ภาควิชากายวิภาคศาสตร์
โดย ศ. ดร.กนก ภาวสุทธิไพศิฐ และ รศ. ดร.ชัยทิพย์ วนิชชานนท์.
ประวัติภาควิชากายวิภาคศาสตร์ แบ่งออกได้เป็นสองยุค
ยุคค่ายทหาร
คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก่อตั้งตั้งแต่ปี 2501 ต่อมาในปี 2503 เริ่มมีหลักสูตรปริญญาตรีวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ภาควิชากายวิภาคศาสตร์เริ่มสถาปนาเมื่อปี 2507 ภายใต้การอุปถัมภ์ของมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ผู้ที่สำเร็จการศึกษา (ปริญญาตรี) กายวิภาคศาสตร์ในยุคนั้น ได้แก่ อ.ชาติชาย ตระกูลรังสิ อ.ธีรยุทธ กลิ่นสุคนธ์ และ อ.วิโรจน์ มิตรานนท์ และอีกท่านหนึ่งเป็นอดีต นศพ. ศิริราช นักศึกษาบัณฑิตรุ่นที่ 1-4 ซึ่งสำเร็จการศึกษาที่คณะเก่าคือ อ.นที อ.เสริมศรี อ.นงเยาว์ และ อ.สุเทพ ตามลำดับ
พ.ศ. 2509 คณาจารย์ประจำภาควิชาได้ย้ายสู่คณะใหม่ โดยมี ศ.โรเบิร์ต ซี.ฮอลแลนด์ (หัวหน้าภาควิชา) อ.ผดุง ว่องพยาบาล อ.เสริมศรี วิเศษสุวรรณ และ อ.พิมพ์ บุปผานิโรจน์ เป็นบุคลากรหลัก
ยุคริมทางรถไฟ
พ.ศ. 2510 ตึกใหม่ของคณะวิทยาศาสตร์และโรงพยาบาลรามาธิบดีวร้างเสร็จ ศ.สตางค์ มงคลสุข ได้นะบุคลากรเข้าบุกเบิกคณะใหม่ พร้อมมอบมรดกก้อนใหญ่ของท่านคือที่ดินและตึกเรียนทั้งหมดให้แก่คณะเภสัชศาสตร์ ภาควิชาได้ อ.นงเยาว์ มาเสริมกำลังอีกหนึ่งท่าน อ.ผดุง เริ่มศึกษาระดับปริญญาโทที่คณะใหม่ พร้อมกับ อ.วิสุทธิ์ (สัตวแพทย์ เกษตรฯ) และ อ.อาภา (สัตว์แพทย์ จุฬาฯ)
พ.ศ. 2511 ทีมสอน Gross Anatomy รุ่นบุกเบิก มี ศ.เวอร์นอน แอล. เยียเกอร์ อ.นงเยาว์ และ อ.สุเทพ นักศึกษาแพทย์รามาธิบดี รุ่นที่ 1 ตอนนั้นอยู่ปี 4 กำลังเรียนวิชานี้ อ.กนก ภาวสุทธิไพศิฐ อยู่ในกลุ่มนักเรียนคะแนนยอดเยี่ยมของประเทศ 64 คน อ.วันทนีย์ เริ่มศึกษาต่อระดับหลังปริญญา
พ.ศ. 2512 อ.เรือน สมณะ สำเร็จการศึกษา Ph.D. กายวิภาคศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย กลับประเทศไทยพร้อมภรรยา
พ.ศ. 2514 อ.ประเสริฐ โศภน สำเร็จการศึกษา Ph.D. กายวิภาคศาสตร์ จาก มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน หลังใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยอยู่ 2 ทวีป ใต้และเหนือเส้นศูนย์สูตรอย่างโชกโชน
พ.ศ. 2516 อ.บุญเสริม วิทยาชำนาญกุล สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิตแล้ว สมัครเข้ามาช่วยงานที่คณะวิทยาศาสตร์สมดังเจตนารมณ์ของท่านอาจารย์สตางค์ ที่อยากได้ลูกศิษย์เก่ง ๆ และยึดมั่นอุดมการณ์มาเป็นอาจารย์
ยังมีอาจารย์อีกหลายท่านที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ และกลับมาทำงานที่ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ อาจารย์ทุกท่านที่กล่าวมารวมทั้ง อ.กนก ได้เป็นกำลังสำคัญในการสร้างความเจริญให้แก่คณะวิทยาศาสตร์และบัณฑิตวิทยาลัย มีลูกศิษย์สำเร็จการศึกษามากมาย หลายคนกำลังเป็นหัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ
คณาจารย์ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2531
(ที่มา: หนังสือ 30 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 2501-2531)
การเรียนการสอน
ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ จัดการเรียนการสอนในเนื้อหาวิชาที่เกี่ยวข้องกับกายวิภาคศาสตร์ 4 วิชา สำหรับนักศึกษาแพทย์และบัณฑิตศึกษา ได้แก่
- 1. Gross Anatomy
- 2. Developmental Anatomy
- 3. Neurobiology
- 4. Microanatomy
นอกจากนี้ยังสอนวิชา Basic Anatomy โดยแบ่งอาจารย์เป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกสอนนักศึกษาพยายามรามาฯ และพยายามศิริราช ปีที่ 1 ที่วิทยาเขตศาลายา กลุ่มที่สองสอนนักศึกษาเทคนิคการแพทย์ รังสีเทคนิค และสาธารณสุขศาสตร์ ปีที่ 2 เรียนที่พญาไท
งานวิจัย
การวิจัยของภาควิชากายวิภาคศาสตร์มีทั้งการวิจัยในระดับพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับ Morphology ของอวัยวะต่าง ๆ โดยใช้กล้องจุลทรรศน์ทุกชนิดคล้ายกับที่เคยทำกันมาในอดีตและการวิจัยในระดับประยุกต์ เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ และเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เช่น การผลิตตัวอ่อนโคหลอดแก้ว การฝากตัวอ่อนของโคและสัตว์ที่กำลังจะสูญพันธุ์ การเพาะเลี้ยงกุ้งชนิดต่าง ๆ การศึกษาโครงสร้างและหน้าที่ของระบบอวัยวะต่าง ๆ ของหอยเป๋าฮื้อพันธุ์พื้นเมือง เป็นต้น
กลุ่มวิจัยในภาควิชากายวิภาคศาสตร์แบ่งออกได้ 4 กลุ่ม 6 โครงการ
1. การศึกษาโครงสร้าง หน้าที่ และความสัมพันธ์ของระบบประสาทและระบบสืบพันธุ์ของหอยเป๋าฮื้อพันธุ์พื้นเมือง เป็นโรงการวิจัยของ EM & Cell Biology Lab ร่วมกับภาควิชาชีววิทยา
2. การผลิตตัวอ่อนโคและกระบือจากห้องปฏิบัติการ ทำการแยกเพศตัวอ่อนโดยใช้ H-Y Antibodies และ PCR การช่วยการปฏิสนธิโดยการฉีดเซลล์อสุจิเข้าเซลล์ไข่ แล้วนำตัวอ่อนที่ได้ไปทำการถ่ายฝากให้แม่โคตัวรับ เป็นโครงการวิจัยของ Neurobiology Lab
ศ. ดร.กนก ภาวสุทธิไพศิฐ บรรยายเรื่องโครงการพัฒนาโคหลอดแก้ว เมื่อ พ.ศ. 2533
(ที่มา : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์)
3. การคัดเลือกสายพันธุ์และเพิ่มผลผลิตกบ โดยวิธีเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นโครงการวิจัยของ Reproductive Biology Lab
4. การศึกษาลักษณะโครงหลอดเลือดโดยละเอียดในอวัยวะต่าง ๆ ของ Primates โดยวิธี Vascular Corrosion Cast ภายใต้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด เป็นโรงการวิจัยของ Endocrinology Lab
5 การผลิตชิ้นส่วนชีวภาพกำซาบด้วยสารพลาสติก (Production of Plastinated Biological Specimens)
6. การศึกษาเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงและการเพิ่มผลผลิตกุ้งก้ามกรามและกุ้งกุลาดำ รวมถึงการศึกษาไวรัสโรคกุ้งหัวเหลือง
- เรียบเรียงจาก : กนก ภาวสุทธิไพศิฐ และ ชัยทิพย์ วนิชชานนท์. (2540, พฤษภาคม-มิถุนายน). ภาควิชากายวิภาคศาสตร์. วารสารคณะวิทยาศาสตร์. 10(3). หน้า 42-44.