ชีวิตที่มีค่าของศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข
หม่อมหลวงอนงค์ นิลอุบล
ข้าพเจ้าได้รับการขอร้องให้เขียนเรื่องราวและบรรยายความรู้สึกในการสูญเสีย ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคสุข ในฐานะที่เป็นผู้ประกอบวิชาอาชีพทางด้านวิทยาศาสตร์เช่นเดียวกัน และเป็นศิษย์ร่วมอาจารย์กันด้วย ข้าพเจ้าเต็มใจที่จะเขียนเรื่องนี้โดยปราศจากความลังเล ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แก่ใจดีว่าข้าพเจ้ามิใช่นักเขียน และถึงแม้จะเขียนได้ก็เขียนแบบนักวิทยาศาสตร์ เต็มไปด้วยความจริงและขาดสำนวนไพเราะเพราะพริ้งโดยสิ้นเชิง
ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข เป็นศิษยเก่าจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นบัณฑิตวิทยาศาสตร์รุ่นที่ 8 ข้าพเจ้าเป็นบัณฑิตรุ่นที่ 5 แต่ถึงอย่างไรก็เห็นหน้าเห็นหลังกันอยู่ไว ๆ มีความใกล้ชิดสนิทสนมกันทั้งในรั้วและนอกรั้วสีชมภู ทุกครั้งที่มีกิจกรรมในมหาวิทยาลัย ในงานพบปะสังสรร งานสัมมนาทางวิทยาศาสตร์ และ
งานอื่น ๆ ซึ่งมิสามารถกล่าวให้ครบถ้วนได้ รวมความได้ว่าในระยะหลังนี้ข้าพเจ้าได้พบปะคุ้นเคยกับ ดร.สตางค์ ยิ่งกว่าเพื่อร่วมชั้นกันเสียอีก
ประวัติของ ดร.สตางค์ ทางด้านการศึกษา ดร.สตางค์ สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 8 จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ.2482 ได้เข้าศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต (เคมี) เมื่อปี พ.ศ.2485 และได้รับปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตพร้อมกับ คุณยาใจ รุทระกาญจน์ ในปี พ.ศ.2489 ต่อจากนั้นได้เดินทางไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ โดยทุนบริติชเคาน์ซิล ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตทางวิชาอินทรีย์เคมีจากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๓ และได้ทำการวิจัย Post Doctoral อีก 1 ปี ที่มหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล งานวิจัยที่ ดร.สตางค์ ทำนั้น ส่วนใหญ่เกี่ยวกับสมุนไพรและปฏิชีวนะ งานวิจัยในเรื่องต่าง ๆ ได้ทำการตีพิมพ์เพื่อเผยแพร่ในวารสารทางวิทยาศาสตร์ของประเทศอังกฤษ เช่นเรื่อง มะเกลือ ปวกหาด ปฏิชีวนะ ฯลฯ
ความชำนาญพิเศษคือ อินทรีย์เคมีและอุตสาหกรรมเคมี และในปี พ.ศ.2511 ดร.สตางค์ ได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิติมศักดิ์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะทำงานก้าวหน้ามีชื่อเสียงดีเด่น ทำคุณประโยชน์ให้แก่มหาวิทยาลัยและประเทศชาติในด้านพัฒนาระดับอุดมศึกษาเป็นอย่างดียิ่ง
ในด้านราชการ ดร.สตางค์ เคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ หัวหน้าแผนกวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งหมือนกับคณะเตรียมแพทย์เมื่อสมัย 25 ปีก่อนโน้น ผลิตนิสิตเตรียมแพทย์สำหรับป้อนมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ศิริราช และเชียงใหม่
ในปัจจุบัน ดร.สตางค์ ดำรงตำแหน่งคณบดี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งผลิตนิสิตเตรียมแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลรามาธิบดีและโรงพยาบาลศิรราช เป็นอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่น 7 เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับครั้งสุดท้าย คือ ทุติยจุลจอมเกล้า
เกียรติและงานสำคัญที่ ดร.สตางค์ เคยปฏิบัติทั้งในประเทศและต่างประเทศนั้นคือ
1. เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ดังที่กล่าวมาแล้ว และเป็นกรรมการช่วยก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภามหาวิทยาลัยขอนแก่นและเชียงใหม่ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในวงการศึกษาหลายแห่ง รวมทั้งกรรมการสาขาเคมีและเภสัช สภาวิจัยแห่งชาติด้วย
2. ดำเนินการติดต่อขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ เพื่อขยายงานของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ในด้าน Basic Sciences ได้รับการช่วยเหลือมากมายทั้งในด้านการเงิน อาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ ทุนการศึกษา หนังสือ วารสาร และอุปกรณ์ทดลองวิทยาศาสตร์ ด้านความช่วยเหลือของมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์นี้ มีระยะไม่ต่ำกว่า 10 ปี
3. ดำเนินการติดต่อขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลอังกฤษ เกี่ยวกับอาจารย์และทุน ได้รับอาจารย์จากประเทศอังกฤษมาช่วยเหลือในด้านการสอน หลักสูตร และพร้อมทั้งเครื่องมือวิทยาศาสตร์ด้วยมากอย่าง
4. ดำเนินการขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลออสเตรเลีย ได้รับทุนการช่วยเหลือเกี่ยวกับด้านทุนการศึกษาภายใต้แผนการโคลัมโบหลายสิบทุน พร้อมทั้งเครื่องมือทางด้านวิทยาศาสตร์เป็นมูลค่า 500,000 บาท
5. ดำเนินการวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัย Massachusette Institute of Technology (M.I.T) ทางด้านวิชาจุลชีววิทยาและเคมี โดยได้รับทุนช่วยเหลือทางด้านผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือ โดยเฉพาะเงินทุนสำหรับใช้จ่ายในการวิจัยนั้นได้รับเป็นเงินประมาณ 15 ล้านบาท ในระยะเวลา 3 ปี
6. ดำเนินการเจรจาด้วยความสามารถทำให้ คุณหญิงอรรถกระวีสุนทร (หลง) มารดาของ นางเฉลิมสุนทรการ (แสนสุข) เสียสละด้วยศรัทธาอันสูงส่งในการศึกษา บริจาคที่ดินส่วนตัวที่เป็นสวนยางที่ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เนื้อที่เกือบ 700 ไร่ ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งโปรดพระราชทานให้เป็นที่ตั้งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์อยู่ ณ บัดนี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์นี้ประกอบด้วย 3 คณะ คณะศึกษาศาสตร์อยู่ที่ปัตตานี คณะวิศวกรรมศาสตร์อยู่ที่สงขลา และคณะวิทยาศาสตร์ นิสิตคณะวิทยาศาสตร์ยังคงเรียนอยู่ที่กรุงเทพ กำหนดว่า เมื่อการก่อสร้างอาคารเรียนและหอพักนิสิตเสร็จสมบูรณ์จึงจะย้ายไปหมด คาดว่าจะกระทำพิธีเปิดได้ในเดือนตุลาคมศกนี้ โดยจะกราบทูลขอพระราชทานอัญเชิญเสด็จพระราชดำเนินไปที่สงขลา การจัดทำภาพสีและรูปปั้นของคุณหญิงอรรถกระวีสุนทร (หลง) เพื่อนำไปประดิษฐานสำหรับรำลึกถึงความมีกุศลจิตของท่าน ก็กำลังดำเนินอยู่การ
7. เป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งที่ให้ความร่วมมือและประสานงานกับโครงการใหญ่ของรัฐบาลโครงการหนึ่งที่เรียกว่า โครงการพัฒนามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย อันเป็นแผนส่งเสริมการศึกษาของชาติระดับอุดมศึกษาให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้าในทางเศรษฐกิจและสังคมยิ่งขึ้น
8. เป็นผู้แทนไทยร่วมกับ ศาสตราจารย์ ดร.แถบ นีละนิธิ และ ดร.จ่าง รัตนะรัต ไปในงานฉลองครบ 75 ปี ของ American Chemical Society ที่อเมริกา พ.ศ.2494
ดร.สตางค์ มีพี่ชาย 1 คน เป็นบุตรของนายแจ้งและนางไน้ มงคลสุข มีอาชีพเป็นชาวสวน อยู่ในจังหวัดจันทบุรี ทั้งคุณพ่อคุณแม่ยังมีชีวิตอยู่ ภริยาของ ดร.สตางค์ คือ คุณยุพิน (เบญจกาญจน์) มงคลสุข มีบุตร 4 คน หญิง 3 ชาย 1 คือ มธุรส, ศศพินธุ์, วีนิตา และศกรณ์ สามคนหลังยังอยู่ในวัยศึกษา บุตรสามคนอยู่ในต่างประเทศ คือยู่อเมริกา 2 คน ในอังกฤษ 1 คน
เมื่อครั้งที่ ดร.สตางค์ ศึกษาอยู่ในจุฬาลกรณ์มหาวิทยาลัย มีเพื่อนร่วมรุ่น 10 คน คือ
1. นายยิ่ง วัชรคุปต์ (กรมพัฒนาที่ดิน)
2. นางเฉลิมศรี วัชรคุปต์ (กรมกสิกรรม)
3. น.ท.ประชุม นรเศรษฐ์โสภณ (องค์การแก้ว)
4. นางยาใจ รุทระกาญจน์ (โรงเรียนชาญวิทย์พิทยาลัย)
5. นายศักดิ์ วิริยานนท์ (โรงงานยาสูบ)
6. นางประทุม โดษยะนันท์ (ถึงแก่กรรม)
7. นส.จินดา ชลารักษ์ (ถึงแก่กรรม)
8. พ.ต.ต.อำนวย ตันประเสริฐ (ถึงแก่กรรม)
9. นายทวี วรรธนาคม (ถึงแก่กรรม)
10. ดร.สตางค์ มงคลสุข (ถึงแก่กรรม)
ในการที่จะมองคุณงามความดีของบุคคลนั้น ย่อมจะละเว้นเสียมิได้ที่จะกล่าวถึงประวัติการศึกษา การรับราชการ ผลงานอื่น ๆ ตลอดจนความประพฤติและการปฏิบัติตนต่อเพื่อนฝูง ผู้บังคับบัญชา ครูอาจารย์ บิดามารดา ญาติพี่น้อง สำหรับความรู้ความสามารถ การปฏิบัติงานของ ดร.สตางค์ นั้น เป็นที่ยกย่องสรรเสริญยิ่งนัก ไม่มีข้อบกพร่องด่างพร้อย สุดที่จะหาคำใด ๆ มากล่าวให้สาสมกับความตั้งใจไม่
ในด้านการปฏิบัติต่อเพื่อนฝูง เพื่อนร่วมชั้นเล่าให้ฟังว่า ดร.สตางค์ เมื่อครั้งยังเรียนหนังสืออยู่จุฬานั้น ขยันมาก ไม่ใคร่เล่นหัวซุกซนเหมือนเพื่อนคนอื่น ๆ เอาแต่เรียน แต่เวลาเข้าผู้หลักผู้ใหญ่เก่งมาก ผู้ใหญ่มักมีเมตตาจิตต่อ ดร.สตางค์ พูดอะไรมักเป็นที่เชื่อถือ บุคลิกลักษณะอันนี้เองที่ทำให้การเจรจากับชาวต่างประเทศมักเป็นที่เชื่อถือและให้ผลดี ดร.สตางค์ ประสพความสำเร็จก้าวหน้า เป็นใหญ่เป็นโตในทางหน้าที่การงานอย่างรวดเร็วและอย่างอิจฉา ทำให้เพื่อนฝูงตามไม่ทัน แต่กระนั้นก็ตาม เพื่อนฝูงก็หาได้อิจฉาหรือเกลียดชังไม่ กลับรักใคร่ภาคภูมิใจที่มีเพื่อนมีหน้ามีตา ต่างได้พึ่งพาอาศัย ได้ความช่วยเหลือของ ดร.สตางค์ แนะนำในเรื่องการศึกษาเล่าเรียนของบุตรหลาน ฝากบุตรของเพื่อน ๆ ให้เข้าเรียน มีการจัดชั้นพิเศษ คล้าย ๆ มัธยม 8 ไว้รับลูกหลานของเพื่อนที่สอบตก เข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ กวดวิชาให้พลาง ๆ เพื่อเรียนรอไว้เข้ามหาวิทยาลัยปีหน้า มิต้องให้อยู่เฉย ๆ โดยเปล่าประโยชน์
ในด้านความเป็นศิษย์ต่ออาจารย์ ดร.สตางค์ มีอาจารย์ทางวิทยาศาสตร์หลายท่านรวมกับข้าพเจ้า ที่จำได้ไม่เคยลืมก็มี ศาสตราจารย์ ดร.แถบ นีละนิธิ ศาสตราจารย์ทองศุข พงศ์ทัต และศาสตราจารย์ ดร.บัวเรศ คำทอง อาจารย์ทุกคนรัก ดร.สตางค์ อย่าง ศาสตราจารย์ แถบ เวลาจะยกตัวอย่างให้ศิษย์รุ่นหลังฟังถึงความเรียนเก่ง ท่านมักยกตัวอย่าง ดร.สตางค์ อยู่บ่อย ๆ อาจารย์ทองศุขเล่าให้ข้าพเจ้าฟังด้วยท่าทางอันหม่นหมองว่า ดร.สตางค์ เป็นศิษย์ที่ให้ความพากภูมิใจเป็นที่สุด และกระบวนความกตัญญูกตเวทีก็ไม่มีใครสู้ ดร.สตางค์ รักวิชาเคมีมากที่สุดในบรรดาวิชาวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย ฝีมือในการวิเคราะห์ถูกต้อง แน่นอน แม้ในปัจจุบันนี้จะมีงานทางด้านการจัดกิจการและการปกครองมากล้นก็ตาม แต่ก็อุตส่าห์เจียนเวลาไปเลกเชอร์วิชาอินทรีย์เคมีแก่นิสิตคณะวิทยาศาสตร์ ปีที่ 1 และปีที่ 2 เกือบไม่เว้นวัน
สำหรับ ศาสตราจารย์ ดร.บัวเรศ คำทอง ท่านกล่าวว่า แม้ในขณะนี้ท่านได้รับตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แทน ดร.สตางค์ แล้วก็ตาม แต่ก็หามีกะใจที่จะตื่นเต้นดีใจไม่ เพราะความเศร้าโศกเสียดาย ดร.สตางค์ นั้นมีท่วมท้นยิ่งกว่า ดร.สตางค์ เป็นคนซื่อ คิดอย่างไรก็พูดอย่างนั้น จิตต์ใจดีมีเมตตากรุณากับทุกคนทุกชั้น มีความรักใคร่และสัมพันธ์ติดต่อกับอาจารย์โดยใกล้ชิดและสม่ำเสมอ เมื่อคราวที่ ดร.สตางค์ ไปศึกษาทำปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษนั้น บริติชเคาน์ซิลฝากให้ที่วิทยาลัยเล็ก ๆ คือ Leicester College ซึ่งเป็นสาขาของ London University แต่ ดร.สตางค์ ไม่ใคร่ชอบ ศาสตราจารย์ ดร.บัวเรศ จึงเขียนจดหมายฝากฝังไปที่มหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล และอาจารย์ที่ลิเวอร์พูลได้มารับ ดร.สตางค์ ไปเรียนที่ลิเวอร์พูลทันที ดร.สตางค์ เรียนเก่ง ทำชื่อเสียงไว้มาก อาจารย์ที่ลิเวอร์พูลเขียนจดหมายชมเชยกับศาสตราจารย์ ดร.บัวเรศ เสมอ ทั้งนี้เป็นผลให้การติดต่อฝากฝังนักเรียนเข้าเรียนที่ลิเวอร์พูลได้ง่ายมากในระยะหลัง ๆ และ ดร.สตางค์ ก็เป็นผู้ฝากฝังให้เข้าเล่าเรียนได้ ณ สถานที่นั้นอีกหลายราย และมีการติดต่อเป็นอย่างดีตราบจนทุกวันนี้
ด้านความเป็นอยู่นั้นเล่า ดร.สตางค์ ย่อมได้ชื่อว่าเป็นอภิชาตบุตร ความเศร้าโศกเสียใจของท่านบิดาและมารดานั้นสุดจะหาอะไรมาวัดได้ เพราะท่านเคยมีความสุขเมื่อพูดถึงลูกชายคนนี้ และมีแต่ความพากภูมิใจอยู่เนื่องนิจ มีแต่นำชื่อเสียงและเกียรติยศอันสูงเด่นมาสู่วงศ์ตระกูล "มงคลสุข"
ดร.สตางค์เป็นคนรักความก้าวหน้า บากบั่น ชอบทำประโยชน์ เห็นการศึกษาเป็นใหญ่ พูดจริงทำจริง มีความเมตตากรุณามาก ลูกศิษย์รักใคร่นับถือ เคยขอทุนช่วยเหลือเด็กยากจนบ่อย ๆ ออกปากเรี่ยไรบอกบุญกับเพื่อน ๆ ญาติมิตรก็มี บางวันมีลูกศิษย์ไปขอสตางค์ใช้บ้างก็ขอค่ารับประทานอาหารกลางวัน บ้างก็ขอค่ารถ ได้รับความรบกวนบ่อย ๆ สำหรับผู้ที่เข้าไปขอความช่วยเหลือแล้ว น้อยครั้งที่จะได้รับความผิดหวัง มักได้รับความช่วยเหลือไม่มากก็น้อยทุกราย
ในด้านความเป็นหัวหน้าครอบครัว ดร.สตางค์ ให้ความรัก ให้การศึกษาแก่บุตรอย่างดีเยี่ยม บุตรสามคนกำลังศึกษาในต่างประเทศ บุตรสาวคนโตกำลังทำปริญญาเอก คนที่สองเรียนที่แคลิฟอร์เนีย คนที่สามเรียนที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ในกรุงเทพ คนที่สี่เรียนในประเทศอังกฤษ ในระยะที่บุตรทั้งสามทราบว่า ดร.สตางค์ และคุณยุพิน กำลังจะเดินทางไปต่างประเทศเพื่อเจรจาขอทุนช่วยเหลือเพิ่มเติมเกี่ยวกับการพัฒนามหาวิทยาลัย แล้วจะเลยแวะเยี่ยมลูก ๆ ลูกทั้งสามต่างตั้งตารอคอยวันที่บิดามารดาจะไปเยี่ยม แต่แล้วเหตุการณ์ก็กลับกลายไป คือลูก ๆ ถูกเรียกกลับกรุงเทพโดยปัจจุบันทันด่วน
พูดถึงความตาย ไม่เป็นสิ่งที่ใคร ๆ จะเลือกได้ ว่าจะตายโดยวิธีใด ฉนั้นก็เป็นเรื่องธรรมดาเสียเหลือเกินว่า ความตายนั้นเป็นความแน่แท้เหนือสิ่งใด แต่ไฉนเล่ามัจจุราชจึงมาเลือกเจาะจงแต่ชีวิตบุคคลที่มีประโยชน์และมีค่าเช่นนี้
ในวงการวิทยาศาสตร์และวงการศึกษาอาจกล่าวได้ว่าเป็นความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง ดร.สตางค์ เกิดเมื่อปีมะแม วันที่ 15 กรกฎาคม 2462 และถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2514 อายุ 52 ปีบริบูรณ์ อายุอานามขนาดนี้ยังทำประโยชน์แก่ประเทศชาติได้อีกมากมายนัก แม้แต่ในระยะเวลาที่ก่อนถึงแก่กรรมสัก 2 วัน ก็เป็นระยะเวลาที่จะต้องเดินทางไปเจรจาเพื่อขอความช่วยเหลือเพิ่มเติม มูลค่า 90 ล้านบาท จากอังกฤษ ญี่ปุ่น และอเมริกา เพื่อนำมาพัฒนาสองมหาวิทยาลัย คือ มหิดล และ สงขลานครินทร์ สำหรับมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งตั้งมาช้านานแล้ว เรายังเคยได้ยินเขาบ่นกันเสมอ ๆ ว่า ขาดอาจารย์ ขาดเครื่องมือ ขาดตำรา ขาดงบประมาณ และอะไรต่อมิอะไร ก็ลองคิดดูเถอะว่ามหาวิทยาลัยที่จะก่อตั้งใหม่ ๆ จะมีปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นมากมายสักแค่ไหน ก็เป็นคุณงามความดีและความพยายามอย่างยิ่งยวดของ ดร.สตางค์ ที่จะเอาชนะปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้
อนงค์ นิลอุบล. (2514). ชีวิตที่มีค่าของศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข. ใน ชุมนุมจุฬา ฉบับวันจุฬาลงกรณ์ 22 ตุลาคม 2514. กรุงเทพ : มงคลการพิมพ์.
คุณหญิง มล.อนงค์ นิลอุบล ผู้ได้รับสมญานามว่า มารดาเอ็นจีโอของเมืองไทย สืบเชื้อสายมาจากราชสกุลสายพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 และเป็นศิษย์เก่าดีเด่นคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นบัณฑิตสตรีทางวิทยาศาสตร์รุ่นแรก ที่สำเร็จปริญญาโททาง Organic Chemistry จากมหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์ สหรัฐอเมริกา