หน้าหลัก > เอกสารและสิ่งพิมพ์ > บทความพิเศษ

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (แต่เก่าก่อน)

ศาสตราจารย์ ดร. น.ต.กำจร มนุญปิจุ ร.น. ราชบัณฑิต

เพื่อที่จะได้มีสถานศึกษาสำหรับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ในด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน เช่น วิชาเคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา คณิตศาสตร์ และด้านภาษาต่างประเทศ มหาวิทยาลัยจึงได้มอบหมายให้ ดร.สตางค์ มงคลสุข ทำการจัดตั้งสถานศึกษาที่ต้องการนี้ เพื่อให้การศึกษาขั้นแรกเริ่มแก่นักศึกษาวิชาชีพต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เป็นระยะเวลา 2 ปี ก่อนที่จะได้แยกย้ายกันไปศึกษาในคณะต่าง ๆ ที่มีอยู่ในขณะนั้น เมื่อ พ.ศ. 2501 ท่านศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข จึงได้จัดตั้งโรงเรียนเตรียมวิทยาศาสตร์การแพทย์ขึ้น ให้มีการเรียนการสอนในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เนื่องจากยังไม่มีสถานที่ของตนเอง รับสอนนักศึกษาเตรียมแพทยศาสตร์ให้แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จำนวน 64 คน แม้ในขณะนั้นมีอาจารย์ประจำอยู่น้อย แต่การเรียนการสอนก็ลุล่วงไปอย่างดีเยี่ยม ด้วยความอนุเคราะห์ของอาจารย์อาวุโสส่วนใหญ่ จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งรับเป็นอาจารย์พิเศษ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานของนักศึกษาที่เรียนอยู่ 2 ปี จึงเป็นฐานรับความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ และการแพทย์ที่นักศึกษาเรียนรู้ต่อไปในคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักศึกษารุ่นแรกและรุ่นต่อมาเป็นแพทย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังทั้งในและนอกประเทศอยู่ในขณะนี้

ในขณะที่จัดการเรียนการสอนอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์นั่นเอง ท่านศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ก็ได้ใช้ความสามารถอย่างยิ่งขอโอนที่ดินประมาณ 7 ไร่ครึ่ง ของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ริมคูข้างถนนศรีอยุธยาตอนที่ติดกับโรงพยาบาลสงฆ์ มาจากกองทัพบก และดำเนินการจนได้รับอนุมัติจากรัฐบาลให้ใช้งบประมาณจำนวนหนึ่งในการก่อสร้างอาคารเรียน 3 ชั้น และจัดหาครุภัณฑ์ วัสดุอุปกรณ์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนและปฏิบัติการทดลอง ในปี พ.ศ. 2502 ระหว่างการก่อสร้างนั้นเอง เมื่อมีการเร่งงานก่อสร้างให้บางส่วนแล้วเสร็จพอที่จะจัดการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 และ 2 ได้ ก็ย้ายนักศึกษามาจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ส่วนใหญ่จะจัดการเรียนการสอนและปฏิบัติการทดลองวิทยาศาสตร์ในชั้นล่างของตัวอาคาร ในขณะที่ชั้น 2 และ 3 ยังคงส่งเสียงจากการก่อสร้างอยู่ ในปี พ.ศ. 2503 อาคารก็พร้อมที่จะจัดการเรียนการสอนได้แล้ว จึงได้มีการรับนักศึกษาเพื่อมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เอง เช่น เตรียมแพทยศาสตร์สำหรับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เตรียมทันตแพทยศาสตร์ เป็นต้น เข้าศึกษารวมกับนักศึกษาเตรียมแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในอาคารหลังนั้นเอง ในปี พ.ศ. 2503 นี้ รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติยกฐานะโรงเรียนเตรียมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ สังกัดมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข เป็นคณบดี

เมื่อมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ประสงค์ที่จะขยายการศึกษาในด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้มากขึ้น เช่น ทางด้านพยาบาลศาสตร์ เภสัชศาสตร์ เทคนิคการแพทย์ เป็นต้น และยังมีการศึกษาขั้นสูงกว่าปริญญาตรีอีกด้วย ทำให้จำนวนนักศึกษามากขึ้นทุกปีจนสถานที่ของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์คับแคบ ไม่สามารถเพิ่มจำนวนอาคารเรียนขึ้นไปกว่าที่เป็นอยู่ 4 หลังได้อีก ในปี พ.ศ. 2508 รัฐบาลได้อนุมัติเงินงบประมาณและที่ดินเพื่อการก่อสร้างอาคารเรียนและปฏิบัติการทดลองทางวิทยาศาสตร์หน้ากระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 ประมาณ 40 ไร่ พร้อมกับให้งบประมาณซื้ออุปกรณ์วิทยาศาสตร์อีกจำนวนหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ ในวันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม 2508 การก่อสร้างอาคารเรียนและปฏิบัติการวิทยาศาสตร์จำนวน 5 หลัง หลังละ 6 ชั้น และตึกปาฐกถาขนาดใหญ่ มีกำหนดประมาณ 2 ปีครึ่ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปยังอาคารที่ก่อสร้างแล้วเสร็จนั้น เพื่อทรงประกอบพิธีเปิดอาคารหลังนี้ในวันจันทร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2511

หลังจากที่มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น มหาวิทยาลัยมหิดล ใน พ.ศ. 2512 คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็ได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น คณะวิทยาศาสตร์ ในสังกัดมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2512 อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่สำคัญก็ได้รับการขนย้ายไปอยู่ ณ อาคารใหม่ที่ถนนพระรามที่ 6 จนหมดสิ้น ถือได้ว่าคณะวิทยาศาสตร์ก็ได้ตั้งรกรากอยู่ที่ถนนพระรามที่ 6 หน้ากระทรวงอุตสาหกรรมอย่างสมบูรณ์ สำหรับอาคารบนพื้นที่เดิมข้างโรงพยาบาลสงฆ์ก็ได้มีคณะเภสัชศาสตร์มาครอบครองต่อเพื่อใช้ในการเรียนการสอนนักศึกษาของคณะต่อไป ณ อาคารใหม่นั้นก็ได้มีการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานสำหรับนักศึกษาของทุกคณะที่อยู่ในสังกัดมหาวิทยาลัยมหิดลในขณะนั้น และยังมีการศึกษาขั้นปริญญาโทและเอกในสาขาวิชาต่าง ๆ อีกมาก นับว่าเป็นแหล่งทางวิชาการที่พร้อมจะเจริญและพัฒนาขึ้นไปอย่างไม่หยุดยั้ง

คณะวิทยาศาสตร์พัฒนาขึ้นมาจากคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งมาจากโรงเรียนเตรียมวิทยาศาสตร์แพทย์ เจริญมาจากไม่มีสถานที่ของตนเอง จนถึงมีสถานที่ประมาณ 7 ไร่ครึ่ง ที่ถนนศรีอยุธยา และผลสุดท้ายมีสถานที่ของตนเองประมาณ 40 ไร่ พร้อมอาคารเรียนและปฏิบัติการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัย ก็โดยอาศัยความสนับสนุนทางด้านงบประมาณจากรัฐบาลทั้งทางด้านบุคลากร ทุนการศึกษา อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ และสถานที่พร้อมสิ่งก่อสร้าง หลังจากที่ได้ย้ายไปสู่ที่แห่งใหม่แล้วจึงได้รับความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ในด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยเฉพาะเพื่อการศึกษาในขั้นปรีคลีนิก จากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ มากขึ้นกว่าที่อยู่แห่งเดิมมากนัก เมื่ออยู่ที่เดิมก็ได้รับอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ทางด้านเคมีจำนวนหนึ่งจากรัฐบาลเยอรมันผ่านกรมวิเทศสหการ จากบริติชเคาซิลประเทศอังกฤษ อุปกรณ์เหล่านี้ได้รับมาด้วยความช่วยเหลือของอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศที่องค์กรนั้น ๆ กรุณาอนุเคราะห์ให้มาช่วยสอน

สำหรับความช่วยเหลือด้านผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศนั้น ตั้งแต่อยู่ที่เดิมมีอาจารย์ชาวอังกฤษที่ได้รับการอนุเคราะห์จากองค์การสหประชาชาติมาช่วยด้านวิชาเคมีจำนวน 1 คน ในระหว่างปี พ.ศ. 2506-2507 นอกจากนั้นประเทศอังกฤษยังส่งอาจารย์ชาวอังกฤษมาช่วยสอนอีก 2 ท่าน ในวิชาเคมี เป็นการช่วยเหลือให้สอนติดต่อกันถึง 6 ปี รัฐบาลเยอรมันส่งอาจารย์ชาวเยอรมันมาช่วยสอนด้านเคมีฟิสิกัลเคมี 1 ท่าน อยู่ประมาณ 3 ปี รัฐบาลออสเตรเลียส่งอาจารย์ 1 ท่าน ให้ช่วยในการสอนการวิจัยทางอินทรีย์เคมีอยู่ระยะเวลาหนึ่ง

ในขณะที่อยู่ที่สถานที่เก่านั้น ได้เห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาด้านการเรียนการสอนและการวิจัย ทั้งด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานและวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้วางนโยบายการพัฒนาอาจารย์จากการเลือกสรรนักศึกษาที่เรียนดีมากในชั้นปีที่ 1 และ 2 ของคณะฯ ส่งไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ ด้วยทุนจากแผนการโคลัมโบ ประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ทุนจากประเทศอังกฤษ จากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ และทุนจากรัฐบาลไทย ให้เรียนถึงขั้นปริญญาเอก และยังได้จัดส่งอาจารย์ระดับปริญญาตรีหรือโท ไปศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในระดับปริญญาโทหรือเอกในประเทศต่าง ๆ ด้วย ทุนรัฐบาลไทย ทุนจากประเทศอังกฤษ ทุนมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ เป็นต้น อาจารย์และนักศึกษาเหล่านั้นก็สำเร็จการศึกษามาช่วยในการเรียนการสอนอย่างเต็มที่เมื่อได้ย้ายมาอยู่ที่ใหม่แล้ว นอกจากนี้ยังได้รับความช่วยเหลือจากทุนต่างประเทศในด้านอุปกรณ์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนการสอนและวิจัยด้านปรีคลินิกอย่างมาก รวมทั้งให้ความช่วยเหลือสนับสนุนด้านห้องสมุดอีกด้วย

จากเงินงบประมาณของทางรัฐบาลไทยที่ให้ความช่วยเหลือสร้างอาคารและอุปกรณ์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนการสอน การวิจัย และการปฏิบัติการทดลอง เงินฝากประจำเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพสำหรับคณาจารย์ที่ทำการสอนและวิจัยอย่างจริงจังเป็นเงินประมาณ 9.7 ล้านเหรียญสหรัฐ และเงินทุนการศึกษาและอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ของมูลนิธิ
ร็อคกี้เฟลเลอร์ทางด้านปรีคลินิก เป็นเงินประมาณ 7.2 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้เป็นเงินทุนการศึกษาจากแหล่งต่างประเทศและจากรัฐบาลไทยดังที่กล่าวมาแล้ว ทำให้การพัฒนาการเรียนการสอนของคณะวิทยาศาสตร์เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมาก จนมีชื่อเสียงโด่งดังในเชิงวิชาการ

มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ได้ให้ความช่วยเหลือด้านอาจารย์ โดยเริ่มส่งมาเพียงคนเดียวในปี พ.ศ. 2507 และมีจำนวนสูงสุด 14 คน ในปี พ.ศ. 2513 ในด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์สาขาปรีคลินิก และทยอยกันกลับไปจนหมดสิ้นในปี พ.ศ. 2518 รวมทั้งอาจารย์ที่ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าภาควิชาด้วย แต่คณาจารย์ที่ได้รับทุนการศึกษาเมื่อเป็นนักศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ศึกษาในวิชาต่าง ๆ ทางปรีคลินิกก็มาทำหน้าที่แทนอาจารย์ชาวต่างประเทศได้อย่างสมบูรณ์ การพัฒนาการเรียนการสอนในทางปริญญาสูงกว่าปริญญาตรีที่ได้ผลอย่างดีตลอดมาก็ยิ่งดีขึ้นจนเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ จนกระทั่งรัฐบาลของประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และพม่า ได้ส่งนักศึกษามาศึกษาด้านปรีคลีนิกและเคมี นอกจากนี้ยังมีนักศึกษาและอาจารย์จากหลายประเทศไม่น้อยกว่า 18 คน มาทำการศึกษาวิจัยหลังปริญญาเอก (Postdoctor) อีกด้วย

เมื่อมหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยความเห็นชอบของคณะต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง มีนโยบายที่จะขยายจำนวนนักศึกษาในวิชาชีพทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ และวิทยาศาสตร์พื้นฐานให้มากขึ้น ก็ได้พิจารณาเห็นว่าสถานที่ของคณะวิทยาศาสตร์ที่จะให้การเรียนการสอนแก่นักศึกษาชั้นปีที่ 1 และ 2 นั้นจะไม่เพียงพอ จึงเห็นสมควรขยายเขตการศึกษาของมหาวิทยาลัยไปอยู่ที่ศาลายา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 เป็นต้นไป และได้ดำเนินการก่อสร้าง เมื่อการก่อสร้างอาคารที่จำเป็นสำหรับการเรียนการสอนของคณะวิทยาศาสตร์แล้วเสร็จ คณะวิทยาศาสตร์จึงได้เริ่มไปทำการสอนนักศึกษาชั้นปีที่ 1 เมื่อ มิถุนายน 2525 และก็คงสอนเพียงนักศึกษาชั้นปีที่ 1 เท่านั้นตั้งแต่นั้นมา ทั้งนี้ เนื่องจากได้มีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรของคณะต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการศึกษาแพทยศาสตร์ มีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรวิทยาศาสตร์พื้นฐานจาก 2 ปีการศึกษา มาเป็นเพียงปีการศึกษาครึ่ง สำหรับการศึกษาโดยทั่วไป ได้มีการเปลี่ยนแปลงให้มีการเรียนการสอนทางสังคมศาสตร์ถึง 25% ของเวลาเรียน ส่วนทางด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานก็จำเป็นต้องลดเวลาลงและบีบลงไว้ในชั้นปีที่ 1 เป็นส่วนใหญ่เท่าที่จะกระทำได้ สำหรับชั้นปีที่ 2 นั้น นักศึกษาก็ไปศึกษาที่คณะของตน จึงไม่จำเป็นต้องเรียนที่ศาลายาอีก

