หน้าหลัก > เอกสารและสิ่งพิมพ์ > บทความพิเศษ

การขยายงานด้านการศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์

ภายในเวลาประมาณหนึ่งปี คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์จะย้ายไปอยู่ที่สถานที่ใหม่ ซึ่งขณะนี้กำลังทำการก่อสร้างอยู่ ณ ที่ดินหน้ากรมทางหลวงแผ่นดิน

ในบริเวณที่ดินประมาณ 105 ไร่ หน้ากรมทางหลวงแผ่นดินนี้ประกอบด้วยสถาบันใหญ่ 3 สถาบัน คือ

1. องค์การ ส.ป.อ. ใช้ที่ดินประมาณ 23 ไร่ ขณะนี้กำลังทำการก่อสร้างอยู่ริมถนนศรีอยุธยา

2. คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ อยู่ถัดจาก ส.ป.อ. มีเนื้อที่บริเวณประมาณ 50 ไร่ ขณะนี้กำลังทำการก่อสร้างตึกทดลองวิทยาศาสตร์อยู่ตามรูปจำลองที่เห็นนี้

3. คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี อยู่ถัดจากคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ไป มีเนื้อที่บริเวณประมาณ 40 ไร่ เช่นเดียวกัน ขณะนี้กำลังทำการก่อสร้างตัวตึกโรงพยาบาลอยู่ เพื่อรับนักศึกษาแพทย์จากคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้ทันในปี พ.ศ. 2512

การศึกษา

การศึกษาในคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์แบ่งออกเป็นพวกใหญ่ ๆ คือ

1. การศึกษาขั้นวิทยาศาสตร์มูลฐาน (Basic Sciences) เป็นระยะเวลาเพียง 2 ปี สำหรับนักศึกษาวิทยาศาสตร์การแพทย์ (ซึ่งจะไปเรียนแพทย์ปีที่ 3-4-5-6 ต่อที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อได้สอบผ่านชั้นปีที่ 2 แล้ว) นักศึกษาเตรียมทันตแพทย์ นักศึกษาเตรียมเภสัชศาสตร์ นักศึกษาเตรียมเทคนิคการแพทย์ นักศึกษาสาธารณสุขศาสตร์ และนักศึกษาพยาบาลปริญญา การศึกษาขั้นสองปีนี้ เป็นการศึกษาให้รากฐานทางด้านวิทยาศาสตร์มูลฐานเป็นส่วนใหญ่

2. การศึกษาวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ (Pure Sciences) เพื่อรับปริญญาตรีในวิชาวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์การแพทย์ เช่น ปริญญาตรีในวิชาอินทรีย์เคมี ชีวะเคมี กายวิภาคศาสตร์ ซึ่งมีระยะเวลาสำหรับศึกษา 4 ปี จบการศึกษาแล้วจะได้รับปริญญา วท.บ. (B.Sc.) ในสาขาวิชาที่ศึกษา การรับนักศึกษาพวกนี้รับจากนักศึกษาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งสำเร็จการศึกษาปีที่ 2 แล้ว แต่ไม่มีความประสงค์จะไปศึกษาวิชาแพทย์ต่อไป

3. การศึกษาวิทยาศาสตร์การแพทย์ (Medical Sciences) เพื่อรับปริญญาตรี (B.Sc.) ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำหรับนักศึกษาพวกนี้ก็เป็นนักศึกษาพวกวิทยาศาสตร์การแพทย์นั่นเอง ซึ่งมีจำนวนประมาณปีละ 190 คน

ภายหลังจากผ่านการสอบไล่ปีที่ 2 ของคณะฯ เสร็จแล้ว ทางคณะฯ จะใช้วิธีเลือกตามใจสมัครเป็นจำนวนประมาณ 64 คน เพื่อเข้าศึกษาปีที่ 3-4 ในหลักสูตรวิทยาศาสตร์การแพทย์ตามโครงการช่วยเหลือร่วมกับมูลนิธิร๊อคกี้เฟลเลอร์ การศึกษาในปีที่ 3-4 ของพวกนี้ ส่วนมากเหมือนของนักศึกษาปีที่ 3-4 ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชและคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาฯ แต่การสอนตลอดจนเครื่องไม้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์นั้น ทางมูลนิธิร๊อคกี้เฟลเลอร์จะเป็นผู้ช่วยให้ทั้งสิ้น นักศึกษาพวกนี้ควรจะต้องมีความรู้ภาษาอังกฤษดีด้วย เพราะมีการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษมาก

หลังจากจบการศึกษา 4 ปี ที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตามโครงการใหม่นี้แล้ว นักศึกษาจะได้รับปริญญา วท.บ. (B.Sc. in Medical Science) และนักศึกษาส่วนมากก็จะต้องไปศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ (Clinical Science) ต่อปี 2 ปี ที่คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี แต่เฉพาะผู้ที่มีการศึกษาดีมากประมาณไม่เกิน 10 คน ทางคณะฯ ร่วมกับมูลนิธิร๊อคกี้เฟลเลอร์จะให้ทุนการวิจัยเพื่อปริญญาโทและเอกในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแทพย์ ต่าง ๆ ที่ตนถนัด และหลังจากจบการศึกษาชั้นปริญญาโทหรือเอกแล้ว ถ้าเจ้าตัวยังมีความประสงค์จะศึกษาวิชาแพทย์ที่คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดียังมีสิทธิจะศึกษาได้ตามในสมัคร หลังจากจบการศึกษาแพทยศาสตร์ที่คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดีเป็นเวลา 2 ปีแล้ว จะได้รับปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิต พ.บ. (M.D.)

ฉะนั้น การศึกษาที่ศึกษาวิชาแพทย์ตามโครงการใหม่นี้จะได้รับปริญญาสองปริญญา วท.บ. (B.Sc.) ชั้นหนึ่งก่อน หลังจากจบการศึกษาปีที่ 4 จากคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้วและจะได้รับปริญญา M.D. อีกปริญญาหนึ่ง เมื่อจบการศึกษา ปีที่ 2 จากคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดีแล้ว

เพื่อให้เข้าใจได้ง่าย ข้าพเจ้าขอแสดงแผนผังสำหรับการศึกษาในคณะ ดังนี้

1. วิทยาศาสตร์การแพทย์ (ประมาณ 190 คน)

  1. 1.1. พวกที่เรียนแพทย์ตามโครงการใหม่ (64 คน) 4 ปีแรก เรียนที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รับปริญญา วท.บ., B.Sc. และ 2 ปี หลังที่คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี ได้รับปริญญา พ.บ.
  2. 1.2. พวกที่เรียนแพทย์ตามแบบเดิม 2 ปีแรก เรียนที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ 4 ปี หลังเรียนที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชฯ และคณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาฯ ได้รับปริญญา พ.บ.
  3. 1.3. พวกที่เรียนทางวิทยาศาสตร์ เช่น เคมี ฯลฯ 2 ปีแรก เรียนที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2 ปี หลังเรียนที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รับปริญญา วท.บ.

2. เตรียมเภสัชศาสตร์ (ประมาณ 120 คน) 2 ปีแรก เรียนที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ 3 ปี หลัง เรียนที่คณะเภสัชศาสตร์ ได้รับปริญญา ภ.บ.

3. เตรียมทันตแพทยศาสตร์ (ประมาณ 80 คน) 2 ปีแรก เรียนที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ 4 ปี หลัง เรียนที่คณะทันตแพทยศาสตร์ ได้รับปริญญา ท.บ.

4. เตรียมเทคนิคการแพทย์ (ประมาณ 60 คน) 2 ปีแรก เรียนที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2 ปี หลัง เรียนที่คณะเทคนิคการแพทย์ ได้รับปริญญา วท.บ. (เทคนิคการแพทย์)

5. เตรียมสุขาภิบาลฯ (ประมาณ 60 คน) 2 ปีแรก เรียนที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2 ปี หลัง เรียนที่คณะสาธารณสุขศาสตร์ ได้รับปริญญา วท.บ.

6. เตรียมพยาบาลปริญญา (ประมาณ 30 คน) 2 ปีแรก เรียนที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2 ปี หลัง เรียนที่ศิริราชพยาบาล ได้รับปริญญา วท.บ. (พยาบาล)



ศ. ดร.สตางค์ มงคลสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ส่งลูกศิษย์ไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ
(ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์)

จุดมุ่งหมายในการศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์

1. ผลิตนักศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์การแพทย์ เทียมกับต่างประเทศได้ ให้มีมาตรฐานพอทัด โดยเฉพาะในวิชาวิทยาศาสตร์ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการพัฒนาประเทศในวงการอุตสาหกรรม

2. ผลิตนักศึกษาทางด้าน Basic Sciences เพื่อเป็นอาจารย์ในโรงเรียนแพทย์ หรือในมหาวิทยาลัยต่อไปในภายหน้า

3. ทำการวิจัย ทางคณะฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทุกคนและนักศึกษาร่วมกันทำการวิจัย และถือว่าการวิจัยนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการดำเนินงานของคณะฯ ต่อไป

การช่วยเหลือของมูลนิธิร๊อคกี้เฟลเลอร์

1. การช่วยเหลือด้านอาจารย์ ทางมูลนิธิจะจัดหาอาจารย์ทางวิชา Preclinical Science มาช่วยทุกวิชาเป็นระยะเวลาติดต่อกัน ไม่น้อยกว่า 10 ปี โดยทางมูลนิธิออกค่าใช้จ่ายทุกอย่างหมด

2. การช่วยเหลือด้านเครื่องมือทดลองวิทยาศาสตร์ ทางมูลนิธิได้จัดงบประมาณไว้ให้แล้ว 6 ล้านกว่าบาท และขอให้ใหม่อีก 4 ล้านบาท เพื่อใช้ซื้อเครื่องมือทดลองวิทยาศาสตร์สำหรับที่จะใช้ที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่สร้างขึ้นใหม่ที่หน้ากรมทางหลวงแผ่นดิน และการช่วยเหลือในหมวดนี้จะต้องมีเรื่อย ๆ ไป เมื่อมีการวิจัยเกิดขึ้นในคณะฯ

3. การช่วยเหลือด้านห้องสมุด ทางมูลนิธิให้การช่วยเหลือในด้านห้องสมุดในทันสมัย โดยจัดหาเครื่องมือที่ใช้ในห้องสมุด วารสารพวก Journals ทางวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ รวมทั้ง Back Numbers ของ Journals ต่าง ๆ ให้ด้วย คาดว่าต่อไปทางคณะฯ จะมีห้องสมุดทางวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดแห่งปนึ่งในประเทศไทย โดยเฉพาะทางเคมีแล้ว ทางคณะฯ เชื่อแน่ว่าทางคณะฯ จัดไว้ให้อย่างดีที่สุด

4. การช่วยเหลือทางด้านทุนการศึกษา ทางมูลนิธิได้ให้การช่วยเหลืออย่างจริงจังในการส่งนักศึกษาที่เรียนดีมาก ไปศึกษาต่อถึงปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกา โดยทางมูลนิธิเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการศึกษา ค่ากินอยู่ ค่าเดินทางไปกลับให้หมดทุกอย่าง สำหรับในปีการศึกษา 2508-2509 นี้ ทางคณะฯ ได้ส่งนักศึกษาโดยทุนของมูลนิธิไปศึกษาที่สหรัฐอเมริกาแล้ว 9 คน และจำเป็นจะต้องส่งไปทุกปี



อาจารย์ชาวต่างประเทศจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์
(ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์)

นโยบายการสร้างอาจารย์ของคณะ

ทางคณะฯ ถือว่า อาจารย์ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการที่จะรักษามาตรฐานการศึกษาของคณะฯ ให้ดีเด่น ฉะนั้นนับตั้งแต่ที่ได้เริ่มตั้งคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์มา ข้าพเจ้าซึ่งได้เริ่มนโยบายสร้างอาจารย์มาเรื่อย ๆ ทุกปี โดยใช้วิธีการัดเลือกนักศึกษาที่เรียนเก่งมากในปี 1-2 ของคณะฯ และส่งไปศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศในแขนงวิชาวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ที่คณะฯ ต้องการ ซึ่งนักศึกษาเหล่านี้เมื่อจบการศึกษาแล้วก็จะกลับมาเป็นกำลังอันสำคัญยิ่งของคณะฯ ต่อไปในภายหน้า ข้าพเจ้าถือหลักว่า ผู้ที่จะส่งไปศึกษาต่อเพื่อกลับมาเป็นอาจารย์นั้นจะต้องเป็น ผู้ที่เรียนดีมากและทำงานดีมากด้วย

ในระยะเวลา 6 ปี ทางคณะฯ ได้ส่งนักศึกษาไปศึกษา ณ ประเทศต่าง ๆ เป็นจำนวนหลายสิบคน

หอพักสำหรับอาจารย์และอาจารย์ชาวต่างประเทศ

เพื่อเป็นการจูงใจให้ศาสตราจารย์และอาจารย์ชาวต่างประเทศมีความสนใจที่จะเดินทางมาปาฐกถาและทำการวิจัยในคณะฯ และช่วยเหลือบรรดาอาจารย์ของคณะฯ ที่ยังไม่มีที่พักอาศัย ทางคณะฯ จะได้เริ่มสร้างที่พัก Apartment สำหรับอาจารย์ต่อไป ทั้งนี้เพื่อเป็นการรองรับอาจารย์จากต่างประเทศ ที่จะมาสอนในระยะเวลาอันสั้นตามโครงการที่ได้วางไว้กับมูลนิธิด้วย

ยิมเนเซียม สำหรับเล่นกีฬา

ทางคณะฯ มีโครงการที่จะสร้างยิมเนเซียมขนาดใหญ่สำหรับกีฬา เช่น บาสเกตบอล แบตมินตัน และกีฬาในร่มอื่น ๆ รวมทั้งใช้เป็นหอประชุมสำหรับนักศึกษาทั่ว ๆ ไป และเป็นสโมรของนักศึกษาเก่าของคณะฯ ด้วย

  • เรียบเรียงจาก : การขยายงานด้านการศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์. (ม.ป.ป.). ใน ชุมนุมชาวแผนกวิทยาศาสตร์การแพทย์ รุ่น 1-7. พระนคร : มงคลการพิมพ์.
  • หมายเหตุ : บทความนี้มิได้แสดงชื่อผู้เขียน แต่จากเนื้อความที่ปรากฏ สันนิษฐานว่าอาจจะเขียนขึ้นโดย ศ. ดร.สตางค์ มงคลสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ณ ขณะนั้น