ที่มาของ สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล

ก่อนปีการศึกษา 2504-2505 มหาวิทยาลัยมหิดล ยังเป็น มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เป็นส่วนราชการของกระทรวงสาธารณสุขในความดูแลของกรรมการมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นนายก-กรรมการ อธิการบดีมหาวิทยาลัยตอนนั้นคือ อธิบดีกรมมหาวิทยาลัยและเป็นผู้บัญชาการมหาวิทยาลัยอีกด้วย โดยอธิบดีมีหน้าที่บังคับบัญชาและบัญชาราชการของกรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ผู้บัญชาการมีหน้าที่ควบคุมดูแลการศึกษาและกิจกรรมอื่น ๆ ของมหาวิทยาลัย เพิ่งจะมาเปลี่ยนรวมเรียกว่า อธิการบดีมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เมื่อปีการศึกษา 2504-2505 และกรมมหาวิทยาลัยนี้ย้ายสังกัดมาขึ้นกับสำนักนายกรัฐมนตรี ในความดูแลของกรรมการสภามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ โดย ฯพณฯ ท่านนายกรัฐมนตรี เป็นนายกสภามหาวิทยาลัย จนถึงวันที่ 2 มีนาคม 2512 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานนาม “มหิดล” อันเป็นพระนามของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ให้เป็นนามมหาวิทยาลัยสืบไป
ศูนย์กลางการดำเนินงานของผู้แทนนักศึกษา ที่นักศึกษาเองช่วยกันเลือกเข้ามาทำงานเป็นผู้แทนรักษาผลประโยชน์ ส่งเสริมความสามัคคี รักษาระเบียบวินัยของนักศึกษา เป็นผู้แทนในการแข่งขันกีฬาและการสังคมต่าง ๆ ร่วมกับสถาบันอื่น ๆ อันเป็นกิจกรรมนอกหลักสูตรของนักศึกษา แต่มหาวิทยาลัยก็มีชื่อเรียกต่างกันไปแล้วแต่ความเหมาะสมและความพอใจในภาษาที่ใช้เรียก อาทิ องค์การนิสิต สโมสรนักศึกษา กรรมการนักศึกษา ศูนย์นักศึกษา ชุมนุมนักศึกษา เป็นต้น มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อก่อนปีการศึกษา 2497-2498 นั้นจะใช้เรียกว่าอย่างไรไม่แน่ชัด ซึ่งอาจจะเรียกว่าคณะกรรมการนักศึกษาก็เป็นไปได้ รายได้ของคณะกรรมการนักศึกษานั้นได้จากงบประมาณที่ทางมหาวิทยาลัยเรียกเก็บจากนักศึกษา เรียกว่า ค่าธรรมเนียมกีฬา เก็บ 10 บาทต่อปีต่อนักศึกษาหนึ่งคนในระดับปริญญาตรี ส่วนปริญญาโทและเอกเก็บคนละ 20 บาท ในปีการศึกษา 2498-2499 ทางมหาวิทยาลัยได้ประกาศแต่งตั้งใหม่ให้เรียกว่า ชุมนุมนักศึกษามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ซึ่งในปีนั้นมีนักศึกษาจำนวน 1,967 คน มีระเบียบของชุมนุมเองโดยเฉพาะ งบประมาณของชุมนุมฯ ได้จากเงินที่เรียกเก็บจากนักศึกษาคนละ 30 บาทต่อปี และยังคงเรียกว่า เงินบำรุงการกีฬา เงินจำนวนนี้ทางมหาวิทยาลัยจะจัดสรรให้ชุมนุมเพียง 2 ใน 3 เท่านั้น และอาจจะได้จากเงินรายได้อย่างอื่นของมหาวิทยาลัยตามสมควรเพื่อดำเนินกิจการต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ จนปีการศึกษา 2500-2501 ได้เปลี่ยนเรียกใหม่ว่า เงินค่าบำรุงชุมนุมนักศึกษา ซึ่งยังคงเก็บ 30 บาทเท่าเดิม และทางมหาวิทยาลัยมอบให้เป็นงบประมาณของชุมนุมนักศึกษาทุกบาททุกสตางค์ จนถึงปีการศึกษา 2504-2505 มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ย้ายสังกัดขึ้นอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรี ยุบอธิบดีและผู้บัญชาการมาเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัย ค่าบำรุงชุมนุมนักศึกษาก็เรียกใหม่ว่า ค่าบำรุงกิจกรรมนักศึกษา และเพิ่มขึ้นเป็น 50 บาท เมื่อถึงปี พ.ศ. 2512 มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ได้รับพระราชทานนามใหม่เป็น มหาวิทยาลัยมหิดล ในระยะหลังนี้กิจกรรมต่าง ๆ ของนักศึกษามีเพิ่มมากขึ้น เงินงบประมาณที่ได้รับมักจะไม่ค่อยพอใช้ ทางมหาวิทยาลัยต้องคอยจุนเจืออยู่เสมอ จึงได้เพิ่มงบประมาณค่ากิจกรรมนักศึกษาเป็นเงิน 100 บาท และได้เปลี่ยนชื่อจากชุมนุมนักศึกษาเป็น สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ในปีการศึกษา 2513-2514 และได้เพิ่มวัตถุประสงค์ขึ้น
- 1. เพื่อเผยแพร่ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย
- 2. เพื่อส่งเสริมความสามัคคีระหว่างสมาชิก
- 3. เพื่อบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม
- 4. เพื่อส่งเสริมความสามัคคีระหว่างสมาชิกและนักศึกษาต่างสถาบัน
- 5. เพื่อเพิ่มพูนและเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการและความรู้รอบตัว
- 6. เพื่อให้ความสะดวกตลอดจนให้ความอนุเคราะห์แก่สมาชิกที่ได้รับความลำบากหรืออุบัติเหตุ
- 7. เพื่อจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์และเป็นผลดีแก่สมาชิก
- 8. เพื่อคุ้มครองสิทธิและรักษาผลประโยชน์ของสมาชิกโดยส่วนรวม
- 9. ไม่มีนโยบายเกี่ยวข้องกับการเมือง
- ที่มา
- แผนกประชาสัมพันธ์ สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล. (2515). ที่มาของสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล. ใน วารสารพิเศษฉบับแนะนำ สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลปีการศึกษา 2514-2515. พระนคร : ศรีเมืองการพิมพ์.