แด่นักศึกษาใหม่
โดย ศาสตราจารย์ ดร.กำจร มนุญปิจุ
คณบดี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
(เผยแพร่ในหนังสือปฐมนิเทศ 2515)
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ขอต้อนรับนักศึกษาใหม่ทุกคน หวังว่าความตื่นเต้นที่ได้เข้ามาศึกษาในคณะนี้ ซึ่งเป็นความตื่นเต้นที่เกิดจากความไม่คาดหวังกันมาก่อน หรือจากความสมปรารถนา หรือไม่ได้เป็นที่ต้องการกันมาก่อนก็ตามนั้น คงจะค่อย ๆ กลายเป็นความเพลิดเพลินในการศึกษา ในความสามัคคี และความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในกาลต่อไป จนกระทั่งเกิดความรักต่อหมู่คณะ ต่อสถานศึกษา เมื่อใกล้จบหลักสูตรแล้ว หวังว่าอีก 2 ปี ในวันเดียวกันนี้คงจะไปอยู่ในคณะอื่นหรือประเภทวิชาอื่น คงจะไม่ลืมถึงความตื่นเต้นต่าง ๆ ที่ผ่านไป คงจะไม่ลืมถึงความรักความสนิทสนมกับเพื่อนฝูงที่ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้น ไม่ลืมว่าครั้งหนึ่งเคยศึกษาอยู่ ณ คณะวิทยาศาสตร์นี้ คงจะจำได้ว่าใครบ้างเคยสอนเรามา จำได้ว่าใครบ้างเป็นเพื่อนเรา แต่ทุกสิ่งในโลกนี้ไม่เที่ยงแท้
ก่อนที่จะมีการรับนักศึกษาใหม่นี้ มีผู้สงสัยหลายคนว่าเหตุใดจึงได้รวมเตรียมแพทย์ เตรียมเภสัช เตรียมทันตแพทย์ และวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกัน สงสัยกันว่านักศึกษาใหม่ในประเภทวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพเหล่านี้คงจะด้อยในทางภูมิปัญญาลงไป เมื่อได้ตอบข้อซักถามไปทั้งเป็นคำพูดและข้อความที่เขียน ก็ดูเหมือนยังไม่ใคร่ขจัดความสงสัยนี้ไปได้ คงจะเนื่องจากว่าตอบไม่ชัดเจน หรือผู้ฟังฟังไม่ศัพท์ หรือไม่ฟังให้ได้เรื่อง ข้อสงสัยนี้เลยลุกลามไปถึงบุคคลอื่นนอกคณะวิทยาศาสตร์ด้วย ดังที่ปรากฏว่ามีผู้ถามในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งไม่นานมานี้ไม่ทราบว่าจนป่านนี้แล้วผู้สงสัยจะสิ้นสงสัยหรือยัง เมื่อทราบคะแนนสูงต่ำของการสอบคัดเลือกเข้ามาศึกษา ขอนำคะแนนสูงสุดต่ำสุดมาเทียบไว้ให้เห็นชัด ดังนี้
สรุปเอาเองก็คงจะทราบแน่ชัดว่า นักศึกษาใหม่ในประเภทวิชาที่พึ่งรวมกันเข้ามานี้ อ่อนในทางสติปัญญากว่าใครหรือไม่ นักศึกษาใหม่เห็นว่าเป็นอย่างไร นักศึกษาใหม่ในทุกประเภทวิชาที่เข้ามาศึกษาไม่ด้อยกว่านักศึกษาของสถาบันอื่นในประเภทวิชาเดียวกันหรือคล้ายคลึงกัน มีแต่ดีกว่า ตามผลสอบที่แสดงมานี้เป็นเครื่องชี้ได้ชัดว่ามีผู้ต้องการศึกษาในประเภทวิชารวมอยู่มาก มิเช่นนั้นคงจะไม่ต้องมีปฐมนิเทศในครั้งนี้แน่นอน
