หน้าหลัก > เอกสารและสิ่งพิมพ์ > บทความพิเศษ

ชีวิตที่สมบูรณ์พร้อม ด้วยความรัก ความสุข และความสำเร็จของ
ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน
คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2542-2546, 2547-2550

มีไม่กี่คนในโลกนี้ ที่จะได้พบกับความสมบูรณ์พร้อม ทั้งความรัก ความสุข และความสำเร็จในชีวิตทุกด้าน เหมือนศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน ที่ใช้ความดีงามความสามารถ ความมุ่งมั่น และความเสียสละอดทน สร้างชีวิต สร้างสิ่งดี ๆ ให้กับโลกและคนรอบข้าง และยึดครองความเป็นหนึ่งในดวงใจของทุกคนตลอดมา

ชีวิตในวัยเยาว์

ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน เกิดเมื่อ พ.ศ. 2491 เป็นบุตรของ ศ.อมร และคุณหญิงระเบียบ ภูมิรัตน มีพี่น้อง 5 คน เติบโตขึ้นมาด้วยความรักใคร่ปรองดอง ภายใต้การอบรมเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแม่ ที่สอนให้ลูก ๆ ทุกคน รู้จักอดทนกับความยากลำบาก ไม่รักแต่ความสะดวกสบาย รักการเรียน และรู้จักการสร้างตนเองด้วยความสุจริต โดยคุณพ่อคุณแม่จะให้ความรักและให้โอกาสในการศึกษาแก่ลูก ๆ ทุกคนเสมอกัน

การศึกษา

ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ เริ่มเข้าเรียนชั้นประถมที่ โรงเรียนปวโรฬารวิทยา ชั้นมัธยมต้นที่โรงเรียนมัธยมสาธิต มศว. ประสานมิตร และชั้นมัธยมปลายที่ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพฯ ตามลำดับ

ด้วยความที่คุณพ่อ (ศาสตราจารย์อมร ภูมิรัตน) เป็นผู้ที่เห็นความสำคัญของการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง และต้องการเปิดโอกาสให้ลูก ๆ มีอิสระในการเลือกเรียนให้ได้สูงที่สุดในสาขาวิชาที่ต้องการ ในมหาวิทยาลัยที่แต่ละคนเลือกเอง จึงได้ส่งลูก ๆ ทุกคนไปศึกษาต่อต่างประเทศ ด้วยทุนส่วนตัว ตั้งแต่ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย โดยตั้งใจให้ทุกคนได้เรียนจนจบถึงปริญาเอก

ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ จึงได้ไปศึกษาต่อจนจบชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนมัธยมแห่งเมือง เชาซิลล่า มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และเข้าเรียนปริญญาตรีสาขา Bacteriology ที่ University of California, Davis และสำเร็จการศึกษา ในปี พ.ศ. 2513 จากนั้นได้เข้าเรียนต่อในหลักสูตรปริญญาเอก สาขา Microbiology ที่ Michigan State University และจบปริญญาเอกในปี พ.ศ. 2517 เมื่ออายุได้ 26 ปี การเดินทางไปศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศ ตั้งแต่อายุยังน้อยจนกระทั่งจบปริญญาเอก ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อความผูกพันในชีวิตครอบครัว และความผูกพันต่อสังคมไทยของศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ และพี่น้องทั้งสี่ เพราะคุณพ่อคุณแม่จะส่งจดหมายถึงลูก ๆ อย่างสม่ำเสมอและไปเยี่ยมเยียนเมื่อมีโอกาส เพื่ออบรมสั่งสอนให้ลูกเป็นคนดีและตั้งใจศึกษาเล่าเรียนเพื่อกลับมารับใช้ประเทศชาติ

ชีวิตครอบครัว

ขณะกำลังเรียนปริญญาเอก ที่ Michigan State University ในปี พ.ศ. 2514 ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน ได้พบรักกับคุณนิตยาภรณ์ สุมาวงศ์ หรือหนูนิต (ธิดาของคุณพระมนูเวทย์ วิมลนาท และคุณสำอางค์ สุมาวงศ์) ซึ่งกำลังศึกษาระดับปริญญาโทด้านการศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยเดียวกัน เมื่อสำเร็จการศึกษาและกลับสู่ประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2517 ดร.อมเรศ ภูมิรัตน และคุณนิตยาภรณ์ สุมาวงศ์ จึงได้เข้าสู่พิธีมงคลสมรส โดยจัดพิธีหมั้นที่บ้านเจ้าสาว และจัดพิธีรดน้ำตลอดจนงานเลี้ยงฉลองพิธีมงคลสมรสที่โรงแรมนารายณ์ในวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2517 ท่ามกลางความยินดีของคุณพ่อคุณแม่และญาติพี่น้องทั้งสองฝ่าย

ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ และคุณนิตยาภรณ์ มีธิดา 1 คน คือ นางสาวนภัทร ภูมิรัตน หรือน้องนิ้ง ซึ่งเป็นชื่อเล่นที่ ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน ตั้งให้

ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ เป็นคนที่รักครอบครัวมาก จะคอยดูแลเอาใจใส่คุณพ่อ คุณแม่ ภรรยา และลูกอย่างดีที่สุดตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โดยพยายามจัดสรรเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ทุกด้านได้อย่างสมบูรณ์ทั้งงานในหน้าที่ งานเพื่อสังคม และงานในฐานะลูก สามี และพ่อที่ดี ชีวิตครอบครัวของ ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ จึงเต็มไปด้วยความรักและความอบอุ่น ซึ่งนับเป็นพลังและกำลังใจสำคัญที่ทำให้ ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ สามารถปฏิบัติภาระหน้าที่ในความรับผิดชอบทุกประการได้อย่างเต็มที่และอย่างมีความสุข


การทำงาน

หลังจากเรียนจบปริญญาเอก ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน เดินทางกลับประเทศไทยในปี พ.ศ. 2517 และเนื่องจากเคยได้รับการชักชวนจาก Professor Dr. William Sawyer และ ศาสตราจารย์ ดร.พรชัย มาตังคสมบัติ ตั้งแต่สมัยที่ยังเรียนปริญญาเอกอยู่ ให้กลับมาทำงานที่คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ จึงเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 จนถึงปี พ.ศ. 2532 และย้ายมาสังกัดภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 จนถึงปัจจุบัน

ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน เป็นผู้มีความมุ่งมั่น ที่จะดำเนินการต่าง ๆ ให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้จนประสบความสำเร็จ ทั้งด้านการศึกษา การทำงาน และชีวิตครอบครัว ในด้านการทำงานนั้น ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศให้ความสำคัญกับทั้งงานสอนและงานวิจัย โดยพยายามเตรียมการสอนอย่างดี และให้เวลากับนักศึกษาอย่างเต็มที่ ในการดูแลให้คำแนะนำด้านการทำวิจัยเพื่อวิทยานิพนธ์ลูกศิษย์ทุกคนของอาจารย์จึงรักและศรัทธาในตัวท่านอาจารย์อย่างยิ่ง ในขณะเดียวกันก็พยายามตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการต่างประเทศ และพยายามนำผลงานวิจัยไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรของประเทศ โดยมีผลงานและความสำเร็จของคุณพ่อ ศาสตราจารย์อมร ภูมิรัตน ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นแรงบันดาลใจ

ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน ผลิตผลงานวิชาการคุณภาพออกมาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ โดยเป็นที่ปรึกษาของนักศึกษาบัณฑิตปริญญาโท-เอก จำนวน 20 คน มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในตำราและวารสารระดับนานาชาติจำนวน 74 เรื่อง และสามารถเลื่อนตำแหน่งวิชาการในระดับต่าง ๆ ได้ตามกำหนดเวลาที่ควร คือ เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ได้ในเวลาเพียงไม่ถึง 3 ปี หลังเข้ารับราชการ (พ.ศ. 2519) เป็นรองศาสตราจารย์ในเวลา 5 ปีต่อมา (พ.ศ. 2524)ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์สาขาจุลชีววิทยาในปี พ.ศ.2533 และศาสตราจารย์ระดับ 11 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของข้าราชการประจำ ในปี พ.ศ. 2544



ผลงานการเรียนการสอนและการวิจัยที่มีคุณภาพนอกจากจะทำให้ ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน ได้ก้าวไปตามเส้นทางวิชาชีพของอาจารย์นักวิจัยในมหาวิทยาลัยจนถึงจุดสูงสุดในเวลาที่รวดเร็วแล้ว ยังทำให้ ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ได้รับรางวัลและการเชิดชูเกียรติมากมาย อาทิ

  • - รางวัลโครงการวิจัยดีเด่น จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2530
  • - รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาทั่วไป ซึ่งเป็นสาขาที่ผู้ได้รับรางวัลต้องมีผลงานดีเด่นทั้งด้านการเรียน การสอน การวิจัย การเขียนตำราและสิ่งประดิษฐ์ ในปี พ.ศ. 2534
  • - รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2535 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์
  • - ได้รับเชิญเป็นเมธีวิจัยอาวุโส ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ประจำปี พ.ศ. 2540
  • - ได้รับเชิญเป็นศาสตราจารย์อาคันตุกะ ณ มหาวิทยาลัยโอซาก้าประเทศญี่ปุ่น พ.ศ. 2540
  • - และได้รับเชิญเป็นที่ปรึกษา International Foundation for Science ตั้งแต่ พ.ศ. 2535-ปัจจุบัน



ต้อนรับ Professor Yuan T. Lee นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลสาขาเคมี ประจำปี ค.ศ. 1986
ในการบรรยายพิเศษที่คณะวิทยาศาสตร์

งานวิจัยและการบริการวิชาการสู่สังคม

ผลงานวิจัยของ ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ จำแนกได้เป็นสองกลุ่มหลัก คือ กลุ่มแรกเป็นด้านการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์เพื่อควบคุมหนอนแมลงศัตรูพืชและพาหะนำโรคผลงานหลักได้แก่การศึกษาแบคทีเรียชนิด Bacillus thuringiensis ที่มีฤทธิ์ฆ่าหนอนแมลงศัตรูพืชและลูกน้ำยุงซึ่งเป็นพาหะนำโรค ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศได้ศึกษาคุณสมบัติของแบคทีเรียชนิดนี้ครอบคลุมทั้งคุณสมบัติด้านสรีรวิทยาของแบคทีเรีย วิธีการเพาะเลี้ยงให้แบคทีเรียสร้างผลึกสารพิษอย่างมีประสิทธิภาพ การปรับปรุงสายพันธุ์แบคทีเรีย Bacillus thuringiensis ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยการถ่ายทอดยีนระหว่างสายพันธุ์โดยขบวนการคอนจูเกชัน และการปรับปรุงสายพันธุ์โดยเทคนิคทางพันธุวิศวกรรม การศึกษาการผลิต Bacillus thuringiensis ในระดับกึ่งอุตสาหกรรมโดยอาหารเลี้ยงราคาถูกที่ได้พัฒนาขึ้น และการพัฒนาสูตรสำเร็จที่เหมาะสมของแบคทีเรียชนิดนี้ จึงทำให้สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ไปสู่ภาคเอกชน คือบริษัท ทีเอฟไอ กรีนไบโอเทค จำกัด ซึ่งปัจจุบันมีการผลิตในระดับอุตสาหกรรม การขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ และจำหน่ายในท้องตลาดแล้ว นับได้ว่าความมุ่งมั่นทำงานวิจัยเกี่ยวกับแบคทีเรียชนิดนี้อย่างต่อเนื่องของศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ได้ประสบผลสำเร็จสมบูรณ์ เป็นแบบอย่างที่ดี และมีนัยสำคัญต่อนักวิจัยรุ่นหลังเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ยังทำงานวิจัยเพื่อพัฒนาเชื้อราแมลงเพื่อการควบคุมหนอนแมลงศัตรูพืช ได้แก่ เชื้อรา Nomuraea rileyi ซึ่งเป็นเชื้อราแมลงที่สามารถแยกได้จากพืชผักชนิด หน่อไม้ฝรั่ง ถั่วชนิดต่าง ๆในประเทศไทย Nomuraea rileyi เป็นเชื้อที่สามารถควบคุมหนอนผีเสื้อในพืชผักเศรษฐกิจได้ตามธรรมชาติ จึงสามารถนำมาคัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสมเพื่อนำมาพัฒนาสูตรสำเร็จที่เหมาะสม ในการใช้ควบคุมหนอนแมลงศัตรูพืชร่วมกับ Bacillus thuringiensis เพื่อให้การควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธีมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและยั่งยืน

