พระบิดาแห่งการอุดมศึกษา
รศ. ดร.อมร แสงมณี
สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล
เมื่อวันที่ 24 กันยายนของทุกปีเวียนมาถึงชาวไทยทั้งประเทศล้วนจดจำได้ดีว่า วันนี้เป็น “วันมหิดล” ซึ่งเป็นวันคล้ายวันทิวงคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสิ่งที่ทุกคนซาบซึ้งใจและตระหนักกันถ้วนหน้าคือพระมหากรุณาธิคุณและพระราชกรณียกิจที่ได้ทรงบำเพ็ญแก่วงการแพทย์ และการสาธารณสุขของประเทศไทย จนพร้อมใจกันถวายพระราชสมัญญานามว่า “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย” และ “พระบิดาแห่งการสาธารณสุขไทย”
อย่างไรก็ตามมีคนไทยจำนวนน้อยมาก ที่จะมีโอกาสได้รับรู้และตระหนักถึงพระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณอันสำคัญและยิ่งใหญ่ของพระองค์ที่มีต่อการอุดมศึกษาของไทย ในวาระการจัดงานเฉลิมพระเกียรติวันคล้ายวันพระราชสมภพครบรอบ 120 ปี ที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 1 มกราคม 2555 นี้ มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย จึงเห็นควรนำเสนอบทความพิเศษที่จะช่วยให้ท่านผู้อ่านได้ทราบถึงพระราชกรณียกิจและพระราชจริยาวัตรของพระองค์ท่านที่ทรงคุณูปการต่อด้านการศึกษาของประเทศไทย
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (ซึ่งต่อจากนี้ไปในบทความนี้จะกล่าวถึงพระองค์ท่านด้วยพระนามย่อว่า “สมเด็จฯ พระบรมราชชนก”) ทรงอุทิศพระองค์ พระสติปัญญาและพระราชทรัพย์อันมหาศาลเพื่องานด้านการศึกษาอย่างเต็มพระกำลัง อย่างไม่เห็นแก่ความสุขสบายส่วนพระองค์ และครอบครัว โดยทรงยอมลำบากตรากตรำจากการเสด็จไปต่างประเทศเป็นระยะทางไกล ๆ ตลอดพระชนม์ชีพเพื่อการศึกษา ทั้ง ๆ ที่ในยุคนั้นการเดินทางยังยากลำบากอยู่มาก เพื่อทรงนำความรู้กลับมาพัฒนาประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดังบางส่วนของข้อความที่ทรงให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ The New York Times ว่า
“…สิ่งที่ข้าพเจ้าฝันใฝ่คือการมีชีวิตที่มีประโยชน์ต่อสังคม ... การที่ข้าพเจ้าเดินทางมาอเมริกาก็หวังว่าจะหาความรู้ให้ได้มากที่สุดพร้อมทั้งต้องการความช่วยเหลือและความเห็นใจจากชาวอเมริกัน...”
ดังหัวข้อข่าวที่ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 24 กันยายน 1916 (2459) ว่า “PRINCE COMES HERE TO STUDY FOR SIAM; King’s Brother Seeks Knowledge to Combat the Diseases of the Tropics. TO TAKE HARVARD COURSE Lauds Work of American Missionaries and Says Kingdom Wants America’s Help and Sympathy.”
บทบาทของสมเด็จฯ พระบรมราชชนกที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาไทยเริ่มขึ้นในช่วงปลายปี พ.ศ. 2464 เมื่อทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเป็นผู้แทนรัฐบาลไทย ในการเจรจาขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์เพื่อพัฒนาการศึกษาแพทย์ของไทย รวมทั้งยังทรงงานเป็นอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย ทรงงานด้านการปรับปรุงการศึกษาแพทย์ การปรับปรุงคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และการปรับปรุงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เพื่อให้การเจรจากับมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์บรรลุผล สมเด็จฯ พระบรมราชชนกและสมเด็จพระศรี นครินทราบรมราชชนนี ต้องเสด็จไปทรงงานตามสถานที่ต่าง ๆ ในทวีปยุโรป เช่น กรุงลอนดอน กรุงปารีส และกรุงเบิร์น เป็นต้น โดยอาศัยยานพาหนะตามสภาพที่มีอยู่ในยุคสมัยนั้น ซึ่งยังไม่สะดวกสบายเช่นปัจจุบัน ทำให้พระสุขภาพที่ไม่สมบูรณ์มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ต้องเสื่อมทรุดลง ซึ่งมีส่วนในการนำไปสู่การเสด็จทิวงคตก่อนกาลอันควรด้วยพระชนม์เพียง 37 พรรษา
ทรงเป็นยอดนักบริหารการศึกษา
ใน “บันทึกพระดำริเรื่องจัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยของ สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงสงขลานครินทร์” ที่สมเด็จฯ พระบรมราชชนกได้ทรงไว้ด้วยความยาวเพียงไม่กี่หน้านั้นมีเนื้อหาที่ครอบคลุมแนวความคิดหรือปรัชญาและหลักการการจัดการศึกษาในมหาวิทยาลัยหรือระดับอุดมศึกษาไว้อย่างครบถ้วน ซึ่งผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารการศึกษามีความเห็นว่าเอกสารชิ้นนี้ไม่ได้ต่างอะไรจาก “แผนพัฒนาการอุดมศึกษาของชาติฉบับแรก”
ทรงรับราชการในกระทรวงทหารเรือ พ.ศ. 2458ทั้งนี้เพราะเนื้อหาในเอกสารดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นถึงพระวิสัยทัศน์และพระวิจารณญาณอันลึกซึ้งที่สมเด็จฯ พระบรมราชชนกทรงมีต่อ หลักปรัชญา บทบาทหน้าที่ของผู้รับผิดชอบ ตลอดจนวิธีการจัดการศึกษามหาวิทยาลัยในระดับสากล ทั้ง ๆ ที่เอกสารชิ้นนี้ได้ทรงไว้เมื่อปี พ.ศ. 2471 ซึ่งเป็นเวลาที่ย้อนหลังไปจากปัจจุบันกว่า 80 ปี แต่สาระต่าง ๆ ที่ทรงเสนอแนะไว้ยังคงทันสมัยและเป็นหลักคิดที่จะก่อประโยชน์แก่การจัดการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยอย่างแท้จริง ที่เห็นได้อย่างเด่นชัดที่สุดก็คือทรงมีพระราชวินิจฉัยเกี่ยวกับการจัดตั้งมหาวิทยาลัยอย่างเป็นระบบและมองการณ์ไกล โดยทรงเสนอแนวคิดอันแยบคายเรื่อง กิจการ 4 ประการที่มหาวิทยาลัยควรมีได้แก่
- การเสาะหาวิชชา หรือเปิดโอกาสให้กุลบุตรได้เรียน ทำการเสาะหาวิชชาเลี้ยงดูทำนุบำรุงนักปราชญ์ผู้สามารถเสาะหาวิชชา และใช้ผลอันนั้นมาสอนกุลบุตรได้ เป็นกิจสำคัญที่สุดของมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเป็นสมองต้นความคิดของชาติ เป็นสถานเลี้ยง “คนดี” ของชาติ
- ผลของการเสาะหาวิชชานี้ ต้องเอามาวางเป็นแบบแผนสำหรับความประพฤติของชาติ ทั้งในทางธรรมะและวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเป็นตัวอย่างการเป็นเครื่องวัด เป็นที่เก็บรวบรวมและจำหน่ายเผยแผ่ความคิดของชาติของเราเอง และช่วยทำการติดต่อกับคณะที่มีหน้าที่คล้ายกันของนานาชาติ
- มหาวิทยาลัยมีกิจสอนกุลบุตร ศิลปวิทยาศาสตร์ เพื่อทำให้ผู้มาเรียนมีความรู้กว้างขวาง เห็นเหตุใกล้ไกล และใช้ความคิดที่ได้บังเกิดขึ้นด้วยการเรียนเป็นผลประโยชน์แก่คณะ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยอาจจะตั้งโรงเรียนฝึกฝนวิชาชีพย์บางชนิดที่ต้องมีพื้นศิลปวิทยาศาสตร์
- มหาวิทยาลัยมีกิจสอบไล่กุลบุตร เพื่อวัดความรู้ความสามารถ และรับรองเป็นพยานโดยการให้ปริญญาแก่ผู้ที่สมควร
เหตุที่ทรงให้ข้อเสนอแนะที่ครบถ้วนถึงภารกิจอันพึงกระทำของมหาวิทยาลัยดังกล่าวน่าจะมาจากพระราชวินิจฉัยที่ว่า “มหาวิทยาลัยอย่างที่นานาประเทศเข้าใจกันนั้นยังไม่มีในประเทศสยาม เราใช้มหาวิทยาลัยต่างประเทศเป็นส่วนนั้นของการอุดมศึกษาของเรา” จะเห็นได้ว่าแนวคิดที่ทรงเสนอนี้ยังคงทันสมัยแม้ในปัจจุบัน ซึ่งสะท้อนถึงพระวิสัยทัศน์อันลึกซึ้งของพระองค์ท่านในเรื่องปรัชญา บทบาท หน้าที่ และวิธีการจัดการศึกษาอุดมศึกษาในระดับสากล
คณะอาจารย์และผู้เข้าอบรมแพทย์สาธารณสุข พ.ศ. 2467ในบันทึกพระราชดำริ เรื่อง “การสำรวจการศึกษาเพื่อประกอบพระราโชบายเรื่องการตั้งมหาวิทยาลัย” และ “รายงานความเห็นเรื่องโครงการมหาวิทยาลัย” ที่ทรงนำเสนอต่อรัฐบาลในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2472 ได้ทรงแนะนำให้รัฐบาลทบทวนการดำเนินงานเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยด้วยการสำรวจ ซึ่งสอดคล้องกับวิธีที่นักวางแผนการศึกษาปัจจุบันเรียกว่าการทำ Feasibility Study นั่นเอง และคำถามต่าง ๆ ที่ทรงตั้งเป็นแนวทางในการสำรวจนั้นเป็นคำถามเพื่อการวางแผนในการทำงานที่ใช้อยู่เป็นประจำในระเบียบปฏิบัติของมหาวิทยาลัยในต่างประเทศและเป็นคำถามที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการอุดมศึกษาของชาติสามารถพิจารณานำไปใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย
นอกจากนี้ยังทรงเสนอแนะวางรูปแบบการบริหารมหาวิทยาลัยในลักษณะที่เน้นการมีส่วนร่วม โดยทรงกำหนดให้มี “เสเนต เป็นคณะที่เลือกตั้งกันขึ้น มีผู้แทนจากคณะอาจารย์ คณะทรัพย์สมบัติ คณะนักเรียน ล้วนเป็นผู้ที่ได้ถูกเลือกมาทั้งนั้น มีหน้าที่เสนอความเห็นแก่สภา และมีสิทธิที่จะทำกฎข้อบังคับปกครองภายใน เกี่ยวด้วยการเลือกนักเรียนเข้า การปกครองการอยู่กินของนักเรียน การไล่นักเรียนออก มีประธานของสภาคณาจารย์เป็นประธาน มีหน้าที่ช่วยอุปนายกจัดการปกครองภายใน” ซึ่งเมื่อพิจารณาโดยถ้วนถี่ จะเห็นว่าสมเด็จฯ พระบรมราชชนกได้ทรงริเริ่มนำเสนอหลักการ “ธรรมาภิบาล” ในการบริหารอุดมศึกษามาตั้งแต่ปี พ.ศ.2472 ก่อนที่สังคมไทยจะเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องการปฏิรูปการศึกษาและธรรมาภิบาลอีกครั้งในการปฏิรูปการศึกษา พ.ศ. 2542 หรืออีก 70 ปี ต่อมา
พระวิสัยทัศน์กว้างไกลด้านการสร้างคน
ในช่วงระยะเวลาอันแสนสั้นเพียง 10 ปีที่สมเด็จฯ พระบรมราชชนกทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการอุดมศึกษาไทย ด้วยความเสียสละอันยิ่งใหญ่และปณิธานอันแรงกล้าของพระองค์ท่าน โดยทรงมีบทบาทสำคัญในการปรับปรุง และวางมาตรฐานการศึกษาที่ถือว่าเกี่ยวข้องกับการอุดมศึกษาโดยตรง โดยทรงร่วมกับ ศาสตราจารย์ เอ จี เอลลิส ผู้แทนจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ จัดการปรับปรุงวางหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต โดยยกระดับหลักสูตรแพทย์ประกาศนียบัตรให้เป็นแพทย์ปริญญาในปีพ.ศ. 2466 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาหลักสูตรวิชาแพทย์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุดมศึกษาที่มีคุณภาพตามมาตรฐานโลก
นอกจากพระราชกรณียกิจสำคัญในการเจรจาขอความร่วมมือกับมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ เพื่อการพัฒนาการศึกษาสาขาแพทย์ของไทยให้ได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นการวางรากฐานการอุดมศึกษาไทยให้มั่นคงแล้ว พระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ต่อการวางรากฐานด้านอุดมศึกษาด้วยการสร้างคนคือการพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ในการส่งคนไปศึกษาและค้นคว้าวิจัยในต่างประเทศให้กับนักเรียนทุนไม่น้อยกว่า 34 ทุน นอกจากนี้ยังพระราชทานทุนเพื่อการค้นคว้าและการสอนในโรงพยาบาลศิริราช ด้วยทรงเห็นว่าการค้นคว้าวิจัยและการสอน เป็นงานสำคัญส่วนหนึ่งในการจรรโลงวิชาแพทย์ โดยเบ็ดเสร็จแล้วได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ไปในการสร้างประโยชน์ด้านต่าง ๆ เป็นเงินประมาณ 1 ล้าน 4 แสนบาท ในขณะที่ทรงดำรงพระชนม์ชีพด้วยความประหยัดมัธยัสถ์ เนื่องจากทรงมีพระวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลว่า การสร้างหรือปรับปรุงโรงเรียนแพทย์นั้นจำเป็นต้องเริ่มด้วยการจัดให้มีครูดีและเพียงพอเสียก่อน
พระเมตตา พระปรีชาญาณ และความเสียสละอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ เป็นพลังอันสำคัญที่ช่วยให้การอุดมศึกษาในประเทศสยามที่เริ่มมีการก่อตั้งมาก่อนหน้านั้นไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน ข้าราชการ พลเรือน โรงเรียนราชแพทยาลัย มีความแข็งแกร่งทางวิชาการ มีความเป็นมาตรฐานในฐานะของมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพระดับสากล
ทรงเป็นบุคคลต้นแบบ (Role Model)
สมเด็จฯ พระบรมราชชนก ทรงเพียบพร้อมด้วยคุณลักษณะสำคัญอันเป็นแบบอย่างให้แก่ผู้ใฝ่ในการศึกษาเมื่อทรงประกอบพระราชกรณียกิจใด ๆ จะทรงมุ่งมั่นพระราชหฤทัยอย่างแน่วแน่ ทรงทุ่มเทพระสติกำลังอย่างเต็มที่ในทุกเรื่องจนเป็นที่รักใคร่ชื่นชมและยกย่องโดยผู้ที่ได้มีโอกาสสัมผัสในพระราชจริยาวัตร ซึ่งนับว่าเป็นการดำรงพระชนม์ชีพที่เป็นต้นแบบ (Role Model) ซึ่งเป็นแบบอย่างอันดีของผู้ใฝ่ในการศึกษาที่น่ายกย่อง ดังจะเห็นได้จากพระราชปณิธานในการดำรงพระชนม์ชีพส่วนพระองค์ที่ได้ทรงถ่ายทอดให้เยาวชนในระดับอุดมศึกษานำไปเป็นหลักในการดำเนินชีวิตเพื่อยังประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ด้วยเช่น
“ฉันไม่ต้องการให้พวกเธอมีความรู้ทางแพทย์อย่างเดียว ฉันต้องการให้พวกเธอเป็นคนด้วย”
ทรงเปี่ยมล้นด้วยจิตวิญญาณของความเป็นครู
สมเด็จฯ พระบรมราชชนก ทรงสอนวิชาชีววิทยากายวิภาคศาสตร์ของสัตว์มีกระดูกสันหลัง และวิชาประวัติศาสตร์ แก่นิสิตเตรียมแพทย์ด้วยพระวิริยะอุตสาหะ และนอกจากจะทรงออกข้อสอบในวิชาที่ทรงสอนแล้ว พระองค์ยังเสด็จไปคุมสอบด้วย
นอกจากนี้ ยังทรงสอนวิชาประวัติศาสตร์ ซึ่ง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์สุด แสงวิเชียร ขนานนามว่า “วิชาสอนให้คนไทยเป็นคนไทยสมบูรณ์” โดยทรงสอนประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยและของสากล และการสอนของพระองค์ทำให้การเรียนสนุก คือทรงพานักเรียนไปดูสถานที่สำคัญในกรุงเทพฯ ด้วยพระองค์เอง ซึ่งในเวลานั้นยังเป็นสถานที่หวงห้ามอยู่และนักศึกษาเกือบทั้งหมดไม่เคยพบเห็น เช่น ทรงพาไปดูพระที่นั่งอนันตสมาคม พระบรมมหาราชวัง โดยเฉพาะตอนหน้าของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ทรงเชิญนักดนตรีฝีมือเอกมาเล่นดนตรีให้นักเรียนฟัง รวมทั้งได้ทูลเชิญสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ มาทรงปาฐกถา เรื่อง ไทยรบพม่าให้นักเรียนฟังด้วย
ทรงส่งเสริมการอ่านโดยทรงจัดหนังสือให้นักเรียนไปอ่านแล้วสรุปเนื้อหาได้อ่านในชั้นเรียน โดยมากเป็นประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ของประเทศต่าง ๆ แล้วทรงเชิญผู้ที่คุ้นเคยกับประเทศนั้น ๆ มาร่วมอภิปรายเพิ่มเติมด้วย บางท่านก็นำภาพของประเทศดังกล่าวมาร่วมแสดงด้วย
การทรงปฏิบัติเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต
สมเด็จฯ พระบรมราชชนก ทรงมีพระราชจริยาวัตรด้านความเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างเด่นชัด เช่น หลังจากที่ทรงสำเร็จการเป็นแพทย์แล้วได้ทรงขอสมัครเข้ามาเป็นแพทย์ประจำบ้านในโรงพยาบาลศิริราช เพราะทรงเห็นว่าโรคที่เรียนจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดนั้นเป็นโรคของคนเมืองหนาว แต่ประเทศไทยเป็นเมืองร้อน โรคต่าง ๆ ย่อมไม่เหมือนกัน จึงทรงมีพระประสงค์จะมาฝึกฝนหาความรู้เพิ่มเติม โดยทรงสมัครเป็นแพทย์ประจำบ้านที่โรงพยาบาลศิริราช แต่ทางการในขณะนั้นเห็นว่าพระองค์เป็นองค์รัชทายาท จึงไม่เห็นควรสนองพระราชประสงค์สมเด็จฯ พระบรมราชชนก จึงเสด็จไปเป็นแพทย์ประจำบ้านที่โรงพยาบาลแมคคอร์มิค จังหวัดเชียงใหม่
โรงพยาบาลแมคคอร์มิค ซึ่งสมเด็จฯ พระบรมราชชนกทรงงานตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2472
เมื่อเสด็จไปทรงแสดงปาฐกถาที่สโมสรแพทย์ทูลเชิญที่โรงพยาบาลบางรัก ได้ทรงนำหนังสือ Manson Bahr ติดพระองค์ไปด้วย เมื่อตรัสไปสักพักหนึ่งก็ตรัสว่าประเทศไทยอยู่ในโซนร้อนตลอดหนังสือเล่มนี้ซึ่งเป็นหนังสือว่าด้วยโรคประเทศร้อนแต่ไม่มีเรื่องราวจากประเทศไทยเลย ทั้งนี้ก็เพราะทรงต้องการให้แพทย์และนักศึกษาได้ค้นคว้าเรื่องของประเทศเราเองด้วย
พระราชมรดกทางวิชาการอันทรงคุณค่า
ในช่วงเวลาอันสั้นของพระชนม์ชีพซึ่งมีพระพลานามัยไม่สมบูรณ์และท่ามกลางการทรงงานด้านอื่น ๆ อย่างเต็มพระกำลัง สมเด็จฯ พระบรมราชชนกได้ทรงฝากพระราชมรดกทางวิชาการอันทรงคุณค่ายิ่งไว้ให้พวกเราได้ชื่นชมกัน ได้แก่พระนิพนธ์บทความ “โรคทุเบอร์คุโลสิส” ข้อปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยวัณโรคในด้านการป้องกันและดูแลรักษาตนเอง ซึ่งต่อมาได้จัดพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงพระศพ จอมพลสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2463, “วิธีปฏิบัติการสุขาภิบาล (Practical Sanitation)” ซึ่งทรงแสดงในการอบรมแพทย์สาธารณสุข พ.ศ. 2467 และชุดการบรรยาย “Contemporary History Course” สำหรับนิสิตเตรียมแพทย์วิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ ประกอบด้วยการบรรยายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยและต่างประเทศ การพาณิชย์ ศิลปะการค้นพบ และการประดิษฐ์ นอกจากนี้ยังมีบทความในภาษาอังกฤษซึ่งทรงพระนิพนธ์ร่วมกับชาวต่างประเทศชื่อ EDWARD G. McGAVRAN ภายใต้พระนาม MAHIDOL SONGKLA คือบทความเรื่อง “A Report of Two Indigenous Cases” ตีพิมพ์ใน DIPHYLLOBOTHRIUM LATUM IN MAS-SACHUSETTS
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ เอ จี เอลลิส อดีตผู้แทนของมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ซึ่งมีโอกาสได้ร่วมงานกับพระองค์อย่างใกล้ชิดในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาแพทย์ ได้น้อมรำลึกถึงสมเด็จฯพระบรมราชชนกกว่า “เราได้รับมรดกคือผลสำเร็จที่พระองค์ท่านได้ทรงประกอบไว้ และเราได้รับความทรงจำอันประเสริฐในบุคคลซึ่งทรงลักษณะอันเป็นที่ดูดดื่มชุ่มใจแก่ทุก ๆ คนที่ได้ทำการติดต่อกับพระองค์ท่าน การที่พระองค์ท่านทรงอุบัติมาในโลกนั้น ทำให้โลกนี้ดีขึ้นเป็นแน่แท้”
ทรงอุ้มพระโอรสพระองค์เล็ก(พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร)
พระราชปณิธานในการทรงงานเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าของประชาชนชาวไทยของสมเด็จฯ พระบรมราชชนก นั้นแรงกล้าจวบจนวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพดังรับสั่งของพระองค์ท่านที่มีต่อสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ) ในวาระที่ประชวรหนักว่า “ข้าพเจ้าจะตายก็ไม่เสียดายแก่ชีวิต แต่เสียดายว่างานที่กำลังทำค้างอยู่ยังไม่สำเร็จบริบูรณ์”
ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นของพระองค์ท่านที่มีต่อการอุดมศึกษาไทย คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ในคราวประชุมครั้งที่ 12/2553 เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2553 จึงมีมติเห็นควรให้มีการดำเนินการน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระราชสมัญญานาม “องค์บิดาแห่งการอุดมศึกษาไทย” แด่สมเด็จฯ พระบรมราชชนก เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์แห่งพัฒนาการการศึกษาของไทยว่า
พระองค์คือพระผู้ทรงวางรากฐานอันแข็งแกร่งให้กับการอุดมศึกษาไทย จนสามารถพัฒนาให้มีมาตรฐานทัดเทียมนานาอารยประเทศให้เป็นที่ประจักษ์สืบไป
อมร แสงมณี. (2555). พระบิดาแห่งการอุดมศึกษา. วารสารมูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย. 26(51) : 1-7.