รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงกมล เบ้าวัน
รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ สาขาคณิตศาสตร์ ประจำปี 2556
รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงกมล เบ้าวัน (ตำแหน่งทางวิชาการขณะได้รับรางวัล คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.) เกิดเมื่อ พ.ศ. 2525 ที่จังหวัดนครสวรรค์ เป็นบุตรของนางซกเจ็ง และนายสายันต์ เบ้าวัน ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เข้าเรียนที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ดร.ดวงกมล สอบได้เป็นนักเรียนทุนในโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) และเลือกเข้าศึกษาต่อสาขาวิชาคณิตศาสตร์ในระดับปริญญาตรีที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จนสำเร็จการศึกษาปี พ.ศ. 2548 (เกียรตินิยมอันดับ 1) และได้รับรางวัลจากมูลนิธิศาสตราจารย์ ดร.แถบ นีละนิธิ ดร.ดวงกมล ได้รับทุนพัฒนาอาจารย์สาขาขาดแคลน (คณิตศาสตร์) จากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกว.) ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ที่ School of Mathematics and Applied Statistics ที่University of Wollongong ประเทศออสเตรเลีย โดยอยู่ในกลุ่มวิจัย Nanomechanics และมี Professor James M. Hill และ ดร.งามตา ธรรมวัฒนะ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพธ์ หัวข้อวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอกคือ แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ เพื่อศึกษากลศาสตร์ของอนุภาคขนาดนาโนเมตร ซึ่งต่อมางานวิจัยนี้ได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ประเภทรางวัลวิทยานิพธ์ระดับดีเยี่ยมในปี พศ 2552
หลังจากจบการศึกษาในระดับปริญญาเอกเมื่อปี พ.ศ. 2551 ดร.ดวงกมล ได้เข้าทำงานในภาควิขาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยความช่วยเหลือเป็นอย่างดีจากทั้งผู้บริหารของคณะและอาจารย์ในภาควิชา กอปรกับได้รับทุนพัฒนาศักยภาพในการทำงานวิจัยของอาจารย์รุ่นใหม่จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สกอ. และมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.วรรณพงษ์ เตรียมโพธิ์ และ Professor James M. Hill เป็นนักวิจัยพี่เลี้ยง ทุนวิจัยกลุ่มและทุนวิจัยเดียวจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านคณิตศาสตร์ และทุน UIC International Links Grant for Thailand ซึ่งเป็นทุนเพื่อความร่วมมือทางการวิจัยกับ ดร.งามตา ธรรมวัฒนะ จาก University of Wollongong ทำให้ ดร.ดวงกมล มีผลงานวิจัยออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยงานวิจัยหลักที่ศึกษาคือการสร้างแบบจำลองเพื่อศึกษาพฤติกรรมของวัตถุขนาดนาโนเมตร
ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ทที่ภาควิชาคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดร.ดวงกมล ได้รับทุน Endeavour Award จากรัฐบาลออสเตรเลีย ประจำปี พ.ศ. 2552 เพื่อไปทำวิจัยที่ University of Wollongong โดย ทำงานในกลุ่มวิจัยของ Professor James M. Hill ในหัวข้อแบบจำลองทางกลศาสตร์ของชีวโมเลกุลเพื่อเป็นตันแบบในการส่งยาไปยังเซลล์เป้าหมาย และในปี พ.ศ. 2554 ได้รับทุน Research Fellowships for Post-doctoral Researchers จาก Alexander von Humboldt Foundation เพื่อร่วมทำงานกับกลุ่มวิจัย Centre for Bioinformatics ของ Professor Volkhard Helms ที Saarland University ประเทศเยอรมนี
งานวิจัยในปัจจุบันและในระยะที่ผ่านมาเป็นการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่ออธิบายพลังงาน และแรงระหว่างโมเลกุลสำหรับวัตถุขนาดนาโนเมตร โดยมีจุดมุ่งหมายหลักในการหาสมการที่สามารถใช้อธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในระดับโมเลกุลได้ และช่วยให้การคำนวณด้วยคอมพิวเตอร์ทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ต้วอย่างของแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่ศึกษาต่อ
(1) การใช้ท่อที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดนาโนเมตรหรือวัสดุที่มีรูพรุ่นในการแยกโปรตีน เอ็นไซม์ หรือแก๊สที่ผสมกันอยู่ในระบบ
(2) การหาขนาดของแคปซูลจิ๋วที่เหมาะสมที่จะสามารถบรรจุโมเลกุลของยาหรือโปรตีนใด ๆ เข้าไปได้ เพื่อเป็นต้นแบบในการนำยาเข้าสู่ร่างกาย
(3) การศึกษาพฤติกรรมพลังงานระหว่างอนุภาคนาโนเมตรกับเยื่อหุ้มเซลล์เพื่อการขนส่งยาหรือแคปซูลขนาดจิ๋วไปยังเซลล์เป้าหมาย
ปัจจุบัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดวงกมล เบ้าวัน มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ (ISI) 40 เรื่อง และมีการเผยแพร่ผลงานในที่ประชุมวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศ จากการที่ได้มีโอกาสทำงานวิจัยร่วมกับนักวิจัยทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำแนะนำและแรงสนับสนุนจากกลุ่มวิจัยที่ได้ทำงานร่วมกันในประเทศออสเตรเลียและเยอรมนี รวมทั้งคำแนะนำและแรงสนับสนุนอย่างดียิ่งจากคณาจารย์และนักศึกษา ของภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำให้ ดร.ดวงกมล ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
ที่มาข้อมูล : รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี พ.ศ. 2556. [กรุงเทพฯ] : มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในพระบรมราชูปถัมภ์, 2556. ISBN 978-616-12-0289-7
ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล