เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
สุพรรณหงส์ หรือ สุวรรณหงส์ เป็นชื่อเรือพระที่นั่งลำหนึ่งในกระบวนเรือพระราชพิธี หรือ กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งเป็นกระบวนเรือในการเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำของพระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา ชื่อเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ปรากฏครั้งแรกในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พ.ศ. ๒๐๙๑ ครั้งนั้นมีชื่อว่า เรือพระที่นั่งชัยสุพรรณหงส์ จากพงศาวดารกล่าวว่าเป็นเรือพระที่นั่งที่ขุนพิเรนทรเทพได้จัดส่งไปเพื่ออัญเชิญพระเฑียรราชาซึ่งขณะนั้นทรงผนวชอยู่ที่วัดราชประดิษฐาน ทูลอาราธนาให้ทรงลาผนวชขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ต่อมาปรากฏชื่อเรือพระที่นั่งนี้อีกในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่ชื่อเรือเปลี่ยนไปเป็น เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์
บทเห่เรือพระนิพนธ์ของเจ้าธรรมาธิเบศร์ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ทำให้ชื่อเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายว่าเป็นเรือพระที่นั่งลำหนึ่งในกระบวนพระยุหยาตราที่สมเด็จพระเจ้าบรมโกศเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท และเรียกชื่อว่า เรือพระที่นั่งสุวรรณหงส์ ดังความว่า
- สุวรรณหงส์ทรงพู่ห้อย
- งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์
- เพียงหงส์ทรงพรหมินทร์
- ลินลาศเลื่อนเดือนตาชม
อย่างไรก็ดี เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ในสมัยรัตนโกสินทร์ บางครั้งเปลี่ยนจากเรือพระที่นั่งศรี เป็นเรือพระที่นั่งไชย โดยจัดเป็นเรือพระที่นั่งลำทรง เรือพระที่นั่งรองสลับเปลี่ยนกับเรือเหราข้ามสมุทรคือ ถ้าใช้เรือพระที่นั่งไชยสุพรรณหงส์เป็นเรือพระที่นั่งลำทรง ก็จะใช้เรือเหราข้ามสมุทรเป็นเรือพระที่นั่งรอง ซึ่งการใช้พายในเรือพระที่นั่งรองจะใช้พายทองร่องชาด ส่วนเรือพระที่นั่งลำทรงใช้พายทองในพิธีลอยพระประทีป ตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้ใช้เรือรูปสัตว์แต่งเป็นกระทงหลวง ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้ใช้เรืออนันตาคราชและเรือชัยแต่งแทนกระทงใหญ่สองลำ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ ส่วนเรือชัยตั้งพานพุ่ม ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้ใช้เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์แต่งแทนกระทงหลวงตั้งพานพุ่ม
ลวดลายไม้จำหลักลายก้านขดนกคาบบนตัวเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปรากฏชื่อเรือพระราชพิธีในกระบวนพยุหยาตราชลมารค ๖๗ ลำ และชื่อเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ ปรากฏอยู่ด้วยลำหนึ่ง กล่าวว่าเป็นเรือพระที่นั่งที่มีโขนเรือ (ศีรษะ) เป็นรูปหงส์ ตกแต่งด้วยสีทอง บนพื้นเรือสีดำ ขนาดเรือยาว ๑๘ วา กว้าง ๕ ศอก ๒ คืบ ๖ นิ้ว ลึก ๑ ศอก ๗ นิ้ว กำลัง ๗ ศอก
จากลิลิตพยุหยาตราเพชรพวง ของ เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ซึ่งแต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๐ ปรากฏชื่อเรือพระที่นั่งรองลำหนึ่งในกลุ่มเรือพระที่นั่ง ๓ ลำ ได้แก่ เรือพระที่นั่งเหมพิมานบรรยงก์ เป็นเรือพระที่นั่งลำทรง เรือพระที่นั่งไกรสรมุข และ เรือพระที่นั่งศรีสุวรรณหงส์ สองลำนี้เป็นเรือพระที่นั่งรอง ในลิลิตพยุหยาตราเพชรพวง พรรณนาความงามของเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ไว้ว่า
- สุพรรณหงส์เหินเห็จฟ้า ชมสินธุ์
- ดุจพ่าห์พรหมินบิน ฟ่องฟ้อง
- จตุรมุจพิมานอินทร์ อรอาสน์
- เป็นที่นั่งรองร้อน ทุเรศร้างวังเวง
เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ เป็นเรือสำคัญลำหนึ่งมาตลอดจนเสื่อมสภาพและปลดระวางเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ กล่าวได้ว่าได้เป็นต้นแบบของเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลำปัจจุบันซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พลเรือตรี พระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) เป็นสถาปนิกต่อเรือนี้และโปรดเกล้าฯ ให้เรียกนามเรือว่า สุพรรณหงส์
เรื่อพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลำปัจจุบันประกอบพิธีลงน้ำเมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๕๔ น้ำหนัก ๑๕.๖ ตัน กว้าง ๓.๑๕ เมตร ยาว ๔๔.๗๐ เมตร ลึก ๐.๙๐ เมตร กินน้ำลึก ๐.๔๑ เมตร ฝีพาย ๕๐ นาย นายท้าย ๒ นาย นายเรือ ๒ นาย พายที่ใช้เป็นพายทอง พลพายจะพายท่านกบิน และถือธรรมเนียมว่าถ้าจะเปลี่ยนท่าพายเป็นพายธรรมดาหรือพายกระเดือด จะต้องรับพระราชทานพระบรมราชานุญาตเสียก่อนจึงจะเปลี่ยนท่าพายได้
กล่าวได้ว่าเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ได้รับการบูรณะซ่อมแซมตลอดมา โดยความร่วมมือกันระหว่างกองทัพเรือกับกรมศิลปากร เท่าที่มีหลักฐานในการซ่อมแซมครั้งสำคัญ ซึ่งเป็นการซ่อมใหญ่ตั้งแต่เปลี่ยนไม้ตัวเรือ ตอกหมัน และเขียนซ่อมลายลงรักปิดทองหลายครั้ง ดังนี้
- - พ.ศ. ๒๕๑๐ ซ่อมเพื่อใช้ชั่วคราวให้ทันใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยให้แล้วเสร็จภายในวันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๐
- - พ.ศ. ๒๕๑๒ ซ่อมใหญ่ โดยซ่อมทำตัวเรือใหม่ทั้งมด ตั้งแต่วันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๒ ถึงวันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ ต่อจากนั้นมีการเขียนซ่อมลวดลายเรือและเครื่องตกแต่งประกอบเรือ ตั้งแต่วันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ ถึงวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๕
- - พ.ศ. ๒๕๒๔ ซ่อมใหญ่ เปลี่ยนไม้ตัวเรือที่ผุชำรุดบางส่วน ตกแต่งลวดลายลงรักปิดทอง ทาสีเรือใหม่ เพื่อให้ทันใช้งานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี ในวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๕ เริ่มซ่อมแซมตั้งแต่วันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๔ ถึงวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๒๕
- - พ.ศ. ๒๕๓๐ ซ่อมเปลี่ยนตัวไม้ที่ผุ ตอกหมัน ตกแต่งลวดลายลงรักปิดทอง ทาสีเรือใหม่ ตั้งแต่วันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๐ ถึงวันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๐
- - พ.ศ. ๒๕๓๙ ซ่อมตัวเรือ ตอกหมัน ตกแต่งลายกระจังที่ตัวเรือและพระแท่นกัญญา ตกแต่ง จัดทำรูปเทพนมโลหะประดับฐานบุษบกเตียงลา ๒ ตัว แกะสลักนาคปักประดับหลังคาบุษบก ๕ ตัว ซ่อมแซมและแกะสลักสาหร่ายประดับเสา ๔ ต้น เสริมความมั่นคง เพื่อให้ทันงานพระราชพิธีกาญจนาภิเษก และเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยซ่อมแซมตั้งแต่วันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๙ ถึงวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๙
- - พ.ศ. ๒๕๕๒ ซ่อมแซมลายรดน้ำ ลงรักปิดทองทั้งลำ ซ่อมกระจกปิดทอง ประดับกระจกปิดทองที่ฐานบัลลังก์กัญญา ตกแต่งติดผ้าม่านเรือและปูลาดพรมภายในบัลลังก์กัญญาใหม่ เริ่มดำเนินการวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๒ โดยห้างหุ้นส่วนจำกัด ปวช ลิขิตการสร้าง
- - พ.ศ. ๒๕๕๔ แกะสลักโขนเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ที่ชำรุด ซ่อมลวดลายแกะสลักส่วนที่ชำรุด ซ่อมปิดทองประดับกระจกใหม่ เสริมความแข็งแรง ลวดลายประกอบต่างๆ ของพระแท่นบัลลังก์กัญญา
- - พ.ศ. ๒๕๖๖ ตอกหมัน ซ่อมแซม ประดับตกแต่งตัวเรือ เพื่อใช้งานพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร กำหนดจัดให้มีขึ้นในวันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๗
ภาพเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ หลังธนบัตรราคา ๑๐๐ บาท นำออกใช้เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๑
การจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีทั้งสิ้น ๑๗ ครั้ง ดังนี้
- ๑. กระบวนพยุหยาตราชลมารคในการฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ เรียกว่า “กระบวนพุทธยาตรา” เพราะเป็นกระบวนเรือพระราชพิธีอัญเชิญพระพุทธรูป พระไตรปิฎก และพระสงฆ์แห่ไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา
- ๒. กระบวนพยุหยาตรา (น้อย) ชลมารค ในการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๒ ด้วยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริที่จะฟื้นฟูพระราชประเพณีการเสด็จถวายผ้าพระกฐินโดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค
- ๓. กระบวนพยุหยาตรา (น้อย) ชลมารค ในการเสด็จพระราชดำเนินในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๔
- ๔. กระบวนพยุหยาตรา (น้อย) ชลมารค ในการเสด็จพระราชดำเนินในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๕
- ๕. กระบวนพยุหยาตรา (น้อย) ชลมารค ในการเสด็จพระราชดำเนินในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๗
- ๖. กระบวนพยุหยาตรา (น้อย) ชลมารค ในการเสด็จพระราชดำเนินในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๘
- ๗. กระบวนพยุหยาตรา (น้อย) ชลมารค ในการเสด็จพระราชดำเนินในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๐
- ๘. กระบวนพยุหยาตรา (ใหญ่) ชลมารค เฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี วันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๕ และวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๕ จัดกระบวนพยุหยาตรา อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์แห่ออกให้ประชาชนสรงน้ำในวันสงกรานต์ เพื่อเป็นสิริมงคล แต่วันที่ ๑๓ เมษายน มิได้อัญเชิญเรือรพะที่นั่งสุพรรณหงส์ออก
- ๙. กระบวนพยุหยาตรา (ใหญ่) ชลมารค ในการเสด็จพระราชดำเนินในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๐
- ๑๐. กระบวนพยุหยาตรา (ใหญ่) ชลมารค ในการเสด็จพระราชดำเนินในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๙
- ๑๑. กระบวนพยุหยาตรา (ใหญ่) ชลมารค ในการเสด็จพระราชดำเนินในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วันที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๒
- ๑๒. กระบวนพยุหยาตราชลมารค (ใหญ่) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๐
- ๑๓. กระบวนพยุหยาตราชลมารค (ใหญ่) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๙
- ๑๔. กระบวนพยุหยาตราชลมารค (ใหญ่) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๒
- ๑๕. กระบวนเรือพระราชพิธี ในการประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือ เอเปค ๒๐๐๓ วันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ (พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มิได้เสด็จโดยกระบวนเรือ)
- ๑๖. กระบวนเรือพระราชพิธี ในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี วันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙ (พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มิได้เสด็จโดยกระบวนเรือ)
- ๑๗. กระบวนพยุหยาตราชลมารค (ใหญ่) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๐
- ๑๘. กระบวนพยุหยาตราชลมารค (ใหญ่) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๕ (เลื่อนการจัดกระบวนจากเดิม วันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เนื่องจากกระแสน้ำที่เพิ่มระดับในแม่น้ำเจ้าพระยาและไหลแรง)
รางวัลเกียรติยศมรดกทางทะเล
นอกจากความงดงามในศิลปกรรมที่ประกอบขึ้นเป็นเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ประกอบกับเป็นเรือที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติไทยแล้ว ยังมีความสำคัญในความเป็นมรดกโลกลำหนึ่งที่แสดงถึงความมีอัจฉริยะในการต่อเรือของช่างไทยในสมัยโบราณ ที่แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ของชาติได้อย่างดียิ่ง นอกจากนี้ยังเป็นงานศิลปกรรมที่รัฐบาลไทยได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญ จึงได้ทะนุบำรุงเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์เป็นอย่างดี จนสามารถนำมาใช้ในพระราชพิธีต่าง ๆ มาจนปัจจุบัน อันถือได้ว่าเป็นการสืบทอดความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในการต่อเรือ การเดินเรือ และการค้าขายทางทะเลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกไกล ซึ่งกำเนิดขึ้นมาเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้ว
หนังสือจากองค์การเรือโลก
แห่งสหราชอาณาจักรมอบรางวัลมรดกทางทะเลแก่เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
เหรียญรางวัลมรดกทางทะเลโลก ประจําปี ค.ศ.๑๙๙๒
ด้วยความสำคัญของเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ องค์การเรือโลกแห่งสหราชอาณาจักรส่งผู้แทนมาพิจารณาเพื่อมอบรางวัลเรือโลกแก่เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ จนกระทั่งวันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๕ (ค.ศ. ๑๙๙๒) คณะกรรมการองค์การ World Ship Trust ประกอบด้วย Mr.Ewen Southby-Tailyour ประธานองค์การเรือโลก Mr.Michael Tynan นักกฎหมายประจำองค์การฯ และ Mr.James Forsythe เดินทางมายังราชอาณาจักรไทยและได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญรางวัลมรดกทางทะเลขององค์การเรือโลก “เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์” The World Ship Trust Maritime Heritage Award “Suphannahong Royal Barge” ประจำปี ค.ศ. ๑๙๙๒ จากนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานเหรียญรางวัลดังกล่าวให้แก นายสุวิชญ์ รัศมิภูติ อธิบดีกรมศิลปากร ในขณะนั้น ซึ่งเป็นกรมที่รับผิดชอบดูแลรักษาเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ปัจจุบันเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์และเหรียญมรดกทางทะเลขององค์การเรือโลก “เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์” จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี คลองบางกอกน้อย นอกจากนี้เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินเบอระ (Duke of Edinburgh) ทรงส่งสาส์นแสดงความยินดีโอกาสที่เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ได้รับรางวัลดังกล่าวด้วย
องค์การเรือโลกแห่งสหราชอาณาจักร เป็นองค์การที่ได้จดทะเบียนเป็นองค์การกุศลอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ (ค.ศ. ๑๙๗๙) มี ดยุกแห่งเอดินเบอระ เป็นองค์อุปถัมภ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและความรู้ของสาธารณชนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเดินเรือ การต่อเรือ ส่งเสริมการทะนุบำรุงรักษาเรือสมัยโบราณที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ทั้งต่อโลกและมนุษยชาติ เพื่อให้เป็นมรดกที่ล้ำค่าที่สาธารณสุขรุ่นหลังจะได้ชื่นชมต่อไป รวมทั้งดำเนินการสำรวจและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเรือต่าง ๆ เพื่อบันทึกไว้เป็นหลักฐานและเป็นประโยชน์ในการทะนุบำรุงเรือนั้น ๆ
องค์การเรือโลกได้เคยมอบรางวัลแก่องค์กร บุคคลและเรือต่าง ๆ แล้ว ๑๒ เหรียญ ที่สำคัญมีเรือวาซา (Wasa) ของสวีเดน เรือแมรี่โรส (Mary Rose) ของสหราชอาณาจักร เรือจิลแลนด์ (Jylland) ของเดนมาร์ก เรือยูเอสเอส คอนสติติวชั่น (USS Constitution) ของสหรัฐอเมริกา และในปีเดียวกับที่มอบเหรียญรางวัลให้แก่เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ของราชอาณาจักรไทย ก็ได้มอลรางวัลให้แก่เรือมิกาซา (Mikasa) ของญี่ปุ่นด้วย
- เรียบเรียงจาก
- ณัฏฐภัทร จันทวิช. (๒๕๔๔). “เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์” ใน สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ คณะอนุกรรมการมรดกของชาติ. มรดกของชาติ เล่มที่ ๑๐. หน้า ๘๐-๘๖. กรุงเทพ : สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ.
- ธนาคารแห่งประเทศไทย. (๒๕๖๒). การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ความภูมิใจของคนไทยทั้งชาติ. ใน พระสยาม BOT Magazine, ๖. หน้า ๔-๙
- พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี. เหรียญรางวัลมรดกทางทะเล. (วันที่สืบค้น : ๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๗)