ผลงานวิจัยที่สำคัญกลุ่มที่สอง คือการใช้ประโยชน์จากเชื้อรา Aspergillus oryzae โดยการแยกเชื้อราต่าง ๆ จากหัวเชื้อซีอิ๊วในประเทศไทย แล้วดำเนินการศึกษาคุณสมบัติของเชื้อราที่คัดกรองไว้ได้อย่างครอบคลุมทุกด้าน ที่สำคัญได้แก่การเพาะเลี้ยงหัวเชื้อ Aspergillus oryzae อย่างบริสุทธิ์ การผลิตเอนไซม์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการหมักถั่วเหลืองจากเชื้อราชนิดนี้ จนกระทั่งสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตซีอิ๊วไปยังอุตสาหกรรมขนาดย่อมของประเทศไทยได้เป็นผลสำเร็จ โดยผ่านกระบวนการฝึกอบรมและการบริการ (Quality Control and Training Center : QCTC-Soy Sauce) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก Carl Duisberg Gesellschaft (CDG) ประเทศเยอรมนี และจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย การดำเนินงานอย่างจริงจังของ ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ได้ช่วยให้อุตสาหกรรมการผผลิตอาหารหมักจากถั่วเหลืองของไทยมีเทคโนโลยีที่เหมาะสม และพัฒนาไปในทิศทางที่ถูกต้อง และยั่งยืน


งานบริหาร

ในด้านงานบริหาร ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน เป็นนักวิชาการที่มีความสามารถด้านการบริหารเป็นยอด และมีวิสัยทัศน์กว้างไกล ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งใด จะพยายามสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อองค์กรและต่อประเทศ โดยมีประวัติการดำรงตำแหน่งบริหาร ดังนี้

- เป็นผู้ร่วมริเริ่มก่อตั้งภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ และดำรงตำแหน่งรักษาการหัวหน้าภาควิชาฯ ในปี พ.ศ. 2532
- เป็นผู้ร่วมริเริ่มและเป็นผู้อำนวยการโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของมหาวิทยาลัยมหิดล ปี พ.ศ. 2532-2534
- เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งและได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งประเทศไทยคนแรก พ.ศ. 2533-2537
- เป็นรองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์ฯ ปี พ.ศ. 2534-2538 และเป็นรองคณบดีฝ่ายกิจกรรมทั้งหมด ศาลายา คณะวิทยาศาสตร์ฯ ปี พ.ศ. 2538-2540 ในสมัยที่ ศาสตราจารย์ ดร.พรชัย มาตังคสมบัติ ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ในวาระที่ 1 และ 2 ตามลำดับ
- เป็นคณบดีคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ในวาระแรก ปี พ.ศ. 2542-2546
- เป็นประธานที่ประชุมคณบดีวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ปี พ.ศ. 2542-2544
- เป็นรองอธิการบดี และรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาวิชาการและวิชาชีพ มหาวิทยาลัยมหิดล ปี พ.ศ. 2546-2547 ในสมัยที่ ศาสตราจารย์ ดร.พรชัย มาตังคสมบัติ ดำรงตำแหน่งอธิการบดีในวาระที่ 2
- เป็นคณบดี คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ในวาระที่ 2 ปี พ.ศ. 2547-2550
- เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล ปี พ.ศ. 2542-2546 และ 2547-2550
- เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ปี พ.ศ. 2543-2545
- เป็นผู้อำนวยการศูนย์ประยุกต์และบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ปี พ.ศ. 2547-2550



ร่วมประชุมคณบดีคณะวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543

บทบาทหน้าที่ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ประยุกต์และบริการวิชาการ

ในระหว่างปี พ.ศ. 2547-2550 นอกเหนือจากการดำรงตำแหน่งคณบดีคณะวิทยาศาสตร์แล้ว ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน ยังได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ประยุกต์และบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดลอีกตำแหน่งหนึ่ง ด้วยมีความประสงค์จะผลักดันผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน จึงเข้ารับตำแหน่งดังกล่าวด้วยความมุ่งมั่น

แต่เดิมมา ศูนย์ประยุกต์ฯจะมีภาระหน้าที่ในด้านการบริการวิชาการ และการดำเนินงานเพื่อคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัยฯ เป็นหลัก เมื่อ ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการ เพื่อให้การบริหารทรัพย์สินทางปัญญาของศูนย์ประยุกต์ฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงได้ปรับโครงสร้างองค์กรของศูนย์ประยุกต์ฯ โดยแบ่งการบริหารงานให้ชัดเจน เป็นงานบริการวิชาการและงานบริหารทรัพย์สินทางปัญญา และเน้นการสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการนำผลงานทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ ตามความเหมาะสม ที่สำคัญได้สนับสนุนให้เกิดการวิจัยและพัฒนาร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยฯและภาคเอกชน ทั้งการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างเทคโนโลยี และการพัฒนาเพื่อสร้างบุคลากร โดยจัดให้มีเวทีให้นักวิจัยของมหาวิทยาลัยฯ ได้พบกับภาคเอกชน เรียกว่า Investor Forum และสนับสนุนให้ภาคเอกชนให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาของมหาวิทยาลัยฯ ในสาขาที่เป็นที่ต้องการของเอกชน ซึ่งเมื่อนักศึกษาจบการศึกษาแล้ว จะได้เข้าทำงานในองค์กรนั้น และในปี พ.ศ. 2548 ได้จัดตั้งหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ซึ่งมีแนวคิดที่จะสนับสนุนให้นักศึกษาส่วนหนึ่ง ที่นอกเหนือจากจะเรียนพื้นฐานทางวิชาการสาขาต่างๆ แล้ว ให้ได้รับความรู้ในการประกอบธุรกิจ จนสามารถนำไปประกอบอาชีพเองได้ภายหลังจากจบการศึกษาแล้ว หากไม่ต้องการที่จะศึกษาต่อหรือเป็นนักวิจัย หรือประกอบอาชีพตามสาขาที่เรียนมา

ผลงานสำคัญและเป็นที่กล่าวถึงอย่างชื่นชมจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เป็นอย่างมาก คือการที่มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการจัดตั้ง บริษัทร่วมทุน สตางค์ จำกัด ขึ้น เพื่อเป็นกลไกหนึ่งในการนำนวตกรรมของมหาวิทยาลัยออกสู่เชิงพาณิชย์ โดยมีศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ เป็นหนึ่งในผู้ร่วมริเริ่มคนสำคัญ ที่ผลักดันให้เกิดการจัดตั้งบริษัทฯ จนกลายเป็นต้นแบบให้สถาบันการศึกษาหลายแห่งมีดำริที่จะจัดตั้งบริษัท Holding Company ขึ้นเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยมหิดล


การบริหารงานที่คณะวิทยาศาสตร์ในฐานะคณบดี

แม้ ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน จะรักและมีความสุขกับการเป็นนักวิจัย และอาจารย์มักจะบอกกับใครต่อใครอยู่เสมอว่า “ผมไม่ชอบทำงานบริหารและไม่ชอบการเมือง” แต่เมื่อได้รับการสรรหาและการขอร้องให้รับตำแหน่งคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ทั้งสองสมัยอาจารย์ก็ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ และแรงสมองอย่างเต็มที่ เพื่อพัฒนาคณะวิทยาศาสตร์ให้เจริญก้าวหน้า ทั้งทางด้านการเรียน การสอน การวิจัย และการบริการวิชาการ ขอยกตัวอย่างคุณลักษณะพิเศษ และผลงานการบริหารที่น่าประทับใจของ ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ พอสังเขป ดังนี้

เป็นคณบดีที่ยินดีรับฟังข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นจากทุกคน รวมทั้งยินดีให้คำปรึกษา แนะนำ และช่วยเหลือทุกคน ไม่ว่าจะเป็นรองคณบดี คณาจารย์ บุคลากร หรือนักศึกษา อาจารย์มีความเป็นกันเอง ยิ้มแย้ม แจ่มใส และดูแลเอาใจใส่ทุกคนให้สามารถทำงานและใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขในคณะวิทยาศาสตร์ โดยอาจารย์จะเดินไปทานอาหารที่โรงอาหาร เมื่อว่างจากการประชุม เพื่อรับฟังเรื่องราวต่าง ๆ เปิด Meet the Dean online บน Intranet ของคณะฯ และประตูห้องทำงานของอาจารย์จะเปิดต้อนรับทุกคนเสมอตั้งแต่เช้าจรดค่ำ

เป็นนักบริหารที่เยี่ยมยอด โดยสามารถแจกจ่ายงานไปยังผู้ที่เหมาะสม และคอยติดตาม ช่วยเหลือ ดูแล จนงานสำเร็จเรียบร้อย พร้อมด้วยคำขอบคุณคำชมเพราะๆ หรือการพาไปเลี้ยงฉลองความสำเร็จ ทุกคนที่ได้รับมอบหมายงานจะไม่ต้องทำงานอยู่เดียวดาย เพราะอาจารย์จะคอยมาสอดส่องดูแล ให้คำปรึกษาเมื่อต้องการ คอยส่งกำลังบำรุง ตลอดจนเสบียงอาหารให้ผู้ทำงานเสมอ

เป็นนักพูดที่เยี่ยมยอด ไม่ว่าจะต้องไปพูดที่ไหน ในโอกาสใดอาจารย์จะเตรียมข้อมูลล่วงหน้า เพื่อให้ครอบคลุมประเด็นสำคัญ และบุคคลสำคัญที่ควรกล่าวถึงในโอกาสนั้นๆ แขกของคณะฯทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ตลอดจนนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลที่มาเยี่ยมเยือนคณะฯ จึงล้วนกลับไปด้วยความประทับใจยิ่ง



ร่วมกิจกรรมรดน้ำขอพรคณาจารย์อาวุโสในเทศกาลสงกรานต์


เป็นนักประชาสัมพันธ์ตัวยง อาจารย์จะไม่เคยปฏิเสธสื่อมวลชนไม่ว่าแขนงใด ที่มาขอสัมภาษณ์ ขอทำข่าว หรือขอข้อมูล เพราะเป็นโอกาสที่จะใช้ประชาสัมพันธ์คณะฯ และกิจกรรมต่าง ๆ ของคณะฯ สู่สาธารณชน ชาวคณะวิทยาศาสตร์ฯ จึงมักได้เห็นภาพศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน ปรากฏตัวอยู่ทางจอทีวี หนังสือพิมพ์ ฉบับต่าง ๆ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ตลอดจนได้ยินเสียงนุ่ม ๆ ที่คุ้นหูทางสถานีวิทยุรายการต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ

เข้าร่วมกิจกรรมทุกประเภทที่เป็นกิจกรรมของคณะฯ และภาควิชา รวมทั้งกิจกรรมที่ได้รับเชิญโดยบุคลากร และนักศึกษา แม้บางครั้งจะเป็นกิจกรรมที่อาจารย์ไม่ถนัด แต่หากเป็นคำขอร้องจากบุคลากรหรือรองคณบดีฝ่ายต่าง ๆ อาจารย์ก็จะทำตามอย่างว่าง่าย เพราะอาจารย์ทราบดีว่า การให้ความสำคัญ ความร่วมมือ และความใส่ใจจากผู้บริหาร เป็นกำลังใจและแรงผลักดันสูงสุดแก่ผู้ทำงาน

เป็นนักบริหารเชิงรุก ถึงแม้จะมีงานประจำที่มากมายอยู่แล้ว แต่อาจารย์ก็ยังมีเวลาคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ สิ่งใหม่ๆ ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อคณะฯ และบุคลากรของคณะฯ อย่างต่อเนื่อง อาทิ การของบประมาณสร้างอาคารใหม่ทั้ง 3 หลัง (อาคารปฏิบัติการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาคารเลี้ยงสัตว์ทดลอง และอาคารชีวภาพการแพทย์ ในวงเงิน 226 ล้านบาท) เพื่อการเรียนการสอน การวิจัย และสร้างเสริมสุขภาพของชาวคณะฯ การจัดสรรงบประมาณและเงินรายได้ ตาม output ของภาควิชา/หน่วยงาน เพื่อกระตุ้นการตีพิมพ์ผลงานวิจัยและการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน การผลักดันผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ โดยความร่วมมือกับศูนย์ประยุกต์และบริการวิชาการ ซึ่งมีสาขาตั้งอยู่ในบริเวณคณะฯ การจัดสรรทุนส่งเสริมการวิจัยรูปแบบใหม่ ๆ สำหรับอาจารย์รุ่นใหม่ และรุ่นกลางเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับออกไปแข่งขันชิงทุนใหญ่ระดับชาติและนานาชาติ ริเริ่มทุนวิจัยองค์กรสำหรับส่งเสริมให้บุคลากรทุกหน่วยงานสามารถสร้างสรรค์งานวิจัยจากงานประจำ เพื่อร่วมพัฒนาคณะฯ การผลักดันให้มีระบบ Adjunct Staff การจัดตั้ง Center of Excellence เพื่อผลักดันให้เกิดกลุ่มวิจัย Multidisciplinary รูปแบบต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ถึง 10 ศูนย์ การจัดตั้ง International Service Unit (ISU) เพื่อส่งเสริมความเป็นนานาชาติ และให้บริการชาวต่างประเทศอย่างครบวงจร การจัดกิจกรรม Science Café เพื่อสร้างเสริมบรรยากาศวิชาการ และส่งเสริมความร่วมมือในการวิจัยข้ามกลุ่ม การจัด Cultural Exchange Activity เพื่อแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรม และสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างบุคลากรและชาวต่างประเทศ การพัฒนาสิ่งแวดล้อมของคณะฯให้สวยงามน่าอยู่ เพื่อสุขภาพกาย-ใจ ของชาวคณะวิทยาศาสตร์ การจัดทำสวนวิทยาศาสตร์ Bio-Geo path, Nobel path และสวนนกเงือก ตลอดจนการจัดกิจกรรมถนนสายวิทยาศาสตร์ เพื่อให้บริการวิชาการและเสริมสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ให้แก่ประชาชน และอื่น ๆ อีกมากมาย ภาระงานของคณบดี (และรองคณบดีทั้งหลายในทีมของอาจารย์) ตลอดจนภาระงานของคณาจารย์/บุคลากรในคณะฯ ทุกคน จึงเพิ่มพูนขึ้นตามลำดับ แต่ความสำเร็จของงานที่ติดตามมาและผลงานที่เป็นไปตามเป้าหมายไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เงินรายได้สมทบของคณะฯ ที่เพิ่มขึ้นตามลำดับ ในขณะที่การใช้จ่ายเงินเพื่อการพัฒนาคณะฯ ในด้านต่าง ๆ ไม่ได้ลดลง จำนวนผลงานวิจัยตีพิมพ์ของคณะฯ ในวารสารวิชาการนานาชาติ ที่อยู่ในฐานข้อมูลสากลที่เพิ่มขึ้นทุกปีจนถึงกว่า 300 เรื่องในปี 2007 จำนวนบุคลากรของคณะฯที่ได้รับรางวัลเกียรติยศระดับชาติ และนานาชาติ ที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการพัฒนาการเรียนการสอนทุกระดับของคณะฯ ที่มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จนทำให้คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการจัดอันดับโดย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ให้เป็นคณะวิทยาศาสตร์อันดับหนึ่งของประเทศ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ก็จัด Rating ให้คณะวิทยาศาสตร์ฯ อยู่ในอันดับต้น ๆ เช่นเดียวกัน ล้วนทำให้อาจารย์และพวกเราชาวคณะวิทยาศาสตร์ทั้งหลายมีความภาคภูมิใจ จนลืมความเหนื่อยยากทั้งหมด



รับพระราชทานรางวัลมหิดล สาขาทั่วไป ประจำปี พ.ศ. 2534
จากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร


การทำงานภายใต้การบริหารของ ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน ตลอดระยะเวลา 7 ปี แม้จะทำให้ชาวคณะวิทยาศาสตร์หลายคนมีงานมากขึ้น หลายคนต้องขวนขวาย พัฒนาและเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และหลายคนต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ แต่ทุกคนก็เต็มไปด้วยความสุข สุขใจที่ได้ทำงานในบรรยากาศที่สร้างสรรค์ สิ่งแวดล้อมที่สวยงาม สุขใจกับความสำเร็จของงานและของคณะฯ อันเป็นที่รัก เหนือสิ่งอื่นใดตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน นอกจากจะแสดงให้ทุกคนเห็นถึงความสามารถในด้านการบริหารจัดการและวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลแล้ว ยังแสดงให้ทุกคนเห็นถึงความดีงามในจิตใจ ความเป็นสุภาพบุรุษ ความเมตตาเอื้ออาทร ความมุ่งมั่นอดทน และความเสียสละอย่างใหญ่หลวง ที่คนคนหนึ่งจะพึงมีให้กับองค์กรและประเทศชาติ ทำให้บุคลากรทุกฝ่าย ทุกระดับมีความรัก ความชื่นชม ความเชื่อมั่น และความศรัทธาในตัวศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน เป็นอย่างยิ่ง บรรยากาศแห่งการทำงานที่เปี่ยมไปด้วยความสุข ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา ตลอดจนสิ่งดีงามที่ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ได้สร้างสมไว้ จะประทับอยู่ในความทรงจำของชาวคณะวิทยาศาสตร์เสมอ และท่านอาจารย์จะคงความเป็นคณบดีในดวงใจของชาวคณะวิทยาศาสตร์ตลอดไป

ที่มาข้อมูล :
ชีวิตที่สมบูรณ์พร้อม. (2551). ใน ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน์ : สุภาพบุรุษผู้สร้าง ผู้ให้ และผู้เป็นที่รัก. (หน้า 174-192). กรุงเทพฯ : คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.

ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล