หน้าหลัก > เอกสารและสิ่งพิมพ์ > บทความพิเศษ

พัฒนาการของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทย

โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์
ที่ปรึกษาอาวุโส สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

จุดเริ่มต้น

หากตีความอย่างกว้าง ๆ ว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นภูมิปัญญาของมนุษย์ในด้านความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ และการนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการดำรงชีวิต ก็อาจนับได้ว่าสังคมไทยมีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่ระดับหนึ่งมานานแล้ว ตั้งแต่ก่อนที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากตะวันตกจะเข้ามามีบทบาทสำคัญ คนไทยได้เรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ของธรรมชาติ และนำความรู้มาใช้ประโยชน์มาแต่โบราณกาล แม้ไสยศาสตร์จะมีบทบาทสำคัญแต่เดิมมา แต่คนไทยก็มีความคิดอย่างมีเหตุผลด้วย ซึ่งอิทธิพลของศาสนาพุทธมีส่วนสำคัญ ดังเช่นคำสอนของพระพุทธเจ้าเรื่องกาลามสูตร อันเป็นคำสอนให้คิดและทำอย่างมีเหตุผล ในด้านเทคโนโลยีนั้น คนไทยก็มีของตนเองอยู่มาแต่เดิม ในการเพาะปลูก การแปรรูปและถนอมอาหาร การก่อสร้าง การหล่อพระ การแพทย์แผนเดิมที่มีการใช้สมุนไพร และการนวด ฯลฯ วิทยาการเหล่านี้อาจถือเป็นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ แม้จะเป็นเพียงแบบพื้นบ้าน วิทยาการแผนเดิมของไทยอธิบายโดยสมดุลของธาตุทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และมองความเป็นอยู่แบบองค์รวม ไม่ใช่วิเคราะห์แยกส่วนอย่างเป็นระบบดังเช่นวิทยาการที่มาจากตะวันตก แต่ก็จัดได้ว่าเป็นรากฐานภูมิปัญญาของไทยแต่เดิมมา ซึ่งช่วยให้สังคมพัฒนาขึ้นหากต้องมาปะทะกับภูมิปัญญาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแบบตะวันตกที่เข้ามาในภายหลัง

สังคมไทยได้รับอิทธิพลของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากตะวันตกมาอย่างน้อยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 และ 17 ซึ่งเป็นช่วงที่วิทยาศาสตร์ในตะวันตกเพิ่งเริ่มรุ่งเรืองขึ้น ดังที่เรียกว่ายุคการเกิดใหม่ (Renaissance) ไม่นานนัก การติดต่อนี้โดยเฉพาะในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้ทำให้ประเทศตะวันตกรู้จักเมืองไทย ดังที่ได้มีการตีพิมพ์งานเขียน เช่นของ Simon de la Loubere ราชทูตฝั่งเศส ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นอยู่และวิทยาการของไทย พร้อมกับข้อมูลด้านวัฒนธรรม และการเมืองการปกครอง ในขณะเดียวกัน การติดต่อนี้ก็ได้พาเอาอิทธิพลของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาสู่สังคมไทย โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ที่สำคัญ ได้แก่ เทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับอาวุธยุทโธปกรณ์ และเกี่ยวข้องกับการเดินเรือ วิทยาการ เช่น ดาราศาสตร์ ก็ได้เริ่มเข้ามามีบทบาท เห็นได้จากการสร้างหอดูดาวในรัชสมัยนั้น อย่างไรก็ดี การนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามายังสังคมไทยในช่วงนั้นยังไม่มากเท่าช่วงรัตนโกสินทร์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนผัน

จุดเปลี่ยนผัน

จุดเปลี่ยนผันของไทยในพัฒนาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาพร้อมกับจุดเปลี่ยนผันด้านอื่นที่ทำให้ไทยต้องเข้าสู่ “ความทันสมัย” จากแรงกดดันของตะวันตกซึ่งต้องการล่าอาณานิคม ประกอบกับการเปลี่ยนของระบบเศรษฐกิจ จากเดิมที่ครอบคลุมเฉพาะภายในประเทศ เป็นการค้าขายกับต่างชาติมากขึ้น อาจเรียกว่าเป็นยุคเริ่มโลกาภิวัตน์ของไทย จุดเปลี่ยนผันเริ่มจากรัชสมัยของรัชกาลที่ 3 แต่ยังคงจำกัดอยู่ในเฉพาะหมู่เจ้านาย การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงได้รับการยกย่องว่าเป็น พระบิดาของวิทยาศาสตร์ไทย จากการที่ทรงสนพระทัยและมีบทบาทในวิทยาศาสตร์ด้านต่าง ๆ รวมทั้งดาราศาสตร์ การเสด็จพระราชดำเนินไปทรงสังเกตสุริยุปราคา ที่หว้ากอ ประจวบคีรีขันธ์ ในช่วงเวลาเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงสนพระทัยในด้านเทคโนโลยี ดังตัวอย่างที่ทรงมีบทบาทในการพัฒนาเรือกลไฟขึ้น เป็นต้น แม้กระนั้น วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทยก็ยังไม่ได้แพร่หลายหยั่งรากลึก จนกระทั่งการปฏิรูปการศึกษา การบริหารการปกครอง และการปรับปรุงกิจการบ้านเมืองโดยทั่วไป ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

การปะทะระหว่างความเชื่อดั้งเดิมกับวิทยาการที่เข้ามาใหม่จากตะวันตกทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นตัวอย่างเช่น วิทยาการใหม่ที่เข้ามาพร้อมกับการเผยแผ่ศาสนาได้นำไปสู่การกล่าวหาความเชื่อแบบเดิมว่าเป็นความงมงาย ดังกรณีของหมอบรัดเลย์ (Dan Bradley) ซึ่งเป็นผู้นำเทคโนโลยีการพิมพ์และการแพทย์แผนใหม่เข้ามาในช่วงกว่าร้อยปีที่แล้วมา พร้อมกับได้วิจารณ์การแพทย์แผนไทยแบบเดิมในลักษณะที่เสียหาย ความขัดแย้งระหว่างความเชื่อถือดั้งเดิมกับความเชื่อถือใหม่ที่มาจากภายนอกเช่นนี้ยังมีสืบเนื่องมาแม้จนปัจจุบัน แม้บทบาทของการเผยแผ่ศาสนาจะได้หมดลงไปแล้ว และอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่อธิบายความล้าหลังของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทยเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะความเชื่อแบบดั้งเดิมก็ยังคงอยู่แม้ในปัจจุบัน แต่อาจมองในอีกแง่หนึ่งได้ว่า ถึงแม้ว่าจะมีข้อด้อยเรื่องความงมงาย แต่ก็มีหลายส่วนเป็นมรดกตกทอดที่จะทำให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยมีความลึกซึ้งในจิตวิญญาณได้ดีกว่าสังคมที่รับเพียงวิทยาการตะวันตกเข้ามาโดยไม่มีภูมิหลังของตนเองเลย

การพัฒนาทางเทคโนโลยีของไทยในยุคเริ่มโลกาภิวัตน์เมื่อกว่าร้อยปีมาแล้วนั้น มีความสัมพันธ์และสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างเศรษฐกิจ จากระบบที่มีความพอเพียงในตนเองเป็นส่วนใหญ่ มาเป็นระบบที่มีการค้าขายกับภายนอก และขึ้นอยู่กับความสามารถในการแข่งขันในระดับนานาชาติมากขึ้น สินค้าบางชนิด เช่น ข้าว ดีบุก ที่มีผู้ต้องการมากก็กลายเป็นสินค้าออกที่สำคัญ พร้อมกันนั้นก็มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีข้าวก็ได้มีการพัฒนาขึ้น ไม่เพียงแต่ในด้านพันธุ์และการเพาะปลูกซึ่งมีมานานช้าแล้ว แต่รวมมาถึงด้านการสีข้าว การเก็บรักษาและการขนส่งอีกด้วย ในเรื่องดีบุกก็ได้มีการพัฒนาการทำเหมืองและการสกัด ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือการเปิดประเทศเพื่อค้าขายของไทยได้นำไปสู่การใช้ทรัพยากรอย่างไม่ยั่งยืนขึ้นเป็นครั้งแรก ทรัพยากรป่าไม้และแร่ธาตุได้ถูกแปรเป็นสินค้าส่งออกที่ทำรายได้อย่างมาก เนื่องจากประเทศมีทรัพยากรอยู่มาก จึงยังไม่เป็นที่ตระหนักถึงผลร้ายที่ตามมา จนเมื่อเร็ว ๆ นี้เอง

ระบอบการเมืองการปกครองของไทยแต่ดั้งเดิมมา ไม่มีหน่วยงานที่จะสนับสนุนหรือดำเนินงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยเฉพาะแต่อย่างใด เมื่อมีกระทรวงธรรมการ จากรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น กระทรวงศึกษาธิการ) การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับพื้นฐานก็ได้อยู่ในหน้าที่ความรับผิดชอบของกระทรวงนี้ การจัดตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเดิมใช้ชื่อว่า โรงเรียนข้าราชการพลเรือน หรือก่อนหน้านั้นคือ โรงเรียนมหาดเล็กหลวง ทำให้มีการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับอุดมศึกษาขึ้น โดยมีการจัดตั้งคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ขึ้นในปี พ.ศ. 2459 และคณะวิศวกรรมศาสตร์ขึ้นในลำดับต่อมา ในด้านการศึกษาแพทย์นั้นได้มีการจัดตั้งราชแพทยาลัยขึ้นก่อนแล้ว กล่าวคือตั้งแต่ พ.ศ. 2453 แล้วที่โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งต่อมาก็ได้ผนวกเข้าในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วแยกออกมาอีกครั้ง เป็นส่วนของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน) ในด้านการศึกษาด้านเกษตร ได้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขึ้นมาโดยเฉพาะใน พ.ศ. 2486 ในช่วงต่อมา รัฐบาลได้จัดตั้งมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอีกมาก ทั้งในกรุงเทพฯ และในภูมิภาค ซึ่งหลายแห่งมีคณะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่ ดังจะกล่าวถึงต่อไป มหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่งมีคณะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน ทั้งหมดนี้ทำให้มีพัฒนาการด้านวิทยาศาสตร์ขึ้น ซึ่งส่วนมากเกิดขึ้นในสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานราชการ พัฒนาจากการเน้นการเรียนการสอนเป็นหลัก เป็นการควบคู่กับการเริ่มการทำวิจัยวิทยาศาสตร์ทั้งด้านพื้นฐานและด้านที่นำไปใช้ในการแพทย์ การเกษตร และการช่าง เป็นต้น

สมัยปัจจุบัน


บรรยากาศห้องปฏิบัติการวิชาบัคเตรีวิทยา พ.ศ. 2473 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
(วิลเลียม เอช. เบคเคอร์. (2556). มิตรภาพและความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์และประเทศไทย. (หน้า 82).
นิวยอร์ก : มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์)


หากจะมองพัฒนาการของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทยที่ผ่านมาเป็นช่วง ๆ ช่วงละทศวรรษ ก็จะเห็นและเข้าใจความก้าวหน้าเรื่องหลัก ๆ ในช่วงหกสิบปีที่ผ่านมาได้ดี

1. ทศวรรษ1960 [2503-2512]: เริ่มบรรยากาศใหม่

บรรยากาศวิทยาศาสตร์ในช่วงประมาณปี 2500 นั้น เป็นบรรยากาศที่สดใส สังคมทั่วโลกมีความเชื่อมั่นว่าวิทยาศาสตร์เป็นกุญแจสำคัญนำไปสู่การพัฒนา ในสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีเคนเนดีประกาศเจตนารมณ์อย่างแน่วแน่ที่จะส่งคนไปลงดวงจันทร์ ทุกแห่งในโลกรวมทั้งประเทศไทยหลงใหลไปกับสินค้าใหม่ ๆ ที่เป็นผลผลิตของวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่ ทีวีสี และวิทยุทรานซิสเตอร์ ไปจนถึงพลาสติกและแอร์ติดรถยนต์ ไม่น่าแปลกใจว่าคนรุ่นใหม่ในช่วงนั้นหลายคนจะหันมาสนใจวิทยาศาสตร์ชนิดยึดเป็นอาชีพ ประกอบกับบรรยากาศของประเทศไทยในขณะนั้นเป็นบรรยากาศของการพัฒนาโครงสร้างในระดับพื้นฐาน จากการที่ได้มีการจัดตั้งสภาพัฒนาเศรษฐกิจ สภาการศึกษา และสภาวิจัยแห่งชาติขึ้น ต่อมาก็ได้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยใหม่ ๆ ขึ้น ที่เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา มหาวิทยาลัยเฉพาะทาง เช่น มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ได้เพิ่มความแข็งแกร่ง และเริ่มขยายออกในวิทยาการที่กว้างขึ้น วิทยาลัยเทคนิคบางแห่งซึ่งเดิมอยู่ในความดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ ก็ได้ขยายปรับขึ้นเป็นสถาบันอุดมศึกษาระดับสูงขึ้นเช่น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เป็นต้น วิทยาศาสตร์ไทยจึงมีช่วงจังหวะที่จะขยายรากฐานได้มากในช่วงนั้น

ในด้านวิทยาศาสตร์ทั่วไปนั้น ก่อนหน้านั้นได้มีคณะวิทยาศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันเดียวในระดับอุดมศึกษา ซึ่งได้วางรากฐานและผลิตบุคลากรอันมีส่วนสำคัญในด้านต่าง ๆ จวบจนปัจจุบัน การก่อตั้งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ในตอนนั้นเรียกว่า คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์) ในปี 2501 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ในด้านการศึกษาแพทย์ในตอนแรก และต่อมาขยายผลมาด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพและทั่วไป จุดสำคัญสำหรับวิทยาศาสตร์ไทยก็คือได้เป็นจุดรวมตัวของนักศึกษาที่มีศักยภาพสูงที่สุดของประเทศ ซึ่งหลายคนตัดสินใจที่จะเรียนวิทยาศาสตร์แทนที่จะเรียนแพทย์ตามกระแสสังคม คนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ได้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ไทยในช่วงต่อมา



นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ พ.ศ. 2505
(ที่มา : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล)


2. ทศวรรษ 1970 [2513-2522] : เริ่มยุควิจัยและบัณฑิตศึกษา

นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ได้ทยอยกลับมาจากการศึกษาในต่างประเทศ และพร้อมกันนั้นก็ได้เริ่มนำการวิจัยซึ่งเป็นงานหลักของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก แต่ยังมิได้มีการทำกันมากนักในเมืองไทยมาก่อน มาเป็นส่วนสำคัญของอาชีพของนักวิทยาศาสตร์ไทยเป็นครั้งแรก เศรษฐกิจไทยที่รุ่งโรจน์หลังสงครามเวียดนามเสร็จสิ้นมีส่วนทำให้การสนับสนุนวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้น ปัจจัยนำความสำเร็จที่สำคัญประการหนึ่ง คือ โครงการความร่วมมือของมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ซึ่งได้ส่งนักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ จำนวนมากมา พร้อมกับความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์และทุนวิจัยและทุนบัณฑิตศึกษา โดยเน้นในด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ (ที่มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นหลัก) แต่มีโครงการด้านเกษตรศาสตร์ (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) และเศรษฐศาสตร์ (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ด้วย รัฐบาลไทยได้จัดสรรงบประมาณก่อสร้าง และงบประมาณสำหรับเป็นค่าตอบแทนอาจารย์ที่ทำงานวิจัย ยุคของบัณฑิตศึกษาได้เริ่มต้นขึ้นพร้อมกันนี้บัณฑิตจากโครงการบัณฑิตศึกษาเหล่านี้ได้เป็นตัวคูณ โดยเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยใหม่ ๆ และเริ่มงานสอนงานวิจัยของตนเองขึ้นในลำดับต่อมา

เมื่อมีงานวิจัยเกิดขึ้น ก็มีความต้องการที่จะต้องมีเวทีแสดงผลงานวิจัยเหล่านั้น จริงอยู่ เวทีที่สำคัญที่สุดก็คือ วารสารนานาชาติที่มีการตรวจสอบมาตรฐาน แต่ก็ยังมีความจำเป็นที่ต้องมีการพบปะแลกเปลี่ยนผลงาน และการตีพิมพ์ผลงานในระดับมาตรฐาน โดยองค์กรที่เป็นกลาง สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ ซึ่งได้มีการจัดตั้งขึ้นที่จุฬาลงกรณ์ฯ มากว่ายี่สิบปีแล้ว ก่อนหน้านั้นได้มีส่วนสำคัญในการสนองความต้องการใหม่นี้ โดยการจัดการประชุมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประเทศไทย (วทท.) และการออกวารสารของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (Journal of the Science Society of Thailand, ปัจจุบันชื่อ Science Asia) เป็นวารสารตีพิมพ์ผลงานวิจัยเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งแตกต่างไปจากวารสารวิทยาศาสตร์ภาษาไทยที่ตีพิมพ์บทความทั่ว ๆ ไปในระดับพื้นฐานแต่เดิม การพัฒนาเหล่านี้แสดงถึงการเริ่มฝังรากลึก หรืออาจเรียกว่าการผลิตดอกออกผลของวิทยาศาสตร์ไทย ที่ได้มีการฟูมฟักมาแล้วเป็นเวลานาน

3. ทศวรรษ 1980 [2523-2532]: ระบบสนับสนุนและเครือข่ายก่อตัว

การขยายตัวของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และความสำคัญ ในการพัฒนา ก่อให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องมีระบบนโยบาย และระบบสนับสนุนที่ดีขึ้น นอกจากการเป็นหน่วยงานนโยบายแล้ว กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน ที่ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2522 ยังได้เป็นแหล่งกำเนิดของระบบการสนับสนุนการวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ให้งบประมาณเหมาะสมกับความต้องการจริงภายในประเทศเป็นครั้งแรก โดยที่ก่อนหน้านั้นนักวิจัยที่จริงจังจำเป็นต้องพึ่งเงินทุนจากต่างประเทศเป็นหลัก กระทรวงฯ ได้จัดตั้งศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติขึ้นในปี 2526 โดยได้เน้นการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยกับสถาบันที่มีความพร้อมอยู่แล้วในระดับหนึ่ง และให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายระหว่างสถาบันเพื่อให้เสริมความแข็งแกร่งซึ่งกันและกัน มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้มีบทบาทสำคัญตั้งแต่ต้นในการสร้างเครือข่ายในด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ระบบสนับสนุนเช่นนี้ได้ขยายตัวออก นำไปสู่การตั้งศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ในปี 2529 พร้อมกันนี้รัฐบาลสหรัฐโดยองค์กรยูเสด ได้เริ่มโครงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนา ในปี 2528 โดยมีเงินกู้และเงินให้เปล่าสำหรับสนับสนุนการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสามสาขาหลัก การสนับสนุนเหล่านี้ทำให้เกิดความตื่นตัวในมหาวิทยาลัยและหน่วยราชการเป็นอย่างมาก และภาคเอกชนก็เริ่มหันมาให้ความสนใจกับการพัฒนาเทคโนโลยี แม้จะยังไม่มากนักก็ตาม

งานวิจัยที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องในหลายสถาบัน ได้ส่งผลเป็นที่ยอมรับในวงการทั้งต่างประเทศและในประเทศ ในปี 2525 (ครบรอบสองร้อยปีรัตนโกสินทร์) สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ ได้จัดให้มีรางวัล นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น เพื่อเป็นการยกย่องผู้ที่มีผลงานอันเป็นที่ยอมรับนับถือดังกล่าว เป็นรางวัลที่สำคัญที่สุดสำหรับนักวิทยาศาสตร์ไทย และในปี 2526 ได้ดำเนินการก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฯ เพื่อเป็นองค์กรหลักดำเนินการสรรหานักวิทยาศาสตร์ดีเด่นต่อเนื่องมาทุกปีจนปัจจุบัน

4. ทศวรรษ1990 [2533-2542]: ยุคฉันจึงมาหาความหมาย

งานของศูนย์แห่งชาติทั้งสามและโครงการไทย–สหรัฐ นำไปสู่การจัดตั้งสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ( สวทช.) ในปี 2534 เป็นหน่วยงานซึ่งทั้งสนับสนุนและดำเนินการวิจัยและพัฒนาเอง เครือข่ายซึ่งในทศวรรษก่อนหน้านี้เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มมหาวิทยาลัย และหน่วยราชการได้ขยายออกเป็นเครือข่ายไตรภาคี อันประกอบด้วย มหาวิทยาลัย หน่วยราชการ และภาคเอกชน โดยระบบสนับสนุนใหม่เน้นการเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้ผลงานวิจัย ระบบนี้สะท้อนนโยบายและแนวความคิดที่ว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย ได้ผ่านยุคที่การวิจัยมีบทบาทในการสร้างพื้นฐานทั่วไปเท่านั้น (ดังนั้น ยุคนั้นจึงมีความเชื่อว่าจะทำวิจัยอะไรก็ได้ ขอให้เป็นการวิจัยที่มีคุณภาพ) ไปสู่ยุคที่การวิจัยและพัฒนามีจุดหมายในเชิงพัฒนาด้วยไม่เพียงให้ได้ความรู้ใหม่ กล่าวคือมีบทบาทหลักในการปรับปรุงผลผลิต กระบวนการและบริการต่าง ๆ ที่มีคุณค่าในเศรษฐกิจและสังคม นักวิทยาศาสตร์ไทยหลายคนก็ได้พลิกผันจากการเป็นอาจารย์เพียงอย่างเดียวมาเป็นผู้ให้คำปรึกษาแก่อุตสาหกรรมด้วย อันเป็นแนวทางที่น่าจะถูกต้อง แม้จะมีความยากลำบากอยู่บ้างในการใช้เวลาในกิจกรรมต่าง ๆ ที่ไม่ใช่มหาวิทยาลัย อย่างมีสมดุล ที่สำคัญคือโครงการวิจัยต่าง ๆ แทนที่จะเป็นเพียงโครงการวิจัยที่นักวิทยาศาสตร์คิดขึ้นเองตามแนวความสนใจ และความถนัดของตนเป็นหลัก ก็พัฒนาเป็นโครงการที่นักวิจัยพยายามดำเนินขึ้น จากความต้องการและปัญหาของภาคการผลิตและการบริการของภาคเอกชนเป็นหลัก นักวิจัยหลายคนในสถาบันวิจัยต่าง ๆ ที่มีระบบงานที่ดีสามารถยึดงานวิจัยเป็นอาชีพหลักได้ โดยไม่ต้องดิ้นรนใฝ่หาตำแหน่งบริหารเพื่อความก้าวหน้าในการงาน

สวทช. ได้เป็นหน่วยงานของรัฐแห่งแรกที่ไม่ใช่มหาวิทยาลัยที่ไม่ใช้ระบบราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามปรกติ โดยมีกฎหมายที่ให้อิสระในการดำเนินงานตามความเหมาะสมคล้ายกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีที่ได้จัดตั้งมาก่อน และในปี 2535 ก็ได้มีการจัดตั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ขึ้นมาเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีความอิสระคล้ายคลึงกัน ความอิสระของหน่วยงานเหล่านนี้ไม่ใช่อิสระที่จะไม่มีการกำกับแต่เป็นกลไกใหม่ของรัฐที่จะกระจายอำนาจในการตัดสินใจและการดำเนินงานไปยังคณะกรรมการและผู้บริหารที่มีคุณวุฒิและความชำนาญเฉพาะด้าน โดยจะต้องมีความรับผิดชอบในการปฎิบัติตามนโยบายที่รัฐได้มอบให้ การพัฒนาในระบบการดำเนินงานของรัฐเช่นนี้นับเป็นก้าวไกลมากในหมู่ประเทศของอาเซียนด้วยกัน และประเทศไทยก็ถือว่าเป็นประเทศในอาเซียนที่มีความก้าวหน้าที่สุด ไม่แต่ในเชิงการเมืองประชาธิปไตยเท่านั้นแต่ในเชิงการบริหารงานของรัฐด้วย

5. ทศวรรษ 2000 [2543-2552]: วิทยาศาสตร์เพื่อนวัตกรรม และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

วิทยาศาสตร์ไทยได้ก้าวไปไกลพอสมควรเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วก็ยังอยู่ห่างไกลกันอีกมาก สภาวะทางเศรษฐกิจที่ทรุดลงก่อนขึ้นสหัสวรรษใหม่ทำให้การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งต้องอาศัยทั้งทรัพยากรและกำลังคนที่มีคุณภาพ ประสบความยากลำบากกว่าที่เคยมา แต่ก็มีความพยายามมากขึ้น เพื่อให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสามารถนำไปสู่นวัตกรรมในการผลิตและบริการ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ดียิ่งขึ้น สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรม ( สวทน.) ได้รับการก่อตั้งขึ้น เพื่อกำหนดนโยบายที่จะนำไปสู่การพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ สถาบันมาตรวิทยาและหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐเพื่อบริการประชาชนและสนับสนุนการวิจัยเพื่อภาคการผลิตการบริการ ในช่วงนี้ ภาคเอกชนเริ่มให้ความสำคัญกับนวัตกรรมเพื่อเพิ่มคุณภาพและชนิดของสินค้าและบริการใหม่ ๆ มากขึ้น ตัวอย่างเช่น บริษัทปูนซีเมนต์ไทย ซึ่งได้ฟื้นตัวขึ้นจากวิกฤตอย่างรวดเร็ว โดยส่วนหนึ่งได้จากการเพิ่มความสามารถในการวิจัยและพัฒนาเพื่อผลิตสินค้าใหม่ ๆ ที่มีมูลค่าสูงขึ้น

6. ทศวรรษ 2010 [2553-2562]: วิทยาศาสตร์ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจและการเมือง

การเมืองที่ไร้เสถียรภาพในช่วงต้นของทศวรรษนี้ ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนของโลก มีส่วนทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีความชะงักงัน แต่ก็ได้ฟื้นตัวขึ้นอีก แต่หลายคนมองเห็นว่าประเทศไทยอาจจะติดอยู่ใน “กับดักของประเทศรายได้ปานกลาง” ที่ไม่สามารถก้าวออกสู่ความมั่งคั่งตามที่ปรารถนาได้ ผู้นำทางการเมืองได้พยายามสร้างยุทธศาสตร์สู่ความสำเร็จโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นปัจจัยหลักในระดับหนึ่ง และได้พยายามปฏิรูประบบการสนับสนุนวิทยาศาสตร์ โดยเน้นการประยุกต์ใช้เป็นสำคัญ ความสามารถของนักวิทยาศาสตร์ไทยได้เพิ่มขึ้น จากผลงานที่ตีพิมพ์ออกสู่ชาวโลกที่เพิ่มขึ้นมาก หากแต่ยังอาจก้าวหน้าเร็วไม่เท่าประเทศที่ก้าวกระโดด เช่น สิงคโปร์และมาเลเซีย ดังจะเห็นได้จากอันดับของมหาวิทยาลัยไทยและดัชนีอื่น ๆ ที่ยังไม่ดีขึ้นมากนักในระดับโลก ความสำเร็จที่สำคัญในช่วงนี้คือการที่สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ของไทยสามารถผสมผสานการวิจัยกับการเรียนการสอน ทำให้ผลิตบัณฑิตในระดับปริญญาเอกเป็นจำนวนมาก สามารถทดแทนกำลังคนวิจัยเดิมที่เกษียณอายุไป และทำงานในมหาวิทยาลัยและสถาบันใหม่ ๆ อย่างไรก็ดี มีปัญหาที่มหาวิทยาลัยและหน่วยงานอื่นของรัฐหลายแห่งไม่สามารถรับบัณฑิตใหม่มาทำงานได้เพียงพอ จากข้อจำกัดด้านงบประมาณและเพดานกำลังคน

มองอนาคต

มองในภาพรวมแล้ว กล่าวได้ว่าวิทยาศาสตร์ของไทยได้มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องมาเป็นลำดับ เทียบกับหลายประเทศในอาเซียนนับว่าไทยอยู่ในแนวหน้า อย่างไรก็ดี ถ้าเทียบในระดับโลกแล้ว ยังถือว่าไทยยังไม่ก้าวหน้านัก อยู่ระดับกลางค่อนข้างอ่อน และการสนับสนุนจากรัฐแม้จะเพิ่มขึ้นบ้างก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ทะยานไปได้อย่างที่ต้องการ เพื่อให้ก้าวพ้นจาก “กับดักรายได้ปานกลาง” และมีการพัฒนาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างมีพลัง การจะทำเช่นนี้ได้ นอกจากภาครัฐต้องมีความพยายามและให้การสนับสนุนมากขึ้นแล้ว ภาคเอกชนยังต้องก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตและบริการจากภูมิปัญญาของตนเองมากยิ่งขึ้น และแม้แต่จะใช้แนวลอกเลียนต่างประเทศ อย่างที่เรียกกันว่า วิศวกรรมย้อนรอย (reverse engineering) ก็ยังต้องมีความสามารถของตนเองที่จะทำได้จริง ดังนั้น ก้าวสำคัญต่อไป คือการมีงานวิจัย พัฒนา ออกแบบและวิศกรรมของตนเอง ซึ่งจะต้องใช้บัณฑิตที่ทำงานวิจัยเป็น มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยของรัฐ และหน่วยงานใหญ่ ๆ ของภาคเอกชน จะต้องพัฒนาขึ้น โดยมีนักวิจัยหลังปริญญาเอก (post-doctoral) มากขึ้น กล่าวโดยสรุปแล้ว วิทยาศาสตร์ของไทยจะต้องมีความลุ่มลึกมากขึ้นในด้านการวิจัยและกิจกรรมต่อเนื่อง และต้องมีความกว้างขวางขึ้น นอกเหนือจากการวิจัย เช่น การมีมาตรฐานที่ดี มีระบบถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม มีการจัดการที่ดีทั้งด้านเทคนิคและทั่วไป หากทำเช่นนี้ได้ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เหลือบ่ากว่าแรง วิทยาศาสตร์ของไทยจะได้พัฒนาขึ้นสู่ระดับแนวหน้า สามารถรองรับความเจริญเติบโตของสังคม รวมทั้งภาคธุรกิจและภาคประชาชนทั่วไปได้

ทศวรรษต่อไป เป็นทศวรรษที่สำคัญในการที่ชาวโลกมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งสหประชาชาติตั้งเป้าว่า น่าจะเกิดขึ้นได้ภายใน ค.ศ. 2030 ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นที่จะไปถึงจุดนั้น อย่างที่ผู้นำรัฐบาลได้ให้สัญญาไว้แล้วต่อคนไทยและชาวโลก ประชาคมวิทยาศาสตร์ต้องช่วยกันทำให้เราถึงเป้าหมายนั้นให้ได้

ที่มา : ยงยุทธ ยุทธวงศ์. (2561). พัฒนาการของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทย. ใน 70 ปี สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์. (หน้า 4-10). กรุงเทพ : สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์.

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ลูกศิษย์ที่ใกล้ชิด "อาจารย์สตางค์" อีกท่านหนึ่ง ตัดสินใจเข้าเรียนที่ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ตามคำชักชวนของ “อาจารย์สตางค์” และ ศ. ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้เป็นลุง ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในด้านการวิจัย จนได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2527 และเคยดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (2549-2551)