หน้าหลัก > เอกสารและสิ่งพิมพ์ > บทความพิเศษ

มหิดล : มหาวิทยาลัยที่มุ่งใช้การวิจัยนำการเรียนการสอน

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ประเสริฐ โศภน

เป้าหมายของทุกมหาวิทยาลัย คือการมุ่งสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ (Academic Excellence) ความหมายของคำที่ค่อนข้างเป็นนามธรรมนี้ ถ้าจะอิงตามคำจำกัดความที่รู้กันอยู่ทั่วไปและที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. ของทุกมหาวิทยาลัยได้แก่ ความเป็นเลิศในการสอน ความเป็นเลิศในการวิจัย และความเป็นเลิศในการให้บริการสังคมและทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรม คำนิยามของความเป็นเลิศทางวิชาการซึ่งคิดว่าเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมีสองประการ คือ มหาวิทยาลัยต้องผลิตคนที่มีคุณภาพและนำเสนอความคิดที่เป็นเลิศ (Excellent People and Excellent Ideas) ผู้สำเร็จการศึกษาที่ถือได้ว่าเป็นผู้มีคุณภาพนั้น คงต้องมีคุณสมบัติหลายอย่าง เช่น มีความรู้เฉพาะทางที่จะประกอบอาชีพ โดยสามารถเป็นระดับผู้นำในสาขาวิชาชีพนั้น ๆ ได้ มีความรู้วิชาชีพพื้นฐานทั่วไปและศีลธรรมจริยธรรมอันดีงาม ในการที่จะทำให้สามารถอยู่ในสังคมด้วยความสุข และเป็นคนที่นอกจากจะรับจากสังคมแล้วยังให้แก่สังคมอีกด้วย ส่วนความคิดที่เป็นเลิศนั้น คือความคิดที่สามารถนำไปแปรสภาพให้เป็นเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์หรือทางสังคมศาสตร์ ที่สามารถนำไปใช้ในการเพิ่มผลผลิตหรือแก้ปัญหา หรือจัดระบบและระเบียบของสังคม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาน อันจะทำให้เกิดความผาสุกแก่ส่วนรวม การที่จะได้บัณฑิตที่ดีและความคิดที่ดีคงมีปัจจัยที่สำคัญหลัก ๆ ดังนี้คือ เริ่มแรกวัตถุดิบหรือนักศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกเข้ามาต้องมีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์ที่ดีเยี่ยม มิฉะนั้นแล้วจะเพิ่มคุณภาพให้แก่วัตถุดิบที่ถูกแปรรูปได้อย่างไร พูดสั้น ๆ ง่าย ๆ ก็คือ ตัวอาจารย์ต้องมีคุณภาพดีมาก เมื่ออาจารย์ดีแล้วสิ่งดีอื่น ๆ ก็จะตามมาเอง เป็นที่ยอมรับกันว่าในมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศที่พัฒนาแล้ว อาจารย์จะทำการสอนได้ดีและถ่ายทอดความรู้ที่ทันสมัยให้แก่นักศึกษาได้ มักเป็นอาจารย์ที่ทำการวิจัยด้วย ทั้งนี้เพราะวิจัยคือการนำความคิดที่ดีมาสร้างเป็นกระบวนการหรือวิธีการเพื่อเสาะหาองค์ความรู้ใหม่หรือเทคโนโลยีใหม่ ผู้ที่รู้วิธีการเสาะหาความรู้ใหม่อยู่เสมอเท่านั้นที่จะมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และสามารถติดตามความก้าวหน้าทางวิทยาการได้ทัน อีกทั้งมีใจเปิดกว้างไม่เกิดปมด้อยกับความไม่รู้ในบางจุดของตน การคัดเลือกคนที่จะมาเป็นอาจารย์รุ่นใหม่ในมหาวิทยาลัยควรพิจารณาความสามารถในการวิจัย ร่วมกับความสามารถในการสอน เป็นเกณฑ์พื้นฐาน

จุดที่ความรู้และทักษะที่เกิดจากกิจกรรมการวิจัยของอาจารย์มีการผสมผสานและถูกถ่ายทอดลงมาสู่ขบวนการการเรียนการสอนระดับแรกคือบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยใดจะเสาะหาความเป็นเลิศทางวิจัยไม่ได้ถ้าไม่มีนักศึกษาบัณฑิตและโปรแกรมบัณฑิตศึกษาที่ดี ในทางกลับกันนักศึกษาบัณฑิตที่ผลิตออกมาจะมีคุณภาพดีไม่ได้ ถ้าหากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยไม่มีทั้งปริมาณและคุณภาพ มหาวิทยาลัยที่ดีแล้วในเรื่องของการวิจัยและการจัดการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษา มักสามารถจัดการศึกษาระดับปริญญาตรีได้ง่ายกว่าและมีคุณภาพดีกว่ามหาวิทยาลัยที่ไม่มีการวิจัยและไม่มีบัณฑิตศึกษา ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัย Standford ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้ถือปรัชญาในการใช้การวิจัยเป็นหัวจักรนำการเรียนการสอนมาโดยตลอด อาจารย์ของมหาวิทยาลัยล้วนแต่เป็นผู้มีชื่อเสียงจากกิจกรรมการวิจัยในด้านต่าง ๆ เกือบทั้งสิ้น และสานุศิษย์ระดับบัณฑิตที่เข้ามาก็มักเป็นพวกที่ตั้งใจเข้ามาเพราะถูกดึงดูดด้วยชื่อเสียงของอาจารย์และผลงานวิจัยที่ปรากฏไปทั่วสารทิศ แน่นอนว่าพวกเขาต่างเป็นวัตถุดิบชั้นเลิศสำหรับขบวนการแปรรูปที่จะได้รับการเพิ่มคุณค่าขึ้นอีกหลายเท่า นอกจากนั้นแล้วมหาวิทยาลัย Standford ยังใช้ประโยชน์จากนักศึกษาบัณฑิตที่เก่งกาจเหล่านี้ให้คุ้มค่าโดยการสนับสนุนให้เป็นอาจารย์ผู้ช่วยสอน (Teaching Assistant) แก่นักศึกษาปริญญาตรี นอกจากการเป็นผู้ช่วยวิจัย (Research Assistant) ที่ต้องช่วยงานวิจัยของศาสตราจารย์และทำวิทยานิพนธ์ของตนเอง ทั้งนี้ โดยได้รับการยกเว้นค่าบำรุงการศึกษาซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่แพงมากแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา พร้อมทั้งยังได้รับเงินเดือนและค่าครองชีพอีกด้วย การลงมาช่วยสอนของอาจารย์ผู้ช่วยสอนเหล่านี้รวมกับอาจารย์อาวุโสทำให้การดูแลและการจัดการเรียนการสอนโดยเฉพาะแบบกลุ่มย่อยที่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับนักศึกษาเป็นไปได้ทั่วถึง ชั่วโมงการพบปะ (Contact Hour) ระหว่างอาจารย์และนักศึกษาระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยแห่งนี้จึงถือได้ว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก อีกทั้งองค์ความรู้จากงานวิจัยได้ถูกถ่ายทอดเป็นช่วง ๆ จากศาสตราจารย์ที่อยู่สูงสุดของปิรามิดการศึกษาลงมายังนักศึกษาระดับปริญญาตรีได้ จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้จะครองความเป็นตัวเลือกระดับต้น ๆ ของนักเรียนมัธยมที่เก่ง ๆ ซึ่งพร้อมที่จะจ่ายค่าเล่าเรียนที่แพงและเผชิญการแข่งขันที่เข้มข้นเข้ามาเรียน มหาวิทยาลัยมหิดลคงไม่หวังที่จะเป็นมหาวิทยาลัยที่ค้ากำไรจากนักศึกษาระดับปริญญาตรี เพราะขณะนี้มหาวิทยาลัยก็พอมีทรัพยากรทั้งจากภายนอกและภายในที่สามารถเอื้อให้เกิดคุณภาพของงานวิจัยนำการสอนที่สามารถดึงดูดนักศึกษาที่ดีได้เช่นกัน ถ้าหากมหาวิทยาลัยมีนโยบายและปณิธานที่แน่วแน่ในเรื่องการวิจัยและการจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกัน ทั้งนี้คณาจารย์ของมหาวิทยาลัยควรจะต้องเห็นด้วยกับปรัชญานี้และมีความตั้งใจจริงที่จะถือปฏิบัติ

นอกจากการแพร่กระจายและผสมผสานองค์ความรู้ที่ได้จากกิจกรรมการวิจัยของอาจารย์ลงสู่การเรียนการสอนทั้งสองระดับแล้ว ในประเทศที่พัฒนาแล้ว กิจกรรมการวิจัยยังเป็นกิจกรรมนำที่ช่วยหารายได้เข้ามหาวิทยาลัยอีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่องบประมาณของมหาวิทยาลัยในส่วนที่มาจากค่าบำรุงการศึกษา ทั้งที่ได้จากเงินสนับสนุนของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นและจากบุคคลที่ค่อนข้างจำกัดและถูกตัดทอนลงเรื่อย ๆ งานวิจัยที่เกิดจากความคิดที่ดีได้ถูกถ่ายทอดออกไปเป็นเทคโนโลยีและต้นแบบการประดิษฐ์คิดค้นในด้านต่าง ๆ ที่สามารถจดลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรโดยมีทั้งมหาวิทยาลัยและผู้เป็นต้นความคิดเป็นเจ้าของร่วมกัน การได้ผลประโยชน์ร่วมกันเป็นกลไกสำคัญที่เป็นแรงผลักดันซึ่งทำให้เกิดความคิดและการวิจัยที่มีลักษณะสร้างสรรค์และเน้นแนวใหม่ (Creativity and Innovation) เกิดเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่สืบต่อกันไป จนยังผลให้เกิดความต่อเนื่อง (Sustainability) ของกิจกรรมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย อีกทั้งยังเป็นรางวัลที่คุ้มค่าต่อชีวิตการเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ปัจจุบันมหาวิทยาลัยในประเทศไทยยังใช้งานวิจัยเป็นกลจักรสำคัญในการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัยในระดับที่ต่ำมาก อีกทั้งยังมีข้อขัดแย้งกันทั้งในระดับนโยบายและปฏิบัติว่าการสอนควรจะมีลำดับความสำคัญกว่าการวิจัย ซึ่งที่จริงแล้วในมหภาคกิจกรรมทั้งสองอย่างนั้นเกื้อกูลกันและกัน ถ้าหากเราไม่ตระหนักถึงความจริงข้อนี้แล้ว ก็คงเป็นการยากที่มหาวิทยาลัยของเราจะสมามารถแข่งขันกับมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศและต่างประเทศได้

ความท้าทายของมหาวิทยาลัยมหิดลในทศวรรษหน้าคือ การที่จะสร้างความเข้าใจและการยอมรับในหมู่อาจารย์ว่า การวิจัยเพื่อนำการสอนคือกุญแจสำคัญที่จะเปิดโอกาสสู่การพัฒนาความเป็นเลิศ และการวิจัยนำการสอนเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่ายในมหาวิทยาลัย ถ้าหากคณาจารย์สามารถรับและปรับความคิดได้เช่นนี้แล้ว เชื่อว่ามหาวิทยาลัยมหิดลไม่เพียงจะเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศตลอดไป แต่จะสามารถเสนอตัวเป็นผู้นำทางวิชาการในเวทีสากลที่มีการแข่งขันรุนแรงขึ้นทุกคณะได้เป็นอย่างดี

เรียบเรียงจาก
ประเสริฐ โศภน. (เมษายน-มิถุนายน 2539). “มหิดล: มหาวิทยาลัยที่มุ่งใช้การวิจัยนำการเรียนการสอน.” วารสารมหาวิทยาลัยมหิดล. 3(2) : 100-101.

เกี่ยวกับผู้เขียน : ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ประเสริฐ โศภน.
นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2539 ของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์
พ.ศ. 2535-2538 : รองคณบดีฝ่ายการศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2538-2540 : รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2541-2543 : ประธานสภาวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2546-2547 : คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล