หน้าหลัก > เอกสารและสิ่งพิมพ์ > บทความพิเศษ

ปาฐกถา ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ครั้งที่ 2
โดย ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์
หัวข้อ “การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์”
วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2537 ณ โรงแรงแชงกรีลา

ท่านนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล ท่านคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ท่านผู้มีเกียรติและเพื่อน ๆ ที่รักทุกท่านครับ ผมรู้สึกเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญมาเป็นองค์ปาฐกสำหรับปาฐกถา ศ. ดร.สตางค์ มงคลสุข ผมมาในวันนี้ความจริงด้วยความรู้สึกที่เป็นเกียรติที่ทางคณะวิทยาศาสตร์ ได้กรุณาเชิญผมมา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผมมีความรู้สึกว่า พระคุณที่ท่านอาจารย์สตางค์ได้มีต่อผมและเพื่อน ๆ อีกหลายท่าน รวมถึงรุ่นพี่ผมที่ไม่ได้อยู่ในอาชีพแพทย์ (ที่ท่านคณบดีได้แนะนำไปแล้วคือ ท่าน ดร.โอฬาร และอีกหลาย ๆ ท่านที่ไม่ได้มีโอกาสมาในวันนี้) ผมคิดว่าเราจะลืมพระคุณของท่านอาจารย์สตางค์ไม่ได้ว่า ในช่วงหนึ่งของชีวิตเราได้มีโอกาสอยู่ใกล้ชิดกับท่าน ทุกครั้งผมยังนึกถึงวันเวลาที่ได้เรียนหนังสือ ที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ นึกถึงการบรรยายของท่านอาจารย์สตางค์ นึกถึงการเข้าห้อง Lab กับท่านอาจารย์สตางค์ นึกถึงบาง session ที่มีโอกาสได้เข้าไปนั่งคุยกับท่านสองต่อสองหลายครั้ง ผมคิดว่าวันนี้ถ้าผมมาไม่ได้ก็คงจะเป็นการกระทำผิดอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น ผมขอบพระคุณที่ท่านคณบดีได้เรียนให้ผู้มีเกียรติทั้งหลายได้ทราบว่า ผมคงต้องขอเสียมารยาทนิดหน่อยนะครับว่า เมื่อผมบรรยายเสร็จแล้วผมต้องขออนุญาตกลับไปทำหน้าที่ที่รัฐสภาต่อ เพราะวันนี้เป็นวันสุดท้ายของการอภิปรายพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2538 หน้าที่ผมคงมีอยู่บ้างพอสมควรไม่ถึงกับว่าจะต้องคอยเฝ้าการอภิปรายทั้งหมดนะครับ เพราะว่าการอภิปรายนั้นบางครั้งท่านก็ทราบดีอยู่นะครับว่าสาระก็ดีมากบ้าง น้อยบ้าง ผมจะพูดว่าไม่ดีก็คงไม่ได้ เดี๋ยวเขาได้ยินผมพูดที่นี่ผมกลับไปเขาจะลุกมาพูดที่นั่นอีก แต่ว่าถึงอย่างไรก็ต้องฟัง แล้วก็ต้องเตรียมตอบ ในที่สุดตอนปิดสุดท้ายนั้น ผมมีหน้าที่ (ในฐานะที่ดูแลสำนักงบประมาณ) ต้องเสนอรายชื่อของคณะกรรมาธิการในฝ่ายรัฐบาล เพราะฉะนั้นผมจะต้องกลับไปให้ทันเวลา ผมขออนุญาตกราบเรียนไว้ในตอนต้นนี้ด้วย

ก่อนที่ผมจะกล่าวอย่างเป็นทางการในคำกล่าวที่ผมเตรียมมา ผมอยากจะขอเรียนอีกเรื่องหนึ่งว่าผมไม่แน่ใจว่าผมตัดสินใจเลือกถูกหรือเปล่า ในการที่เปลี่ยนวิชาที่เรียนจากคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มายังวิชาที่ธนาคารแห่งประเทศไทยส่งผมไปเรียน เพราะว่าถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้อยู่ในอาชีพเดียวกันก็ตาม ผมมองอาชีพของนักวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะท่านที่ไปเป็นแพทย์ ผมมองว่าท่านเป็นผู้ที่ทำคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ ต่อสังคมมากมายเหลือเกิน ทำแล้วก็เห็นผลอย่างชัดเจน ไม่ค่อยเหมือนกับนักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งกว่าจะทำได้นั้นถกเถียงกันเป็นเวลานาน พอทำออกมาแล้วก็ไม่ค่อยชัดเจนว่าผลนั้นเป็นผลดีหรือผลเสีย และในระยะค่อนข้างยาวด้วย เพราะฉะนั้นความพึงพอใจในงานที่ทำก็คงมีอยู่ในระดับหนึ่ง ไม่เหมือนกับ การทดลองด้านวิทยาศาสตร์หรือการรักษาคนไข้ให้หายเจ็บไข้ได้ป่วย ผมคิดว่าอานิสงส์นั้นมากมายมหาศาลเหลือเกิน แต่ที่ผมตัดสินใจไปเรียนในช่วงนั้น อาจจะไม่เรียกว่าหลงผิด แต่ว่าในช่วงที่ตัดสินใจไปเรียนก็เป็นช่วงที่ท่านอาจารย์สตางค์ก็คุยให้ฟังเหมือนกันว่าถ้าอยู่ไปครบ 2 ปี ท่านก็จะส่งไปเรียน คงจะวิชาเดียวกับที่ท่านคณบดีไปเรียนมาเหมือนกันนะครับ บังเอิญในช่วงนั้นเป็นช่วงที่ผมตัดสินใจว่า น่าจะไปเรียนหนังสือที่ต่างประเทศ ก็ไม่ทราบว่าด้วยเรื่องอะไร อาจจะเป็นเพราะว่าอยู่ที่เมืองไทยไม่ค่อยได้มีเสรีภาพเท่าที่ควร คงไม่ใช่เพราะเรื่องเรียนหนังสือแต่คิดว่าเสรีภาพที่มีอยู่ค่อนข้างจำกัด และผมเข้าเรียนที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ด้วยอายุที่ยังเป็นเด็กชายอยู่เพื่อนก็ล้อมากเหลือเกินว่าเป็นเด็กชายนะครับ สมัยนั้น จะไปไหนมาไหนก็ยังถูกควบคุมอย่างใกล้ชิด จะหนีไปมีกิจกรรมนอกหลักสูตรยากมาก ผมคิดว่าเสรีภาพจำกัดเหลือเกินถ้าอยู่ในเมืองไทยต่อไป ในช่วงนั้นที่ตัดสินใจไปเรียนในสายที่ไม่เคยคิดว่าจะเรียนเลย ผมคิดว่าคงไม่ได้มีเหตุผลทางด้านวิทยาศาสตร์เท่าไร เป็นเหตุผลค่อนข้างจะส่วนตัวมาก ๆ ซึ่งก็คงจะไม่เป็นตัวอย่างที่ดีนัก แต่ผมอยากจะเรียนว่า ผมถือว่าผลงานของท่านอาจารย์สตางค์ มงคลสุข ทางด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นั้นเปรียบเทียบได้กับผลงานของท่านอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ สำหรับด้านเศรษฐศาสตร์อาจจะเรียกว่า อาจารย์ป๋วย คืออาจารย์สตางค์ในสายเศรษฐกิจ หรือว่าอาจารย์สตางค์ คืออาจารย์ป๋วยในสายแพทยศาสตร์ วิทยาศาสตร์การแพทย์ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เพราะว่าทั้งสองท่านได้จุดกำเนิดไม่ใช่เฉพาะในการส่งเด็กนักเรียนไปเรียนในต่างประเทศอย่างเดียว แต่ยังสร้างให้เกิดการสะสมทรัพยากรมนุษย์ในระดับภูมิภาค โดยการส่งเสริมให้มีการศึกษาระดับอุดมศึกษาในส่วนภูมิภาคด้วย ซึ่งผมคิดว่าเป็นบุญคุณต่อประเทศชาติอย่างมาก เพียงแต่ว่าการกระจายสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นอย่างทั่วถึง และให้ลึกซึ้งไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาตินั้น คงเป็นเรื่องที่อาจจะไม่ได้รับการสานต่อดีเท่าที่ควร เพราะฉะนั้นบางครั้งเราก็คิดถึงท่านทั้งสองด้วยความรู้สึกว่า เราอยากเห็นผู้ใหญ่ของเราเป็นอย่างนี้อีกหลาย ๆ ท่าน ท่านทั้งสองเป็นตัวอย่างที่ดีมากในวงการของแต่ละท่าน ฉะนั้นสำหรับผมถือว่าเป็นสิ่งที่เป็นความโชคดีของผมและเพื่อน ๆ ของผมอีกหลายคนอย่างมหาศาล ที่ได้มีโอกาสได้เล่าเรียนกับท่านทั้งสอง ไม่ใช่ในเรื่องการประสิทธิ์ประสาททางวิทยาศาสตร์หรือทางการศึกษาโดยตรงอย่างเดียว แต่ยังได้รับความคิดความอ่าน ความเข้าใจในเรื่องที่จะสร้างคุณประโยชน์ให้กับสังคม

ผมขอเรียนให้ทราบอีกนิดหนึ่งว่าที่ผมไปเรียนมานั้น แท้ที่จริงแล้วธนาคารแห่งประเทศไทยต้องการให้เรียนทางด้านเศรษฐศาสตร์ และคงอยากให้เน้นในเรื่องของการเงินการธนาคาร แต่สิ่งที่ผมได้เรียนมาและได้เขียนวิทยานิพนธ์นั้น กลับกลายเป็นเรื่องของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ครับ หลายท่านคงอาจยังไม่ทราบว่าผมมีความสนใจในส่วนเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ผมมีปัญญาพอจะสนใจนั้น ผมได้ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกทางด้านทรัพยากรมนุษย์ และมีความสนใจในเรื่องนี้สำหรับส่วนตัวผมมานาน หลายท่านคงไม่ทราบ ความจริงอาจจะคิดว่ารู้ทางด้านการเงินการธนาคารอย่างเดียว ซึ่งก็รู้น้อยอยู่เหมือนกัน แต่เรียกว่ารักแรกของผมในเรื่องของการเรียนทางด้านเศรษฐศาสตร์ ก็คือในเรื่องของเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งผมก็ไปสอนอยู่ที่ ม.ศรีนครินทร์ อยู่หลายปี ในวิชาที่ชื่อเศรษฐศาสตร์การศึกษาและผมได้เขียนหนังสือ บทความเรื่องนี้ค่อนข้างมาก จนบางครั้งผมเข้าใจว่าที่ธนาคารชาติคงเข้าใจว่าผมทำมาผิดวิชาคงไม่ได้ตั้งใจที่จะมาทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยหรืออย่างไร ซึ่งในที่สุดก็เป็นจริงอย่างที่คาดคือ ผมไม่ได้อยู่นานเท่าที่ควร ก็เหมือน ๆ กับ ดร.โอฬาร อยู่เหมือนกัน แต่ดร.โอฬารอย่างน้อยได้ทำตรงกว่าที่ผมเรียนมา เพราะฉะนั้นผมคงจะพูดถึงในความรู้สึกที่มีอยู่ต่อท่านอาจารย์สตางค์ในตอนต้นนี้เลยนะครับ ตอนที่ผมจะพูดต่อ ๆ ไป จะเป็นความคิดเห็นอย่างค่อนข้างเป็นทางการ เป็นแนวนโยบายซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็นการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลก็ได้ แต่เป็นความตั้งใจที่พวกเราจะช่วยกันทำงาน อย่างน้อยในทางเล็ก ๆ น้อย ๆ ของเรา พยายามจะสานต่อในเจตนารมณ์ของท่านอาจารย์สตางค์ มงคลสุข ครับ

ผมขอแบ่งประเด็นที่ผมจะกล่าวถึงในเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในวันนี้เป็น 3 ประเด็นด้วยกัน

ประเด็นแรก เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความสำคัญและสถานภาพในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในปัจจุบัน

ประเด็นที่สอง เป็นกลยุทธ์ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ประเด็นที่สาม เป็นบทบาทของรัฐบาลที่อาจจะดูว่าทำบ้างไม่ทำบ้าง เกี่ยวข้องบ้างไม่เกี่ยวข้องบ้าง แต่ผมฟังอภิปรายมา 2 วันนี้รู้สึกว่าถ้าจะเชื่อคำอภิปรายก็จะเข้าใจผิดไปนิดหนึ่งว่ารัฐบาลไม่ได้ทำมากเท่าที่ควร ความจริงรัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลแรกที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาของประเทศ ไม่ใช่เฉพาะด้านเศรษฐกิจ ทั้งด้านการพัฒนาสังคมด้วย งบการศึกษาผมเข้าใจว่าเป็นงบที่สูงที่สุดประมาณ 19-20% เป็นงบที่รัฐบาลให้ความสำคัญทุกระดับตั้งแต่เด็กก่อนวัยเรียนจนกระทั่งระดับอุดมศึกษา ผมเข้าใจว่าคงเป็นรัฐบาลแรกที่หานมมาให้เด็กรับประทานอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ขั้นก่อนประถมและประถมหนึ่ง แล้วก็จัดอาหารกลางวันให้กับเด็กประถมศึกษาในเขตยากจน เขตห่างไกลอย่างเต็มที่ และตั้งเป็นกองทุน ซึ่งเวลานี้ผมเข้าใจว่ามีเงิน 1,500 กว่าล้าน ซึ่งจะต้องจัดให้ครบถ้วนให้ได้ทั่วประเทศ และจะจัดให้ดีขึ้นตลอดเวลา

ผมขอไปประเด็นแรกซึ่งเป็น สถานภาพปัจจุบันในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ก็อยากจะขอเน้นว่า

ประการที่หนึ่ง ทศวรรษที่เรากำลังอยู่ ซึ่งจะเข้าไปสู่ปี ค.ศ.2000 นั้น เป็นทศวรรษที่มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก เป็นทศวรรษที่เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจสลายตัวของระบบสังคมนิยม ระบบคอมมิวนิสต์ จะเห็นการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจอย่างมโหฬาร เป็นสหภาพยุโรป European Union มีการรวมกลุ่มทางด้านการค้าไม่ว่าจะเป็นเขตการค้าเสรีอาเซียน เขตการค้าเสรีในอเมริกาเหนือ และมีการแข่งขันที่จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น อันนี้จะมีผลกระทบต่อการศึกษาและต่อการที่เราจะสร้างคนค่อนข้างมาก

ประการที่สอง ประเทศไทยนั้นมีความจำเป็นต้องแข่งขันกับต่างประเทศอย่างมากมาย เราเข้าไปพัวพันในเศรษฐกิจโลกมาก การที่เราจะแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านต่าง ๆ ของเราได้นั้น เราจำเป็นจะต้องมีการพัฒนาทุก ๆ ด้านครับ ไม่ใช่เฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี แต่ว่าทางด้านการเงิน ด้านกฎระเบียบของราชการ ทางด้านบุคลากร ทางด้านการบริหาร ทั้งหมดนี้เพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารงานที่สูงขึ้น เพราะว่าเวลานี้เราจะแข่งขันด้วยการที่บอกว่าต้นทุนของเราถูก ค่าจ้างแรงงานของเราถูกนั้น ไม่จริงแล้ว เราอยู่ในประเทศระดับที่เรียกว่าค่าจ้างแรงงานแพง แพงกว่าประเทศเพื่อนบ้านของเราหลายประเทศที่ต้องแข่งขันกับเราต่อไปในอนาคต เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเป็นการเร่งพัฒนาที่เราต้องก้าวกระโดดหนีจากประเทศเพื่อนบ้านของเราไปให้ทัน

ประการที่สาม เราจะต้องนำพาประเทศ ที่เคยพึ่งภาคเกษตรกรรมมาสู่ภาคอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีให้ได้เร็วที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิต อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ค่อนข้างสูง แต่การที่เราจะรักษาระดับที่สูงที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้น เราจะต้องสามารถแก้ไขปัญหาที่เป็นคอขวดหลาย ๆ อย่างให้ได้สำเร็จ และเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ใช่ทางด้านกายภาพ ทางด้าน Physical เท่านั้น แต่ถ้าเผื่อท่านนั่งฟังการอภิปรายในรัฐสภาสองวันนี้จะเห็นได้อย่างชัดเจนครับ ว่างบประมาณที่เราเถียงกันว่าควรจะมากน้อยแค่ไหน ควรจะสมดุล ขาดดุล หรือว่าเกินดุล หรืออะไรก็แล้วแต่ ทั้งหมดนี้อยู่ที่ว่าเมื่อตั้งงบประมาณไปแล้วเราใช้จ่ายได้ครบถ้วนหรือไม่ อันนี้ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการใช้ ประสิทธิภาพนี้ทางด้านเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Absorptive Capacity ส่วนใหญ่แล้วเป็นความสามารถในการบริหารโครงการ ในการใช้งบประมาณให้ได้ครบถ้วนตามที่ขอมา ทุกปี ๆ เราใช้งบประมาณกันปีหนึ่ง ๆ อย่างเก่งก็ประมาณ 70% ปีนี้รัฐบาลพยายามจะทำการใช้งบประมาณให้เกินร้อยละ 80 ให้ได้ อาจจะร้อยละ 84 (ตามที่เขาพูดกัน) แต่จริง ๆ แล้วเป้าหมายที่เราต้องการจะทำให้ได้นั้น อาจจะไปถึงร้อยละ 90 ซึ่งก็คงจะไม่ใช่ปีสองปีนี้ เราจะต้องพยายามพัฒนาความสามารถอย่างนี้ต่อไปให้ได้ในอนาคต เพราะฉะนั้นในขณะที่เรากำลังพยายามที่จะพัฒนาสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เราต้องเผชิญกับปัญหาทางด้านการไร้ประสิทธิภาพในการบริหารงาน ที่จะนำทรัพยากรที่มีอยู่ทุกอย่างไปใช้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยให้ได้มากที่สุด ขณะนี้ปัญหาที่เราถูกท้าทายก็มาจากหลายด้านหลายประการด้วยกัน โดยเฉพาะใน 3 ด้านที่น่าเป็นห่วง คือ

1. เรามีประเทศในกลุ่มอินโดจีน ประเทศจีน ที่จะกลายมาเป็นคู่แข่งทางด้านการค้า และมีความได้เปรียบเราทั้งทางด้านของทรัพยากรมนุษย์ ทั้งทางด้านของพื้นที่ที่จะใช้สอยได้

2. ความได้เปรียบทางด้านแรงงานราคาถูกของไทยได้เปลี่ยนแปลงไป เวลานี้ค่าจ้างแรงงานของไทยสูงกว่าอินโดนีเซียสองเท่าตัว สูงกว่าจีนโดยเฉลี่ย 7 เท่าตัว ซึ่งเมื่อนับราคาที่ดินซึ่งทยานสูงขึ้นมาในรอบ 3-4 ปีที่แล้ว เราจะเห็นว่าความจริงแล้วความได้เปรียบของเราทางด้านต้นทุนการผลิตกำลังสลายตัวไปอย่างรวดเร็ว

3. ระดับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ทั้งทางด้านการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ การเพิ่มมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์และการใช้เทคโนโลยีเพื่อการบริหารจัดการ ที่ผมได้เรียนให้ทราบแล้ว

ประการที่สี่ การพัฒนาความพร้อมหรือขีดความสามารถในการแข่งขันนั้นประกอบด้วยการพัฒนาในหลายๆด้าน ทั้งทางด้าน ฮาร์ดแวร์ คือพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ (หรือ Infrastructure ที่เราพูดกันทุกวันนี้) ทางด้าน ซอฟต์แวร์ คือการพัฒนาระบบการบริหารการจัดการ และทางด้าน Peopleware หรือ Humanware Human Resource ทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาต่อไปในอนาคต

ประการที่ห้า โอกาสในการที่จะกระจายรายได้ ที่รัฐบาลนี้มุ่งเน้นยิ่งกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจนั้นสำคัญที่สุดก็คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ถ้าหากเราไม่ได้ให้การศึกษา แต่ว่านำเงินไปกระจาย ไปโปรยเฉย ๆ แต่เราไม่ได้สร้างทุนในรูปของมนุษย์ขึ้นมา เงินที่โปรยไปก็เป็นเพียงแค่ตัวเงิน เม็ดเงิน ที่อาจจะก่อให้เกิดเศรษฐกิจที่เราเรียกว่าเป็นลูกโป่งพองลมเท่านั้นเอง แต่ไม่ได้สร้างความสามารถในการที่จะหารายได้ด้วยตัวเอง พึ่งตัวเองได้ต่อไปในอนาคต เพราะฉะนั้นการกระจายรายได้ของรัฐบาล เราก็พิจารณาดูแล้วว่าเราต้องเร่งลงทุนทางด้านการศึกษาพร้อม ๆไปกับการผลักดัน การกระจายการลงทุน ในรูปกายภาพออกไปจากเขตกลาง

ประการที่หก ในด้านสถานภาพปัจจุบันของประเทศไทยนั้นท่านทั้งหลายคงทราบนะครับ ว่าเมื่อไม่นานนี้โครงการพัฒนาของสหประชาชาติ ที่เราเรียกว่า UNDP (United Nation Development Program) เพิ่งได้เสนอรายงานจัดทำเรื่องดรรชนีคุณภาพชีวิตรวม เรียกว่า Human Development Index (HDI) HDI เป็นดรรชนีชี้วัดอาศัยองค์ประกอบ 3 ประการ

1. อายุเฉลี่ยของประชากร

2. อัตราการรู้หนังสือและระยะเวลาที่ใช้ศึกษาในโรงเรียน

3. มาตรฐานการครองชีพ

พบว่าในปี 2535 ประเทศไทยมีระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตรวม หรือ HDI = 0.798 จัดอยู่ในกลุ่มที่มีคุณภาพชีวิตรวมในเกณฑ์ปานกลางค่อนข้างสูง อยู่ในอันดับที่ 16 ของประเทศกำลังพัฒนา ใกล้เคียงกับประเทศเม็กซิโกซึ่งเป็นอันดับ 15 มาเลเซีย ซึ่งเป็นอันดับ 17 ค่าดัชนีนี้สะท้อนว่าการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยค่อนข้างน่าพอใจ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ แต่แท้ที่จริงแล้วดัชนีนี้ก็ยังค่อนข้างที่จะหยาบ และยังไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยบางประการที่เป็นเรื่องสำคัญของประเทศ ที่ต้องช่วยแก้ไขให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว คือ เรื่องโครงสร้างกำลังแรงงาน การศึกษาของประชากร และการพัฒนาคนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นการเฉพาะด้าน

ประการที่เจ็ด เมื่อพิจารณาด้านกำลังแรงงานเราจะพบว่า

- กำลังแรงงานส่วนใหญ่อยู่ภาคการเกษตร คิดเป็นร้อยละ 60 และส่วนใหญ่มีการศึกษาอยู่ในระดับชั้นประถมและต่ำกว่าชั้นประถมสูงถึงร้อยละ 94

- กำลังแรงงานในภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 16 ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 75) มีการศึกษาระดับชั้นประถมและต่ำกว่า รองลงมาคือระดับมัธยมตอนต้น ร้อยละ 11.3

- กำลังแรงงานในภาคบริการมีสัดส่วนร้อยละ 24 มีการศึกษาระดับชั้นประถมและต่ำกว่า ร้อยละ 54 ระดับมหาวิทยาลัยร้อยละ 16

ประการที่แปด เมื่อพิจารณาด้านการศึกษาที่ผมได้เรียนให้ทราบแล้ว แม้ว่าการศึกษาของไทยจะมีอัตราส่วนการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาที่สูงขึ้น จากร้อยละ 28.6 ในปี 2532 เป็นร้อยละ 41.3 ในปี 2536 และมีอัตราส่วนการศึกษาในระดับประถมศึกษาถึงประมาณร้อยละ 90 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาการศึกษาที่ดีขึ้นกว่าในอดีตแต่หากเปรียบเทียบกับต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียนแล้ว ก็ยังเห็นว่าประเทศไทยอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำหรือต่ำที่สุด เมื่อพิจารณาจากอัตราวัด โดยเฉพาะในเรื่องอัตราการเข้าเรียนในทุกระดับ และจำนวนปีเฉลี่ยที่ได้รับการศึกษาซึ่งสูงของประเทศไทย 3.9 ปี เท่านั้น

ประการสุดท้าย ผมขอกล่าวถึงสถานภาพของไทยทางด้านกำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเมื่อพิจารณากำลังคน สำหรับการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้วจะพบว่าไทยมีจำนวนนักวิทยาศาสตร์ และนักเทคนิค 1.6 คน ต่อประชากรหนึ่งหมื่นคน นี่เป็นสถิติหรือเป็นค่าเฉลี่ยที่ต่ำกว่าทุกประเทศในกลุ่มอาเซียนยกเว้นประเทศฟิลิปปินส์ ดังนั้นกำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนี้จึงนับเป็นหัวใจสำคัญที่ควรจะต้องได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง

โดยสรุปแล้วสถานภาพในปัจจุบันทางด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มีปัญหาเป็นการบ้าน สำหรับรัฐบาลและสำหรับพวกเราทุกคนที่ต้องช่วยกันดูแลในเรื่องนี้ ในประเด็นดังต่อไปนี้

1. เศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ จะมีแนวโน้มที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคตมากขึ้นเรื่อย ๆ กำลังคนของภาคเกษตรกรรมที่มีอยู่เป็นจำนวนที่สูงมากที่สุด จะต้องรีบปรับตัวเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมและการบริการมากขึ้น จะทำอย่างไรให้การปรับตัวนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีแบบแผน

2. กำลังคนในภาคอุตสาหกรรมที่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นแรงงานที่ไร้ทักษะหรือ Unskilled Labour จะปรับอย่างไรเพื่อให้มีผลผลิตต่อหัวหรือที่เรียกว่า Productivity เพิ่มสูงขึ้น ให้สอดคล้องกับค่าแรงงานที่สูงขึ้นตลอดจนปรับตัวไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น

3. กำลังคนในภาคบริการ จะปรับตัวอย่างไรเพื่อที่จะรองรับการเปิดตลาดเสรีในอนาคต ตามข้อตกลงของ GAT และการปรับปรุงการบริหารไปสู่มืออาชีพในธุรกิจระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น ข้อตกลงของ GAT คือการตกลงที่จะเปิดตลาดสินค้าระหว่างประเทศให้เสรีมากยิ่งขึ้นนะครับ โดยเฉพาะในภาคบริการ

4. กำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะเพิ่มการผลิตอย่างไรให้มีปริมาณและคุณภาพพอเพียงสำหรับการพัฒนาในปัจจุบันและในอนาคต

ผมขอมาประเด็นที่ 2 เรื่อง กลยุทธ์ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป้าหมายที่สำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คือ

ก. การพัฒนาแรงงานให้มีทักษะมากขึ้น

ข. การปรับปรุงระดับการศึกษาโดยเฉลี่ยของประชากร

ค. การยกระดับสุขภาพและอนามัย

ง. การฝึกอบรมและให้ความชำนาญเฉพาะด้าน

จ. การพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

การพัฒนาจะสำเร็จได้ต้องประกอบด้วยการวางแผนทั้งในระยะสั้น ปานกลาง และในระยะยาว กลยุทธ์การพัฒนาระยะสั้น และระยะปานกลาง เพื่อแก้ปัญหาอุปสรรคสิ่งกีดขวางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระยะเฉพาะหน้า ขณะนี้ประกอบด้วยมาตรการดังต่อไปนี้

ก. การฝึกอบรมแรงงานในภาคต่าง ๆ ดังนี้

1) ปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพของแรงงานที่ด้อยการศึกษา ในระยะที่ผ่านมา ให้มีทักษะที่ดีขึ้น โดยให้สถานประกอบการมีส่วนร่วมรับผิดชอบด้านการฝึกอบรมแรงงานของตนเองด้วย ที่เราเรียกว่า Inhouse Training หรืออาจร่วมกับศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียน

2) จัดตั้งสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะของแต่ละอุตสาหกรรม และรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคการเกษตรมาอยู่ภาคอุตสาหกรรม

3) การจัดตั้งสถาบันฝึกอบรม และพัฒนาบุคลากรระดับสูง เช่น ทางด้านการเงิน การธนาคาร ด้านการบริหาร เพื่อตอบสนองต่อความต้องการ ในธุรกิจระหว่างประเทศ และการพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงิน การธนาคาร และศูนย์กลางทางด้านการคมนาคม

ข. การพัฒนาประสิทธิภาพของภาคราชการและภาครัฐวิสาหกิจ โดยที่จะมีการปรับโครงสร้างบัญชีเงินเดือน ระบบบริหาร ตลอดจนกำลังคนให้มีขนาดเล็กกะทัดรัด และให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่โตมโหฬารซึ่งใช้เวลาของหลายรัฐบาลมาแล้ว รัฐบาลนี้ก็จะพยายามทำเรื่องนี้ให้เป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมาโดยเฉพาะ ในเรื่องการปรับโครงสร้างบัญชีเงินเดือนของข้าราชการ

ค. การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

1) โดยสนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยพัฒนาในภาคเอกชนโดยมีการจูงใจเป็นพิเศษเช่น การลดภาษีอากรสำหรับผู้ที่ต้องการจะลงทุนในการพัฒนาทางด้านการวิจัยของตนเอง

2) การขยายการผลิตในวิชาชีพที่ขาดแคลนมากยิ่งขึ้น

3) สร้างแรงจูงใจและดึงคนไทยที่อยู่ต่างประเทศกลับมาพัฒนาประเทศไทย ผมคิดว่าวันนี้ผมพูดเรื่องนี้ได้ด้วยเพราะว่าเพื่อน ๆ ผมหลายคนที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดีของประเทศ แต่จำเป็นต้องไปทำงานอยู่ต่างประเทศแพทย์ของเราหลายท่านที่ยังทำงานอยู่ต่างประเทศผมคิดว่า ก็คงจะได้รับโอกาสที่จะกลับมาทำงานที่ทางเมืองไทยบ้างในอนาคตเมื่อมีความเหมาะสม

4) เรายังมีความจำเป็นที่จะต้องส่งบุคลากรไปศึกษาต่อต่างประเทศ ในวิชาที่สำคัญและจำเป็นมากยิ่งขึ้น

สำหรับกลยุทธ์ในระยะยาวจำเป็นจะต้องวางพื้นฐานเพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ที่เราเรียกว่า Sustainable Growth ทั้งนี้ควรประกอบด้วยมาตรการดังต่อไปนี้

ประการแรก เป็นการพัฒนาระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยพัฒนาทั้งทางด้านประสิทธิภาพการเรียน การสอน ปริมาณ อัตราการเข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษา และระดับวิชาชีพให้สูงขึ้น ให้ได้ตามมาตรฐานสากล

ประการที่สอง การพัฒนาระบบการศึกษาในระดับสูงหรือในระดับมหาวิทยาลัย ต้องเน้นการเรียนการสอนที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น และรองรับต่อการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค และเปลี่ยนบทบาทที่เน้นด้านการสอนเป็นหลัก มาสู่บทบาทด้านการวิจัยและพัฒนาที่เข้ากับเหตุการณ์ที่เป็นจริงมากยิ่งขึ้น

ประการที่สาม การพัฒนาระบบการศึกษาในภาคเอกชน จะต้องมีการเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาดำเนินการลงทุนในภาคการศึกษาเพื่อตอบสนองต่อตลาดแรงงานภายในประเทศ เช่น การเปิดสอนด้านภาษาต่างประเทศที่มีบทบาทสำคัญทางด้านการค้าและธุรกิจ เป็นต้น

ประการที่สี่ การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต้องมีการวางแผนอย่างมีทิศทาง และเดินไปในทางเดียวกัน ไม่ซ้ำซ้อนกัน คือจะต้องมีความเป็นเอกภาพภายใต้ความหลากหลายที่จำเป็นจะต้องมีอยู่พอสมควร

ประเด็นที่สาม ซึ่งเป็นประเด็นสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงในวันนี้ คือ บทบาทของภาครัฐบาล เป็นการสรุปเรื่องทั้งหมดที่รัฐบาลพยายามทำมา ภายใต้สภาพการณ์ในปัจจุบันที่ผมได้กล่าวถึงแล้ว และกลยุทธ์ที่ได้มีการปฏิบัติมา

ประการแรก นอกจากเรื่องของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ปรากฏในแผนพัฒนาฉบับที่ 7 แล้วรัฐบาลนี้ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจควบคู่กับทางด้านสังคม โดยเฉพาะทางด้านสังคมที่เกี่ยวข้องกับทางด้านการศึกษา งานที่เราได้เน้น และผมจะขอกล่าวถึงในที่นี่มี 3-4 ประการด้วยกัน คือ

1. การเร่งรัดการขยายการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษา และเตรียมพร้อมทางด้านร่างกายจิตใจ และสติปัญญา

2. การขยายการศึกษาภาคบังคับจาก 6 ปี เป็น 9 ปี และเราได้ตั้งความหวังไว้ว่าจะประกาศให้การศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเป็นการศึกษาภาคบังคับให้ได้ภายในปี 2539

3. การพัฒนาสุขภาพพลานามัย รัฐบาลได้จัดอาหารเสริมให้แก่นักเรียนระดับก่อนประถมศึกษา ได้ดื่มนมตลอดทั้งปีครบทุกคน นอกจากนั้นยังจัดกองทุนอาหารกลางวันในช่วงที่ผ่านมาเป็นเงินถึง 1,700 ล้านบาท (สูงกว่าที่ได้เรียนไว้ในตอนแรก)

4. การพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ให้ทุนการศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของต่างประเทศ ในสาขาต่าง ๆ ที่สำคัญ ในปี 2536 เป็นจำนวน 101 คน

5. ได้มีการส่งเสริมระบบประกันสุขภาพให้กับประชาชนในชนบท ซึ่งได้มีการออกบัตรสุขภาพไปแล้วครอบคลุมประชากรถึงขณะนี้ประมาณ 2 ล้านคน

ประการที่สอง สำหรับงบประมาณในปี 2538 ที่เรากำลังพิจารณาอยู่ในวันนี้ รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณจัดสรรให้กับการศึกษาเป็นเงินสูงสุดถึง หนึ่งแสนสามหมื่นเจ็ดพันล้านบาทเศษ คิดเป็นร้อยละ 19.2 ของงบประมาณทั้งหมด และยังได้ตั้งงบประมาณในส่วนของการพัฒนาคุณภาพแรงงานจำนวนห้าร้อยสามล้านบาท เพื่อสนับสนุนการฝึกอบรมและการพัฒนาฝีมือแรงงาน นอกจากนั้นยังได้ตั้งงบเพื่อสนับสนุนทางด้านการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นจำนวนสองพันเก้าร้อยล้านบาทเศษ

ประการที่สาม คณะอนุกรรมการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศที่ผมเป็นประธานอยู่ ได้จัดทำสมุดปกขาวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ ซึ่งจะประกอบด้วยกลยุทธการพัฒนาในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะที่มีความสำคัญมากคือกลยุทธ์ด้านแรงงาน ด้านทรัพยากรมนุษย์ กลยุทธ์ด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สมุดปกขาวฉบับนี้จะเป็นกรอบและนโยบายสำหรับรัฐบาล ในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันที่เราเรียกว่า Competitiveness โดยจะมีการเปิดระดมความคิดเห็นจากฝ่ายต่าง ๆ ราวเดือนสิงหาคมหน้านี้

ประการที่สี่ เพื่อให้เกิดภาพระยะยาวของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และทิศทางในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมไทยในระยะยาว เราจำเป็นต้องมีการแสวงหาทิศทางการปฏิรูปด้านทรัพยากรมนุษย์อย่างจริงจัง ไม่เพียงแต่ที่ปรากฏในสมุดปกขาว ซึ่งต้องการบรรลุเป้าหมายด้านการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจ และการค้าเท่านั้น แต่เราจะต้องสร้างความกลมกลืนในการพัฒนา ที่กำหนดให้มนุษย์เป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง ซึ่งในเรื่องนี้ผมกำลังดำเนินการที่จะจัดตั้งคณะนักวิชาการขึ้นมาชุดหนึ่งมาช่วยศึกษา และระดมข้อคิดเห็นเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ของประเทศไทย โดยเน้นหนักในสิ่งที่จะมีความสำคัญยิ่งยวดต่อประเทศไทยในระยะยาว ส่วนในเรื่องของการปฏิรูปทรัพยากรมนุษย์และนโยบายสังคม ก็จะเป็นเรื่องที่เราจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ความคิดเห็นของนักวิชาการคณะนี้ผมจะนำเสนอเรียนคณะรัฐมนตรี เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการนำมาผันแปรเป็นนโยบายของรัฐบาลและแผนพัฒนาฉบับที่ 8 ต่อไป

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของสังคมไทยนั้น คงไม่ใช่ขึ้นอยู่กับฝ่ายรัฐบาลฝ่ายเดียวรัฐบาลเป็นเพียงผู้กำหนดกรอบนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนเท่านั้น การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นเรื่องของ ทุก ๆ ฝ่ายในสังคมรวมถึงทุก ๆ ท่านที่อยู่ที่นี่ ซึ่งทุก ๆ ท่าน ณ ที่นี่ ผมถือว่าท่านเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญของประเทศชาติคงจะช่วยกันวางรากฐานการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทั้งในปัจจุบันและในอนาคตต่อไป เช่นเดียวกับที่ท่านศาสตราจารย์สตางค์ มงคลสุข ได้สร้างตำนานการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สายวิทยาศาสตร์มาจนถึงทุกวันนี้

ก่อนจบ ผมขอเน้นปัจจัยที่อาจจะไม่ใช่เป็นแผนของรัฐบาลหรือเป็นมาตรการ แต่จะเน้นในการเป็นบุคคลตัวอย่าง ความเป็นมนุษย์ปุถุชน ที่ผมได้สังเกตจากท่านอาจารย์สตางค์ และผมคิดว่าเป็นบุคลิกภาพที่เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาการศึกษา พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คือเราต้องไม่เน้นว่าจะเป็นการศึกษาเพื่อตลาดแรงงาน เพื่อธุรกิจ เพื่อเศรษฐกิจอย่างเดียว

ประการสำคัญประการแรกที่ผมได้ประจักษ์ชัดจากการทำงานของท่านอาจารย์สตางค์ตลอดเวลา คือการที่ท่านทุ่มเทให้กับงานที่ท่านทำ ทุ่มเทไม่ว่าในสิ่งที่ท่านจะมาดำเนินการทางด้านการจัดการศึกษา หรือทุ่มเททางด้านการค้นคว้า ผลงานของท่านปรากฏชัดโดยทั่วไปแล้ว

ประการที่สอง ในเรื่องของระเบียบวินัยในการทำงาน เวลานี้ถึงแม้ว่าเราจะมีการพัฒนาด้านการศึกษาก็ตาม แต่ว่าระเบียบวินัยในการที่จะนำสิ่งเหล่านี้มาปฏิบัติ ระเบียบวินัยของเยาวชนของไทย ระเบียบวินัยในการมีความเคารพต่อกฎเกณฑ์ มีอยู่น้อยมาก ผมได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างจากท่านอาจารย์สตางค์ ในเรื่องการมีระเบียบวินัยที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักค้นคว้า นักวิจัย ที่ดีต่อไปในอนาคต

ประการที่สาม คุณสมบัติที่มีลักษณะเด่นของท่านอาจารย์สตางค์ คือ การประยุกต์วิชาการมาใช้เพื่อประโยชน์ของประชาชนคนไทย ในเรื่องนี้เรายังทำกันน้อยมาก ในการที่จะนำความรู้ที่มีอยู่ในระดับนานาชาติ สากลโลก มาพัฒนา มาทำการวิจัย วิเคราะห์เพื่อที่จะนำประโยชน์มาสู่คนไทยอย่างแท้จริง ซึ่ง 3 ประเด็นนี้ ผมอยากฝากไว้เป็นข้อคิดในการที่จะเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยยึดหลักปฏิบัติที่ผมได้ประสบ และได้เรียนรู้ในช่วงเวลาเพียงเล็กน้อย ที่ได้มีโอกาสอยู่กับท่านศาสตราจารย์สตางค์ มงคลสุข

ในโอกาสนี้ผมขอถือโอกาสกราบขอบพระคุณทุกท่านอีกครั้งหนึ่งที่ได้ให้เกียรติเชิญผมมาปาฐกถาวันนี้และขออภัยอีกครั้งที่ผมต้องขอจบเพียงแค่นี้และขอกลับไปทำหน้าที่ที่รัฐสภาต่อไป ขอบคุณครับ

  • ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล