หน้าหลัก > เอกสารและสิ่งพิมพ์ > บทความพิเศษ

อาจารย์ณัฐกับคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์

...มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์มีส่วนช่วยในด้านการถ่ายทอดวิทยาการด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานซึ่งจะเป็นแกนสำคัญของความรู้ลักษณะองค์รวมของวิทยาศาสตร์สุขภาพ อันจะทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับสุขภาพของมนุษย์อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน กิจกรรมที่มูลนิธิทำให้กับประเทศไทยในระยะหลังสงครามโลกครั้งที่สอง คือ การสืบทอดเจตนารมณ์และงานที่มูลนิธิทำค้างอยู่เพราะภาวะสงครามโลกครั้งที่สองเกิดขึ้น ทำให้ต้องยับยั้งไประยะหนึ่ง คือ การพัฒนาโครงการปริญญาเอกทางพรีคลินิกหรือที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์พื้นฐานที่เกี่ยวกับกับศาสตร์ของชีวิต (Life Sciences) โครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ University for Development ของมูลนิธิซึ่งจัดทำขึ้นใน 3 ทวีป คือ เอเชีย ซึ่งทำที่เมืองไทย แอฟริกาทำที่ไนจีเรีย และอเมริกาใต้ทำที่ประเทศโคลอมเบีย โครงการ University for Development มุ่งพัฒนาวิชาการสามด้านคือ วิทยาศาสตร์การแพทย์ เกษตรศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ และได้วางหลักการให้พัฒนาวิชาการทั้งสามด้านนี้ในมหาวิทยาลัยแห่งเดียวกัน เมื่อมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์มาตรวจสอบสถานการณ์ในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2504 ก็ได้พบว่าไม่มีมหาวิทยาลัยใดในประเทศไทยมีความพร้อมที่จะรับกิจกรรมพัฒนาและถ่ายทอดวิชาการทั้งสามสาขาในระดับปริญญาเอกได้ ซึ่งทำให้มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ต้องคิดมากในเรื่องนี้ ในระยะเวลาเดียวกันในประเทศไทยได้เกิดแนวความคิดในการพัฒนาอุดมศึกษาว่าน่าจะรวมมหาวิทยาลัย 3 แห่งคือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เข้าเป็นมหาวิทยาลัยใหญ่แห่งเดียวกัน ซึ่งความคิดนี้เกิดจากข้อเสนอแนะของนักอุดมศึกษาชาวอังกฤษผู้หนึ่ง หลังจากที่เกิดความตื่นเต้นในวงการอุดมศึกษาอยู่พักหนึ่ง หลายฝ่ายเห็นว่าคงจะทำได้ยาก เพราะอุปสรรคจากธรรมเนียมประเพณีและค่านิยมของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง มีสิ่งที่ยึดถือแตกต่างกันออกไป ปัญหาเกี่ยวกับที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งห่างไกลออกไปจากพื้นที่ใกล้เคียงระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ปัญหาการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยที่มีความจำกัดและมีอุปสรรคต่าง ๆ มากมาย ยากที่จะบริหารมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามที่หวัง มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ใช้เวลาพิจารณาโดยรอบคอบในทางเลือก 2 ประการ คือ ยกเลิกโครงการ University for Development ในประเทศไทยไปเลย หรือแยกดำเนินโครงการในสาขาวิชาไปกระทำในสามมหาวิทยาลัยที่มีเอกลักษณ์ด้านวิชาการเฉพาะของตน อาจจะนับว่าเป็นโชคของประเทศไทยก็ได้ ที่มูลนิธิฯ ตัดสินใจดำเนินการต่อไปโดยมีเป้าหมายให้จัดการศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกทางวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานที่มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ วิชาเศรษฐศาสตร์ระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์เกษตรศาสตร์ทั้งด้านพื้นฐานและประยุกต์ระดับปริญญาโทและปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


(จากซ้าย) ศ. นพ.ณัฐ ภมรประวัติ ศ. นพ.เฉลิม พรมมาส และ ศ. ดร.สตางค์ มงคลสุข
ที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2511
(ที่มา : ปูชนียาจารย์ 120 ปี โรงเรียนแพทย์ศิริราช พ.ศ. 2433-2553)

ในวันหนึ่งเมื่อ พ.ศ. 2506 ชาวอเมริกันร่างสูง บุคลิกคล่องแคล่วฉับไว ซึ่งเป็นศาสตราจารย์วิชาชีวเคมี Dr.James S. Dinning ก็เดินผ่านห้องผู้โดยสารขาเข้าของสนามบินดอนเมืองมาพบกับศาสตราจารย์ชาวไทย 2 ท่านที่รอรับอยู่ ศาสตราจารย์ท่านหนึ่งรูปร่างสันทัดผิวขาวสวมแว่นกรอบทอง ท่าทางคล่องแคล่วฉับไวแบบ Dr.Dinning คือ ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ อีกท่านหนึ่งรูปร่างสูงใหญ่ ท่าทางสุขุมเรียบร้อย ระมัดระวัง ท่านคือ ศาสตราจารย์ นพ.สวัสดิ์ สกุลไทย คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ซึ่งทั้งสองท่านมีความประสงค์ที่จะให้มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์เข้ามาช่วยมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ สำหรับศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ อยากจะให้มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์มาช่วยคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นพิเศษ ท่านศาสตราจารย์ นพ.สวัสดิ์ ต้องการให้มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์มาช่วยงานบัณฑิตศึกษา ซึ่งกำลังเริ่มต้นที่บัณฑิตวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2503 ให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าทั้งสองท่านเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยรุ่นใหม่ไฟแรงของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์และของวงการอุดมศึกษาไทยในขณะนั้น ความคิดเห็นของท่านทั้งสองนี้แม้จะเห็นพ้องต้องกันในหลักใหญ่ ๆ ก็ตาม แต่ยังมีข้อแตกต่างในรายละเอียดอีกมาก ต้องยอมรับว่า ดร.ดินนิ่ง ช่วยทำให้เกิดความร่วมมือและประสานประโยชน์ในการบริหารและพัฒนามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ในขณะนั้นเป็นอย่างมาก ท่านศาสตราจารย์ทั้งสองตกลงร่วมมือกันในเรื่องต่าง ๆ โดยมุ่งประโยชน์ส่วนรวมของมหาวิทยาลัยเป็นหลัก ที่จริงชาวมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์และมหาวิทยาลัยอื่น มีความเห็นว่าทั้งสองท่านนั้นคือ อธิการบดีในอนาคตของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ทั้งคู่ แต่ยังมองไม่ออกว่าการเมืองของมหาวิทยาลัยจะดำเนินไปอย่างใดและใครจะได้เป็นอธิการบดีในสถานการณ์เช่นใดเท่านั้น เหตุการณ์ปรากฏต่อมาว่าทั้งสองท่านได้ไปดำรงตำแหน่งอธิการบดีที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ไปดำรงตำแหน่งอธิการบดีท่านที่สองต่อจาก ดร.ถนัด คอมันตร์ สำหรับศาสตราจารย์ นพ.สวัสดิ์ สกุลไทย ไปเป็นอธิการบดีท่านที่สี่ สืบต่อจาก ศาสตราจารย์ ดร.บัวเรศ คำทอง

ดร.ดินนิ่ง เล่าให้ฟังว่าเมื่อเข้ามาศึกษาสถานการณ์ที่มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ในตอนแรกนั้น ได้มองว่าจะต้องเลือกดำเนินการในสถาบันแห่งใดแห่งหนึ่ง คือ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือคณะเวชศาสตร์เขตร้อน คณะหลังนี้มี ศาสตราจารย์ นพ.จำลอง หะรินสุต ซึ่งเป็นนักวิชาการที่รุ่งโรจน์ในด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ของโรคเมืองร้อนและเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยรุ่นใหม่ไฟแรง อีกท่านหนึ่งคือ ศาสตราจารย์ พญ.ตระหนักจิต หะรินสุต (คุณหญิง) เป็นอาจารย์ทางคลินิก เป็นนักวิจัยทางคลินิกที่มีความสามารถสูง เป็นที่ยอมรับในวงวิชาการโรคเขตร้อนของโลกอีกด้วย

ในที่สุด ดร.ดินนิ่ง ตัดสินใจเลือกคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นฐานวิชาการสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน และสนับสนุนให้บัณฑิตวิทยาลัยดำเนินการด้านบริหารจัดการโครงการบัณฑิตศึกษาระดับปริญญาโทและเอก แนวทางการพัฒนาระดับปริญญาและเอกทาง Life Sciences นั้นได้กระทำโดยการจัดตั้งภาควิชา Life Sciences หรือ Preclinical ขึ้น 5 ภาค คือ กายวิภาคศาสตร์สรีรวิทยา ชีวเคมี จุลชีววิทยา และเภสัชวิทยา ต่อมา ดร.สตางค์ ได้ให้ผู้เขียนจัดตั้งภาควิชาพยาธิชีววิทยา (Pathology หรือ Experimental Pathology) ขึ้นอีกภาคหนึ่งรวมเป็น 6 ภาควิชา เพื่อให้ทั้ง 5 ภาควิชาแรกสามารถพัฒนาการเรียนการสอนให้ถึงระดับปริญญาโทและปริญญาเอกได้โดยรวดเร็ว มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์จึงส่งอาจารย์ชาวต่างประเทศที่มีวุฒิ Ph.D. หรือ M.D., Ph.D. มาประจำภาควิชาละ 4-5 คน และให้ทุนนักศึกษาไทยไปเรียน Ph.D. ต่อในต่างประเทศ โดยคัดเลือกแล้วส่งไปโดยตรงจากเมืองไทย หรือชักชวนนักศึกษาไทยที่กำลังเรียนปริญญาตรีในโครงการอื่น ๆ ในต่างประเทศให้สมัครเรียนต่อถึงปริญญาเอกในสาขาต่าง ๆ ของวิชาการด้าน Life Sciences แล้วจึงกลับประเทศไทย ในขณะนั้นสถาบันใดจะเปิดการสอนระดับบัณฑิตศึกษาถึงขั้นปริญญาเอกต้องเสนอโครงการเพื่อรับอนุมัติจากสภาการศึกษาแห่งชาติเสียก่อน สภาฯ จะตั้งคณะกรรมการวิชาการเพื่อพิจารณาหลักสูตร แต่คณะกรรมการวิชาการที่สภาฯ ตั้งขึ้นอันประกอบด้วยแพทย์ที่สอนวิชาปรีคลินิก ไม่ยอมรับแนวความคิดที่จะรับนักศึกษาปริญญาเอกที่ไม่ใช่แพทย์เข้าเรียนวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานเพื่อเป็นอาจารย์ในโรงเรียนแพทย์ การประชุมระหว่างคณะกรรมการวิชาการของสภาการศึกษาและหัวหน้าภาควิชาชาวอเมริกันจึงดำเนินไปอย่างไม่ราบรื่นและมีข้อขัดแย้งหลายประการ แต่เลขาธิการสภาการศึกษาในขณะนั้นคือ ศาสตราจารย์ ดร.กำแหง พลางกูร ท่านเป็นศาสตราจารย์ในวิชากายวิภาคศาสตร์และแม้ท่านไม่ได้เป็นแพทย์แต่เป็นผู้ที่เข้าใจแนวความคิดใหม่ดังกล่าว ได้ช่วยดำเนินการจนกระทั่งหลักสูตรทั้ง 5 สาขาได้รับการอนุมัติถึงขั้นปริญญาเอก หลักการเดิมของมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ต้องการแสวงหานักศึกษาที่เรียนดีเข้ามาเรียนวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน 2 ปี และเรียนวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน (Preclinic) อีก 2 ปี เพื่อให้ได้ปริญญาตรีวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้วจึงศึกษาต่อระดับปริญญาเอกต่อในแต่ละสาขา ขบวนการดังกล่าวเป็นการถ่ายทอดวิทยาการด้านการแพทย์จากต่างประเทศโดยสร้างนักวิชาการใหม่ที่มีคุณภาพทันสมัย และเพื่อให้มีการลงทุนที่มีประสิทธิผลพอสมควร จึงคิดให้มีการสอนแพทยศาสตร์บัณฑิตร่วมไปด้วย คือ ให้มหาวิทยาลัยตั้งคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีขึ้น รับนักศึกษาส่วนหนึ่งไปเรียนแพทย์หลังจบปริญญาตรีทางวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว ซึ่งหวังว่าจะเป็นแพทย์ที่มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์แน่นหนาอีกด้วย ผู้ขยายกิจการด้านคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีคือ ศาสตราจารย์ นพ.ชัชวาล โอสถานนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ผู้รับผิดชอบในการพัฒนาและจัดตั้งคณะคือ ศาสตราจารย์ นพ.อารี วัลยะเสวี ...

    ที่มา
  • ณัฐ ภมรประวัติ. (2543). ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพจากต่างประเทศกับการพัฒนาการแพทย์และการสาธารณสุขไทย. ใน ลินดา วงศานุพัทธ์. (บรรณาธิการ). 72 ปี ณัฐ-เยาวลักษณ์ ภมรประวัติ. (หน้า 90-144). กรุงเทพฯ : พี.เอ.ลิฟวิ่ง.