ภาพชุดอาคารผลงานการออกแบบโดย อาจารย์อมร ศรีวงศ์
แต่เดิมนั้น คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ชื่อเดิมของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล) ตั้งอยู่บริเวณถนนศรีอยุธยา ต่อมาได้ย้ายสถานที่ตั้งมายังพื้นที่ปัจจุบันคือ ถนนพระรามที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ มีการก่อสร้างอาคารใหม่ทั้งหมด ประกอบด้วย อาคารปาฐกถาหรืออาคารบรรยายรวม (ตึกกลม) และกลุ่มอาคารเรียนและทดลองวิทยาศาสตร์ ๖ หลัง เชื่อมต่อถึงกัน ทั้งหมดออกแบบโดย อาจารย์อมร ศรีวงศ์ เสร็จสิ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๑ โดย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาฤกษ์ ในวันพฤหัสบดี ที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ และ ทรงประกอบพิธีเปิดอาคาร เมื่อวันจันทร์ ที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๑ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้
อาจารย์อมร ศรีวงศ์ เป็นสถาปนิกอาวุโสที่เป็นที่รู้จักในแวดวงงานสถาปัตยกรรมในประเทศไทย ผลงานของท่านมีความโดดเด่นด้านรูปทรงที่แปลกตา สวยงาม และใช้งานได้จริง ท่านมีความเชี่ยวชาญด้านโครงสร้างซึ่งได้ถ่ายทอดให้เห็นเป็นประจักษ์จากผลงานการออกแบบหลายต่อหลายชิ้น
ผลงานอันโดดเด่นที่กลายเป็นที่กล่าวขานและเป็นแบบเรียนอันน่าสนใจของสถาปนิกไทยยุคใหม่ อาทิ อาคารสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพัฒนา สวนมะลิ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ธนาคารศรีนคร ปัจจุบันเป็นสำนักงานธนาคารกรุงไทย สาขาสวนมะลิ) เป็นอาคารสูง ๑๐ ชั้น โครงสร้างภายนอกดูเหมือนตาข่ายคลุมอาคาร แม้จะเป็นอาคารขนาดใหญ่ แต่บริเวณล็อบบี้ของธนาคารกลับไม่มีเสากีดขวางเลยสักต้น อาคารเรียนคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สร้างโดยอาศัยโครงสร้างที่แข็งแรงซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจาก ชะลอม ออกแบบโครงสร้างที่ซ่อนตัวอยู่ด้านในของผนังคอนกรีตเสริมเหล็ก มีลักษณะไขว้ไปมาเป็นรูปตารางคล้ายชะลอม รวมถึง ตึกกลม อาคารเรียนรวมที่โดดเด่นของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น
อาจารย์อมร ศรีวงศ์ นับเป็นสถาปนิกคู่ใจของท่าน "อาจารย์สตางค์" ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ผู้ก่อตั้งและคณบดีคนแรกของ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยท่านอาจารย์สตางค์ ได้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการผู้ร่วมก่อตั้งมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาค ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งท่านได้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี (พ.ศ. ๒๕๑๒-๒๕๑๔) อาจารย์อมรได้มีส่วนช่วยในการออกแบบอาคารหลายหลังของมหาวิทยาลัยดังกล่าว โดยเป็นการออกแบบที่สวยงาม เป็นเอกลักษณ์ และใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งอาคารเหล่านั้นยังคงใช้งานและกลายเป็นเอกลักษณ์สำคัญของสถาบันเหล่านั้นมาจนถึงปัจจุบัน
ภาพอาคารชุดนี้เป็นผลงานการออกแบบของอาจารย์อมร ศรีวงศ์ ที่ยังยืนยงท้าทายกาลเวลา ให้สถาปนิกรุ่นใหม่ได้ศึกษาเรียนรู้ผลงานของท่าน
หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ขอขอบพระคุณแฟนเพจ Foto_momo (Fotograph of the Modern Movement: ภาพถ่ายสถาปัตยกรรมสมัยใหม่) ที่กรุณาอนุญาตนำภาพถ่ายผลงานของอาจารย์อมร ศรีวงศ์ มาจัดแสดงในรูปแบบนิทรรศการออนไลน์ในครั้งนี้
ท่านผู้สนใจสามารถติดตามผลงานของแฟนเพจ Foto_momo ได้ที่ https://www.facebook.com/fotomomo.project
อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับตึกกลมเพิ่มได้ที่ https://stang.sc.mahidol.ac.th/stangmuseum/lecture_building.php
>>> ชมนิทรรศการอื่น ๆ <<<