มีคนช่วยเป็นห่วงว่า เมื่อเข้ามาศึกษาแล้วคงจะต้องชิงดีชิงเด่นกัน แย่งกันเพื่อเข้าศึกษาแพทย์ เภสัช ทันตแพทย์ วิทยาศาสตร์ หรือเทคนิคการแพทย์ สาธารณสุขศาสตร์อย่างนั้นหรือ ใครที่ไม่ได้เรียนตามที่ตนปรารถนาไว้ คงจะกลุ้มใจเป็นโรคประสาทกันหมดอย่างนั้นหรือ อาจเป็นได้หากคน ๆ นั้นเป็นคนเห็นแก่ตัว ไม่ประมาณตน คิดหรือพูดมากกว่าทำ ดูผลสิ้นปีการศึกษา 2516-17 ก็คงจะรู้กันหรอกว่าใครบ้างที่เสียใจจนฆ่าตัวตาย ดังที่มีคนเป็นห่วงแทน เพราะว่าไม่ได้เรียนตามที่ตนอยากเรียน ทั้ง ๆ ที่เรียนไม่ได้
การที่คณะวิทยาศาสตร์จะให้ใครไปศึกษาในแขนงใดเมื่อจบหลักสูตร 2 ปี แล้วนั้นจะพิจารณาจากความสมัครใจร่วมกับผลการศึกษามาตลอดหลักสูตร ดังนั้นก็ย่อมจะต้องมีการแข่งขันกันในการทำคะแนนเรียนกันเป็นธรรมดา เมื่อมีการแข่งขันขึ้นเช่นนี้ จึงมีคนเกรงว่าจะทำให้ความร่วมมือในกิจกรรมต่าง ๆ ลดน้อยลง ความสามัคคีน้อยลง เราลองมองในทางตรงข้ามบ้างไม่ได้หรือ การเรียนเดี่ยวในมหาวิทยาลัยนั้นไร้ผล จะต้องมาจับกลุ่มช่วยกันในการดูตำราถกเถียงปัญหา เพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการของตน จึงควรที่จะทำให้เกิดการรวมเป็นกลุ่มก้อนทำให้รู้จักช่วยเหลือซึ่งกันและกัน นี่เป็นความหวังซึ่งเชื่อว่าไม่เคยพลาด ใครมีสมองดี มีความถนัด มีความอยากจะศึกษาในสาขาวิชาชีพใด ก็ควรพิจารณาตัดสินตนเองด้วยผลของการศึกษาตลอดหลักสูตรดังกล่าว ความหวังที่มีอยู่นี้จะเกิดผลหรือไม่จะรู้ได้เมื่อสิ้นปีการศึกษา 2516-17 อีกนั่นแหละ นักศึกษารุ่นนี้อาจจะเป็นผู้ทลายความหวังดังกล่าวโดยสิ้นเชิง โดยมีการทะเลาะแตกแยกกัน จิตใจเสื่อมโทรม นักศึกษาใหม่คิดว่าจะเป็นเช่นนี้ไหม เอาไว้ดูกันต่อไป
มีผู้สงสัยว่าเมื่ออาศัยผลของการศึกษาเป็นสำคัญ คงจะมีการวิ่งเต้นหาครูบาอาจารย์ผู้สอน ผู้ออกข้อสอบ ผู้ตรวจเป็นการใหญ่ ประเคนสิ่งของให้แก่ครูบาอาจารย์ ผู้มีสิทธิให้คะแนนกันอย่างแน่นขนัด ก็คงจะมีคนเช่นนี้บ้าง แต่ก็ไม่เชื่อว่าครูบาอาจารย์จะเห็นแก่เครื่องเซ่นดังกล่าว แต่เพื่อป้องกันไว้ก่อน เราจะต้องหาความยุติธรรมในการให้คะแนนการสอบให้เป็นไปตามผลของการสอบ ผลของการเรียนรู้จริง ๆ เราจะทำได้โดยการส่งคำตอบของนักศึกษาทุกคน ให้ครูอาจารย์ผู้ตรวจไปตรวจให้คะแนนโดยที่ไม่รู้ว่าเป็นกระดาษคำตอบของผู้ใด เราจะให้คะแนนความเอาใจใส่ต่อการศึกษา จากการเข้าห้องปฏิบัติการทดลอง แสดงถึงความเอาใจใส่ต่อวิชาการ ความสะอาดเป็นระเบียบของการปฏิบัติงานและของตัวบุคคลเอง ถ้าจะรวมถึงการพิจารณาให้คะแนนหรือตัดคะแนนผู้ที่นำชื่อเสีย (ง) มาสู่คณะด้วย จะดีไหม
เราไม่มีเจ้าหน้าที่พอที่จะทราบถึงความเอาใจใส่ทางวิชาการในเมื่อมีการบรรยายและเห็นว่าเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล บางคนบางเวลาอาจจะไม่เข้าฟังคำบรรยายก็ได้ เป็นเพราะตื่นไม่ทัน เจ็บป่วย ขี้เกียจเรียน ครูสอนไม่รู้เรื่อง ฟังครูไม่เข้าใจหรืออะไรอื่น จนทำให้ไม่เข้าเรียนในวิชาใด ชั่วโมงใดชั่วโมงหนึ่งหรือเป็นประจำ หากมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบใครมาใครขาด ดูออกจะเป็นเรื่องจู้จี้ในเรื่องเล็กน้อยเกินไป จึงถือเอาว่าใครใคร่เรียนเรียน ใครใคร่ตกตก ก็หมดเรื่องไป
ทางคณะวิทยาศาสตร์ได้พยายามเปลี่ยนแปลงเนื้อหาวิชาต่าง ๆ อยู่เสมอ ให้เข้ากับวิชาการสมัยใหม่ แต่ก็ไม่ลืมว่านักศึกษามีพื้นฐานมามากขนาดไหน ดังนั้นเพื่อที่จะไม่ให้วิชาการล้าสมัยเกินไป จึงจำเป็นต้องมีเนื้อหาในวิชาการมาก แต่เวลามีน้อย จนเมื่อสอนในห้องบรรยายเพียงอย่างเดียว คงจะไม่ครบตามหลักสูตรบางวิชา จึงแนะให้ค้นคว้าหาเองจากตำราในห้องสมุด จากชื่อหนังสือที่จะแนะนำให้ หรือจากหัวเรื่องที่ปรากฏในหนังสือทั่ว ๆ ไป หรือหาอ่านจากตำราที่แต่งขึ้นใหม่ ห้องสมุดจึงเป็นสถานที่ที่มีประโยชน์ต่อผู้ศึกษา แต่ก็มักมีประโยชน์มากพอกันสำหรับผู้ไม่ต้องการศึกษา ไว้ใช้เป็นสถานที่คุยกัน นอน กิน เป็นต้น เพราะว่าเย็นดี บุคคลเหล่านี้ไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ต้องการใช้ห้องสมุดเพื่อต้องการศึกษา บางคนจึงเกิดความรำคาญ แต่พูดไม่ออก ได้แต่สาปแช่งอยู่ในใจบ้าง เอาไปด่าให้คนอื่นฟังบ้าง อย่าไปด่าเขาเลยไม่ช้าไม่นานก็ต้องจากกันไปแล้ว จงมีขันติเถิด
ในการเรียนขออย่าได้มุ่งเรียนเฉพาะวิชาหนึ่งวิชาใดแล้วทิ้งวิชาอื่น เพราะเห็นว่าวิชาที่มุ่งเรียนนั้นมีความสำคัญในการคิดคะแนนตอนสอบ ส่วนวิชาที่ไม่เรียนเป็นวิชาที่ไม่ค่อยมีความสำคัญนัก การมุ่งเรียนเลือกวิชาเช่นนี้ แม้ว่าจะสอบไล่ได้หลังจากสอบแก้ตัวก็จะทำให้ประวัติการศึกษาเสียไป เกิดความเสียใจเมื่อขอประวัติการศึกษาเพื่อการศึกษาต่อ ปะเหมาะเคราะห์ร้ายตกมากวิชาเข้าก็เลยสอบตกซ้ำชั้นไป จงศึกษาทุกวิชาที่มีการสอนการสอบให้มีความรู้ต่อไปนำไปใช้เป็นผลดีต่อตนเอง ต่อหน้าที่การงาน ต่อชาติบ้านเมือง
ระบบการศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์ไม่ได้ถือตามหน่วยกิตที่บางสถาบันการศึกษาปฏิบัติกัน ไม่เป็นเปอร์เซนต์อย่างแท้จริง แต่เป็นการรวมทั้งสองอย่างเข้าด้วยกัน อาจจะแสดงย่อ ๆ ในที่นี้ได้ว่า วิชาใดที่มีการสอนสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมงต่อหนึ่งภาคการศึกษาจะมี 1 หน่วยกิต วิชาใดที่มีปฏิบัติการทดลองสัปดาห์ละ 3-4 ชั่วโมง ต่อภาคการศึกษามี 1 หน่วยกิต หากเป็นการสอนวิชาใดตลอดปีคือ 2 ภาคการศึกษา ก็จะเป็นสองเท่า เช่น วิชาเคมีทั่วไปมีสอน 4 ชั่วโมง และปฏิบัติการทดลอง 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ตลอดปี จะเป็น 10 หน่วยกิต จิตวิทยา 2 หน่วยกิต เป็นต้น
หลักสูตรการศึกษาในแต่ละปีอาจมีจำนวนหน่วยกิตของแต่ละวิชาไม่เท่ากัน ทั้งนี้แล้วแต่ความมากน้อยของวิชาที่สอน ในตอนคิดผลการศึกษา จำนำคะแนนของการสอบ ความเอาใจใส่ในการปฏิบัติการทดลอง ฯลฯ ของแต่ละคนมาคูณด้วยหน่วยกิตของวิชานั้น ๆ รวมเข้าด้วยกันทุกวิชาแล้วหารด้วยจำนวนหน่วยกิตรวมของวิชาทั้งหมดในหลักสูตรของบุคคลนั้น จะได้เปอร์เซนต์ของผลการศึกษา สมมติว่าปีที่ 1 นี้ เคมี 10 หน่วยกิต ฟิสิกส์ 8 หน่วยกิต ชีววิทยา 8 หน่วยกิต ภาษาอังกฤษ 8 หน่วยกิต จิตวิทยา 2 หน่วยกิต คณิตศาสตร์ 4 หน่วยกิต สังคมวิทยา 2 หน่วยกิต รวมทั้งสิ้น 42 หน่วยกิต หากผลการสอบของแต่ละวิชาดังกล่าวข้างต้นเกินกว่า 60 เปอร์เซนต์ ถือว่าสอบได้ให้เลื่อนชั้น หากสอบในวิชาหนึ่งวิชาใด หรือหลายวิชาได้คะแนนต่ำกว่า 60 เปอร์เซนต์ จะพิจารณาผลดังนี้
- เมื่อรวมวิชาที่สอบได้แล้วจำนวนหน่วยกิตไม่ต่ำกว่า 2 ใน 3 ของหน่วยกิตรวม จะต้องสอบแก้ตัวในวิชาที่สอบได้คะแนนต่ำกว่า 60 เปอร์เซนต์ เช่น สอบตกในวิชาเคมี จิตวิทยา สังคมวิทยา ซึ่งรวมสอบตก 14 หน่วยกิต เป็นอันว่าสอบได้วิชาต่าง ๆ รวม 28 หน่วยกิต ซึ่งไม่ต่ำกว่า 2 ใน 3 ของหน่วยกิตรวมให้สอบแก้ตัวได้ แต่แม้ว่าตกเช่นนี้ แต่คะแนนสอบของวิชาใดวิชาหนึ่งตกต่ำกว่า 60 เปอร์เซนต์มาก ๆ เช่น ต่ำกว่า 45 เปอร์เซนต์ อาจพิจารณาว่าวิชานั้นอ่อนมาก เห็นควรให้ตกซ้ำชั้นก็ได้
- จำนวนหน่วยกิตของวิชาที่สอบได้ ต่ำกว่า 2 ใน 3 แต่ไม่ต่ำกว่า 1 ใน 2 ของหน่วยกิตรวม จะต้องเรียนซ้ำชั้นไม่ได้ทำการสอบแก้ตัว เช่น สอบตกในวิชา เคมี และฟิสิกส์ ซึ่งรวมเป็น 18 หน่วยกิต จึงสอบได้วิชาต่าง ๆ รวมแล้ว 24 หน่วยกิต ซึ่งน้อยกว่า 2 ใน 3 แต่ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง จึงต้องสอบตกเรียนซ้ำชั้น
- เมื่อผลการสอบแสดงว่าจำนวนหน่วยกิตของวิชาที่สอบได้ ต่ำกว่า 1 ใน 2 ของหน่วยกิตรวมแล้ว ถือว่าไม่น่าที่จะเรียนต่อไปได้ สมควรให้ออกจากสภาพการเป็นนักศึกษาไปเช่นสอบตกในวิชา ฟิสิกส์ ชีววิทยา และภาษาอังกฤษ หรือวิชาอื่น ๆ อีก ซึ่งรวมเป็น 24 หน่วยกิต จึงสอบได้วิชาต่าง ๆ รวมแล้ว เพียง 18 หน่วยกิต ซึ่งต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของหน่วยกิตทั้งหมด จึงเป็นตกให้ออก
ดูหนังสือมากเกินไประวังเจ็บป่วย แต่จะเจ็บไข้ได้ป่วยอย่างไรก็อยู่ใกล้หมอ คงจะช่วยเหลือได้ คณะวิทยาศาสตร์มีหน่วยบริการสุขภาพนักศึกษาอยู่ ณ ห้องชั้นล่างของตึกวิจัยซึ่งเป็นตึกที่เชื่อมระหว่างตึกเคมี (ที่มีสำนักงานเลขานุการ) และตึกชีววิทยา นักศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์ทุกคนเมื่อรู้สึกเจ็บป่วยจะต้องได้รับการตรวจขั้นแรกจากแพทย์ของหน่วยบริการนี้ก่อน หากแพทย์วินิจฉัยว่าสมควรได้รับการรักษา ณ โรงพยาบาลใดในสังกัดของมหาวิทยาลัยมหิดล (คือ รพ.ศิริราช และ รพ.รามาธิบดี) จึงจะส่งตัวไปโรงพยาบาลนั้น ๆ นักศึกษาจะไปรับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลทั้งสองที่กล่าวแล้วด้วยตนเองไม่ได้ นอกจากในกรณีฉุกเฉิน หน่วยบริการของคณะวิทยาศาสตร์นี้เปิดตรวจโรคแก่นักศึกษาชายหญิงทุกวัน เว้นวันหยุดราชการ ในระหว่าง 12.00-13.00 น.หากว่าเกิดรู้สึกเจ็บไข้ได้ป่วยที่ทนไม่ไหวแล้ว ก่อนหรือหลังกำหนดเวลาที่แพทย์ประจำหน่วยจะทำการตรวจ จะทำอย่างไร มิต้องคอยกัน อีก 2-3 ชั่วโมงหรือเป็นวัน จนกว่าจะถึงเวลานั้นก่อนหรือ ในกรณีนี้ถือว่าเป็นการเจ็บป่วยอย่างฉุกเฉิน รีบไปหาหน่วยอนามัยของโรงพยาบาลรามาธิบดี อยู่ชั้นที่สอง หรือไปตรวจเป็นผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลแห่งใดแห่งหนึ่งที่กล่าวแล้วก็ได้ หากไม่ได้ป่วยอย่างฉุกเฉินจริงเขาก็คงไล่กลับมาเองและไม่ให้การรักษา
ไม่ต้องการให้เจ็บป่วยบ่อยนัก ควรหันไปเล่นกีฬาเสียบ้าง คณะวิทยาศาสตร์มีสนามบาสเก็ตบอลล์ ฟุตบอลล์ หรือกีฬากลางแจ้งอื่น ๆ อยู่แล้วแห่งเดียว คือสนามที่อยู่ระหว่างตึกเคมีและรั้วของสำนักงาน ส.ป.อ. ที่ซึ่งกว้างขวางพอจะเล่นอะไรได้หลายอย่าง ห้ามเล่นในสนามหญ้าใด ๆ หรือลานใด ๆ นอกเหนือไปจากสนามดังกล่าวอย่างเด็ดขาด ทำไม? เพราะว่าสนามที่อยู่ระหว่างตึกเคมีและฟิสิกส์ มีอาคารที่มีอุปกรณ์วิทยาศาสตร์อยู่บ้าง เป็นสำนักงานบ้างมีหน้าต่างกระจกบ้าง ทางเดินมีกระจกบ้าง ถ้ากระจกแตกใครจะทำใช้ให้ใหม่ หากอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ราคาแพงแตก จะเอาที่ไหนเรียน สนามระหว่างตึกบรรยายและถนนเข้าตึกเคมีเป็นสนามหญ้าเหมาะสำหรับเป็นที่นั่งเล่น ให้มีความงามตามธรรมชาติบ้าง เล่นกันไปเล่นกันมาต้นไม้ตายหญ้าตาย ดูสง่าดีอยู่หรือ ตามลานต่าง ๆ มี โคมไฟบ้าง กระจกหน้าต่างบ้าง ของแตกง่ายทั้งสิ้น ของแตกหักเสียหายเอาเงินที่ไหนซ่อม ซ่อมใหม่ทำใหม่แตกใหม่ กลายเป็นวัฏฏจักรแห่งการเสียเงินไป
นักศึกษาใหม่ทั้งหลาย มีใครแนะนำบ้างไหมในวันปฐมนิเทศ ว่านักศึกษาจะบำเพ็ญประโยชน์ต่อประชาชนได้อย่างไรบ้าง จะมีองค์การ หรือชมรม หรือกลุ่มอะไรที่ไหนบ้างไหม ที่นักศึกษาจะได้ปวารณาตัวเข้าไปคลุกคลีด้วย เพื่อทำให้ตัวเราเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อผู้อื่น เอาไว้แนะนำในวันอื่นก็ได้กระมัง นักศึกษาใหม่ได้รับอะไรบ้างจากการปฐมนิเทศเรารู้จักคณะวิทยาศาสตร์ทั้งสถานที่ ระบบการศึกษา ระบบความเป็นอยู่ การศึกษาที่ดี ตลอดจนครูบาอาจารย์ดีแล้วหรือ หรือว่าเราอยากจะให้ใครพยายามเอาอะไรมาใส่เรา ทั้งชักชวนเราให้คิดไปอย่างที่ไม่น่าคิด หรือเรารู้ว่าเราไม่ได้อะไรขึ้นมาเลยในวันปฐมนิเทศ จนคิดได้ว่าวันหนึ่งได้ผ่านไปอีกแล้ว เหมือนกับที่เรื่อง แด่นักศึกษาใหม่ นี้ได้ผ่านไปแล้ว หรือว่าเรารู้แล้วว่าปรัชญาของการศึกษาในมหาวิทยาลัยเป็นอย่างไร โดยที่เราไม่ต้องรู้ว่าเรากำลังศึกษาอะไร
รู้อะไรก็ช่างเถิด ขอให้รู้จริงจนสามารถนำไปใช้จริง เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมให้มีความเป็นอยู่ของปวงชนดีขึ้นจริง ใช้ได้ทั้งสิ้น ก่อนจะเชื่ออะไร ขอให้ไตร่ตรองให้รอบคอบจนเชื่อว่าความเชื่อนั้นถูกต้อง อย่าเชื่อเพราะเขาเล่ากันมา เพราะเป็นประเพณีกันมา เพราะเขาพูดด้วยท่าทางคำพูดอันถูกใจเรา หรืออื่น ๆ ขอให้ไตร่ตรองแต่สิ่งที่ดีมีประโยชน์ต่อตนต่อคนอื่นและกระทำในสิ่งนั้น ทำดีกว่าพูด อย่าพูดแล้วไม่ทำ
คัดลอกจาก : กำจร มนุญปิจุ. (2515). แด่นักศึกษาใหม่. ใน ปฐมนิเทศ'15. กรุงเทพ : อักษรสัมพันธ์.
ศาสตราจารย์ ดร. น.ต.กำจร มนุญปิจุ เป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาอินทรีย์เคมี เป็นผู้ริเริ่มดำเนินการให้เกิดความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระหว่างประเทศไทยและประเทศออสเตรีย เคยดำรงตำแหน่ง คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (พ.ศ. 2514-2518) และ อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น (พ.ศ. 2519-2521)