เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙
เรียบเรียงโดย หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ งานสารสนเทศและห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข
เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ เป็นเรือพระที่นั่งกิ่งประเภทเรือรูปสัตว์ หนึ่งในเรือพระราชพิธี ในกระบวนพยุหยาตราชลมารค จัดสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาส พระราชพิธีกาญจนาภิเษก แห่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนารถบพิตร ในวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๙
ต้นแบบของเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ มาจากเรือพระที่นั่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากเรือพระที่นั่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่ชื่อ มงคลสุบรรณ โดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้ต่อขึ้นโดยมีพระราชประสงค์ตามที่ปรากฏความในพระราชพงศาวดารว่า “ไว้เป็นเกียรติยศสำหรับแผ่นดิน”
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงพระนิพนธ์เกี่ยวกับเรือมงคลสุบรรณไว้ใยกระบวนเรือพยุหยาตราชลมารคว่า “มีปืนจ่ารงที่หัวเรือตรงช่วงเท้าของครุฑ มีฝรั่งกำกับปืน ๓ นาย คือพระยาพิเศษสงคราม หลวงชนะทุกทิศ และหลวงฤทธิราวี”
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้เสริมโขนเรือให้มีรูปพระนารายณ์ประทับยืนบนหลังพญาสุบรรณและพระราชทานชื่อใหม่เป็น นารายณ์ทรงสุบรรณ
เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ ได้ถอดแบบจากโขนเรือที่เก็บรักษาไว้ ซึ่งของเดิมนั้นแกะสลักจากไม้ลงรักปิดทองประดับกระจกตลอดลำ ลวดลายเขียนเป็นดอกพุดตาน ท้ายเรือมีลักษณะคล้ายเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช ส่วนเหนือมาลัยท้ายเป็นสร้อยหางครุฑ ปลายหางสุดของเรือเป็นกนกหางครุฑ ท้องลายของท่อนหางเป็นขนครุฑ ท้องเรือทาสีแดงชาด ใช้กัญญาเรือเช่นเดียวกับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ลูกแก้วรับขื่อเป็นไม้แกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก เสาสองต้นทางสีดำ พายกับฉากลงรักปิดทอง การวางฉัตรเว้น ๒ กระทงต่อ ๑ ฉัตร ผ้าดาดหลังคากัญญาเรือเป็นทองแผ่น ลวดลายโคมแยงลงรักปิดทองประดับกระจก พื้นแดงลายจั่วและลายผ้าม่านโดยรอบประดับด้วยทองแผ่นลวด
หัวเรือพระที่นั่งจำหลักรูปพระวิษณุประทับยืนบนครุฑ บ่งบอกอิทธิพลศาสนาฮินดูตามคัมภีร์ปุราณะจากอินเดียที่มีต่อประเพณีนิยมและศิลปกรรมไทย โขนเรือพระที่นั่งลำนี้มิได้แสดงรูปพระรามซึ่งเป็นอวตารของพระวิษณุ ซึ่งพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีทุกพระองค์มีสมมติพระนามโดยเรียกตามนามของพระราม แต่ได้แสดงรูปพระวิษณุและลักษณะอันโดดเด่นของพระองค์ เช่น พระวรกายคล้ำ ในพระกรทั้ง ๔ ทรงถือจักร สังข์ คทา และตรีศูล ประทับบนครุฑยุดนาค หรือครุฑที่จับนาค ๒ ตัวชูขึ้นตามคัมภีร์ปุราณะ ครุฑกับนาคเป็นศัตรูกัน แต่ทั้งสองก็รับใช้พระวิษณุ ครุฑเจ้าแห่งนกทั้งหลาย เป็นสัญลักษณ์แห่งพลังของท้องฟ้า นาคเป็นสัญลักษณ์แห่งพลังของน้ำ เมื่อพระวิษณุอยู่เหนือครุฑและนาค ย่อมแสดงว่าพระองค์ทรงมีพลังในการพิทักษ์ปกป้องโลกทั้งมวล
การสร้างเรือพระที่นั่งลำนี้ กองทัพเรือสร้างในส่วนที่เป็นโครงสร้างของตัวเรือ พาย และคัดฉาก กรมศิลปากรรับผิดชอบส่วนที่เกี่ยวกับศิลปกรรมของตัวเรือทั้งหมด ตัวเรือมีการเปลี่ยนสัดส่วนโขนเรือให้สูงขึ้นพอดีกับเกรินท้ายเรือ กำหนดให้ใช้ฝีพาย ๕๐ นาย แทนลำเดิมที่ใช้ ๖๕ นาย สิ้นค่าใช้จ่ายประมาณ ๑๑.๗ ล้านบาท
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินทรงวางกระดูกงูเรือ ณ กรมอู่ทหารเรือ เมื่อวันจันทร์ที่ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๗ และทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานนามว่า เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ ตามหนังสือสำนักราชเลขาธิการ ลงวันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๗
คติความเชื่อการทำโขนเรือเป็นรูปสัตว์
การแกะโขนเรือเป็นรูปสัตว์มีทั้งสัตว์จริงและสัตว์ในตำนานอันเกี่ยวเนื่องกับความเชื่อเรื่องป่าหิมพานต์ เดิมเรียกว่าเรือศีรษะสัตว์ จากหนังสือ สาส์นสมเด็จ ได้บอกเล่าที่มาของเรือประเภทนี้ไว้ดังนี้
- ๑. อาจได้รับอิทธิพลมาจากเขมร เพราะปราสาทหินนครวัดก็มีภาพสลักรูปเรือที่มีโขนเรือเป็นหน้าสัตว์ เช่น หงส์ นาค เหราหรือมังกร ซึ่งอาจทำขึ้นเพื่อความสวยงาม
- ๒. อาจได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย บรรดาขุนรถในอินเดียจะมีตราประจำตำแหน่งติดอยู่ที่รถ แต่ไทยเรานำมาเป็นตราติดที่เรือ คือทำเป็นรูปหัวเรือ เวลาเข้าในริ้วกระบวนก็ทราบได้ว่าเรือลำใดเป็นของกรมใดหรือขุนนางผู้ใด แต่เดิมขุนนางหรือเสนาบดีถ้ามิได้ตามเสด็จก็ไม่ได้เข้าในริ้วกระบวน แต่ในสมัยหลังแม้ว่าตัวเสนาบดีจะมิได้ตามเสด็จก็เกณฑ์เรือไปโดยไม่ต้องควบคุมไปก็ได้
นี่เองทำให้เชื่อได้ว่าเรือรูปสัตว์ของไทยน่าจะได้แนวคิดและอิทธิพลมาจากทางอินเดียมากกว่า เพราะตราประจำตำแหน่งเสนาบดีในสมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นก็มักใช้รูปสัตว์เป็นตราทั้งสิ้น เช่น ราชสีห์ คชสีห์ ครุฑ นาค ตราตำแหน่งนี้ปรากฏในกฎหมายลักษณะศักดินาซึ่งตราขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พ.ศ. ๑๙๙๘
ส่วนเรือรูปสัตว์นั้นจากพงศาวดารมีปรากฏในสมัยสมเด็จพระมหาจักพรรดิ พ.ศ. ๒๐๗๖ ซึ่งพระองค์ทรงแก้เรือแซเป็นเรือชัยและเรือรูปสัตว์ต่าง ๆ สำหรับติดตั้งปืนใหญ่ที่หัวเรือ และเชื่อว่าการสร้างเรือรูปสัตว์นั้นน่าจะทำเป็นคู่ คือ เรือครุฑ ๑ คู่ เรือกระบี่ ๒ คู่ เป็นต้น ดังจะเห็นได้ว่าเรือเสนาบดีและเรือประตูในกระบวนจะเป็นรูปสัตว์จากตราตำแหน่งทั้งสิ้น ดังนี้จึงอาจกล่าวได้ว่าเรือรูปสัตว์นั้นมาจากตราตำแหน่งนั้นเอง.
- ข้อมูลอ้างอิง
- ๑. กองทัพเรือ. (๒๕๕๕). เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙. สืบค้นเมื่อ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๗.
- ๒. คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก. (ม.ป.ป.) เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙. สืบค้นเมื่อ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๗.
- ๓. องอาจ จิระอร. (๒๕๓๙). ประวัติศาสตร์เหนือสายน้ำเจ้าพระยาและนารายณ์ทรงสุบรรณ. ความรู้คือประทีป. ๘(๔), ๑๖-๒๓