40 ปี คณะวิทยาศาสตร์
อมร ศรีวงศ์
ในการจัดทำหนังสือที่ระลึก 40 ปี คณะวิทยาศาสตร์นี้ ท่านคณบดี ศาสตราจารย์ ดร.พรชัย มาตังคสมบัติ มีหนังสือให้เกียรติข้าพเจ้าร่วมส่งบทความลงด้วยพร้อมเน้นด้วยวาจาให้ ข้าพเจ้ากล่าวถึงผู้ก่อตั้ง ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข เพราะเห็นว่าข้าพเจ้าสนิทสนมกับท่านมาก คณะวิทยาศาสตร์ฯ เดิมมีชื่อว่า คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล เป็นธรรมดาของการก่อตั้ง ยุคบุกเบิกย้อมมีอุปสรรคมาก ปัญหาที่สำคัญคือ การนำนักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์มาทำงานภายใต้กฎระเบียบราชการที่ล้าสมัยและคำนึงถึงระเบียบที่วางไว้เหนือเหตุผลและความถูกต้อง เช่นมีอยู่ครั้งหนึ่ง ท่านอาจารย์สตางค์ ได้ใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวไปจำนวนมากทำรูปเรือหงษ์ด้วยทองคำ (สมัยทองบาทละ ๓๒๐ บาท) เพื่อเป็นของขวัญ ให้ประธานกองทุนมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ที่สหรัฐฯ ผลคือประสบความสำเร็จ ได้รับเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่ามา สองร้อยกว่าล้านบาท พร้อมทั้งลงนามในสัญญามาเรียบร้อย เพื่อเป็นทุนในการซื้อเครื่องมือราคาแพงมาติดตั้ง ในห้องปฏิบัติการต่าง ๆ และเป็นค่าจ้างผู้เชี่ยวชาญและอาจารย์จากต่างประเทศมาช่วยสอนในคณะฯ เนื่องจาก ระยะเริ่มแรกนั้นการหาบุคลากรเป็นเรื่องยากมาก แต่แทนที่จะมีความดีความชอบ กลับถูกเชิญไปเป็นจำเลยใน ครม. ยุคนั้น เพราะที่ทำมาเป็นการปฏิบัติผิดระเบียบราชการ การรับเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศต้องได้รับ อนุมัติจากกรมวิเทศฯ ก่อน และย้ำให้แก้ตัวเสียใหม่ทีหลังอย่าทำอย่างนี้อีก ท่านอาจารย์จึงตอบกลับไปว่า
"ผมจะไม่แก้ตัวอะไรทั้งนั้น เพราะเห็นว่าที่ได้ทำมานั้นถูกต้องที่สุดแล้ว สิ่งที่ควรแก้ไม่ใช่ตัวผม แต่ควรแก้ระเบียบไม่ดีนั่นมากกว่า" ในที่สุดเรื่องก็จบลงด้วยดีโดยไม่มีอะไรต้องแก้ทั้งสิ้น
ข้าพเจ้าเห็นแล้วว่าการทำงานที่เหนื่อยกายนั้นพอทนกันได้ แต่ต้องทนเหนื่อยใจด้วยแล้วหนักหนาจริง ๆ ใครจะไปรู้ล่วงหน้าว่าการไปเจรจาครั้งนั้นจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว ข้าพเจ้าเห็นว่าผู้ร่างกฎระเบียบการปฏิบัติราชการนั้น มองพื้นฐานของข้าราชการทั่วประเทศเป็นคนไม่ดีทั้งสิ้น และด้วยเหตุนี้เองคนดี ๆ จึงทนอยู่ในราชการได้ยาก ลำบากเต็มที
ท่านอาจารย์สตางค์เป็นคนจันทบุรี บ้านเกิดของท่านอยู่ในอ่าวปากน้ำเข็มหนู* สมัยนั้นไปมาลำบากมาก ใช้ถนนสุขุมวิท ขรุขระเป็นหลุมเป็นบ่อตลอดทาง และต้องไปต่อเรือที่ท่าใหม่ จังหวัดระยอง บ้านท่านอยู่ติดทะเลในอ่าวเข็มหนู เป็นบ้านไม้สองชั้นใต้ถุนสูงเวลาน้ำขึ้นท่วมถึง น้ำใสเห็นปูกุ้งมากมาย ภูมิประเทศสวยงามมาก ฝั่งตรงข้ามเป็นทิวเขาเรียก แหลมงอบ บังลมพายุได้ ปากอ่าวมีเกาะชื่อ เกาะสะบ้า ช่วยบังคลื่นลมให้อ่าวอีกชั้นหนึ่ง ผิวน้ำในอ่าวจึงเรียบไม่มีคลื่นเลย เหมือนใครเอากระจกแผ่นมหึมามาวางไว้ เงาสะท้อนทิวทัศน์รอบอ่าวจึงนิ่งเหมือนรูปถ่ายกลับหัว ข้าพเจ้านั่งดูอยู่ที่เฉลียง ชั้นบนหน้าบ้านได้ครั้งละนาน ทิวทัศน์ที่สวยงามอย่างนี้หรือเปล่าหนอที่ช่วยให้เกิดบุคคลที่ดีงามอย่างนั้น
คุณพ่อของอาจารย์สตางค์ อายุประมาณ ๘๐ กว่า ร่างกายแข็งแรงพูดเสียงดัง เห็นเอ็ดอาจารย์ว่า "อ้ายหนมขี้ฟาย (ขี้ควาย) นี่ฉันไม่ชอบเลยแต่แกชอบเอามาให้ฉันเรื่อยฮิ" อาจารย์หัวเราะและมากระซิบให้ข้าพเจ้าฟังว่า "ฟันของพ่อจะหมดปากอยู่แล้ว จึงได้หาของที่รับประทานง่าย ๆ มาให้ ไม่รู้เป็นอะไร พ่อชอบทานแต่อะไรที่มันแข็ง ๆ" ข้าพเจ้าจึงได้ทราบว่าอ้ายขนมขี้ฟายที่ว่านั่นคือขนมเค้กสั่งพิเศษจากโรงแรมเอราวัณนั่นเชียว
ท่านอาจารย์สตางค์เรียกคุณพ่อท่านว่า "เต๊" เรียกคุณแม่ว่า "เมะ" คุณแม่ของท่านเล่าให้ฟังว่าวันที่อาจารย์สตางค์ เกิดนั้นฝนตกอย่างกับฟัารั่ว มีพายุแรง เวลาตกฟากพร้อมกับฟ้าร้องดังกึกก้องและผ่าลงใกล้บ้าน รุ่งเช้าจึงได้ทราบว่า เมื่อคืนช่อฟ้าหน้าโบสถ์หักลงที่วัดใกล้บ้าน พอตกบ่ายสมภารวัดนั้นก็มาเยี่ยมที่บ้านและผูกดวงให้เด็ก กำชับว่าเลี้ยงให้ดี ๆ เด็กคนนี้อนาคตไปไกลและให้ชื่อว่า "สตางค์" แปลว่า "หนึ่งในร้อย" ส่วนดวงนั้นผูกให้เสร็จหลังฟ้าผ่าแล้ว คุณแม่ก็ยังข้องใจว่าทำไมฟ้าต้องผ่าช่อฟ้าด้วย ท่านสมภารก็ว่า "โยมต้องเข้าใจ วัดนี้เก่าแก่เงียบเหงามานาน ทุกสิ่งล้วนอนิจจัง ช่อฟ้าเก่าหักไปจะได้มีโอกาสจัดงานยกช่อฟ้าใหม่ยังไงล่ะ" และเล่าต่อมาว่า
"สมัยนั้น ท่านอาจารย์เป็นเด็กเรียนเก่ง เฉลียวฉลาด หลังจบชั้นประถมและมัธยมต้นที่บ้านเกิด คุณพ่อของอาจารย์จะ ไม่ให้เรียนต่อมัธยมปลายที่กรุงเทพฯ เพราะรายได้จำกัด ทั้งครูทั้งสมภารเลยเดือดร้อนต้องมาอ้อนวอนถึงบ้าน ให้ส่งเรียนและท่านสมภารว่าหากมีปัญหาอะไรที่ท่านช่วยได้ท่านยินดีและจะดีใจมากหากท่านได้มีโอกาสร่วม ในการส่งเสียค่าเล่าเรียนของเด็ก แต่ถ้าไม่รับปากท่านสมภารจะนั่งอยู่อย่างนี้ไม่กลับวัดแน่ ๆ"
จนในที่สุดคุณพ่อ ของอาจารย์สตางค์ก็ยอมแพ้ แต่จะไม่รบกวนใครทั้งนั้น จะกัดฟันส่งเรียนด้วยตัวเองให้ได้ ท่านสมภารไม่มีรายได้อะไร จะปล่อยให้ช่วยรับภาระได้อย่างไร ต่อจากนั้นเด็กชายสตางค์ก็ได้มีโอกาสเข้ากรุงเทพฯ และสอบเข้ามัธยมปลายที่โรงเรียนสวนกุหลาบ รุ่นติด ๆ กับ พลเอกเปรม รัฐบุรุษนั่นแหละครับ.
* น่าจะหมายถึง บริเวณปากน้ำแขมหนู ต.บางกะไชย อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี
อมร ศรีวงศ์. (2541). 40 ปี คณะวิทยาศาสตร์. ใน 40 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 2501-2541. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัย.
อมร ศรีวงศ์ สถาปนิกผู้ออกแบบอาคารเรียนรวม หรือ ตึกกลม และกลุ่มอาคารเรียนและทดลองวิทยาศาสตร์ ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีผลงานการออกแบบอาคารที่มีชื่อเสียงมากมาย อาทิ ตึกฟักทอง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตึกคณะพาณิชยศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฯลฯ โดย ตึกกลม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับเลือกเป็นอาคารอนุรักษ์ฯ ของสมาคมสถาปนิกสยาม เมื่อปี พ.ศ. 2553