หน้าหลัก > เอกสารและสิ่งพิมพ์ > บทความพิเศษ

อตฺตานํ อุปมํ กเร

โดย ดร.สาลี่ เกี่ยวการค้า 1

... ข้อมูลเกี่ยวกับคติพจน์นี้ได้รับความเอื้อเฟื้อจากชาวมหิดลสองท่าน ท่านแรกคือ พระมหาวีรเวส พาเจริญ ท่านเป็นนักศึกษาปริญญาโท สาขาศาสนาเปรียบเทียบ นอกจากตัวคาถาแล้วท่านยังกรุณาค้นคว้าเรื่องราวอันเป็นมูลเหตุแห่งคาถา ส่วนอีกท่านคือ ผศ. ดร.ดำรัส วงศ์สว่าง หัวหน้าภาควิชาคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ ท่านช่วยค้นข้อมูลเกี่ยวกับคาถาบทนี้จากพระไตรปิฎกฉบับ CD-ROM

คาถานี้เป็นคติพจน์ประจำมหาวิทยาลัยมหิดล มีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะเป็นพุทธดำรัส เป็นพระพุทธพจน์หรือเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ จึงเป็นของศักดิ์สิทธิ์ คำแปลของคาถาคือ “บุคคลพึงทำตนเป็นเครื่องเปรียบเทียบ” มีเนื้อความเต็มที่ปรากฏในพระไตรปิฎกดังนี้

  • ธมฺมปทคาถาย
  • สพฺเพ ตสนฺติ ทณฺฑสฺส
  • อตฺตานํ อุปมํ กตฺวา
  • สพฺเพ ตสนฺติ ทณฺฑสฺส
  • อตฺตานํ อุปมํ กตฺวา

ทสโม ทณฺฑวคฺโค
สพฺเพ ภายนฺติ มจฺจุโน
น หเนยฺย น ฆาตเยฯ
สพฺเพสํ ชีวิตํ ปิยํ
น หเนยฺย น ฆาตเยฯ

  • คำแปลของคาถาคือ
  • สัตว์ทั้งปวงย่อมสะดุ้งกลัวต่ออาญา
  • สัตว์ทั้งปวงย่อมกลัวความตาย
  • บุคคลรู้ดังนี้แล้วพึงทำตนเป็นเครื่องเปรียบเทียบ
  • แล้วไม่พึงฆ่า ไม่พึงใช้ให้ใครฆ่าผู้อื่น
  • สัตว์ทั้งปวงย่อมสะดุ้งกลัวต่ออาญา
  • ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายย่อมเป็นที่รักของสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น

  • บุคคลรู้ดังนี้แล้วพึงทำตนเป็นเครื่องเปรียบเทียบ
  • แล้วไม่พึงฆ่า ไม่พึงใช้ให้ใครฆ่าผู้อื่น

จะเห็นได้ว่าคติพจน์ของมหาวิทยาลัยมหิดลนั้น แม้จะอัญเชิญมาจากพระพุทธวจนะ แต่มีส่วนที่ดัดแปลงในตอนท้ายวรรคจาก “กตฺวา” เป็น “กเร” พระมหาวีรเวสกรุณาอธิบายว่าที่ทำดังนี้เป็นเพราะความจำเป็นทางไวยากรณ์ กตฺวา เป็นอนุประโยค หากใช้ กเร ประโยคจะสมบูรณ์เหมาะที่จะใช้เป็นประโยคคำขวัญ มูลเหตุที่พระบรมศาสดาตรัสพระคาถานี้มีเรื่องเล่าดังนี้

เรื่อภิกษุฉัพพัคคีย์ 2

เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ในพระวิหารชื่อเชตะวัน ทรงปรารภเรื่องภิกษุฉัพพัคคีย์และตรัสพระธรรมเทศนาดังนี้

ในสมัยหนึ่งเมื่อพระภิกษุสัตตรสัพพัคคีย์ 3 พากันซ่อมแซมเสนาสนะแล้ว ภิกษุฉัพพัคคีย์กล่าวว่า

“พวกผมอาวุโสกว่า เสนาสนะนั้นย่อมตกเป็นของพวกผม” ภิกษุสัตตรสัพพัคคีย์ตอบว่า “พวกผมไม่ให้เพราะพวกผมซ่อมแซมไว้ก่อน” ดังนี้แล้วจึงถูกพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ตบตีทำร้าย ภิกษุสัตตรสัพพัคคีย์เมื่อถูกคุกคามจึงร้องขึ้น

พระพุทธเจ้าทรงได้ยินจึงตรัสถามเหตุการณ์ เมื่อได้รับทราบเรื่องแล้วจึงทรงบัญญัติ “ปหารทานสิกขาบท” ว่า “ธรรมดาภิกษุต้องไม่ทำอย่างนี้ ตั้งแต่นี้ไปภิกษุใดทำภิกษุนั้นต้องอาบัติ” แล้วจึงตรัสพระคาถาอันเป็นที่มาของคำขวัญที่ชาวมหิดลอัญเชิญมาเป็นมิ่งขวัญประจำสถาบัน

เหตุการณ์ตามท้องเรื่องประกอบพระคาถาเกิดขึ้นตั้งแต่สมับพุทธกาล ผ่านไปนานกว่า 2,500 ปี แต่เหตุการณ์ลักษณะเดียวกันก็ยังไม่ใช่เรื่องเก่า ใครบ้างเล่าที่ไม่เคยได้ยินคำพูดลักษณะนี้ บางทีอาจจะไม่ใช่เพียงแค่ได้ยินเฉย ๆ เท่านั้น บางครั้งอาจจะถึงกับเคยเป็นเจ้าของคำพูดเองเสียด้วยซ้ำ “ฉันแก่แล้ว ให้เด็ก ๆ ทำเถอะ” “ฉันอาวุโสกว่า ขอฉันเลือกก่อน” สังคมใดหรือหมู่ใดที่มีคนแบบฉัพพัคคีย์อยู่มาก สังคมนั้นนั้นย่อมไม่สงบสุข การจะอยู่รวมกันอย่างสัติได้คนในสังคมจะต้องทำตามพุทธวจนะคือ “พึงทำตนเป็นเครื่องเปรียบเทียบ” มิใช่เอาตนเป็นสรณะหรือตนเป็นที่ตั้ง พระธรรมของพระบรมศาสดาเป็น “อกาลิโก” คือ เหนือกาลเวลา เป็นจริงทุกกาลสมัย ...

  • เรียบเรียงจาก : สาลี่ เกี่ยวการค้า. (2540, พฤษภาคม-มิถุนายน). อตฺตตานํ อุปมํ กเร. วารสารคณะวิทยาศาสตร์. 10(3), หน้า 58-61.


1 อดีตหัวหน้าภาควิชาภาษาต่างประเทศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
2 ภิกษุกลุ่มหนึ่งมี 6 รูป มีลักษณะเกเร มักก่อเรื่องให้ต้องบัญญัติสิกขาบทเล็กน้อยเสมอ
3 ภิกษุกลุ่มหนึ่งมี 17 รูป เป็นภิกษุที่เรียบร้อยอยู่ในโอวาท แต่มักถูกกลั่นแกล้งอยู่เสมอ