หน้าหลัก > เอกสารและสิ่งพิมพ์ > บทความพิเศษ

ปาฐกถา ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ครั้งที่ 5
เรื่อง อาจารย์สตางค์ มงคลสุข

โดย ศาสตราจารย์ นพ.ประสพ รัตนากร
ณ ห้องประชุม N101 ตึกชีววิทยาใหม่ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
วันจันทร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2540

ท่านอาจารย์ ท่านคณบดี และท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน ผมมาด้วยความปิติยินดีในโอกาสที่ท่านทั้งหลายได้รำลึกถึงเพื่อนที่รักของผม "สตางค์ มงคลสุข" เราได้เรียนหนังสือกันมาที่สวนกุหลาบ ผมจบมัธยมปีที่ 8 เมื่อ พ.ศ. 2480 ตอนนั้นนักเรียน ม.8 ทั่วประเทศมี 700 คน อ.สตางค์ จบปี 81

เรามีส่วนร่วมกันอยู่หลายอย่าง ดร.สตางค์ กับผมนอกจากที่ว่าเรียนสวนกุหลาบด้วยกันแล้ว ยังเป็นนักเรียนที่อังกฤษด้วยกัน และไม่เคยเป็นสมาชิกศิษย์เก่านักเรียนอังกฤษมาด้วยกันเลยทั้ง 2 คน เรามีความสนใจในเรื่องวิจัย ผมวิจัยครั้งแรกเรื่องผู้ติดกัญชา และเรื่องซิฟิลิสขึ้นสมอง อ.สตางค์ วิจัยเรื่องมะเกลือ เรื่องสมุนไพร อย่างที่ท่านทราบ สำหรับความริเริ่มนั้นเราได้ริเริ่มกันมาตั้งแต่ต้นแล้ว ตั้งแต่ตอนที่อยู่ Liverpool อ.สตางค์ ก็จะมาเยี่ยมผมที่ลอนดอน ผมก็ไปเยี่ยม อ.สตางค์ ที่ Liverpool ท่านก็คงทราบดีว่านักเรียนทุน กพ. สมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 นั้น ฐานะก็ไม่แตกต่างไปกว่าสภาพยากจนถ้วนหน้าในปัจจุบันนี้หรอกครับ คือได้เงินเดือนทั้งค่าที่พัก ค่าใช้จ่ายทุกอย่างหมด 32 ปอนด์ เอาไปตัดเสื้อขนสัตว์ตัวหนึ่ง 24 ปอนด์ ก็เหลืออีก 8 ปอนด์เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นเวลาผมไปเยี่ยม อ.สตางค์ เราก็เรียกว่าหัวอกเดียวกัน ซื้อตั้งฉ่ายมา ซื้อกุ้งแห้งมา ทำเป็นแกงจืดแล้ว ไปซื้อไข่กับข้าวมา ก็มีแค่นั้นแหละครับ ข้าวไข่เจียว แกงจืดตั้งฉ่าย แค่นี้ก็พออยู่ได้แล้วในสมัยนั้น

ทางวิชาการ ผมได้รับเหรียญดุษฎีมาลาเข็มศิลปวิทยาเมื่อ พ.ศ. 2504 และเท่าที่ดูประวัติ อ.สตางค์ ได้รับเมื่อ พ.ศ. 2513 ผมได้รับทุติยจุลจอมเกล้าเมื่อ พ.ศ. 2506 อ.สตางค์ ก็คงหลังกว่านั้นหน่อย เราก็พูดกันเสมอว่า ลูกผู้ชายต้องรับใช้แผ่นดิน สิ่งที่จะพิสูจน์ออกมาว่าเราได้รับใช้แผ่นดินเกิดของเรานั้นก็ตอบได้ 3 ประการ

  1. 1. ก็คือ เหรียญรัตนาภรณ์ รับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
  2. 2. เครื่องราชอิสริยาภรณ์ จุลจอมเกล้า รับใช้แผ่นดิน
  3. 3. คือเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา

ในการที่ได้ทำคุณประโยชน์ทางวิชาการ และสิ่งเหล่านี้ก็เป็นสิ่งซึ่งท่านทั้งหลายสามารถจะทำได้ทุก ๆ คน

กิจกรรมที่เราทำคล้าย ๆ กันอีกอย่างหนึ่งก็คือเรื่องของต่างประเทศ จะเห็นจากประวัติว่า อ.สตางค์ ทำเรื่องร่วมกับ ร็อกกี้เฟลเลอร์ ฟาวน์เดชั่น ส่วนทางผมนั้นทำเรื่องเกี่ยวกับ Columbo Plan เพราะตอนนั้นติดต่อกับแคนาดาบ่อย แคนาดาอยู่ใน Columbo Plan เหมือนกัน 3 ปี ส่งเจ้าหน้าที่ไปศึกษาต่อ 32 คน จากโรงพยาบาลเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง อ.สตางค์ ก็ส่งไปเป็น 80 คน, 100 คน การสร้างคนนี้เป็นผลพวงให้เราแต่ละฝ่ายได้ขยายผลงานออกไปทั่วประเทศหรือในประเทศใกล้เคียงด้วย อย่างเช่นผลงานของ อ.สตางค์ ก็คือมหาวิทยาลัยในภูมิภาค และแม้แต่รามาธิบดีใกล้ ๆ นี้ ที่มาของอาคารตรงนี้ (คณะวิทยาศาสตร์) ก็คือว่าใน พ.ศ. 2499 ผมเขียนโครงการเมื่อ 2498 เพื่อสร้างโรงพยาบาลทางประสาทวิทยา ก็คุยกันไปคุยกันมา อ.สตางค์ เขาก็มีความในใจอยู่แล้ว ตั้งแต่คุยกันอยู่ที่ Liverpool ว่า จะทำคณะวิทยาศาสตร์ขึ้นมาใหม่อีกคนหนึ่ง ผมก็สร้างขึ้นมาก่อนในปี 2499 แล้วก็เปิดโรงพยาบาลประสาทพญาไท เมื่อสิงหาคม 2500 และในตอนนั้นเราก็คิดจะขยายพื้นที่นี้รวบรวมกลุ่มแพทย์ทั้งหมด ความจริงที่โรงพยาบาลรามาธิบดีนั้นเป็นความคิดของกลุ่มแพทย์พญาไท มีพระมงกุฎ มีโรงพยาบาลหญิง โรงพยาบาลสงฆ์ โรงพยาบาลประสาทพญาไท เสนอกระทรวงสาธารณสุขที่จะจัดตั้งให้เกิดขึ้นเป็นวิทยาลัยแพทย์อีกแห่งหนึ่งโดยใช้พื้นที่ต่อจากโรงพยาบาลประสาท ผลสุดท้ายต่อมาก็มีการศึกษากับทางมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ก็จึงได้เกิดคณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดีขึ้น และ อ.สตางค์ ก็บอกผมว่าช่วยหาที่ไว้ให้ด้วย เพราะที่ศรีอยุธยาโน้นก็คับแคบมากแล้ว พอดีผมก็เป็นกรรมการฟื้นฟูแหล่งเสื่อมโทรมย่านพญาไท ก็คือทุ่งพญาไทตรงนี้แหละครับ ตรงนี้ซึ่งผมจะต้องออกมาตระเวนกับพวกกระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร เดินไปตามไม้ไต่ไปตามบ้านแหล่งเสื่อมโทรม ตกน้ำไปก็หลายเที่ยว ที่หลังโรงพยาบาลประสาทพญาไท ซึ่งตอนนั้นต้องถมถึง 1.7 เมตร กว่าจะเห็นดินนะครับ ยังไม่ได้ทำอะไรกว่าจะเห็นต้น เมตรเจ็ดสิบ ที่ตรงนี้เป็นแหล่งเสื่อมโทรมที่ย้ายผู้คนจากราชดำเนินที่สมัย จอมพล ป. ทำราชดำเนินให้เป็นฌองเอลิเซ่นะครับ ตรงนี้ก็เลยเป็นคลองเตยในสมัยปัจจุบันนะครับ สำหรับในเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ เราจะเห็นได้ว่ามีการประสานงานกันในหลายอย่าง แม้แต่ว่าที่โรงพยาบาลรามาธิบดี พื้นที่ 40 ไร่ ตรงนี้ผมเคยเสนอพระบำราศนราดูร รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้นว่าย้ายกระทรวงมาไหมครับ อยู่ตรงนี้ได้ทุกกรมเลย ไม่ต้องแออัดอยู่ที่วังเทเวศน์ ท่านบอกไม่เอา อยู่ตรงโน้นริมน้ำสบายดีแล้ว แต่ผลสุดท้ายก็ต้องย้ายอยู่ดีนะครับ

ที่อังกฤษ ระหว่างที่เราเรียนกันอยู่นั้น เราผจญกับ 3 เรื่องด้วยกันคือ เรื่องอดออม เพราะว่าเงิน 32 ปอนด์ต่อเดือนน่ะมันเหลือกำลัง และก็เรื่องอดอยาก เพราะบางครั้งซึ่งทานแซนวิช แหม! วอลเตอร์เพลซแซนวิช ชื่อมันโก้นะครับ แต่ความจริงก็คือแซนวิช และจำได้ครั้งหนึ่งเมื่อผมไปเยี่ยม อ.สตางค์ หลังจากแกงจืดตั้งฉ่ายแล้ว ผมก็นั่งรถไฟกลับมาถึงวอเตอร์ลู เอ๊ะ มันเหลืออยู่ 5 เพนนีเท่านั้น ก็ต้องซื้อแซนวิชทานซะก่อนรองท้องหมดไป 3 เหลืออีก 2 นั่งรถใต้ดินก็ไม่พอ ต้องโทรศัพท์มาหาเพื่อนซึ่งเป็นนายทหาร เพราะนายทหารเขาได้ 110 ปอนด์ต่อเดือน ให้เขาไปรับ และต่อมาท่านนายทหารผู้นั้นก็ได้เป็นผู้บัญชาการทหารเรือและก็เป็น รมต.ช่วยกระทรวงกลาโหม ซึ่งขณะนี้ลูกชายของท่านก็เป็นเอกอัคราชทูตอยู่กรุงลอนดอน มันก็วนกันอยู่อย่างนี้นะครับ เอาละครับ เวลา อ.สตางค์ มาลอนดอนนั้น สิ่งหนึ่งซึ่ง อ.สตางค์ กระวนกระวายมากทุกเย็นต้องสะกิด ๆ ไปซื้อหนังสือพิมพ์ให้ที ๆ ถามว่าหนังสืออะไร "Standard" เพราะว่าหนังสือพิมพ์ Evening Standard เขาจะออกหลังจากมีผลฟุตบอลพูล อันนั้นก็พอทำเนาแหละครับ มันเสียนิด ๆ หน่อย ๆ ฟุตบอลพูล แต่ที่เสียมากหน่อยก็คือแข่งหมานี่แหละ อันนี้ก็ทำให้ 32 ปอนด์มันหนักหนายิ่งขึ้นอีกนะครับถึงเห็นใจกันมาก 2 คนนี้นะครับ และจะเห็นว่า อ.สตางค์ นั้นไปไหนมาไหนก็จะอยู่ในชุดเดียว คือชุดของ อ.สุกิจ นิมมานเหมินทร์ ใส่เสื้อเบลเซอร์สีน้ำเงินหรือสีดำและนุ่งกางเกงสีเทา อยู่กันมา 2-3 ปี เห็นแต่งอยู่ชุดเดียว ก็จะเห็นได้ชัดว่าอดออมแค่ไหนและก็อดทนแค่ไหน อดอยากแค่ไหนก็นึกถึงระหว่างที่เขาลดค่าเงินปอนด์ ในสมัยโน้นไม่ใช่ลดค่าเงินบาทนะ ลดค่าเงินปอนด์ เพื่อเขามาเล่าให้ฟังว่าลูกชายโทรเลขมาจาก (สมัยก่อนยังไม่มี FAX มีแต่โทรเลข) ลอนดอนมาถึงกรุงเทพว่า

"No mon, no fun,

Your son"

ให้มันสั้น ๆ หน่อย ไอ้พ่อก็ไม่รู้จะทำยังไง พ่อก็แย่เหมือนกัน คิดอยู่วันนึงครับรุ่งเช้าก็ตอบไป

"Too bad, so sad,"

Your Dad"

เอาละครับ ทีนี้หันมาว่าเราอยู่อังกฤษเรานึกถึงอะไร เรานึกถึงคนสำคัญของอังกฤษ ทุกคนก็อยากเป็นอย่างนั้นเช่นเดียวกับที่เราเรียนจุฬาฯ นี่ครับ อ.สตางค์ เขาอยากเป็นไอน์สไตน์ เพราะฉะนั้นเวลาอยู่ด้วยกันเขาก็จะดึงหัวดึงอะไรให้มันยุ่งไปหมด ไอ้พวกเราก็แอบฉีกเสื้อ เสื้อยืดให้มันเหมือนไอน์สไตน์ และบางคนเรียนอักษรศาสตร์ก็อยากเป็นอย่างวอลแตร์ อันนี้ก็มีอีกนะครับ แต่อยู่อังกฤษต้องอยากเป็น เชอร์ชิลล์ ผู้พิชิตสงคราม ผู้พิชิตโลก ซึ่งในรอบร้อยปีนี้ทางประวัติศาสตร์ได้ยกย่องบุคคลไว้ 2 คน ว่าบุคคล 2 คนนี้มีคุณลักษณะที่สำคัญที่โลกให้ความเคารพยกย่อง คนแรกคือผู้พิชิตความพิการ Helen Keller เมื่อตอนเด็ก ๆ คอตีบ เพราะดื่มซุปร้อน ๆ ลงไป และก็ตาบอด หูก็ไม่ค่อยได้ยิน แต่สามารถต่อสู้กับความพิการนี้จนกระทั่งเรียนด้วยอักษรเบลล์แล้วก็สอนหนังสือด้วย เมื่ออายุ 60 นั้นได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ถึง 76 ปริญญาจากนานาชาติทั่วโลกเป็นความสามารถของบุคลที่พิการ ผมจำได้ว่า Hollywood ได้ทำหนังเรื่อง Helen Keller ชื่อนี้แหละ ได้รับรางวัลออสการ์หลายรางวัลและก็มาฉายที่โรงหนังแกรนด์ที่วังบูรพา ฉายได้ 3 วันเท่านั้นแหละต้องถอนออก ไม่มีใครอยากดูใครเก่งกว่าใคร ถอนออก ส่วนเซอร์วินสตัน เชอร์ชิล โลกได้สรุปว่ามีคุณลักษณะอยู่ 4 ประการ คือ

  1. 1. ความสุภาพ อ่อนโยน Humble จะเห็นว่าเชอร์ชิลเข้าไปเยี่ยมทหารในสนามรบท่านก็แต่งกายสุภาพ ท่าทางอ่อนโยน ทักทายหมดทุกคน
  2. 2. Initiative มีความคิดริเริ่มทั้งที่ชาวอังกฤษสามารถสู้ภัยอาวุธ V ทั้งหลายได้ ซึ่งมีอานุภาพร้ายแรง แม้แต่เสียลงมาก็มีอาหาร War Fever หรือ War Neurosis กันเป็นแถว โดยใช้คำว่า Tear Sweat ขอกลับกันนิด Sweat Tear Blood and Bread เราอาจจะต้องเสียน้ำตา เราอาจจะต้องเสียเหงื่อ เราอาจจะต้องเสียเลือดเนื้อ ส่วนปากท้องเอาไว้ทีหลังคือ Bread แต่อะไรก็ไม่สำคัญเท่า Initiative ของเซอร์วินสตัน ไปไหนก็ชูสองนิ้ว Victory เป็นกำลังใจให้ทหารสู้รบจนชนะ อันที่จริงไทยก็เอามาใช้เหมือนกันชูสองนิ้ว ชูได้ไม่กี่วัน สองนิ้วมันก็งอลงครับ
  3. 3. Intellectual เป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่ศึกษาอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นเซอร์วินสตันที่ว่าราชการได้ทุกกระทรวง กระทั่งกระทรวงการคลัง ต่างประเทศ กลาโหม มหาดไทย เป็นผู้ศึกษาใฝ่รู้
  4. 4. ความสำคัญอยู่อันหนึ่ง เขาใช้คำว่า Individuality คือมีคุณลักษณะของตัวเองที่ใคร ๆ ก็จดจำไปตลอด

ใน 4 อย่างนี้ท่านคิดว่า อ.สตางค์ ของเรามีครบถ้วนไหม นี่คือสิ่งที่เราเรียนรู้และผลักดันจิตใจของพวกเราให้สร้างงาน ให้มีความคิดริเริ่ม ให้คิดอ่าน ให้ทำความดี ให้ศึกษาและเต็มไปด้วยความสุภาพอ่อนโยนอย่างที่ว่ามีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี

ในย่านนี้เรามี 3 แห่งที่เกิดขึ้นใกล้ ๆ กัน โรงพยาบาลประสาทพญาไทเกิดก่อน ก็เริ่มเมื่อ พ.ศ.2498 แล้วก็ต่อมาก็ที่นี่ 2501 และก็ต่อมาอายุรศาสตร์เขตร้อน เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน และในช่วงนั้นเองมีเหตุการณ์ผันผวนทางการเมือง จอมพล ป. ต้องไปอยู่ที่โตเกียว วันหนึ่งผมก็ได้รับจดหมายจากโตเกียว ผมก็พลิกไปพลิกมา เอ๊ะ! ลายมือนี่คุ้น ๆ ได้ดูชื่อลงท้ายก็เขียนว่า ป.พิบูลสงคราม จอมพล ป. เขียนจดหมายมาว่าฟังวิทยุของคุณหมอแล้วให้นึกถึง อยากจะช่วยคุณหมอ แต่ตอนนี้ไม่ทราบจะช่วยยังไง นอกจากช่วยคิด ช่วยคิดว่าเราน่าจะขุดอุโมงค์ให้เชื่อมกันให้หมดย่านพญาไทนี่ จะได้ไม่มีการจราจร

นี่ท่านพูดมาตั้งแต่ตอนที่ไปอยู่โตเกียว ซึ่งเป็นเวลา 35 ปีเห็นจะได้ นี่คือเรื่องของใจส่งใจและผลจากวิทยุ "ใจเขาใจเรา" 48 ปี นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งในสิ่งซึ่ง อ.สตางค์ มีอยู่อย่างมาก คือความเป็นผู้ใหญ่เป็นคนสุก ซึ่งเขาบอกว่าคนสุก หรือ Matured นี้จะมีอยู่ 7 ประการ คือ

  1. 1. ไม่ป้ายความผิดให้แก่ผู้อื่น Projection
  2. 2. งดเว้นจากการวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นให้เสียหาย
  3. 3. Share Success ไม่ทำอะไรคนเดียวได้สำเร็จ ให้เกียรติคนอื่นด้วย
  4. 4. เป็นผู้ซึ่งมีความทะเยอทะยาน แต่ว่าไม่ทำลายใคร ไม่ใช่สูงขึ้นด้วยเหยียบศพคนตายขึ้นมา

และต่อไปก็คือเป็นคนใจกว้างไม่อิจฉาริษยาไม่พยาบาทอะไรทั้งหลายเหล่านี้ ความจริงที่ผมพูดวิทยุเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.2510 เจอเมื่อคืนเลยติดมือมาด้วย เอาละครับเราลองมาดูว่า อ.สตางค์ ให้อะไรแก่พวกเราบ้าง

ไม่ป้ายความผิดแก่ผู้อื่น แน่นอนผมรับประกันได้เลยว่าผู้ที่ร่วมงานจะเกษียณทั้งหลายหรือที่เกษียณแล้วทั้งหลายคงรับประกันได้

มีความเมตตา เผื่อแผ่ ใจกว้าง แน่นอนพวกเราชอบไปบ้าน อ.สตางค์ แถวสุขุมวิท ไม่ใช่ไปทานอาหารหรอก แต่ว่าข้างบ้านเนี่ยมีคนชอบอาบแดดอยู่ข้าง ๆ บ้าน

  1. 5. เป็นคนให้โอกาสแก่คนอื่น และยกย่องคนอื่นอย่างที่ว่า Share Success
  2. 6. ไม่ริษยา ไม่ระแวง และ
  3. 7. ความเป็นผู้ที่น่าเคารพ ถ้าได้บอกว่าสภาใดไม่มีผู้เฒ่าผู้ใหญ่ ไม่ใช่สภา และสภาใดถึงแม้มีผู้เฒ่า ถ้าไม่มีธรรมะคือสัจจะก็ไม่ใช่สภา อย่าไปเทียบกับสภาใกล้ ๆ นี่เข้าล่ะครับ มันค่อนข้างจะสับสน ผมนั่งอยู่ในนั้นเองก็สับสน

คณะวิทยาศาสตร์ของเรานี้ตอนที่เริ่ม กำลังสำคัญคนหนึ่ง ท่านก็นั่งอยู่ ณ ที่นี้คือ อ.กำจร ขอปรบมือให้ท่าน ท่านมาจากทหารเรือ กรมสรรพาวุธ ยังมาช่วยวิชาเคมีได้และช่วยบริหารเป็นอย่างดี เพื่อนทั้งหลายก็ช่วย อ.สตางค์ นอกจากว่าผมที่อยู่กับเขามากหน่อย เริ่มตั้งแต่ คุณศิริ ผกาสุข ผอ.สำนักงบประมาณ ก่อนคุณบุญธรรม ทองไข่มุก เสาร์อาทิตย์เราก็ไปเล่นไพ่กันที่บ้านคุณศิริ ผกาสุข ผมไม่ได้เล่นก็ไปทานอาหาร ต่อมาก็ได้ขามาเพิ่มอีกขาหนึ่ง คุณหลวงอรรถฯ ตอนเป็นปลัดนายก งบประมาณมันก็ง่ายเข้าอยู่ในวงนั้นเองนี่ เขาเล่นไพ่ตองกันครับ แล้วก็ผู้สั่งการก็ง่ายก็อยู่ในวงนั้นเองแหละครับ ก็ยอมแพ้ไปบ้างอะไรบ้างก็ไม่เห็นเป็นไร ยอมแพ้ไปซักพันสองพัน แต่ก็ได้ล้านสองล้านมันก็ดีกว่านะครับ

สำหรับคณะวิทยาศาสตร์ก็ยังมีต่อจากคุณหลวงอรรถฯ ก็มีพลเอกบุญเรือน บัวจรูญ คุณจินดา ณ สงขลา และก็ ดร.กำแหง พลางกูร สภาการศึกษา 4-5 คนนี้ก็รับประทานอาหารกันทุกสัปดาห์ และก็ที่แห่งเดียวคือโรงแรมเอราวัณ เพราะมันมีอยู่แห่งเดียวตอนนั้น หรือบางครั้งบ้างก็ไปทานหัวปลากันที่หัวลำโพง มาทานหัวปลากันทีไรก็ต้องมาอาบน้ำซาวน่ากันที่ตึกทินกร แต่เขาเป็นสโมสรนะไม่ใช่เปิดทั่วไปนะครับ แต่ อ.สตางค์ เขาเป็นคนผอมบางหน่อย ก็ไปทานหัวปลาและก็ไปอาบซาวน่า ลงน้ำร้อนน้ำเย็น วันรุ่งขึ้นคงจะปอดบวมนิดหน่อย อะไรก็ตามทีนะครับ ผมก็ถาม อ.บุญพฤกษ์ จาฏามระ นายกราชบัณฑิตยสถานซึ่งเป็นอดีตไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ เพราะ อ.บุญพฤกษ์ ขณะนี้เป็นกรรมาธิการสาธารณสุขอยู่กับผม ถามว่า อ.บุญพฤกษ์ นี่ที่มาช่วย อ.สตางค์โดยเอา Prof. Dean มาจากเบอร์มิงแฮมมาช่วยสอน โดยเอาอาจารย์มาจากแหล่งต่าง ๆ มาช่วยสอนตั้งแต่ปี 2504 ถาม อ.บุญพฤกษ์ ว่ามีอะไรประทับใจ อ.สตางค์ ท่านบอกว่ามีอยู่ 3 ประการ คือ เป็นคนทำงานจริง ตั้งแต่ทำงาน ก็แน่ล่ะนักเรียนอังกฤษก็เหมือนบูลด๊อกทั้งหลาย กัดแล้วก็ไม่ค่อยปล่อยหรือไม่ปล่อยเอาเลย ทำไปจนตายแหละ 2. ถ้าแนะนำอะไรไปเมื่อรับและก็ทำตาม บางคนก็รับ ๆ ไปอย่างนั้นแหละ แต่ไม่ทำ ข้อที่ 3 ให้การยกย่อง ให้เกียรติคนที่ให้คำแนะนำ ซึ่งสิ่งนี้ผมก็ทบทวนกับ อ.กำจร เมื่อสักครู่บอกว่าเป็นความจริง ที่ผมพูดมาให้ฟังนี้ไม่ได้หมายความว่า อ.สตางค์ เป็นยังไง ให้ดีเหมือน อ.สตางค์ เพราะฉะนั้นฟังไปด้วยทำไปด้วย เริ่มตั้งแต่พรุ่งนี้ก็ได้ ถ้าวันนี้ยังเตรียมตัวไม่ทัน ส่วนจุดอ่อนของ อ.สตางค์ มีอะไรบ้าง สิ่งที่หนึ่งก็เป็นคนใจดี ใครทำอะไรผิดทำอะไรไม่ถูกก็ไม่ว่าอะไร เพราะฉะนั้นเขายังมีคำของเขาอยู่คำว่า "ช่างแม่_เหอะ" ไอ้นี่เราพูดในห้องนี้นะครับ ไปเซ็นเซอร์กันเองก็แล้วกัน หรือ "อย่างยุ่งกับมัน" บางทีก็ "ไอ้ฉิบ_" หรือ "ไอ้ห่_" มันก็จบกันแค่นั้นนะครับ แต่เป็นคำน่ารักของเขา เขาไม่ได้พูดโดยสีหน้าซึ่งขุ่นเคืองอะไร

ขอย้อนกลับมานิดของคำว่า "ไอ้ห่_" "ไอ้ฉิบ_" นี่ ครั้งหนึ่งผมจะเข้าเฝ้ากับอาจารย์มหาวิทยาลัย 2-3 คน ซึ่งมีอยู่ท่านหนึ่งมีฟูลสต็อปทุกครั้งเวลาพูด "แหม! ดอกไม้นี่สวยจริงนะ ใครจัด ไอ้ห่_" มีฟูลสต็อปด้วย อะไรมันต้องไอ้ห่_ ทุกที ผมก็เลยบอกก่อนเข้าเฝ้าประตูสวนจิตร ว่าวันนี้ขอซะทีเหอะเพื่อน อย่าหลุดมาเชียวนะ คำว่า "ไอ้ห่_" รับรอง ๆ จริง ๆ พอเข้าเฝ้าซักครึ่งชั่วโมงก็สะกิดถามเขาบอกกราบบังคมทูลลาได้แล้ว ได้เวลาแล้ว เขาหันมาตาเขียวกำลังมันเชียวไอ้ห่_ สมัยก่อนก็ไม่ได้เข้าเฝ้ากันมากมาย นั่งกัน 2-3 คน เป็นที่ครึกครื้นกันไปนะครับ ท่านเป็นอาจารย์ที่มีชื่อเสียงและเป็นคนโอบอ้อมอารี เพราะฉะนั้นต้องมีฟูลสต็อปเอาไว้ ส่วนข้อที่ 2 นี่อาจจะเป็นบ้างบางสิ่งบางอย่างที่เรียกความใจดีก็ขาดความเด็ดขาดไปบ้างนะครับ แล้วก็เป็นเรื่องที่ดี สำหรับมนุษยสัมพันธ์บางอย่าง เราต้องรู้จักลืมบ้างเหมือนกัน ไม่ใช่จำเอาไว้ทุกเรื่อง การลืมง่ายของ อ.สตางค์ ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ดี คือลืมในสิ่งซึ่งจะก่อให้เกิดความเรื้อรังขึ้นมาก็ลืมซะบ้าง ผู้ใหญ่เป็นผู้ใหญ่ต้องรู้จักลืม ไม่ใช่ไปรดน้ำลูกหลานยืนอวยพรอยู่นั่นแหละว่าตอน 12 ขวบแกนะแย่มากนะ ฉันห้ามก็ไม่ฟังนะ มันถึงได้แย่อย่างนี้ นี่ผู้หญิงเขามาแต่งด้วยก็แย่ตาม นี่รดน้ำแต่งงานนะ ก็มีอย่างนี้เหมือนกัน การแก้เหตุการณ์ทั้งหลายนั้น อ.สตางค์ มีความสามารถ เพราะในตอนเริ่มแรกนั้นงบประมาณค่อนข้างยาก เพราะว่าคบกันใหม่ ๆ ผมก็มีวิธีเดียวกันนั่นแหละว่าไปด้วยกัน ผมได้มาเท่าไหร่ อ.สตางค์ ก็ได้มาเท่านั้น เพราะว่าไปทานข้าวโรงเดียวกัน ไปด้วยกัน คุณศิริให้เท่าไหร่ก็ได้มาเท่า ๆ กัน หรือคุณบุญธรรมให้มาเท่าไหร่ก็ได้มาเท่า ๆ กัน จนกระทั่งว่าครั้งสุดท้ายที่เปิดที่นี่เมื่อปี 2511 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จเปิดที่นี่ พอเสร็จจากที่นี่ไป ก็เสด็จไปเปิดตึกวิจัยประสาท ที่โรงพยาบาลประสาท พญาไท จากนี่ไปที่นั่นเพราะฉะนั้น 2 แห่งนี้โยงกันไปโยงกันมาตลอดเวลา และเท่าที่ผมจำได้ในห้องนี้ผมก็เคยมาจัดประชุมของสหประชาชาติหลายครั้งในเรื่อง Neuro Scientist โดยเฉพาะเรื่อง Learning and Memory อ.สตางค์ หาเงินได้อย่างไร ท่านหาเงินโดยเปิดการสอนพิเศษที่เรียกว่า J.U. หลายท่านอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อ คือ Junior University สอนที่ท่านบอกว่าตึกจานบิน ซึ่งผมก็เคยสอนมาตั้งแต่ต้น ทั้งศรีอยุธยา ทั้งจานบินที่ไหน นี่ อ.สตางค์ เปิดที่ไหนผมก็สอนที่นั่นแหละ ตั้งแต่ต้นแต่หลายคนเรียกว่าตึกหมวกจีน พอเปิดขายใบสมัครวันแรกใบสมัครไม่พอขาย สำหรับผู้จะมาเรียนเตรียมแพทย์ บ้างเตรียมวิทยาศาสตร์บ้าง เรียนจะสอบมหาวิทยาลัยให้บ้าง ต่าง ๆ เหล่านี้ แล้วสำหรับเตรียมแพทย์ในชีวิตการสอนเป็นเวลา 53 ปี ที่ช่วยผมมากนี่มิใช่แค่ว่าท่านทั้งหลายที่จบไปเป็นเภสัชกรจึงมาร่วมงานกัน ผมขึ้นเครื่องบินไปโตเกียวเมื่อสัปดาห์ก่อน พอเครื่องบินตั้งลำได้ดีถึงเห็นมีคนมานั่งข้าง ๆ บอกว่าเคยเรียนกับอาจารย์ที่ตึกกลมนะครับ อ้าว! มาเป็นผู้ดูแลบนเครื่องบินซะแล้ว พักชายทะเล อ้าว! ก็มีคนมาบอกว่าเคยเรียนที่ตึกกลมนี่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นไม่ว่าไปบนฟ้า อากาศหรือทะเล หรือบนพื้นดิน ชาวตึกกลมนี่ทั้งนั้น

ก็ขอกล่าวให้ฟังอีกครั้งนึงว่าตอนที่ตั้งคณะวิทยาศาสตร์ ในปี 2503 หลังจากตั้งโรงเรียนเตรียมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว ในวันนั้นเป็นวันวิกฤติ เพราะฝ่ายตรงข้ามที่ไม่เห็นด้วยมีหลายฝ่าย เช่น ทางคณะวิทยาศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็บอกทางนี้ยังไม่เห็นมีอะไรเลย จะตั้งคณะไปทำไม ทางโน้นขยายช่วยกันสอนก็ได้ แต่ที่สำคัญก็คือว่าเลขาธิการของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เองก็เป็นฝ่ายไม่เห็นด้วยเหมือนกัน รวมทั้งเลขาธิการของมหาวิทยาลัยใหญ่ ๆ อีกบางแห่งก็ไม่เห็นด้วย เมื่อเข้าสภาการศึกษาก็มีผู้ซึ่งจะสนับสนุน อ.สตางค์ อยู่เพียง 2 คน คือ อ.คุณหลวงพิณพาทย์ พิทยแพทย์ ซึ่งท่านเป็นคนพูดโดยสุภาพ เป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพของผม ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมคิด ร่วมเป็นร่วมตายมาตลอดเวลา ซึ่งเราต้องสู้กันใจหายใจคว่ำนะครับ แต่ขณะนั้น อ.สตางค์ ยังไม่เป็นกรรมการสภาการศึกษา แต่ผมเป็นแล้ว เพราะฉะนั้นจึงพูดแทน อ.สตางค์ ได้ก็ต้องเป็นผม แต่มีคนหนึ่งที่พูดได้ดีกว่าผมกลับไปนั่งข้าง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพราะเป็นเลขาธิการสภาการศึกษา คือ ดร.กำแหง พลางกูร คนข้างบนก็พูดไม่ได้ จอมพลสฤษดิ์ ก็ไม่ได้พูด ผมก็ต้องพูดและสิ่งที่ผมพูดนี้ผมได้เขียนไว้ใน "เรื่องของความหลัง" ในหนังสือ 30 ปี คณะวิทยาศาสตร์ ของเรานี่ โดยผมจะถ่ายทอดให้ฟังสั้น ๆ ว่า "ท่านประธานที่เคารพ (คือ จอมพลสฤษดิ์) ผมขอเรียนว่าสภาการศึกษานี้เห็นทีจะเพี้ยนชอบกล คือว่าคณะใหม่ของธรรมศาสตร์มีอาจารย์ประจำแค่ 4 คน และอาจารย์พิเศษ 11 คน รวมเป็น 15 คน แต่สภาการศึกษาอนุมัติให้ตั้งคณะใหม่ได้ แต่ทำไมคณะของมหิดลนี้คือ คณะวิทยาศาสตร์ มีอาจารย์ประจำ 30 คน มีอาจารย์พิเศษอีก 30 คน รวมทั้งผมด้วยอีก 1 คน แถมสอนกันมาแล้วหลายปีจนจะได้ปริญญาตรีแล้ว มีผลดีในการสร้างคน สร้างแพทย์ไว้ช่วยชีวิตคน ทำไมถึงไม่อนุมัติ ผมว่าถึงเวลาสุกงอมแล้วทำไมไม่เก็บกัน และจะให้ของเราเป็นมหาวิทยาลัยเต็มขั้นจะมีแต่คณะแพทยศาสตร์ได้อย่างไรโดยไม่มีคณะวิทยาศาสตร์ ขณะนี้เป็นระยะพัฒนาบ้านเมือง นี่เขาจะช่วยชาติ ทำไมเรามาขาดน้ำใจ ทำไมไม่อนุมัติ ผมว่าท่านประธานที่ผมเคารพเลื่อมใส คือ จอมพลสฤษดิ์ ตอนนี้พูดง่าย เพราะว่าท่านใช้ให้ผมไปปลูกต้นไม้ให้กรุงเทพมหานคร ท่านคงมีน้ำใจปรานีแก่คนที่ทำดีแก่บ้านเมืองและได้เป็นตัวอย่างที่ดี นี่คนก็มีแล้ว งบประมาณก็มีแล้ว ตึกรามก็มีแล้ว เด็กที่เล่าเรียนก็มีแล้ว เราพูดกันอยู่ทุกวันว่า เด็กคืออนาคตของชาติ ถึงคราวแล้วที่เราจะช่วยเด็กของเราก็คือช่วยชาติ ส่วนครูบาอาจารย์นั้นอย่าห่วง ถ้าไม่อนุมัติเขาก็ไปอยู่เมืองนอก ทำงานให้ต่างชาติ สบายซะอีก ก็เราส่งเขาไปเรียนนอกมาสร้างงานสร้างชาติไม่ใช่เหรอครับ ผมว่าท่านประธานคงคิดอยู่ในใจแล้วล่ะ แล้วทำไมเราจะกีดกันคนหวังดีต่อบ้านเมือง ขออนุมัติให้เถอะครับ ผมจะขออนุโมทนาแทนลูกศิษย์ลูกหาและเพื่อนพี่น้องชาวไทยทุกคนด้วย ขอขอบคุณครับ" จอมพลสฤษดิ์ ลืมตาขึ้นมา เอา เอา อย่างหมอประสพว่า อนุมัติ ... เห็นไหมครับ เพราะฉะนั้นความผูกพันก็มีอยู่ถึงนาทีนี้ครับ ว่าเรื่องมันเป็นเรื่องที่เราช่วยกันมาแต่เก่าก่อน

อย่างไรก็ตามทีก็อยากจะบอกว่าก่อนจะจบอีกสัก 10 นาที พวกเราที่เรียนมาทั้งหลายนั้น ที่เราทำนี้ดีแล้ว คือรำลึกถึงครูบาอาจารย์ เขาถึงบอกว่า การที่เราอยากมีความรู้เราก็อย่าลบหลู่อาจารย์ ถ้าเราอยากความสำราญ ก็อย่าล้างผลาญสมบัติ สมบัติในที่นี้คือสมบัติที่ อ.สตางค์ สร้างมา ซึ่งไม่มีใครล้างผลาญอยู่แล้ว ผมก็ต้อเอาคัมภีร์มาอ้างไว้ก่อน คือจะเติมต่อไปว่า อ.สตางค์เพื่อนเรานั้นเปรียบเหมือนหลักธรรมในพระพุทธสุภาษิตที่ว่า สัตตบุรุษ ผู้มีปรีชาใดเป็นคนกตัญญู กตเวที 1 มีกัลยาณมิตรสนิทสนมกัน 1 ช่วยทำกิจของมิตรผู้ตกยากโดยเต็มใจ 1 ท่านเรียกผู้นี้ว่าเป็นสัตตบุรุษ

  1. สัตตบุรุษ ท่านกล่าวไว้ สามสถาน
  2. ว่าย่อมรู้คุณูปการ นอบน้อม
  3. มิตรดี ไป่ระราน สนมสนิท
  4. กับมิตรตกยาก ช่วยด้วยเต็มใจ

สำหรับ อ.สตางค์ นะครับ ท่านเกิดที่จันทบุรี ก็ห่างไกลที่เราเรียกว่าไกลปืนเที่ยงหน่อย แต่คนเราไม่ได้อยู่ที่เกิด ถ้ามิฉะนั้นผมก็คงไกลกว่า อ.สตางค์ เยอะ เพราะดันไปเกิดที่โน่น เบตง พ่อไปรับราชการอยู่ที่โน่น สุดแดนของประเทศไทยโน่น อย่างไรก็ตามที ทุกท่านก็คงเคยไปวัดพระแก้ว แต่คงไม่ได้เดินดูรอบวัดพระแก้วหรอก เพราะรีบ ๆ บนบานศาลกล่าวแล้วก็รีบกลับมายิ้มกริ่ม โชคดีแล้วได้บนบานแล้วขอพรแล้ว แต่แวะลองไปดูฝาผนังสักนิดเถอะ จะมีหลายแห่งที่น่าสนใจ โดยเฉพาะข้อความหมายเลข 44 ที่เขียนว่า บัวเกิดในตม

  1. บุษบงก่อเกิดเปื้อน เปือกตม
  2. ดอกล่วงเลนงามชม ชื่นหน้า
  3. เปรียบปราชญ์เกิดเปือกปม เป็นมนุษย์
  4. เลิศล่วงมนุษย์สุดฟ้า ทั่วหล้าสรรเสริญ ฯ

คนเราไม่ได้อยู่ที่ที่เกิด อยู่ที่การสร้างตนสร้างความดีและรักษาความดี ซึ่ง อ.สตางค์ ของเราได้แสดงให้เห็นเด่นชัดมาตลอดเวลา ในชีวิตของท่าน อ.สตางค์ มีพินัยกรรมอันมหาศาลทั้งที่ปรากฏ ทั้งที่ต้องค้นหาในปรัชญาการศึกษาของท่าน สำหรับในเรื่องนี้ ผมได้รับหนังสืองานศพงานเพื่อนผู้เยาว์ท่านหนึ่ง เพราะว่าเขาเสียชีวิตเมื่ออายุ 48 ปี ความจริงเมื่อสักครู่นี้ท่านคณบดีบอกผมว่า 76 ก็ไม่เป็นไรหรอก มันน้อยกว่าจริงไป 2 ปี ก็เหลือ 22 ปีก็จะครบ 100 ก็ไม่ต้องบอกแล้วว่าอยู่ได้ไม่ได้ ก็คงอยู่ได้แน่ คณะวิทยาศาสตร์อยู่ใกล้ ๆ นี่ช่วยกันได้ เพราะเขียนไว้และก็พิมพ์แจกในงานศพ มีอยู่แผ่นเดียว มีรูปด้วย และเขาเคยช่วยงานผมตอนที่ทำเนียบรัฐบาล เขาบอกว่า

  1. ใครคือเลือกเกิดได้ บ้างยากไร้บ้างมั่งมี
  2. ทุกคนอยากอยู่ดี มีชีวีที่สราญ
  3. ชีวีตอยู่จงเลือกคิด สุจริตทำกิจการ
  4. หมั่นเพียรในการงาน เลื่องลือขานคนกล่าวชม
  5. ตายแล้วร่างก็เน่า ทุกคนเล่าไม่รื่นรมย์
  6. เหลือไว้ให้นิยม คือความดีที่ได้ทำ

จำง่ายนะครับ คือความดีที่ได้ทำ ความจริงอยากจะแนะนำ ใครจะพิมพ์หนังสืองานศพ ญาติพี่น้อง ไม่ใช่ตัวเองนะ เอาแผ่นเดียวก็พอแล้ว ไอ้พิมพ์เป็นตั้ง ๆ เอาไว้หนุนจนคอเคล็ด มันไม่ได้อ่านหรอก เอาแผ่นเดียวพอแล้ว

ในท้ายที่สุดนี้ก็อยากจะเรียนให้ฟังว่าคนเราก็มีความหวังทั้งนั้นแหละครับ โดยเฉพาะในปีใหม่ซึ่งใกล้จะถึงอยู่แล้ว เผอิญผมไปหยิบเจอ ส.ค.ส. ปีใหม่ 2537 ก็ยังไม่ล้าสมัย บอกว่า...

  1. ชีวิตเปรียบเหมือนเรือเมื่อลอยล่อง
  2. หางเสือต้องถือให้มั่นไม่หวั่นไหว
  3. เมื่อลมจัดพัดกระหน่ำควรทำใจ
  4. ว่าโพยภัยทุกข์มหันต์นั้นธรรมดา

สุนทรภู่ถึงได้บอกว่า...

  1. เกิดมาเป็นมนุษย์ปุถุชน
  2. ความทุกข์มิได้พ้นจนสักหน้า
  3. สุดแท้แต่กรรมที่ทำมา
  4. ถึงเวลาสิ้นสุขก็ทุกข์ไป
  5. ถ้าถึงคราวพ้นเข็ญที่เป็นทุกข์
  6. ก็กลับมีความสุขอีกได้ใหม่
  7. เป็นฉะนี้มาแต่ไรไร
  8. จะหวาดหวั่นพรั่นใจไม่ต้องการ

เราสามารถที่จะทำงานให้ได้ผลดี ไม่มีใครตายเพราะทำงานนอกจากทหารป้องกันประเทศ ท่านทั้งหลายที่นั่งทำงานไม่ต้องกลัวว่าไม่ตาย ทำงานจนตายไม่มี นอกจากตายในที่ทำงานน่ะมี เพราะปากไม่ดีบ้างอะไรบ้าง ลูกน้องเอาขวานมาจามหัวก็มี ผมอยากจะบอกไว้อย่างหนึ่ง เมื่อ พ.ศ.2505 ผมเคยบรรยายเรื่องจิตวิทยาในการทำงาน โดยบอกว่าจงมีอะไรบ้างง่าย ๆ จงมีความรอบคอบ จงรู้จักเอาใจใส่ จงรู้จักใช้ความดีของกันและกัน จงรู้จักติดตาม และข้อ 5 จงรู้จักฝึกคน และข้อสำคัญก็คือ ฝึกตน

ท่านก็ได้อดทนมาตามเวลาที่เขากำหนดให้แล้วนะครับ 3 โมง 25 เหลืออีก 2 นาที ก็อยากจะบอกว่าชีวิตเรานั้นก็เช่นเดียวกับชีวิตของสัตว์โลกทั้งปวง จะอยู่ดีไม่ดีก็อยู่ที่ตัวเราเอง เพราะฉะนั้นว่าง ๆ ลองถามตัวเองดูบ้างก็ดี วันนี้ฉันได้ออกกำลังกายไปบ้างแล้วหรือยัง ถ้านอนจนขาลีบก็ช่วยไม่ได้

วันนี้ฉันได้ลดความกังวลลงบ้างหรือยัง ก็อย่างว่านี่มารอค่าเงินบาทลอยขึ้นลอยลงกลุ้มใจตายเปล่า ๆ หาอะไรทำไปเป็นงานอดิเรกก็ยังดี ท่านเชื่อไหมว่าอาจารย์คนหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บังเอิญเป็นอัมพาตก็ไปเลี้ยงปลากัดให้หลานชาย เสร็จแล้วเกิดสนใจเพาะพันธุ์ขยายพันธุ์จนกระทั่งต่อมาเอาปลาทะเลที่สีสวย ๆ มาเพาะขยายพันธุ์และก็ส่งขายเมืองนอก โดยมีคนมาติดต่อเดือนละ 4 ล้านบาท ส่งนอกถามว่ากำไรเท่าไหร่ คงเกือบซักล้านได้ เพราะฉะนั้นอย่าท้อไป ไม่งั้นมันก็จะเหมือนเรื่องกล้ามเนื้อ ไม่ได้ใช้มันฝ่อไป เอาอย่ากังวลไป

3 ถามตัวเองว่า วันนี้ฉันได้ฝึกความจำบ้างแล้วหรือยัง บางคนก็ขี้ลืม ถือเป็นความดี โอ้! นี่ไปกับฉันหน่อยสิ ฉันมันขี้ลืม ทำไปทำไปไปช่วยจำหน่อย บางคนมีอะไรก็จด จดใส่กระเป๋า จดใส่กระเป๋า รุ่งขึ้นก็ซักไปทั้งกระเป๋าแหละหมดอีก อันนี้เป็นเรื่องที่เราจะต้องฝึก เพราะว่าหลายคนเวลาไปงานบ้านเพื่อน ขึ้นบ้านใหม่ ขาไปขับรถไปกับเมีย ขากลับกลับมากับเพื่อน ลืมเมียไว้ที่งาน แบบนี้มันตั้งใจไว้อยู่หลายวันแล้ว

4 ถามตัวเองว่า วันนี้ฉันได้ทำงานเป็นประโยชน์บ้างแล้วหรือยัง อุตส่าห์มาแต่เช้าต้องติดตามข่าวก่อน ปรับปรุงคณะรัฐมนตรีใหม่เป็นห่วงบ้านเมือง อ่านไปอ่านมาไปเจออะไรไชยา มิตรชัย วูบเกิดโรควูบขึ้นมาอีกเป็นห่วงอีกแล้ว ก็หมดไปแล้วชั่วโมงหนึ่ง เอ๊ะ 10 โมงแล้ว มันคอแห้ง ลงไปกินน้ำซะก่อนกลับขึ้นมา 11 โมง เอ๊ะเดี๋ยวห้องอาหารจะแน่น อ๊ะไปซะก่อน กลับมาอีกทีบ่าย 2 โมง ฝึกสมาธิหน่อย วิเวกไปจนถึง 3 โมงเย็น เอ๊ะรับลูกไม่ทัน ไปก่อนดีกว่า เอ๊ะได้อะไรขึ้นมาวัน ๆ ได้อย่างมากก็ตอนเช้าก็มายืนหน้ากระจกแต่งตัว หวีผมแล้วยืนชี้ได้หน้าอย่างแกเกิดมาก็เสียชาติเกิด ชี้ใครก็ชี้ตัวเองแหละ เอาล่ะครับ

อันที่ 5 ถามตัวเองว่า วันนี้ฉันได้ช่วยคนอื่นให้มีความสุขบ้างแล้วหรือยัง เช้า ๆ ขึ้นมานี่ แทนที่เพื่อนจะเป็นสุขบ้าง โอ้โฮไม่เจอหลายวันทำไมโทรมอย่างนี้ล่ะ นั่นแหละ Meeting ทักทาย ได้ข่าวเพื่อนไม่สบายแห่กันไปเยี่ยม โอ้โหมาหลายวันไหวเหรอเนี่ย บางคนหนักกว่าอีก เอ เราเป็นเพื่อนกันนะ จะพิมพ์หนังสืออะไรบอกด้วย ช่วยจัดไว้ให้ แม้แต่กำลังใจก็ไม่ให้ เอาล่ะครับ

ข้อที่ 6 ถามตัวเองว่า วันนี้ฉันได้พักผ่อนบ้างแล้วหรือยัง คนเราทำงานก็ต้อรู้จักพัก ต้องพักให้เป็นด้วย ครูบาอาจารย์นี่ไม่ค่อยได้พัก เพราะว่าท่านคิดสูตรของท่านเรื่อย ก่อนนอนก็มีปากกาดินสอวางไว้ใต้หมอน ละเมอขึ้นมาหน่อยก็จดแล้ว ไอ้สูตรนี้หลับไม่สนิทล่ะครับ หรือว่าโน่นเสาร์อาทิตย์ไปล่าสัตว์เพื่อพักผ่อน กลับมาวันอาทิตย์เย็นก็กระรุ่งกระริ่ง เสือไล่งับเข้าไม่ได้พักหรอก

ข้อที่ 7 ถามตัวเองว่า วันนี้ฉันได้สนุกสนานรื่นเริงบ้างแล้วหรือยัง คนเราต้องยิ้มไว้บ้าง หัวเราะไว้บ้าง เราก็จะอายุยืน คิดง่าย ๆ ผมก็เคยเป็นประธานให้พวกท่านทั้งหลายจัดประชุมสรีรวิทยาตั้งหลายครั้ง หน้าง้ำทีนึง กล้ามเนื้อเกร็ง 64 ชิ้น แต่หัวร่ออย่างนี้ 32 ชิ้นเท่านั้นแหละครับ สบาย ๆ สบายกว่ากันเยอะว่างั้นเถอะ เพราะฉะนั้นหัวเราะไว้บ้าง อ.พรชัย ก็ใจดีจะตาย หัวเราะกับเขาบ้าง ไม่มีใครหัวเราะ อ.พรชัย ก็หัวเราะคนเดียวก็ได้

ท้ายที่สุดนี้นะครับ เรามีสิ่งร่วมกันอยู่อีกอันหนึ่งคือความจงรักภักดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ อ.สตางค์ กับผมได้ถวายพระราชกิจ และตามรอยพระยุคลบาทหรือโดยเสด็จพระราชกุศล ในสิ่งอันเป็นส่วนรวมเสมอมาอย่างที่สมเด็จพระบรมราชชนกได้สอนนิสิตนักศึกษาของท่านว่า "จงยึดถือกิจส่วนตน ประโยชน์ส่วนตน เป็นกิจที่สอง กิจส่วนรวมประโยชน์ส่วนรวมเป็นกิจที่หนึ่ง แล้วทรัพย์สินเงินทองเกียรติยศชื่อเสียงจะเป็นของท่านเอง"

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราโชวาทไว้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2528 12 ปีมาแล้ว แก่คณะลูกเสือแห่งชาติในวันปฏิญาณตน ความว่า

"การบำเพ็ญประโยชน์จะต้องทำที่ตัวเองก่อนด้วยการประพฤติดี เป็นต้นว่ารักษาระเบียบวินัย รักษาความสัตย์สุจริต มีความขยันหมั่นเพียร ปฏิบัติกิจการงานด้วยความเข้มแข็ง หนักแน่น ให้ติดเป็นนิสัย ผลของการทำดีที่เป็นตัวประโยชน์ก็จะงอกงามขึ้นในตัวผู้ปฏิบัติอย่างเต็มเปี่ยม แล้วจะสะท้อนออกถึงผู้อื่น พลอยให้ผู้อื่นและส่วนรวมได้รับผลดีอีกด้วย"

นี่เป็นพระบรมราโชวาท และในโอกาสสุดท้ายนี้ก็ขอให้คุณงามความดีของ อ.สตางค์ มงคลสุข ได้ส่งผลสนองให้คณะวิทยาศาสตร์ บรรดาคณาจารย์ ผู้ร่วมงานและท่านที่เคยร่วมงานได้ประสบแต่ความเจริญสุขด้วยจตุรพิธพรชัย ขอให้สมบูรณ์ด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ ทุกประการ ขอบคุณมากครับ