ประวัติโดยย่อ ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
โดย ศ. ดร.อำนวย ถิฐาพันธ์
ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดทำการสอนในกลางปี พ.ศ. 2511 โดยสอนทั้งระดับปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษา ในส่วนของนักศึกษาระดับปริญญาตรีก็คือนักศึกษาแพทย์ ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งวิชาที่สอนก็คือวิชาเภสัชวิทยา (Medical Pharmacology) สำหรับนักศึกษาแพทย์ปีที่ 3 การเรียนการสอนในช่วงแรกนั้นใช้ภาษาอังกฤษทั้งหมดซึ่งรวมถึงการบรรยาย การทดลองในห้องปฏิบัติการ การประชุมกลุ่ม (Conference) และการสัมมนา (Seminar)
สิ่งที่น่าสังเกตก็คือการเริ่มดำเนินการของภาควิชาเภสัชวิทยา ในช่วงแรกนั้นได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation) ซึ่งส่งอาจารย์จากประเทศสหรัฐอเมริกามาช่วยเริ่มต้นให้ถึง 5 ท่าน โดยมี Prof Albert S. Kuperman เป็นหัวหน้าทีมจัดตั้งภาควิชา และคงเป็นเพราะด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ภาษาอังกฤษถูกใช้เป็นสื่อสำคัญในการเรียนการสอน ซึ่งทำให้นักศึกษาต้องปรับตัวเองเป็นอย่างมากในการฟังการบรรยายเป็นภาษาอังกฤษจากอาจารย์ชาวอเมริกันทุกท่านที่ก็เพิ่งสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก (Ph.D.) มาใหม่ ๆ และมีไฟแรงมากในการทำงาน ดังนั้น นักศึกษาแพทย์รุ่นแรก ๆ ของรามาธิบดี จึงได้รับการสอนเช่นเดียวกับนักศึกษาแพทย์ในอเมริกาเลยก็ว่าได้ เพราะวิชาทางปรีคลินิกอื่น ๆ เช่น Anatomy, Biochemistry, Microbiology, Physiology ก็สอนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมดเช่นกัน
คณาจารย์ภาควิชาเภสัชวิทยา
(ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์)
การบริหารภาควิชาและการพัฒนาก็เป็นไปอย่างดีมาก กล่าวคือมีการส่งคนไทยที่เรียนเก่ง ๆ ไปทำปริญญาเอกที่ต่างประเทศ โดยเฉพาะที่สหรัฐอเมริกา โดยหวังว่าบุคลากรเหล่านี้เมื่อเรียนจบแล้วจะกลับมารับหน้าที่แทนอาจารย์ฝรั่งทั้ง 5 ท่านดังกล่าวข้างต้น ในปี พ.ศ. 2512 ก็มี ดร.จิรวัฒก์ สดาวงศ์วิวัฒน์ ซึ่งจบการศึกษาในระดับปริญญาเอกเป็นคนแรก เดินทางกลับมาช่วยเริ่มพัฒนาการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษา และอีกประมาณ 1 ปีเศษ ดร.อำนวย ถิฐาพันธ์ ก็จบการศึกษาจาก George Washington University มาประจำที่ภาควิชาเป็นคนที่สอง และจำนวนอาจารย์คนไทยก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนพอเพียงที่จะรับการเปลี่ยนถ่ายจากอาจารย์ฝรั่งทั้งหมดที่ทยอยเดินทางกลับอเมริกาเช่นกัน
Prof.Albert S. Kuperman เป็นหัวหน้าภาควิชาที่มีวิสัยทัศน์ไกล สามารถขยายบัณฑิตศึกษาให้เป็นนานาชาติได้อย่างดีมาก มีการรับนักศึกษาไม่เพียงแต่นักศึกษาไทยเก่ง ๆ เท่านั้น แต่ยังได้รับนักศึกษาจากกลุ่มอาเซียนอีกด้วย โดยเฉพาะจากมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ทั้งยังรับการทำวิจัยของ Postdoctoral Fellows จากสิงคโปร์และปากีสถานอีกด้วย ดังนั้น ชื่อเสียงของภาควิชาเภสัชวิทยาจึงแพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็ว และเป็นนที่ยอมรับในระดับอาเซียน จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นระยะเวลา 50 ปี ภาควิชาเภสัชวิทยาได้ผลิตบัณฑิตทั้งในระดับปริญญาโทและเอก ออกไปรับใช้ชาติยังมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ของประเทศแล้วมาน้อยกว่า 400 คน
ในด้านการวิจัย คณาจารย์ของภาควิชาเภสัชวิทยาก็แข่งขันกันทำวิจัยเพื่อนำลงตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการนานาชาติ และทำให้มี “ศาสตราจารย์” ที่ผ่านการประเมินจากทบวงมหาวิทยาลัยเป็นคนแรกอีกด้วย ในขณะนี้ อาจารย์ของภาควิชาหลายท่านก็ยังมี Spirit ที่จะสานต่อเจตนารมณ์ของรุ่นพี่ โดยขยันทำงานวิจัยและนำเอาผลงานตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการต่างประเทศปีละนับสิบ ๆ เรื่อง และได้รับรางวัลต่าง ๆ หลายท่าน จนเป็นที่ยอมรับกันในวงวิชาการของชาวมหิดลและทั่วไป
ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นั้นมีอดีตที่สวยงาม ศิษย์เก่าที่กระจายกันอยู่ทั่วประเทศก็มีบทบาทสำคัญของหน่วยงานเป็นอย่างสูง ส่วนปัจจุบันและอนาคตจะเป็นอย่างไร ก็ต้องแล้วแต่บุคลากรและคณาจารย์ปัจจุบันจะช่วยกันทำให้ภาควิชารุ่งโรจน์เหมือนเช่นในอดีตได้อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่พวกเราทั้งหลายควรเฝ้าดูกันต่อไป
เรียบเรียงจาก อำนวย ถิฐาพันธ์. (2561). ประวัติโดยย่อ. ใน 50th Anniversary Pharmacology. หน้า 2-3.
ศ. ดร.อำนวย ถิฐาพันธ์ (หัวหน้าภาควิชา พ.ศ. 2535-2539)