ปาฐกถาศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ครั้งที่ 29
หัวข้อ “อาจารย์สตางค์กับการพัฒนาประเทศ”
เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ครบรอบ 65 ปี
โดย ศ.เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ
ณ ห้องประชุม L01 อาคารปาฐกถา (ตึกกลม) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
วันศุกร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2566
ขอบคุณท่านคณบดี กราบเรียน พี่สถิตย์ (ศ.เกียรติคุณ ดร.สถิตย์ สิริสิงห) พี่ประดน (รศ. ดร.ประดนจาติกวนิช) เพื่อน ๆ น้อง ๆ ชาวคณะวิทยาศาสตร์ทุกท่าน ก่อนจะเข้าสู่หัวเรื่องที่ได้รับมอบหมายให้พูดวันนี้ ตื่นเต้นมากจนนอนแทบไม่หลับเลย วันนี้ดีใจเป็นพิเศษ ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับเพื่อน ๆ สองคนที่เพิ่งได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา คือ ยงยุทธ ยุทธวงศ์ (ศ.เกียรติคุณ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์) กับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์คือ ประเสริฐ โศภน (ศ.เกียรติคุณ ดร.ประเสริฐ โศภน) เรียงตามรหัสคือผม 01 ยงยุทธ 03 ประเสริฐ 04 สมจิตรที่อยู่ข้างหลัง 02 อีกคนที่ 02 แต่ตอนนี้มาอยู่กับเราแล้วคือ ปรีดีพร (ผศ. ดร.ปรีดีพร ลิ้มเจริญ) วันนี้ดีใจมากที่ได้เห็นหลาย ๆ คน ผมก็แสดงความยินดีกับอาจารย์ตัวอย่าง 2 ท่าน จากพฤกษศาสตร์และคณิตศาสตร์ และผู้ได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นทุกท่านที่ได้สร้างคุณประโยชน์ให้ส่วนรวมเป็นที่ประจักษ์ และยังมีรางวัล Science Communicator คุณหมอเอ้ว (นพ.ชัชพล เกียรติขจรธาดา) ที่ได้รับรางวัลนี้ ก็แสดงความชื่นชมยินดีด้วยนะครับ
สำหรับผมเองวันนี้นับว่าเป็นกรรมตามสนอง เพราะว่า ปาฐกถาสตางค์ มงคลสุข เริ่มต้นตอนที่ผมเป็นคณบดี ครั้งปฐมฤกษ์ได้ทูลเชิญทูลกระหม่อมจุฬาภรณ์ เป็นองค์ปาฐกพระองค์แรก เป็นสิริมงคลต่อคณะ แล้วก็ต่อเนื่องมา เข้าใจว่าอาจารย์ยงยุทธก็เคยมาพูด หลาย ๆ ท่านก็มา เป็นเวลา 30 ปี กว่าจะย้อนกลับมาที่ผมขึ้นมาพูดเองในวันนี้ ไม่ใช่กรรมไม่ดีนะ เป็นกรรมดี ผมก็ดีใจที่ได้มีโอกาสมาพูดในวันนี้
อาจารย์สตางค์ ถึงแก่กรรมปี 2514 ใช้เวลา 20 ปี กว่าเราจะมีปาฐกถาครั้งแรก อย่างไรก็ตามเมื่อมีแล้วเราก็มีมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เป็นโอกาสที่พวกเราจะมารำลึกถึงอาจารย์สตางค์ของพวกเรา ที่มุ่งมั่นทุ่มเทต่อวงการวิทยาศาสตร์และวงการสาธารณสุขของประเทศไทยมาโดยตลอด วันนี้ผมเลือกที่จะพูดในเรื่องที่ไม่ใช่ว่าผมจะสนใจเอง แต่เป็นเรื่องที่ผมคิดว่าอาจารย์สตางค์สนใจและพวกเราสานต่อมา คิดเท่านั้นนะครับ ถูกผิดก็ไม่แน่ใจนะ ก็ช่วยกันคิด ที่ผมจะเล่าให้ฟังมีส่วนที่แม่นเท่าไหร่หรือไม่แม่นเท่าไหร่ ผมนี่ที่จริงเรียนกับอาจารย์สตางค์ก่อนที่จะเข้ามาเรียนแพทย์ หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าอาจารย์เคยสอนที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนที่พี่สถิตย์กับผมเป็นศิษย์เก่าอยู่ แต่ว่าผมไม่ได้เรียนกับท่านที่นั่นเพราะว่าท่านสอนเฉพาะ ม.7 ม.8 ผมโชคดีที่ตอนสอบเทียบกวดวิชา 368 เตรียมจะสอบ ม.8 ได้เรียนกับอาจารย์สตางค์ที่วัดมหรรณพ์ ก็ได้รู้เรื่องเกี่ยวกับเตรียมแพทย์เชียงใหม่และอาจหาญเรียนกวดวิชาสอบเทียบมาสอบเข้าเตรียมแพทย์เชียงใหม่ เตรียมแพทย์เชียงใหม่ปีนั้น ปี 2501 เป็นปีที่สำคัญไม่ใช่ว่าเพราะผมเข้านะ แต่เป็นปีที่สำคัญมากในประวัติศาสตร์เพราะเป็นปีแรกที่มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์รับนักศึกษาปีหนึ่งโดยตรง ผมอยากจะขอให้ทุกคนเข้าใจเพื่อจะไม่สับสนนะครับ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์แยกออกมาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2486 จากนั้นมาเป็นเวลา 14 ปี มีสี่คณะที่แยกออกมา เหตุที่แยกออกมาไม่ใช่ว่าโดนไล่ออกมา คือคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะเภสัชศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ เหตุที่ออกเพราะสี่คณะนี้ใช้เงินกว่า 90% ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาทนไม่ได้เลยให้แยกออกมาอยู่ต่างหาก ทั้งที่แยกออกมาแล้วก็ยังมีคณะที่ยังอยู่ในรั้วจุฬาฯ คือทันตแพทยศาสตร์และเภสัชศาสตร์ ที่สำคัญคือตอนแยกออกมาแล้วเราไม่ได้เริ่มต้นสอนปี 1-2 เพราะฉะนั้นคนที่จะมาเรียนแพทย์ที่ศิริราช ทันตแพทย์ เภสัช หรือสัตวแพทย์ ต้องเรียนที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสองปีก่อนแล้วค่อยสอบเข้ามา 14 ปี จนถึงปี 2501 ตอนที่มีดำริว่าจะสร้างโรงเรียนแพทย์ที่สาม ก็คือที่เชียงใหม่ อาจารย์สตางค์ก็เสนอว่ารับตรงเลย เป็นการรับนักศึกษาเตรียมแพทย์โดยตรง ไม่ต้องไปเข้าวิทยาศาสตร์แล้วสอบเทียบใหม่ ฮือฮามากทันที คนที่อยากเรียนแพทย์ก็สอบตรงไม่ต้องไปเสี่ยงอีกทีตอนปีสอง เพราะฉะนั้นก็เลยทำให้อาจารย์สตางค์โด่งดังขึ้นมามาก ถือว่าเป็นแท็กติกที่อาจารย์ดึงเด็กสมัยนั้นที่มีติดบอร์ด เพราะสอบ ม.8 สอบพร้อมกันทั่วประเทศ 50 คนแรกมีสิทธิ์สอบชิงทุนไปเรียนต่างประเทศ ในปีนั้นจาก 50 คน 38 คน มาอยู่ที่เตรียมแพทย์เชียงใหม่ ส่วนที่เหลือมักจะเป็นคนที่สอบเทียบมา ปีนั้นแปลกมาก คนที่เราคาดว่าจะได้ที่หนึ่งจริง ๆ ชื่อ เมษ เหรียญวงศ์ เป็นอัจฉริยะรุ่นผม เป็นปีแรกที่คนสอบเทียบไม่มีสิทธิ์ติดบอร์ด ปีก่อนหน้านั้น ปี 2500 ยังติดบอร์ดได้ ปีนี้ห้ามติดบอร์ด เขาเลยนินทากันว่านอกจากที่หนึ่งเป็นนายเมษ แล้ว อีก 20 กว่าคนเป็นสอบเทียบด้วย ก็เลยทำให้ต่อต้านไม่ให้ติดบอร์ด อันนี้เป็นอันนึงที่ทำให้อาจารย์เป็นที่รู้จัก ผมนี่ก็เป็นนักเรียนกวดวิชา 368 ไม่เจียมตัวไปสอบกับเขาด้วย เผอิญสอบติดเข้ามา ไม่ทราบว่าอาจารย์สตางค์ดูยังไง ชวนตอนปีหนึ่งให้ไป บอกว่า “นี่เฮ้ย พวกเธออย่าเรียนแพทย์เลย เรียนแพทย์นี่เจอะแต่คนปวดหัวตัวร้อนนะ” คนที่บ้านผมที่แถวบ้านหม้อเขาขายเพชรกัน เขาบอกว่า พรชัยอย่าไปเรียนแพทย์เลย เรียนไปทำไม คนมาร้านเพชรยิ้มแย้มแจ่มใสจะซื้อเพชร คนมาหาหมอร้องห่มร้องไห้มีแต่ความเศร้าโศก อย่างไรก็ตามอาจารย์สตางค์ Convince ว่าควรจจะจัดสรรมันสมองแต่ละรุ่นให้เหมาะสม ควรจะเอาคนสติปัญญาสูงไปทำวิจัย ถึงจะเป็นแพทย์ก็ต้องเป็นแพทย์วิจัย คือไม่ได้บอกว่าเป็นแพทย์วิจัยไม่ได้ แต่ว่านี่ก็เป็นเหตุที่ชวนมา ผมก็ Convince รีบไปเตรียมสอบเผอิญว่าติดได้ไปเป็นรุ่นแรกที่อาจารย์สตางค์ชวน แกก็ชวนแบบนี้มาได้ 13 รุ่น จนกระทั่งรุ่นที่ 13 ก็ไปทั้งหมด 81 คน นั่งอยู่ในนี้หลายคน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญ พอพวกนี้กลับมาก็มาเริ่มต้นสร้างคณะวิทยาศาสตร์
ในรุ่นแรก ๆ เรามีโอกาสคุยกับอาจารย์หลายอย่าง ส่วนที่ผมจะสะท้อนแนวคิดว่าอาจารย์คิดอย่างไรเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การสาธารณสุข ก็จากที่ได้สัมผัส และอีกช่วงที่ได้สัมผัสคือตอนที่ผมกลับมาแล้ว ปี 2511 อาจารย์สตางค์ตอนนั้นนอกจากทำเรื่องสำคัญที่นี่คือโครงการร็อคกี้เฟลเลอร์ คือสร้างครูแพทย์ สร้างบัณฑิตศึกษาทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ก็ยังก่อตั้งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ฉะนั้นอาจารย์ก็ยังมีเรื่องที่ยังทำไม่เสร็จที่สงขลาคือโครงการที่จะเกี่ยวเนื่องกับการสร้างคณะแพทย์ให้มาช่วยหน่อย ตอนนั้นเลยมีโอกาสได้รับการถ่ายทอดหลาย ๆ อย่างจากท่านว่าท่านต้องการอะไร อย่างไร เพื่อให้เป็นไปตามนั้น จากประสบการณ์นี้และเท่าที่ทำงานกับอาจารย์จนกระทั่งอาจารย์จากไปหลังจากผมกลับมาเพียง 3 ปี ปี 2514 นอกจากนั้นก็คือเรื่องของ Imagination ว่าท่านน่าจะคิดอย่างไร ก็ช่วยกันเดาต่อก็แล้วกัน บางเรื่องผมคุยกับคุณหญิงมธุรส (ศ. ดร. คุณหญิงมธุรส รุจิรวัฒน์) บางเรื่องก็ยังบอกไม่แน่ใจเหมือนกันว่าอาจารย์คิดอย่างไร อย่างไรก็ตามผมอยากจะให้ Background อย่างนี้ เป็นส่วนที่ทำให้ผมที่จะเล่าให้ฟังวันนี้ว่าแนวคิดเรื่องที่อาจารย์มุ่งมั่นพัฒนาประเทศไทย ท่านคิดอย่างไรบ้าง
ก่อนเข้าเนื้อหายังมีเรื่อสำคัญเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการทุ่มเทที่อาจารย์ให้ต่อวงการวิทยาศาสตร์และสาธารณสุขไทย คือถ้าลูกศิษย์ใกล้ชิดจะรู้ว่าท่านอาจารย์มีความสำนึกในพระคุณของแผ่นดิน มีความสำนึกในสถาบันพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระราชบิดา มีความสำนึกในพระคุณสูงมาก เป็นแรงดลใจประการหนึ่งที่ทำให้ทุ่มเททำงานสานต่อพระปณิธานหลายเรื่องของพระราชบิดา ที่รู้ก็คือเวลาที่บอกให้ทำโครงการที่เดียวกับสงขลานครินทร์ อย่าลืมว่าไปตั้งมหาวิทยาลัยแรกที่ภาคใต้ แทนที่จะเรียนมหาวิทยาลัยภาคใต้ หรือ มหาวิทยาลัยทักษิณ แต่ว่าเรียก สงขลานครินทร์ ก็เพราะมีที่มาที่สำคัญ หลายท่านที่รู้จักอาจารย์ อาจารย์มาจากจันทบุรี ตอนที่คณะคนยังไม่มาก อาจารย์มักจะพาไปกินข้าวที่ร้านมะพร้าวคู่ ใครรู้จักบ้าง ที่ถนนศรีอยุธยา เลยพระรูปไปหน่อยทางซ้ายมือ เป็นสมาคมชาวเมืองจันท์ มีห้องอาหาร อาจารย์ชอบพาไปที่นั่น ที่ผมเล่านี่เพราะเวลาขับรถท่านขับไปเองนะ เราก็นั่งไป พอถึงพระรูปท่านก็ปล่อยพวงมาลัย (ยกมือไหว้) เราก็ตกใจ อยากเล่าให้ฟังว่านี่คือความสำนึกของอาจารยสตางค์ต่อพระมหากษัตริย์ ท่านสำนึกว่าสมเด็จพระราชบิดาได้ทุ่มเทพระองค์เพื่อสร้างพื้นฐานการแพทย์ การสาธารณสุขในเชิงวิทยาศาสตร์ และได้เชิญ จอห์น ดี. ร็อคกี้เฟลเลอร์ ให้ส่งทีมแพทย์ ทีมครู มาช่วยที่ศิริราชต่อเนื่องกันมา 16 ปี ศิริราชยุคใหม่ตอนนั้นเปลี่ยนจากวิธีสอนแบบเดิมมาเป็น Science Base จริง ๆ และต้องเสริมสร้างวิทยาศาสตร์พื้นฐานด้วย พระองค์ท่านใช้เงินส่วนพระองค์ให้ทุนครูวิทยาศาสตร์ระดับปรมาจารย์ อาจารย์คลุ้ม วัชโรบล อาจารย์บัวเรศ คำทอง อาจารย์ทองศุข พงศทัต ล้วนแต่เป็นครูของอาจารย์สตางค์ทั้งสิ้น ไปเพื่อจะกลับมาทำวิทยาศาสตร์พื้นฐานให้เข้มแข็งและจะได้เสริมให้แพทย์ วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้งหลายให้เข้มแข็งไปด้วย และก็วิทยาศาสตร์พื้นฐานก็เข้มแข็ง เผอิญพระองค์ท่านสิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังเยาว์ ทำให้งานที่ท่านทำยังไม่เสร็จ อาจารย์สตางค์ก็คิดว่าเอาล่ะ จะถือโอกาสในฐานะที่อยู่ในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ที่จะสานต่อเพื่อจะให้สองเรื่องใหญ่ที่ผมจะเล่าต่อไป เรื่องหนึ่งคือการสานต่อเรื่องพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์สำหรับการแพทย์และการสาธารณสุข เรื่องที่สองคือการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์พื้นฐานต่อเนื่องไปสู่การวิจัยพัฒนาและการใช้ประโยชน์ต่อเนื่องไปจนถึงนวัตกรรม ถึงผลิตภัณฑ์ใหม่ บริการใหม่ สองเรื่องนี้ผมจะใช้เวลาที่มี ทีแรกอาจารย์พลังพล (รศ. ดร.พลังพล คงเสรี) บอกให้ผมใช้เวลา 45 นาที เมื่อเช้าเพิ่งมาบอก 2 ชั่วโมงก็ได้ ผมก็อ้าว อุตส่าห์ตัดออกไปตั้งเยอะ เพิ่งมาบอก ผมเคยเผลอไปทีนึง อาจารย์สถิตย์ อาจารย์ประดน ดุผมใหญ่ เคยเผลอทีนึงเล็คเชอร์นักเรียนแพทย์ ไม่รู้รุ่น 3 รึเปล่า รุ่น 3 นี่หลายคน มีอาจารย์บุญเสริม อาจารย์สยมพร (ศ.เกียรติคุณ พญ.สยมพร ศิรินาวิน) ผมเผลอเขาให้ผมเล็คเชอร์ชั่วโมงครึ่ง ผมดันพูดไป 5 ชั่วโมง เลยโดนดุเลย วันนี้ไม่ 5 ชั่วโมงแล้วครับ เดี๋ยวจะลำบากกัน
บรรยากาศห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์
(จากหนังสืออนุสรณ์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 2504)
ส่วนของวิทยาศาสตร์พื้นฐานเพื่อการแพทย์และสาธารณสุข อาจารย์สตางค์บอกง่าย ๆ เลยว่า ตั้งแต่ศิริราชเป็นคณะแพทยศาสตร์เดียวของประเทศนานมาก 55 ปี กว่ามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์จะตั้งคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จำให้ดี ๆ นะ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยลัย ไม่ได้ตั้งในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนะครับ ตั้งในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เป็นคณะแพทย์ที่สอง หลังจากที่แยกออกมาแล้วค่อยมาตั้งคณะแพทยศาสตร์ที่สอง 55 ปี เพิ่งโอนให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตอนที่เปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2512 ฉะนั้น จากคณะแพทย์แรกถึงคณะที่สองใช้เวลา 55 ปี แล้วเราจะสร้างแพทย์ได้ทันได้อย่างไร จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ เป็นคณะแพทย์ที่สาม คณะแพทยศาสตร์ เชียงใหม่ ดีหน่อยคือ 13 ปี อาจารย์สตางค์บอกอย่างนี้ไม่ไหวละ เหตุที่ขยายได้ช้าเพราะหลายเรื่อง เรื่องสำคัญคือขาดครู เพราะแพทย์ไม่อยากไปสอนปรีคลินิก เพราะฉะนั้นอาจารย์สตางค์ก็เลยคิดเรื่องจะสร้างครูปรีคลินิก แล้วก็ขอทุนกลับไปหาร็อคกี้เฟลเลอร์ ตอนนี้ไม่ใช่ จอห์น ดี. แล้วนะ ตอนนี้เป็น Foundation แล้ว ให้ส่งทีมมาช่วย 12 ปี คือการสร้างหลักสูตรวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน 6 สาขา เลยช่วยวิทยาศาสตร์พื้นฐาน มีชีวะ ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ด้วย ก็เลยทำให้มีความตื่นตัว คนที่ท่านส่งไปก็ทยอยกลับมา โครงการสร้างครูแพทย์เริ่มประมาณปี 2507 แล้วก็ทีมร็อคกี้เฟลเลอร์มาประมาณปี 2508 เริ่มต้น 2509 อาจารย์สถิตย์กับอาจารย์ประดนมาปี 2509 ผมกลับมาก็มาคาราวะท่าน ทั้งสองท่านก็เป็นพี่ผมมา อาจารย์สตางค์ใช้วิธีว่าผู้ที่กลับมาแล้วต้องมีผู้ใหญ่มาอยู่ด้วย ก็เลยนิมนต์อาจารย์สถิต อาจารย์ประดน อาจารย์สิรินทร์ แล้วพวกเราก็ทยอยกลับมาเสริมทัพเข้าไป มี Visit Professor จาก Hopkins จากอะไรมาทำหน้าที่เป็นหัวหน้าภาค ยกเว้นพยาธิชีววิทยา ซึ่งอาจารย์ณัฐเป็นหัวหน้าภาค เมื่อทำอย่างนี้ เราก็มีการรับนักศึกษาไม่ว่าจะเป็นแพทย์หรือไม่ใช่แพทย์ก็แล้วแต่ เป็นเภสัชหรือทันตแพทย์ก็ได้ เป็นปรีคลินิกได้หมด และจะมีคนที่เป็นวิทยาศาสตร์พื้นฐานเยอะ เทคนิคการแพทย์ก็เยอะที่มาเรียนเพื่อจะเตรียมตัวไปเป็นครูปรีคลินิก ก้าวนั้นเป็นก้าวที่สำคัญมาก ตอนนั้นที่ทำก็เลยสร้างคณะแพทย์ที่สี่ด้วย คือไหน ๆ มีปรีคลินิกอยู่แล้วก็เลยรับนักเรียนแพทย์เสียเลย เลยมาสร้างโรงพยาบาลข้าง ๆ เป็นผลพลอยได้ ก็เลยมีคณะแพทย์ที่สี่หลังจากคณะแพทย์ที่สามเพียง 7 ปี เห็นว่าจาก 55 13 7 แล้ว 5 กับ 6 ผมเล่าไปแล้วคือขอนแก่นกับสงขลานครินทร์ที่ตามมาติดๆ ระหว่าง 4 5 6 ใช้เวลา 5 ปีเท่านั้น จากนั้นก็มีสถาบันพระบรมราชชนก วิทยาลัยแพทยศาสตร์มงกุฎเกล้า วิทยาลัยแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล กทม. ต่าง ๆ เหล่านี้ก็ตามมาได้โดยไม่ยาก
สำหรับสถาบันพระบรมราชชนก กับ มหาวิทยาลัยรังสิต คณะวิทย์เป็นคนช่วยทำให้ เป็นพี่เลี้ยงให้ รวมทั้งวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ถึงแม้ว่าเตรียมแพทย์จะไปเรียนที่เกษตร แต่ปรีคลินิกเราช่วยแบ็คอัพให้ ผมยังจำได้ตอนผมไปสอนอยู่หลายรุ่น เดี๋ยวนี้ผมยังเป็นกรรมการสภาวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าอยู่ เหลือคนเดียวที่อยู่มาตั้งแต่ต้น 30 กว่าปีเท่านั้นเอง ก็ยังอยู่ เดิมมีอาจารย์อรุณ เผ่าสวัสดิ์ (ศ.เกียรติคุณ นพ.อรุณ เผ่าสวัสดิ์) อยู่ด้วย แต่ท่านเพิ่งลาไปเมื่อปีที่แล้วด้วยเหตุผลทางสุขภาพ อันนี้เล่าให้ฟังว่าจากพื้นฐานที่ทำมาทำให้เราขยายการผลิตแพทย์ จาก Ratio เดิม ประชากร 2-3 หมื่นต่อแพทย์หนึ่งคน ในปี 2501 ที่เราเริ่มต้น เป็นเดี๋ยวนี้อยู่ในระดับสากลแล้ว นี่เป็นเหตุสำคัญที่ทำให้วงการแพทย์ของเรา แพทย์ที่ผมหลายรวมถึงทันตแพทย์ เภสัช เทคนิคการแพทย์ สาธารณสุข ทุก ๆ สาขาทั้งหมด มีพื้นฐานที่เข้มแข็งทางวิทยาศาสตร์ ทำให้เมื่อเราสร้างคนพอแล้วก็สามารถให้บริการได้ทั่วถึง ทำให้เรามีโจทย์ที่สำคัญ ส่วนหนึ่งของคณะแพทยศาสตร์ที่สี่ เป็นหลักสูตรที่อยากจะทำสืบสานต่อปณิธานของพระราชบิดา หลายคนลืมไปว่าระหว่างเรียนแพทย์ท่านเรียนสาธารณสุขด้วยที่ Harvard ท่าน concern กับเรื่องการเสริมสร้างสุขภาพกับการป้องกันโรค ทำให้หลักสูตรของรามาธิบดีมีความแปลกกว่าที่อื่น คือรวมวิทยาศาสตร์พื้นฐานที่เข้มแข็ง รวมส่วนที่จะดูแลป้องกันด้วย หลายคนในที่นี้รุ่นสามหลายคน รุ่นสี่ก็มี เรามี senior thesis ตอนปี 2 3 4 จะทำวิจัยอะไรก็ได้ขึ้นกับอาจารย์สตางค์ที่ชวนให้มาทำวิจัย จำได้ว่ารุ่นสามมีบุญเสริม ถูกหลอกมาจนได้ และก็มีศุภชัย พีระ สง่า พวกนี้เรียนเก่งมาทำ senior project นอกจากนั้นยังทำเรื่องเวชศาสตร์ชุมชนได้ โชคดีตอนนั้นเราเจรจาร็อคกี้เฟลเลอร์ขยายไปอีก แล้วก็พี่น้องตระกูลบุรีที่ต้องเอ่ยถึงคืออาจารย์รจิต บุรี เป็นหัวหน้าภาคอายุรศาสตร์ อาจารย์เปรม บุรี ที่เพิ่งเสียไปไม่กี่เดือนมานี้ตอนท่านอายุ 103 ปี ทั้งสองท่าน เป็นเสรีไทยรุ่นอาจารย์ป๋วย (ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์) ลุงของอาจารย์ยงยุทธ สองท่านนี้ถึงแม้จะเป็นหมอศัลย์กับหมออายุ แต่ทั้งสองท่านสนใจเรื่องเวชศาสตร์ป้องกัน สนใจเรื่องการเสริมสร้างสุขภาพและป้องกันโรค เพราะฉะนั้นนอกจากจะเป็นตัวตั้งตัวตีทำให้พื้นฐานวิทยาศาสตร์ที่เข้มแข็งของรามาธิบดีแล้ว ยังมีความสำนึกต่อชุมชนเป็นพิเศษ จริง ๆ วิทยาศาสตร์ทำให้การเปลี่ยนแปลงในระบบสาธารณสุขไทยเกิดมาจากลูกรักของอาจารย์สตางค์หลายคน เรื่อง 30 บาท ที่นักการเมืองเอาไปพูดที่จริงมาจากหลักการของ Universal Health Coverage ซึ่งคนทำตัวจริงคือ หมอสงวน (นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์) ซึ่งเป็นรุ่น 7 มีคนเสริมคือ สวรส. (สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข) สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ (นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์) เป็นเพื่อนของลูกสาวคนเล็กของอาจารย์สตางค์ เป็นรุ่น 7 เป็นทีมที่ทำเรื่อง Universal Health Coverage ทำเรื่อง สวรส. สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) พวกตระกูล ส ทั้งหลายนี่เป็นศิษย์เก่าเป็นผลจากอันนี้ไปทั้งนั้น ทำให้ไทยมีความแตกต่างในระบบสาธารณสุขที่เราไม่ตามหลังฝรั่ง ฝรั่งโดยเฉพาะอเมริกาใช้ทรัพยากรเกิน 80% ไปกับการป่วยแล้วมารักษา เสียเงินเยอะมาก แต่เราใช้เงินน้อยด้วยการเสริมสร้างสุขภาพและป้องกันโรค ของเรามีพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งตัวตั้งตัวตีก็คือพวกนี้ พวก ส ทั้งหลาย ทำให้เราได้การให้น้ำหนักเรื่องการเสริมสร้างสุขภาพมากกว่า ทำให้เราสามารถใช้ทรัพยากรได้เต็มที่ สามารถเผื่อแผ่ให้บริการคนต่างชาติเข้ามาใช้บริการของเราได้ด้วย อันนี้เป็นจุดที่มาถึงระบบสาธารณสุขไทยทั้งหมด เกี่ยวข้องกับอาจารย์สตางค์ทั้งหมด เหมาไปด้วยเลย ก็เป็นลูกศิษย์ หลานศิษย์ เป็นคนที่ขยายออกไป จากการแก้เรื่องครูปรีคลินิกทำให้ได้ผลออกไปกว้างไกล ผมคิดว่าพวกเราคนไทยควรจะภูมิใจในระบบสุขภาพของไทยที่ไม่ใช่เพียงแต่ให้บริการดี มีคน Take Care ที่ดี โรคซับซ้อนก็ดูแลได้ดีจนคนแห่มาหาเรา แต่ว่าเรายังไม่ลืมรากหญ้า Primary Health ของไทย ก็เป็นเรื่องที่สำคัญที่โดดเด่น เป็นเรื่องที่ทำให้ประเทศไทยมีชื่อเสียงว่าเป็นประเทศที่มีกลไกดูแลปฐมภูมิ เสริมสร้างสุขภาพและป้องกันโรค ไม่ใช่มารอให้เจ็บป่วยแล้วค่อยมารักษา อันนี้เป็นฐานที่อาจารย์เฉลิมชัย อาจารย์สมจิตร อดีตคณบดีทั้งสองท่านกรุณามาให้เกียรติวันนี้ด้วย นอกจากศิษย์เก่าที่ได้ศิษย์เก่าดีเด่นในวันนี้ด้วย ผมขอเรียนอย่างนี้ครับ ผมคิดว่าสมเด็จพระราชบิดา รัชกาลที่ 9 และอาจารย์สตางค์ ถ้าท่านมองเห็นได้คงพอใจที่พวกเราสานต่อมาจนถึงจุดนี้ได้
ส่วนที่ขาด แม้ว่าเราจะเก่งจะดูแลได้ทั่วถึงอย่างไร แต่ว่าเรายังพึ่งการนำเข้าเวชภัณฑ์เกือบหมด 99% อุปกรณ์วัสดุทั้งหลาย 70-80% ต้องนำเข้า อยู่ที่ว่าเราจะมีการวิจัยพัฒนาต่อเนื่องจาก Life Science พื้นฐานที่เข้มแข็งจะออกไปอย่างไร อันนี้เป็นเรื่องที่สอง ส่วนที่สองที่จะเน้นคือวิสัยทัศน์ที่อาจารย์สตางค์ทำ ที่เสริมสร้างปูพื้นฐานวิทยาศาสตร์อย่างไรบ้าง ท่านคอยตะล่อม “นี่ อย่างเธอควรจะไปทำวิจัย อย่ามาเจอะแต่คนปวดหัวตัวร้อนเลย” ก็คือพยายามจะบอกว่าถ้าเผื่อมี Creativity ก็ควรไปในจุดที่สร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ สร้างทฤษฎีใหม่ ความรู้พื้นฐานใหม่ต่อยอดไป ประยุกต์ไปใช้ตามลำดับจนในที่สุดเป็นนวัตกรรม ส่วนนี้เป็นส่วนที่อาจารย์ทำโดดเด่นคือเรื่องของการพัฒนาเด็กที่มีความสามารถพิเศษ ซึ่งเดิมเรามีพวกที่ติดบอร์ดอย่างที่บอก ให้ไปทำวิจัยอยู่ตลอด จนพอเลิกสอบก็ไม่มีติดบอร์ดแล้ว เพราะต่างคนต่างสอบ ก็เลยต้องมีกิมมิคใหม่ มีคนสำคัญในที่นี้คืออาจารย์สิปปนนท์ (ศ. ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต) อาจารย์นิดา (รศ. ดร.นิดา สะเพียรชัย) สร้าง สสวท. (สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ขึ้นมา นอกจากจะทำเรื่องของการพัฒนาการเรียนการสอน สื่อต่าง ๆ เพื่อให้เด็กสนใจวิทยาศาสตร์โดยทั่วไป เด็กที่มีความสามารถก็ทะลุขึ้นมาได้ และส่วนพัฒนา พสวท. (โครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) เข้าใจว่าในนี้มีหลายคน เป็นรุ่นที่ต่อมาที่เราให้เข้ามาตั้งแต่มัธยมแล้วก็ต่อเนื่องไปจนถึงปริญญาโทในประเทศหรือต่างประเทศ พวกเราก็มีส่วนเข้าไปช่วย ผมมีโอกาสเข้าไปเป็นประธานกรรมการ สสวท. ต่อจากอาจารย์สิปปนนท์ ตอนนั้นอาจารย์เริ่มสุขภาพไม่ค่อยดี ผมก็ได้รับมอบหมายให้เป็นประธานต่อจากอาจารย์สิปปนนท์อยู่หลายวาระ อาจารย์ยงยุทธก็ตามมา อีกคนหนึ่งจากคณะวิทย์ ก็คืออาจารย์มนตรี (ศ.เกียรติคุณ ดร.มนตรี จุฬาวัฒนทล) ก็เข้ามาช่วย สสวท. ส่วน พสวท. ก็มีคุณหญิงสุมณฑา (รศ. ดร. คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ) ซึ่งเป็นศิษย์เก่าเราด้วย ก็มาช่วยจนถึงปัจจุบันยังเป็นกรรมการอำนวยการการสร้างผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ ผมก็อยู่ในชุดนี้ด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธานของชุดนี้ แต่มักจะให้รองนายกฯ ดูแล ที่จริงผมเพิ่งจะได้รับแบบฟอร์มให้ผมเซ็นว่าจะเข้าไปเป็นชุดเดียวกันใหม่อีกครั้งหนึ่งในรัฐบาลใหม่ ผมก็เซ็นไปแล้ว ก็คิดว่าจะช่วย พสวท. ต่อไปอีกซัก 30 กว่าปี เผอิญผมมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำ Master Plan วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีด้วย พสวท. ร่วมกับ สวทช. และหน่วยงานอื่น ๆ ที่ล้วนแต่รวมคนเข้ามาอยู่ใน Plan เดียวกันหมด ซึ่งคณะรัฐมนตรีอนุมัติตั้งแต่ 8 ปีที่แล้ว ซึ่งเราก็สานต่อและร่วมมือกันระหว่างองค์กรทั้งหลายเพื่อที่จะสร้างคนรุ่นต่อไปที่เข้มแข็ง อีกอย่างที่เขาให้ผมทำคือเป็นประธานหลังสำเร็จ คือเรียนกลับมาแล้วจะทำอย่างไร จะลงที่ไหน อย่างไร มีชุดอนุที่ดูเรื่องนี้ สมมุติว่าผมถูกอุปโลกน์เป็นประธานก็ 20 กว่าปี คงจะยินดีทำถ้าเขาให้ทำ ถ้าไม่ให้ทำก็คงให้คนอื่นช่วยทำต่อแล้วกัน
อย่างไรก็ตามส่วนนี้เป็นส่วนที่ผมคิดว่าสำคัญมากและเราเพิ่มทำบางอย่าง คือเดิมเราให้คนสำเร็จไปบรรจุได้เฉพาะส่วนราชการ เพิ่งเปลี่ยนเงื่อนไขทำให้เราสามารถคัดกรองหน่วยงานเอกชนที่มีการวิจัยพัฒนา ทุ่มเทเรื่องการวิจัยพัฒนาอย่างจริงจังให้สามารถรับคนของ พสวท. เข้าไปใช้ทุนได้ เพิ่งทำสำเร็จมา 3 ปี ทำให้เราเริ่มมีคนไปที่ ปตท. ที่อาจารย์พิมพ์ใจ (ศ. ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น) ไปอยู่ที่ VISTEC แล้วก็มีที่มหาวิทยาลัยเอกชน เช่น มหาวิทยาลัยรังสิต เริ่มรับคนระดับนี้เข้าไป แต่เราต้องตอบให้ดีว่าให้ไปทำวิจัยไม่ใช่ให้ไปนั่งโต๊ะ เริ่มเป็น Dimension ใหม่ที่เชื่อมต่อไป ที่สำคัญอีกส่วนนอกเหนือจากการสร้างคนที่อาจารย์สตางค์เน้น คือเมื่อมีคนแล้วองค์กรก็ต้องมีความพร้อม อาจารย์สตางค์จึงได้ขอใช้คำว่า ‘วิ่งเต้น’ ให้งบประมาณมาทำตึกเอย ครุภัณฑ์เอย ที่ร็อคกี้เฟลเลอร์ให้มาอีกหลายอย่าง พอสิ้นอาจารย์ไปเราก็ต้องไปขวนขวาย บังเอิญโชคดีที่เรามีโครงการ ADB (The Asian Development Bank) โครงการ World Bank อาจารย์ยงยุทธคงจะจำได้ พอดีตอนที่ผมเป็นประธานที่ประชุมคณบดีคณะวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ร่วมกับที่ประชุมคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย เพื่อนสนิทผมที่กรุงเทพคริสเตียนด้วยกันคือ ธัชชัย (รศ.ธัชชัย สุมิตร) ร่วมกันทำเรื่องโครงการ ADB กับ World Bank ทำให้เราได้เงิน Support มาส่วนหนึ่ง ขณะเดียวกันมันมีเรื่อง International Networking เรื่องไทย-ญี่ปุ่น ที่เกิดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว กว้างไกลและยาวนาน เริ่มจากโครงการที่รัฐบาลญี่ปุ่นเสนอต่อยูเนสโกให้สร้างความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน โดยยกสองสาขา คือ จุลชีววิทยา กับ เคมี ในปี 2516 ผมเป็นหัวหน้าภาควิชาใหม่ ๆ เพราะร็อคกี้เฟลเลอร์จะกลับ อาจารย์สถิตย์ก็ไปเป็นรองคณบดีช่วยอาจารย์กำจร (ศ. ดร.กำจร มนุญปิจุ) ตอนนั้นมีรองคณบดีคนเดียวนะครับ ไม่ได้มีหลายคน อาจารย์ประดนก็เป็นผู้ช่วยคณบดีฝ่ายดูแลนักศึกษา ผมเลยถูกอุปโลกน์ขึ้นมาเป็นหัวหน้าภาค เลยอยู่มา 14 ปี ตอนนั้นเริ่มต้นให้ผมเป็นผู้แทนไทยสาขาจุลชีววิทยา ให้อาจารย์สันต์ เตชะกัมพุช (ดร.สันต์ เตชะกัมพุช) เป็นผู้แทนไทยสาขาเคมีไปร่วมประชุมกับยูเนสโกเพื่อก่อตั้ง Network นี้ ก็ประสบความสำเร็จจนปีต่อมาเราก็เริ่มต้น Network ขึ้นมา ไทยได้เป็น Headquarters ผมเป็นเลขาธิการของเครือข่ายจุลชีววิทยาของยูเนสโก เลยทำให้ประสานกับสิบกว่าประเทศในภูมิภาคนี้ อันนั้นมีแต่การฝึกอบรม Training Course หลักสูตรระยะสั้นต่าง ๆ ไม่มีอะไรเป็นเนื้อเป็นหนัง แต่สิ่งที่เป็นเนื้อเป็นหนังต่อมาก็คือฝ่ายญี่ปุ่นที่เป็นเจ้าของเงิน JSPS (Japan Society for the Promotion of Science) คือกลุ่มโอซาก้า หลายคนอาจจะจำได้ อาจารย์ Takushi อาจารย์ Okada ตั้งมา 50 ปีแล้ว ทำให้เราต่อเนื่องจากยูเนสโก ใช้เงิน JSPS ผมยังจำได้ว่าได้เดินทางไปพร้อมกับอาจารย์สง่า สรรพศรี (ศ. ดร.สง่า สรรพศรี) เลขาธิการสภาวิจัยแห่งชาติ และอาจารย์วิจิตร ศรีสะอ้าน (ศ.วิจิตร ศรีสอ้าน) ปลัดทบวงในตอนนั้น ไปเพื่อทำข้อตกลง NRCT-JSPS เพื่อโครงการไทย-ญี่ปุ่น 7 สาขา รวมทั้ง Microbial Biotechnology แพทย์และสาขาอื่น ๆ นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งจากเครือข่ายที่ทำให้เราได้มีวงที่ประสานติดต่อในภูมิภาค
ไม่นานหลังจากนั้น คือปี 2516 ปี 2517 มีมติของที่ประชุม ICRO International Cell Research Organization ขอให้มหิดล ขอให้ไทยเป็นเจ้าภาพจัด Global Impacts of Applied Microbiology ในปี 2520 ทำให้อาจารย์ประดน อาจารย์สถิตย์พลอยเหนื่อยไปด้วย แต่นั่นเป็นครั้งแรกที่เราจัดประชุมวิชาการระดับโลก คือมาจากทุกทวีป 700 กว่าคน ไม่รู้ตอนนั้นถึงร้อยประเทศหรือเปล่า มาเป็นมหกรรม กว่าจะจัดได้ก็เหนื่อยแทบแย่ ที่สำคัญคือ Proceeding กว่าจะออกมาได้เกือบตายเหมือนกัน นี่ก็ทำให้เรามีเครือข่ายกว้างขึ้น ส่วนที่อาจารย์สตางค์ก่อนที่ท่านจะเสียท่านเดินทางไปประสานกับทางญี่ปุ่น เพราะการที่เราติดต่อไปทางญี่ปุ่นเพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรายังสานต่อที่อาจารย์ได้เริ่มไว้ อย่าลืมว่า Global Impacts of Applied Microbiology เป็นจุลชีววิทยาที่ไม่เหมือนกับที่ร็อคกี้เฟลเลอร์มาเตรียมให้เรา เรามุ่งไปทางปรีคลินิก มุ่งไปทางโรคติดเชื้อ ภูมิคุ้มกัน Host Parasite Relationship แต่ว่า Applied Microbiology ทำให้เราเปิดหูเปิดตาเป็นจุดที่ทำให้เราเริ่มขยาย ระหว่างนั้นเราก็ได้อาจารย์อมเรศ (ศ.เกียรติคุณ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน) กลับมา อาจารย์วิทยา (?) กลับมา ก็เริ่มต้นขยาย อาจารย์ภิญโญ (รศ.ภิญโญ พานิชพันธ์) ก็มาช่วยทาง Enzyme Technology ไปเป็นโครงการเทคโนโลยีชีวภาพสหสาขา หลายภาควิชามาช่วยกัน แต่มีคนอยากให้แยกเป็นภาควิชา ในที่สุดก็แยกเป็นภาค พอแยกเป็นภาคก็เลยทำให้เป็นอีก Column หนึ่ง เชื่อมต่อไม่ค่อยได้แล้ว อย่างไรก็ตามมีความเจริญในตัวเอง ทำให้เรามีความเข้มแข็งทาง Process Engineering ขึ้นมาระดับหนึ่ง ด้วยเหตุนี้เองใน 3 ปีต่อจากนั้น UNIDO (United Nations Industrial Development Organization) มีดำริจัดตั้ง The National Center for Genetic Engineering and Biotechnology ก่อนถึงตอนนั้นมีการตั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์หลังจากที่เมื่อกี้เล่าถึงอาจารย์สิปปนนท์ซึ่งหลังจากอาจารย์สตางค์ก็เป็นผู้นำสายวิทยาศาสตร์กับอาจารย์สง่า ทำเรื่อง Science Policy พวกเราหลายคนก็เข้าไปช่วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจารย์ยงยุทธ อาจารย์สิรินทร์ (ศ. ดร.สิรินทร์ พิบูลนิยม) เมื่อถึงเวลาอันเหมาะสมเราก็ตั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์ มีอาจารย์ชุบ (ศ. ดร.ชุบ กาญจนประกร) มาเป็นประธานร่าง พ.ร.บ.ตั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์ ทั้งหมดกรรมการ 13 คน มีคนคณะวิทย์ 3 คน มีอาจารย์ยงยุทธ อาจารย์สิรินทร์ กับผม เผอิญก็เป็นสามคนที่อายุยืนที่สุด เพราะที่เหลือนี่หลายท่านก็ไปแล้ว คืออาจารย์สง่า อาจารย์วทัญญู ผู้ใหญ่ในตอนนั้น พวกเราถือได้ว่ามีส่วนช่วยในการตั้ง พอมาถึง UNIDO จะตั้งกระทรวงวิทย์เป็นตัวตั้งตัวตีที่จะเสนอไทยเป็นที่ตั้งและเสนอมหิดลเป็นที่ตั้งของศูนย์นานาชาติ เราผ่าน Review Group Short List 1 ใน 3 ก็มีไทย อินเดีย อิตาลี Review Group นี่ทบทวนดูแล้วบอกว่าแม้ว่าเรายังใหม่กว่าอินเดียและอิตาลี แต่เรามีศักยภาพที่จะเป็นที่ตั้งได้ดีกว่า แต่ Report อันนี้ไม่ได้เข้าไปถึงที่ประชุม เพราะว่ามีมหาอำนาจของกลุ่ม 77 คือ มาดามอินทิรา ขอโทษที่เอ่ยชื่อท่าน ท่านใช้วิธีล็อบบี้ให้ลงมติให้เลือกอินเดียบวกอิตาลีคู่กัน ทำให้ขากลับมาจากการประชุม อาจารย์ยงยุทธกับผมได้รับมอบหมายจาก ท่านรัฐมนตรีดำรง ลัทธพิพัฒน์ ให้ร่างการตั้ง The National Center for Genetic Engineering and Biotechnology ซึ่งเป็นหน่วยแรกของ สวทช. ต่อมาก็กลายเป็น สวทช. นี่คือความเป็นมาที่ทำให้แทนที่เราจะได้ทุน เราก็ใช้ทุนที่เราเตรียมไว้ทำ National Center for Biotech แล้วก็ สวทช. ขึ้นมาในลำดับต่อมา
เรื่องทั้งหมดคือเรื่องที่ต่อเนื่องกันมาที่ผมอยากจะเล่าว่านอกจากคน นอกจาก Infrastructure แล้ว ยังต้องมี Ecosystem ที่อาจารย์มองเห็นว่ามันต้องทำเพื่อให้ต่อเนื่องไป ซึ่งเราก็ทำ เรามี สวทช. เติบใหญ่ขึ้นมา มามีปฏิวัติอีกครั้งหนึ่ง มี สนช. เราก็ตั้ง สวทน. (สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ) ขึ้นมาอีก ดูแลเรื่องนโยบายวิทยาศาสตร์ ผมก็ช่วยตั้ง TCELS (ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์: Thailand Center of Excellence for Life Sciences) ที่จะช่วยทำ Ecosystem ให้งานวิจัยพื้นฐานต่อเนื่องไปทะลุถึงนวัตกรรม ขอเน้นว่านวัตกรรมก็เหมือนผลไม้หรือดอกไม้ที่ได้ ไม่ได้มาจากกระบอก แต่ต้องมาจากลำต้นที่เข้มแข็งคือวิทยาศาสตร์พื้นฐานที่จะทำให้มีกิ่งก้านที่เข้มแข็ง จึงจะมีดอกและผลได้ ผมพูดบ่อยครั้งเสียจนอาจารย์พลังพลเอาไปนินทาแล้ว ไม่เป็นไร นินทาต่อหน้าได้ ส่วนนี้เป็นส่วนที่เราโชคดีที่นักการเมืองที่ผ่านมาฟังเราพอสมควร ผมว่าผู้นำทางวิทยาศาสตร์ในยุคต่อไปควรจะอยู่ในฐานะที่จะสั่งสอนนักการเมืองให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ไม่ใช่ไปทำตาม ไม่ใช่มาบอกว่าไปห้างไม่ไปหิ้ง เหมือนกับว่าบนหิ้งจะมีอะไร ถ้าเกิดมีก็ทะลุไปแล้ว ไม่มีอยู่เฉยหรอก ต้องทำให้ทะลุ ข้อสำคัญคือต้องทำ Ecosystem ให้สมบูรณ์ เรามีครูผู้ได้รับรางวัลวันนี้ทำ Infrastructure ให้หลายอย่าง WHA ก็เป็นหน่วยที่เอื้ออำนวย เป็นส่วนสำคัญของ Ecosystem ที่เรากำลังพูดถึง อยากจะขอให้อยู่ในระดับนี้ กลับมาช่วยวิทยาศาสตร์พื้นฐานบ้าง ที่เราให้ทะลุยาก เริ่มตั้งแต่สมัยที่เราเริ่มต้นปี 2501 ปี 2511 เอกชนภาคการผลิตและบริการ ทั้งหมดพึ่ง Turn Key Technology จากต่างประเทศ เพราะเขาหวังพึ่งความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยและงานวิจัยภายในประเทศได้ยาก เพราะไม่เข้าใจกัน เขาจึงไปซื้อเทคโนโลยีข้างนอก ซึ่งขณะนี้เราเปลี่ยน บรรยากาศพร้อมทุกอย่าง เรามีบริษัทไทยที่อยู่ในระดับโลก SCG ปตท. ซึ่งใหญ่เกินกว่าจะพึ่งพาเทคโนโลยีจากคนอื่น จำเป็นต้องสร้างเทคโนโลยีเอง เป็นเหตุให้ ปตท. สร้างหน่วยงานวิจัยอย่างจริงจัง ฉะนั้นตอนนี้ Ecosystem เกือบจะลงตัวแล้ว ขอให้นักวิทยาศาสตร์อดทนนิดนึง ต้องเชื่อมต่อให้ได้ การ Communicate ระหว่างนักวิทยาศาสตร์พื้นฐานในมหาวิทยาลัยกับคนข้างนอก เริ่มเข้าสู่ Channel ที่ทะลุไปได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น สวทช. สวทน. ซึ่งตอนนี้ปรับเปลี่ยนองค์กรไปหมด เป็นกระทรวงใหม่แล้ว เป็นส่วนที่จะทำให้เรามี Channel Communication และมีสมาคมต่าง ๆ ที่ช่วยสานต่อ ผมว่าเรากำลังจะเข้ายุคที่จะเริ่มต้นเห็น Innovation เริ่มเห็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ตอนช่วงโควิดนี่เห็นได้ชัดว่าใครบ้างที่มี Innovation ผมคิดว่าหน่วยของเราในคณะวิทยาศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยมหิดล และเพื่อน ๆ ในมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ก็มีส่วนที่จะช่วยกันทำได้ ผมคิดว่าถ้าอาจารย์สตางค์ มองลงมา หรือว่าทูลกระหม่อมแดง (สมเด็จพระบรมราชชนก) ทอดพระเนตรลงมา คงจะมีพึงพอใจถึงระดับหนึ่ง ขอฝากคนรุ่นต่อไปที่จะสานต่อ
คุณลักษณะพิเศษของอาจารย์สตางค์ คือเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที เคารพครูของท่านทุก ๆ คน สำนึกในบุญคุณของแผ่นดิน สำนึกในพระคุณของสมเด็จพระราชบิดา สานต่อพระราชปณิธาน เสียดายที่ท่านอายุสั้นไปหน่อย หลายคนในที่นี้ล้วนแต่ร่วมสานต่อปณิธานของทั้งสองท่านที่พูดถึงต่อเนื่องมาก ผมเองมีความภูมิใจที่มีโอกาสที่ได้สานต่อ มีความพอใจและภูมิใจมากที่ได้อยู่ช่วยภาควิชาให้เข้มแข็ง มีส่วนทำให้คณะวิทยาศาสตร์เข้มแข็ง มีโอกาสช่วยมหาวิทยาลัยให้ขยายไปสู่สาขาอื่นที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์การแพทย์ มีโอกาสได้ทำงานร่วมกับเพื่อน ๆ ในมหาวิทยาลัยอื่น ซึ่งผมภูมิใจมาก บ่ายวันนี้ผมยังมีประชุมกับอาจารย์สุรพล (ศ.สุรพล นิติไกรพจน์) เรื่องธุรกิจเอกชนซึ่งเรากำลังช่วยกันทำอยู่ ยังพบอาจารย์ธีระ (ศ.ธีระ สูตะบุตร) ปีละประมาณสิบครั้ง ช่วยกันที่มหาวิทยาลัยรังสิตเสียส่วนใหญ่ พบอาจารย์ธัชชัย สุมิตร อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไพรัช ธัชยพงษ์ (ศ. ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์) ยังประชุมด้วยกันปีละประมาณ 15 ครั้ง ผมมีความภูมิใจที่ได้ทำงานร่วมกับเพื่อน ๆ ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ร่วมกันทำให้ส่วนรวมก้าวไปข้างหน้า และยังมีส่วนในการช่วยก่อตั้งหรือสานต่อหน่วยงานต่าง ๆ ในกระทรวงต่าง ๆ วันนี้เจออาจารย์ยงยุทธที่เกี่ยวข้องกับยูเนสโกอยู่ปีละหลายครั้ง ผมภูมิใจและขอบคุณที่ให้โอกาสผมได้มาพูดในวันนี้
ที่ผมภูมิใจที่สุดอยู่เรื่องหนึ่งคือลูกทั้งสองคนของผมคงคิดว่าชีวิตผมไม่เลวนัก ก็เลยเลือกมาเป็นนักวิชาการต่อจากผม และหลานแท้ ๆ ลูกพี่สาวผมก็ทุ่มเทอยู่ที่นี่ ตวงพร (รศ. ดร.ตวงพร สุทธิพงษ์ชัย) เขาบอกว่าเกษียณแล้ว ทำไมน้ายังไม่เกษียณ ผมก็เลยภูมิใจเป็นพิเศษที่มีโอกาสทำงานแล้วยังชักชวนลูกหลานมาช่วย เขาเคยบอกว่าป๋านี่ทาบอาจารย์สตางค์ไม่ติดเลย อาจารย์สตางค์ใช้เวลา 13 ปี ชวนคนมาได้ 81 คน ป๋าใช้เวลา 55 ปี ชวนมาได้แต่ลูก ที่จริงก็ชวนมาได้เช่น หมอประสิทธิ์ (ศ. นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์) หมออรุณี (รศ. พญ.อรุณี ธิติธัญญานนท์) คือไม่เคยคิดจะทาบอาจารย์สตางค์ได้เลย แค่นี้ก็บุญแล้วที่ทำมาได้ ก็อยากจะทำต่อไปซัก 55 ปี อาจจะพอวัดกับ 13 ปีของอาจารย์สตางค์ได้ ขอบคุณมากครับ
- ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล