สถาบันวิทยาศาสตร์การวิเคราะห์และตรวจสารในการกีฬา
สถาบันวิทยาศาสตร์การวิเคราะห์และตรวจสารในการกีฬา (Analytical Science and National Doping Test Institute) มีฐานะเทียบเท่าคณะหนึ่งของมหาวิทยาลัยมหิดล จัดตั้งขึ้นตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนพิเศษ 172 ง ลงวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 เพื่อสนับสนุนพันธกิจของมหาวิทยาลัยมหิดล ทางด้านบริการวิชาการ การวิจัย และการศึกษา ยังคงมี ศูนย์ตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬา (ศูนย์โด๊ป) เป็นส่วนงานหลักของสถาบันฯ และในปี 2565 ได้เปิดรับนักศึกษาระดับปริญญาโท "หลักสูตรวิทยาศาสตร์การวิเคราะห์และการตรวจในการกีฬา" ของมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นรุ่นแรก เพื่อรองรับปัญหาเร่งด่วนในการขาดแคลนบุคลากรในสาขาดังกล่าว
ความเป็นมาของสถาบันฯ เริ่มต้นจากการจัดตั้ง “ศูนย์ตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬา (National Doping Control Centre : NDCC)” โดยมีพันธกิจหลักในการตรวจวิเคราะห์สารต้องห้ามในนักกีฬา ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 112 ตอนที่ 48ก ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538 สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2533 ที่ประชุมใหญ่ของสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (Olympic Council of Asia: OCA) มีมติให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 ในปี พ.ศ. 2541 คณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย จึงแต่ตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาจัดตั้งศูนย์ตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬา เพื่อเตรียมจัดตั้งห้องปฏิบัติการโดยพิจารณาด้านการจัดหางบประมาณ การกำหนดสถาบันรับรอง และควบคุมการจัดตั้งให้ดำเนินการตามขั้นตอนและระยะเวลาที่กำหนด
วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ พิจารณาจัดตั้งศูนย์ตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬา มีมติเห็นชอบให้จัดตั้งศูนย์ตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬา และมีความเห็นว่าควรจัดตั้งในมหาวิทยาลัย เพื่อจะได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการและบุคลากร แต่ด้านหารบริหารให้มีลักษณะเป็นศูนย์แห่งชาติ ไม่เป็นของมหาวิทยาลัยใดโดยเฉพาะ และให้มหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมคือ มหาวิทยาลัยมหิดล และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำข้อเสนอมาให้พิจารณา วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2537 คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ มีมติให้มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นที่ตั้งของ ศูนย์ตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬาแห่งชาติ โดยมหาวิทยาลัยมหิดลแต่งตั้งให้ ศ. ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ และ รศ. ดร.ธงธวัช อนุคระหานนท์ เป็นผู้แทนรับผิดชอบในการจัดทำรายละเอียดการจัดตั้งศูนย์ฯ ร่วมกับการกีฬาแห่งประเทศไทย
วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2537 สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) มีหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เห็นชอบให้จัดตั้งศูนย์ตรวจสอบสารห้องห้ามในนักกีฬา เป็นหน่วยงานระดับคณะขึ้นตรงต่อมหาวิทยาลัยมหิดล โดยเป็นโครงการร่วมกันระหว่างการกีฬาแห่งประเทศไทยและ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อหน่วยงานมีความพร้อมควรเปลี่ยนให้เป็นรูปแบบองค์กรอิสระในลักษณะเชิงพาณิชย์
โครงการดังกล่าวดำเนินการอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนกระทั่งมีพิธีเปิดอาคารสำนักงานและเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 ซึ่งมีภาระกิจในการตรวจหาสารต้องห้ามในนักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 ที่กรุงเทพมหานคร (วันที่ 6-20 ธันวาคม พ.ศ. 2541) และจะเป็นหน่วยงานถาวรรับผิดชอบการตรวจหาสารต้องห้ามในนักกีฬาและการตรวจวิเคราะห์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยมีอาคารสำนักงานตั้งอยู่ภายในคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถนนพระรามที่ 6
ศูนย์ตรวจสอบสารห้องห้ามในนักกีฬา ดำเนินการเรื่อยมาจนกระทั่ง พ.ศ. 2561 ได้ยกสถานะขึ้นเป็น “สถาบันวิทยาศาสตร์การวิเคราะห์และตรวจสารในการกีฬา” ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนพิเศษ 172 ง ลงวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2561
เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ศูนย์ตรวจสอบฯ จำเป็นต้องพักการดำเนินการชั่วคราว เพื่อปรับปรุงให้เป็นไปตามมาตรฐานขององค์กรต่อต้านสารต้องห้ามโลก (World Anti-Doping Agency) หรือ วาดา (WADA) หลังจากที่ได้ทำหน้าที่ในฐานะหน่วยงานของชาติ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬาระดับโลกมานานนับ 2 ทศวรรษ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหน่วยงานผู้กำกับดูแล วางระบบการบริหารจัดการที่รองรับความเสี่ยงครอบคลุมในทุกด้าน รวมทั้งงบประมาณสำรองที่เพียงพอ ทำให้ไม่ต้องพึ่งพางบประมาณจากส่วนกลางของมหาวิทยาลัยมหิดล จนกระทั่ง WADA ได้อนุมัติให้กลับมาดำเนินการอีกครั้ง โดยจะมีภารกิจสำคัญคือการตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขัน ซีเกมส์ 2022 ณ ประเทศเวียดนาม ในฐานะที่เป็นศูนย์ตรวจสอบสารต้องห้ามที่ได้มาตรฐานระดับโลกเพียงแห่งเดียวในภูมิภาคอาเซียน
บทบาทหลักของศูนย์ตรวจสอบฯ คือ การตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬาให้ได้ตามมาตรฐานของ WADA ในขณะที่รูปแบบของการใช้สารต้องห้ามที่ตรวจพบในนักกีฬาระดับโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีให้เท่าทัน ซึ่งในการนี้จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องมีการพัฒนาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญไว้รองรับ ด้วยประสบการณ์ในการกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมาของศูนย์ฯ จึงมั่นใจได้ถึงความพร้อมที่จะให้การสนับสนุนองค์ความรู้ในการจัดตั้ง หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การวิเคราะห์ (หลักสูตรนานาชาติ) ของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในปี 2565
ปัจจุบัน ดร.สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานคณะกรรมการอำนวยการศูนย์ตรวจสารต้องห้ามในนักกีฬา สถาบันวิทยาศาสตร์การวิเคราะห์และตรวจสารในการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล และ รองศาสตราจารย์ ดร.สิริพงษ์ ฐิตะมาดี ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์การวิเคราะห์และตรวจสารในการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล
- ที่มา : ประวัติความเป็นมา สถาบันวิทยาศาสตร์การวิเคราะห์และตรวจสารในการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล. [สืบค้นเมื่อ 4 ธันวาคม 2566]
- ม.มหิดล เชื่อมั่น "ศูนย์โด๊ป" พร้อมพิสูจน์ศักยภาพหลัง WADA ไฟเขียว. (2564). [สืบค้นเมื่อ 4 ธันวาคม 2566]
- หนังสือที่ระลึกพิธีเปิดศูนย์ตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬา 28 พฤศจิกายน 2541.
ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล