หน้าหลัก > เอกสารและสิ่งพิมพ์ > บทความพิเศษ

แด่ศิษย์และเพื่อนรัก

โดย ศาสตราจารย์ ดร.คลุ้ม วัชโรบล

ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข เป็นผู้ที่พูดตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อมให้เสียเวลา ดีก็บอกว่าดี ไม่ดีก็บอกว่าไม่ดี ไม่เกรงใจใครในเรื่องงานที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมและแก่ประเทศชาติ ความซื่อและตรงไปตรงมาอย่างนี้แหละเป็นที่สพอารมณ์และเจตนาของบรรดาชาวต่างประเทศที่ได้คบสมาคมกับ ดร.สตางค์ อาทิ ผู้แทนของ Ford Foundation และ Rockefeller Foundation จนถึงกับทุ่มเทเงินทองอย่างมหาศาลมาช่วยการศึกษาทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และต่อมาเป็นมหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน

ความเมตตากรุณา เป็นนิสัยประจำใจของ ดร.สตางค์ สมกับที่ข้าพเจ้าได้ยินสมเด็จพระสังฆราชเจ้าองค์ปัจจุบันได้กล่าวว่า "คนต่างกับสัตว์ก็เพราะ คนมีความเมตตากรุณา" ฉะนั้นถ้าใครขาดความเมตตากรุณาก็จะไม่ผิดอะไรกับสัตว์ ดร.สตางค์ ได้ช่วยเหลือนิสิต นักศึกษาตลอดมา ปากก็ว่ากล่าวต่าง ๆ นานา แก่ผู้ที่ไม่เอาไหนและเรียนไม่ดี แต่ก็เพื่อเป็นการสั่งสอนไปในตัว ส่วนในใจจริงนั้นพร้อมเสมอที่จะเอ็นดูกรุณาช่วยเหลือลูกศิษย์และลูกน้องเสมอ ลูกศิษย์ที่พลาดพลั้งนิด ๆ หน่อย ๆ ก็จะไม่เหี้ยมโหดเอาตกหรือไล่ออกเหมือนกันอาจารย์บางท่าน เปิดโอกาสให้แก้ตัวหรือไม่ก็ช่วยเหลือเอาไว้เสมอ นี่เป็นการสร้างกุศลกรรม ลูกศิษย์คนไหนเรียนดี ก็พยายามช่วยเหลือให้ได้มีโอกาสได้รับทุนไปเรียนต่อ ณ ต่างประเทศและสนับสนุนให้เรียนถึงขั้นปริญญาเอก Ph.D. เมื่อกลับมาแล้ว ไม่มีที่อยู่อาศัยก็พยายามช่วยเหลือให้พักอยู่ในคณะก่อน จนกว่าจะหาที่อยู่โดยลำแข้งได้ นี่แหละเป็นการช่วยเหลือด้วยใจจริงกอร์ปด้วยเมตตาจิต ทำให้อาจารย์นั้น ๆ กลับมาทำงานให้ด้วยความเต็มใจและเต็มความสามารถ ซึ่งเป็นผลดีต่อการศึกษาและต่อประเทศชาติโดยปริยาย

วันหนึ่งขณะที่ข้าพเจ้าไปในห้องของ ดร.สตางค์ ณ ตึกวิทยาศาสตร์การแพทย์เก่าข้างโรงพยาบาลสงฆ์ ข้าพเจ้าได้พบกับเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่เคยมาหาข้าพเจ้า ที่จุฬาฯ มาขอเงินใช้เสมอ ๆ เพราะพ่อของเขาเคยเป็นเพื่อนกับข้าพเจ้าตอนเป็นเด็ก ๆ แต่มาเห็นที่ห้อง Lab ติดกับห้องของ ดร.สตางค์ จึงถามว่ารู้จักเด็กคนนี้ด้วยหรือ ได้รับคำตอบว่าเด็กคนนี้จน จึงช่วยเหลือจ้างให้มาล้างขวดล้างเครื่องแก้วทดลองวิทยาศาสตร์ในห้อง Lab นี่เป็นการแสดงออกมาของความเมตตากรุณาที่มีต่อคนจน คุณธรรมอันดีอย่างหนึ่งของ ดร.สตางค์ ก็คือ ความกตัญญูกตเวทีที่มีต่อผู้มีพระคุณและต่อบรรดาครูอาจารย์ คุณธรรมอันสูงส่งนี้แหละเป็นกรรมดีที่ ดร.สตางค์ ได้สร้างไว้ กุศลกรรมจึงได้บรรดาลให้ผู้ประกอบกรรมดีอันนี้ได้รับความเจริญรุ่งเรืองและลาภยศเห็นทันตา ดร.สตางค์ ได้เลื่อนตำแหน่งหน้าที่ราชการอย่างรวดเร็ว ได้เป็นคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับพระราชทานสายสะพายชั้นประถมาภรณ์ช้างเผือก ได้รับพระราชทานตราทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษในปีนี้

ดร.สตางค์ ได้ดิบได้ดีแค่ไหนก็ไม่เคยลืมตัว ไม่เคยดูถูกดูแคลนผู้อื่น ไม่เคยเย่อหยิ่งอหังการต่อบรรดาครูอาจารย์เก่า ๆ ไม่เคยนึกว่าตัวเองเป็นผู้วิเศษกว่าผู้อื่น ตอนที่มีข่าวครึกโครมในหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เรื่องรับนักศึกษาบางคนเข้าเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกลูก ๆ ของหมอและผู้มีคุณต่อมหาวิทยาลัยและประเทศชาตินั้น ดร.สตางค์ ได้แถลงอย่างตรงไปตรงมาให้บรรดานักศึกษาทราบว่า กระทำไปเพื่อเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณนั้น ข้าพเจ้ารู้สึกซาบซึ้งมากไม่ทราบว่าจะมีใครรู้สึกเช่นเดียวกับข้าพเจ้าบ้าง คงจะมีไม่น้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีความนับถือและเชื่อมั่นในพระพุทธศาสนา ความดีงามอันนี้แหละที่ทำให้ล้นเกล้ากระหม่อมทั้งสองพระองค์ทรงโปรด ผู้ใหญ่ในวงราชการและเพื่อนฝูงรักใคร่ชอบพอ ตลอดจนกระทั่งบรรดาอาจารย์และลูกศิษย์ นักศึกษาในมหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์รักใคร่และเคารพนับถือมาก ...

คัดจากหนังสือ : มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 6 กรกฎาคม 2514. กรุงเทพฯ : กรุงสยามการพิมพ์, 2514.

หมายเหตุ : ใช้ตัวสะกดตามต้นฉบับ