ศาสตราจารย์ ดร.ศราวุฒิ จิตรภักดี
รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ สาขาชีวเคมี ประจำปี 2546
ศาสตราจารย์ ดร.ศราวุฒิ จิตรภักดี (ตำแหน่งทางวิชาการขณะได้รับรางวัล คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.) เกิดเมื่อ พ.ศ. 2512 จังหวัดกรุงเทพ ฯ เป็นบุตรของ พ.ท. อุดม จิตรภักดี และนางอรพินท์ จิตรภักดี จบการศึกษาระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนสามัญโฆษิตสโมสร ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย จากโรงเรียนทวีธาภิเศก กรุงเทพฯ สำเร็จการศึกษาปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี พ.ศ. 2534 และศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาคือ ศาสตราจารย์ ดร.วิชัย บุญแสง โดยสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2537 จากนั้นสอบชิงทุนรัฐบาลไทยศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก สาขา Molecular Biology ที่ Department of Biochemistry, School of Molecular Biosciences, University of Adelaide ประเทศออสเตรเลีย โดยมี mentor คือ Professor John Wallace และสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2542 จากนั้นเข้ารับราชการในตำแหน่งอาจารย์ที่ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542-2544 และดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน
ดร.ศราวุฒิ จิตรภักดี เคยได้รับรางวัลต่าง ๆ ได้แก่ รางวัลจากมูลนิธิศาสตราจารย์ ดร.แถบ นีละนิธิ (2534), Promega Young Investigator Award (2541), 1st prize poster presentation จาก Australian Society for Biochemistry and Molecular Biology (2541), Dean' Special Commendation Ph.D. Award, University of Adelaide (2542), รางวัลวิทยานิพนธ์ยอดเยี่ยมสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ จากสภาวิจัยแห่งชาติ (2544) รางวัลผู้เสนอผลงานวิจัยดีเยี่ยม (ร่วมกับทุนเผยแพร่ผลงานวิจัยในต่างประเทศ) ของผู้รับทุนวิจัยหลังปริญญาเอก จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (2544) มีบทความตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ 17 เรื่อง
ปัจจุบัน ดร.ศราวุฒิ จิตรภักดี ทำงานวิจัยใน 2 เรื่องใหญ่ ๆ คือ
(1) การศึกษาทางชีววิทยาโมเลกุลของเชื้อไวรัสหัวเหลือง ซึ่งเป็นโรคที่สำคัญที่ก่อให้เกิดความเสียหายในอุตสาหกรรมกุ้งกุลาดำ โดยมุ่งเน้นไปที่การศึกษาขบวนการชีวสังเคราะห์ ของโปรตีนเปลือกหุ้มของเชื้อไวรัส (spike glycoprotein) gp64 โดยโปรตีนดังกล่าวเป็น glycoprotein ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของไวรัสที่ทำให้สามารถเข้าสู่เซลล์ได้ ปัจจุบันได้พัฒนาระบบการแสดงออกของยีนดังกล่าว โดยระบบ baculovirus expression system เพื่อตรวจหาการสังเคราะห์โปรตีนดังกล่าว โดยใช้เซลล์แมลงเป็น model นอกจากนี้ยังศึกษา virus/host interaction โดยพยายามค้นหากลุ่มยีนของกุ้งกุลาดำ ที่ตอบสนองเมื่อกุ้งติดเชื้อด้วยไวรัสดังกล่าว ความรู้พื้นฐานที่ได้จากการวิจัยนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาวิธีป้องกันการติดเชื้อไวรัสในอนาคต โดยงานวิจัยดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และศูนย์วิจัยเพื่อความเป็นเลิศเทคโนโลยีชีววภาพกุ้ง (CENTEX Shrimp) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
(2) การศึกษากลไกควบคุมการแสดงออกของเอนไซม์ไพรูเวท คาร์บอกซิเลซ เอนไซม์ดังกล่าวมี บทบาทสำคัญต่อการสร้างน้ำตาล และการกระตุ้นให้มีการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินจากเซลล์ตับอ่อน โดยมุ่งเน้นไปที่การหากลุ่มโปรตีน (transcription factors) ซึ่งควบคุมการแสดงออกของเอนไซม์ตัวนี้ในสภาวะปกติ และสภาวะที่ถูกกระตุ้น/ยับยั้ง ด้วยระดับน้ำตาลและกรดไขมัน ความผิดปกติในการแสดงออกของเอนไซม์ดังกล่าว มีผลทางอ้อมต่อสภาวะการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (NIDDM) งานวิจัยดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจาก Third World Academy of Sciences (TWAS), สกว. และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ที่มาข้อมูล : รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี 2546. [กรุงเทพฯ] : มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในพระบรมราชูปถัมภ์, 2546. ISBN 974-13-2511-8
ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล