ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ประเสริฐ โศภน

คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2546-2547

ประวัติ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ประเสริฐ โศภน เกิดเมื่อ พ.ศ. 2486 ที่จังหวัดกสกลนคร เป็นบุตรของนายสุนทร และนางสว่างจิต โศภน สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจาก โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล จังหวัดอุดรธานี, โรงเรียนวัดปทุมคงคา และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพมหานคร จากนั้นเข้าศึกษาต่อใน คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ได้รับทุนการศึกษาภายใต้แผนโคลอมโบ จากรัฐบาลประเทศออสเตรเลีย เพื่อไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐออสเตรเลียตะวันตก ได้รับปริญญาตรีด้านชีววิทยาของมนุษย์ (พ.ศ. 2509) ได้รับทุนจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ประเทศสหรัฐอเมริกา จนจบปริญญาเอก สาขาเซลล์วิทยาและกายวิภาคศาสตร์ (พ.ศ. 2513)

การศึกษา

  • พ.ศ. 2494-2497 : ระดับประถมศึกษา จากโรงเรียนศรีโกสุมวิทยา อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม
  • พ.ศ. 2498-2503 : ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จากโรงเรียนอุดรพิทยานุกูล จังหวัดอุดรธานี และโรงเรียนปทุมคงคา กรุงเทพมหานคร
  • พ.ศ. 2504-2505 : ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพมหานคร
  • พ.ศ. 2506 : คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ สาขาเตรียมแพทย์ศิริราช
  • พ.ศ. 2506-2509 : ได้รับทุนการศึกษา ภายใต้แผนการโคลัมโบ จากรัฐบาลประเทศออสเตรเลีย เพื่อไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐออสเตรเลียตะวันตก จนได้รับปริญญาตรีด้านชีววิทยาและกายวิภาคศาสตร์
  • พ.ศ. 2509-2513 : ได้รับทุน มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ประเทศสหรัฐอเมริกา จนจบปริญญาเอก สาขาเซลล์ชีววิทยาและกายวิภาคศาสตร์

ชีวิตครอบครัว

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ประเสริฐ โศภน พบรักกับ คุณกรรณิการ์ กุลพงศ์ ที่ประเทศออสเตรเลีย และสมรสเมื่อ พ.ศ. 2513 มีบุตร 2 คน คือ นางสาวขวัญหล้า โศภน และ นายสินธุ โศภน

ถ่ายภาพร่วมกับคุณพ่อคุณแม่ ก่อนเดินทางไปศึกษาต่อ เมื่อ พ.ศ. 2506

ชีวิตการทำงาน

หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ประเสริฐ โศภน เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ประจำภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มุ่งมั่นทำงานทั้งในด้านการสอนและการวิจัย ได้รับทุนสนับสนุนจากองค์กรทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย Ford Foundation Rockefeller Foundation, USAID, UNDP/World Bank/WHO Special Programme for Research and Training in Tropical Diseases ได้รับแต่งตั้งในดำรงตำแหน่งทางวิชาการสูงขึ้นตามลำดับ จนได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง ศาสตราจารย์ (พ.ศ. 2534) จากผลงานวิจัยที่ต่อเนื่องทำให้ได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาวิจัย (พ.ศ. 2528) และรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี พ.ศ. 2538 ในสาขาเซลล์ชีววิทยา ในด้านการบริหารวิชาการเคยได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ รองคณบดีฝ่ายการศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ประธานสภาวิชาการมหาวิทยาลัยมหิดล และคณบดีคณะวิทยาศาสตร์

เริ่มทำงานที่ คณะวิทยาศาสตร์

ผลงานวิจัย

ผลงานวิจัยของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ประเสริฐ โศภน มีอยู่สามกลุ่ม ได้แก่

กลุ่มที่หนึ่ง เป็นงานวิจัยเกี่ยวกับการวิเคราะห์หาแอนติเจนและยีนที่มีศักยภาพในการพัมนาวิธีตรวจสอบการติดเชื้อและวัคซีน กับการศึกษาลักษณะโครงสร้างของเนื้อ เยื่อที่ผลิตแอนติเจนเป้าหมายของพยาธิใบไม้เลือดในคน (Schistosoma japonicum, Schistosoma mekongi) และพยาธิใบไม้ตับในคนและสัตว์เลี้ยง (Opisthorchis viverrini และ Fasciola gigantica) ซึ่งทำให้ได้ความรู้เกี่ยวกับแอนติเจนเป้าหมายที่พบาธิปล่อยออกมา การแสดงออกของยีน และการสังเคราะห์แอนติเจนที่ระดบัเซลล์กับโครงสร้างละเอียดของเนื้อเยื่อที่ผลิตแอนติเจน โดยเฉพาะชั้นผิวของพยาธิ ตลอดจนความรู้เกี่ยวกับกลไกการเลี่ยงภูมิคุ้มกันของพยาธิ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการนำไปพัฒนาวิธีตรวจการติดเชื้อ และการพัฒนาวัคซีนต่อพยาธิใบไม้เลือดในคนและพยาธิใบไม้ตับในสัตว์เลี้ยง

กลุ่มที่สอง เป็นการศึกษาการสังเคราะห์กับการเปลี่ยนแปลงแทนที่ของเบสิกนิวเคลียร์โปรตีนและลักษณะการขดเรียงตัวของเส้นใยโครมาตินในนิวเคลียสของเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ของสัตว์ชั้นสูง แช่น สัตวืเลี้ยงลูกด้วยนม และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เช่น สัตว์จำพวกหอย กุ้ง พยาธิ ซึ่งทำให้ได้ความรู้พื้นฐานในด้านการสังเคราะห์และการสับเปลี่ยนชนิดของเบสิกนิวเคลียร์โปรตีน ได้แก่ โปรตีนฮิสโตน (Histone) โปรตามีน (Protamines) และโปรตีนคล้ายโปรตามีน ซึ่งเป็นโปรตีนโครงสร้างของใยโครมาตินที่เป็นตัวควบคุมขนาดและการขดของใยโรมาติน เพื่อเก็บรักษาและควบคุมการแสดงออกของสารพันธุกรรมในเซลล์สืบพันธุ์ของสัตว์ชนิดต่าง ๆ ความรู้ดังกล่าวเป็นพื้นฐานสำคัญที่อธิบายกระบวนการสร้างเซลล์สืบพันธุ์ การเก็บรักษาสารพันธุกรรม การแสดงออกของยีนหลังการปฏิสนธิ และการพัฒนาของร่างกายสัตว์

กลุ่มที่สาม เป็นการศึกษาชีววิทยาการสืบพันธุ์เชิงประยุกต์ของสัตว์ประเภท Mollusc และ Crustacean ได้แก่ หอยเป๋าฮื้อ (Haliotis asinine) และกุ้งก้ามกรามกับกุ้งกุลาดำ ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง โดนได้ทำการศึกษากายวิภาคของระบบประสาท ปมประสาท (neural ganglia) เซลล์ประสาทผลิตฮอร์โมน (neurosecretory cells) และฮอร์โมนประสาทชนิดต่าง ๆ บทบาทของฮอร์โมนประสาทเหล่านี้ต่อการพัฒนาของอวัยวะสืบพันธุ์ กระบวนการสร้างเซลล์สืบพันธุ์ การปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ การปฏิสนธิ ตลอดจนการพัฒนาจากตัวอ่อนเป็นตัวเต็มวัยขอสัตว์เศรษฐกิจดังกล่าว ซึ่งทำให้ได้ความรู้พื้นฐานที่อาจนำไปประยุกต์ใช้ในการเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์ต่อไป

เข้ารับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)พ.ศ. 2540

ตำแหน่งวิชาการ

  • พ.ศ. 2513 : อาจารย์ประจำภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • พ.ศ. 2518 : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • พ.ศ. 2521 : รองศาสตราจารย์ ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • พ.ศ. 2534 : ศาสตราจารย์ ระดับ 10 ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • พ.ศ. 2540 : ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ตำแหน่งบริหาร

  • พ.ศ. 2520-2530 : หัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • พ.ศ. 2535-2538 : รองคณบดีฝ่ายการศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • พ.ศ. 2538-2540 : รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • พ.ศ. 2541-2543 : ประธานสภาวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • พ.ศ. 2546-2547 : คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

กับกลุ่มเพื่อนอาจารย์ที่คณะวิทยาศาสตร์

เกียรติคุณและรางวัล

  • พ.ศ. 2528 : รับพระราชทานรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการวิจัย เรื่อง "โครงสร้างของโครมาตินและเบสิกนิวเคลียโปรตีนในเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม" ร่วมกับ ศ. ดร. ม.ร.ว.ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ และ ศ. ดร.นงนุช ตันไพจิตร
  • พ.ศ. 2538 : รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาเซลล์ชีววิทยา ของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในพระบรมราชูปถัมภ์
  • พ.ศ. 2540, 2544, 2547 : ทุนเมธีวิจัยอาวุโส สกว. สาขากายวิภาคศาสตร์
  • พ.ศ. 2545 : รางวัลอาจารย์ตัวอย่างสภาอาจารย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • พ.ศ. 2547 : รางวัลปาฐกถาสุด แสงวิเชียร จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
  • พ.ศ. 2547 : ทุนเมธีวิจัยอาวุโส สกว. สาขากายวิภาคศาสตร์ ระยะที่ 2
  • พ.ศ. 2558 : รางวัลมหิดลทยากร ประจำปี 2558 โดย สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้
สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จลงแทนพระองค์ ณ อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
พระราชทานพระราชวโรกาสให้ นายประเสริฐ โศภน เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา สาขาวิทยาศาสตร์ ประจำปี 2555 (24 กรกฎาคม 2556)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

  • พ.ศ. 2529 : ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)
  • พ.ศ. 2532 : ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)
  • พ.ศ. 2535 : มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)
  • พ.ศ. 2540 : มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
  • พ.ศ. 2555 : ดิเรกคุณาภรณ์ ชั้น 4 จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ (จ.ภ.)
  • พ.ศ. 2555 : เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา (ร.ด.ม.(ศ)) สาขาวิทยาศาสตร์

เรียบเรียงข้อมูลจาก : "๖๐ ปี เจิดบรรจงทรงคุณค่า ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ โศภน" หนังสือที่ระลึกใน โอกาสเกษียณอายุราชการของ ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ โศภน คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วันที่ 25 กันยายน 2547.

ห้องแสดงภาพ "ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ประเสริฐ โศภน"

ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล