กว่าจะได้เป็นอาจารย์ใหญ่
ผศ.สุเทพ จันทร์ผ่อง
ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
อาชีพแพทย์เป็นอาชีพหนึ่งซึ่งผู้ที่จะประกอบอาชีพนี้จะต้องเรียนรู้ให้เข้าใจลึกซึ้งถึงกลไลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่จำป็นเพาะแต่การรักษาโรค สมมติฐานของโรค หรือการติดเชื้อเท่านั้น ร่างกายของเรามีโครงสร้างเป็นอย่างไรก็มีความจำเป็นไม่น้อยที่จะต้องเรียนรู้ ทั้งนี้เพราะหากนักศึกษาได้เข้าใจโครงสร้างของร่างกายอย่างลึกซึ้งแล้ว มันจะนำไปสู่การเข้าใจการติดเชื้อและอื่น ๆ อีกมากมายได้ ดังนั้น ถ้าหากจะศึกษาโครงร่างของร่างกายให้เข้าใจลึกซึ้งแล้ว คงจะไม่มีอาจารย์ผู้ใดที่สามารถจะอธิบายทุกสิ่งทุกอย่างได้ดีและถูกต้องที่สุดได้เท่าอาจารย์ใหญ่ หรือ อาจารย์นิรนาม เป็นแน่
ในโอกาสที่นักศึกษาจะได้ทำการฌาปนกิจร่างอาจารย์ใหญ่ หรือจากที่ได้ทำการศึกษาเรียบร้อยแล้วในวันนี้ เพื่อที่จะให้นักศึกษาได้ทราบว่าอาจารย์ใหญ่หรืออาจารย์นิรนามที่อุทิศเรือนร่างพื่อการศึกษาแก่พวกเรานั้นเป็นใคร มาจากไหน จึงได้มาเป็นอาจารย์ใหญ่ ตอนที่ผมศึกษากายวิภาคศาสตร์ใหม่ ๆ ผมก็ไม่ทราบเช่นกัน จนกระทั่งได้มาทำการสอนและคลุกคลีอยู่กับอาจารย์ใหญ่ จึงได้ทราบและได้ข้อคิดหลาย ๆ ข้อตามมา
ขอย้อนหลังไปตอนที่เพิ่มเปิดคณะวิทยาศาสตร์ใหม่ ๆ ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ซึ่งสังกัดอยู่กับคณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งทำการสอนเกี่ยวกับโครงร่างของมนุษย์ มีความขัดสนเกี่ยวกับเรือนร่างที่จะมาศึกษามาก เราต้องไปขอความช่วยเหลือจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นเวลา 10 กว่าปี เราจึงสามารถที่จะเก็บรวบรวมเรือนร่างที่มาใช้ประกอบการเรียนได้เพียงพอ (ประมาณ 80-135) ในช่วงเริ่มแรก เราพยายามติดต่อกับโรงพยาบาลใหญ่ ๆ เพื่อขอรับการอุทิศจากผู้มีจิตศรัทธา แม้กระทั่งมูลนิธิปอเต็กตึ้ง และสถานลหุโทษ กรมราชทัณฑ์ ทางภาควิชาก็ได้ติดต่อหมด ก็ยังไม่ได้ผลเต็มที่ตามที่ต้องการ สุดท้ายเราติดต่อหนังสือพิมพ์ให้ช่วยประชาสัมพันธ์และให้สัมภาษณ์ถึงความต้องการเกี่ยวกับเรือนร่างที่ปราศจากวิญญาณเพื่อนำมาศึกษา โดยให้หัวเรื่องว่า “มาเป็นอาจารย์แพทย์กันเถอะ” เมื่อประชาชนได้ทราบถึงความต้องการ ปรากฏว่ามีผู้มีจิตกุศลจำนวนมากได้มาแสดงเจตจำนงอุทิศเรือนร่างเพื่อการศึกษา มีตั้งแต่อายุ 40 กว่าปีจนกระทั่งถึง 70 กว่าปี บางรายอยู่ไกลจากกรุงเทพมาก ได้มีจดหมายมาขอทราบรายละเอียด เราก็เสนอไปว่าถ้าอยู่ทางภาคเหนือก็ให้ติดต่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อยู่ใกล้ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็ให้ติดต่อมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทางภาคใต้ก็ติดต่อมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สำหรับกรุงเทพ (ประมาณรัศมี 100 กิโลเมตร) ก็สามารถติดต่ออุทิศได้ทั้งที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช หรือคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หรือวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ ทั้งนี้เพราะจะบริจาคที่ใดก็สามารถนำมาใช้ศึกษาได้ผลเช่นเดียวกัน
ดังนั้นจะเห็นว่าเรือนร่างที่นักศึกษาใช้ศึกษานั้นมิใช่เป็นเรือนร่างที่ขาดญาติมิตรดังที่หลาย ๆ คนเข้าใจ กลับตรงกันข้าม เป็นเรือนร่างที่เปี่ยมล้นด้วยกุศลจิต มองเห็นการณ์ไกลถึงความเจริญก้าวหน้าทางด้านการแพทย์ จึงได้อุทิศเรือนร่างเพื่อการศึกษา ครั้งเมื่อได้แจ้งความจำนงเรียบร้อยแล้ว เราก็ให้ผู้มีจิตกุศลนั้นเขียนข้อความคล้าย ๆ กับทำพินัยกรรมยกเรือนร่างให้แก่ภาควิชา เมื่อท่านผู้นั้นได้เสียชีวิตลง ญาติพี่น้องก็จะโทรศัพท์มาบอก ภาควิชาก็จะส่งรถไปรับเรือนร่างมาฉีดยาก่อน เพื่อป้องกันการเน่าเสียภายใน 24 ชั่วโมง แต่อาจจะเก็บในตู้แช่ของโรงพยาบาลได้ 2-3 วัน ก็ได้ในกรณีที่จำเป็น น้ำยาที่เราฉีดส่วนมากเป็นแอลกอฮอล์ ฟอร์มาลิน ดินประสิว ไมทอล ฟินอล และพวกโซเดียมคาร์บอเนต โดยนำน้ำยาพวกนี้มาต้มแล้วทำเป็นน้ำยาสูตร 1 และ 2 ผสมกัน จากนั้นจึงฉีดเข้าไปทางเส้นเลือดแดงบริเวณขาทั้งสองข้าง โดยใช้เครื่องอัดด้วยความดัน 15 ปอนด์ต่อตารางนิ้วต่ออาจารย์ใหญ่ 1 ท่าน เราใช้น้ำยาประมาณ 8-10 ลิตร เพื่อความสมบูรณ์ต่อการเก็บไว้ศึกษา จากนั้นถ้าทางญาติจะนำไปประกอบพิธีทางศาสนาก็สามารถจะกระทำได้จนกระทั่งเมื่อเสร็จพิธีแล้ว เราจะนำเรือนร่างไปเก็บไว้ในถังดอง ส่วนมากจะแช่ในน้ำยาฟอร์มาลิน 10 เปอร์เซนต์ ในเมืองนอกบางประเทศเก็บไว้ในห้องเย็นเป็นเวลาอย่างน้อยปีครึ่ง เพื่อให้สภาพเรือนร่างเหมาะสมแก่การนำมาเรียนต่อไป หลังจากเรียนประมาณ 4 เดือนกว่า ๆ จนกระทั่งจบหลักสูตรแล้ว เรือนร่างใดที่ญาติมีความประสงค์จะนำกลับไปฌาปนกิจเอง ทางภาควิชาก็จะจัดการแยกไว้และนำไปส่งที่วัดตามที่เจ้าภาพต้องการ ส่วนเรือนร่างใดที่ญาติต้องการให้ทางภาควิชาฌาปนกิจให้ พวกนักศึกษาก็จะจัดพิธีให้อย่างเช่นวันนี้ โดยมีพิธีทางศาสนา สวดพระอภิธรรมศพ 1 คืน วันรุ่งขึ้นก็เลี้ยงเพลพระ ก่อนจะทำพิธีฌาปนกิจ ก็มีการสวดบังสกุล เป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่อาจารย์ใหญ่ผู้ซึ่งมีแต่ “ให้” และ “ให้” แก่ศิษย์ทั้งหลายโดยมิได้หวังผลตอบแทนแต่ประการใด ด้วยอานิสงส์อันสูงส่งนี้เอง พวกนักศึกษาในทุก ๆ ปีจะจดจำอาจารย์ใหญ่ของเขาไปชั่วชีวิตตลอดอาชีพแพทย์ของเขาเลยทีเดียว พวกกระผมซึ่งเป็นผู้สอนก็รู้สึกซาบซึ้งในอานิสงส์ที่ท่านอาจารย์ใหญ่ทุกท่านได้กระทำไว้เป็นอย่างมาก เพราะพวกเราซึ้งใจอยู่เสมอว่า พวกอาจารย์ที่เดินได้ทุกคนเมื่อสอนไปก็อาจมีผิดมีถูกได้ บางครั้งพูดกลับไปกลับมา 3-4 รอบ นักศึกษาก็ไม่ค่อยเข้าใจ แต่ครั้นนักศึกษาได้ทำการชำแหละมองเห็นของจริงจากเรือนร่างอาจารย์ใหญ่ก็จะจำได้แม่นยำ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับคนไข้ได้เป็นอย่างดี
ด้วยอำนาจกุศลผลบุญตลอดจนคุณงามความดีที่ท่านอาจารย์ใหญ่ทุกท่านได้ประกอบมาตอนที่ท่านอาจารย์ยังมีชีวิตอยู่ก็ดี หรือเสียชีวิตไปแล้วก็ดี (อุทิศเรือนร่างเพื่อการศึกษา) ขอให้ดวงวิญญาณของท่านอาจารย์ทุกท่านจงประสบสุขในสัมปรายภพเทอญ
สุเทพ จันทร์ผ่อง. (2541). กว่าจะได้เป็นอาจารย์ใหญ่. ใน หนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ ผศ.สุเทพ จันทร์ผ่อง. หน้า 40-41. กรุงเทพ : แม็ทส์ปอยท์.
"อาจารย์สุเทพ" ผศ.สุเทพ จันทร์ผ่อง เป็นผู้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการดำเนินการจัดการร่างอาจารย์ใหญ่สำหรับการเรียนการสอนวิชากายวิภาคศาสตร์แก่นักศึกษา ท่านศึกษาค้นคว้าและพัฒนาการสอนวิชากายวิภาคศาสตร์จนเป็นที่ยอมรับ และได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาความเป็นครู เมื่อ พ.ศ. 2531 ท่านถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2541 หลังจากทำหน้าที่เป็นครูผู้ถ่ายทอดความรู้ให้นักศึกษามานานกว่า 30 ปี