณ มนุญปิจุ มีบุตรชาย 1 คน คือ นายณัฐเสกข์ (กวิช) มนุญปิจุ

การศึกษา

               ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น - โรงเรียนประจำอำเภอ
               พ.ศ. 2483-2484 - มัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
               พ.ศ. 2485-2488 - วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
               พ.ศ. 2494-2497 - ปริญญาเอก สาขาอินทรีย์เคมี มหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ
                                        ได้รับทุนจากราชนาวี

ปริญญากิตติมศักดิ์

               พ.ศ. 2536 - ปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยมหิดล
               พ.ศ. 2547 - ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น
                                 ประจำปีการศึกษา 2547

ที่ห้องปฏิบัติการวิจัยทางเคมี ภาควิชาอินทรีย์เคมี มหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล เมื่อ พ.ศ. 2496

               เมื่อท่านสำเร็จการศึกษา ปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเคมี จาก คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สมัครเข้ารับราชการทหารเรือ ประจำกองวัตถุระเบิด กรมสรรพวุธทหารเรือ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2489 จนกระทั่งเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2494 ได้รับทุนราชนาวีไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ ขณะมียศ นายเรือโท

               เมื่อกลับประเทศไทย เข้ารับราชการในกรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ ได้รับพระราชทานยศเป็นนาวาตรี ในช่วงนั้นมีการจัดตั้ง สำนักงานพลังงานปรมาณู และมีการติดตั้งเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณู ซึ่งควรจะมีการผลิตไอโซโทบหรือการทำปฏิกิริยาเกี่ยวกับรังสีเคมี จึงได้รับคัดเลือกให้ไปฝึกงานด้านนี้ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ณ เมืองเบิร์กเลย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2500 เป็นเวลา 1 ปี และที่นครนิวยอร์กอีก 2 เดือน

               เดือนมีนาคม พ.ศ. 2501 กลับมารับราชการที่กรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้ากองเคมี

เป็นผู้ช่วยหัวหน้ากองเคมี กรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ พระราชวังเดิม (ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2502)

               พ.ศ. 2503 เข้ารับตำแหน่งเลขานุการคณบดีคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ในสมัยที่ ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ดำรงตำแหน่งคณบดี ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2509 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์วิชาเคมี จนเมื่อ พ.ศ. 2513 จึงได้ดำรงตำแหน่งรองคณบดี ภายหลังที่ ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ พ.ศ. 2514 ท่านจึงได้ขึ้นดำรงตำแหน่งคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จนถึง พ.ศ. 2518 ในระหว่างนั้นท่านยังได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาเคมีควบคู่ไปด้วย

               พ.ศ. 2519 ท่านได้ย้ายไปรับตำแหน่ง รักษาการอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก่อนจะกลับมาทำหน้าที่หัวหน้าภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อีกครั้งใน พ.ศ.2521 จนถึง พ.ศ. 2529

รับพานจากศิษย์ในพิธีไหว้ครูของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี พ.ศ. 2515

               เดือนมกราคม พ.ศ. 2520 เมื่อทบวงมหาวิทยาลัยเห็นชอบกับข้อเสนอจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่ต้องการให้มีมาตรฐานการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน จึงได้ตั้งคณะกรรมการปรับปรุงหลักสูตรวิทยาศาสตร์ ระดับมหาวิทยาลัย สาขาวิชาเคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา และคณิตศาสตร์ และได้แต่งตั้งให้ท่านเป็นประธานควบคุมและส่งเสริมการทำงานของคณะอนุกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ได้ยุติหน้าที่ลงเมื่อ พ.ศ. 2528

               ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.กำจร มนุญปิจุ ได้สร้างคุณูปการมากมายต่อสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของประเทศ รวมถึงมีบทบาทสำคัญต่อการบริหารและการจัดการศึกษา ท่านถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2556 สิริอายุได้ 87 ปี

สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ประทานพระวโรกาส
ให้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.กำจร มนุญปิจุ เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิดตลอดเวลาที่ทรงศึกษาอยู่ในภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ราชการพิเศษที่สำคัญ

               1. เป็นผู้คิดค้นและดำเนินการสอบคัดเลือกนักศึกษาเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา

               สถาบันการศึกษาทุกแห่งย่อมประสงค์ที่จะให้นิสิตนักศึกษาของตนสามารถศึกษาวิชาการที่สถาบันนั้นจัดขึ้น จนมีความรู้ความสามารถออกไปประกอบอาชีพได้ ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องมีการคัดเลือกผู้ทีป่ระสงค์จะเข้าศึกษาให้ได้บุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเชิงวิชาการ ก่อนปีการศึกษา 2503 ทุกสถาบันการศึกษาขั้นอุดมศึกษา 5 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร ต่างก็ทำการคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมให้เข้าศึกษาด้วยวิธีการคัดเลือกของสถาบันนั้น ๆ เอง โดยที่ยังเปิดโอกาสให้นักเรียนมีโอกาสสมัครเข้าสอบคัดเลือกได้หลายแห่ง ทั้งนี้โดยการที่มีการจัดสอบในเวลาไม่ซ้ำกัน ในสมัยนั้นการสอบคัดเลือกไม่ยุ่งยาก หรือมีปัญหาในการได้จำนวนนักศึกษาไม่ครบตามที่ต้องการ เนื่องจากมีผู้สมัครสอบไม่มากนัก

               ต่อมาสภาการศึกษาแห่งชาติได้มองเห็นปัญหาที่จะมีจำนวนผู้เข้าศึกษาในสถาบันการศึกษาแห่งใดแห่งหนึ่งหรือทุกแห่งไม่ครบตามจำนวนที่ต้องการ เนื่องจากว่านักเรียนจำนวนหนึ่งอาจจะสอบเข้าได้ในสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่ง แต่จะเข้าศึกษาได้เพียงแห่งเดียว จึงทำให้เกิดที่ว่างในสถาบันอื่น จึงควรแก้ไขโดยให้มีการสอบคัดเลือกร่วมกันทุกมหาวิทยาลัย แต่การสอบร่วมกันนี้จะมีความยุ่งยากในการจัดให้ผู้สมัครคนหนึ่ง ๆ เข้าศึกษาได้ตามที่ผู้นั้นต้องการเมื่อมีผลการสอบคัดเลือกสูงเพียงพอ ดังนั้นจะต้องหาทางให้มีระบบและวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการคัดบุคคลเข้าศึกษาได้ตามความต้องการของสถาบันการศึกษาและของผู้ประสงค์ที่จะเข้าศึกษา นอกจากนี้เมื่อมีผู้ต้องการเข้าศึกษามากขึ้น ก็อาจมีปัญหาในการจัดให้เข้าศึกษาในแต่ละคณะตามที่ผู้สมัครต้องการ แต่คณะต่าง ๆ ต้องการวิชาการสอบไม่เหมือนกัน จะต้องมีการรวมคะแนนให้แก่คณะหนึ่ง ๆ ทำให้ผู้สมัครสอบแต่ละคนอาจจะมีคะแนนรวมได้หลายอย่าง

ถ่ายภาพคู่กับ Dr.James S. Dinning ผู้แทนจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์
(ไม่ทราบช่วงเวลาที่บันทึก ภาพนี้ได้รับมอบจาก อาจารย์วิภาวรรณ มนุญปิจุ เมื่อ พ.ศ. 2558)

               เมื่อใกล้ปลายปี พ.ศ. 2503 ศาสตราจารย์ ดร.กำแหง พลางกูร เลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติ และ ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ได้ปรึกษากันเป็นว่าน่าที่จะทำการทดลองให้มีการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ร่วมกัน ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ที่ประสงค์จะเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยทั้งสองแห่งนี้ได้มีโอกาสเลือกทั้งสองมหาวิทยาลัยได้ในการสมัครเพียงครั้งเดียว ทำให้ลดค่าใช้จ่าย ลดระยะเวลาในการเตรียมตัวสอบและทำข้อสอบเพียงครั้งเดียว นอกจากนี้ยังทำให้ทำให้ที่ว่างซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากผู้สมัครสอบได้สองมหาวิทยาลัยมีน้อยลง จึงทำให้คณะ/ประเภทวิชาต่าง ๆ สามารถรับนักศึกษาได้เต็มจำนวนตามที่ต้องการ เมื่อเห็นว่าการสอบเข้าในมหาวิทยาลัยทุกแห่งนั้นควรเป็นการสอบร่วมเพียงครั้งเดียว ก็น่าจะทำการทดลองว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะสอบเพียงครั้งเดียวแล้วสามารถที่จะแยกผู้สมัครเข้าคณะ/ประเภทวิชาต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยหลายแห่งได้

               รูปแบบของใบสมัครจะมีที่ว่างให้ลงอันดับการเลือกคณะ/ประเภทวิชาได้ 6 อันดับ ทั้งนี้เพราะเห็นว่าผู้สมัครสอบควรมีสิทธิสมัครได้ทั้งสองมหาวิทยาลัย ซึ่งตามปกติในขณะนั้น แต่ละมหาวิทยาลัยจะให้ผู้สมัครเลือกสมัครได้มหาวิทยาลัยละ 3-4 คณะ/ประเภทวิชา ดังนั้นเมื่อรวมเป็นสองมหาวิทยาลัย ผู้สมัครจึงควรได้สิทธิเลือกได้ 6 อันดับตามลำดับก่อนหลัง โดยไม่คำนึงว่าจะเลือกคณะ/ประเภทวิชาใดในมหาวิทยาลัยหนึ่งมหาวิทยาลัยใดไว้ก่อนหรือหลัง หรือจะคละทั้งสองมหาวิทยาลัยก็ได้ มหาวิทยาลัยทั้งสองแห่งได้ตกลงให้มีการสอบและรวมคะแนน 5 วิชา สำหรับนักเรียนสายวิทยาศาสตร์ แต่สำหรับสายวิศวกรรมชลประทานของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะเศรษฐศาสตร์สหกรณ์นั้นสอบ 4 วิชา แต่ละวิชามีคะแนนเต็ม 100 คะแนน เพราะถือว่าทุกวิชามีความสำคัญเท่าเทียมกัน แม้ว่าบางวิชาที่ศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจะมีย่อยหลายแขนงและต้องใช้เวลาในการศึกษามากก็ตาม เช่น วิชาฟิสิกส์ ซึ่งมีชั่วโมงสอนตลอดปีมากกว่าวิชาเคมี เป็นต้น

               ปีการศึกษา 2504 มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ รับนักศึกษา 6 ประเภทวิชา คือ วิทยาศาสตร์การแพทย์ เตรียมแพทย์เชียงใหม่ เตรียมทันตแพทย์ เตรียมเทคนิคการแพทย์ เตรียมการสุขาภิบาล และเตรียมพยาบาลปริญญา ซึ่งใช้คะแนนรวมของ 5 วิชา คือ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และภาษาอังกฤษ ส่วนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รับนักศึกษา 6 คณะ คือ กสิกรรมและสัตวบาล ประมง วนศาสตร์ วิศวกรรมชลประทาน เศรษฐศาสตร์สหกรณ์ สัตวแพทย์ ทุกคณะสอบ 5 วิชา และรวมคะแนนเหมือนกับที่สมัครเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เว้นแต่คณะวิศวกรรมชลประทานที่สอบ 4 วิชา คือไม่ต้องสอบวิชาชีววิทยา คณะเศรษฐศาสตร์สหกรณ์ ซึ่งรับนักเรียนสายศิลป์ กำหนดสอบวิชาภาษาไทย สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ และคณิตศาสตร์ ในการสอบร่วมกันครั้งนี้มีนักเรียนเข้าสอบประมาณ 7,000 คน

               เมื่อได้ทำการสอบร่วมกับของทั้งสองสถาบันจนประสบผลสำเร็จ ไม่มีข้อผิดพลาด ไม่มีข้อโต้แย้ง ทำให้เป็นที่ยอมรับของมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ที่จะดำเนินการสอบคัดเลือกร่วมโดยให้สภาการศึกษาแห่งชาติเป็นผู้ประสานงาน ปีการศึกษา 2505-2506 จึงมีสถาบันการศึกษา 8 แห่ง ร่วมกันในการคัดเลือกนักเรียนเพื่อเข้าศึกษา โดยมี สำนักงานสภาการศึกษาแห่งชาติเป็นผู้ประสานงานและรักษาหลักการที่ว่า แต่ละสถาบันมีสิทธิ์ส่งผู้แทนมาร่วมในการออกและตรวจข้อสอบ และมีสิทธิ์ตั้งมาตรการเพื่อการคัดเลือกผู้ที่สอบผ่านข้อเขียนเองตามต้องการ โดยกำหนดให้มีการสอบสัมภาษณ์ และ/หรือวิชาเฉพาะขั้นทดสอบเพิ่มเติมได้ นอกจากนี้ต่างเห็นพ้องกันว่าต้องรักษาสิทธิและเสรีภาภของผู้สอบ คือให้สิทธิ์และเสรีภาพในการเลือกสถาบัน คณะ หรือประเภทวิชาที่ประสงค์จะเรียนได้ตามความสมัครใจ

               อย่างไรก็ตามเมื่อได้สอบร่วมกันมาด้วยดีจนถึงปีการศึกษา 2509 คณะรัฐมนตรีได้นำเรื่องการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง และลงมติเห็นชอบตามข้อเสนอของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สถาบันการศึกษาแยกกันดำเนินการสอบคัดเลือกเองเช่นดังแต่ก่อน สถาบันการศึกษาทุกแห่งคือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาลัยวิชาการก่อสร้าง วิทยาลัยเทคนิค และวิทยาลัยวิชาการศึกษา จึงแยกกันสอบคัดเลือก โดยที่สภาการศึกษาแห่งชาติกำหนดวันสอบเพื่อไม่ให้สอบวันเดียวกัน

               แต่ผลการสอบแยกเช่นนี้ก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมายทั้งตัวผู้สมัครและสถาบันการศึกษา เช่น ผู้สมัครจำนวนมากที่สอบได้ในหลายสถาบัน ต้องเลือกลงทะเบียนเข้าในสถาบันใดสถาบันหนึ่ง และสละสิทธิ์ในสถาบันอื่น ทำให้มีการเรียกเพิ่มหลายครั้ง เป็นผลให้เสียเวลาในการเปิดภาคการศึกษา เกิดที่ว่างในบางสถาบันมาก จากผลการสำรวจพบว่าสถาบันการศึกษาทั้งสิบแห่งเรียกผู้สมัครมาสัมภาษณ์และชำระเงินลงทะเบียนเป็นนักศึกษา ครั้งแรกรวม 9,443 คน โดยหวังว่าจะได้จำนวน 7,325 คน แต่กลับได้นักศึกษามาลงทะเบียนเพียง 4,838 คน จึงต้องเรียกเพิ่มเพื่อให้เต็มที่ว่าง บางสถาบันเรียกถึง 7-8 ครั้ง รวมจำนวนที่เรียกเพิ่มทั้งสิ้น 16,372 คน แต่มีนักศึกษาลงทะเบียน 6,994 คน ขาดจากเป้าหมาย 331 คน การเรียกเพิ่มทำให้เสียเวลาในการเปิดภาคเรียนแรกในปีนั้นไปประมาณ 3-5 สัปดาห์

               จากความยุ่งยากและเป็นปัญหาดังกล่าว พ.ศ. 2510 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบกับคณะกรรมการสภาการศึกษาแห่งชาติ ให้ดำเนินการสอบร่วมกันอีก และให้ทำไปจนกว่าจะหาวิธีอื่นมาทดแทนได้ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2510 เป็นต้นมา จึงมีคณะกรรมการกลางดำเนินการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาในสถาบันการศึกษาขั้นอุดมศึกษา ประกอบด้วยผู้แทนจากสถาบันต่าง ๆ เลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติ เป็นกรรมการ เนื่องจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.กำจร มนุญปิจุ เป็นผู้ทำระบบการสอบคัดเลือกนี้ขึ้นเอง จึงทราบขั้นตอนการดำเนินการเป็นอย่างดี จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขานุการของคณะกรรมการ โดยมีอธิการบดีมหาวิทยาลัย ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเป็นประธานคณะกรรมการ ต่อมาองค์ประกอบของคณะกรรมการชุดนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง โดยเฉพาะเมื่อทบวงมหาวิทยาลัยเป็นผู้ดำเนินการสอบคัดเลือกแทนคณะกรรมการสภาการศึกษาแห่งชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยจึงไม่ต้องหมุนเวียนขึ้นเป็นประธานอีก

               ปีแล้วปีเล่าที่มีการสอบคัดเลือกร่วมก็ได้ใช้ระบบและวิธีการสอบร่วมของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับระเบียบการนั้น ยังบรรจุวิธีการและขั้นตอนของการสอบคัดเลือก ตลอดจนถ้อยคำเป็นไปตามของเดิมโดยตลอด มีการเปลี่ยนแปลงบ้างเล็กน้อยตามความเหมาะสม ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.กำจร มนุญปิจุ ก็ยังคงเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการดำเนินการสอบคัดเลือก และยังรับผิดชอบในการรวมคะแนนและจัดลำดับด้วยความยุติธรรมและถูกต้องทันกำหนดเวลาเสมอมา

               2. เป็นผู้ดำเนินการให้เกิดความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระหว่างประเทศไทยกับประเทศออสเตรีย

               พ.ศ. 2522 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.กำจร มนุญปิจุ ได้ติดต่อขอให้ Professor Dr. B.M Rode จาก Institute of Inorganic and Analytical Chemistry, University ov Innsbruck ประเทศออสเตรีย มาช่วยสอนนักศึกษาแขนงวิชาเคมีทฤษฎี ที่ภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยมหิดล จนปลาย พ.ศ. 2523 ได้จัดโปรแกรมความร่วมมือและแลกเปลี่ยนอาจารย์ระหว่างสองสถาบัน และร่วมกันกับ Professor Dr. B.M Rode ทำ Literature Search ของต้นไม้ทุกชนิดที่มีในประเทศไทย ใช้การค้นข้อมูลจาก CA Search จนแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2524 ตั้งแต่มีความร่วมมือกันมา ทั้งสองท่านได้ติดต่อกับผู้บริหารระดับสูงจนถึงรัฐมนตรีเพื่อแจ้งให้ทราบถึงประโยชน์ที่ทั้งสองประเทศได้รับร่วมกัน ในการแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อคิดเห็นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งด้านการสอนและการวิจัย จนทำให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และวิจัยของประเทศออสเตรีย เห็นพ้องร่วมกับทบวงมหาวิทยาลัยของประเทศไทยที่มีให้มีความสัมพันธ์ทางวิชาการขึ้น

เข้าพบ Dr.Hertha Finsberg อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และวิจัย ประเทศออสเตรีย
ร่วมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูง ท่านเอกอัครราชฑูตและภรรยา ณ สถานเอกอัครราชฑูตไทยประจำประเทศออสเตรีย
เมื่อครั้งได้รับเชิญจากรัฐบาลประเทศออสเตรียไปเจรจาความสัมพันธ์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2527

               พ.ศ. 2526 มีการร่างและปรึกษากันในเรื่องข้อตกลงระหว่างสองประเทศ โดย ศาสตราจารย์ ดร.เกษม สุวรรณกุล รัฐมนตรีทบวงมหาวิทยาลัยในสมัยนั้นเดินทางไปเยี่ยมรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และวิจัยในสมัยนั้นคือ Dr.Hertha Finsberg ณ ประเทศออสเตรีย ได้เจรจาเห็นชอบในข้อตกลง ต่อมาในเดือนเมษายน พ.ศ. 2527 ทบวงมหาวิทยาลัยได้เชิญ ดร.ไฮนส์ ฟิสเชอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และวิจัย ประเทศออสเตรีย ให้มีเยือนประเทศไทยพร้อมลงนามในข้อตกลงความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ของทั้งสองประเทศ มีการลงนามในบันทึกช่วยจำร่วมกันระหว่าง ดร.ไฮนส์ ฟิสเชอร์ และ นายปรีดา พัฒนถาบุตร รัฐมนตรีทบวงมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2527 ที่ห้องประชุมชั้น 3 ทบวงมหาวิทยาลัย

               หลังจากมีการลงนามข้อตกลงเป็นต้นมา ทุนของรัฐบาลออสเตรียในทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน วิทยาศาสตร์การเกษตร วิทยาศาสตร์การแพทย์ วิศวกรรมศาสตร์ และแพทยศาสตร์ ที่มอบให้แก่นึกศึกษาไทยไปศึกษาขั้นปริญญาเอก ฝึกอบรม หรือทำการวิจัย ได้เพิ่มขึ้น ในแต่ละปีมีอาจารย์จากประเทศออสเตรียมาทำการสอนและวิจัยในประเทศไทยมากขึ้นเช่นกัน อาจารย์จากประเทศไทยได้มีโอกาสไปทำงานวิจัยหรือดูงานที่ประเทศออสเตรียมากขึ้น เช่นเดียวกับนักศึกษาจากประเทศออสเตรียก็ได้เดินทางเข้ามาศึกษา ทำงานวิจัยที่ประเทศไทยมากขึ้นเช่นกัน

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชวโรกาสให้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.กำจร มนุญปิจุ
นำคณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และวิจัยของประเทศออสเตรีย เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
เมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2527 หลังจากการลงนามในบันทึกความจำเกี่ยวกับความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ของทั้งสองประเทศ

               การริเริ่มดำเนินการจนเกิความร่วมมืออันดีของทั้งสองประเทศ นอกจากจะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางวิชาการ ความสัมพันธ์ระหว่างนักวิทยาศาสตร์ของไทยและออสเตรียแล้ว ยังก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐบาลของทั้งสองประเทศด้วย

               ด้วยการเป็นผู้ริเริ่มโครงการความร่วมมือนี้ ทำให้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.กำจร มนุญปิจุ ได้รับเชิญไปเยือนประเทศออสเตรียด้วยทุนรัฐบาลประเทศออสเตรียหรือโดยงบประมาณของฝ่ายไทย เพื่อเจรจาธุรกิจและเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยและหน่วยวิจัยต่าง ๆ หลายแห่ง

               3. เป็นผู้ริเริ่มให้มีการปรับปรุงหลักสูตรวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานที่ใช้ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศไทย

               เพื่อจะให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ มีมาตรฐานการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน มีความทันสมัยและทันต่อความก้าวหน้าของแวดวงวิทยาศาสตร์ ให้มีความสอดคล้องกับการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษา ตลอดจนสามารถจะให้มีการถ่ายโอนหน่วยกิตกันได้ระหว่างชั้นปี หรือ คณะ/ประเภทวิชา และสถาบันการศึกษาขั้นอุดมศึกษาต่าง ๆ กัน จึงเห็นควรที่จะได้มีหลักสูตรวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานที่ใช้ได้ทุกสถาบัน หลักสูตรเช่นนี้จะเกิดขึ้นจากความร่วมมือกัน ร่วมปรึกษาหารือจากอาจารย์ผู้เกี่ยวข้องกับการสอน ทำให้เกิดตำราหรือหนังสือที่เขียนร่วมกันและใช้ได้ในทุก ๆ สถาบันการศึกษา

               เมื่อความเห็นของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.กำจร มนุญปิจุ ได้รับการนำเสนอขึ้นไปยังสภาการศึกษาแห่งชาติ จึงได้มีการจัดสัมมนาเพื่อหาแนวทางปฏิบัติเมื่อวันที่ 6-9 ธันวาคม พ.ศ. 2519 และเห็นพ้องกันว่าควรที่จะตั้งคณะกรรมการปรับปรุงหลักสูตรวิทยาศาสตร์ระดับมหาวิทยาลัยในสาขาวิชาเคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา และคณิตศาสตร์ ทำให้การปฏิบัติงานในปีงบประมาณ 2520 ทบวงมหาวิทยาลัยจะได้แต่งตั้ง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.กำจร มนุญปิจุ เป็นประธานอนุกรรมการปรับปรุงหลักสูตรวิทยาศาสตร์ระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นคณะอนุกรรมการที่ควบคุมส่งเสริมและแนะนำช่วยเหลือคณะอนุกรรมการด้านวิทยาศาสตร์อีก 4 สาขา คือ คณะอนุกรรมการปรับปรุงหลักสูตรวิทยาศาสตร์ระดับมหาวิทยาลัย สาขาเคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา และคณิตศาสตร์ ทั้ง 4 สาขานี้มีคณะอนุกรรมการประกอบด้วยหัวหน้าภาควิชาหรือผู้แทนของทุกสถาบันที่มีการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี และประธานอนุกรรมการของทุกสาขานี้เป็นอนุกรรมการ คณะอนุกรรมการที่ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.กำจร มนุญปิจุ เป็นประธานเริ่มดำเนินงานเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2520

               อาจารย์แต่ละสาขาได้ร่วมมือวางแนวทางหลักสูตรวิชาวิทยาศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 ที่สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ควรที่จะใช้ และร่วมกันแต่งตำราในสาขาวิชาที่เป็นอนุกรรมการอยู่ ซึ่งเป็นตำราระดับการศึกษาชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัย เพื่อใช้ในการเรียนการสอนในปีเริ่มต้นของการเรียนที่มีวิชานั้น ๆ อยู่ จัดพิมพ์ขึ้นด้วยความช่วยเหลือของทบวงมหาวิทยาลัย และได้พิมพ์จำหน่ายแก่นักศึกษาของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ นับว่าคณะอนุกรรมการชุดนี้ได้ทำให้การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์พื้นฐานในคณะวิชาต่าง ๆ ทุกสถาบันมีความทัดเทียมกันในทางมาตรฐานและทันสมัยสอดคล้องกับการเรียนการสอนระดับมัธยมศึกษา

               นอกจากนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.กำจร มนุญปิจุ ยังมีความสนใจค้นหาความรู้เกี่ยวกับการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะทางสาขาเคมี จนได้รับเชิญไปประชุมและบรรยายในการประชุม ณ ต่างประเทศอยู่เสมอ

ร่วมกับคณะรัฐมนตรีทบวงมหาวิทยาลัย เดินทางไปเจรจาเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติในการแลกเปลี่ยนคณาจารย์และนักศึกษา
ระหว่างประเทศไทยและออสเตรีย (เดือนตุลาคม พ.ศ. 2528)

               4. การสนับสนุนและการประสานงานการวิจัยสมุนไพร

               ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.กำจร มนุญปิจุ มีความเห็นว่าการวิจัยเกี่ยวกับสมุนไพรของนักวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยนั้นมักจะกระทำตามแนวทางที่ตนถนัด โดยที่หาทางให้งานวิจัยในสมุนไพรต้นหนึ่ง ๆ นั้นมีประโยชน์ทางด้านของความเป็นอยู่โดยส่วนรวมของประชาชนยังไม่ได้ ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจจากการปลูก การขาย การรักษาโรค และทางวิชาการ ดังนั้นควรมีการหาสารสำคัญที่มีฤทธิ์เป็นยา หากลไกของการมีฤทธิ์เป็นยา ตลอดจนการทดลองรักษาโรค และผลิตออกให้ประชาชนได้ใช้ จึงสมควรที่จะได้ให้นักวิทยาศาสตร์ที่ทำการวิจัยเกี่ยวกับมสมุนไพรไม่ว่าทางใด เช่น แยกสารสำคัญออกมา หาโครงสร้างทางเคมี การสังเคราะห์ให้ได้สารนั้น การนำสมนุไพรไปทำให้เป็นผลผลิตในรูปยา ทั้งในแง่ยาสามัญประจำบ้าน ยาแผนโบราณ และยาแผนปัจจุบัน การรักษาคนไข้ด้วยสมุนไพรต่าง ๆ เหล่านี้ได้มาพบกัน หาลู่ทางที่จะทำการวิจัยสมุนไพรให้ได้ครบวงจร คือจากการปลูก การหาสารสำคัญ ตลอดจนการรักษาโรค และผลิตเป็นยา ก็น่าจะช่วยลดความสูญเปล่าและสิ้นเปลืองที่อาจเกิดจากการวิจัยซ้ำซ้อนได้

               ทบวงมหาวิทยาลัย ได้เห็นความสำคัญของความคิดริเริ่มนี้ จึงแต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมและประสานงานการวิจัยสมุนไพรขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2528 มีนักวิจัยสาขาเคมี เภสัชเคมี เภสัชวิทยา เภสัชศาสตร์ แพทยศาสตร์ มาร่วมเป็นอนุกรรมการ และให้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.กำจร มนุญปิจุ เป็นประธาน คณะอนุกรรมการได้เร่งเร้า ส่งเสริมและประสานงานให้มีการศึกษาวิจัยสมุนไพรต่าง ๆ โดยมีจุดหมายให้มีการปลูก จนถึงการผลิตสารสำคัญจากสมุนไพรหนึ่ง ๆ ทดลองผลทางคลินิกจนใช้เป็นยาแผนปัจจุบัน ครบวงจรของการศึกษาวิจัยด้านสมุนไพร

งานเลี้ยงรับรองนักวิทยาศาสตร์ในการประชุม 4th Asian Symposium on Medicinal Plants and Spices (ASOMP IV) ที่ทำเนียบรัฐบาล
โดยมี นายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นเจ้าภาพ เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2523

               ก่อนหน้าที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานอนุกรรมการส่งเสริมและประสานงานวิจัยสมุนไพรนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.กำจร มนุญปิจุ มีความสนใจการวิจัยสมุนไพรและพยายามสนับสนุนการวิจัยอยู่เสมอมา โดยการจัดให้มีการประชุม การฝึกอบรม การสัมมนาในเรื่องที่เกี่ยวข้องเสมอ เช่น เป็นประธานการจัดดำเนินการ 4th Asain Symposium on Medicinal Plants and Spices (ASOMP IV) จัด Regional Workshop on Organic Syntheses เรื่อง Phytochemical Screening Techniques เรื่อง Spectroscopic Application in Organic Chemistry เรื่อง Extraction, Separation and Purification Techniques เรื่อง Topical Problems and Methods in Natural Products และ Regional Workshop on Mycotoxins เป็นต้น นอกจากนี้ยังเดินทางไปประชุมยังต่างประเทศอีกหลายครั้ง

               5. เป็นอนุกรรมการวิสามัญเกี่ยวกับตำแแหน่งทางวิชาการ ทบวงมหาวิทยาลัย

               ทบวงมหาวิทยาลัย ได้แต่งตั้งให้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.กำจร มนุญปิจุ เป็นอนุกรรมการวิสามัญ เกี่ยวกับตำแหน่งทางวิชาการ ทำหน้าที่พิจารณาตำแหน่งศาสตราจารย์ ให้แก่ผู้ขอ ทั้งในเกณฑ์ปกติหรือกรณีพิเศษ และพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการที่ต่ำกว่านี้ เมื่อการขอตำแหน่งนั้นมีผู้ขอเสนอเป็นกรณีพิเศษ

               6. เป็นประธานคณะทำงาน โครงการแลกเปลี่ยนนักวิทยาศาสตร์ สาขาเคมี ของผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและ Poymer Science

               คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (NRCT) ร่วมกับสมาคมส่งเสริมวิทยาศาสตร์ของญี่ปุ่น (Japan Society for Promotion of Science) ทำโครงการแลกเปลี่ยนนักวิทยาศาสตร์ในสาขาวิชาต่าง ๆ 7 สาขา เช่น ผลิตผลทางการเกษตร วิศวกรรมศาสตร์ ไบโอเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์การแพทย์ และเคมีของผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ รวมถึง Polymer Science เมื่อแรกเริ่มโครงการ สาขาเคมีของผลิตภัณฑ์ธรรมชาติรวมอยู่กับสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.กำจร มนุญปิจุ ได้รับมอบหมายให้เป็นประธานคณะทำงานของสาขานี้ เพื่อคัดเลือกนักวิทยาศาสตร์ที่สมัครไปศึกษาดูงานหรือทำวิจัยในประเทศญี่ปุ่น ภายใต้โครงการแลกเปลี่ยนนักวิทยาศาสตร์ของ NRCT และ JSPS ให้ไปศึกษาดูงานหรือวิจัยได้ตรงกับงานที่ทำอยู่และจะเป็นประโยชน์ต่อผู้วิจัยและหน่วยงานต้นสังกัด

               เนื่องจากทั้งวิทยาศาสตร์การแพทย์และเคมีของผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ต่างมีวิชาต่าง ๆ อยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถจะคิดเลือกนักวิจัยให้ได้รับทุนการแลกเปลี่ยนนี้ได้เพียงพอ เพราะว่ามีจำนวนทุนจำกัด อาจารย์จึงขอแยกสาขาทั้งสองนี้ออกจากกัน ทั้งสภาวิจัยแห่งชาติและ JSPS ต่างเห็นด้วยกับข้อเสนอ จึงได้แยกสาขาท้งสองจากกัน แต่ขอให้รวมสาขาวิชา Polymer Science เข้าอยู่ในเคมีของผลิตภัณฑ์ธรรมชาติด้วย จำนวนทุนที่ได้จากโครงการนี้ของแต่ละสาขาวิชาที่แยกจากกันจึงได้มากขึ้นกว่าเดิม

บรรยายในที่ประชุม ASEAN Organization on Sciences and Technology for Development
โดยได้รับเชิญจาก National Sciences and Technology Authority กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์
เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ. ศ. 2526 ในโอกาสครบรอบ 25 ปีของการก่อตั้ง NSTA

               7. งานอื่น ๆ

               นอกจากราชการพิเศษที่สำคัญ ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.กำจร มนุญปิจุ ยังได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการดำเนินโครงการวิจัยพืชสมุนไพรของ องค์การเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข และกรรมการบัญญัติศัพท์วิทยาศาสตร์ ของราชบัณฑิตยสถานด้วย

นายกสมาคมเคมีหรือผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ ในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก จำนวน 11 สมาคม
ประชุมร่วมพิจารณาจัดตั้ง สหพันธ์สมาคมเคมีแห่งเอเชีย โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.กำจร มนุญปิจุ ได้รับเลือกให้เป็น Founder President
ภาพนี้ถ่ายที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อ พ.ศ. 2522

               อนึ่ง การที่ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.กำจร มนุญปิจุ มีความสนใจในการส่งเสริมความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะสาขาวิชาเคมี จึงได้รับเชิญและแต่งตั้งเป็นกรรมการในระดับนานาชาติหลายแห่ง อาทิ มีส่วนร่วมในการจัดตั้ง Federation of Asian Chemical Societies และใน พ.ศ. 2521 UNESCO มีความสนใจที่จะให้สมาคมเคมีของประเทศต่าง ๆ ในเอเชียและแปซิฟิกได้ร่วมกันทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้เป็นประโยชน์ร่วมกัน จึงมอบหมายให้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.กำจร มนุญปิจุ ร่วมกับผู้แทนสมาคมเคมีของประเทศออสเตรีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ร่วมกันเขียนธรรมนูญของสหพันธ์ เมื่อวันที่ 14-16 ธันวาคม พ.ศ. 2521 และจัดให้มีการประชุมเพื่อจัดตั้ง FACS ที่กรุงเทพ เมื่อวันที่ 13-16 สิงหาคม พ.ศ. 2522 โดย UNESCO เป็นผู้ออกงบประมาณสำหรับผู้แทนสมาคมเคมีของประเทศต่าง ๆ ในการเข้าร่วมประชุมทั้งหมด

บทความพิเศษ

- กำจร มนุญปิจุ. (2515). แด่นักศึกษาใหม่. ใน ปฐมนิเทศ'15. กรุงเทพ : อักษรสัมพันธ์.

- กำจร มนุญปิจุ. (2519). ประวัติคณะวิทยาศาสตร์. ใน วารสารสโมรสรอาจารย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. ที่ 5 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม 2519) : 28-29.

- กำจร มนุญปิจุ. (2537). คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (แต่เก่าก่อน). ใน 25 ปี แห่งวันพระราชทานนามมหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า 159-162.
กรุงเทพ : อุดมสุขการพิมพ์ (1993).

ห้องแสดงภาพ "ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.กำจร มนุญปิจุ"

ที่มาข้อมูลและภาพประกอบ :
1. หนังสือที่ระลึกในวาระครบเกษียณอายุราชการของ ศาสตราจารย์ ดร.กำจร มนุญปิจุ 26 กันยายน 2529. กรุงเทพ : ประชุมช่าง, 2529.
2. อนุสรณ์วิทยาศาสตร์ 2515 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. กรุงเทพ : อักษรสัมพันธ์, 2515.
3. 6 รอบปีนักษัตร ศาสตราจารย์เกียรติคุณ กำจร มนุญปิจุ. กรุงเทพ : ซิกม่า ดีไซน์, 2541.
4. SCIENCE'71 Mahidol Uni. กรุงเทพ : อักษรสมัย, 2514.