"อาจารย์สตางค์" กับ 40 ปี แห่งความเป็นเลิศทางวิทยาศาสตร์
สุมณฑา พรหมบุญ
สิ่งหนึ่งในชีวิตที่ข้าพเจ้าภาคภูมิใจมากคือการที่ได้เป็นลูกศิษย์ของ ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข หรือ "อาจารย์สตางค์" หรือ "ป๋า" ของพวกเรา
ข้าพเจ้าสอบเอนทรานซ์เข้า Sc ได้ ในปีการศึกษา 2507 แม้ว่าในปีถัดมาข้าพเจ้าจะรับทุน กพ. ไปเรียนต่างประเทศ มิได้เรียนครบ 2 ปี ตามหลักสูตรเตรียมแพทยศาสตร์ แต่ช่วงเวลาเพียงปีเดียวที่อยู่ Sc ในฐานะน้องใหม่ก็นับว่าเป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่า ประทับใจและมีผลต่อชีวิตของข้าพเจ้าจวบจนทุกวันนี้ ภาพของ "อาจารย์สตางค์" ที่ประทับในความทรงจำ ราวกับเหตุการณ์เพิ่งผ่านไปไม่นานนักนั้น เป็นภาพของชายวัย 50 ปี รูปร่างผอม ขาว หน้าตาสะอาด แต่กายสมถะ เรียบง่าย ท่านเดินหลังงอนิด ๆ ท่วงทำนองการพูดที่ห้วนและขาดเป็นห้วง ๆ ยิ้มยาก และหยุดจ้องนิสิตเป็นระยะ ๆ จังหวะนั้นนิสิตส่วนใหญ่จะโน้มศีรษะลงจนเกือบติดโต๊ะเพื่อหลบตา ด้วยรู้ดีว่าจังหวะที่ว่านี้มักจะตามด้วยการชี้นิ้วให้นิสิตตอบคำถาม
ข้าพเจ้าถูกชี้ให้ตอบคำถามเป็นประจำ จึงทำให้ข้าพเจ้าอ่านตำราภาษาอังกฤษคล่องตั้งแต่ยังไม่ไปเรียนเมืองนอก เพราะต้องดิ้นรนอ่านตำราอินทรีย์เคมีไปล่วงหน้าเสมอ ในตอนนั้นรู้สึกว่าลำบากไม่น้อย แต่ต่อมากลับกลายเป็นคุณอย่างมาก
ข้าพเจ้าฉายภาพ "อาจารย์สตางค์" ราวกับท่านเป็นบุคคลที่น่ากลัว แต่แท้ที่จริงแล้วนิสิตรักท่านมาก ภายใต้แว่นตาสีขาวใส คือแววตาที่เปี่ยมด้วยความรักและเมตตาต่อศิษย์ แม้จะดุจะว่าแต่ศิษย์ก็แอบเห็นว่าบ่อยครั้งท่านอดขำไม่ได้ แอบยิ้ม อมยิ้ม ให้พวกเราเห็นอยู่เป็นประจำ กล่าวกันในตอนนั้นว่า ใครที่โดน "อาจารย์สตางค์" ดุด่าคนนั้นจะเจริญ หากข้าพเจ้ามีความเจริญอยู่บ้างก็คงจะเป็นอานิสงส์ที่เคยถูกครูคนนี้ดุ เวลาตอบคำถามของท่านไม่ได้นั่นเอง
"อาจารย์สตางค์" เป็นต้นแบบของนักวิทยาศาสตร์ที่อธิบายได้ยากว่าคืออย่างไร แต่ยังผลให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่าการเป็นนักวิทยาศาสตร์นั้นยิ่งใหญ่เหลือเกิน ยิ่งใหญ่กว่าการเป็นแพทย์เสียอีก ท่านเรียกข้าพเจ้าเข้าไปพบที่ห้องทำงานในวันหนึ่ง พูดสั้น ๆ ว่า อยากให้ข้าพเจ้าไปคิดดูว่าจะไปเรียนวิทยาศาสตร์ที่ประเทศแคนาดาไหม ข้าพเจ้าบอกว่าอยากไปสหรัฐอเมริกา จึงไม่ได้รับทุนที่อาจารย์ให้ หากแต่รับเอาความอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์เหมือนอย่างท่านติดมาโดยไม่รู้ตัว และได้ตัดสินใจรับทุน กพ. ไปเรียนวิทยาศาสตร์ในสหรัฐอเมริกาสมใจในโอกาสต่อมา การตัดสินใจในครั้งนั้นเป็นเหตุให้ข้าพเจ้ากลับมารับใช้มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งเป็นเจ้าของทุนและเป็นบ้านหลังที่สองของข้าพเจ้ามาเกือบ 28 ปีแล้ว
ดังนั้น ภาพของ "อาจารย์สตางค์" จึงเป็นภาพของ "ครู" และ "นักวิทยาศาสตร์" ที่เป็นต้นแบบให้แก่ศิษย์เป็นจำนวนมาก อาจารย์เป็นตำนานที่ศิษย์เล่าขานต่อ ๆ กันมา ด้วยความเคารพรักและรื่นรมย์ และนี่คือภาพสะท้อนของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ประจักษ์ในความเป็นเลิศทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน และการสอนวิทยาศาสตร์พื้นฐานในประเทศไทย สืบทอดปณิธานของ "อาจารย์สตางค์" มายาวนานถึง 40 ปี
สุมณฑา พรหมบุญ. (2541). "อาจารย์สตางค์" กับ 40 ปี แห่งความเป็นเลิศทางวิทยาศาสตร์. ใน 40 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 2501-2541. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัย.
รศ. ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ศิษย์เก่าเตรียมแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (พ.ศ. 2507-2508) ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานโดยรับตำแหน่งสำคัญ ๆ มากมาย อาทิ อธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์