หน้าหลัก > เอกสารและสิ่งพิมพ์ > บทความพิเศษ

มหาวิทยาลัยไทยล้มเหลวหรือ?

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
(เผยแพร่ในหนังสือปฐมนิเทศ 2515)

          ในละครเรื่อง "ฉันเพียงแต่อยากจะออกไปข้างนอก" ของวิทยากร เชียงกูล มหาวิทยาลัยคือคุก ซึ่งมียามเฝ้าประตู ชื่อ เกียรติยศกับมั่งคั่ง ในสายตาของผู้สำเร็จ ม.ศ.5 ใหม่ ๆ ส่วนมาก มหาวิทยาลัยคือดินแดนแห่งความหวัง หลายคนเห็นเกียรติยศกับมั่งคั่ง เป็นผู้ให้รางวัล ไม่ใช่ยามเฝ้าประตู ส่วนมากหวังจะใช้มหาวิทยาลัยเป็นดินแดนเชื่อมโยงไปถึงงานอาชีพที่เป็นหลักแหล่ง อีกส่วนหนึ่งติดตามความอยากรู้อยากเห็น ความต้องการเป็นเอกในด้านวิชาการของตนเข้ามา ในสำนึกของแต่ละคน มหาวิทยาลัยให้ความหวังต่างกันออกไป แต่ในความเป็นจริง มหาวิทยาลัยไทยเป็นอย่างไร เป็นแหล่งเพาะ "ขุนนาง" และผู้ที่ยินดีจะทำงานตามระบบเดิมที่เคยเป็นมา โดยไม่ตั้งข้อสงสัยใด ๆ หรือเป็นศูนย์กลางของการตื่นตัวในด้านความคิดเห็น และความเป็นผู้นำสังคมไปสู่ยุคใหม่ เป็นหอคอยทำด้วยงาช้างที่มองดูสวยแต่ไร้ประโยชน์ หรือเป็นที่ผลิตผู้มีความสามารถในด้านต่าง ๆ ซึ่งจำเป็นในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

          โดยที่มหาวิทยาลัยไทยมีอยู่ด้วยกันหลายแห่ง และต่างก็มีลักษณะแตกต่างกันไป จึงหาคำตอบไม่ได้ง่าย ๆ ในส่วนรวมแล้ว มหาวิทยาลัยย่อมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและสะท้อนลักษณะของสังคมออกมาไม่มากก็น้อย ในขณะเดียวกัน โดยที่มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งศึกษาที่สูงที่สุด จึงมีหน้าที่เป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มาสู่สังคมด้วย เพื่อให้ก้าวตามทันเหตุการณ์ที่ผันแปรของโลก มหาวิทยาลัยจะมีลักษณะตามสังคมหรือนำสังคมมากน้อยเท่าใดนั้น แล้วแต่โครงสร้างและวิธีดำเนินงาน สำหรับเมืองไทย ปัจจัยทั้งสองนี้ทำให้มหาวิทยาลัยของเราเป็นอย่างแรกมากกว่าอย่างหลัง ตราบใดที่มหาวิทยาลัยยังอยู่ในระบบราชการ ถูกผูกมัดด้วยกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของราชการ หรือบุคคลอื่นซึ่งมีความสามารถทำงานเฉพาะในแขนงของตน ส่วนความเป็นอิสระทางความเห็น ความคิดริเริ่มและความกว้างขวางด้านวิชาการ ย่อมได้รับความสำคัญรองลงไป

          นักศึกษาคือวัตถุดิบของมหาวิทยาลัย คุณภาพของมหาวิทยาลัยย่อมแสดงออกมาที่ลักษณะของนักศึกษาที่ได้ผ่านสถาบันมาแล้วหรือกำลังศึกษาอยู่ เท่าที่เคยเป็นมาในสมัยก่อนนักศึกษาของเรามักจะมีความสามารถดีในเชิงท่องจำ แต่ขาดความพยายามที่จะเข้าใจเรื่องที่ศึกษาอย่างถ่องแท้ มีความสามารถในการปฏิบัติงานตามที่หลักวิชากำหนด แต่ขาดความสามารถที่จะวิเคราะห์และเสนอความริเริ่มไปบ้าง มีความสนใจในเรื่องราวและเหตุการณ์เฉพาะที่อยู่ใกล้ตัว แต่ขาดความสนใจในความเป็นไปของส่วนรวมหรือสังคมอื่นไปบ้าง ปัจจุบันนี้มีความเปลี่ยนแปลงในนักศึกษาไปบ้าง แต่ลักษณะเดิมก็ยังคงอยู่มาก อุปสรรคที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการสื่อสาร โดยคนไทยมีภาษาของตนเอง การศึกษาจึงจำกัดอยู่ในวงล้อมของวัฒนธรรมไทยเป็นส่วนใหญ่ ถึงแม้ระบบคมนาคมสมัยใหม่ของเมืองไทยจะจัดอยู่ในขั้นดีก็ตาม ข่าวสารด้านวิชาการหรือแนวความคิดจากภายนอกที่มาถึงโดยระบบคมนาคมที่ดีนี้ก็มักจะสูญเปล่า เนื่องจากนักศึกษาขาดกลไกที่จะเรียบเรียงให้เป็นภาษาที่ตนคุ้นเคยได้ มีนักศึกษาวิทยาศาสตร์กี่คนที่อ่าน Scientific American นักศึกษาเศรษฐศาสตร์กี่คนที่อ่าน Far Eastern Economic Review โดยที่เมืองไทยได้จำกัดตัวเองให้อยู่ในค่ายการเมืองด้านขวาสุด การติดต่อกับโลกส่วนที่มีปรัชญาการเมืองต่างกันกับเราก็ยิ่งจัดได้ว่าไม่มีเลย ถึงแม้ว่าจะไม่มีการเซ็นเซอร์สื่อมวลชนกันอย่างเข้มงวดก็ตามแต่บรรยากาศภายในสังคมก็อึดอัดเพียงพอที่จะกดดันไม่ให้เกิดความอยากรู้อยากเห็นมากเท่าที่ควรสิ่งที่นักศึกษาอาจจะอ่านค้นพบในตำราก็อาจจะต่างกับความเป็นจริงอย่างลิบลับ เช่น นักศึกษารัฐศาสตร์อาจจะได้ศึกษาทฤษฎีทางการเมืองอย่างลึกซึ้ง รู้ถึงข้อดีข้อเสียในการปกครองระบอบต่าง ๆ กัน แต่ไม่สามารถนำความรู้มาใช้ในการสร้างสรรค์ทางการเมืองของประเทศ เพราะไม่มีส่วนในการแสดงความคิดเห็นที่อาจจะขัดแย้งกับทางการแม้โดยสันติวิธี นักศึกษาวิทยาศาสตร์อาจจะได้อ่านเกี่ยวกับการค้นพบความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ ในห้องปฏิบัติการต่าง ๆ ทั่วโลกและการนำเอาสิ่งค้นพบใหม่ ๆ มาใช้ในด้านเทคโนโลยี แต่เมื่อเหลียวมองไปรอบตัว กลับมองไม่ค่อยเห็นหลักฐานของกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่มากนัก ทั้งในและนอกแหล่งศึกษา จริงอยู่ในการศึกษาบางแขนง เช่น แพทยศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นส่วนที่สังคมที่กำลังพัฒนาต้องการมาก สถานศึกษาเองอาจจะมีความก้าวหน้าทัดเทียมกับอีกหลายประเทศ แต่สิ่งแวดล้อมนอกสถานศึกษาก็ต่างกันออกไปอีกราวฟ้ากับดิน

          ที่สำคัญที่สุดคือนักศึกษาจำนวนมาก ไม่มีความปรารถนาจะศึกษาวิชาของตนอย่างแท้จริง มีกี่คนบ้างที่เข้ามาเรียนวิทยาศาสตร์ชีวภาพเพราะได้มีความใฝ่ฝันที่จะมีอาชีพทันตแพทย์หรือแพทย์ หรือเภสัชกรอย่างจริงจัง ส่วนใหญ่ต้องยอมรับว่าเข้ามาเพราะคิดว่าคะแนนของตนสูงพอ หรือเพราะพ่อแม่อยากให้มีหมอในครอบครัวสักคน หรือแม้เพราะตามเพื่อนเข้ามา มีอีกกี่คนที่เลือกวิทยาศาสตร์สุขภาพด้วยใจรัก สิ่งที่ลักลั่นมากในระบบมหาวิทยาลัยของเราซึ่งหลายคนอาจจะไม่สังเกตด้วยความเคยชิน ก็คือการที่นักศึกษาเลือกวิชาที่ตนต้องการยึดเป็นอาชีพไม่ใช่ด้วยใจรัก แต่ตามคะแนนสอบของแต่ละคน เรื่องนี้ไม่ใช่ความผิดของนักศึกษาเลย หากเป็นความผิดของสังคมที่มีความเชื่อถือ และให้รางวัลอาชีพบางประเภทสูงเกินกว่าควร และบางประเภทต่ำเกินควร

          แต่รวมความแล้วระบบมหาวิทยาลัยของเราล้มเหลวหรือ? หากจะยึดข้อสมมุติที่เป็นไปไม่ได้ว่า มหาวิทยาลัยที่ดีจะต้องสามารถทำหน้าที่อย่างยอดเยี่ยมในการเผยแผ่วิชาการ ค้นคว้าความรู้ใหม่ ๆ พร้อมทั้งรับใช้และนำสังคมไปด้วย ไม่ว่าจะได้รับงบประมาณมาเท่าใด หรือถูกผูกมัดกับระบบบริหารแน่นหนาเท่าใด ก็อาจจะต้องยอมรับว่ามหาวิทยาลัยของเราล้มเหลว แต่ถ้าเข้าใจว่าสิ่งแวดล้อมเช่นปัจจุบันสร้างอุปสรรคในด้านต่าง ๆ กัน เหนี่ยวรั้งความเจริญของการศึกษาในมหาวิทยาลัยอยู่มาก ผลเท่าที่ปรากฏอยู่ขณะนี้ก็นับว่าดีพอประมาณ นักศึกษามหาวิทยาลัยถึงจะขาดความสามารถในทางวิเคราะห์และสร้างสรรค์ไปบ้าง แต่โดยเฉลี่ยแล้วก็ยังมีความสามารถดังกล่าวมากกว่าผู้ที่อยู่นอกสถาบัน ถึงความรู้ทางวิชาชีพอาจจะน้อยกว่านักศึกษาจากประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศ แต่ก็มากพอที่จะออกไปทำงานสำคัญต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ถึงจะมีความสนใจอยู่ในวงแคบไปบ้าง แต่ก็มีกิจกรรมนอกหลักสูตรที่น่าสนับสนุนหลายอย่าง

          การศึกษาในมหาวิทยาลัยจะเป็นประโยชน์ยิ่งขึ้นอีกต่อนักศึกษา หากได้รู้จุดดีและจุดอ่อนของระบบ และดำเนินการเพื่อใช้จุดดีให้เป็นประโยชน์และเอาชนะจุดอ่อนให้ได้ ถ้าจะรวบรวมหลักปฏิบัติอย่างกว้าง ๆ อาจได้เป็นข้อ ๆ ดังนี้

  1. เชื่อในสิ่งที่ตนกระทำ: ไม่ว่าวิชาอะไรก็ตามย่อมมีศักดิ์ศรีของมันเองซึ่งผู้เรียนต้องเชื่อถือ ในระยะแรกนักศึกษาอาจจะยังไม่เข้าใจลักษณะของวิชาต่าง ๆ มากนัก หากมีโอกาสเลือก (เช่นนักศึกษาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ) ควรจะเลือกโดยจิตใจที่เป็นกลาง ไม่ใช่เอนเอียงอยู่ก่อนแล้วจากการยุยงของผู้อื่น แต่หากไม่มีโอกาสเลือกอีกแล้ว ก็ควรจะเคารพในศักดิ์ศรีของวิชาที่ตนเลือกมาแต่แรก หากไม่เชื่อในสิ่งที่ตนกำลังกระทำอยู่ จะทำได้ดีอย่างไร นอกจากจะทำอย่างซังกะตายไปวัน ๆ
  2. อ่านและค้นคว้านอกเหนือไปจากคำบรรยาย: อาจจะมีรุ่นพี่หลายคนเตือนว่า ถึงทำอย่างนี้ก็จะไม่ทำให้สอบดีขึ้น เพราะอาจารย์มักจะเลือกออกสอบจากคำบรรยายของตนเท่านั้น คำกล่าวดังนี้ถึงจริงก็แสดงให้เห็นจุดอ่อนของระบบมหาวิทยาลัยเท่านั้น คะแนนสอบอาจเป็นสิ่งสำคัญในสายตาของนักศึกษาแรกเริ่ม แต่ผู้ที่มีวิญญาณของนักศึกษาที่แท้ย่อมให้ความสำคัญของความเข้าใจลึกซึ้งและความกว้างในวิชาของตน มากกว่า ระบบการติดตามผลที่ไร้ประสิทธิภาพ การอ่านและค้นคว้าจากตำราต่างประเทศในระยะแรก ๆ อาจยากเย็นเหลือเข็ญแต่หากได้ฝึกไปเรื่อย ๆ จะทำได้ดีขึ้นตามลำดับ
  3. คิดและแลกเปลี่ยนความคิดอย่างอิสระ: การอ่านและคิดเป็นของคู่กันทั้งคู่ต้องการสมาธิและความพยายามที่จะได้มาซึ่งแก่นแท้หรือเนื้อหาสาระของวิชา ไม่ควรจำกัดความคิดให้อยู่ในวงวิชาแคบ ๆ เท่านั้น ควรเพิ่มความสนใจไปยังวิชาที่เกี่ยวข้องกัน และความเป็นไปของสังคมโดยทั่วไปด้วย
  4. กระทำในสิ่งที่ตนเชื่อ: เมื่อได้เกิดศรัทธาในวิชาและในอุดมการณ์ทางสังคมของตนแล้ว ก็ย่อมมีแรงกระตุ้นให้มีการกระทำ การศึกษาเกี่ยวกับสมบัติทางเคมีของสารหนึ่ง ๆ จะไม่สมบูรณ์ถ้าผู้ศึกษาไม่ได้ทำการทดลองด้วยตัวเอง พิสูจน์สิ่งที่ตนเรียนมาเลย การเรียนรู้ถึงความล้าหลังของระบบสังคมจะไม่ก่อประโยชน์หากจะหยุดอยู่ที่ตำราเท่านั้น

คัดลอกจาก : ยงยุทธ ยุทธวงศ์. (2515). มหาวิทยาลัยไทยล้มเหลวหรือ? ใน ปฐมนิเทศ'15. กรุงเทพ : อักษรสัมพันธ์.

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ลูกศิษย์ที่ใกล้ชิด “อาจารย์สตางค์” อีกท่านหนึ่ง ตัดสินใจเข้าเรียนที่ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ตามคำชักชวนของ “อาจารย์สตางค์” และ ศ. ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้เป็นลุง ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในด้านการวิจัย จนได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2527 และเคยดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (2549-2551)