เรื่องราวของศพที่นำมาศึกษาทางการแพทย์
ศาสตราจารย์ ดร. นพ.เรือน สมณะ (ราชบัณฑิต)
เมื่อคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดสอนนักศึกษาแพทย์ใหม่ ๆ พ.ศ. 2503 ทางคณะฯ ได้รับความอนุเคราะห์ศพดองเพื่อนำมาชำแหละจากภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล เพราะตอนนั้นนักศึกษาได้ชำแหละศพที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อยู่ที่หน้าอำนวยศิลป์ในปัจจุบัน เมื่อนักศึกษาของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ในขณะนั้นย้ายไปสอนที่เชียงใหม่ ระยะต้น ๆ ก็ต้องนำศพดองจากศิริราชขึ้นไปเชียงใหม่ จนระยะหลายปีต่อมาก็ใช้ศพดองจากภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เองทั้งหมด
เมื่อประมาณ 10 ปี หลังจากเปิดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหิดลก็เปิดคณะแพทย์ใหม่คือ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็สอนวิชากายวิภาคแก่นักศึกษาแพทย์ก่อนจะไปเรียนสองปีสุดท้ายที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ศพดองใน 5 ปีแรก แทบจะเรียกได้ว่ารับมาจากภาควิชากายวิภาคศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งหมด ปีหลัง ๆ ค่อยมีศพที่ทางคณะวิทยาศาสตร์จัดการเองปะปนด้วย
ปัญหาของการหาศพมาดองเพื่อการศึกษาทางแพทย์ของภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ นั้นมีมาก เนื่องจากคณะวิทยาศาสตร์ไม่ได้รับรักษาคนไข้และมีคนตาย ภาควิชากายวิภาคศาสตร์จึงต้องพยายามแก้ปัญหาทุกวิถีทาง เช่น ติดต่อตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั้งทางส่วนตัวและทางจดหมาย แต่ก็ได้รับผลน้อยมากหรือได้ผลเมื่อติดต่อใหม่ ๆ ติดต่อมูลนิธิปอเต็กตึ๊ง ก็มีปัญหาที่ว่าตอนมูลนิธิฯ ไปรับศพมาก็ไม่มีญาติจริง แต่ระยะต่อมามีหลายรายที่ญาติไปตาม ถ้าทางมูลนิธิฯ ให้มาก็ไม่รู้จะหาศพที่ไหนไปให้ญาติ ทางมูลนิธิฯ จึงมักนำไปฝังในสุสาน 3 ปีจึงขุดกระดูกขึ้นมาทำพิธีฌาปนกิจก่อนประกาศหาญาติ กระดูกฝังในดิน 3 ปี ก็ค่อนข้างผุไม่อยู่ในสภาพดีนัก ทางภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ก็เคยนำกะโหลกจากสุสานของมูลนิธิฯ มาให้นักศึกษาประกอบการเรียนเหมือนกันและคงต้องพึ่งพาทางมูลนิธิฯ ต่อไปอีก
อีกทางหนึ่งที่ทางภาควิชากายวิภาคศาสตร์ได้ทำเพื่อปัดเป่าการขาดแคลนของศพก็คือ ให้ผู้ที่ยังไม่ตายทำพินัยกรรมเพื่อบริจาคร่างกายของตนเองเมื่อตายเพื่อการศึกษาทางการแพทย์ และก็เคยประกาศหนังสือพิมพ์ก็มีบางคนว่าผู้ประกาศอยากดัง วิธีนี้นับว่าดีคือมีคนบริจาคร่างกายไว้มากมาย และก็มีผู้บริจาคเสียชีวิตระยะนี้ปีละ 3-5 ราย โครงการบริจาคนี้จะทำให้แก้ปัญหาศพขาดแคลนหลังจากนี้ 20-30 ปีไปแล้ว เพราะผู้ที่บริจาคส่วนใหญ่อายุยืน และผู้บริจาคกับผู้รับบริจาคก็ยังไม่ทราบว่าใครจะตายก่อนกัน
ศพของผู้บริจาคร่างกายบางครั้งก็ยังมีปัญหา เพราะญาติไม่ยอมให้ท่าเดียว บางครั้งตายอยู่ต่างจังหวัดไกล ๆ โทรศัพท์หรือโทรเลขมา พอส่งคนไปฉีดยาดองเสร็จ บอกว่า 7 วันให้ไปรับ พอไปรับญาติก็ไม่ยอมให้ศพ ค่าน้ำยาดองศพก็ไม่ให้ อย่าว่าแต่ค่าน้ำมันรถหรือค่าเสียเวลาของคนงานเลย
การสอนของกายวิภาคโดยเฉพาะมหกายวิภาค ซึ่งต้องใช้ศพนั้นแตกต่างกับการสอนหลายวิชาภายในคณะวิทยาศาสตร์ เพราะวิชาอื่น ๆ ส่วนใหญ่เขามีห้องปฏิบัติการอเนกประสงค์เตรียมน้ำยาและสัตว์ทดลองให้ ส่วนวิชามหกายวิภาคต้องเตรียมศพเอง ยิ่งไปกว่านั้นนักศึกษาก็เบื่อหน่ายได้ง่าย เพราะความที่ศพเองมีกลิ่นน้ำยางดอง มีกลิ่นศพแห้งได้
ปัญหาของการขาดแคลนศพก็ยังไม่ได้แก้ไขหมดโดยสิ้นเชิง จึงใคร่ขอความร่วมมือผู้อ่านให้ทราบถึงปัญหาแล้วช่วยกันแก้ไข เพื่อการศึกษาทางแพทย์จะได้ไม่มีอุปสรรคและปัญหาจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อจะเปิดคณะแพทยศาสตร์ใหม่ขึ้นอีกถ้าไม่เตรียมการแก้ไข
เรือน สมณะ. (2521). เรื่องราวของศพที่นำมาศึกษาทางการแพทย์. ใน แด่ครูผู้ไร้ชีวิต. ม.ป.ท. : ม.ป.พ.
ศาสตราจารย์ ดร. นพ.เรือน สมณะ (ราชบัณฑิต)
หัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (พ.ศ. 2530-2534)