หน้าหลัก > เอกสารและสิ่งพิมพ์ > บทความพิเศษ

คณะวิทยาศาสตร์กับวิทยาเขตกาญจนบุรี

รองศาสตราจารย์ ดร.นภดล ไชยคำ
อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิทยาเขตกาญจนบุรี
และผู้อำนวยการศูนย์ตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬา

(เรื่องที่ผมเล่าทั้งหมดนี้เป็นเรื่องในอดีตจากความทรงจำ ความเข้าใจ และความเห็นของผมแต่เพียงผู้เดียวซึ่งอาจไม่ตรงกับความทรงจำและความเข้าใจของบุคคลอื่น และถ้าผิดไปจากความจริงผมก็ขออภัย ส่วนปัจจุบันนี้เป็นอย่างไรนั้นผมไม่ทราบชัดเพราะผมหลุดออกจากวงโคจรไปนานแล้ว)

ผมเรียนจบจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2514 แล้วมาเรียนต่อระดับปริญญาโทด้านเคมีเชิงฟิสิกส์ (สมัยนั้นเรียกว่าฟิสิกัลเคมี) ที่คณะวิทย์เป็นรุ่นที่ 3 ได้รับทุนพัฒนามหาวิทยาลัย เรียนได้ 1 ปีการศึกษา (แต่ไม่มีชื่อเป็นศิษย์เก่าของบัณฑิตวิทยาลัย) ก็ได้รับทุนไปเรียนต่อที่ประเทศนิวซีแลนด์ในเดือนพฤศจิกายน 2514 เรียนจบปริญญาเอกและกลับมาบรรจุเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาเคมีในเดือนมิถุนายน 2519 เกษียณอายุราชการจากคณะวิทย์ในปี 2552 แล้วเป็นผู้อำนวยการศูนย์ตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬา ซึ่งก็อยู่ในพื้นที่ของคณะวิทย์ จนหมดวาระเมื่อเดือนมกราคม 2557

ผมเป็นรองคณบดีคณะวิทย์ในช่วงปี พ.ศ. 2540 – 2545 และเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิทยาเขตในช่วงปี พ.ศ. 2546 – 2549 โดยประมาณ ดูแลวิทยาเขตกาญจนบุรีและนครสวรรค์ คณะวิทย์มีบทบาทสำคัญยิ่งในการสนับสนุนการดำเนินงานของวิทยาเขตกาญจนบุรี ในช่วงแรกที่ยังเป็นโครงการจัดตั้งวิทยาเขตกาญจนบุรี (สังกัดสำนักงานอธิการบดี) นั้น คณะวิทย์เสนอหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต 3 หลักสูตร คือ วิทยาศาสตร์การเกษตร เทคโนโลยีการอาหาร และชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ในประมาณปี พ.ศ. 2546 ต่อมาก็เพิ่มหลักสูตรธรณีศาสตร์อีกหลักสูตรหนึ่ง แต่ละหลักสูตรรับนักศึกษาประมาณ 20 คน อาจารย์รุ่นแรกยังสังกัดคณะวิทย์อยู่และทุกหลักสูตรก็ได้รับการสนับสนุนในส่วนที่ขาดแคลนจากภาควิชาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในด้านการสอนและอุปกรณ์สำหรับปฏิบัติการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาควิชาชีววิทยา ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ภาควิชาฟิสิกส์ ภาควิชาคณิตศาสตร์ และภาควิชาเคมี


ในปี 2545 ที่ผมยังเป็นรองคณบดีฝ่ายกาญจนบุรีนั้น วิทยาเขตฯ รับนักศึกษาในหลักสูตรการจัดการอยู่แล้วจำนวนหนึ่ง อาคารที่สร้างเสร็จแล้วคืออาคารอำนวยการซึ่งอยู่ห่างจากประตูทางเข้าประมาณ 300 เมตร มีอาคารเรียน 1 หลังอยู่ลึกเข้าไปอีก และหอพักนักศึกษา 2 หลัง (รวมทั้งอาคารของคณะอื่นซึ่งผมจะไม่กล่าวถึง) เลยเข้าไปด้านใน

ผมไปรับหน้าที่รองอธิการบดีฝ่ายวิทยาเขตที่กาญจนบุรีเมื่อปลายปี 2545 และเพิ่งทราบว่ามีการรับนักศึกษาในหลักสูตรวิทยาศาสตร์แล้วสำหรับปีการศึกษา 2546 แต่ยังไม่ได้เตรียมสร้างหอพักไว้รองรับ เราจึงต้องเร่งของบประมาณจากมหาวิทยาลัยและขอให้กองแผนฯ ออกแบบหอพักชั้นเดียวให้โดยด่วน แต่การสร้างหอพักชุดนี้ใช้เวลาสร้างหลายเดือน เสร็จไม่ทันรองรับนักศึกษาเมื่อเปิดเรียน เราจึงต้องเช่าเหมาห้องพักของรีสอร์ตแห่งหนึ่งให้นักศึกษาพักจนสร้างหอพักเสร็จ นักศึกษาวิทยาศาสตร์รุ่นแรก (รวมถึงนักศึกษาในหลักสูตรการจัดการจำนวนหนึ่ง) จึงต้องนอนรวมกันในห้องโถงขนาดใหญ่และมีชีวิตที่ระหกระเหินอยู่ช่วงหนึ่งโดยวิทยาเขตฯ จัดรถรับ-ส่งในช่วงที่มีการเรียนการสอน ต่อมาเมื่อมีการสร้างหอพักนักศึกษาเพิ่มเติม หอพักชั้นเดียวก็ถูกเปลี่ยนไปเป็นห้องพักของอาจารย์และเจ้าหน้าที่

ในการดำเนินงานช่วงแรก วิทยาเขตฯ ได้อาจารย์ดี ๆ มาหลายคนในหลักสูตรวิทยาศาสตร์ รวมทั้งอาจารย์จากโครงการ พสวท. 2 คนในสาขาธรณีศาสตร์ ซึ่งต่อมาย้ายไป ม. เกษตรศาสตร์และจุฬาฯ นัยว่าเป็นเพราะอยากย้ายเข้า กทม. และวิทยาเขตฯ มีความไม่พร้อมทางด้านเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ต่อมาอาจารย์อีกคนหนึ่งย้ายคณะไปอยู่ที่ศาลายา อีกคนหนึ่งไปเรียนต่อปริญญาเอก (ด้วยทุนของคณะวิทย์ในช่วงแรก) แต่พอจบกลับมาสักพักก็ย้ายหนีเข้าศาลายาไปอีก ผมจึงขอชื่นชมและขอบคุณอาจารย์รุ่นแรกที่ไปเรียนต่อแล้วยังกลับมาสอนที่วิทยาเขตฯ อย่างเหนียวแน่นไม่หนีไปอยู่ที่อื่น ในที่สุดอาจารย์ของหลักสูตรวิทยาศาสตร์ทุกคนก็ถูกโอนตำแหน่งไปสังกัดวิทยาเขตฯ ทั้งหมด



คณะวิทย์ในช่วงเวลาของคณบดีอมเรศรับโอนข้าราชการจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 1 คน คือ อาจารย์ถาวร (หญิง) และจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น คือ อาจารย์ถาวร (ชาย) ซึ่งร่วมทุกข์ร่วมสุขกับวิทยาเขตฯ มาจนเกษียณฯ แล้วก็ยังไม่ทิ้งนักศึกษาและอาจารย์รุ่นหลัง ยังรับเป็นอาจารย์พิเศษอย่างต่อเนื่อง จัดว่าเป็นกำลังสำคัญส่วนหนึ่งของหลักสูตรวิทยาศาสตร์ ข้าราชการอีกคนหนึ่งที่คณะวิทย์รับโอนมาจากกรมทรัพยากรธรณีในช่วงเดียวกัน คือ อาจารย์ปริญญาซึ่งเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้หลักสูตรธรณีศาสตร์เกิดขึ้นได้และอยู่ยงคงกระพันมาจนถึงปัจจุบัน

อาจารย์อมเรศมีดำริให้สร้าง Bio-Geo Path ที่วิทยาเขตกาญจนบุรีและสร้าง Bio-Geo Path เล็ก ๆ ที่คณะวิทย์พญาไทโดยลงทุนไปหลายแสนบาท อาจารย์ปริญญาเสาะหาหินยุคต่าง ๆ จากหลายจังหวัดมาจัดเรียงตามเส้นทางเดินเป็นช่วงธรณียุค และภาควิชาชีววิทยาก็นำพืชพันธุ์ไม้ต่าง ๆ มาปลูกคู่กันไปที่วิทยาเขตฯ จำได้ว่าในปีแรก ๆ ใครไปเยี่ยมเยียนวิทยาเขตฯ ก็จะได้รับเชิญ (แกมบังคับ) ให้ไปเดินอาบแดดชื่นชมธรรมชาติตามเส้นทางนี้กันทุกคน รวมทั้งเด็กนักเรียนที่มาร่วมกิจกรรมที่วิทยาเขตฯ ด้วย จำได้ว่าคณะฯ ลงทุนเหมารถบัสรับ-ส่งนักเรียนจากหลาย ๆ โรงเรียนให้มาร่วมงานวัน Open House ครั้งหนึ่งที่วิทยาเขตฯ



ผมไม่ได้ไปเยี่ยมเยียนวิทยาเขตฯ นานมากแล้ว ได้ข่าวว่า Bio-Geo Path ยังใหญ่โตมโหฬารและอยู่ดีมีสุขเหมือนเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งทราบมาว่าในเดือนสิงหาคม 2561 นี้ มหาวิทยาลัยฯ จะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน 12th International Earth Science Olympiad ที่วิทยาเขตฯ นอกเหนือจากการดำเนินงานเพื่อจัดการแข่งขันครั้งนี้ Bio-Geo Path ก็พลอยได้รับการปรับปรุงและขัดสีฉวีวรรณให้เป็นพระเอก-นางเอกของงานไปด้วย

ส่วน Bio-Geo Path ของคณะวิทย์พญาไทนั้น น่าเสียดายที่ถูกทอดทิ้งไม่ได้รับการดูแล รวมทั้งป้ายชื่อหินและหินตัวอย่างที่หายากบางชิ้นก็สูญหายไปแล้ว บางส่วนก็แตกหักเสียหาย เช่นเดียวกับหุ่นจำลองช้างแมมมอธที่ขนร่วง งาหัก หัวเถิก และชำรุดทรุดโทรมไปมาก

อาจารย์สุนันทาเคยจัดให้มีกิจกรรมกวดวิชาเป็นบริการวิชาการให้แก่นักเรียน ม. ปลายหลาย ๆ โรงเรียนในจังหวัดกาญจนบุรีโดยมีอาจารย์หลายคนจากคณะวิทย์ไปทำหน้าที่เป็นติวเตอร์ ได้รับความสนใจพอควร หลายโรงเรียนเหมารถบัสส่งนักเรียนมาเรียน กิจกรรมนี้ดูเหมือนจะจัดเพียงปีเดียว

นักศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิตของวิทยาเขตฯ เริ่มจากเรียนที่วิทยาเขตฯ ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 การเรียนการสอนมีความขลุกขลักพอควรเพราะอาจารย์ผู้สอนส่วนใหญ่ต้องเดินทางจากคณะวิทย์ ใช้เวลาเดินทางมากกว่าเวลาสอน และเมื่อมีการสอบก็พบว่าเบิกค่าตรวจข้อสอบไม่ได้เพราะต้นสังกัดคือสำนักงานอธิการบดียังไม่เคยมีระเบียบนี้ ต่อมาคณะวิทย์ก็ย้ายนักศึกษาชั้นปีที่ 1 มาเรียนรวมกับนักศึกษาวิทยาศาสตร์ที่ศาลายาเพื่อให้มีโอกาสรู้จักคุ้นเคยกัน แล้วจึงย้ายกลับไปเรียนชั้นปีที่ 2 ในสาขาของตนเองที่วิทยาเขตฯ และเมื่อเรียนจนถึงชั้นปีที่ 4 นักศึกษาก็ยังมีโอกาสมาร่วมเสนอผลงานใน Science Exhibition ที่คณะวิทย์พญาไทด้วย ทราบว่าปัจจุบันกระบวนวิชาต่าง ๆ ในหลักสูตรวิทยาศาสตร์ของวิทยาเขตฯ เปลี่ยนไปใช้รหัสกระบวนวิชาของวิทยาเขตฯ แล้ว

คณะวิทย์เคยส่งนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นไปบรรยายพิเศษให้นักศึกษาที่วิทยาเขตฯ ฟังในหลายโอกาส อาจารย์อมเรศเองเคยไปทั้งสอนและบรรยายพิเศษหลายครั้ง อาจารย์ยอดหทัยไปบรรยายพิเศษครั้งหนึ่ง นับว่าเป็นโชคดีของนักศึกษาวิทยาศาสตร์รุ่นแรก ๆ ที่มีโอกาสได้ฟังการบรรยายของนักวิทยาศาสตร์ชั้นยอดของประเทศเป็นการกระตุ้นให้มีกำลังใจในการเรียนวิทยาศาสตร์ต่อไป ผมหวังว่าคณะวิทย์จะหาโอกาสส่งนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ดีเด่นไปบรรยายที่วิทยาเขตฯ อีกในอนาคต

อาจารย์วีระชัยจากภาควิชาฟิสิกส์ทำงานวิจัยทางด้านธรณีฟิสิกส์ ได้รับเครื่องมือวัดสนามแม่เหล็กโลกซึ่งติดตั้งอยู่ภายในพื้นที่ของวิทยาเขตฯ และยังคงดำเนินการวิจัยได้ผลสำเร็จอย่างดียิ่งต่อมาจนปัจจุบัน

ความจริงต้องยอมรับว่าเมื่อวิทยาเขตฯ เปิดรับนักศึกษาเข้าเรียนในปีแรก ๆ เราได้นักศึกษาที่คะแนนสอบเข้าไม่สูงนักเพราะหลักสูตรวิทยาศาสตร์ของเรายังเป็น “ทางเลือกใหม่” ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักนัก ผู้ที่เคยไปเยี่ยมเยียนวิทยาเขตฯ คงจะทราบว่าวิทยาเขตฯ มีเนื้อที่กว้างใหญ่ไพศาลมาก อยู่ห่างจากตัวจังหวัดกาญจนบุรีหลายสิบกิโลเมตร สมัยนั้นบริเวณรอบวิทยาเขตฯ เป็นป่าเขา มีลิงและงูเพ่นพ่านมากมาย ไม่มีอาคารร้านค้าหรือสถานบันเทิงใด ๆ อาคารเรียนอยู่ห่างจากถนนใหญ่มาก และหอพักนักศึกษาก็อยู่ลึกเข้าไปอีก พอค่ำลงก็มีแต่ความมืด นักศึกษาที่ไฝ่หาความสนุกสนานก็มักจะขับมอเตอร์ไซค์หรือเหมารถเข้าเมืองกันเป็นกลุ่ม ๆ อย่างไรก็ตาม จากที่ได้สอนนักศึกษาของวิทยาเขตหลายรุ่น ผมพบว่านักศึกษาตั้งใจเรียนดีมาก ไม่เคยบ่นว่าผมใช้ powerpoint เป็นภาษาอังกฤษ และทำสอบได้ดี นักศึกษาในรุ่นต่อ ๆ มามีคะแนนสอบเข้าที่สูงขึ้นและตั้งใจมาเรียนที่วิทยาเขตฯ อย่างจริงจัง บัณฑิตที่จบจากวิทยาเขตฯ ก็ไม่ได้ทำให้เราผิดหวัง เพราะต่างก็มีหน้าที่การงานดี บางคนก็เรียนต่อแล้วกลับมาเป็นอาจารย์ที่วิทยาเขตฯ เองด้วย

การที่หลักสูตรวิทยาศาสตร์ต้องมีปฏิบัติการทำให้มีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนอาคารอำนวยการให้เป็นห้องปฏิบัติการเกือบทั้งหมดและเมื่อมีนักศึกษาหลายชั้นปีขึ้น ก็มีความจำเป็นต้องสร้างอาคารสำหรับการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้น อาคารใหม่ 3 ชั้นนี้อยู่ถัดจากอาคารเดิมและได้รับการออกแบบให้กลมกลืนกัน มีทั้งห้องเรียนและห้องปฏิบัติการ มีห้องสมุดอยู่ชั้นล่าง โต๊ะในห้องปฏิบัติการจำนวนหนึ่งถูกเคลื่อนย้ายมาจากวิทยาเขตนครสวรรค์

(ความรับผิดชอบอีกส่วนหนึ่งของผมขณะนั้นคือดูแลวิทยาเขตนครสวรรค์ซึ่งก็กำลังมีการก่อสร้างอาคารอยู่เช่นกัน ก่อนหน้านั้นภาควิชาหนึ่งของคณะวิทย์พญาไทมีการปรับปรุงห้องปฏิบัติการและต้อง “ทิ้ง”โต๊ะปฏิบัติการขนาดใหญ่จำนวนมากที่ทำจากไม้สักอย่างหนา ผมได้รับคำสั่งให้เคลื่อนย้ายโต๊ะปฏิบัติการทั้งหมดนี้ไปไว้ที่วิทยาเขตนครสวรรค์เพื่อรอติดตั้งในห้องปฏิบัติการเมื่อสร้างอาคารเสร็จ แต่ต่อมาเมื่อไม่มีการนำไปใช้เราก็เคลื่อนย้ายโต๊ะปฏิบัติการจำนวนหนึ่งไปติดตั้งในห้องปฏิบัติการในอาคารใหม่ของวิทยาเขตกาญจนบุรี และหลังจากนั้น ในปี 2553 เมื่อผมเป็นผู้อำนวยการศูนย์ตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬาก็ได้ขอบริจาคโต๊ะปฏิบัติการอีกหลายตัว เคลื่อนย้ายจากจากวิทยาเขตนครสวรรค์มาติดตั้งในห้องปฏิบัติการของศูนย์ฯ น่าเสียดายที่ยังมีโต๊ะปฏิบัติการอีกหลายตัวถูกทิ้งไว้ที่วิทยาเขตนครสวรรค์โดยมหาวิทยาลัยฯ ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ ต่อมาได้ข่าวว่ามีการย้ายวิทยาเขตนครสวรรค์ไปยังพื้นที่ใหม่และอาคารเดิมก็กลายไปเป็นของหน่วยราชการอื่น ไม่ทราบว่าชะตากรรมของโต๊ะปฏิบัติการทั้งหลายเป็นอย่างไรในที่สุด)


เมื่อโครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยมหิดลกาญจนบุรีกลายเป็นวิทยาเขตกาญจนบุรีอย่างเป็นทางการแล้ว คณะวิทย์ก็ยังคงสนับสนุนด้านการเรียนการสอนและการวิจัยของอาจารย์และนักศึกษาอยู่บ้างตามที่ได้รับการร้องขอ รายละเอียดของเรื่องนี้ในปัจจุบันผมไม่ทราบมากนัก

มีหลายหน่วยงานของมหาวิทยาลัยแวะไปเยี่ยมเยียนและใช้สถานที่ของวิทยาเขตกาญจนบุรี เช่น ในการรับน้องใหม่ที่จัดโดยรุ่นพี่ สมาคมศิษย์เก่าบัณฑิตวิทยาลัยพาสมาชิกไปปลูกต้นไม้ประจำปีและจัดงานวิ่งแข่งขันมาราธอน

เมื่อผมพ้นจากการบริหารวิทยาเขตฯ ในปี 2549 เรามีหลักสูตรวิทยาศาสตร์ 4 หลักสูตร มีนักศึกษาชั้นปีละประมาณ 100 คน ปัจจุบัน ปี 2561 จำนวนหลักสูตรวิทยาศาสตร์กับจำนวนนักศึกษาก็ยังไม่แตกต่างจากเดิมนัก (ขอไม่กล่าวถึงหลักสูตรสาขาอื่น ๆ ที่เพิ่มขึ้นมาเล็กน้อย) ผมคิดอย่างมองโลกในแง่ร้ายว่าอีก 10 ปีจำนวนนักศึกษาในหลักสูตรวิทยาศาสตร์ก็จะไม่เปลี่ยนแปลงมากนักถึงแม้จะมีการวาดหวังว่าวิทยาเขตฯ จะเป็น “ประตูสู่ตะวันตก” ในอนาคต

การเพิ่มหลักสูตรวิทยาศาสตร์ที่วิทยาเขตฯ น่าจะทำได้ยากด้วยสาเหตุหลายประการ

ประการแรก วิทยาเขตฯ อยู่บนที่สูง ต้องดูดน้ำจากแม่น้ำแควน้อยขึ้นมาทำน้ำประปาใช้เอง (และมีชาวบ้านขอใช้ด้วย) ปีไหนน้ำในแม่น้ำมีน้อยก็อาจมีน้ำไม่พอทำน้ำประปา ถือว่าเป็นความเสี่ยงประการหนึ่งสำหรับหลักสูตรวิทยาศาสตร์ซึ่งจำเป็นต้องใช้น้ำในการเตรียมและทำปฏิบัติการ

ประการที่สอง หลักสูตรวิทยาศาสตร์เป็นหลักสูตรที่ต้องลงทุนด้านเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ มาก งบประมาณที่ได้รับมักไม่ตรงและไม่ทันตามแผน นอกจากนี้ การดูแลซ่อมแซมเครื่องมือเมื่อมีปัญหาก็ไม่สะดวกเพราะไม่มีตัวแทนจำหน่ายอยู่ในจังหวัด

ประการที่สาม ดูเหมือนว่าคณะวิทย์หรือมหาวิทยาลัยจะมีหลักการ (ที่คงไม่เป็นลายลักษณ์อักษร) ว่าจะไม่เปิดหลักสูตรที่มีชื่อซ้ำกับหลักสูตรที่มีอยู่แล้ว จึงมีข้อจำกัดในการสร้างหลักสูตรใหม่ ๆ จำได้ว่าเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว อธิการบดีปิยะสกลเคยเชิญ ดร.วีระชัย ณ นคร ผู้บริหารวิทยาเขตพะเยาของมหาวิทยาลัยนเรศวรมาบรรยายที่วิทยาเขตศาลายา ดร.วีระชัยกล่าวว่าการสร้างหลักสูตรใหม่ไม่ควรจำกัดว่าซ้ำกับชื่อหลักสูตรที่มีอยู่แล้วหรือไม่ ควรเปิดสอนหลักสูตรที่เป็นที่ต้องการและจะเติบโตได้ดี ดูเหมือนผู้บริหารมหาวิทยาลัยฯ ก็รับฟัง แต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร (มหาวิทยาลัยนเรศวรวิทยาเขตพะเยาเปิดรับนิสิตเมื่อปี 2538 ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยพะเยา มีนิสิตมากกว่า 9,000 คน เปิดทำการสอนมากกว่า 60 สาขาวิชา)

นอกจากนี้ ถ้าเพิ่มหลักสูตรวิทยาศาสตร์ขึ้นอีก ก็คงจะต้องรับอาจารย์ในสาขาใหม่เพิ่มขึ้นมาอีกมาก และมหาวิทยาลัยฯ คงต้องคิดหนักหน่อย

โดยรวมแล้ว ผมคิดว่าต่อให้ได้รับความสนับสนุนจากคณะต่าง ๆ อีกหลาย ๆ คณะในมหาวิทยาลัย วิทยาเขตฯ ก็คงเติบโตได้อีกไม่มากและไม่เร็ว ความเห็นส่วนตัวของผมก็คือวิทยาเขตกาญจนบุรีมีพื้นที่กว้างใหญ่จริงแต่อยู่ไกลจากตัวจังหวัดมากเกินไป ไกลกว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรีหลายสิบกิโลเมตร ความกว้างใหญ่กลับทำให้เทอะทะ มีความยากลำบากในการดูแลให้ทั่วถึง มาสเตอร์แพลนที่เคยออกแบบกันไว้ว่าจะมีสนามกีฬา หอพัก ฯลฯ กระจายไปในพื้นที่ ตอนนี้ก็ปรับเปลี่ยนไปให้มีอาคารอยู่ใกล้กันมากขึ้นเพื่อความสะดวกในการดูแล

ผู้ที่รับหน้าที่รองอธิการบดีฝ่ายวิทยาเขตถัดจากผม คือ อาจารย์นคร และ อาจารย์เชิญโชคซึ่งมาจากคณะวิทย์ทั้งคู่ ปัจจุบัน วิทยาเขตฯ มีความก้าวหน้ามากพอควร มีกิจกรรมและความร่วมมือกับต่างประเทศและหน่วยงานต่าง ๆ มากมาย ที่มีความก้าวหน้าอย่างเด่นชัดก็คือการทำวิจัยและการผลิตผลงานวิจัยร่วมกับอาจารย์ในคณะวิทย์ ดูเหมือนว่าผลงานวิจัยจะเป็นทางด้านวิทยาศาสตร์ทั้งหมด ในฐานะที่เคยดูแลวิทยาเขตฯ มาช่วงเวลาหนึ่ง ผมยังมีความเป็นห่วงเรื่อง “ความก้าวหน้า” ของวิทยาเขตฯ อยู่เล็กน้อย และหวังว่าวิทยาเขตฯ จะสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด ผลิตบัณฑิตชั้นนำจำนวนมากได้อย่างคุ้มค่าการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบัณฑิตในสาขาวิทยาศาสตร์ แต่พิจารณาจากการที่ในปัจจุบันที่วิทยาเขตฯ ไม่ได้รับการสนับสนุนเชิงวิชาการเต็มที่จากคณะวิทย์เหมือนเมื่อก่อน หลักสูตรใหม่ ๆ สาขาวิทยาศาสตร์คงเกิดได้ยากและทำให้วิทยาเขตฯ เติบโตช้า

ผมไม่บังอาจจะมีข้อเสนอแนะใด ๆ แต่ผมอยากจะฝันว่า ผมมีอำนาจสั่งให้ยักษ์ในตะเกียงวิเศษย้ายวิทยาเขตฯ จากดินแดนอันกว้างใหญ่บนยอดเขาอันไกลโพ้นมาอยู่บนที่ราบเล็ก ๆ สัก 1,000 ไร่แถว ๆ ใกล้ตัวจังหวัด คล้ายกับที่มหาวิทยาลัยเคยตัดสินใจย้ายวิทยาเขตนครสวรรค์จากกลางบึงเสนาทมาอยู่ที่บริเวณเขาทองในปัจจุบัน มิฉะนั้นเราก็จะลงทุนอีกปีละหลายสิบล้านแล้วพบว่าน้ำพริกละลายหายไปในแม่น้ำแควน้อยตลอดเวลา

แน่นอน สุดท้ายผมก็จะสะดุ้งตื่น

นภดล ไชยคำ

ที่มา :
นภดล ไชยคำ. (2561). คณะวิทยาศาสตร์กับวิทยาเขตกาญจนบุรี. ใน 60 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. (หน้า 281-287). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สุรวัฒน์.

ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล