รองศาสตราจารย์ ดร.วโรดม เจริญสวรรค์

นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ สาขาเคมี ประจำปี 2560

                รองศาสตราจารย์ ดร.วโรดม เจริญสวรรค์ (ตำแหน่งทางวิชาการขณะได้รับรางวัล คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.) เกิดเมื่อ พ.ศ. 2527 ที่จังหวัดลำปาง เป็นบุตรของ ทพ.วรชัย และ ทพญ.เรวดี เจริญสวรรค์ สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนอนุบาลลำปาง (เขลางค์รัตน์อนุสรณ์) ระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัยและเตรียมอุดมศึกษา ในช่วงดังกล่าว ดร.วโรดม เคยได้รับรางวัลมากมาย เช่น นักเรียนพระราชทานเด็กดีเด่นแห่งชาติ (จากสภาสังคมสงเคราะห์) และแฟนต้ายุวทูต

                ในปี พ.ศ. 2545 ได้รับทุนรัฐบาล (ทุน ก.พ.) เพื่อศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ณ สหราชอาณาจักร ดร.วโรดม สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขา Biochemical Engineering จาก University College London ในปี พ.ศ. 2549 โดยได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่งและเป็นที่หนึ่งของชั้นปี และได้รางวัลอื่น ๆ เช่น Dean's List และ Goldsmid Sessional Prize หลังจากนั้นได้ศึกษาต่อระดับปริญญาโทและเอกที่ University of Cambridge ในสาขา Computational Biology และ Molecular Biology ตามลำดับ โดยสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกในปี พ.ศ. 2554 ระหว่างการศึกษาในระดับปริญญาเอกที่ Medical Research Council Laboratory of Molecular Biology (MRC-LMB) ภายใต้การดูแลของ Dr. Sarah A. Teichmann ดร.วโรดม มีความสนใจเป็นพิเศษในการบูรณาการวิธีการและองค์ความรู้ทางคณิตศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์มาใช้แก้ปัญหาทางชีววิทยาที่มีความซับซ้อน เช่น การแสดงออกทางพันธุกรรม เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมซึ่งนำไปสู่ความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเน้นที่โปรตีน Transcription factors และ histones ซึ่งเป็นหนึ่งในส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดของกลไกการควบคุมการแสดงออกทางพันธุกรรมจากข้อมูลในดีเอ็นเอ การศึกษาดังกล่าวเป็นการสร้างองค์ความรู้ที่สำคัญเพื่อพัฒนาความรู้ความเข้าใจทั้งในด้านกลไกและวิวัฒนาการของ Transcription factors ตลอดระยะเวลาที่ศึกษาระดับปริญญาเอกและร่วมทำงานวิจัยภายหลังสำเร็จการศึกษา Dr. Teichmann และ ดร.วโรดม มีผลงานตีพิมพ์แล้วทั้งสิ้น 9 เรื่อง ซึ่งรวมถึงบทความในวารสาร Molecular Cell, Trends in Genetics, Nucleic Acids Research, และ Molecular Systems Biologyระหว่างศึกษาในระดับปริญญาเอก ดร.วโรดมได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทน European Molecular Biology Organization (EMBO) เข้าร่วมงานประชุมนักวิทยาศาสตร์ผู้รับรางวัลโนเบลที่เมืองลินเดา ครั้งที่ 59 (59th Meeting of Nobel Laureates at Lindau) และได้รับรางวัล Biochemical Journal Young Investigator Award และปัจจุบัน Dr. Teichmann และ ดร.วโรดมได้รับทุน Newton Advanced Fellowship ร่วมกันจาก Newton Fund สหราชอาณาจักร เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของ โปรตีน Transcription factors และ histones ในระดับเซลล์เดี่ยว (single cell resolution) และนำเทคนิค single-cell genomics มาใช้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย

                ดร.วโรดม เริ่มทำงานที่ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี พ.ศ. 2554 โดยมีความตั้งใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยพัฒนาศักยภาพและความรู้ความเข้าใจด้านชีวสารสนเทศ (bioinformatics) ในประเทศไทย ได้ร่วมกับกลุ่มนักวิจัยรุ่นใหม่จากคณะต่าง ๆ และได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยมหิดลในการตั้งกลุ่มภารกิจศูนย์ปฏิบัติการด้านชีววิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นกลุ่มวิจัยที่มุ่งเน้นการบูรณาการความรู้หลากหลายสาขา โดยเฉพาะชีวสารสนเทศและชีววิทยาระบบ (systems biology) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมแก้ปัญหาที่สำคัญของประเทศ เช่น สังคมผู้สูงอายุ โรคไม่ติดต่อ และการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศของโลก โดย ดร.วโรดม ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ ซึ่งการทำงานเน้นการประยุกต์ใช้ศาสตร์แขนงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการร่วมแก้ปัญหาที่สำคัญของประเทศ ผลงานที่สำคัญของคณะทำงานจนถึงปัจจุบันได้แก่บทความในวารสาร Nucleic Acids Research, PLoS One, Molecular Biosystems และ Journal of Translational Medicine และระบบ Mobile Application เพื่อสนับสนุนการรักษาผู้ป่วยงูกัดในท้องถิ่นทุรกันดาร (ร่วมกับศูนย์พิษวิทยาโรงพยาบาลรามาธิบดี) รางวัลสำคัญที่ ดร.วโรดม ได้รับได้แก่ รางวัลนักชีวเคมีและชีววิทยาโมเลกุลดาวรุ่ง จากสาขาชีวเคมีและชีววิทยาโมเลกุล สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และรางวัลวิทยานิพนธ์ระดับดีเยี่ยม สาขาวิทยาศาสตร์แคมีและเภสัช จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2555 ดร.วโรดม ได้ร่วมกลุ่มวิจัย Dr. Philip Wigge ที่ Sainsbury Laboratory Cambridge University เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ในการบูรณาการเทคนิคทางคอมพิวเตอร์และห้องปฏิบัติการในการสร้างและวิเคราะห์ข้อมูลทางชีวโมเลกุลในระดับจีโนม หรือชีววิทยาระบบ ดร. วโรดมและกลุ่มวิจัย Dr. Philip Wigge ได้ร่วมกันศึกษาการทำงานของtranscription factors และ histones ในพืช และผลกระทบต่อการรับรู้และตอบสนองการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ เช่นการเจริญเติบโตและออกดอก งานวิจัยนี้ไม่เพียงแต่เป็นการต่อยอดความสนใจในด้านการควบคุมการแสดงออกในระดับ genetics และ epigenetics แต่ยังเป็นการเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาสายพันธุ์พืชให้ทนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและอุณหภูมิของโลก ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อการผลิตอาหารให้พอเพียงต่อประชากรโลก ผลงานส่วนหนึ่งของงานวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์แล้วในวารสาร Science, Bioessays, and Nature Plants และในปัจจุบันทางกลุ่มวิจัยของ ดร.วโรดม กำลังดำเนินการพัฒนาต่อยอดงานดังกล่าวสู่พืชที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ เช่น ข้าวและสาหร่าย

                จนถึงปัจจุบัน ดร.วโรดมและกลุ่มวิจัย ได้รับการสนับสนุนและกำลังใจเป็นอย่างดีจากเพื่อนร่วมงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณาจารย์ภาควิชาชีวเคมี คณะทำงานกลุ่มภารกิจศูนย์ปฏิบัติการด้านชีววิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ที่ปรึกษาคณะทำงาน ศาสตราจารย์ ดร. ม.ร.ว.ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ ศาสตราจารย์ ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ และผู้ร่วมวิจัยทุกท่าน กลุ่มวิจัยยังได้รับการสนับสุนนจากมหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กองทุน Newton Fund สหราชอาณาจักร Royal Society และ British Council แรงบันดาลใจที่สำคัญที่สุดของกลุ่มวิจัย คือความตั้งใจและความคิดสร้างสรรค์นักศึกษา ที่มุ่งเรียนรู้เพื่อช่วยต่อยอดพัฒนาโลกให้ดียิ่งขึ้น นอกเหนือจากงานวิจัย ดร.วโรดม ใช้เวลาส่วนมากในการออกกำลังกายโดยเฉพาะการวิ่งและขี่จักรยานร่วมกับเพื่อนและนักศึกษานอกเหนือจากนี้ยังมีความสนใจเป็นพิเศษในดนตรีและเรียนรู้โลกและชีวิตจากการเดินทางอีกด้วย

ที่มาข้อมูล : รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี 2560. [กรุงเทพฯ] : มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์, 2560. ISBN 978-616-91314-9-6

ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล