หน้าหลัก > เอกสารและสิ่งพิมพ์ > บทความพิเศษ

คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์

โดย ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข

เนื่องในการที่นักศึกษาได้ร่วมมือกันจัดทำหนังสืออนุสรณ์ ของ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำหรับปี พ.ศ. 2502-3 ขึ้นนี้ ข้าพเจ้าขอถือโอกาสกล่าวถึงความเป็นมาแห่งคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์นี้ให้ทราบพอเป็นสังเขปด้วย

ความคิดที่จะตั้ง คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ขึ้นใน มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ท่านผู้บัญชาการมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ในขณะนั้นคือ ศาสตราจารย์ นายแพทย์เฉลิม พรมมาส ได้มีความตั้งใจมานานแล้ว โดยได้พิจารณาเห็นว่า มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ในขณะนั้นมีนักศึกษาประเภทเตรียมวิทยาศาสตร์ เช่น เตรียมทันตแพทย์ เตรียมเภสัช เตรียมเทคนิคการแพทย์ เตรียมสุขาภิบาล และเตรียมพยาบาลปริญญา ซึ่งมีนักศึกษาจำนวนมาก จึงน่าจะได้รวบรวมให้มาเรียนที่แห่งเดียวกันและจัดตั้งเป็นคณะขึ้น และอีกประการหนึ่ง ท่านผู้บัญชาการมีความคิดที่จะให้คณะนี้ให้การศึกษาทางวิทยาศาสตร์การแพทย์และวิทยาศาสตร์บางสาขา เพื่อให้ผู้ที่สำเร็จมานั้นได้เป็นอาจารย์ต่อไปในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และทำงานด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพราะในปัจจุบันมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ต้องใช้แพทย์ที่สำเร็จออกมาเป็นอาจารย์ในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ขั้น pre-clinical ทั้งนั้น ซึ่งในต่างประเทศในขณะนี้นิยมใช้นักวิทยาศาสตร์ที่ได้ศึกษาวิชานั้น ๆ มาเป็นอาจารย์ทาง pre-clinical มากกว่า เช่น วิชาชีวเคมีก็ใช้ผู้ที่สำเร็จได้ปริญญาทางชีวเคมีเป็นผู้สอน เป็นต้น

ในระยะเริ่มแรกของการจัดตั้งนี้ ประจวบกับทางมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ได้จัดตั้งโรงเรียนแพทย์ขึ้นอีกแห่งที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยร่วมมือกับ องค์การยูซอมของสหรัฐอเมริกา ท่านผู้บัญชาการจึงได้มอบให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ดำเนินการรับนักศึกษาเตรียมแพทย์สำหรับโรงเรียนแพทย์เชียงใหม่ก่อนเป็นจำนวน 65 คน ในปี พ.ศ. 2501 โดยในขั้นแรกนั้นได้อาศัยยืมสถานที่ของโรงเรียนเทคนิคการแพทย์ที่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นสถานที่ศึกษาชั่วคราวและมีชื่อว่า โรงเรียนเตรียมวิทยาศาสตร์การแพทย์

บรรยากาศห้องทดลองที่ตึกเก่า คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่ถนนศรีอยุธยา
(ภาพจาก หนังสืออนุสรณ์วิทยาศาสตร์การแพทย์ พ.ศ. 2504)

ในปี พ.ศ. 2502 การก่อสร้างสถานที่เรียนของโรงเรียนได้เสร็จบางส่วน แต่พอใช้เป็นที่เรียนได้ จึงย้ายมาเรียนที่ตึกเรียนของโรงเรียนที่ถนนศรีอยุธยา พร้อมกับได้รวมเอานักศึกษาเตรียมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในสาขาอื่น ๆ ซึ่งฝากเรียนไว้ชั่วคราวที่คณะเภสัชศาสตร์ มารวมกันไว้ที่โรงเรียนเตรียมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จำนวนนักศึกษาทั้งหมดได้เพิ่มขึ้นเป็น 300 คน ประกอบด้วย เตรียมแพทย์สำหรับโรงเรียนแพทย์เชียงใหม่ เตรียมทันตแพทย์ เตรียมเทคนิคการแพทย์ เตรียมสุขาภิบาล และเตรีมพยาบาลปริญญา สำหรับเตรียมเภสัชศาสตร์ยังคงฝากเรียนไว้กับคณะเภสัชศาสตร์เป็นการชั่วคราว เมื่อใดทางโรงเรียนมีสถานที่พอแล้ว ก็จะโอนมาอยู่ในคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ต่อไป ตามมติของสภามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์

สภามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ได้อนุมัติให้ตั้งเป็น คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2501 มีหน้าที่ให้การศึกษาด้านเตรียมวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ทั้งหมด รวมทั้งอนุมัติให้เปิดหลักสูตรขั้นปริญญาทางวิทยาศาสตร์การแพทย์และวิทยาศาสตร์บางสาขาขึ้นด้วย และได้รับการอนุมัติเป็นที่เรียบร้อยจากสภาการศึกษาแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2502

(จากซ้าย) ศ. นพ.หลวงเฉลิมคัมภีร์เวชช์ (เฉลิม พรมมาส) ผู้บัญชาการมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (พ.ศ. 2488-2500)
ศ. นพ.หลวงพิณพากย์พิทยาเภท (พิณ เมืองแมน) ผู้บัญชาการมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (พ.ศ. 2500-2501)
ศ. นพ.สวัสดิ์ แดงสว่าง ผู้บัญชาการมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (พ.ศ. 2501-2507)

ในการจัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ขึ้นนี้ ท่านผู้บัญชาการมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ทั้งเก่าและใหม่ทั้ง 3 ท่าน คือ ศาสตราจารย์ นายแพทย์เฉลิม พรมมาส ศาสตราจารย์ หลวงพิณพาทย์พิทยาเภท และศาสตราจารย์ นายแพทย์สวัสดิ์ แดงสว่าง ได้เป็นผู้ที่ให้ความสนับสนุนร่วมมือและลงมือดำเนินการเอง ช่วยเหลือข้าพเจ้าเป็นอย่างมาก ซึ่งข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่า งานไม่สามารถจะดำเนินไปได้ถ้าขาดความร่วมมือในการดำเนินงานจากท่านทั้ง 3 นี้

ในเรื่องสถานที่สำหรับจัดสร้างตึกเรียน ข้าพเจ้าขอกราบขอบพระคุณ ฯพณฯท่าน นายกรัฐมนตรี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พลเอกถนอม กิตติขจร พลเอกสุทธิ์ สุทธิสารรณกร พลโทจิตติ นาวีเสถียร ซึ่งได้มองเห็นความสำคัญของการศึกษาและมิจิตใจกว้างขวางเสียสละมอบที่ของกองทหาร ร.1 พัน 2 รอ. ให้ในระยะแรกประมาณ 7 ไร่กว่า เพื่อจัดสร้างตึกเรียนของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ขึ้น

ภาพแบบจำลองกลุ่มอาคารเรียนและทดลองวิทยาศาสตร์หลังใหม่ของ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ถนนพระรามที่ 6
(ได้รับความอนุเคราะห์จาก อาจารย์อมร ศรีวงศ์ สถาปนิกผู้ออกแบบ)

ในด้านงบประมาณ ขอกราบขอบพระคุณท่านผู้อำนวยการ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ คุณสิริ ปกาสิต และเจ้าหน้าที่ที่ได้พิจารณาให้งบประมาณแก่คณะนี้พอดำเนินการไปได้ด้วยดี

ในด้านการดำเนินงานมาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นหนี้บุญคุณอย่างสูงแก่บรรดาอาจารย์ของข้าพเจ้า คือ ศาสตราจารย์ทองศุข พงศทัต ศาสตราจารย์ ดร.บัวเรศ คำทอง ศาสตราจารย์ ดร.คลุ้ม วัชโรบล และคุณหลวงสุขุม นัยประดิษฐ์ ที่ได้ให้คำแนะนำและช่วยเหลือมาจนการงานสำเร็จไปได้ด้วยดี ข้าพเจ้าขอกราบขอบพระคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วย.

สตางค์ มงคลสุข. (2502). คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์. ใน อนุสรณ์คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ พ.ศ. 2502-2503. กรุงเทพ : มงคลการพิมพ์.