นอกจากที่คณะวิทยาศาสตร์จะให้การศึกษาแก่นักศึกษาทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานและภาษาอังกฤษแล้ว ยังให้การศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ประเภทวิชาปรีคลินิก ด้วยคณาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถ ซึ่งส่วนมากเป็นผู้ที่เรียนดีเด่นในสมัยเป็นนักศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ระยะแรก ๆ และได้รับทุนการศึกษาไปศึกษาต่อในต่างประเทศดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ในไม่ช้าก็เกษียณอายุราชการ เมื่อถึงเวลานั้นการขาดอาจารย์เหล่านี้ย่อมจะเกิดความเดือดร้อนขึ้นไม่มากก็น้อย เนื่องใน
ระยะหลัง ๆ ไม่ได้มีการเตรียมคนที่มีความรู้ความสามารถเท่าเทียมกันเอาไว้ ดังนั้น คงจะเกิดช่วงที่ขาดผู้ชำนาญการสอนการวิจัยอย่างแท้จริงไป นอกจากนั้น เหล่าอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งได้มาสมัยอดีตก็เก่าแก่ล้าสมัย ใช้งานไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น มีการเสื่อมสภาพตามกาล เมื่อไม่มีการทดแทนให้เหมาะสมและไม่มีการเพิ่มตามความก้าวหน้าของวิชาการ ย่อมทำให้วิทยาการอันเลื่องลือของคณะวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องในอดีต ใครจะหาอุปกรณ์ที่มีราคาแพงกว่าเดิมแทนของเก่า ใครจะหาอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยอันจะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนการวิจัย เมื่อไม่มีเงินเพียงพอ

จะมีอีกหรือไม่ ที่คณะวิทยาศาสตร์ที่เคยเป็นหนึ่งในวงการศึกษาของประเทศ และเป็นที่ยอมรับของวงการศึกษาของต่างประเทศในวันเก่า ๆ จะยังคงเป็นเช่นนั้นอีกในอนาคตตราบใดที่เป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่า ความต้องการบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานและวิทยาศาสตร์ประยุกต์ยังมีอยู่มาก แต่การสนับสนุนในทางงบประมาณ ทั้งด้านบุคลากรและอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ยังไม่เพียงพอและไม่เคยเพียงพอนั้น ความก้าวหน้าทางวิชาการและการพัฒนาของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลนั้น จะเป็นอย่างไร หวังว่าการต่อสู้ให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ประสงค์ของผู้บริหารทุกท่านในระดับภาควิชา คณะ และมหาวิทยาลัย ไม่ใช่แต่เฉพาะคณะวิทยาศาสตร์แห่งเดียว แต่ของทุกคณะ สถาบัน หากมาช่วยกันคลี่ถนนแห่งความเจริญไปข้างหน้าพร้อม ๆ กัน ปูลาดสู่ความมีชื่อเสียงทางวิชาการและบริการของทุกแห่งได้พร้อมเพรียงกัน เมื่อนั้น คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คงจะมีโอกาสพุ่งสู่ความมีชื่อเสียงอันเหมาะสมกับกาลเวลาดังในยุคแรก ๆ เช่นนั้น

กำจร มนุญปิจุ. (2537). คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (แต่เก่าก่อน). ใน 25 ปี แห่งวันพระราชทานนามมหาวิทยาลัยมหิดล. กรุงเทพ : อุดมสุขการพิมพ์ (1993).

หมายเหตุ : การสะกดคำ คัดลอกจากต้นฉบับทุกประการ

ศาสตราจารย์ ดร. น.ต.กำจร มนุญปิจุ เป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาอินทรีย์เคมี เป็นผู้ริเริ่มดำเนินการให้เกิดความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระหว่างประเทศไทยและประเทศออสเตรีย เคยดำรงตำแหน่ง คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (พ.ศ. 2514-2518) และ อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น (พ.ศ. 2519-2521)