ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วัฒนาลัย ปานบ้านเกร็ด

ประวัติ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วัฒนาลัย ปานบ้านเกร็ด เกิดที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม นักวิทยาศาสตร์ชาวไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพและพันธุวิศวกรรม เป็นบุคคลสำคัญในการก่อให้เกิดศูนย์ความร่วมมือการวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพ แห่งมหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยโอซาก้า และศูนย์ความร่วมมือการวิจัยสำหรับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือด้านการวิจัย ใช้เครื่องมือวิจัยที่ทันสมัยร่วมกัน

ประวัติการศึกษา

  • พ.ศ. 2514 - 2518 : วท.บ. (ชีววิทยา) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • พ.ศ. 2518 - 2521 : วท.ม. (จุลชีววิทยา) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • พ.ศ. 2521 - 2522 : Diploma (Microbial Technology) Osaka University, Japan (ทุน UNESCO)
  • พ.ศ. 2523 - 2527 : D.Eng. (Fermentation Technology) Osaka University (ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น)
  • พ.ศ. 2533 - 2534 : Post-doctoral fellow, The Salk Institute San Diego, USA (ทุนมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์)

ประวัติการทำงาน

พ.ศ. 2565 - ปัจจุบัน : อนุกรรมการประเมินความปลอดภัยของการใช้จุลินทรีย์โปรไบโอติกในอาหาร ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ
พ.ศ. 2565 - ปัจจุบัน : อนุกรรมการด้านการวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
พ.ศ. 2564 - ปัจจุบัน : ที่ปรึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
พ.ศ. 2562 - ปัจจุบัน : ที่ปรึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2562 - ปัจจุบัน : คณะอนุกรรมการด้านวิชาการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กระทรวงสาธารณสุข
พ.ศ. 2562 - ปัจจุบัน : Editorial Board, Science Asia
พ.ศ. 2561 - ปัจจุบัน : ที่ปรึกษาหน่วยความร่วมมือการวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์วภาพและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งมหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยโอซาก้า (MU-OU:CRC) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2561 - ปัจจุบัน : คณะกรรมการอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข
พ.ศ. 2559 - ปัจจุบัน : อนุกรรมการความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
พ.ศ. 2550 - ปัจจุบัน : คณะกรรมการเทคนิคด้านความปลอดภัยชีวภาพ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ
พ.ศ. 2550 - ปัจจุบัน : Editorial Board, Journal of Bioscience and Bioengineering
พ.ศ. 2550 - ปัจจุบัน : ที่ปรึกษาสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งประเทศไทย
พ.ศ. 2546 - ปัจจุบัน : ประธานอนุกรรมการความปลอดภัยทางชีวภาพด้านจุลินทรีย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
พ.ศ. 2562 - 2566 : ประธานอนุกรรมการวิชาการมาตรฐานระหว่างประเทศด้านเทคโนโลยีชีวภาพ สาขาคำนิยาม/คำจำกัดความ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ

ตำแหน่งทางวิชาการ
พ.ศ. 2527 : อาจารย์ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2529 : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2533 : รองศาสตราจารย์ ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2541 : Visiting Professor, Osaka University (6 เดือน)
พ.ศ. 2545 : ศาสตราจารย์ ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2561 : ศาสตราจารย์อาวุโส ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2561 : ศาสตราจารย์เกียรติคุณ

ตำแหน่งทางด้านบริหาร
พ.ศ. 2537 - 2541 : หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2542 - 2545 : รองคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยฝ่ายนโยบายและแผน มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2545 - 2561 : หัวหน้าหน่วยความร่วมมือการวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งมหาวิทยาลัย มหิดลและมหาวิทยาลัยโอซาก้า (MU-OU:CRC) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เกียรติคุณและรางวัลที่ได้รับ

พ.ศ. 2533 : Taguchi Prize: Outstanding Young Scientist in Biotechnology จากมูลนิธิทะกุชิ
พ.ศ. 2535 : IRRI Award: Outstanding Young woman in Rice Sciences (ประเทศฟิลิปปินส์)
พ.ศ. 2547 : อาจารย์ตัวอย่างระดับศาสตราจารย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2548 : อาจารย์ตัวอย่างสภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2549 : อาจารย์ดีเด่นแห่งชาติด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.)
พ.ศ. 2549 : ศิษย์เก่าดีเด่น บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2557 : รางวัลปาฐกถาอายิโนะโมะโต๊ะ มูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ
พ.ศ. 2560 : รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการวิจัย
พ.ศ. 2560 : พนักงานมหาวิทยาลัยดีเด่น คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2562 : รางวัล Osaka University Global Alumni Fellow, Osaka University
พ.ศ. 2564 : ศิษย์เก่าดีเด่นโรงเรียนสายน้ำผึ้ง
พ.ศ. 2549 - ปัจจุบัน : ได้รับแต่งตั้งเป็น Collaborative Professor จาก Osaka University

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับ (ระดับชั้นสายสะพาย)
- ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)
- ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)
- มหาวชิระมงกุฎ (ม.อ.ม.)
- มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)

หน้าที่และกิจกรรมในองค์กรระดับนานาชาติ

- Editorial Board, Science Asia
- Editorial Board, Journal of Bioscience and Bioengineering
- The Science Society of Thailand (สมาชิกและ Editorial board ของวารสารสมาคม)
- The Thai Society for Biotechnology (สมาชิกและที่ปรึกษาสมาคม)
- ISO/Technical Committee (TC) 276 Biotechnology (พ.ศ. 2562 - พ.ศ. 2566)

ผลงานเด่นด้านวิชาการและกิจกรรมเพื่อสังคม

ผลงานด้านวิชาการ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วัฒนาลัย ปานบ้านเกร็ด จบการศึกษาระดับปริญญาตรีและระดับปริญญาโท จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ต่อมาได้รับทุนองค์การ UNESCO ไปทำวิจัยระยะเวลา 1 ปี ที่ Osaka University สาขา Microbial Technology จากนั้นได้รับทุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาระดับปริญญาเอกที่ Osaka University หลังจบการศึกษาได้เข้ามาบรรจุเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากงานสอนแล้วได้ทำผลงานวิชาการด้านต่าง ๆ จนได้รับตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์และรองศาสตราจารย์ ตามลำดับ ระหว่างนั้นได้ทุนมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ไปทำวิจัย Post Doctoral fellow ที่ The Salk Institute San Diego เป็นระยะเวลา 1 ปี 3 เดือน เมื่อคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีโครงการจัดตั้งภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ จึงได้โอนย้ายมาสังกัดหน่วยงานใหม่นี้ ซึ่งเปิดสอนในระดับปริญญาตรี ซึ่งขณะนั้นยังขาดแคลนอาจารย์อย่างมาก โดยมีอาจารย์ที่สังกัดหน่วยงานใหม่นี้ลาไปศึกษาต่อต่างประเทศถึง 4 คน ทำให้ต้องสอนทดแทนในหลายรายวิชาให้แก่นักศึกษาจนกระทั่งได้ตั้งภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพและเปิดหลักสูตรระดับมหาบัณฑิตและระดับปริญญาเอก ซึ่ง ศาสตราจารย์วัฒนาลัย มีความมุ่งมั่นตั้งใจช่วยพัฒนาหลักสูตรให้มีความเข้มแข็งและมีส่วนสำคัญในการพัฒนาภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ จนเป็นภาควิชาชั้นนำของคณะวิทยาศาสตร์และของประเทศ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วัฒนาลัย ปานบ้านเกร็ด ได้ปฏิบัติหน้าที่อาจารย์ทั้งการเรียนการสอนระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการมากกว่า 100 เรื่อง มี h index = 25 มีการอ้างอิงจากงานวิจัยต่าง ๆ มากกว่า 2,700 ครั้ง ได้รับเชิญเป็น Editorial board และ Reviewer จากวารสารวิชาการนานาชาติที่มีชื่อเสียง ท่านทำหน้าที่เป็น Major Advisor ให้นักศึกษาระดับปริญญาเอก 19 คน ระดับปริญญาโท 39 คน และได้รับนักศึกษาปริญญาตรีมาทำ Senior Project มากกว่า 100 คน ลูกศิษย์ของอาจารย์ได้ถูกยอมรับเป็นอย่างดีในแวดวงวิชาการ ได้รับการบรรจุเข้าเป็นอาจารย์ในหลายมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนุบรี และอีกหลายหน่วยงานทั้งของภาครัฐ และภาคเอกชน มีความเจริญก้าวหน้าและประสบผลสำเร็จในอาชีพการงาน นอกจากผลงานตีพิมพ์ ยังมีการจดสิทธิบัตรผลงานวิจัยในต่างประเทศคือประเทศญี่ปุ่น 3 เรื่อง และผลงานการพัฒนาวัคซีนไอกรนให้กับ บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด มีการจดสิทธิบัตรในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ และจดอนุสิทธิบัตรในประเทศไทย 1 เรื่อง ท่านยังช่วยเป็น Mentor ให้คำปรึกษาโครงการวิจัยต่ออาจารย์รุ่นใหม่หลายท่าน ทั้งที่มหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ระหว่างที่ทำงานที่คณะวิทยาศาสตร์ได้ช่วยงานด้านต่าง ๆ ของคณะ เช่น เป็นกรรมการประเมินคุณภาพการศึกษาของภาควิชาและหน่วยงานต่าง ๆ ของคณะ กรรมการประเมินและคัดเลือกอาจารย์ตัวอย่างของคณะมาอย่างยาวนาน (พ.ศ. 2549 - 2565) กรรมการวิชาการประเมินโครงการวิจัยและกลั่นกรองตำแหน่งวิชาการ กรรมการคัดเลือกหัวหน้าภาควิชา เป็นต้น และได้ช่วยงานมหาวิทยาลัยมิดล เช่น เป็นกรรมการประเมินคุณภาพการศึกษาของคณะ สถาบันต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย เป็นวิทยากรและประเมินโครงการวิจัยต่าง ๆ ที่ขอทุนมหาวิทยาลัยเป็นจำนวนมากจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ท่านยังได้ทุนสนับสนุนโครงการวิจัยต่าง ๆ จำนวนมากจากแหล่งทุนต่าง ๆ เช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานสนับสนุนกองทุนวิจัย บริษัทเอกชน เช่น บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด, บริษัท เบทาโกร จำกัด, บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด และจากองค์กรต่างประเทศ เช่น World Health Organization, Japan Science and Technology Agency (JST) ร่วมกับ Japan International Co-operation Agency (JICA) ทำให้ได้รับเครื่องมือวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เช่น Analytical and Preparative, HPLC Refrigerated incubator shaker, ELISA Reader, Lyophilizer, Spray dryer เป็นต้น มาใช้ที่คณะวิทยาศาสตร์จำนวนมาก ผลงานด้านวิชาการของท่านนับว่ามีประโยชน์ต่อวงวิชาการมากทั้งด้านการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีจนเป็นกำลังสำคัญในองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชน ผลงานการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของอาจารย์เป็นการสร้างองค์ความรู้และเผยแพร่ผลงานทั้งในระดับชาติและนานาชาติ นอกจากนี้ผลงานวิจัยบางส่วนยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้เชิงพาณิชย์ได้อีกด้วย

งานวิจัยร่วมกับภาคเอกชนเพื่อนำผลงานไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์

ได้ทำงานวิจัยและพัฒนางานหลายด้านที่เป็นประโยชน์ต่อวงการวิทยาศาสตร์ด้านการแพทย์ ทั้งด้านวิชาการและงานด้านการพัฒนาสายพันธุ์ผลิตวัคซีน ที่มีการนำไปพัฒนาต่อยอดจนนำไปสู่การพัฒนาวัคซีนที่มีการผลิตออกจำหน่ายได้ ได้แก่ ผลงานวิจัยด้านการสร้างสายพันธุ์ recombinant Bordetella pertussis เพื่อใช้ผลิตวัคซีนป้องกันโรคไอกรนชนิดไร้เซลล์ (acellular pertussis vaccine) ที่ทำให้กับบริษัท ไบโอเนท เอเชีย จำกัด โดยได้ใช้วิธีเปลี่ยนแปลงยีนที่สร้าง PT toxin บนโครโมโซมของเชื้อโดยการเปลี่ยน codon ที่สร้างกรดอะมิโน (R9K และ E129G) โดยเปลี่ยน arginine (R) ไปเป็น lysine (K) และ glutamic acid (E) ไปเป็น glycine (G) ทำให้ PT toxin กลายเป็น toxoid โดยการนำยีนที่สร้าง PT toxoid เข้าไปแทนที่ยีนที่สร้าง PT toxin บนโครโมโซม ซึ่งการทำ chromosomal engineering นี้ทำโดยไม่มี antibiotic marker gene คงเหลืออยู่ในโครโมโซมของเชื้อโรคไอกรนเลยถือเป็นการทำสำเร็จครั้งแรกในโลกในเชื้อสายพันธุ์นี้ ซึ่งจากสายพันธุ์ที่พัฒนาได้นี้ทางบริษัทได้นำไปพัฒนาต่อยอดผลิตวัคซีนรวมป้องกันโรคไอกรน คอตีบ และบาดทะยัก (TdaP) และได้รับ Marketing Authorization Approval (MAA) จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ให้ผลิตออกขายในท้องตลาดภายใต้ชื่อ Boostagen® สำหรับใช้ฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรคไอกรนของเด็กอายุมากกว่า 11 ขวบขึ้นไป และผู้ใหญ่ ซึ่งนับว่าเป็นวัคซีนชนิดใหม่ที่ช่วยทำให้มีประสิทธิภาพป้องกันโรคไอกรนแบบครบวงจร และเป็นการผลิตวัคซีนไร้เซลล์ป้องกันโรคไอกรนที่มีการพัฒนาสายพันธุ์เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เป็นวัคซีนตัวแรกจากประเทศไทยที่มีการพัฒนาสายพันธุ์โดยนักวิจัยไทยและผลิตจำหน่ายไปทั่วโลก ทางบริษัทยังได้นำสายพันธุ์ Modified Bordetella pertussis ไปผลิตวัคซีน recombinant aP vaccine ภายใต้ชื่อการค้า Pertagen® ซึ่งเป็น monovalent pertussis vaccine ชนิดไร้เซลล์ชนิดแรกของโลก ซึ่งงานวิจัยการสร้างสายพันธุ์ดังกล่าวเพื่อผลิตวัคซีนโดยได้ดำเนินการวิจัยทั้งหมดที่ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี ศาสตราจารย์วัฒนาลัย ปานบ้านเกร็ด เป็นหัวหน้าทีมในการดำเนินการวิจัยดังกล่าว โดยมีบริษัท ไบโอเนท เอเชีย จำกัด ร่วมวิจัยและสนับสนุน โดยการศึกษาพบว่าวัคซีนไอกรนชนิดไร้เซลล์นี้สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันก่อโรคไอกรนได้ดีกว่าวัคซีนเปรียบเทียบที่มีขายในท้องตลาด ซึ่งผลงานการสร้างสายพันธุ์ modified B. pertussis เป็นงานวิจัยที่เป็นองค์ความรู้ใหม่ ทำให้สามารถจดสิทธิบัตรในหลายประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, แอฟริกาใต้, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป็นต้น

นอกจากการทำงานร่วมกับภาคเอกชนเพื่อผลิตวัคซีนไร้เซลล์ป้องกันโรคไอกรนแล้ว ยังมีตัวอย่างงานวิจัยอื่นที่มีการอนุญาตให้บริษัทเอกชนใช้ตัวอย่างจุลินทรีย์เพื่อพัฒนาเป็นอาหารเสริมเชื้อจุลินทรีย์โปรไบโอติก โดยได้อนุญาตให้ใช้เชื้อ Pediococcus pentosaceus P7 ต่อบริษัท พีอาร์ไนน์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2564 ทางบริษัทได้ขอต่อสัญญาอีก 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2565 จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2570 โดยทำสัญญาผ่านสถาบันบริหารการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (INT) มหาวิทยาลัยมหิดล จะเห็นได้ว่าผลงานวิจัยและพัฒนาของท่านนอกจากจะมีการเผยแพร่ทางวิชาการแล้วยังสามารถนำผลงานไปจดสิทธิบัตรและมีการนำผลงานบางส่วนไปประยุกต์ใช้เชิงพาณิชย์ด้วยดังได้กล่าวแล้วข้างต้นโดยมีผลงานที่นำไปจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรดังนี้

1) Panbangred, W. and Honda, J. (2008) Method of producing palatinose, trehalulose or mixture thereof. Patent Number JP2008079533A, Japan.

2) Panbangred, W. Petre, J., Boonchird, C. and Buasri, W. Modified Bordetella pertussis Granted patent in many countries: US 9187754B2 (USA, Nov 17, 2015), JP 5966018B2 (Japan, August 10, 2016); KR 10-1696986B1 (Korea, January 10, 2017); EP 2802646B1 (European patent, May 10, 2107)

3) Satoshi, O., Takahashi, Y., Kazuhiko, O., Inahashi, Y., Iwatsuki, M., Matsumoto, A., Panbangred, W. (2014) Antitrypanosomal active substance actinoallolides and method for producing same Priority number: JP2013000768420130118 (W02014112387A).

4) สารผสมเลือดสุกรและกรรมวิธีการผลิต อนุสิทธิบัตร เลขที่คำขอ 2003000669 (27 มีนาคม 2563)

ผลงานด้านการบริการวิชาการสู่สังคม

ระหว่างการทำงานที่มหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากทำหน้าที่งานสอนงานวิจัย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. วัฒนาลัย ปานบ้านเกร็ด ยังได้รับการแต่งตั้งจากหน่วยงานภายนอกให้ดำรงตำแหน่ง ประธานอนุกรรมการ กรรมการ หรืออนุกรรมการในคณะกรรมการและอนุกรรมการหลายชุด เช่น ประธานอนุกรรมการความปลอดภัยทางชีวภาพด้านจุลินทรีย์และคณะกรรมการเทคนิคด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ โดยมีส่วนสำคัญในการจัดทำคู่มือประเมินความปลอดภัยในการใช้จุลินทรีย์ดัดแปลงพันธุกรรม ทั้งในระดับห้องปฏิบัติการและระดับอุตสาหกรรม ในฐานะประธานอนุกรรมการความปลอดภัยทางชีวภาพด้านจุลินทรีย์ นอกจากจัดทำคู่มือปฎิบัติการในระดับห้องปฏิบัติการและอุตสาหกรรมแล้ว ยังมีหน้าที่ตรวจเยี่ยมเพื่อประเมินความปลอดภัยของโรงงานที่มีการใช้จุลินทรีย์ดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อเป็นอาหารคนหรืออาหารสัตว์ เช่น บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ ประเทศไทย ที่จังหวัดกำแพงเพชร อยุธยา ปทุมธานี และอำเภอพระประแดง การใช้จุลินทรีย์ดัดแปลงพันธุกรรมในการผลิตเส้นใยโปรตีน ได้แก่ บริษัท สไปเบอร์ ประเทศไทย ที่นิคมอุตสาหกรรมระยอง และการใช้ recombinant Escherichia coli ในการผลิตเอนไซม์ของบริษัท ไบโอทอล์ก ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รวมทั้งมีการตรวจเยี่ยมสถานที่ผลิตเพื่อประเมินความปลอดภัยของบริษัทต่าง ๆ ที่มีการใช้จุลินทรีย์หรือมีการดำเนินการตรวจหาการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ชนิดต่าง ๆ เช่น บริษัท เบทาโกร บริษัท ทรูฟนอร์ด และบริษัทต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ จังหวัดปทุมธานี การดำเนินงานเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อสังคมในแง่ที่ว่าทำให้มีความมั่นใจว่ากระบวนการผลิต การใช้จุลินทรีย์และการบริหารจัดการของบริษัทมีความถูกต้องตามหลักวิชาการและมีความปลอดภัย ในฐานะคณะกรรมการอาหารของกระทรวงสาธารณสุขก็ได้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการให้ความเห็นด้านการใช้จุลินทรีย์และเอนไซม์ ผลิตภัณฑ์ที่ได้ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่ได้จากจุลินทรีย์ทั่วไปหรือจุลินทรีย์ดัดแปลงพันธุกรรมในการผลิตอาหารหรือใช้เป็นวัสดุเจือปนอาหาร และในฐานะกรรมการวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญด้านพันธุวิศวกรรมของจุลินทรีย์ก็ช่วยให้ความเห็นต่อการออกประกาศในการจัดระดับความเสี่ยงของจุลินทรีย์ และการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการใช้จุลินทรีย์ที่มีความเสี่ยงระดับต่าง ๆ ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำกับดูแล และในฐานะอนุกรรมการความหลากหลายทางชีวภาพของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ได้ช่วยให้ความเห็นด้านการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์และทรัพยากรธรรมชาติ การเข้าถึงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและการแบ่งปันผลประโยชน์ในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ในฐานะอนุกรรมการประเมินความปลอดภัยด้านการใช้จุลินทรีย์โปรไบโอติกในอาหาร ศาสตราจารย์วัฒนาลัย มีส่วนช่วยในการกำหนดหลักเกณฑ์และกำลังจะดำเนินการจัดทำรายชื่อจุลินทรีย์โปรไบโอติกที่มีความปลอดภัยและสามารถใช้เป็นอาหารคนและอาหารสัตว์ได้ ซึ่งงานเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคชาวไทยเป็นอย่างมาก

ด้านการสนับสนุนการศึกษา ท่านได้บริจาคเงินจำนวนมากสนับสนุนการศึกษา เช่น บริจาคสร้างอาคารเรียนรวมโรงเรียนวัดทรงคะนอง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม จำนวนเงิน 3 แสนบาท บริจาคให้คณะวิทยาศาสตร์ในโอกาสอายุครบรอบ 40 ปี จำนวน 1 แสนบาท บริจาคเพื่อทุนการศึกษาแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จำนวน 50,000 บาท และบริจาคเงินสนับสนุนการศึกษาของสมาคมศิษย์เก่าคณะวิทยาศาสตร์ จำนวน 49,500 บาท ซึ่งจะเห็นได้ว่าศาสตราจารย์วัฒนาลัย นั้นเมื่อทำงานก็ทุ่มเทต่อการเรียนการสอนและการวิจัยอย่างเต็มที่ และยังบริจาคกำลังทรัพย์มาสนับสนุนการศึกษาของนักเรียนและนักศึกษาอีกด้วย

จากงานต่าง ๆ เหล่านี้จะเห็นได้ว่า ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วัฒนาลัย ปานบ้านเกร็ด ได้ปฏิบัติงานอย่างทุ่มเททั้งด้านการเรียนการสอน การวิจัย มีการผลิตบุคลากรคุณภาพจำนวนมาก อีกทั้งมีผลงานวิจัยที่มีการต่อยอดพัฒนาออกสู่เชิงพาณิชย์และได้ทำหน้าที่ช่วยในการกำกับดูแลและประเมินความปลอดภัยทางชีวภาพเกี่ยวกับการใช้จุลินทรีย์และมีส่วนร่วมในการให้ความเห็นด้านวิชาการต่อการออกประกาศและออกกฎหมายหลาย ๆ เรื่องของหน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทย ผลงานต่าง ๆ เหล่านี้ของท่านเป็นผลงานเชิงประจักษ์ทั้งด้านวิชาการ ด้านการประยุกต์ใช้เชิงพาณิชย์และด้านการบริการวิชาการสู่สังคม

ที่มาข้อมูล : คุณวริศรา ทาทอง สมาคมศิษย์เก่าคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล