หน้าหลัก > เอกสารและสิ่งพิมพ์ > บทความพิเศษ

การค้นพบหลักพื้นฐานพันธุศาสตร์

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้
ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ความจริงที่ว่าสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่ทั้งหมดในโลกเราขณะนี้ไม่ว่าจะเป็นพืชซึ่งมีอยู่มากกว่าสามแสนชนิด หรือในจำพวกสัตว์ซึ่งมีอยู่ประมาณหนึ่งล้านกว่าชนิด แต่ละชนิดของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะมีความแตกต่างกันออกไปมากน้อยตามประวัติการวิวัฒนาการความเป็นมาของมัน คุณสมบัติประการหนึ่งของสิ่งมีชีวิต คือ การที่สกุลใดสกุลหนึ่งสามารถรักษาคุณสมบัติเฉพาะของสกุลมันเองไว้ได้ยาวนาน นั่นคือ คุณสมบัติของการถ่ายทอดกรรมพันธุ์จากพ่อ-แม่ ไปสู่ลูกในทุกชั่วอายุ (Generation) อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เช่น นกยังคงรักษาลักษณะของนก แมวยังคงให้กำเนิดลูกแมว และมนุษย์ยังคงให้กำเนิดลูกออกมาคล้ายพ่อ-แม่ เป็นต้น ในขณะเดียวกันข้อที่น่าสังเกตประการหนึ่ง คือ ความแตกต่างแปรผัน (Variation) ของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดแม้แต่พวกที่อยู่ในสกุลเดียวกันก็ตาม ดังตัวอย่างเช่นในคนเราซึ่งจัดอยู่ในสกุล Homo Sapiens ซึ่งมีอยู่มากกว่า 3 พันล้านคน จะพบว่าแต่ละคนจะไม่เหมือนกันเลยทีเดียว ถึงแม้ว่าจะเป็นพี่น้องที่เกิดจากพ่อ-แม่เดียวกันก็ตาม (ยกเว้นกรณีของลูกฝาแฝดเหมือน Identical Twins) จากความจริงที่ปรากฏ เราอาจมองเห็นหลักสำคัญของสิ่งมีชีวิต 2 ประการ คือ สิ่งมีชีวิตย่อมถ่ายทอดลักษณะกรรมพันธุ์ของตนเองไปสู่ลูก และความแตกต่างที่แสดงออกมาในแต่ละหน่วยสิ่งมีชีวิตย่อมเกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการถ่ายทอดกรรมพันธุ์นี้ในทุก ๆ ชั่วอายุ

สำหรับในคนเราแต่ละคนจะมีลักษณะเฉพาะและแตกต่างกันออกไป ถึงแม้จะได้กำเนิดมาจากพ่อแม่เดียวกัน ทั้งนี้ นอกจากคุณสมบัติดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์แล้ว ก็ยังขึ้นอยู่กับการตอบสนองของบุคคลนั้นที่มีต่ออิทธิพลของสภาพแวดล้อมด้วย ดังนั้น ในบุคคลหนึ่ง ๆ จะมีลักษณะเป็นอย่างไรนั้นย่อมขึ้นอยู่กับอิทธิพลของกรรมพันธุ์และอิทธิพลของสภาพแวดล้อมควบคู่กันไป แต่มิใช่อิทธิพลของสิ่งหนึ่งสิ่งใดแต่เพียงอย่างเดียว

  • Jean Lamarck (1744-1829) นักชีววิทยาชาวฝรั่งเศสผู้เสนอแนวคิดที่ว่า
    สิ่งมีชีวิตสามารถถ่ายทอดลักษณะที่ได้รับมาใหม่ไปยังรุ่นลูก

    (ที่มาภาพ: Wikipedia)

ความเชื่อดังกล่าวได้รับอิทธิพลมาจากทฤษฎีการวิวัฒนาการของ Lamarck นักชีววิทยาผู้มีชื่อเสียงชาวฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 18 ทฤษฎีนี้กล่าวว่า ลักษณะต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิตจะขึ้นอยู่กับการตอบสนองของตัวมันเองที่มีต่อสภาพแวดล้อมที่อยู่โดยรอบ ลักษณะใดที่ค่อย ๆ ถูกเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมก็จะค่อย ๆ ถูกถ่ายทอดไปสู่ลูก และจากลูกก็ถ่ายทอดไปสู่หลานเช่นนี้ได้เรื่อย ๆ จนกว่าจะมีลักษณะใหม่ที่เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมใหม่นั้น ทฤษฎีนี้เรียกว่า The Inheritance of Acquired Characters ดังตัวอย่างเช่นในกรณีของยีราฟที่มีช่วงคอยาวกว่าสัตว์ชนิดอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในบริเวณเดียวกัน ทั้งนี้เนื่องจากสัตว์พวกยีราฟกินยอดใบไม้อ่อนเป็นอาหารประจำ เมื่อกาลเวลาผ่านไปหลายชั่วอายุ ทำให้สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปและเกิดการขาดแคลนยอดใบไม้อ่อนที่อยู่ในระดับต่ำที่พวกยีราฟเคยเล็มกินได้ ทำให้ต้องยืดคอให้ยาวสูงขึ้นเพื่อให้ถึงยอดใบไม้ที่อยู่สูงขึ้นไปกว่าปกติ เมื่อเป็นเช่นนี้หลาย ๆ ชั่วอายุ จึงทำให้ยีราฟรุ่นหลัง ๆ มีคอยืดยาวออกไปมากกว่าสัตว์ชนิดอื่น ๆ ที่กินสิ่งอื่นเป็นอาหาร ทั้งนี้เพื่อการอยู่รอดของพวกตระกูลยีราฟเอง ความคิดของ Lamarck ที่เกี่ยวกับการถ่ายทอดกรรมพันธุ์ดังกล่าว มิได้เป็นที่ยอมรับของ Charles Darwin นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษในศตวรรษที่ 19 ดังหลักฐานต่าง ๆ ที่เขาเขียนไว้ในหนังสือ “The Origin of Species” ในปี 1859 อันเป็นงานชิ้นสำคัญยิ่งทางวิชาการชีววิทยา Darwin ได้มีโอกาสเดินทางเพื่อศึกษาสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์อย่างกว้างขวางเกือบทั่วโลก จากสิ่งที่ได้พบเห็นอย่างมากมายและจากการสังเกตที่ละเอียดอ่อน ทำให้ Darwin ได้พบว่าในสัตว์ประเภทเดียวกันและอยู่ในกลุ่มเดียวกันจะมี Variation หรือความแตกต่างของแต่ละตัวอยู่มากบ้างน้อยบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสังเกตนก Finches ในหมู่เกาะ Galapagos ด้านฝั่งตะวันตกของประเทศ Ecuador ทำให้ Darwin มีความเชื่อว่าการเกิด Variation นั้นจะต้องมีพื้นฐานมาจากพันธุกรรมอย่างแน่นอน และเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อการปรับตัวเองให้เข้ากับธรรมชาติ และเพื่อการอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตนั้น ๆ ซึ่งความคิดนี้เป็นที่มาของทฤษฎี Natural Selection อันเป็นพื้นฐานสำคัญยิ่งของ Evolutionary Theory และเป็นที่ยอมรับของนักชีววิทยาและนักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน

  • Charles Robert Darwin (1854-1882)
    นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษได้รับการยกย่องเป็น “บิดาแห่งทฤษฎีวิวัฒนาการ”
    ผู้ปฏิวัติความเชื่อเรื่องจุดกำเนิดของสิ่งมีชีวิตด้วย “ทฤษฎีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต”

    (ที่มาภาพ: www.britannica.com)
  • ภาพสเก็ตนก Finches ในหมู่เกาะ Galapagos ของ Charles Robert Darwin

    (ที่มาภาพ: www.britannica.com)

ในทำนองเดียวกันในปลายศตวรรษที่ 19 August Weismann นักชีววิทยาชาวเยอรมันก็ได้แสดงความไม่เห็นด้วยอย่างมากกับทฤษฎีของ Lamarck เขาจึงได้ทำการทดลองหลายอย่างเพื่อพิสูจน์ว่าทฤษฎีของ Lamarck ไม่ถูกต้อง ดังตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนโดยการตัดหางหนูให้สั้นแล้วปล่อยให้หนูนั้นผสมพันธุ์กันเองและเมื่อลูกออกมาก็ยังปรากฎว่าหนูมีหางยาวเหมือนตัวพ่อแม่ก่อนที่จะถูกตัดหาง เขาได้ทำการทดลองเช่นนี้หลายชั่วอายุก็ปรากฏผลออกมาเช่นเดียวกัน พร้อมกันนั้น Weismann ได้ให้ข้อคิดเห็นว่าการถ่ายทอดกรรมพันธุ์นั้น ส่วนที่เกี่ยวข้องควรจะอยู่ในส่วนเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายของสิ่งมีชีวิต โดยที่ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดกรรมพันธุ์นี้จะไม่ถูกกระทบกระเทือนจากอิทธิพลของสภาพแวดล้อมภายนอกที่มีต่อร่างกายในขณะที่สิ่งมีชีวิตนั้นอยู่ในระหว่างการเจริญเติบโต จึงทำให้ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดพันธุกรรมนี้สามารถทำหน้าที่ต่อไปได้ Weismann เรียกส่วนที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดกรรมพันธุ์นี้ว่า Germplasm และตั้งทฤษฎีนี้ว่า “The Theory of the Continuity of the Germplasm”

  • August Weismann (1834-1914)
    นักชีววิทยาชาวเยอรมนี ผู้มีความเห็นคัดค้านทฤษฎีของ Lamarck

    (ที่มาภาพ: www.nature.com)

Weismann ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาของ Germplasm ขั้นต่อไปว่า ถ้าการถ่ายทอดกรรมพันธุ์เป็นไปตามทฤษฎีที่ได้กล่าวไปแล้ว ในสิ่งมีชีวิตหนึ่ง ๆ จะมีวิธีการใดบ้างที่จะทำให้จำนวน Chromosome อยู่คงที่ตลอดไปได้ เพราะว่าเมื่อ Sperm ผสมกับไข่แล้วย่อมจะเป็นผลทำให้จำนวน Chromosome เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณในทุก ๆ Generation อย่างแน่นอน แต่ความจริงที่ปรากฏขึ้นมิได้เป็นเช่นนั้น Weismann จึงคิดคาดการณ์เอาว่าใน Germplasm ของพ่อหรือแม่น่าจะมีกลไกในการที่จะทำให้จำนวน Chromosome ลดลงจากเดิมครึ่งหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อว่าเมื่อผสมกันใหม่แล้วจะได้จำนวน Chromosome เท่ากับของพ่อและแม่ ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่าความคิดนี้เป็นความจริงโดยที่กระบวนการแบ่งเซลล์แบบ Meiosis ที่เกิดขึ้นใน Germ Cell ซึ่งเป็นผลทำให้ Gamete ที่เกิดขึ้นมีจำนวน Chromosome เท่าเดิมอยู่เสมอไป (Haploid Number) จะเห็นได้ว่าความคิดและความรู้ที่ทราบเกี่ยวกับกระบวนการถ่ายทอดกรรมพันธุ์ในตอนปลายศตวรรษที่ 19 ค่อยเป็นค่อยไปในแนวทางที่ถูกต้องมากขึ้นกว่ายุคก่อนหน้านั้น แต่ก็ยังขาดหลักการที่เป็นแก่นสารที่แท้จริงในเรื่องนี้อยู่มาก จนกระทั่งตอนต้นศตวรรษที่ 20 จึงได้มีการค้นพบผลงานการศึกษาของนักบวชชาวออสเตรียชื่อ Gregor Mendel ผู้ซึ่งได้คันพบกฎการถ่ายทอดกรรมพันธุ์เมื่อ 35 ปีก่อนหน้านั้น คือในปี 1865 ผู้ที่ค้นพบผลงานของ Mendel คือ Hugo de Vries นักชีววิทยาชาวฮอลแลนด์ Carl Correns นักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมัน และ Erich Tschermak นักผสมพันธุ์พืชชาวออสเตรีย

  • Gregor Johann Mendel (1822-1884)
    ได้รับการยกย่องเป็น “บิดาแห่งพันธุศาสตร์”
    ผู้ค้นพบหลักการพื้นฐานของการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม

    (ที่มาภาพ: www.britannica.com)

Gregor Mendel เป็นนักบวชชาวออสเตรีย ทำการทดลองศึกษาการผสมพันธุ์พืชตระกูลถั่ว Pisum sativum อันเป็นการทำงานนอกเวลาจากการสอนหนังสือในวิชาฟิสิกส์ ระหว่างปี 1854-1864 เขาได้ใช้ถั่วที่มีลักษณะต่าง ๆ ที่เห็นได้ชัดรวม 7 ลักษณะด้วยกัน เช่น ลักษณะสูง-เตี้ย รูปร่างและผิวของเมล็ดถั่ว สีของฝักถั่ว เป็นต้น เขาได้นำเอาหลักคณิตศาสตร์-สถิติมาช่วยในการวิเคราะห์ที่ได้รับจากการทดลองผสมพันธุ์ของลักษณะต่าง ๆ ซึ่งเป็นผลทำให้ Mendel ได้ค้นพบกฎของการถ่ายทอดกรรมพันธุ์ 2 ประการ คือ กฎของการแยกตัวของหน่วยกรรมพันธุ์ (Law of Segregation) และกฎของการแยกตัวอย่างเป็นอิสระของหน่วยกรรมพันธุ์ (Law of Independent Assortment) Mendel มีความเชื่อว่าหน่วยควบคุมลักษณะทางกรรมพันธุ์นั้นควรจะมีเป็นคู่ ๆ และแต่ละคู่ของหน่วยนี้จะเป็นหน่วยเฉพาะและเป็นเอกลักษณ์ในตัวมันเองเช่นเดียวกับเอกลักษณ์ของ Particle ในทางฟิสิกส์ การที่ลักษณะกรรมพันธุ์จะแสดงออกมาเป็นอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับคู่ของหน่วยควบคุมกรรมพันธุ์คู่นั้น เช่น หน่วยที่ควบคุมลักษณะผิวเรียบอยู่ด้วยกัน (WW-Homozygote) สิ่งนั้นก็จะมีลักษณะของเมล็ดผิวเรียบ ในทำนองเดียวกันถ้ามีหน่วยที่ควบคุมลักษณะผิวขรุขระทั้งคู่ (ww) ถั่วนั้นก็จะมีเมล็ดผิวขรุขระ แต่ถ้าในคู่นั้นมีหน่วยหนึ่งควบคุมผิวเรียบและอีกหน่วยหนึ่งควบคุมผิวขรุขระ (Ww-Heterozygote) ลักษณะเม็ดที่แสดงออกมานั้นเป็นเมล็ดผิวเรียบ เพราะลักษณะผิวขรุขระจะถูกข่มไว้ด้วยลักษณะผิวเรียบ แต่ลักษณะผิวขรุขระจะแสดงออกได้ในชั่วอายุต่อมาถ้าหากมีคู่ของมันเป็น ww ลักษณะที่มีคุณสมบัติข่มลักษณะที่ตรงข้ามได้นี้เรียกว่า ลักษณะเด่น (Dominance) และลักษณะที่ถูกข่มเรียกว่า ลักษณะด้อย (Recessive) ในตัวอย่างดังกล่าวข้างต้น ลักษณะผิวเรียบเป็นลักษณะเด่นและลักษณะผิวขรุขระเป็นลักษณะด้อย Mendel เองไม่มีความรู้หรือความเข้าใจในเรื่องเคมีและฟิสิกส์ของหน่วยกรรมพันธุ์ว่าเป็นอย่างไร แต่ตามความรู้สึกนึกคิดที่ได้จากผลการทดลองนี้ทำให้เขาเชื่อว่าหน่วยควบคุมกรรมพันธุ์นั้นคงจะเป็นหน่วยอิสระและมีเอกลักษณ์ในตัวของมันเองดังกล่าว

หลังจากการค้นพบผลงานของ Mendel ประกอบกับความก้าวหน้าทางการศึกษาด้าน Cytology โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมของ Chromosome ในขณะที่มีการแบ่งตัวของ Cell แบบ mitosis และ meiosis ทำให้ได้หลักฐานที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างกายถ่ายทอดกรรมพันธุ์ตามกฎของ Mendel และพฤติกรรมของ Chromosome ใน Germ Cell ได้ปรากฏเด่นชัดขึ้น และทำให้เกิดความเชื่อกันว่า Chromosome จะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับหน่วยควบคุมกรรมพันธุ์ของ Mendel อย่างแน่นอน จึงเรียกกฎนี้ว่า “Chromosome Theory of Heredity”

การศึกษาเกี่ยวกับการถ่ายทอดกรรมพันธุ์ได้เปลี่ยนสภาพจากการสังเกตมาเป็นการทดลองในห้องปฏิบัติการอย่างจริงจัง เพื่อที่จะค้นหากลไกของการถ่ายทอดลักษณะกรรมพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มนักชีววิทยาที่มหาวิทยาลัย Columbia ในสหรัฐอเมริกา โดยการนำของ Thomas Hunt Morgan เป็นผู้เริ่มโครงการทดลองอย่างจริงจัง โดยใช้แมลงหวี่ (Drosophila melanogaster) เป็นสัตว์ทดลอง ทั้งนี้เพราะว่าแมลงหวี่มีคุณสมบัติหลายประการที่เหมาะสมในการทดลองวิจัยกลไกของการถ่ายทอดกรรมพันธุ์ เช่น มีวงจรชีวิตสั้นประมาณ 2 อาทิตย์ มีขนาดเล็กพอประมาณที่จะสังเกตลักษณะต่าง ๆ ได้ด้วยตาเปล่าจนทำให้การเลี้ยงดูเป็นไปโดยง่าย และการสืบพันธุ์ของมันให้ผลดีโดยที่พ่อแม่คู่หนึ่งจะให้ลูกออกมาประมาณ 100-200 ตัว

  • Thomas Hunt Morgan (1866-1945)
    นักชีววิทยาชาวอเมริกัน ผู้ริเริ่มค้นคว้าการถ่ายทอดลักษณะกรรมพันธุ์โดยใช้แมลงหวี่ Morgan
    ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ ปี 1933

    (ที่มาภาพ: www.lindahall.org)

จากผลของการศึกษาค้นคว้าของ Morgan และผู้ร่วมงานของเขา ทำให้เป็นที่ทราบกันอย่างแน่ชัดว่าหน่วยควบคุมลักษณะกรรมพันธุ์ (Hereditary Factor) ตามความเข้าใจของ Mendel นั้น แท้จริงแล้วคือส่วนที่อยู่ที่ Chromosome ใน Cell ของสิ่งมีชีวิต ซึ่งหน่วยต่าง ๆ เหล่านั้นจะเรียงตัวใน Chromosome หนึ่ง ๆ แบบ Linear Order ในสภาพเช่นเดียวกับลูกแก้วที่ยึดร้อยอยู่ในเส้นเชือก นอกจากนั้นนักพันธุศาสตร์ยังมีวิธีทดลองที่จะคำนวณหาตำแหน่งของหน่วยกรรมพันธุ์ต่าง ๆ ได้อีกด้วย (Chromosome Mapping) ในปี 1909 หน่วยควบคุมลักษณะกรรมพันธุ์ที่เคยเรียกกันว่า Unit หรือ Factors ได้รับการตั้งชื่อใหม่ว่า Gene ซึ่งเป็นคำที่มาจากภาษากรีกมีความหมายว่า การให้กำเนิด (To Give Birth To) และการศึกษาเกี่ยวกับวิชาการถ่ายทอดกรรมพันธุ์ก็ได้ชื่อทางวิทยาศาสตร์ใหม่ว่า Genetics ซึ่งเป็นสาขาที่สำคัญอันหนึ่งของวิชาชีววิทยาในปัจจุบัน

ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปี 1910 จนถึงประมาณปี 1940 การศึกษาเกี่ยวกับหลักพื้นฐานวิชา Genetics ได้รับความรู้เพิ่มเติมอย่างรวดเร็ว Dr. H.J. Muller เป็นผู้ร่วมงานคนสำคัญคนหนึ่งในกลุ่มของ Morgan โดย Muller ได้ค้นพบปรากฏการณ์ที่สำคัญยิ่งประการหนึ่ง คือ การเกิด Mutation ของ Gene ในสิ่งมีชีวิต อันเป็นพื้นฐานสำหรับการศึกษาเรื่อง Genes เป็นอย่างดี Muller แสดงให้เห็นว่า Gene ใน Chromosome นั้นมิได้มีสภาพคงที่ตลอดกาล แต่อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปจากสภาพเดิมได้ (Gene Mutation) ในอัตราที่แตกต่างกันออกไปของแต่ละ Gene และที่สำคัญ คือ เราสามารถทำให้ Gene เกิด Mutation ได้ในอัตราที่เร็วกว่าปกติได้โดยใช้พลังงานภายนอกเข้าช่วยกระตุ้น เช่น พวก High-Energy Radiation (X-rays และ Gamma-rays) โดยปกติ Gene ที่ทำหน้าที่ควบคุมลักษณะหนึ่ง ๆ จะสร้างตัวมันขึ้นมาเองโดยกระบวนการที่เรียกว่า Replication และในกระบวการนี้อาจเกิดความผิดพลาดถึงระดับที่อาจให้เกิดลักษณะที่ผิดไปจากลักษณะปกติเดิมที่มีอยู่ เช่น การสร้าง Melanin Pigment ในคนที่ทำให้เกิดเป็นผิวสีเนื้อดำแดงหรือดำมืด (พวกนิโกร) เป็นผลจากการควบคุมของ Gene ถ้า Gene ดังกล่าวเกิดเปลี่ยนไปจนทำให้การสร้าง Melanin Pigment ไม่สมบูรณ์ ซึ่งจะเป็นผลทำให้บุคคลนั้นขาด Melanin Pigment และกลายเป็นคนเผือก (Albino) ที่ผิดจากคนปกติไป และลักษณะใหม่ที่ถ่ายทอดไปยังลูกหลานตามกฎของการถ่ายทอดกรรมพันธุ์ทุกประการ ความจริงเกี่ยวกับปรากฏการณ์ Gene Mutation เป็นข้อสนับสนุนทฤษฎีวิวัฒนาการของ Darwin ในเชิงของ Natural Selection ซึ่งจำเป็นจะต้องมี Variation ในแต่ละหน่วยสิ่งมีชีวิต (Organism) ซึ่งคงจะมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของ Gene เป็นปฐมเหตุ จากการค้นพบของ Muller โดยใช้ X-rays เป็นเครื่องมือช่วยทำให้เกิด Mutation ในอัตราที่สูงกว่า Spontaneous Mutation ที่เป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติอยู่แล้ว ทำให้การศึกษาคุณสมบัติของการทำงานของ Gene เป็นไปด้วยดีและรวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการศึกษาของ Dr. G.W. Beadle และ Dr. B.L. Tatum ให้ประสบผลสำเร็จในการค้นพบหน้าที่การทำงานของ Gene ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับ Enzyme ในเชื้อราขนมปัง (Neurospora crassa) และในกระบวนการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตทั่วไป

ความจริงความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยควบคุมกรรมพันธุ์หรือที่เรียกว่า Gene กับสารประกอบพวก Enzyme นั้นได้มีการศึกษาและคาดการณ์ไว้ก่อนแล้วตั้งแต่ตอนต้นศตวรรษที่ 20 โดยนายแพทย์และนักชีวเคมีชาวอังกฤษ Sir Archibald E. Garrod ซึ่งได้ศึกษาทางชีวเคมีของโรคบางชนิด เช่น โรค Alkaptonuria ซึ่งพบว่าเกิดจากการขาด Enzyme ที่เป็นตัวช่วยในการเกิดปฏิกิริยาเคมีในกระบวนการ Metabolism ของ Tyrosine ซึ่งเป็นสารประกอบ Amino Acid ชนิดหนึ่ง โรค Alkaptonuria มีอาการที่เห็นได้ง่ายคือเมื่อบุคคลนั้นปัสสาวะออกมา ปัสสาวะถูกก๊าซออกซิเจนแล้วกลายเป็นสีดำคล้ำซึ่งผิดไปจากปัสสาวะของคนปกติ การเกิดมีสีดำของปัสสาวะเนื่องจากในปัสสาวะมีสารประกอบชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Homogentisic Acid ปริมาณมากกว่าคนปกติ ทีเป็นเช่นนั้น Garrod เข้าใจว่าคนที่เป็นโรคนี้ขาด Enzyme ในการเปลี่ยน Homogentisic Acid ไปเป็นสารประกอบอื่นต่อไปจนได้ CO2 และ H2O ในที่สุดเหมือนอย่างที่เกิดขึ้นในคนปกติ และพบว่าโรคชนิดนี้มีประวัติการถ่ายทอดไปสู่รุ่นลูกและหลานได้ตามลักษณะกรรมพันธุ์แบบ Autosomal Recessive ด้วยความสนใจในวิชาการด้านนี้ Garrod จึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์และการขาด Enzyme ไว้ในหนังสือเรื่อง “Inborn Errors of Metabolism” แต่นักชีววิทยาและผู้สนใจในพันธุศาสตร์ยังมองข้ามความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องการทำงานของ Gene นี้ไปจนกระทั่ง G.W. Beadle กับ B.L. Tatum ได้ให้ความสนใจในการศึกษาถึงกลไกการทำงานของ Gene อย่างแท้จริง ซึ่งอาจนับว่าเป็นการเริ่มต้นการศึกษาในแขนง Molecular Genetics อันเป็นพื้นฐานของวิชาการด้าน Molecular Biology อีกด้วย

ตามประวัติของการค้นพบที่สำคัญ ๆ ในทางวิทยาศาสตร์ ต้องอาศัยความสามารถ ความเฉลียวฉลาดรอบรู้ และความนึกคิดที่มองการณ์ไกลอย่างลึกซึ้งของแต่ละบุคคล นอกจากนี้อาจต้องอาศัยกาลเวลาที่เหมาะสมเป็นเครื่องอำนวยด้วย หรืออีกนัยหนึ่งที่มีบางคนชอบเรียกว่าต้องอาศัย Luck! การค้นพบที่สำคัญของ Beadle กับ Tatum ในการทดลองศึกษาในเชื้อราขนมปัง (Neurospora) จนได้ผลสรุปเป็นสมมติฐานว่า “One gene-one enzyme hypothesis” ก็อาจมีความจริงในเรื่องนี้อยู่บ้าง ดังจะเห็นได้ว่า Beadle เป็นนักชีววิทยาที่มีความรู้พื้นฐานและประสบการณ์อย่างดีในการศึกษาทดลองทาง Genetics ทั้งในแมลงหวี่ (Drosophila melanogaster) และในข้าวโพด (Zea mays) ในขณะเดียวกันนั้นได้เรียนรู้จากการสัมมนาของ Dr. B.O. Dodge ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของ Neurospora ในการวิจัยและศึกษา Genetics ในทำนองเดียวกัน Tatum เป็นนักชีวเคมีและมีโอกาสเรียนรู้การวิจัยระดับ Postdoctoral กับ Dr. F. Kogh แห่งมหาวิทยาลัย Utrecht ผู้ซึ่งในขณะนั้นเพิ่งค้นพบสารประกอบ Biotin ซึ่งเป็น Vitamin B ชนิดหนึ่ง และในขณะเดียวกัน Tatum ก็ได้มีโอกาสทำงานในห้องปฏิบัติการเดียวกันกับ Dr. N. Fries ผู้มีความรู้เป็นอย่างดีเกี่ยวกับการสังเคราะห์อาหารที่จำเป็นในการเพาะเลี้ยงเชื้อรา Neurospora ในห้องปฏิบัติการ จากความรู้ที่ว่า Vitamin Biotin เป็นสารประกอบชนิดเดียวที่เชื้อรา Neurospora ไม่สามารถจะสังเคราะห์ขึ้นมาด้วยตัวมันเองได้ และจำเป็นที่จะต้องใส่เข้าไปในสารอาหารเพาะเลี้ยงด้วย เมื่อ Beadle และ Tatum ได้มีความสนใจในเรื่องการทำงานของ Gene และเมื่อได้มีโอกาสมาทำงานร่วมกันในเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการวิจัยทดลองใน Neurospora จึงเป็นโอกาสทองของการค้นพบที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง และผลงานของทั้งสองท่านนี้ได้รับการยอมรับจนได้รับรางวัลโนเบล สาขาแพทย์และสรีรวิทยา ในปี 1958

การค้นพบที่สำคัญอีกประการหนึ่งในการศึกษาการถ่ายทอดกรรมพันธุ์ คือส่วนประกอบโครงสร้างทางเคมีของหน่วยถ่ายทอดกรรมพันธุ์ หรือ Gene เป็นที่ทราบกันดีมาเป็นเวลานานตั้งแต่ในปลายศตวรรษที่ 19 ว่า ส่วนประกอบทางเคมีที่สำคัญที่สุดของ Nucleus ของเซลล์ที่นอกเหนือไปจากสารประกอบ Protein คือสารประกอบ Nucleic acid ซึ่งค้นพบโดยนักเคมีชาวสวิสชื่อ Friedrich Miescher ซึ่งเราเรียกชื่อสารประกอบกลุ่มนี้ในขณะนั้นว่า Nuclein (เนื่องจากเป็นสารประกอบที่พบใน Nucleus เป็นส่วนมาก) และต่อมาได้มีการศึกษาทางด้านเคมีของสารประกอบ Nucleic acid และพบว่ามี 2 ประเภท คือ Deoxyribonucleic acid (ชื่อย่อว่า DNA) และ Ribonucleic acid (ชื่อย่อว่า RNA) สารทั้งสองประเภทนี้มีองค์ประกอบต่างกันตรงที่ Pentose Sugar และ Nitrogenous Base

  • Dr. O.T. Avery (1877-1955)
    นายแพทย์ชาวอเมริกัน ผู้ทำการทดลองว่า ดีเอ็นเอ เป็นส่วนประกอบที่ใช้สร้างยีนและโครโมโซม

    (ที่มาภาพ: www.britannica.com)

ประมาณปี 1944 Dr. O.T. Avery นายแพทย์ชาวอเมริกันได้สนใจศึกษาคุณสมบัติการถ่ายทอดกรรมพันธุ์ในปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Transformation ที่พบใน Pneumococcus Bacteria ซึ่งพบครั้งแรกโดยนายแพทย์ชาวอังกฤษชื่อ Dr. F. Griffith เมื่อประมาณปี 1928 โดย Avery ได้มุ่งความสนใจในการที่จะค้นหาความจริงของปรากฏการณ์ Transformation นี้ว่าเป็นสารประกอบเคมีชนิดใด เพราะว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดกรรมพันธุ์โดยตรง จากการศึกษาอย่างละเอียดถี่ถ้วนโดยอาศัยความสามารถ ความชำนาญงาน ประกอบกับการวางแผนการทดลองที่ดี ทำให้ Avery ได้ค้นพบสิ่งสำคัญที่สุดสิ่งหนึ่งคือ DNA เป็นสารประกอบที่เกี่ยวข้องกับการเกิด Transformation นั่นคือ DNA เป็น Genetic Material ซึ่งต่อมาได้เป็นที่ยอมรับกันว่า Gene มีส่วนประกอบที่แท้จริงเป็น DNA ไม่แต่เฉพาะใน Bacteria เท่านั้น แต่รวมถึงสิ่งมีชีวิตทุกชนิดรวมทั้งมนุษย์เราด้วย (ยกเว้นพวก Virus บางชนิดเท่านั้นที่มี RNA เป็น Genetic Material) ต่อมาในปี 1953 ได้มีการค้นพบที่สำคัญยิ่งในการศึกษาพันธุกรรม คือ การค้นพบโครงสร้างทางเคมีของสารประกอบ DNA โดย Dr. J.D. Watson นักชีววิทยาชาวอเมริกัน และ Dr. H.F.C. Crick นักฟิสิกส์ชาวอังกฤษ ในขณะที่ Watson ร่วมทำงานวิจัยระดับ Postdoctoral กับ Crick ที่มหาวิทยาลัย Cambridge โดยอาศัยความรู้และเทคนิคก้าวหน้าทางด้านเคมีและฟิสิกส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ภาพถ่าย X-ray Diffraction ของผลึก DNA ที่มีการพัฒนาจนเป็นที่เชื่อถือได้ในห้องปฏิบัติการของ Dr. M.H.F. Wilkins แห่ง King's College ของมหาวิทยาลัยลอนดอน โครงสร้างของ DNA ตามแบบจำลองของ Watson-Crick เป็นโครงสร้างแบบ Double helix ของสองสาย (Chain) ของ Polynucleotide ของ DNA ที่ยึดเหนี่ยวกันด้วย H-bond ตรง Nitrogenous Compounds ซึ่งได้แก่พวก Purine (Adenine และ Guanine) และ Pyrimidine (Thymine และ Cytosine) โดยที่ Adenine (A) จะจับคู่กับ Thymine (T) และ Guanine (G) จะจับคู่กับ Cytosine (C) และมีสารประกอบ Sugar-phosphate ทำหน้าที่เป็นโครงสันกลาง เปรียบเสมือนกับขั้นบันไดที่หมุนตัวไปรอบแกนกลาง Watson-Crick DNA Model ช่วยให้การอธิบายคุณสมบัติและพฤติกรรมของ Gene โดยทั่วไปได้เหมาะสมดีที่สุดทุกประการ เช่น การเกิด Replication ของ Gene และการเกิดปรากฏการณ์ Gene Mutation เป็นต้น จึงนับได้ว่าการค้นพบทางวิชาการชีววิทยาที่ยิ่งใหญ่และเป็นพื้นฐานของการศึกษาถึงปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตทั้งมวล จนได้รับความสำเร็จเป็นอย่างมากรวมทั้งชีววิทยาของมนุษย์ในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์และทางการเกษตรโดยทั่วไปอีกด้วย ผลของการค้นพบที่สำคัญนี้ทำให้ Watson, Crick และ Wilkins ได้รับรางวัลโนเบลในปี 1962

ในกระบวนการ Replication ของ DNA โมเลกุลของ DNA จะยืดออกและทั้งสองสายของ Polynucleotide จะแยกออกจากกันตรงบริเวณ H-bond ซึ่งกระบวนการนี้จะเกิดขึ้นในขณะที่มีสภาพแวดล้อมภายในที่เหมาะสม เช่น มีสารประกอบที่จำเป็นสำหรับการสังเคราะห์ DNA พร้อมกับมี Enzyme และพลังงานที่จำเป็นอยู่ครบครันในบริเวณนั้น โดยที่สายเดิมของ Polynucleotide ทั้ง 2 สาย จะทำหน้าที่เป็นแม่แบบสำหรับการสังเคราะห์เป็นโมเลกุลของ DNA ขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะเหมือนกับ DNA เดิมทุกประการ หน้าที่การทำงานของ Gene มีความสัมพันธ์โดยตรงกับ Enzyme ตามสมมติฐานของ Beadle กับ Tatum ปัจจุบันเราทราบแน่นอนแล้วว่า DNA มีคุณสมบัติและหน้าที่สำหรับควบคุมการสังเคราะห์ Enzyme และสารประกอบ Protein อื่นโดยทั่วไป กระบวนการและกลไกของการควบคุมการสังเคราะห์ Protein เป็นไปโดยที่โมเลกุลของ DNA ที่อยู่ในสภาพ Double helix จะแยกตัวเองออกเป็น 2 Chains ของ Polynucleotide เช่นเดียวกับในกระบวนการ DNA Replication ดังกล่าวข้างต้น และโมเลกุลของ RNA ซึ่งเป็น Single Chain จะถูกสร้างขึ้นมาจากแม่พิมพ์ของ Chain หนึ่งของ DNA ซึ่งโมเลกุลของ RNA ที่สร้างขึ้นมาใหม่นี้จะเป็นตัวนำพารหัสจาก DNA แล้วผ่านจาก Nucleus ไปสู่ Cytoplasm ณ บริเวณ Ribosome ซึ่งอยู่รอบ ๆ Endoplasmic Reticulum โดยเรียก RNA ประเภทนี้ว่า Messenger RNA (หรือ mRNA) กระบวนการสังเคราะห์ Protein เกิดขึ้นโดยการแปลรหัสจาก mRNA ไปสู่สภาพการเรียงตัวของ Amino acid ในโมเลกุลของ Protein ที่จะถูกสังเคราะห์ขึ้นมา โดยอาศัย RNA อีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Soluble RNA (s-RNA) หรือ Transfer RNA (t-RNA) ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแปลรหัส ทั้งนี้โดยอาศัย Enzyme และพลังงานที่มีอยู่ช่วยในการเกิดปฏิกิริยาการเปลี่ยนแปลงทางเคมีที่เกิดขึ้นในกระบวนการดังกล่าว Protein ที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นมานี้จะอยู่ในสภาพของ Long Chain ของ Amino Acid ในตำแหน่งเฉพาะที่ของตัวมันตามลักษณะการเรียงตัวของ Base ที่อยู่ในโมเลกุลของ DNA

  • Francis Crick (1916-2004) and James Watson (1928)
    ทั้งสองท่านได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ ปี 1962 ร่วมกับ Maurice Wilkins

    (ที่มาภาพ: www.sciencehistory.org)

ย่อมเป็นที่ยอมรับกันดีว่าในสิ่งมีชีวิตทุกชนิดประกอบด้วยหน่วยย่อยที่สำคัญคือ Cell ซึ่งภายในจะมีส่วนประกอบที่เรียกว่า Nucleus ซึ่งเป็นแหล่งที่สำคัญที่สุดในการดำรงชีวิตและการถ่ายทอดกรรมพันธุ์ นั่นคือส่วนที่เรียกว่า Chromosome ในสิ่งมีชีวิตที่มีการสืบพันธุ์แบบ Sexual Reproduction เช่น ในพืชและสัตว์ชั้นสูงทั่วไปรวมทั้งคนเราด้วยจะมี Cell ที่ทำหน้าที่แตกต่างกันอยู่ 2 ประการ คือ Somatic Cell ได้แก่ Cell ของร่างกายทั่วไปที่มีการเจริญและเพิ่มจำนวนมากขึ้นโดยการแบ่งตัวแบบ Mitosis และอีกส่วนหนึ่งคือ Germ Cell ซึ่งทำหน้าที่โดยเฉพาะเกี่ยวกับการสืบพันธุ์และถ่ายทอดกรรมพันธุ์ โดยมีกระบวนการสร้างไข่กับสเปิร์ม (Sperm) แบบ Meiosis ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดจำนวน Chromosome ลดลงครึ่งหนึ่งของจำนวน Chromosome ใน Cell ปกติ เช่น ปกติคนเราใน Cell หนึ่ง ๆ จะมีจำนวน Chromosome อยู่ 46 Chromosome หรือ 23 คู่ ส่วนในไข่หรือสเปิร์มจะมีโครโมโซมเพียงครึ่งเดียวคือ 23 โครโมโซมเท่านั้น เมื่อไข่กับสเปิร์มผสมกันก็จะได้ Zygote เกิดขึ้น ซึ่งจะมีจำนวน Chromosome เป็น 46 เท่ากับจำนวน Chromosome ใน Cell ของพ่อ และใน Cell ของแม่ ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นเช่นนี้จะเป็นช่วงที่เชื่อมโยงระหว่างพ่อ-แม่และลูกในกระบวนการถ่ายทอดกรรมพันธุ์ ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการสำคัญที่สุดของสิ่งมีชีวิตทั้งมวลในการที่จะดำรงรักษาไว้ซึ่งเชื้อพันธุ์ตระกูลของสิ่งมีชีวิตนั้น ๆ สืบต่อไป

อาจกล่าวได้ว่า Chromosome เป็นแหล่งรวมกลุ่มของ Gene ใน Chromosome คู่หนึ่ง ๆ (ที่เรียกว่า Homologous Chromosome) จะมีจำนวน Gene อยู่มากมายแล้วแต่ขนาดและความยาวของ Chromosome นั้น ๆ สภาพการของการอยู่ร่วมกันหลาย ๆ Gene ใน Chromosome หนึ่งนี้เรียกว่า Linkage เช่น ในคนจะมีอยู่ 23 Linkage Groups แต่เนื่องจากมี Chromosome ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวกับการบอกเพศที่เรียกว่า Chromosome X และ Y ถ้าเป็นในเพศหญิงจะมี Autosome 22 คู่ Sex Chromosome ที่เป็น XX ส่วนในเพศชายก็จะมี Autosome 22 คู่ กับ Sez Chromosome ที่เป็น X และ Y โดยทั่วไปแล้ว Y Chromosome ถือว่ามี Gene อยู่น้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับ X Chromosome และทั้ง Chromosome X และ Y ก็แตกต่างกันด้วยทั้งในด้านโครงสร้างและรูปร่าง ดังนั้นเราอาจกล่าวได้ว่าในเพศชายจะมีอยู่ 24 Linkage Groups ตามคุณสมบัติของ Chromosome X และ Y

เป็นที่น่าสังเกตว่า Gene ที่อยู่ใน Chromosome เดียวกันนั้นจะมีพฤติกรรมการเคลื่อนที่ไปมาพร้อม ๆ กัน และไม่ควรจะแยกออกจากกันได้ตามคุณสมบัติและพฤติกรรมของ Chromosome นั้นในขณะที่มีการแบ่งตัวของ Cell แต่ความจริงแล้ว Gene ที่อยู่ใน Chromosome เดียวกันนั้นอาจแยกออกจากกันได้ตามปรากฏการณ์ธรรมชาติของ Chromosome ซึ่งในบางครั้งอาจมีการแลกเปลี่ยนชิ้นส่วนของ Homologous Chromosome โดยกระบวนการที่เรียกว่า Crossing Over อันเป็นผลทำให้เกิดมีการสลับที่ของชิ้นส่วน Chromosome ซึ่งหมายถึงการทำให้เกิด Recombination ของ Gene เกิดขึ้น ปรากฏการณ์เช่นนี้มีความสำคัญยิ่งสำหรับสิ่งมีชีวิต เนื่องจากเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดมี Variation ของสิ่งมีชีวิตในตระกูลเดียวกันหรือแม้กระทั่งในครอบครัวเดียวกัน

เนื่องจากการแยกตัวของ Chromosome คู่หนึ่ง ๆ ในการแบ่งตัวของ Gene Cell เป็นไปอย่างอิสระไม่มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอนหรือแบบสุ่ม (Random) ดังนั้นในการสร้าง Gamete ในเพศหญิงหรือเพศชายก็ตามจะพบว่าไข่หรือสเปิร์มที่ถูกสร้างขึ้นมาจะมีความแตกต่างกันทางด้านพันธุกรรมอย่างมาก ซึ่งถ้าคิดตามหลักความน่าจะเป็นไปได้แล้ว ในแต่ละเพศจะมีโอกาสที่มี Gamete ได้มากถึง 223 ชนิดด้วยกัน หรือประมาณมากกว่า 8 ล้านชนิด ดังนั้น จึงไม่เป็นที่น่าสงสัยเลยว่าเหตุใดพี่น้องในครอบครัวเดียวกันจึงจะมีโอกาสเหมือนกันทุกประการได้ยากมาก (ยกเว้นพวก Identical Twin) และในทำนองเดียวกันจะไม่พบว่ามนุษย์ในโลกที่มีอยู่มากกว่า 3 พันล้านคนนั้นมีองค์ประกอบทางพันธุกรรมและรูปร่างลักษณะภายนอกที่เหมือนกันทุกประการเลย จึงอาจกล่าวได้ว่าความละม้ายคล้ายคลึงหรือความแตกต่างกันนั้นจะมากหรือน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับ Gene ที่มีอยู่ใน Chromosome ของไข่หรือสเปิร์มที่มาปฏิสนธิกันเป็น Zygote

จากความรู้เกี่ยวกับการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ในปัจจุบัน เราอาจกล่าวได้ว่าสิ่งมีชีวิตโดยทั่วไปมีความสำคัญอยู่ที่คุณสมบัติและพฤติกรรมของ DNA และสารประกอบอื่น เช่น RNA และ Proteins รวมทั้งส่วนประกอบกับโครงสร้าง พวก Membrane, Cell, Tissue และ Organ ความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ของสิ่งมีชีวิตประกอบกับสภาพธรรมชาติภายนอกคงจะเป็นส่วนที่มีผลสะท้อนใน Behavior และ Intelligence และอาจมีผลกระทบไกลออกไปถึงภาษาและวัฒนธรรมความเจริญของมนุษย์เราด้วย

Gene มีบทบาทและหน้าที่ในการควบคุมและดำเนินการในกระบวนการเจริญเติบโต (Development) ของร่างกาย จากระยะเริ่มต้นใน Zygote ผ่านช่วงระยะที่เป็น Embryo ไปจนถึงระยะเจริญเติบโตเต็มที่เป็นร่างกายที่สมบูรณ์และสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ จนสามารถที่จะทำหน้าที่สืบพันธุ์เพื่อถ่ายทอดลักษณะกรรมพันธุ์ไปสู่ลูกหลานต่อไปเพื่อการอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ของตัวเอง นั่นคือสิ่งจำเป็นและสำคัญยิ่งสำหรับ Life

  • References : - Beadle, G. W., & Beadle, M. The language of life. An introduction to the science of genetics. London : Doubleday, 1966.
  • - Carlson, E.A. The Gene: A Critical History. London : W.B. Saunders, 1966.
  • - Moore, R. The Cort of Life. New York : Alfred A. Knopf, 1961.
  • - Srb, A. M., Owen, R. D. and Edgar, R. S. (1965). General Genetics. London : W.H. Freeman, 1965.
  • - Watson, J.D. The Double Helix. New York : Atheneum, 1968.
  • - Whittinghill, M. Human Genetics and Its Foundations. New York : Reinhold Publishing Corporation, 1965.

  • เรียบเรียงจาก : วิสุทธิ์ ใบไม้. (2518). การค้นพบหลักพื้นฐานพันธุศาสตร์. ปัญญา. 2(5): 21-33.