รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี

คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2562-2566

ประวัติ

รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี เกิดเมื่อ พ.ศ. 2513 เจ้าของรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาเคมีอินทรีย์ ประจำปี พ.ศ. 2546 เป็นผู้เชี่ยวชาญการใช้เทคนิค X-ray Crystallography ในการศึกษาโครงสร้างทางเคมีของสารที่มีความสัมพันธ์กับผลทางชีววิทยา สมรสกับ ดร.ประชุมพร (ทุนกุล) คงเสรี มีบุตรชาย 2 คน

การศึกษา

รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี จบการศึกษาระดับมัธยมต้นที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2528 จากนั้นสอบได้รับทุนจากโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) จึงย้ายไปเรียนต่อระดับมัธยมปลายที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัยซึ่งเป็น 1 ใน 6 ศูนย์โครงการ พสวท. ในสมัยนั้น ระหว่างการศึกษาระดับมัธยม ได้เป็นตัวแทนโรงเรียนร่วมแข่งขันทางวิชาการและได้รับรางวัลชนะเลิศมากมาย เช่น การตอบปัญหาเกี่ยวกับองค์การสหประชาชาติ การตอบปัญหาทางนิเทศศาสตร์ ของคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การตอบปัญหาวิชาการที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง การตอบปัญหาทางพุทธศาสนา และการแข่งขันภาษาไทยเกี่ยวกับคำผวนเป็นต้น นอกจากนี้ ได้เข้าร่วมแข่งขันการแข่งขันตอบปัญหาทางวิชาการทางโทรทัศน์อีกหลายรายการ เช่น รายการไอคิว-180 รายการเยาวชนคนเก่ง เป็นต้น

รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล ศึกษาระดับปริญญาตรีที่คณะวิทยาศาสตร์ สาขาเคมี ที่ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี พ.ศ. 2534 และศึกษาต่อในระดับปริญญาโท-เอก ด้านเคมีอินทรีย์ ณ มหาวิทยาลัยคอร์แนล ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมี Professor Jon Clardy เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ในเรื่องที่เกี่ยวกับการศึกษาโครงสร้างสามมิติ ด้วยรังสีเอกซ์ (X-ray Crystallography) ของโปรตีนและเอนไซม์ ได้แก่ Cdc42Hs ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีความสำคัญในการแบ่งตัวอย่างผิดปกติในเซลล์มะเร็ง โปรตีน FKBP-12 ที่มีประโยชน์ในการออกแบบยาลดภูมิคุ้มกันเอนไซม์ chorismate mutase และเอนไซม์ cyclohexadienyldehydratase ปัจจุบัน ดร.พลังพล รับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


การทำงานและงานวิจัย

ในการวิจัย ดร.พลังพล ใช้เทคนิค X-ray Crystallography เป็นวิธีหลักในการศึกษาโครงสร้างทางเคมี ของสารที่มีความสัมพันธ์กับผลทางชีววิทยา โดยการศึกษาโครงสร้างสามมิติของผลึกสารเคมีที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพและของสารชีวโมเลกุลขนาดใหญ่ด้วยรังสีเอกซ์ ทำให้ได้ข้อมูลของโครงสร้างและการจัดตัวของสารในสามมิติอย่างละเอียด ด้วยความแม่นยำสูงในระดับ Angstrom (10-10) เมตร ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการศึกษาสารอกฤทธิ์ทางชีวภาพที่มีโครงสร้างที่ซับซ้อน ดร.พลังพล ได้ทำการศึกษา วิเคราะห์และเก็บข้อมูลโครงสร้างผลึกของสาร bis-artemisinin ที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อมาลาเรียที่มีประสิทธิภาพสูง (ทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย) โดยผลจากการศึกษาวิจัยโครงสร้างผลึกของสารดังกล่าว และการได้ข้อมูลของสารอย่างครบถ้วนในประเทศนั้น ทำให้ย่นระยะเวลาการวิจัยให้สั้นลง ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์อย่างยิ่ง ในการทำให้งานวิจัยส่วนอื่นสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้การใช้เทคนิค X-ray Crystallography ร่วมกับวิธีทางสเปคโตรสโกปีในการศึกษาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากเชื้อรา (endophytic fungi) ในพืชสมุนไพรไทย ยังได้นำไปสู่การค้นพบสารชนิดใหม่ในกลุ่ม dihydroisocoumarin ที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อมาลาเรีย (ทุนวิจัยโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย - BRT)

ในส่วนของการศึกษาโครงสร้างผลึกของโปรตีน ที่เป็นเป้าหมายของยาในระดับเซลล์ เพื่อให้เข้าใจกลไกการทำงานของยา หรือสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพในสิ่งมีชีวิต ดร.พลังพล ได้รับการสนับสนุนจาก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้ศูนย์เพื่อความเป็นเลิศทางโครงสร้างและหน้าที่การทำงานของโปรตีน ที่จัดตั้งขึ้น ในปี พ.ศ. 2544 (โดยมี ศ. ดร. ม.ร.ว.ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ เป็นหัวหน้า) โดย ดร.พลังพล (ร่วมกับ ดร.อุบลศรี เลิศสกุลพานิช และ ศ. ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ จาก Protein-Ligand Engineering Laboratory) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ด้วยทุนวิจัยจาก Thailand-Tropical Diseases Research Programme และ สกว.) ได้ใช้เทคนิค protein crystallography ศึกษาโครงสร้างสามมิติของเอนไซม์ dihydrofolate reductase ในเชื้อมาลาเรียชนิด Plasmodium vivax ซึ่งนำไปสู่ความเข้าใจกลไกการดื้อยาในกลุ่ม antifolate เช่น pyrimethamine และ cycloguanil องค์ความรู้ที่ได้ สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาสารที่มีประสิทธิภาพ ในการรักษาโรคมาลาเรียต่อไป กลุ่มวิจัยของ ดร.พลังพล (ร่วมกับกลุ่มวิจัยของ ศ. ดร.วิทยา มีวุฒิสม ด้วยทุนวิจัยจาก สกว.) ยังได้ศึกษาโครงสร้างของเอนไซม์ D-phenylglycine aminotransferase ที่มีความสำคัญในกระบวนการชีวสังเคราะห์ของยาปฏิชีวนะ ในกลุ่มเพนนิซิลิน ซึ่งนำไปสู่ความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกของปฏิกิริยา transamination ที่มีลักษณะเฉพาะตัวของเอนไซม์นี้ นอกจากนี้ ดร.พลังพล ยังได้ศึกษาการนำเอนไซม์ไปใช้เป็นสารคะตาลิสต์ (catalyst) ในการสังเคราะห์เคมี เช่น ปฏิกิริยา Baeyer-Villiger ปฏิกิริยา reduction และปฏิกิริยา transglucosylation


รางวัลเกียรติยศ

  • พ.ศ. 2562
  • • ได้รับการแต่งตั้งจากสภามหาวิทยาลัยมหิดล ให้ดำรงตำแหน่งคณบดี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • • ได้รับการยกย่องให้เป็น "อาจารย์ตัวอย่าง" ระดับคณะและระดับมหาวิทยาลัย จากสภาคณาจารย์ คณะวิทยาศาสตร์ และจากสภาอาจารย์ มหาวิทยาลัยมหิดลในปี 2561 และ 2562 ตามลำดับ
  • พ.ศ. 2561
  • • รางวัล Pitching : LIFE SCIENCE STARTUP SHOWCASE จากงาน STARTUP THAILAND 2018 เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2561 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และได้สิทธิ์เข้าร่วมงาน ECHELON ASIA SUMMIT 2018 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-29 มิถุนายน 2561 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์
  • พ.ศ. 2559
  • • รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2559 (ระดับดีมาก) ของ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ จากผลงานเรื่อง "ชุดตรวจสอบสารปรอทในเครื่องสำอางฟอกผิวขาว" (Mercury test kit for skin-whitening cosmetics) ( 17 ธ.ค. 2558) จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
  • พ.ศ. 2558
  • • รางวัลชนะเลิศ DMSc Award ประจำปี 2558 ประเภทการพัฒนาคุณภาพการบริการทางการแพทย์ สาธารณสุข หรือวิทยาศาสตร์การแพทย์ เรื่อง “ชุดตรวจสอบสารปรอทสำหรับผลิตภัณฑ์ฟอกผิวขาว” จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับ มูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
  • พ.ศ. 2556
  • • รางวัลประกาศเกียรติคุณ ผลงานเรื่อง “ชุดตรวจสอบฟอร์มัลดีไฮด์ในอาหาร โดยใช้การเปลี่ยนสีและการเรืองแสง” สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
  • พ.ศ. 2546
  • • รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ สาขาเคมีอินทรีย์ ของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี พ.ศ. 2546 จากการศึกษาโครงสร้างสามมิติของโปรตีน dihydrofolate reductase ในเชื้อมาลาเรีย และเอนไซม์ aminotransferase ด้วยเทคนิค x-ray diffraction และจากการศึกษาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากเชื้อราในต้นไม้

ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล