รองศาสตราจารย์ ดร.ชาคริต สิริสิงห
รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ สาขาพอลิเมอร์ ประจำปี 2544
รองศาสตราจารย์ ดร.ชาคริต สิริสิงห (ตำแหน่งทางวิชาการขณะได้รับรางวัล คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.) เกิดเมื่อ พ.ศ. 2512 จังหวัดกรุงเทพฯ เป็นบุตรของศาสตราจารย์ ดร.สถิตย์ และแพทย์หญิงวลัยลักษณ์ สิริสิงห จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น จากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย และเข้าศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ณ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จากนั้นเข้าศึกษาต่อในคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเคมี เมื่อปี 2534 หลังจากนั้นได้รับปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์พอลิเมอร์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี 2536 และได้รับทุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ให้ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ในสาขา Rubber Engineering ณ Loughborough University สหราชอาณาจักร และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกในปี 2540 จากนั้นเข้ารับราชการ เป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพอลิเมอร์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จนถึงปัจจุบัน
งานวิจัยที่ ดร.ชาคริต สิริสิงห สนใจได้แก่ งานวิจัยด้านวิทยากระแสของพอลิเมอร์ งานวิจัยด้านการผสมและขึ้นรูป ทั้งของยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์ ตลอดจนงานวิจัยด้านยางผสม มีผลงานดีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติจำนวน 15 เรื่อง ได้เข้าร่วมประชุมเสนอผลงานตลอดจนเป็น technical committee ในการประชุมระดับนานาชาติหลายครั้ง เช่นการประชุม International Seminar on Elastomers ครั้งที่ 7 และครั้งที่ 8 การประชุม Polymer Processing Society (PPS) 1999
ผลงานวิจัยที่เกี่ยวกับการผสมและขึ้นรูปทั้งของยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์ ซึ่งได้รับทุนวิจัย พัฒนาและวิศวกรรมขนาดเล็ก จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พบว่าการกระจายตัวของเขม่าดำซึ่งเป็นสารตัวเติมที่สำคัญ ในการเสริมแรงของยาง มีผลอย่างมากต่อความสามารถในการผสมและขึ้นรูปของยางคอมพาวด์ การควบคุมให้ยางคอมพาวด์มีการกระจายตัวของเขม่าดำในปริมาณที่เหมาะสม นอกจากจะช่วยให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการขึ้นรูปโดยกระบวนการอัดรีด (extrusion) มีการพองตัว (extrudate swell) เหมาะสม และมีผิวเรียบแล้ว ยังสามารถประหยัดเวลาและพลังงานที่ใช้ในการผสมได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังพบว่าการเติมสารเคมีชนิดต่าง ๆ เช่น น้ำมัน (processing oil) และสารหล่อลื่น (slipping agent) จะส่งผลต่อการพองตัวและความเรียบของผิวผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกระบวนการอัดรีด
ส่วนผลงานวิจัยด้านยางผสมสามารถแบ่งออกได้เป็นสองส่วนหลัก ในส่วนแรกได้แก่ งานวิจัยที่ศึกษาการกระจายตัวของสารตัวเติมชนิดต่าง ๆ เช่น เขม่าดำ และซิลิกา ในระบบยางผสมระหว่างยางบิวตะไดอีน (Butadiene Rubber, BR) กับยางไนไตรล์ (Nitrile Rubber, NBR) พบว่าสารตัวเติมจะเข้าไปในยางที่มีความหนืดต่ำกว่า หรือมีความเป็นขั้วใกล้เคียงกับสารตัวเติม ในงานวิจัยที่เกี่ยวกับยางผสมส่วนที่สอง ซึ่งได้รับทุนวิจัยหลังปริญญาเอก จากสำนักงานการกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นงานวิจัยที่มุ่งเน้นการใช้ยางธรรมชาติผสม ลงไปในยางไนไตรล์ เพื่อสามารถใช้ยางธรรมชาติขนาดที่เล็กกระจายตัวอยู่ จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า ยางไนไตรล์ที่มีอนุภาคยางธรรมชาติขนาดเล็กกระจายตัวอยู่จะมีความทนน้ำมันสูงกว่ายางไนไตรล์ที่มีอนุภาคยางธรรมชาติขนาดใหญ่กระจายตัวอยู่ โดยขนาดของอนุภาคยางธรรมชาติ สามารถควบคุมได้จากสภาวะของการผสมที่ใช้ ตลอดจนสัดส่วนของความหนืดระหว่างยางธรรมชาติกับยางไนไตรล์
ปัจจุบัน ดร.ชาคริต สิริสิงห ยังคงสนใจงานวิจัยด้านยางผสม โดยเน้นไปที่การใช้ยางธรรมชาติเพื่อลดต้นทุนในการผลิต ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากคลอริเนเตทพอลิเอธิลีน (Chlorinated Polyethylene, CPE) ซึ่งเป็นพอลิเมอร์ที่มีราคาสูง และต้องนำเข้าจากต่างประเทศ นอกจากการศึกษาในระบบยางผสมแล้ว ยังทำการศึกษาระบบพอลิเมอร์ผสม ระหว่างยางธรรมชาติที่มีต่อสมบัติของพอลิเมอร์ผสม งานวิจัยในปัจจุบันอีกงานหนึ่ง ได้แก่ การศึกษาผลของการผสมสารตัวเติมชนิดต่าง ๆ ลงในยางธรรมชาติที่เตรียมขึ้นโดยวิธีที่ต่างกัน โดยจะเน้นไปที่การควบคุมสมบัติด้านต่าง ๆ ของยางคอมพาวด์
ที่มาข้อมูล : รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี 2544 : รองศาสตราจารย์ ดร.เกตุ กรุดพันธ์. [กรุงเทพฯ] : มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์, 2544. ISBN 974-8196-96-8
ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล