หน้าหลัก > เอกสารและสิ่งพิมพ์ > บทความพิเศษ

จากศิษย์ถึงอาจารย์

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยอดหทัย เทพธรานนท์

ราว 40 ปีที่แล้วมา เป็นช่วงที่เริ่มตระหนักว่าประเทศจะเจริญได้ ต้องอาศัยความรู้และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่เนื่องจากประเทศไทยยังล้าหลังในเรื่องดังกล่าวมาก เมื่อเทียบกับประเทศในโลกตะวันตก จึงมีการผลักดันให้คนเก่งหันมาเรียนวิทยาศาสตร์ และจัดหาทุนให้ไปเรียนในต่างประเทศจนจบระดับปริญญาเอก โดยมีจุดประสงค์ให้บุคคลเหล่านี้ได้กลับมาเป็นอาจารย์ทำหน้าที่สอนและวิจัย เป็น “แม่แบบ” ที่จะผลิตลูกศิษย์นักวิทยาศาสตร์ที่มีทักษะทางการวิจัยขึ้นเองในประเทศไทย

บุคคลสำคัญที่เป็นกำลังสำคัญที่สุดในการจัดการในเรื่องดังกล่าวคือ ท่านศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข หรือที่พวกลูกศิษย์เรียกท่านด้วยความรักและเคารพว่า “อาจารย์สตางค์”


ศ. ดร.สตางค์ มงคลสุข ผู้ก่อตั้งและคณบดีท่านแรกของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์)

“อาจารย์สตางค์” เรียนจบปริญญาเอกทางสาขาอินทรีย์เคมี จากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ และกลับมาเป็นอาจารย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านเป็นผู้ก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตามด้วยคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ต่อมาเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยมหิดล) เป็นอาจารย์ที่รักการวิจัยเป็นชีวิตจิตใจ ดังจะเห็นได้จากการที่ท่าน ทำประตูเปิดจากห้องทำงานของท่าน (ขณะนั้นคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ อยู่ที่ถนนศรีอยุธยา ตรงข้ามโรงเรียนอำนวยศิลป์) เข้าไปในห้องทดลองวิจัยได้โดยตรง และพวกเราที่เป็นลูกศิษย์จะเห็นท่านขลุกอยู่กับการทดลองเคมีทุกเวลาที่ท่านมีเวลาว่าง ณ ที่นี่เองที่ท่านอาจารย์ได้ชักชวนและให้ทุนแก่นักศึกษาเตรียมแพทย์เชียงใหม่ เตรียมแพทย์กรุงเทพ (กลุ่มที่จะไปเรียนแพทย์ต่อที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯและศิริราช) เตรียมทันตแพทย์และเภสัช หลายสิบคนที่มีผลการเรียนดี ให้ไปเรียนวิทยาศาสตร์ในสาขาวิชาต่าง ๆ โดยทุนรัฐบาลไทยเองหรือจากต่างประเทศจนถึงระดับปริญญาเอก

ลูกศิษย์ของอาจารย์สตางค์กลุ่มนี้ ส่วนใหญ่กลับมาปฏิบัติงานเป็นอาจารย์สอนและทำวิจัยอยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และจัดว่าเป็นกลุ่มที่โดดเด่นมากทางด้านการวิจัย เพราะผลิตผลงานที่ดีได้เป็นจำนวนมากที่สุดในประเทศเรื่อยมา จนไม่นานมานี้เองที่บุคคลกลุ่มที่มีอายุใกล้เคียงกันกลุ่มนี้ได้เกษียณอายุราชการไปจนเกือบหมด

สำหรับประวัติโดยละเอียดของท่านอาจารย์นั้นมีการบันทึกไว้ในหนังสือหลายเล่ม แต่ทุกคนที่ได้รู้จัก ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข จะต้องยอมรับว่าท่านเป็นแบบตัวอย่างที่ดีที่สุดของ mentor ในฐานะที่ท่านเป็นผู้ริเริ่มคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต่อด้วยการก่อตั้งคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ท่านจะมีลูกศิษย์ลูกหาและเพื่อนร่วมงานมากมาย โดยเฉพาะพวกที่เป็นลูกศิษย์และศึกษาต่อจนจบกลับมาเป็นอาจารย์นั้น ดูจะมีความผูกพันกับท่านเป็นพิเศษ ทุกคนล้วนแต่รักและบูชาอาจารย์ และยึดเอาท่านเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต นอกจากนั้นยังชอบอ้างคำพูด คำสั่งสอน ตลอดจน “คำด่า” ของท่านให้เพื่อนฝูงและลูกศิษย์ของตนเองที่เคยได้ยินชื่ออาจารย์สตางค์แต่ไม่เคยได้รู้จักสัมผัสด้วยตนเอง ได้รับฟังกันอยู่จนปัจจุบัน

ผู้เขียนโชคดีที่มีโอกาสได้เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์สตางค์ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตระหว่างที่จบจากโรงเรียนเตรียมอุดมฯนุ่งกางเกงขาสั้น และเข้ามหาวิทยาลัย เรียนจนจบปริญญาตรี ต่อด้วยการทำปริญญาโท โดยมีท่านเป็น supervisor จนกระทั่งท่านกรุณาจัดหาทุนส่งไปเรียนต่อปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษ การที่มีโอกาสใกล้ชิดกับอาจารย์สตางค์ ทำให้ได้เห็นวิธีการทำงาน วิธีคิดคำสอนและการพูดคุยในแง่มุมและโอกาสต่าง ๆ ที่เล่ากันไม่รู้จบ



ศ.เกียรติคุณ ดร.ยอดหทัย เทพธรานนท์
(ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์)


โดยปกติอาจารย์สตางค์จะใช้คำแทนตัวเองว่า “ฉัน-เธอ” แต่ทุกคนที่เป็นลูกศิษย์ที่สนิทกับท่านก็จะทราบว่าเวลาที่อยู่กันไม่มาก หรืออยู่กับท่านสองต่อสอง ท่านชอบใช้ “อั๊ว-ลื้อ” มากกว่า ท่านชอบเขกหัวเวลาที่เราทำผิด หรือแม้แต่ในตอนที่ท่านแสดงความเมตตา แต่จะถึงกับเตะก้นเวลาที่โมโหมาก ๆ โดยเฉพาะกับลูกศิษย์ที่สนิท

“พวกรุ่นพี่จะมาบังคับรับน้องใหม่พวกเธอ ไม่ต้องไปทำตามเขานะ เขาอยู่แค่ปีสอง สูงกว่าพวกเธอปีเดียว ไม่ต้องให้พวกเขามาสั่งทำอะไรบ้า ๆ นะ ที่นี่อยู่กันแบบพี่-น้องดีกว่า”

เป็นประโยคที่ได้ยินจากอาจารย์ในห้องเล็คเชอร์ ที่ท่านเข้ามา “ปฐมนิเทศ” ซึ่งความจริงก็ไม่ได้มีพิธีรีตองอะไรเป็นพิเศษหรอก แต่เป็นการให้โอวาทพูดคุยแบบ “พ่อ-ลูก” มากกว่า

นักศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์ (มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ในขณะนั้น หรือมหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน) จึงถือปฏิบัติตามคำสั่งสอนของอาจารย์ โดยอยู่กันแบบพี่น้องตั้งแต่สมัยนั้นมาจนถึงปัจจุบัน

ปัจจัยหนึ่งของความสำเร็จท่านด้านการวิจัยของกลุ่ม “ลูกศิษย์อาจารย์สตางค์” ก็คงมีสาเหตุจากความรู้สึกเป็นพี่น้องกันนี่เอง เพราะพวกเราสามารถพูดคุยกันได้ในทุกเรื่อง สามารถวิจารณ์ผลงานตีพิมพ์ของรุ่นพี่ รุ่นเพื่อนหรือรุ่นน้อง ได้อย่างตรงไปตรงมา ไม่เกรงใจกัน ซ้ำบางทียังเยาะเย้ยถากถางแบบสนิทกัน ในกรณีที่คนใดคนหนึ่งไปตีพิมพ์ผลงานวิจัยที่ไม่ค่อยดีในวารสารวิทยาศาสตร์ระดับที่มี Impact Factor ต่ำ ๆ ทุกเวลาอาหารเที่ยงจะเป็นช่วงที่พวกเรารอคอยที่จะได้ร่วมโต๊ะอาหาร เล่าว่าเราได้ทำอะไรเก่งๆ มา อ่านงานวิจัยอะไรดี ๆ มา หรือเยาะเย้ยว่าเพื่อนไปทำอะไร “ไม่เข้าท่า” มาบ้าง วัฒนธรรมนี้จึงเปรียบเสมือนระบบ ”peer review” ของพวกเราเองทำให้เราต้องระวังตัวไม่ให้เพื่อนฝูงเยาะเย้ยเอาได้ ความรู้สึกนี้ติดตัวผู้เขียนมาตลอด เพราะมีบางครั้งที่งานวิจัยจบลงอย่างไม่ค่อยดี แต่อยากจะเขียนบทความจากงานวิจัยนั้นส่งไปพิมพ์ในวารสารระดับรอง ๆ ให้เสร็จสิ้นเป็นการจบโครงการก็ไม่กล้า เพราะกลัวเพื่อนฝูงจะหัวเราะเยาะเอา

“พวกเราต้องขยันเรียนนะ โดยเฉพาะพวกที่มาจากครอบครัวยากจนจะได้เป็นที่พึ่งให้แก่ครอบครัวให้ลืมตาอ้าปากได้”


ศ.เกียรติคุณ ดร.ยอดหทัย เทพธรานนท์ (ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์)

อาจารย์เข้ามาสอนวิชาอินทรีย์เคมีให้แก่พวกเราด้วยตนเอง ท่านมีวิธีสอนที่เข้าใจง่าย และเกือบไม่เคยขาดชั่วโมงสอน ทั้ง ๆ ที่มีภาระงานอื่น ๆ มากเหลือล้น ท่านจะสอนไปอบรมพวกเราไปเหมือนกับเป็นลูกของท่านเองพวกเราเรียนรวมกันในห้องเล็คเชอร์ใหญ่ ซึ่งประกอบไปด้วย นักศึกษาแพทย์กรุงเทพฯ แพทย์เชียงใหม่ ทันตแพทย์ และเภสัช จิตวิทยาที่ท่านใช้เสมอคือ การพร่ำบอกว่าพวกเราเป็นหัวกะทิและเป็นความหวังของประเทศ อันทำให้พวกเราหัวใจพองโตแต่ก็ไม่มีใครเหลิง ท่านสอนไปพร้อมกับถามคำถามพวกเราไปด้วย พวก “ตัวร้าย” บางคนก็จะถูกถามมากเป็นพิเศษ เมื่อตอบไม่ได้ก็จะ ถูกเอ็ดว่า “โง่” ซึ่งคำว่าโง่นี้ใช้เป็นประจำกับลูกศิษย์ทุกคน พวกเราแน่ใจว่าเราคงไม่โง่ดังที่ท่านว่ากล่าวแน่ ๆ

แต่สิ่งที่เป็นคุณสมบัติพรสวรรค์ของท่านก็คงจะเป็นแววตาของท่านที่แสดงออกถึงความรักและเมตตา แม้ภาษาที่ท่านใช้ดุว่าในบางครั้งอาจดุเดือดรุนแรง แต่แววตาที่ฉายออกมากลับตรงกันข้ามกับสิ่งที่ท่านกล่าวโดยสิ้นเชิง ซ้ำพวกเราก็ชอบแอบเห็นท่านซ่อนยิ้มเวลาที่เพื่อนเราถูกเอ็ดและกลัวจนลนลานเสียอีกด้วย พวกเราจึงไม่เคยถือสาที่ถูกอาจารย์ดุด่า ซ้ำบางคนอาจถือเป็นโชคไปเสียอีก ตรงนี้ที่มาอาจารย์สตางค์แตกต่างจากผู้ใหญ่หลายท่านที่บางทีจะแสดงกิริยาแววตาที่เกลียดชังเวลาว่ากล่าวลูกศิษย์

“วิชาวิทยาศาสตร์ เป็นรากฐานที่สำคัญที่สุดของศาสตร์ทั้งหลาย พวกเธอรู้ไหม ในต่างประเทศโดยเฉพาะในประเทศอังกฤษนั้น คนเก่งจะเรียนวิทยาศาสตร์ ส่วนพวกที่เก่งรองลงมาจะไปเรียนหมอ ตรงกันข้ามกับพวกเธอที่เก่งๆ ทั้งนั้น กลับไปเรียนหมอกันหมด”

ได้ยินตอนแรก ๆ ก็ไม่ค่อยคิดอะไรมากนอกจากภูมิใจในตัวเองเท่านั้น แต่เมื่อได้ยินบ่อยเข้า ๆ ประกอบกับการที่เห็นปรมาจารย์ของประเทศสมัยนั้น เช่น ท่านอาจารย์กำแหง พลางกูร อาจารย์คลุ้ม วัชโรบล อาจารย์บัวเรศ คำทอง ที่มาสอนพวกเราอยู่ล้วนแต่เป็นนักวิทยาศาสตร์จบจากต่างประเทศทั้งสิ้น ผนวกกับการที่วงการวิทยาศาสตร์โลกกำลังตื่นตัวที่นักวิทยาศาสตร์สามารถผลิตวัสดุเครื่องใช้ใหม่ ๆ ออกสู่ตลาด ตลอดจนถึงการตื่นเต้นที่ความเจริญทางด้านอวกาศที่กำลังจะส่งคนไปลงบนดวงจันทร์ ทำให้พวกเราเริ่มเห็นคล้อยตามอาจารย์และฝันเห็นตนเองเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ ทำคุณประโยชน์ให้แก่มวลมนุษยชาติ ที่สำคัญที่สุดก็คือการที่อาจารย์ติดต่อขอทุนจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นทุนร็อกกี้เฟลเลอร์ ทุนบริทิช เคาน์ซิล ทุนโคลอมโบ มาได้มากมายสำหรับส่งพวกเราไปเรียนต่างประเทศจนถึงระดับปริญญาเอก ก็ทำให้หลายคนเปลี่ยนเข็มจากการเรียนแพทย์มาเรียนวิทยาศาสตร์แทน และคงจะมีอีกมากมายถ้าไม่ถูกผู้ใหญ่ทางบ้านทักท้วงไม่เห็นด้วย

คนพวกนี้นี่แหละที่จบการศึกษากลับมาเป็นอาจารย์นักวิจัยมีชื่อเสียงมีลูกศิษย์ลูกหามากมายอยู่ในขณะนี้

“เวลาอยู่ในห้อง Lab ในอังกฤษ ครูจะสอนว่าเมื่อทดลองปฏิกิริยาในหลอดทดลอง ห้ามหันปากหลอดไปทางคนอื่นเด็ดขาดมันเป็นมารยาทนะเธอนะ เวลาเกิดอะไรขึ้นเพื่อนที่อยู่ข้างๆ จะได้ไม่เดือดร้อนไปด้วย”

เป็นคำที่อาจารย์สอนอยู่เสมอเกี่ยวกับกฎ กติกา มารยาท ในห้องทดลอง

ถึงแม้ว่าอาจารย์จะมีนิสัยง่ายๆ จนบางทีไม่เป็นทางการเลยแต่คนที่เคยใกล้ชิดกับท่านนาน ๆ จะได้ซึมซับมารยาทที่ดีแบบคนอังกฤษจากท่านไม่มากก็น้อย

“นี่พวกเธอ วันหยุดเย็นค่ำแล้วทำไมไม่กลับบ้านไปดูหนังสือหนังหา มัวทำอะไรอยู่ที่นี่”

ตอนนั้นเป็นตอนใกล้ค่ำของวันเสาร์วันหนึ่ง อาจารย์ขับรถเข้ามาในคณะ (ตอนที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ อยู่ถนนศรีอยุธยา ซึ่งปัจจุบันคือคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล) และเห็นพวกเราหลายคนยังระเกะระกะอยู่ตามตึก เมื่อได้รับทราบว่าพวกเรา (ซึ่งเป็นนักกิจกรรมจำเป็น) ยังอยู่ที่คณะเพื่อช่วยติดไฟประดับรอบ ๆ ตึก เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ท่านก็อึ้งไปแต่ก็ยังหันมาพูดยิ้ม ๆ ว่า

“ไอ้พวกเธอนี่มันเก๋าเจ้ง มากินนอนที่ตึกแล้วทำสกปรกมาก”

แล้วเดินเข้าห้องท่านไป สักครู่ก็เห็นไฟในห้อง Lab ซึ่งอยู่ติดกับห้องพักของท่านเปิด แอบดูก็พบว่าท่านกำลังทำการทดลองง่วนอยู่คนเดียวเชื่อว่าในขณะนั้นหลายคนในหมู่พวกเราคงคิดเงียบ ๆ ว่าอยากจะเป็นนักวิทยาศาสตร์อย่างท่านบ้าง ซึ่งคุณสมบัติของการเป็นนักวิทยาศาสตร์ของท่านอาจารย์มีอยู่เต็มเปี่ยม ท่านจะเข้ามาในห้อง Lab ทำการทดลองวิจัยด้วยตนเองทุก ๆ วัน เวลาที่ท่านว่าง วันละหลาย ๆ ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเวลา 10 นาที หรือเป็นชั่วโมง

ท่านปิดไฟในห้องราว 2 ทุ่ม แต่ก่อนจะขับรถออกไปก็ยังหันมาถามว่าจะกลับกันเมื่อใด พร้อมสำทับว่า

“อย่ากลับบ้านดึก ไปให้พ่อแม่เห็นหน้าบ้าง”

สักพักใหญ่ ๆ ก็มีรถแท็กซี่วิ่งเข้ามาในคณะ พร้อมคนจากร้านไชยโรจน์ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามโรงเรียนสันติราษฎร์ อันเป็นร้านอาหารเจ้าประจำของอาจารย์ ถือถุงข้าวห่อสุดอร่อยมายื่นให้ 20 ถุง บอกว่า “อาจารย์สตางค์ซื้อแล้วสั่งให้เอามาให้”

อาจารย์ท่านเป็นเช่นนี้กับพวกเราเสมอ ปากท่านจะด่าว่า (โดยเฉพาะคำว่า “เก๋าเจ้ง” ซึ่งท่านชอบใช้กับพวกเราที่ชอบสิงอยู่คณะ ไม่ค่อยกลับบ้าน) แต่ท่านจะอมยิ้มไปด้วย แล้วก็จะจบลงที่พวกเราได้ผลบุญมาจากความใจดีของท่านทุกครั้ง

“ไอ้ยอดหทัย เอาแบบนี้ไปให้คุณอมร 1 แล้วเอาตัวอย่างสายไฟจากคุณอมรกลับมาให้ฉันด้วย”

ในช่วงที่ทำปริญญาโทกับอาจารย์ที่คณะวิทยาศาสตร์เดิมอยู่นั้น คณะวิทยาศาสตร์ปัจจุบันและโรงพยาบาลรามาธิบดีกำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ผู้เขียนถูกอุปโลกน์ให้เป็น messenger ระหว่างห้อง Lab ที่ตึกเดิมกับสถานที่ก่อสร้างใหม่ใกล้ ๆ กัน บางทีวันละ 5-6 เที่ยว แต่ก็นับว่าเป็นโชค เพราะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการก่อสร้างตึกขนาดใหญ่ ซ้ำเป็นตึกพิเศษที่ต้องรองรับอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ต่าง ๆ คณะผู้ออกแบบจึงต้องปรึกษารายละเอียดกับนักวิทยาศาสตร์ผู้ใช้อย่างใกล้ชิด ผู้เขียนก็เลยได้มีโอกาสร่วมวงด้วยเป็นครั้งคราว แม้จะเป็นส่วนน้อยนิด ที่นับว่าเป็นบุญมากก็คืออาจารย์ตกลงใช้ซีกหนึ่งของชั้น 3 ตึกเคมี เป็นห้อง Lab วิจัยส่วนตัวของท่าน และอนุญาตให้ผู้เขียนได้ใช้ห้อง Lab ดังกล่าวในการทำวิจัยด้วย วันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จทรงวางศิลาฤกษ์ มีห้องทดลองสร้างเสร็จ ทอดพระเนตร และทรงอำนวยพรให้ทำงานประสบความสำเร็จ นับเป็นบุญสูงสุดของผู้เขียนจากการที่ได้ทำงานในห้อง Lab ดังกล่าว ตั้งแต่ต้นจนเกษียณอายุราชการ

“ยอดหทัย เธอรู้ไหมว่าทุนโคลอมโบไปทำปริญญาเอกที่อังกฤษปีนี้มีอยู่ 10 ทุน แต่มีคนสอบผ่านแค่ 4 คน จึงเหลือทุนอีก 6 ทุน เธออยากไปปีนี้เลยไหม?”

ผู้เขียนเรียนอาจารย์ว่า เพิ่งบรรจุเป็นอาจารย์ได้ไม่ถึง 6 เดือนเท่านั้น คงยังไปไม่ได้เพราะตามกฎจะต้องทำงานให้ครบปีเสียก่อน

“ไม่เป็นไรหรอก ฉันจะจัดการให้ เอานามบัตรนี่ของฉันไปพบเจ้าหน้าที่ที่บริทิช เคาน์ซิล ให้เขาสัมภาษณ์เสียหน่อย” (ความจริงตรงนี้ท่านใช้ ‘ลื้อ-อั๊ว’ ตลอดการสนทนา)



“อาจารย์สตางค์” เดินทางไปส่งลูกศิษย์เพื่อศึกษาต่อที่ต่างประเทศ
(ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์)


เมื่อไปถึงปรากฏว่าคนอังกฤษซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่นั่นทราบเรื่องของเราหมดแล้ว ทราบแม้กระทั่งอาจารย์สตางค์ต้องการให้เราไปทำ Ph.D. กับศาสตราจารย์ Ollis เพื่อนสนิทของท่านที่เมืองเชฟฟิลด์ อีก 3-4 วันต่อมาก็มีโทรศัพท์จากบริทิช เคาน์ซิล แจ้งว่ามหาวิทยาลัย และอาจารย์ทางโน้นรับเราเข้าเรียนแล้ว ขอให้เราเตรียมตัวไปอังกฤษได้เลย

นับว่าเป็นการสอบชิงทุนที่ใช้เวลาสั้นที่สุดในโลกก็ว่าได้

ความจริงอาจารย์พร่ำบอกเราว่าชีวิตคนเหมือนวงล้อที่หมุนมา บางตอนโชคดี บางทีโชคร้าย ฉะนั้นจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมไว้สำหรับทุกสถานการณ์ เช่น ถ้าอยากได้ทุนไปเรียนปริญญาเอกก็ต้องพร้อมทางด้านภาษา จะได้ไม่พลาดโอกาสเวลาที่มีทุนให้สอบ

“ถ้าเธอไม่เตรียมตัวไว้ให้ดี พอมีทุนมาแล้วสอบไม่ได้ ก็ไม่รู้ว่าอีกนานเท่าไหร่วงล้อจะหมุนมาหาเราอีก”

คงเป็นอุทธาหรณ์ที่ดีสำหรับเด็ก ๆ รุ่นปัจจุบัน ที่ได้ทุนแล้วค่อยไปสอบ TOEFL ก็ไม่ได้สักที จนต้องไปตกคลั่กเยอะแยะในมหาวิทยาลัยระดับต่ำในต่างประเทศที่อยากได้เงินจากนักเรียน โดยไม่คิดถึงคุณภาพ

เหลือเวลาอีก 1 อาทิตย์ก่อนจะเดินทาง แม่เกิดไม่สบาย คุณหมอเจ้าของไข้นัดผู้เขียนไปพบในวันรุ่งขึ้น แจ้งว่าแม่เป็นมะเร็งในกระดูกขั้นสุดท้ายคงอยู่ได้อีกไม่นาน ทางบริทิช เคาน์ซิล ก็เร่งรัดให้เดินทางไปให้ทันเปิดเทอม พร้อมส่งตั๋วเรือบินและเงินทองติดตัวมาให้เรียบร้อยแล้ว ด้วยความรู้สึกว้าวุ่น เป็นที่สุดจึงเล่าให้อาจารย์ฟัง เพราะตอนแรกคิดว่าจะประวิงเวลาไว้จนกว่าจะเสร็จภาระกิจเกี่ยวกับแม่เสียก่อน ซึ่งก็ไม่ทราบว่าจะเป็นเมื่อใด

“เรื่องนี้ทางบริทิช เคาน์ซิล และทางอังกฤษ เขารอเราไม่ได้หรอก แต่นี่ฉันไม่ได้แนะนำให้เธอเป็นลูกเนรคุณนะ ชีวิตเธอเหมือนเทียนที่เพิ่งจะจุด แต่ชีวิตของแม่เธอเหมือนเทียนที่กำลังจะดับ ถ้าเธออยู่แล้วแม่หายก็จะแนะนำให้อยู่ แต่ถ้าเธอตัดสินใจไปก็ไม่ต้องห่วง ฉันจะให้กัมพลช่วยดูแลเป็นธุระทางนี้ ถ้าเกิดอะไรขึ้น”

อาจารย์กัมพล เป็นอาจารย์รุ่นพี่ที่ใกล้ชิดอาจารย์อีกผู้หนึ่ง ผู้เขียนจึงตัดสินใจเดินทางไปอังกฤษ และอีก 2-3 อาทิตย์ถัดมา อาจารย์กัมพล ก็ยุ่งตัวเป็นเกลียวเกี่ยวกับการจัดการงานศพของแม่

“ฉันบอกเดวิด (Professor David Ollis เพื่อนของอาจารย์ และต่อมาเป็น supervisor ของผู้เขียน) ให้เธอเรียนและทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่อง NMR ไอ้ NMR นี่สำคัญมากนะเธอ ฉันอยากรู้มาก พอเรียนจบกลับมาแล้วช่วยมาสอนฉันด้วย”

สอนอาจารย์สตางค์ !!!...อะไรมันจะยิ่งใหญ่ขนาดนั้น หัวใจเราจะพองโตคับอกที่อัจฉริยะบุคคลอย่างอาจารย์สตางค์ไว้ใจจะให้เราสอนให้ คงจะไม่มีอะไรนอกเหนือไปกว่าต้องตั้งใจเรียนอย่างสุดชีวิตที่จะได้กลับมาเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ NMR ให้ท่านฟัง ทั้ง ๆ ที่รู้ว่านั่นเป็นวิธีที่ mentor ใช้ encourage ลูกศิษย์อย่างเรา และ mentor ก็ไม่เห็นจะต้องแสดงว่าเก่งกว่าลูกศิษย์ไปเสียทุกเรื่อง

วันนั้นเป็นวันที่ผู้เขียนจะเดินทางไปอังกฤษ อาจารย์ชวนไปทานข้าวกลางวันที่ร้านใกล้ๆ สวนรื่นฤดี นอกจากพูดเรื่องเรียนเกี่ยวกับ NMR แล้ว ท่านก็โพล่งขึ้นมาเฉยๆ ว่า

“อยู่เมืองนอกนี่ไม่เหมือนอยู่เมืองไทยนะเธอ ที่โน่นอยู่ตัวคนเดียวไม่มีที่พึ่ง ฉะนั้นเธอต้องหาที่พึ่งยึดเหนี่ยวทางใจไว้ ก่อนนอนทุกคืนสวดมนต์ไหว้พระ ระลึกถึงคุณพ่อแม่ อาจารย์ แล้วต้องไหว้พระปิยมหาราชด้วย ท่านมีบุญคุณต่อประเทศไทยมาก”

เรื่องปลีกย่อยเกี่ยวกับอาจารย์นั้น เล่าเท่าไหร่ก็ไม่มีวันหมดแต่ที่พวกเราหลายสิบคนรับทุนไปเรียนในสาขาวิชาต่าง ๆ ทางวิทยาศาสตร์ จนจบกลับมาทำงานในประเทศไทย ก็เป็นเพราะฝีมือของท่านอาจารย์โดยแท้ ท่านทำให้เราเชื่อและศรัทธา ชีวิตการเป็นอาจารย์ เป็นนักวิจัยที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงอาจแตกต่างไปจากที่อื่นโดยสิ้นเชิง พวกเราจบกลับมาประจำทำงานในสถานที่ที่มีกลุ่มเพื่อนเก่ง ๆ รวมตัวกันอยู่มาก เป็น critical mass มีผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติมากมาย มีธรรมเนียมการปรึกษา วิจารณ์ความคิดทางวิทยาศาสตร์กับเพื่อน ๆ ได้ โดยไม่ต้องเกรงใจเพื่อนรุ่นพี่ แต่ก็ไม่ใช้ระบบอาวุโสมาทำให้การทำงานขาดความคล่องตัวหรือขาดสมรรถภาพ มีเครื่องมือเครื่องใช้วิทยาศาสตร์ที่จำเป็นต่อการสอน การวิจัยอย่างเพียงพอและพวกเราก็ยังมีเงินพิเศษที่เรียกว่าเงิน supplement แถมให้นอกเหนือจากเงินเดือนอีกเดือนละ 2,000 บาท เพื่อให้พวกเราได้ทุ่มเทไปกับงานวิจัยโดยไม่ต้องขวนขวายไปหางานพิเศษอื่นทำ เงิน 2,000 บาทสมัยนี้อาจดูน้อยนิดเดียว แต่ถ้าลองเปรียบเทียบว่าเงินเดือนของอาจารย์ระดับปริญญาเอกในสมัยนั้นเพียง 2,450 บาท ก็ต้องยอมรับว่าเงิน supplement ที่ได้ก็มากเอาการทีเดียว

ทั้งหมดนี้เป็นฝีมือของ อาจารย์สตางค์ มงคลสุข สุดยอด mentor ของพวกเรา ผู้ที่ทำให้วัฒนธรรมการทำงานวิจัย เพื่อทำให้การสอนดีขึ้น วัฒนธรรมการส่งเสริมยกย่องคนเก่งมีผลงาน เป็นของคู่กันกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายๆ ปีมานี้ มหาวิทยาลัยมหิดล มีผลงานวิจัยที่ปรากฏในฐานข้อมูล มากกว่ามหาวิทยาลัยลำดับถัดมาเกือบเท่าตัว และผลงานดังกล่าวนั้น ครึ่งหนึ่งมีต้นตอมาจากคณะวิทยาศาสตร์ แต่ในระยะหลังนี้ หลายคณะในมหาวิทยาลัย ก็ไล่ตามคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ติดเข้ามาและมีแนวโน้มว่าจะแซงล้ำหน้าในอนาคตอันใกล้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมากที่การวิจัยได้แผ่ขยายกลายไปเป็นวัฒนธรรมของอาจารย์โดยทั่วไปในทุกมหาวิทยาลัย ผู้เขียนได้แต่คิดอยู่คนเดียวว่าสาเหตุมาจากวัฒนธรรมการวิจัยเริ่มฝังรากลึกเข้าไปในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จริง ๆ และคงไม่ใช่สาเหตุมาจากความล่วงไปของกลุ่มบุคคลที่มีโอกาสได้ท่านอาจารย์เป็น mentor แต่กลุ่มบุคคลเหล่านี้อาจจะเป็น mentor ที่ไม่อาจจะเทียบเคียงความเป็น super mentor ของอาจารย์สตางค์ได้เลย จึงไม่สามารถผลิต mentee เก่ง ๆ ได้มากเหมือนกับที่อาจารย์สตางค์ทำไว้

เรียบเรียงจาก :
ยอดหทัย เทพธรานนท์. (2550). “จากศิษย์ถึงอาจารย์”. ใน 88 ปี อาจารย์สตางค์. หน้า 23-28. กรุงเทพฯ : เซ็ทสแควร์.
ยอดหทัย เทพธรานนท์. (2548). “อาจารย์สตางค์ มงคลสุข : Super Mentor”. ใน Mentor Mentee Mentoring ศาสตร์และศิลป์ของการเป็นนักวิจัยพี่เลี้ยงที่ดี. หน้า 262-279. กรุงเทพฯ : มูลนิธิบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย.