พระบรมราโชวาท
ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินทรงดนตรีกับนักศึกษา
มหาวิทยาลัยมหิดล ณ สวนอัมพร
วันที่ 25 กรกฏาคม 2513
ในการมาพบปะกันวันนี้ นับเป็นครั้งแรกที่เป็นมหาวิทยาลัยมหิดล เพราะมหาวิทยาลัยมหิดลใช้ชื่อว่ามหาวิทยาลัยเพียงปีกว่า ๆ เท่านั้น นักว่าเป็นมหาวิทยาลัยเด็กที่สุด การที่เป็นมหาวิทยาลัยเด็กที่สุดก็เป็นสิ่งที่น่าสังเกต เพราะว่าการแพทย์ของเราในเมืองไทยนี้ก็นับว่าเจริญก้าวหน้ามาหลายสิบปี และการศึกษาในด้านการแพทย์และวิชาใกล้เคียง ก็ตามมาเป็นปึกแผ่นเป็นระเบียบเรียบร้อยอย่างดีตลอดมา จนผู้ที่สำเร็จจากมหาวิทยาลัยจะว่ามหิดลก็ลำบากเพราะเพิ่งเกิดในด้านการแพทย์มีมาตรฐานสูง เทียบได้กับการศึกษาในนานาประเทศ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าจัดระเบียบการศึกษาได้ดีมานานแล้ว ผู้ที่เป็นเจ้าของชื่อมหิดล คือสมเด็จพระบรมชนก ท่านก็เป็นผู้ที่สนพระทัย และได้พยายามให้การศึกษาในด้านการแทพย์ก้าวหน้าทุกวิถีทาง จนท่านได้รับชื่อว่าเป็นพระบิดาแห่งวงการแพทย์ของเมืองไทย ผู้ที่ศึกษาก็นับว่าเป็นลูกของท่าน ก็นับว่าเรามีสิ่งหนึ่งที่ใกล้เคียงกันก็เพราะว่าก็เป็นลูกของท่านเหมือนกัน ก็นับว่าพี่น้องจำนวนมากน่าชื่นใจ
การที่เป็นพี่น้องกัน คนที่เป็นพี่น้องกันควรจะช่วยกันเสมอ สามัคคีกันกับช่วยวงศ์ตระกูลให้มีชื่อเสียงดี ช่วยสร้างสรรให้สังคม ให้ส่วนรวมมีความเจริญก้าวหน้า แต่ในข้อนี้ไม่อยากจะพูดมากจะเป็นการหาว่ามาหาเรื่อง เมื่อตะกี้เห็นเดินกันเป็นระเบียบก็หนักใจ และพอใจเล็กน้อย หนักใจระเบียบมาก พอใจว่าวันนี้จะไม่ได้เล่นดนตรี เพราะที่มาวันนี้ไม่ได้มาสำหรับมาพูดมาบ่นมาไกล่เกลีย มาตัดสินความ หรือมาอะไรก็ตาม แต่ได้เชิญมาเล่นดนตรี แต่เมื่อกี้ผู้แทนของท่านทั้งหลายกล่าวก็ไม่ได้กล่าวถึงการเล่นดนตรี จึงต้องฝืนใจมาตามที่ขอ คือให้โอวาท ถ้าไม่ได้เล่นดนตรีก็ต้องให้โอวาทถึงค่ำ
อีกอย่างหนึ่งก็คือที่ขอพร ก็ตามที่ปฏิบัติมา ณ ที่อื่น ๆ เป็นรายการสุดท้าย ถ้าขืนให้พรก็หมายความว่า กลับบ้านได้ ความจริงต้องขอชี้แจง ทำไมพรไปอยู่สุดท้าย ถ้าให้พรตั้งแต่ต้น ฟังโอวาทต่อไปก็ต้องเดือดร้อน แล้วพรลึกหรอไปหมด คือว่าให้พรแล้วจบรายการ ดังนั้นก็ขอให้โอวาทต่อไป
คัดลอกจาก : กระแสพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช. กรุงเทพฯ : กรุงไทยการพิมพ์, 2514.