หน้าหลัก > เอกสารและสิ่งพิมพ์ > บทความพิเศษ

อาลัยอาจารย์ "ป๋า" ของพวกเรา

โดย ศาสตราจารย์ นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ

          การสูญเสียบุคคลผู้มีความสำคัญและเป็นกำลังสำคัญต่องานของชาติบ้านเมืองในด้านใดด้านหนึ่ง ในเวลาที่ไม่สมควร ย่อมเป็นสิ่งที่กระทบกระเทือนต่อจิตใจของบุคคลทั่วไปไม่มากก็น้อย การสูญเสียอาจารย์สตางค์ หรือ "ป๋า" ของพวกเรา ซึ่งเป็นผู้ก่อกำเนิดคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ริเริ่มและร่วมจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเป็นผู้ดำเนินการจัดตั้งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตั้งแต่ไม่มีอิฐสักก้อน จึงเป็นการกระทบกระเทือนต่อบุคคลทั่วไป ผู้ที่อยู่ในวงการมหาวิทยาลัยตลอดจนนักศึกษา ย่อมจะเศร้าสลดมากกว่าบุคคลทั่วไป สำหรับพวกเราซึ่งนับได้ว่าเป็นนักศึกษารุ่นแรกของสถาบัน หลังที่อาจารย์ริเริ่มและดำเนินการมาตลอดคือ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แล้ว การสูญเสียครั้งนี้ถือเป็นการสูญเสียทั้งอาจารย์ที่เราบูชาเพราะให้ความรู้พื้นฐานทางวิชาการ ทั้งผู้บังคับบัญชาที่เราเคารพเพราะมีความเข้มแข็งและสามารถในการดำเนินงานเพื่อการศึกษาของชาติ และทั้งผู้ที่พวกเรารัดนับถืออย่างญาติผู้ใหญ่ เพราะอาจารย์มีความเมตตากรุณาต่อพวกเรา ปฏิบัติต่อพวกเราเหมือนลูกหลานตลอดเวลากว่า 13 ปี ที่เราเริ่มเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์มา

          เมื่อ 13 ปีก่อน ซึ่งเป็นเวลาที่เราเริ่มเข้าเรียนเตรียมแพทย์เป็นปีแรกนั้น พวกเรามีด้วยกัน 65 คน มีอาจารย์ "ป๋า" และอาจารย์จบมาใหม่อีก 4 ท่าน เจ้าหน้าที่ทางธุรการอีก 3 คน นั่นคือคณะเราในขณะนั้น อาจารย์เริ่มมาตั้งแต่ยังไม่มีอิฐเลยสักก้อน เราพากันไปอาศัยตึกของคณะอื่นเรียนหลายคณะด้วยกัน เป็นเวลา 1 ปีเต็ม ความลำบากของพวกเราและอาจารย์ทุกท่านมีมากไม่น้อย แต่เรารู้ดีว่าอาจารย์ "ป๋า" ลำบากกว่ามากในระยะเริ่มต้นนั้น ความลำบากและจำนวนคนน้อยทำให้เราเสมือนเเป็นสมาชิกครอบครัวเดียวกัน จากครอบครัวเล็ก ๆ นี่เอง เพียง 14 ปีให้หลังเราเปลี่ยนจาก โรงเรียนเตรียมแพทย์เชียงใหม่ เป็น คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ จนเป็น คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นสถานที่ที่นักศึกษาอยากเข้าเรียนมากที่สุดของประเทศเราก็ว่าได้ และยังมีการสอนวิจัยถึงขั้นปริญญาเอก เป็นสถานที่ซึ่งรัฐบาลต่างประเทศหลายแห่ง เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ปากีสถาน อินเดีน ได้ส่งนักศึกษาบัณฑิตมาเรียนจำนวนมากขึ้นทุกปี เมื่อคิดย้อนหลังแล้วเราภูมิใจในความเจริญของคณะ ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วเราภูมิใจในฝีมือของอาจารย์ "ป๋า" ของเรา เพราะเรียกได้ว่าด้วยฝีมือของอาจารย์แท้ ๆ ที่เราก้าวหน้ามาถึงขั้นระดับนานาชาติได้ในเวลาอันสั้นเช่นนี้ ไม่ใช่แต่เพียงส่งคนของเราไปเรียนต่างประเทศจำนวนมาก แต่เรากำลังช่วยสอนคนจากต่างประเทศที่มาทำปริญญาเอกกับเราด้วย

          ในเวลาเดียวกัน อาจารย์ยังมีบทบาทในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาคทุกแห่งในประเทศไทยของเรา โดยเฉพาะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งอาจารย์เริ่มมาในทำนองเดียวกันกับการปั้นคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ทีเดียว การเดินทางที่อาจารย์เตรียมตัวไปประเทศอังกฤษ ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ก็เพื่อหาทุนมาช่วยโครงการของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์นั่นเอง ที่ผู้เขียนพูดได้เพราะผู้เขียนทราบรายละเอียดเรื่องนี้ ความจริงแล้วขณะที่เขียนนี้ ผู้เขียนเองกำลังจะออกเดินทางใน 3-4 ชั่วโมงนี้ไปสหรัฐอเมริกาเพื่อร่วมการอภิปรายทางวิชาการของการประชุมนานาชาติ โดยที่ผู้เขียนจะเดินทางผ่านทางที่อาจารย์ "ป๋า" จะไปอย่างบังเอิญ อาจารย์ถึงนัดให้ไปพบกันระหว่างเดินทาง และโดยที่ผู้เขียนได้ร่วมเขียนโครงการคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ด้วย ผู้เขียนจึงพอจะทราบว่าอาจารย์ "ป๋า" กำลังติดต่อกับต่างประเทศอย่างไร อาจารย์จึงคิดว่าการพบกันระหว่างทางอาจเป็นประโยชน์ต่อโครงการของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ก็ได้ การติดต่อนั้นอาจารย์ทำเองโดยตลอดและทางต่างประเทศเชื่อถือเป็นการส่วนตัว เมื่ออาจารย์ไม่ไปเองเช่นนี้แล้วความหวังที่จะได้ทุนเหล่านี้ย่อมน้อยลง

          จะเห็นได้ว่าในระยะเวลา 13 ปี ที่อาจารย์เริ่มตั้งคณะนี้มา อาจารย์ไม่ได้เพียงแต่ทำให้คณะเป็นสถาบันการศึกษาและวิจัยระดับนานาชาติเท่านั้น อาจารย์กำลังทำให้อีกหนึ่งมหาวิทยาลัยคือสงขลานครินทร์ดำเนินการไปถึงระดับเดียวกัน น่าเสียดายที่อาจารย์ไม่ได้อยู่เพื่อทำให้ถึงเวลานั้น และไม่ได้อยู่ชื่นชมผลงานของท่าน

          คนเราเกิดมาจะหลีกเลี่ยงความตายไม่ได้ แต่การสูญเสียบุคคลอย่างอาจารย์ในเวลาอันไม่สมควร อาจจะทำให้งานที่ยังค้างอยู่กระทบกระเทือนทุกด้าน ในทางส่วนตัวแล้วย่อมมีผู้เศร้าสลดอย่างสุดซึ้งอยู่มาก ผู้ที่อาจารย์เคยมีบุญคุณมายิ่งมากเท่าใดก็ย่อมมีความกระทบกระเทือนจิตใจมากขึ้นเป็นทวีคูณ

          อาจารย์เป็นผู้ที่เอ็นดูและช่วยเหลือลูกศิษย์มาโดยตลอด สำหรับผู้ที่ขาดแคลนอาจารย์ก็จุนเจือ ลูกศิษย์ที่สำนึกในบุญคุณของอาจารย์ทั้งทางวิชาการและความเมตตากรุณาในด้านต่าง ๆ ในปีหนึ่ง ๆ นั้นมีนับไม่ถ้วน การจากไปของอาจารย์อย่างกระทันหันเช่นนี้ ย่อมทำให้บุคคลเหล่านี้เกิดความเจ็บปวดเกินกว่าที่จะบรรยายเป็นคำพูดได้

พรชัย มาตังคสมบัติ. (2514). อาลัยอาจารย์ "ป๋า" ของพวกเรา. ใน อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ป.ช., ป.ม., ท.จ.
พระนคร : อักษรเจริญทัศน์.