หน้าหลัก > เอกสารและสิ่งพิมพ์ > บทความพิเศษ

พระปิยมหาราชกับคณะวิทยาศาสตร์

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยอดหทัย เทพธรานนท์

          "ลื้อต้องไหว้พระปิยะมหาราชทุกคืนนะ"

          อาจารย์สตางค์บอกกับผู้เขียนตอนกลางวันวันหนึ่งของต้นเดือนกันยายน พ.ศ. 2512 ท่านคงจะเห็นว่าผู้เขียน "ดิบ" มากในตอนนั้น เลยหาเรื่องมาสั่งสอนอยู่เสมอ แล้วท่านก็เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นกับตัวท่านเองให้ฟัง
          อาจารย์สตางค์ติดต่อหาทุนช่วยเหลือจากต่างประเทศพร้อมครูบาอาจารย์ เพื่อจะเปิดสอนหลักสูตรแพทย์ "แผนใหม่" โดยวางแผนจัดตั้ง คณะวิทยาศาสตร์และโรงพยาบาลรามาธิบดีขึ้นพร้อม ๆ กัน ที่บริเวณสลัมสะพานเสาวณีย์ แต่ถูกคัดค้านจากทุก ๆ ฝ่าย ว่าโครงการไม่เหมาะสม ในการประชุมซึ่งมี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นเป็นประธาน ก็ไม่มีใครเห็นด้วยกับอาจารย์สตางค์

          "ทุกคนรุมด่าอั๊วว่าจะทำให้หลักสูตรแพทย์พัง มีแต่ไอ้หมอ... พูดช่วยอั๊วอยู่คนเดียว จอมพลสฤษดิ์ก็ไม่ฟัง นั่งหลับตาอยู่เฉย ๆ ..."

          อาจารย์สตางค์เริ่มรู้สึกหมดหวังและปลงตกว่าแผนงานการติดต่อขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศที่ทำมาคงล้มเหลวหมด กำลังนึกถึงอะไรเรื่อยเปื่อยไปก็นึกถึงอนุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราช ซึ่งประดิษฐานอยู่ไม่ห่างจากที่ประชุมนั้นเท่าใดนัก

          "อั๊วก็อธิษฐานขอให้ท่านช่วย ลื้อเชื่อไหม พออธิษฐานเสร็จ จอมพลสฤษดิ์ก็ลืมตาขึ้นมาแล้วพูดว่า นั่งฟังมาตั้งนานไม่เข้าใจเลยว่า อาจารย์สตางค์อุตส่าห์ไปหาความช่วยเหลือจากต่างประเทศมาได้ แต่กลับถูกคัดค้าน แต่จะมานั่งเถียงกันอย่างนี้ทั้งวันก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา ฉะนั้นขอให้ที่ประชุมโหวตกันว่าจะเอาหรือไม่เอา" ผู้อ่านคงเดาผลการโหวตได้เป็นอย่างดี

          ผู้เขียนยังจำท่าทางและคำบอกเล่าของอาจารย์สตางค์ได้ทุกขั้นตอน ซึ่งสนุกและมีข้อปลีกย่อยกว่าที่เขียนไว้ข้างบนมากมาย แต่ผู้เขียนเห็นว่าเหตุการณ์ส่วนใหญ่ รวมทั้งชื่อบุคคลที่อยู่ในที่ประชุมในวันนั้นไม่ควรนำมาบันทึกไว้ในที่นี้ สาเหตุที่ยังจำคำบอกเล่าได้เป็นอย่างดีก็เพราะเป็นการสั่งสอนครั้งสุดท้ายของอาจารย์สตางค์ก่อนที่ผู้เขียนจะไปเรียนต่อเพียงวันเดียว
          อาจเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องที่อาจารย์สตางค์แต่งขึ้นมาเพื่อใช้สั่งสอนผู้เขียนก็ได้แล้วแต่จะคิดกันไป แต่ผู้เขียนก็ไหว้พระปิยมหาราชทุกคืนจากวันนั้นถึงวันนี้

ยอดหทัย เทพธรานนท์. (2531). พระปิยมหาราชกับคณะวิทยาศาสตร์. 30 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 2501-2531. กรุงเทพ : มหาวิทยาลัย.

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยอดหทัย เทพธรานนท์ เป็นลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดกับ “อาจารย์สตางค์” มากที่สุดคนหนึ่ง โดยท่านได้รับคำแนะนำและการสนับสนุนจาก “อาจารย์สตางค์” ในการเดินทางไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ ก่อนจะกลับมาเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาเคมี ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และยังคงมุ่งมั่นทำงานวิจัยตามอย่าง “อาจารย์สตางค์” จนประสบความสำเร็จได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ในปี พ.ศ. 2529