ของฝากจากอาจารย์ณัฐ
โดย ศ.เกียรติคุณ ดร.ศุภกิจ อังศุภากร
1. การก่อตั้งภาควิชา
อาจารย์ณัฐได้เขียนถึงประวัติศาสตร์การได้มาซึ่งภาควิชาพยาธิชีววิทยา และการตั้งชื่อภาควิชาพยาธิชีววิทยาโดยไว้ดังนี้
"มหาวิทยาลัยมอบหมายให้ผมจัดตั้งภาควิชาพยาธิวิทยาขึ้น ผมได้ให้ความเห็นว่า ภาควิชาพยาธิวิทยาในศาสตร์ของการวินิจฉัย ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการวินิจฉัยความพิการของอวัยวะ ซึ่งเรียกว่าพยาธิวิทยากายวิภาคและการวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งเรียกว่าพยาธิวิทยาคลินิกทั้ง 2 ทางนี้ต้องอยู่ในโรงเรียนแพทย์ แต่วิชาพยาธิวิทยาซึ่งศึกษาความผิดปกติของระบบชีววิทยาของมนุษย์ หรือ ของสัตว์ในระดับเซลล์หรืออวัยวะซึ่งในสถาบันบางแห่งเรียกวิชานี้ว่า Experimental Pathology เป็นวิชาซึ่งประยุกต์วิธีการทางวิทยาศาสตร์จากหลายวิชามาเป็นเครื่องมือ น่าจะจัดตั้งในคณะวิทยาศาสตร์ ต่อมาไม่นาน ผมได้รู้เรื่องกิจการของภาควิชา Pathobiology ที่มหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอพกินส์ ซึ่งมีแนวความคิดตรงกับงานทาง Experimental Pathology แต่ชื่อสื่อความหมายได้ดีกว่าจึงนำชื่อนี้มาใช้แทน"
ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึงบุคคลสำคัญที่มีส่วนในการสนับสนุนให้เกิดภาควิชาพยาธิชีววิทยาเท่าที่ค้นพบมีดังต่อไปนี้
- 1. มีความรู้สูง รู้แจ้งเห็นจริง
- 2. มีมารยาทดี รู้จักสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร
- 3. มีความตั้งใจจริงในการทำงานตามหน้าที่ของตน
- 4. มีสุขภาพดี
- 5. มีศีลธรรมและความยุติธรรมประจำใจ
เข้ารับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตติยะจุลจอมเกล้าวิเศษ
จาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
2. แนวคิดทางพยาธิวิทยา
อาจารย์ณัฐมีความคิดเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างสาขาต่าง ๆ ทางพยาธิให้ดูเข้าใจง่ายสำหรับคนทั่วไปดังต่อไปนี้
"นอกจากภูมิหลังและปัจจุบันต่าง ๆ ที่เป็นสิ่งที่ทำให้ผมเกิดแนวความคิดทางพยาธิชีววิทยาหรือ Experimental Pathology แล้ว ผมเห็นว่าการตั้งภาควิชานี้ขึ้นจะทำให้องค์ประกอบของวิชาพยาธิวิทยาสมบูรณ์ขึ้นคือ ภาควิชาพยาธิชีววิทยาจะสร้างนักวิชาการด้านต่าง ๆ ที่ประเทศไทยต้องการในจำนวนเพิ่มมากขึ้นและควรจะทำงานวิจัยและวิจัยเพื่อพัฒนาในการสร้างความรู้ใหม่เกี่ยวกับความผิดปกติของระบบชีววิทยาของมนุษย์ในสิ่งแวดล้อมของประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น ปัจจัยทางทุโภชนาการ โรคติดเชื้อและพันธุกรรมผิดปกติซึ่งจะแสดงผลกระทบซึ่งกันและกัน และแสดงพยาธิสภาพในลักษณะต่าง ๆ ในเวลาเดียวกันอาจพัฒนาวิธีการทางเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่อาจนำไปใช้กับงานทางพยาธิวิทยาและงานทางพยาธิวิทยาคลินิกได้ นอกจากนั้นวิชาการทางพยาธิวิทยาและพยาธิวิทยาคลินิกอาจจะชี้ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บบางอย่าง ซึ่งเรายังไม่รู้กลไกของการเกิดโรคและยังไม่มีวิธีวินิจฉัย หรือวิเคราะห์ที่ทันต่อเทคโนโลยีก็อาจร่วมกับนักวิชาการทางพยาธิชีววิทยาทำการศึกษาหาความรู้ใหม่ ๆ เพื่อคลี่คลายปัญหาเหล่านี้ได้"
จากซ้าย ศ. นพ.ณัฐ ภมรประวัติ อดีตหัวหน้าภาควิชาพยาธิชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (พ.ศ. 2513-2516)
และอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (พ.ศ. 2522-2534) ศาสตราจารย์ นพ.เฉลิม พรมมาส อดีตผู้บัญชาการมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (พ.ศ. 2488-2500)
และ ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ผู้ก่อตั้งและคณบดีคนแรกของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพนี้บันทึกไว้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2511 ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์
3. แนวคิดในการผลิตบุคลากรของประเทศ
ผมขอนำข้อคิดซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ล่วงหน้ามาหลายสิบปี ซึ่งบังเอิญตรงกับมุมมองของประเทศไทยในปัจจุบันอย่างไม่น่าเชื่อ อาจารย์ณัฐได้กล่าวถึงแนวคิดในการสร้างบุคลากรทางพยาธิชีววิทยา เพื่อนำไปสู่การตรวจสอบความปลอดภัยของสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมภายในประเทศและการส่งออกในกรณี “food safety” ดังต่อไปนี้
"การสร้างผู้ชำนาญด้านการตรวจสอบความปลอดภัยและคุณสมบัติของวัสดุชีวภาพต่าง ๆ รวมถึงวัคซีน และอาหารนั้นมีความสำคัญสำหรับประเทศเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการพูดถึงวิวัฒนาการของประเทศไทยเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งเน้นหนักทางด้านอุตสาหกรรมเกษตร การแข่งขันเรื่องสินค้าออกซึ่งมีลักษณะเป็นยา อาหาร ฯลฯ นั้น ต้องมีความปลอดภัยและมีคุณภาพสูงจึงต้องมีนักวิชาการหลายสาขาร่วมกันทำงาน และต้องมีนักพยาธิชีววิทยาซึ่งมีความรู้ ความชำนาญเกี่ยวกับพยาธิชีววิทยาของสัตว์ทดลอง (Pathology of Laboratory Animal) ร่วมเป็นหลักด้วย นักพยาธิชีววิทยาที่ทำงานประเภทนี้จะมีความสามารถแตกต่างจากพยาธิแพทย์ที่วินิจฉัยโรคของอวัยวะของมนุษย์ในหลักสำคัญกล่าว คือ สามารถศึกษาจากอวัยวะของสัตว์ทดลองจำนวนเป็นร้อยหรือเป็นพันตัวอย่าง อย่างละเอียด เพื่อให้ประเมินความผิดปกติ หรือความพิการอย่างเป็นระบบ"
อาจารย์ณัฐยังได้กล่าวอย่างภูมิใจในตัวบุคลากรของภาควิชาพยาธิชีววิทยาทุกคนว่า
"ภาควิชาพยาธิชีววิทยามีความสามารถด้าน Pathology of laboratory animal อย่างสมบูรณ์โดยนักวิชาการที่มีความสามารถหลายคน และเป็นภาควิชาเดียวในประเทศในเอเชียอาคเนย์ซึ่งมีความสามารถทางด้านนี้และเป็นแห่งเดียวในประเทศไทยด้วย"
4. แนวคิดการผลิตอาจารย์ในภาควิชา
อาจารย์ณัฐมีกรรมวิธีผลิตบุคลากรในภาควิชาพยาธิชีววิทยาเมื่อมหาวิทยาลัยมหิดลมอบหมายให้จัดตั้งขึ้นตามลำดับดังต่อไปนี้
ขั้นที่ 1 : แผนระยะยาว สังเกตได้จากข้อเขียนดังต่อไปนี้
"ภาควิชาพยาธิชีววิทยาได้รับการจัดตั้งเป็นทางการ เมื่อ พ.ศ. 2512 และกลวิธีการพัฒนาภาควิชาที่สำคัญที่สุดคือ การพัฒนาคนที่จะเป็นอาจารย์ของภาควิชา บุคคลที่ผมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นค่อนข้างมากผู้หนึ่งคือ ศาสตราจารย์ประเวศ วะสี ท่านเห็นความสำคัญของการที่จะหาคนที่มีความสามารถมาทำงานทาง Experimental Pathology จึงได้แนะนำแพทย์ที่สำเร็จใหม่จากศิริราช 3 คน ให้มาพบ และผมได้ขอทุนจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ได้ 3 ทุน โดยผ่านทาง ดร.ดินนิ่ง เพื่อให้ไปเรียนปริญญาเอกเพื่อกลับมาเป็นอาจารย์ของภาควิชานี้ ซึ่งทั้ง 3 ท่านนี้ได้จัดให้รับทุนแล้วไปเรียนต่อเลย โดยไม่ได้ทำงานก่อนและข้อตกลงนั้นแม้จะมีการลงนามตามสัญญา แต่ก็เป็นสัญญาเกียรติยศ ไม่เหมือนกับสัญญาการลาไปเรียนต่อของข้าราชการอื่น ๆ"
- สรุปได้ว่า ผู้ได้รับทุนที่อาจารย์ณัฐกล่าวถึง ได้แก่
- 1. รศ. พญ. ดร.วลี หฤษฎางกูร ได้รับทุนเรียนทาง Immunochemistry กับ Professor Dr. Elwin Kabat ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
- 2. รศ. นพ. ดร.ธงธวัช อนุคระหานนท์ ได้รับทุนเรียนทางด้าน Biochemical Pathology กับ Professor Dr. Emanuel Farber ที่มหาวิทยาลัยพิกลเบอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา
- 3. รศ. นพ. ดร.สมพงศ์ สหพงศ์ ได้รับทุนเรียนทาง Cellular Pathology กับ Professor Dr. Benjamin Trump ที่มหาวิทยาลัยดุกช์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
ขั้นที่ 2 : แผนระยะกลาง อาจารย์ณัฐได้วางแผนขั้นต่อมา เพื่อผลิตอาจารย์ทำงานในภาควิชาพยาธิชีววิทยา ในระยะกลาง โดยมุ่งสร้างอาจารย์ระดับปริญญาโททางพยาธิชีววิทยาขึ้นมาเป็นคลื่นลูกที่สองเพื่อรอการกลับมาของคลื่นลูกที่สามที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก โดยอาจารย์ณัฐได้บันทึกอย่างมีเหตุผลไว้ดังนี้
"เมื่ออาจารย์ทั้ง 3 ท่านไปเรียนก็หมายความว่าจะต้องลืมท่านไป 4-5 ปีกว่าจะสำเร็จกลับมา ในระหว่างที่ยังไม่มีคนกลับมารับงานก็ต้องพยายามทำงานไปโดยจัดให้มีโครงการ MS. ทาง Pathobiology โดยจัดให้กับนักศึกษาเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพเช่นเดียวกับนักศึกษาแพทย์ และเรียนวิชาเพิ่มเติมที่สอดคล้องกับสาขาที่นักศึกษาจะทำงานวิจัย ปรากฎว่านักศึกษาที่เข้าเรียนมีผู้ที่สำเร็จสัตวแพทยศาสตรบัณฑิตมากที่สุดและรองลงมาคือ ทันตแพทยศาสตร์บัณฑิต และเภสัชศาสตรบัณฑิต ผู้ที่สำเร็จได้เป็นอาจารย์ที่ภาควิชาพยาธิชีววิทยา และภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีหลายคน และที่สำคัญคือได้เป็นอาจารย์ที่เป็นหลักของภาควิชาพยาธิวิทยาที่โรงเรียนแพทย์ในมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาคแทบทุกแห่ง"
ขั้นที่ 3 : แผนระยะสั้น หากสังเกตให้ดีจะพบว่าระหว่างที่อาจารย์ณัฐจะคิดแผนขั้นที่ 1 และ 2 นั้น อาจารย์ได้ทำแผนระยะสั้น โดยได้เชิญ ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสมเนตร บุญพรรคนาวิก จากคณะเวชศาสตร์เขตร้อนไว้ล่วงหน้า โดยอาจารย์ณัฐได้เขียนความรู้สึกคราวที่ไปพบว่าท่านศาสตราจารย์ ดร. สตางค์ มงคลสุข ด้วยความชื่นชมดังนี้
"ผมจำได้ว่าเมื่อผมเข้าพบกับท่านอาจารย์ ดร.สตางค์ ในฐานะคณบดีเพื่อขออัตรารับโอน ท่านอาจารย์กำลังสูบกล้องพ่นควันเป็นระยะ ๆ ท่านหยุดพ่นควันคาบกล้องมองหน้าผมนิ่งอยู่สักอึดใจหนึ่ง ผมก็นึกในใจว่าคงโดนซักถามเป็นการใหญ่ และกำลังนึกคำตอบเตรียมอยู่ แต่ท่านไม่ถามอะไร ผงกศีรษะตามแบบของท่านแล้วว่า “เอา” ผมคิดว่าหากท่านอาจารย์จะหยั่งทราบโดยญาณวิถีใดก็ตาม ท่านคงจะพอใจว่าอัตราที่ท่านจัดให้ภาควิชาพยาธิชีววิทยาในครั้งนั้น ทำให้ภาควิชาได้มีโอกาสสร้างงานทางอิมมูโนพยาธิวิทยาที่ก้าวหน้าในระดับโลกในหลายทิศทางด้วยกัน"
สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
ทรงเข้าสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต
โดยมี ศ. ดร.ณัฐ ภมรประวัติ เป็นประธานในการสอบ
5. การสร้างแนวร่วม
นอกเหนือจากอาจารย์ณัฐได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มอาจารย์จากภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยโอซาก้า ซึ่งนำโดย Professor Dr.Toru Miyaji คือ Professor Dr.Nobuyuki Ito, Professor Shunzo Onishi, Professor Dr.Masami Sakurai, Professor Dr.Makoto Miyamoto และ Professor Dr.Yoshio Hiasa รวมทั้ง Professor Dr.Paul M. Newberne จากสถาบันเอ็มไอที และพันโท Dr.James B. Moe จากสถาบันวิจัย Walter Reed สหรัฐอเมริกา ฯลฯ ภาควิชาพยาธิชีววิทยายังได้อาจารย์ร่วมสอนนักศึกษาแพทย์และปริญญาโท-เอกจากภาควิชาพยาธิวิทยาคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่อาจารย์ณัฐเป็นผู้ก่อตั้งในเวลาใกล้เคียงกัน (พ.ศ. 2508) เท่าที่สืบค้นชื่อได้ จาก Course Syllabus เก่า ๆ ตั้งแต่อาจารย์ณัฐตั้งภาควิชามาถึงปัจจุบัน ได้แก่
- ศ. นพ. ดร.ณัฐ ภมรประวัติ
- ศ. นพ.วิจิตร บุญพรรคนาวิก
- รศ. นพ. ดร.ชิดพงษ์ ไชยวสุ
- อาจารย์ นพ.สุวรินทร์ ขันธนภา
- รศ. นพ. ดร.ธำรง จิรจริยาเวช
- รศ. พญ.เยาวลักษณ์ บุญปสาท
- ผศ. นพ.พนัส เฉลิมแสนยากร
- ศ. นพ.เบญจะ เพชรคล้าย
- รศ. ดร.ดาวรุ่ง กังวานพงศ์
- ศ. นพ.วรชัย ศิริกุลชยานนท์
- ผศ. นพ.ไพศาล ลีละชัยกุล
- รศ. นพ.มานะ โรจนวุฒนนท์
- พญ. คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์
- ศ. พญ.พิมล เชี่ยวศิลป์
- รศ. นพ.วิวัฒน์วงศ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา
- รศ. พญ. ดร.กิ่งกาญจน์ เลาหทัย
- รศ. พญ.พนิดา ชัยเนตร
- รศ. พญ.อนงค์ นนทสุต
- รศ. นพ.สว่าง เชื้อหิรัญ
- ผศ. นพ.ประวัติ นิธิยานันท์
- รศ. พญ.ยุวดี เลี่ยวไพรัตน์
- ผศ. พญ.ศันสนีย์ วงศ์ไวศยวรรณ
- ผศ. พญ.ประภาศรี บุณยะโรจน์
- ผศ. พญ.พิมพรรณ กิจพ่อค้า
- อาจารย์ นพ. ดร.สุธี ยกส้าน
- ศ. นพ.เดชา ตันไพจิตร
- รศ. นพ.สุขุม บุณยะรัตเวช
6. แนวคิดการผลิตบัณฑิตปริญญาโท-เอก
ในมุมมองของอาจารย์ณัฐ เกี่ยวกับการผลิตนักศึกษาปริญญาโทและเอก ท่านได้เขียนสรุปไว้อย่างกระทัดรัด ดังต่อไปนี้
"ผู้ที่สำเร็จปริญญาโททางพยาธิชีววิทยา ในรุ่นแรกได้เป็นผู้นำทางวิชาการของภาควิชาพยาธิชีววิทยาเอง และภาควิชาพยาธิวิทยาของมหาวิทยาลัยหลายแห่ง โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาคเช่น ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และได้ทำให้การสอนวิชาพยาธิวิทยาและการให้บริการทางพยาธิวิทยาดำเนินไปได้ด้วยดีในสถาบันต่าง ๆ"
บัณฑิตปริญญาโทขณะนี้หลายคนประสบความสำเร็จ และได้ทำหน้าที่ฝ่ายบริหารหรือวิชาการในระดับสูงเช่น เป็นคณบดีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยมหิดล และหลายคนได้เป็นรองคณบดี และหัวหน้าภาควิชาฯ และอีกหลายคนได้ตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์
7. แนวคิดเกี่ยวกับหลักสูตร
อาจารย์ณัฐได้กล่าวคาดการณ์ถึงการเรียนการสอนของภาควิชาพยาธิชีววิทยาที่จะต้องเตรียมเปลี่ยนไปไว้ล่วงหน้าอย่างชัดเจน และได้ปรากฏเป็นจริงในปัจจุบัน กล่าวคือ การเรียนปริญญาโท-เอก ทางด้าน Life Science สาขาต่าง ๆ ในคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รวมทั้งสาขาพยาธิชีววิทยาได้เปลี่ยนวิชาพื้นฐานแบบดั่งเดิมเป็นสากลโดยการเรียนวิชาต่าง ๆ เช่น Molecular Bioscience, Cell Science, Systemic Bioscience... เป็นต้น อาจารย์ณัฐได้เขียนไว้ดังนี้
"ภาควิชาพยาธิชีววิทยาคงจะต้องจัดหลักสูตรพยาธิชีววิทยาหรือพยาธิวิทยาทั่วไป เพื่อให้นักศึกษาปริญญาโทและเอกของภาควิชาเอง และจากภาควิชาอื่นที่สนใจได้เข้าเรียนด้วย เพื่อสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ให้กับนักศึกษาทางพยาธิชีววิทยาและอาจเป็นวิชาเลือกสำหรับนักศึกษาแพทย์ด้วยก็ได้"
อาจารย์ยังได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ด้วยความรู้สึกภูมิใจในภาควิชาพยาธิชีววิทยา ดังต่อไปนี้
"แม้ผมจะพ้นจากการเป็นหัวหน้าภาควิชามาหลายปีแล้ว แต่ผมก็รู้สึกพอใจในวิวัฒนาการของภาควิชาพยาธิชีววิทยาแห่งนี้ ที่ได้ก้าวหน้าต่อไปอย่างมั่นคง และเป็นขุมทรัพยากรบุคคลที่มีค่ายิ่งส่วนหนึ่งของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งคณะฯ เป็นทรัพยากรสำคัญของชาติในด้านวิทยาศาสตร์ในขณะนี้"
8. ความผูกพัน
เป็นธรรมดาของผู้ริเริ่มงานเปรียบดั่งผู้สร้างบ้านอยู่อาศัย เมื่อถึงเวลาอันควรก็ต้องมอบบ้านให้ผู้อื่นดูแลต่อแต่ผู้สร้างก็มักเป็นห่วงบ้านและผู้คนที่อาศัยอยู่ในครอบครัวเดียวกัน ผมมักจะได้รับคำถามจากอาจารย์ณัฐเสมอในโอกาสที่ได้พบท่านอาจารย์ในช่วงหลัง ๆ ปีละครั้งสองครั้ง ดูเหมือนที่แน่นอน ก็คือวันงานที่ท่านอาจารย์กรุณาจัดเลี้ยงให้บุคลากรเก่าๆ ที่ท่านได้รู้จักมักคุ้นเสมอมา ผมขอถ่ายทอดความห่วงใยของท่านตามที่อาจารย์เคยเขียนบันทึกเมื่อปี พ.ศ. 2535 ซึ่งยังดูทันสมัยในปัจจุบันแม้จะผ่านไป 12 ปี
- "หากจะมีผู้ถามถึงทิศทางที่ภาควิชาน่าจะเดินไปในอนาคต ผมก็อาจจะให้ความเห็นในฐานะเป็นบุคคลที่อยู่นอกภาควิชาในขณะนี้ว่าน่าจะมีเรื่องที่สำคัญ
- 1. พยายามรักษาระดับความสามารถในด้านของพยาธิวิทยาของ Experimental laboratory animals ไว้ให้ได้ และพยายามสร้างนักวิชาการพยาธิวิทยาที่จะทำงานนี้ต่อไปเพื่ออนาคต
- 2. พัฒนาความรู้และวิชาการในด้าน Experimental Pathology in infectious disease และ Experimental Toxicopathology ให้ก้าวหน้าต่อไป
- 3. ความรู้ใหม่ที่น่าจะต้องมีนักวิชาการทางด้านนี้เกิดขึ้น คือ ความรู้ที่สามารถผสมผสาน Experimental Toxicopathology เข้ากับวิชา เช่น Industrial Health และ Occupational Health และความรู้ซึ่งเกี่ยวกับ Toxicopathology ที่เกิดจาก Metal poisoning และ Chemical poisoning ที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมเคมีและปิโตรเคมีที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย
- 4. เพิ่มความสนใจและสร้างนักวิชาการที่จะร่วมมือกับนักวิชาการในสาขาอื่นที่มุ่งในการค้นหาผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วยกระบวนการทางชีววิทยาและเทคโนโลยีชีวภาพ หรือวิศวกรรมพันธุศาสตร์ ซึ่งผลิตภัณฑ์ใหม่เหล่านั้นต้องมีการตรวจสอบความปลอดภัยโดยสัตว์ทดลอง
- 5. ปัจจัยสำคัญที่สุด คือการออมชอมและร่วมมือในภาควิชาเพื่อให้ใช้เครื่องมือที่แพงและหายากร่วมกันแลกเปลี่ยนวิชาความรู้ซึ่งกันและกัน ร่วมมือในด้านการสอน การวิจัย และบริการทางวิชาการและสามารถให้อภัยซึ่งกันและกันได้ อย่างน้อยในด้านของการทำงานร่วมกัน"
9. คติธรรมที่อาจารย์ฝากไว้
อาจารย์ณัฐได้ให้คติธรรมไว้กับชาวพยาธิวิทยา ผมขอนำสิ่งที่อาจารย์ได้เขียนเป็นคำนิยมในวาระเกษียณอายุราชการของอาจารย์อาวุโสสี่ท่าน เมื่อปี พ.ศ. 2543 ดังนี้คือ
"สัจจธรรมที่เราอาจเรียนรู้จากการเกษียณอายุราชการของท่านอาจารย์ ทั้ง 4 ท่าน และอาจารย์ท่านอื่นของภาควิชาที่ครบเกษียณอายุไปแล้ว ประการหนึ่ง คือ ความยั่งยืนของตำแหน่งหน้าที่ที่เราปฏิบัติเราเข้ารับหน้าที่วันนี้ เราก็คงจะต้องพ้นจากหน้าที่ของเราในวันหนึ่งข้างหน้าโดยไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ สิ่งที่เราแต่ละคนจะมอบให้เป็นมรดกของหน่วยงานเมื่อเราพ้นหน้าที่ไป คือ ผลงานของแต่ละท่านที่เกิดจากการทำงานด้วยความตั้งใจจริง และในบางครั้ง ด้วยความอดทน และเสียสละเพื่อผสมผสานประโยชน์ของตัวเราเอง และประโยชน์ส่วนรวม และไม่ทำอะไรให้เกิดความเสียหายแตกแยกกับหน่วยงานของเรา ไม่สร้างปัญหาหรือความเสียหายต้องให้มีผู้มาตามแก้ไข"
อาจารย์ทั้งสี่ที่เกษียณราชการจากภาควิชาพยาธิวิทยา ที่อาจารย์ณัฐกล่าวถึง คือ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุขุม บุณยะรัตเวช, รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สว่าง เชื้อหิรัญ, รองศาสตราจารย์ พิศมัย โพธิผละ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์โสภาค โรจนเสถียร
10. สำหรับผู้เขียน
อาจารย์ณัฐ ครูที่เคารพรักผู้จุดประกายแสงสว่างให้ผมและครอบครัวของผมได้มีวันนี้ สิ่งที่ผมได้พบ ได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง ได้สัมผัสและได้เรียนรู้จากอาจารย์ณัฐ ครูที่เคารพรักผู้เป็นอภิชาติบุตรและปราชญ์ในมุมมองของผม อาจารย์เป็นคนดี คนเก่ง เป็นตัวอย่างของนักวิชาการ นักคิด นักบริหาร นักพัฒนาที่ยอดเยี่ยมคนหนึ่งของไทยและองค์การอนามัยโลก ในความเห็นส่วนตัวแล้ว อาจารย์เป็นผู้มีวิสัยทัศน์และนักบูรณาการที่มีความสามารถ อาจารย์อ่านหนังสือได้เร็วมาก คิดเก่งสอน พูดและเขียนเก่ง ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทยหรืออังกฤษ อาจารย์เป็นคนขยันมาก และผมประทับใจมากที่อาจารย์มีความสามารถจำชื่อคนเก่งและแม่นมาก อาจารย์เป็นคนมีน้ำใจและช่วยเหลือเกื้อกูลให้คำปรึกษาดูแลและแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาแทบทุกคนตลอดมา
กล่าวโดยสรุป อาจารย์เป็นผู้รู้กว้างและรู้ลึกซึ้งทางด้านวิชาการทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การเกษตร สังคม และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นที่ยอมรับของนักวิชาการที่มีชื่อเสียงของโลก อาจารย์ชอบและขยันทำงานทางวิชาการอย่างสม่ำเสมอ แม้ในขณะดำรงตำแหน่งและไม่ได้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล หรือแม้อาจารย์จะไม่สบายในบางขณะ ชราและอายุเกือบ 76 ปี อาจารย์เคยบอกว่า
"ชีวิตไม่หยุดอยู่ที่อายุ เมื่อมีกำลังพอที่จะทำได้ เวลาที่ว่างอยู่ก็ควรทำเพื่อก่อประโยชน์แก่สังคมส่วนรวม และได้ทำงานที่อยากทำ" (ไทยรัฐ, เสาร์ที่ 11 มกราคม 2535)
- เรียบเรียงจาก
- ศุภกิจ อังศุภากร. (2547). อาจารย์ณัฐ...ผู้ก่อตั้งภาควิชาพยาธิชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- ใน อนุสรณ์แห่งชีวิต ชีวประวัติและคุณูปการด้านวิชาการของ ศ.เกียรติคุณ นพ. ดร ณัฐ ภมรประวัติ.
- หน้าที่ 325-341. กรุงเทพ : ด่านสุทธาการพิมพ์.