หน้าหลัก > เอกสารและสิ่งพิมพ์ > บทความพิเศษ

การพัฒนาศักยภาพงานบริการวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์

สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ และ ศันสนีย์ ไชยโรจน์

มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งรวมขององค์ความรู้และวิทยาการต่าง ๆ ของประเทศ โดยมหาวิทยาลัยมีพันธกิจหลัก ได้แก่ การเรียนการสอนเพื่อผลิตทรัพยากรบุคคล และ การทำวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้และวิทยาการใหม่ ๆ แม้ส่วนของการให้บริการวิชาการจะเป็นพันธกิจลำดับรองของมหาวิทยาลัย แต่ก็เป็นหน้าที่ที่มีความสำคัญเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม ได้แก่ ชุมชน การศึกษาวิจัย อีกทั้งยังสามารถตอบโจทย์ของภาคอุตสาหกรรมและการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการแข่งขันอย่างยั่งยืนของประเทศ

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษาที่มีความเป็นเลิศทั้งในด้านการวิจัยและการเรียนการสอน เป็นที่ยอมรับในระดับชาติและสากล รวมทั้งเป็นสถาบันที่มีความเพียบพร้อมในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน เครื่องมืออุปกรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านต้นทุนมนุษย์ (Human Capital) จึงตระหนักถึงความสำคัญและศักยภาพดังกล่าว และได้มีการริเริ่มกลไกการให้บริการวิชาการ โดยได้จัดตั้ง หน่วยเครื่องมือกลาง (Central Instrumental Facility : CIF) ขึ้นใน พ.ศ. 2533 เพื่อรองรับการทำงานวิจัยของบุคลากรของคณะวิทยาศาสตร์ ในขณะเดียวกัน CIF ก็เป็นหน่วยงานที่ให้บริการวิเคราะห์ทางเคมีของสิ่งส่งตรวจแก่ภาครัฐและเอกชนด้วย เพื่อให้การบริการดังกล่าวเป็นระบบที่ชัดเจน โปร่งใส และเป็นธรรมกับคู่แข่งยิ่งขึ้น คณะวิทยาศาสตร์จึงกำหนดให้ CIF ให้บริการโดยผ่านการจัดการของ ศูนย์ประยุกต์และบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา CIF ได้ให้บริการรับตรวจวิเคราะห์เป็นมูลค่ารวมมากกว่าสี่ล้านบาท ตลอดจนมีการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการให้บริการทุกปี จนถึงมากกว่าสองล้านบาทในปีงบประมาณ 2548 นอกจากนี้ คณะวิทยาศาสตตร์ยังจัดให้มีบริการให้คำปรึกษาทางวิชาการให้ภาครัฐและเอกชน โดยบุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิของคณะฯ ผ่านศูนย์ประยุกต์และบริการวิชาการ ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความเข้มแข็งด้านเทคโนโลยี ตลอดจนสร้างเครือข่ายความร่วมมือในพันธมิตรกับภาคส่วนต่าง ๆ โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บริการให้คำปรึกษามีมูลค่ารวมสองล้านสี่แสนแปดหมื่นบาท

สำหรับการบริหารจัดการการบริการวิเคราะห์ในลักษณะอื่น ๆ ก็ได้ดำเนินการผ่านศูนย์ประยุกต์และบริการวิชาการมหาวิทยาลัย เช่นกัน ได้แก่ การบริการวิเคราะห์ทางเคมีโดยใช้เครื่องมือที่กำหนดของภาควิชาเคมี การบริการวิเคราะห์ทางอณูชีววิทยาและชีววิทยาของเซลล์ เช่น การวิเคราะห์เซลล์ด้วย Flow Cytometer โดยหน่วยเครื่องมือกลาง การหาลำดับ DNA โดยหน่วยความร่วมมือมหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยโอซาก้า รวมถึงบริการสังเคราะห์ภาพระดับนาโนจากกล้องจุลทรรศน์สมรรถนะสูงแบบต่าง ๆ โดยหน่วยสังเคราะห์ภาพระดับนาโน ซึ่งตามจริงแล้วการบริการวิชาการแม้จะก่อให้เกิดรายได้ของคณะวิทยาศาสตร์ไม่มากนัก แต่เป็นการสร้างชื่อเสียงและภาพพจน์ที่ดีของคณะวิทยาศาสตร์ในการสนองความต้องการของสังคมวิจัยส่วนรวมของมหาวิทยาลัยมหิดลและประชาคมวิจัยของประเทศ

แนวทางในการดำเนินการให้การสนับสนุนและบริหารจัดการการให้บริการวิชาการ

คณะวิทยาศาสตร์ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารจัดการหน่วยเครื่องมือกลางและหน่วยวิเคราะห์ทำหน้าที่ควบคุมดูแลการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ภายในคณะวิทยาศาสตร์ที่ให้บริการวิเคราะห์ รวมทั้งการให้บริการปรึกษาทางวิชาการของบุคลากรในคณะวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการดำเนินงาน คณะกรรมการบริหารฯ คณะวิทยาศาสตร์ได้ให้การสนับสนุนหน่วยวิเคราะห์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การว่าจ้างบุคลากร การบริหารจัดการค่าตอบแทนบุคลากรที่ทำงานวิเคราะห์ การบำรุงรักษาเครื่องมือ การจัดหาเครื่องมือเพื่อให้ก้าวทันวิทยาการในการวิจัยและวิเคราะห์ที่ปัจจุบันมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว มีการสนับสนุนงานวิจัยเชิงพัฒนาเพื่อการนำไปประยุกต์ใช้ตลอดจนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือและพันธมิตรกับภาคอุตสาหกรรม ในด้านการพัฒนาบุคลากร คณะกรรมการบริหารฯ มีนโยบายสนับสนุนการจัดการความรู้ (Knowledge Management) แบ่งปันเทคนิคการทำงานวิเคราะห์ วิจัย ที่มีประสิทธิภาพตลอดจนการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสู่ประชาคม

ในสภาวะการเปลี่ยนแปลงและขยายตัวทางเทคโนโลยีของโลกปัจจุบัน ทำให้ประเทศไทยประสบปัญหาในการขาดดุลการค้า โดยเฉพาะในด้านการพึ่งพาผลิตภัณฑ์นำเข้า ตลอดจนการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) จึงเป็นจุดที่จะทำให้องค์กรขับเคลื่อนไปข้างหน้าโดยมีสมรรถนะในการแข่งขันเชิงรุก คณะวิทยาศาสตร์จึงสนับสนุนให้บุคลากรพัฒนานวัตกรรม สร้างผลงานในรูปแบบของเทคโนโลยี ต้นแบบ กระบวนการ ผลิตภัณฑ์ เพื่อจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร ซึ่งปัจจุบันคณะวิทยาศาสตร์มีผลงานที่ได้รับการจดสิทธิบัตรจำนวน 1 รายการ อนุสิทธิบัตรจำนวน 3 ราการ และอยู่ระหว่างการขออนุญาตจดสิทธิบัตรจำนวน 12 รายการ ทั้งนี้หากสิทธิบัตรเหล่านี้ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการ ก็จะเป็นแหล่งรายได้ของคณะวิทยาศาสตร์ รวมถึงเป็นแรงจูงใจให้กับนักวิจัยให้สร้างผลงานคุณภาพที่สามารถประยุกต์ใช้ได้ต่อไป

มิติใหม่ของบริการวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์

คณะวิทยาศาสตร์มีพันธกิจที่จะพัฒนาห้องปฏิบัติการให้ได้มาตรฐานของการให้บริการเชิงเทคนิคต่าง ๆ จึงมีนโยบายที่จะยกระดับห้องปฏิบัติการรับตรวจวิเคราะห์ขึ้นสู่มาตรฐานสากล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในผลการวิเคราะห์และรองรับเครือข่ายการวิเคราะห์ในยุคโลกาภิวัฒน์ โดยคณะวิทยาศาสตร์ได้เริ่มดำเนินการร่วมกับทางศูนย์ประยุกต์และบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ CIF ขอรับการรับรองระบบมาตรฐาน ISO17025 ในการวิเคราะห์กรดอะมิโน ซึ่งขณะนี้การให้บริการดังกล่าวมีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย นอกจากนี้ คณะวิทยาศาสตร์มีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างเครือข่ายวิสาหกิจวิชาการเพื่อการเชื่อมโยงระหว่างภาคการศึกษา วิจัย และภาคอุตสาหกรรม ในลักษณะทวิภาคี โดยเริ่มจากการสร้าง Match Making Scheme กับภาคเอกชนหรือภาครัฐ ในการบริหารจัดการหลักสูตร การพัฒนาและออกแบบโจทย์วิจัยร่วมกัน ร่วมสร้างกลุ่มความร่วมมือด้านเทคโนโลยี มีการแลกเปลี่ยนและการอบรมบุคลากรอย่างสม่ำเสมอ อันจะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพและตอบสนองต่อความต้องการของสังคมเทคโนโลยีของประเทศได้อย่างแท้จริง การทำวิจัยและพัฒนาตามคำร้องขอของหน่วยงานภายนอกทั้งเอกชนและรัฐยังเป็นอีกเป้าหมายหนึ่งในก้าวต่อไป ทั้งนี ความสำเร็จต่าง ๆ ที่ผ่านมาและก้าวต่อไปนั้นย่อมเกิดจากความร่วมมือของทางศูนย์ประยุกต์และบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อให้การบริหารจัดการเป็นไปอย่างราบรื่น โดยคณะวิทยาศาสตร์หวังว่าการบริการวิชาการต่าง ๆ จากคณะวิทยาศาสตร์ จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันการพัฒนาองค์ความรู้และวิทยาการ รวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ก้าวต่อไป

สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ และ ศันสนีย์ ไชยโรจน์. (2549). การพัฒนาศักยภาพงานบริการวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์. ใน 48 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
(2501-25449).
72-73. กรุงเทพ : มหาวิทยาลัย.