ศาสตราจารย์ ดร.ประมวล ตั้งบริบูรณ์รัตน์

รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ สาขาเคมี (พอลิเมอร์) ปี 2539

                ศาสตราจารย์ ดร.ประมวล ตั้งบริบูรณ์รัตน์ (ตำแหน่งทางวิชาการขณะรับรางวัลคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.) เกิดเมื่อ พ.ศ. 2505 ที่จังหวัดปราจีนบุรี เป็นบุตรของนายแกะ และนางบุญนาค ตั้งบริบูรณ์รัตน์ ศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนผะดุงศิษย์พิทยาประจันตคาม โรงประจันตราษฏร์บำรุง จบชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2522 จบการศึกษาระดับปริญญาตรี (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) สาขาเคมี ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในปี พ.ศ. 2526 ศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขาฟิสิคัลเคมี ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และระดับปริญญาเอกที่ประเทศฝรั่งเศสด้วยทุนของฝรั่งเศส โดยได้รับ DELF (CAVILAM, Vichy) ในปี พ.ศ. 2530 DEA สาขาเคมีฟิสิกส์ ในปี พ.ศ. 2531 และปริญญาเอกสาขาเคมี (พอลิเมอร์) จาก Ecole Nationale Superieure de Chimie de Mulhouse; Universite de Haute Alsce ใน ปี พ.ศ. 2534 ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

                ดร.ประมวลเคยได้รับรางวัลต่าง ๆ อาทิ รางวัลเรียนดีและประพฤติดีเป็นเยี่ยม จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น รางวัลผู้สอบได้คะแนนยอดเยี่ยมในหลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาฟิสิคัลเคมี มหาวิทยาลัยมหิดล จากมูลนิธิศาสตราจารย์ ดร.แถบ นีละนิธิ และเมธีวิจัย สกว. จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

                งานวิจัยของ ดร.ประมวล เป็นการศึกษาวิจัยและพัฒนายางธรรมชาติอันเป็นสินค้าออกที่สำคัญของประเทศไทยได้แก่ การศึกษาคุณสมบัติพื้นฐานของน้ำยางธรรมชาติ โดยใช้เทคนิคการถ่ายโอนวัฏภาค (phase transfer) มาวิเคราะห์โครงสร้างที่ผิวของอนุภาคยางในน้ำยางธรรมชาติที่ไม่ได้วัลคาไนซ์ น้ำยางที่วัลคาไนซ์ด้วยรังสีแกมม่า และน้ำยางที่กำจัดไปรตีนออกเทคนิคนี้เป็นการไทเทรตอนุภาพของยางที่มีประจุลบด้วยสารลดแรงตึงผิวชนิดประจุบวกโดยที่มีตัวทำลายอินทรีย์อยู่ด้วย เทคนิคดังกล่าวทำให้เข้าใจโครงสร้างที่ผิวของอนุภาคยาง อันเป็นความรู้ที่จำเป็นต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยาง (ได้รับทุนโครงการวิจัย พัฒนาและวิศวกรรม สาขาอุตสาหกรรมยางจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ)

                งานวิจัยอีกด้านหนึ่งคือ การศึกษาวิธีเตรียมแคปซูลของปุ๋ยยูเรียโดยใช้ยางธรรมชาติเป็นเมทริกซ์ เพื่อให้สามาระควบคุมอัตราการปลดปล่อยของปุ๋ยได้ โดยศึกษาปัจจัยต่าง ๆ ที่มี ผลต่อการปลดปล่อยปุ๋ย (ได้รับทุนพัฒนานักวิทยาจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย) ส่วนงานวิจัยและพัฒนาที่ทำต่อไป ได้แก่ การศึกษาพัฒนาแนวทางใหม่ ๆ ในการใช้น้ำยางธรรมชาติให้เกิดประโยชน์ในด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม (ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล)

ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล